ปกิณณกธรรม ตอนที่ 301


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๐๑

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ผู้ฟัง ปริญญาก็แคบกว่า เพราะว่าปริญญานี้หมายถึงวิปัสสนาญาณ

    ท่านอาจารย์ วิปัสสนาญาณ แต่ต้องเป็นวิปัสสนาญาณ ถ้าเป็นสติปัฏฐานก็ไม่ใช่ปริญญา

    ผู้ฟัง แต่ว่าสัจจญาณจะกว้างกว่า

    ท่านอาจารย์ ตามประกอบไปทั้งหมดเลย คือ ถ้าไม่ประกอบเมื่อไรก็หลงทางเมื่อนั้น

    ผู้ฟัง ในขณะซึ่งปัญญาเกิดในขั้นสติปัฏฐาน ต้องมีสัจจญาณแล้วถูกไหม แต่คนละขั้นกันกับวิปัสสนาญาณ อาการ ๓ นี้

    ท่านอาจารย์ สัมมาสติจะเกิดเมื่อมีปัจจัย ถ้ามีความเข้าใจผิดก็จะไปทำสมาธิ แล้วเข้าใจว่านั่นคือสติ แต่ไม่รู้ความต่างกันว่า สัมมาสติต้องเป็นอนัตตา เมื่อมีเหตุปัจจัยเกิดระลึกนั่นคือสติ ไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดที่ปรากฏ ทางหนึ่งทางใด

    ผู้ฟัง ในขั้นของสติปัฏฐาน มีอาการ ๓ ที่แสดงไว้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ นี่คือกิจจญาณ ขณะที่สติปัฏฐานระลึก

    ผู้ฟัง สติปัฏฐานเป็นปัญญาที่ต่างกับวิปัสสนาญาณ ดิฉันอยากจะถอยลงมาถึงว่า สติซึ่งเป็นไปในทาน ศีลในขณะซึ่งเขาให้ทาน ขณะนั้นเป็นกุศลแน่ แล้วสติก็ทำหน้าที่ของสติ แต่ถ้าเผื่อผู้ที่ไม่ได้เรียนสติปัฏฐาน หรือสติปัฏฐานยังไม่เกิด ก็ยังเป็นเราให้ทาน เรียนถามว่า กุศลจิตมันอยู่ตรงไหน ในเมื่อเป็นเรา

    ท่านอาจารย์ ตลอดตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นจิตประเภทต่างๆ

    ผู้ฟัง กุศลจิตของคนที่เขาให้ทาน

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่ากุศลจิต คุณสุรีย์ จะเปลี่ยนกุศลจิตให้เป็นอกุศลจิตไม่ได้

    ผู้ฟัง ไม่ได้ ในขณะที่เขาเกิด ต้องเกิดขณะซึ่งจิตสงบแล้วให้ทาน แต่เขาไม่รู้ หรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ คำว่า สงบ หมายความว่า ขณะนั้นไม่มีอกุศลใดๆ เกิดร่วมด้วย จึงเป็นกุศล

    ผู้ฟัง ขณะที่เขาให้ทาน คิดที่จะให้ทาน สติเกิดขณะนั้นสงบแล้ว แต่เจ้าตัวเขาไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้ก็ไม่รู้ ไม่ใช่ว่าต้องรู้

    ผู้ฟัง แต่เขาก็จิตเป็นกุศลแล้วขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นกุศลแล้ว ใครจะเปลี่ยนจิตนั้นให้เป็นอกุศลไม่ได้ จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม

    ผู้ฟัง แต่ว่าเขาเกิดดับเร็วมาก หลังจากจิตขณะให้นั้นเป็นกุศล ต่อไปเขาก็รู้สึก เออนี่ เราให้ทาน มีอานิสงส์ ตอนนั้นไม่ใช่กุศลแล้ว

    ท่านอาจารย์ เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งเกิดดับเร็วมาก การศึกษาธรรม เมื่อศึกษาแล้วก็พอที่จะรู้ว่า ขณะที่ให้ทาน หรือวิรัติทุจริต หรือทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ที่เป็นจารีตศีลเหล่านี้ก็เป็นกุศล เพราะฉะนั้น ก็สามารถที่จะรู้ได้โดยการศึกษา แต่ไม่ใช่โดยลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะว่าสติไม่เกิด ที่จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อสติเกิด ที่จะรู้ว่าขณะใด เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมก่อน

    ผู้ฟัง ในขณะที่ให้ทานนั้น จิตจะเป็นกุศลในขณะซึ่งสติทำงานของสติ คิดให้ทานขณะนั้น หลังจากนั้น

    ท่านอาจารย์ เวลานี้เรามีเห็น แล้วเราก็ไม่เคยรู้ว่า เป็นวิบาก วิบากก็ไม่รู้ กุศลก็ไม่รู้ อกุศลจิตก็ไม่รู้ เรารู้แต่เพียงชื่อว่า สภาพธรรมใดดี สภาพธรรมใดไม่ดี โลภะไม่ดี โทสะไม่ดี โมหะไม่ดี เรารู้ชื่ออย่างนี้ แต่เราไม่รู้ขณะที่โลภะเกิด โทสะเกิด โมหะเกิดว่า เป็นธรรม ในขณะที่กำลังโกรธ เราก็มีเห็นซึ่งเป็นวิบาก มีได้ยินซึ่งเป็นวิบาก

    การศึกษาคือให้ทราบขณะจิต ตัวอย่างชีวิตของแต่ละคนก็เป็นตัวอย่างที่ไม่ต้องไปหาที่ไหน แต่ว่าให้เข้าใจสิ่งซึ่งเรามีความติดข้องมากเหลือเกินตั้งแต่เช้าจนถึงเดี๋ยวนี้ ขณะที่รับประทานอาหาร มีความติดข้องก็ไม่รู้ แต่เมื่อทรงแสดง ก็รู้ว่าขณะใดเป็นวิบากเป็นผลของกรรม ขณะใดเป็นเหตุใหม่ ที่จะให้เกิดเป็นกรรม หรือว่าที่จะทำให้เกิดวิบากต่อไป

    ผู้ฟัง ขณะซึ่งวิรัติทุจริตอีก เราไม่ฆ่าสัตว์ ในขณะซึ่งเราคิดว่า เราไม่ฆ่า ขณะนั้นจิตก็สงบเหมือนกับขณะที่ให้ทาน คือ สติเกิดเหมือนกัน แต่เราก็ไม่รู้อีก

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้น เราเรียนเรื่องวิบากก็มีประโยชน์ คือ ขณะใดที่เป็นเห็น ไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่อกุศลจิต ขณะใดที่อกุศลจิตเกิด ขณะนั้นไม่ใช่กุศลจิต ไม่ใช่วิบากจิต ไม่ใช่กิริยาจิต ตัวอย่างก็มีในชีวิตประจำวัน

    ผู้ฟัง ดิฉันกำลังจะเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ขณะซึ่งสติที่เป็นไปในทาน ในศีลนั้น เหตุซึ่งเราไม่รู้ เพราะว่าปัญญายังไม่เกิด

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่ใช่สติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง ตอนนั้นปัญญายังไม่รู้ด้วยว่า ลักษณะนั้นเป็นลักษณะที่เป็นกุศลหรืออกุศล แต่เขาก็เป็นแล้ว ตรงจุดนี้ที่ดิฉันต้องเรียนถามอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ถ้าศึกษาเรื่องจิต ตั้งแต่เกิดจนตายมีจิต ๔ ชาติ อย่างนี้ก็สบายแล้ว วิบากคือวิบาก กุศลคือกุศล อกุศลคืออกุศล กิริยาคือกิริยา

    ผู้ฟัง แม้ขณะให้ทาน หรือว่ารักษาศีล สติเกิด แต่ไม่รู้ กับการที่ศึกษาสภาพธรรม ไม่รู้ลักษณะของสติ แต่รู้ว่า สภาพธรรมเป็นอย่างไร อันนี้เข้าใจว่า ไม่น่าจะเป็นสติปัฏฐาน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ต้องไปคิดถึงชื่อสติปัฏฐาน หรือไม่ใช่สติปัฏฐาน แล้วทานขณะนี้ก็ไม่ได้ให้ ขณะนี้กำลังฟังธรรม แค่นี้รู้ไหมว่า จิตขณะไหนเป็นกุศล ขณะไหนเป็นวิบาก ขณะไหนเป็นอกุศล ขณะไหนเป็นกิริยา ไม่ต้องไปย้อนคิดถึงตอนที่ให้ทาน เดี๋ยวนี้อยู่ตรงนี้ การศึกษาทำให้ทราบว่า ขณะที่เห็น ชั่วเห็นก็เป็นวิบาก แล้วเวลาที่มีความเข้าใจธรรม ขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา แต่ต้องเป็นจิตที่ดีงามที่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ปัญญาคือสภาพที่สามารถเข้าใจถูกในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังในเรื่องราวของสภาพธรรม แต่เป็นระดับขั้นของการฟัง

    ผู้ฟัง แต่เราจะเข้าใจ ปัญญารู้ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมขณะนั้น แต่ว่าสติก็ไม่ปรากฏให้เห็น

    ท่านอาจารย์ ที่เป็นอย่างนี้เพราะว่าเราชินกับชื่อ เอาชื่อใส่จนทำให้เรางงหมด เอาชื่อออก ก็มีสภาพธรรมที่เป็นวิบาก ที่เป็นกุศล ที่เป็นอกุศล ที่เป็นกิริยา ขณะใดที่เป็นวิบาก ก็เป็นวิบาก อย่างเห็นก็เป็นวิบาก ขณะที่ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นก็เป็นจิตประเภทที่เป็นกุศล ขณะใดที่มีโลภะ โทสะ โมหะ ขณะนั้นก็เป็นจิตที่เป็นอกุศล

    ผู้ฟัง ก็เข้าใจ เวลา

    ท่านอาจารย์ เข้าใจคือชีวิต ทั้งชีวิตคืออย่างนี้ เป็นจิตประเภทต่างๆ วิบากบ้าง กุศลบ้าง อกุศลบ้าง กิริยาจิตบ้าง

    ผู้ฟัง บางขณะก็รู้ได้บ้างว่า ขณะนี้เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นคิด หรือรู้ลักษณะของกุศลจิต

    ผู้ฟัง ตรงนี้ที่หนูไม่ชัดเจนตรงที่ว่า

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นเราไม่เอาชื่อ เราไม่ต้องไปติดว่า เป็นสติปัฏฐาน หรือไม่สติปัฏฐาน แต่ว่าการฟังธรรมให้เข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ลืมเรื่องอื่นหมด ไม่ต้องไปคิด ปัจจัยนั้น เรื่องนี้ สติเจตสิกหรืออะไร ปัฏฐานอะไร ไม่ต้องคิดเลย กำลังได้ฟังอะไร พยายามเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แล้วเมื่อเข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังวันนี้ ต่อไปฟังเรื่องที่เกี่ยวกับสภาพธรรม ก็สามารถที่จะเข้าใจได้อีก ขอให้เข้าใจเฉพาะสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แล้วความเข้าใจก็จะเพิ่มขึ้น เช่น เข้าใจว่าสติปัฏฐาน ขณะที่เกิด อบรม ไม่ใช่วิปัสสนาญาณ ถ้าเราเข้าใจตอนนี้อย่างนี้ เราก็เข้าใจถูก แล้วเราเข้าใจว่า ขณะใดที่เป็นกุศล คือ ขณะที่ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะเกิดร่วมด้วย ขณะที่เห็นก็ไม่ใช่กุศล ไมใช่อกุศล แต่เป็นจิตประเภทวิบาก

    ผู้ฟัง อาจจะเป็นว่า เราคิดว่าเรารู้แล้ว แต่พอมาฟังธรรมที่บรรยายมันไม่ตรงกัน ก็แสดงว่ารู้ผิด ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องที่เราคิดเอง ใช่ไหม ต่างกับการที่เราได้ศึกษาพระธรรม

    ผู้ฟัง ถ้าเมื่อรู้แล้ว ศึกษาพระธรรมแล้ว เข้าใจตรงกันถึงจะรู้ถูก ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แล้วรู้แล้วหรือยัง

    ผู้ฟัง ยัง

    ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องที่ค่อยๆ รู้ สะสมความรู้เพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง คำว่า หลงลืมสติ ดิฉันมีความคิดว่า จะเหมาะกับบางท่านเท่านั้น เพราะเวลาที่พูดคำว่า หลงลืมสติ ดิฉันรู้สึก ตะขิดตะขวงใจ เพราะคิดว่ามันเหมือนกับว่า สติมันเกิดอยู่ตลอด แล้วเราหลงลืม ถ้าเป็นดิฉันอกุศลเกิดตลอด แล้วสติเกิดขึ้น ท่านอาจารย์ว่าผิดกันอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าบอกว่า หลงลืมสติเป็นส่วนใหญ่ ล่ะ ถูกไหม

    ผู้ฟัง อันนั้นใช่ แต่ท่านอาจารย์ว่า หลงลืมสติ ดิฉันรู้สึกว่า มันผิดปกติ ต้องเหมาะกับบางท่าน

    นิภัทร คุณบง หนังสือของมูลนิธิ ชื่อ ธรรมเตือนใจแด่คุณประมาท คุณประมาท คือ คนหลงลืมสติ คือ ไม่มีสติ สติ อวิปปวาโส แปลว่าอยู่ปราศจากสติ ชื่อว่าประมาท คำว่า หลงลืมสติ มันเป็นปกติวิสัยของปุถุชนเราอยู่แล้ว ที่ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับคำแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ เป็นผู้หลงลืมสติ เป็นผู้หลงลืมสติอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น มันก็เป็นคำที่เราไม่ชอบ แต่มันเป็นจริง เป็นจริงตลอดชีวิตของเรา ตราบใดที่เรายังไม่เข้าใจธรรม ไม่ฉลาดในธรรม ไม่ได้รับคำแนะนำที่ถูกต้องในธรรม เราก็ยังจะเข้าใจผิดอยู่ตลอด ความเข้าใจผิดนี้แหละ คือ หลงลืมสติ ประมาทแน่ๆ

    ผู้ฟัง อาจารย์เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา แด่คุณประมาท สาเหตุเกิดจากอย่างนี้ ครั้งหนึ่งมีคนถามคำถามว่า ตอนศึกษาธรรมใหม่ๆ ก็รู้สึกว่าขยันขันแข็งดี มีสติเกิดบ้าง ต่อมามันรู้สึกว่า มันเฉยๆ เฉื่อยๆ มันเป็นเพราะอะไร อาจารย์ก็บอกว่า เกิดจากความประมาท ก็เลยเกิดคำว่า คุณประมาท ขึ้นมา ก็เกิดหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา เพราะความที่ขาดสติ วันหนึ่งๆ หลงลืมสติมาก พระพุทธองค์จึงตรัสไว้ว่า สติ จำปรารถนาในที่ทั้งปวง เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีสติ ก็ต้องอบรม ต้องฟังบ่อยๆ เนืองๆ ฟังเรื่องเก่านี้แหละ ซ้ำบ่อยๆ เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ฟังบ่อยๆ ไม่ต้องเบื่อ แล้วก็สติ ก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้นได้

    ผู้ฟัง อาจารย์สมพร อามิส ในที่นี้หมายถึงอะไร

    สมพร อามิส หมายถึง เบญจกามคุณ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ นี้คือ อามิส สิ่งที่ล่อใจให้ติดอยู่ ถ้าเราละอามิสได้ ก็ถึงสันติ แต่ว่าละยาก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้นเป็นประจำอยู่แล้ว เป็นเครื่องผูก เรียกว่า ปัญจคุณา เครื่องผูก คุณา แปลว่าเครื่องผูก แต่คำว่า คุณา มีศัพท์ เป็นเอนก บางแห่งใช้คำว่า คุณะ หมายถึง ความดี อย่างพุทธคุณ ความดีของพระพุทธเจ้า ธรรมคุณ ความดีของพระธรรม หรือสังฆคุณ ในที่นี้ท่านก็ว่าย่อ คำว่า คุณ มีความหมายหลายอย่าง ที่ว่า อามิส คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ใน ๕ อย่าง สันติ คือ มุ่งถึงความสงบ คือ พระนิพพานเท่านั้น อย่างอื่นไม่ใช่สงบจริงๆ สงบชั่วคราว พระนิพพานนั้นมีความสงบสุขตลอดไปเลย แล้วมีความสุขที่ยั่งยืน

    ผู้ฟัง ในคาถานี้เหมือนกับพระพุทธเจ้าทรงแสดงให้เราละกามคุณเสีย จะได้ถึงพระนิพพาน

    ท่านอาจารย์ ถ้าพิจารณาพยัญชนะตั้งแต่ต้นที่ว่า กาลทั้งหลายย่อมล่วงไป

    การฟังธรรมก็ต้องพิจารณาละเอียดว่า ขณะนี้เอง ไม่มีขณะใดซึ่งไม่ดับไป การเกิดดับของสภาพธรรมเร็วมาก ตั้งแต่ก่อนที่เราจะอยู่ในห้องนี้ จนกระทั่งเรามานั่งที่นี่ ทุกขณะก็ล่วงไป แล้วก็จะเป็นอย่างนี้ไป จนกระทั่งถึงขณะจุติ หรือมรณะ ราตรีทั้งหลายย่อมผ่านไป เดี๋ยวก็วัน เดี๋ยวก็คืน ผ่านไปเรื่อยๆ ไม่หยุดเลย ชั้นแห่งวัยย่อมละลำดับไป คือตั้งแต่เด็กจนกระทั่งค่อยๆ โตขึ้น เจริญขึ้นจนถึงวัยชรา แล้วก็จะจากโลกนี้ไป

    บุคคลเมื่อเห็นภัยในมรณะ

    ถ้าเป็นผู้ที่มีปัญญา เพียงฟังเท่านี้ก็รู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีที่จะยั่งยืน หรือว่าจะเป็นของเราอย่างแท้จริง ตั้งแต่เกิดจนตาย ความรู้สึกสุขทุกข์เมื่อวานนี้ หรือว่ารูป เสียงที่เราได้เมื่อวานนี้ ขณะนี้อยู่ที่ไหน สิ่งที่เห็นทางตา เสียงที่ได้ยินทางหู กลิ่น รส สัมผัสทั้งหมดเมื่อวานนี้ก็หมดไปเมื่อวานนี้ และขณะนี้ก็เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ทุกขณะ ก็เหมือนกับขณิกมรณะ คือ ความตายทุกขณะ แต่สำหรับเทวดาซึ่งไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็กล่าวว่า

    เมื่อเห็นภัยในมรณะ พึงทำบุญทั้งหลาย ที่นำสุขมาให้

    ไม่ทราบว่าผู้ที่ไม่ใช่เทวดา คิดอย่างนี้หรือเปล่า เพราะรู้ว่าถ้าขณะใดที่ทำกุศล ก็จะได้รับผลของกุศล คือ เห็นดี ได้ยินดี ได้กลิ่นดี ลิ้มรสดี รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสดี ทุกอย่างที่ดีในชีวิตเป็นผลของกุศล

    คนที่กลัวที่จะไม่ได้ผลของกุศล คิดถึงว่า ไหนๆ เราจะสิ้นชีวิต ต้องตายจากไป ต้องเกิดใหม่ เพื่อที่จะได้เกิดใหม่ดีๆ แล้วก็เห็นดีๆ ได้ยินดีๆ เพราะฉะนั้น ก็ทำบุญเสีย นี่คือเทวดา ถ้าเป็นอย่างนี้ ไม่มีวันจบสิ้น เมื่อไรจะจบ เมื่อวานนี้ก็เห็น วันนี้ก็เห็น พรุ่งนี้ก็เห็น ชาตินี้ก็เห็น ชาติหน้าก็เป็นอย่างนี้ทุกวัน เมื่อไรจะจบ ไม่เคยมีใครคิดเลย มีแต่ความคิดที่หวังว่า ขณะต่อไปจะเป็นอย่างไร หวังเรื่อยไป ทั้งในชาตินี้ และในชาติต่อไปด้วย แต่ว่าถ้าผู้มีปัญญาจริงๆ เป็นอย่างนี้ ซ้ำแล้วซ้ำอีก เป็นแล้วก็เป็นอีก เห็นแล้วก็เห็นอีก เมื่อไรจะจบสิ้น เหมือนกับว่า เราจะจบได้ไหม มีทางที่จะจบการที่จะต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ต้องมีเรื่องราวต่างๆ ในชีวิต ผลัดเปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ เดี๋ยวสุขบ้าง เดี๋ยวทุกข์บ้าง

    ถ้าศึกษาในพระไตรปิฎกก็จะเห็นได้ว่า คนที่เกิดเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวนี้ในชาตินี้ พอถึงอีกชาติหนึ่งก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง หรือชาติก่อนก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง จากเศรษฐีเป็นยาจก คนเข็ญใจได้ จากคนเข็ญใจหรือสัตว์เดรัจฉานก็เป็นพระราชามหากษัตริย์ได้

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีอะไรที่จะยั่งยืน ทุกคนที่ไม่รู้ความจริงก็เพียงหวังในชีวิตว่า ขณะต่อไปขอให้ได้แต่สิ่งที่ดี หรือเมื่อตายแล้วก็ขอให้เกิดดี ได้สิ่งที่ดีต่อไป แต่ผู้ที่ตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ย่อมรู้ธรรมที่ลึกซึ้งกว่านั้นมาก พระผู้มีพระภาคตรัสว่า กาลทั้งหลายย่อมล่วงไป จริง อย่างที่เทวดาพูด ราตรีทั้งหลายย่อมผ่านไป ข้อความเหมือนกันที่เทวดากล่าว ชั้นแห่งวัยย่อมละลำดับไป ก็เป็นความจริงอีก บุคคลเมื่อเห็นภัยในมรณะ ก็ตรงกับที่เทวดากล่าว แต่ประโยคที่ต่างกันพระผู้มีพระภาคตรัสว่า พึงละอามิสในโลกเสีย มุ่งสันติเถิด สันติ คือ ความสงบจริงๆ คือ ต้องไม่ได้เห็น ต้องไม่ได้ยิน ต้องไม่ได้กลิ่น ต้องไม่ได้ลิ้มรส ต้องไม่เกิด เพราะว่าถ้าเกิดก็ต้องเห็น เห็นแล้วก็เป็นสุขเป็นทุกข์ ต้องได้ยิน ก็เป็นสุขเป็นทุกข์เรื่อยไป ไม่จบ เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีวันจบเลย แต่ที่จะมุ่งสันติ หรือว่าเพื่อความสงบจริงๆ ไม่ใช่เพื่อที่จะได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ แต่เพื่อละรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ละความติดข้องในสิ่งที่มีในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทราบว่า ละยากมาก เพราะว่าเรื่องติดเป็นเรื่องที่มีง่ายมาก เพราะฉะนั้น เรื่องละก็เป็นเรื่องที่ตรงกันข้าม คือละยาก

    ข้อความในพระสูตรอื่น หรือแม้ในอรรถกถาอื่นก็แสดงไว้ว่า การที่จะละรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือความติดในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ ต้องละความเห็นผิดก่อน หรือการที่จะละหมด กิเลสทั้งหมดถึงความเป็นพระอรหันต ก็ต้องเริ่มที่การละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน

    สมพร เดี๋ยวผมขอพูดนิดหนึ่ง เทวดามุ่งถึงการทำบุญ เมื่อทำบุญแล้วก็มาเสวยสมบัติใหม่ คือ ได้เห็นรูปที่สวยงาม ฟังเสียงที่ไพเราะ ได้กลิ่นที่หอม เหล่านี้เป็นต้น แต่พระองค์ให้ละ เทวดามุ่งถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าปรารถนา จึงให้ทำบุญ จริงอยู่เมื่อทำบุญแล้ว เมื่อเกิดในสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ หรือเกิดเป็นมนุษย์ ก็ตาม ก็ได้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะที่น่าปรารถนา แต่พระองค์เห็นว่า นั่นทำให้ติดอยู่ในวัฏฏะ ควรละเสีย ละอามิส คือ ละรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นของกระทำได้ยาก

    ผู้ฟัง พึงละอามิสในโลกนี้เสีย คืออย่างไร สี เสียง กลิ่น รส ก็ต้องเกิด เพราะว่าเป็นวิบาก เป็นผลของกรรมที่จะเกิด ในการที่จะละ เราต้องเข้าใจว่าเป็นสภาพธรรม เท่านั้นหรืออย่างไร

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าละความติดข้อง ละความไม่รู้สภาพธรรม เพราะถ้าไม่รู้สภาพธรรม ก็ยังติดข้องอยู่

    ผู้ฟัง ต้องเข้าใจว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นเพียงผลของกรรม แล้วเราก็ไม่ติด

    ท่านอาจารย์ เราไม่ติด ไม่มีทางจะเป็นไปได้เลย เพราะว่า เราก็ติดในตัวเราแล้ว แล้วก็ จะไม่ติดอะไรก็ไม่ได้ ต้องมีปัญญาที่เข้าใจถูกต้องในสภาพธรรม

    อดิศักดิ์ สิกขาสูตร บทก่อน ว่าด้วยสิกขาทุรพล และธรรมสำหรับแก้ ข้อ ๒๖๗ ใน อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เหตุเครื่องให้สิกขาทุรพล ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ปาณาติบาต๑ อทินนาทาน๑ กาเมสุมิจฉาจาร๑ มุสาวาส๑ สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหตุเครื่องให้สิขาทุรพล ๕ ประการนี้แล

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ เพื่อละเหตุเครื่องให้ สิกขาทุรพล ๕ ประการนี้แล สติปัฏฐาน ๔ เป็นไฉน

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัด อภิชฌา และโทมนัส ในโลกเสีย พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัด อภิชฌา และโทมนัสในโลกเสีย พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัด อภิชฌา และโทมนัสในโลกเสีย พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ พึงกำจัด อภิชฌา และโทมนัส ในโลกเสีย

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ นี้ เพื่อละเหตุ เครื่องให้สิกขาทุรพล ๕ ประการนี้แล

    ข้อความก็มีอยู่เท่านั้น คือ สิกขาเหล่านี้จะทุรพล สติปัฏฐานก็ยังไม่มั่นคง พูดถึงสติปัฏฐาน ๔ กาย เวทนา จิต ธรรม ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด ก็ไม่จำเป็นต้องไปใส่ชื่อว่า นี่เป็นกาย เป็นเวทนา เป็นจิต เป็นธรรม ไม่ต้องไปคำนึงถึงในขณะที่สติเกิดระลึกรู้ ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เรื่องสติปัฏฐาน ๔ ท่านอาจารย์สุจินต์ เท่านั้น ที่จะได้ขยายความได้ดีกว่า

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นเรื่องที่หลังจากที่ได้ศึกษาได้เข้าใจสภาพธรรมว่า ที่เราเคยหลงยึดถือว่า เป็นเรา เป็นเขา เป็นสิ่งต่างๆ คือสภาพธรรมที่มีจริงชั่วขณะที่ปรากฏ เช่น เสียง เราบอกว่า เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ก็ต้องทราบว่า จริงเมื่อไร เมื่อเสียงกำลังปรากฏ ขณะนั้นลักษณะของเสียงกำลังปรากฏให้รู้ว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งสามารถที่จะศึกษา ให้เข้าใจความจริงของสภาพธรรมนั้นได้

    เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่มีจริง และกำลังปรากฏ ก่อนที่จะได้ฟังธรรม ก็ไม่สามารถที่จะรู้เลยว่า เป็นเพียงสภาพแต่ละอย่าง เป็นธาตุแต่ละชนิด แต่เมื่อได้ศึกษาแล้ว ก็ทราบว่า ทรงแสดงความละเอียดของสภาพธรรม ตั้งแต่เกิดจนตาย และทุกสิ่งทุกอย่างว่า เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริงก็เป็นธรรมที่หลากหลาย แต่ว่าถึงอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะต่างกันไปโดยลักษณะอย่างมากเพียงใดก็ตาม แต่ว่าลักษณะแท้จริงคือว่า มีลักษณะเพียง ๒ อย่างประเภทใหญ่ๆ คือ สภาพธรรมหนึ่ง แม้มีจริงเกิดขึ้นปรากฏแต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ฟังก็เหมือนซ้ำ ก็พูดอย่างนี้ทุกวัน พูดมาตั้ง ๓๐ กว่าปี เช่น แข็งที่กำลังปรากฏเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง มีจริง ขณะไหน ขณะที่กำลังปรากฏ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567