ปกิณณกธรรม ตอนที่ 312


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๑๒

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๔


    ท่านอาจารย์ สติปัฏฐานจะเกิดได้ต่อเมื่อมีความเข้าใจในสภาพธรรม จริงๆ ไม่ใช่เป็นตัวตนซึ่งเราจะทำให้สติปัฏฐานเกิด เพื่อเราจะได้รู้การเกิดดับของสภาพธรรม เพื่อเราจะได้หมดกิเลส นั่นเป็นเราทั้งหมด ไม่ใช่ปัญญา แต่ถ้าเป็นปัญญาจะรู้ถึงเหตุ จะรู้ถึงลักษณะว่า สติปัฏฐานไม่ใช่ตัวตน แล้วเมื่อไรที่มีการระลึกจากการฟังแล้วเข้าใจว่า ขณะนี้หรือขณะไหนก็ตามทั้งหมดเป็นธรรม มีลักษณะปรากฏจริงๆ แล้วไม่ใช่เป็นการบังคับด้วย แต่มีปัจจัยที่มีการระลึกลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏ อย่างเมื่อกี้นี้เรื่องปวดคอ ถ้าปวดไม่เกิด จะระลึกลักษณะของปวดได้ไหม ไม่ได้เลย แต่ปวดเกิดแล้วไม่ระลึกได้ไหม ได้ เพราะไม่มีปัจจัยที่สติปัฏฐานจะเกิดระลึก เพียงแต่ฟังแค่นี้ แล้วก็หวังว่า พอปวดขึ้นมาเมื่อไร ก็จะให้สติปัฏฐานระลึก นั่นคือความเป็นเรา ที่มีความหวัง แต่ว่าไม่ใช่เป็นปัญญาที่รู้จริงๆ ว่า เวลาที่สติปัฏฐานระลึกคือลักษณะอย่างไร คือไม่ใช่มีการบังคับ แล้วไม่ใช่มีเราจะทำ แต่ว่าเมื่อสติปัฏฐานเกิดก็ทำหน้าที่ ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เป็นธรรม เราไม่ต้องแยกเป็นกาย เวทนา จิต ธรรมก็ได้ เพราะว่าทุกอย่างเป็นธรรม แต่ที่ทรงแยกไว้เป็นประเภท ก็เพราะเหตุว่ามีการยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ก็ควรจะได้พิจารณาสภาพธรรมนั้นๆ เป็นส่วนๆ ไปเท่านั้นเอง

    ผู้ฟัง จากการฟังธรรมทางวิทยุ มีอยู่ประโยคหนึ่ง ท่านอาจารย์กล่าวว่า ความสะอาดย่อมไม่มีเพราะน้ำ อยากให้ท่านอาจารย์อธิบาย

    ท่านอาจารย์ ความสะอาดของใจ เอาน้ำล้างไม่ออก

    ผู้ฟัง ขอเรียนอีกคำถามหนึ่ง ต้องอดทนตั้งแต่ขั้นการฟัง

    ท่านอาจารย์ อาจจะเบื่อแล้ว ใช่ไหม แต่ก็ยังฟังต่อไปด้วยความอดทน ถ้าไม่อดทนก็กลับไปเลย

    อดิศักดิ์ ถ้าเจอคำว่า สะอาด ที่ไหน จำไว้ว่า เป็นกาย วาจา ใจ

    ผู้ฟัง คำที่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า มัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง ให้อาจารย์ช่วยอธิบายคำนี้ให้กระจ่าง

    ท่านอาจารย์ ความหมายเดียวกับมรรคมีองค์ ๘ กับสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง วิเคราะห์วิกฤตการณ์ของโลกในปัจจุบัน และผลกระทบอันจะมีต่อพระพุทธศาสนา และอุบายอันจะนำมาซึ่งความเป็นหนึ่งเดียวของชาวพุทธทั้งโลก

    ท่านอาจารย์ ทุกคนต้องตายแน่ แต่ว่าจะเร็วหรือช้า นั่นก็แล้วแต่เหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น โลกไหนที่ควรจะพิจารณา ที่จะวิเคราะห์ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ถ้าเรามัวสนใจเรื่องโลกอย่างที่ชาวโลกสนใจ ประโยชน์มาก หรือน้อย หรือไม่มีประโยชน์เลย หรือได้ประโยชน์อะไร นอกจากวิจัยด้วยโลภะ โทสะ แต่ว่าไม่ใช่ด้วยปัญญาที่มีความรู้ความเข้าใจโลกในวินัยของพระอริยะ เพราะว่าโลกจริงๆ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าไม่มีทั้งหมดนี้ โลกใดๆ ก็ไม่ปรากฏทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เวลาที่โลกปรากฏ ให้ทราบว่ามีเหตุที่จะให้โลกปรากฏคือ เมื่อมีการเกิดของจิต

    ถ้าจะวิเคราะห์โลกจริงๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับชีวิตที่มีอยู่สั้นมาก คือ ควรที่จะได้วิเคราะห์เรื่องของสภาพธรรม มากกว่าที่จะวิเคราะห์เรื่องเหตุการณ์ของโลกในปัจจุบัน

    ผู้ฟัง โลกธรรม ๘ นั้น กล่าวเฉพาะผลของกรรม หรือว่าเป็นการกระทำกรรมด้วย เช่น สรรเสริญ นินทา เป็นทั้งผลของกรรม (วิบาก) ได้รับการสรรเสริญ นินทา แต่เมื่อการกระทำกรรม เช่น ทำอกุศลกรรมโดยการนินทาผู้อื่น หรือสรรเสริญความดีของผู้อื่น คำถามคือว่าโลกธรรม ๘ กล่าวเฉพาะเป็นผลของกรรม หรือว่าเป็นการกระทำด้วย กราบเรียนถามท่านอาจารย์

    ท่านอาจารย์ ผลของกรรมก็ต้องเนื่องมาจากการกระทำ ถ้าไม่มีการกระทำที่เป็นเหตุ ผลนั้นๆ ก็เกิดไม่ได้ แต่เวลาที่พูดถึงโลกธรรม เราพูดถึงได้ลาภ วันนี้ถ้าได้ลาภ เราทำให้ลาภเกิดวันนี้ หรือว่ามีเหตุปัจจัยที่ทำให้ลาภวันนี้เกิดขึ้น ไม่ว่าเราจะได้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ใกล้ปีใหม่ก็คงจะมีของขวัญ ที่แต่ละคนก็อาจจะได้รับจากญาติพี่น้องเพื่อนฝูงบ้าง สิ่งต่างๆ ที่ได้รับ เราทำให้ได้รับวันนั้น หรือว่าได้กระทำไว้แล้วนาน แล้วก็มีเหตุปัจจัยที่จะให้สิ่ง นั้นๆ เกิดขึ้นกับเรา

    ผู้ฟัง ก็น่าเชื่อได้ว่า ทำกรรมไว้ดีแล้วจึงเป็นเหตุ

    คนที่เจ็บป่วยนอนอยู่บนเตียงหลายปี คือ เจ้าหญิงนิทรา เพราะเขาได้ทำกรรมอะไรไว้ ในชาตินี้ถึงมีกรรมขนาดนี้ หรือชาตินี้เขาได้มาชดใช้กรรมแล้ว (แต่ไม่รู้ว่ามีกรรมอะไรที่ได้ทำไว้)

    ท่านอาจารย์ ถ้าตอบแล้วจะเชื่อไหม จะตอบอย่างไรก็ได้ทั้งนั้น แต่คนฟังจะเชื่อหรือเปล่า เพราะว่าจริงๆ แล้วผู้ที่จะรู้กรรมวิบาก คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่องของอจินไตยที่ไม่ควรคิด ก็รวมเรื่องของกรรม และวิบากด้วย

    ผู้ฟัง เมื่อเช้าก็น่าจะมีพูดเรื่องตรงนี้ แต่ว่ายังไม่ได้อ่านคำถามอันนี้ คนไม่มีบุตร มีบุญ หรือมีบาป

    ท่านอาจารย์ เราคิดเรื่องบุตร แต่ว่าจริงๆ คือสิ่งที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะฉะนั้น ถ้าคิดเป็นชื่อ ก็มากเลย ทั้งเพื่อน ทั้งบุตร ทั้งญาติ ทั้งมิตร แต่ถ้าคิดเป็นสภาพธรรมก็ตรง คือทางตานี้คือเห็น จะเห็นอะไรก็แล้วแต่ ทางหูก็ได้ยิน จะเป็นบุตรหรือไม่ใช่บุตร คือเสียงที่ได้ยินทางหู

    ถ้าได้รับสิ่งที่ไม่น่าพอใจขณะใด ไม่ว่าจากบุตร หรือจากใครก็ตาม อันนั้นก็เป็นผลของกรรม ถ้าได้รับสิ่งที่พอใจทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จากใครก็ตาม นั่นก็เป็นผลของกุศลกรรม ถ้าเป็นสิ่งที่พอใจ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจก็เป็นผลของอกุศลกรรม

    ผู้ฟัง เรื่องความตาย ในเมื่อทุกกคนก็หนีไม่พ้นอยู่แล้ว อยากทราบเรื่องหลังความตาย กับก่อนตาย เอาความตายไว้ตรงกลาง หลังความตาย กับก่อนตาย หลังความตายจะมีภพภูมิต่างๆ รองรับอยู่แล้ว อยากให้โยงมาถึงก่อนตายเราก็ทำกรรมดี กรรมชั่ว อะไรถึงจะไปสู่ภพภูมิแต่ละชนิดที่มีอยู่หลังความตายตรงนั้น ช่วยอธิบาย

    ท่านอาจารย์ ก่อนเกิดมานี่ก็คงต้องตายมาก่อน แต่จะมาจากโลกไหนก็ไม่มีใครทราบ แต่การที่เรารู้ว่าจะต้องเกิดอีกแน่นอน เพราะเหตุว่ายังไม่ใช่พระอรหันต์ เมื่อยังมีกิเลสอยู่ก็ต้องเกิด แล้วเวลาที่เราพูดเรื่องตายเกิด เราทราบหรือเปล่าว่า อะไรตาย อะไรเกิด ถ้าทราบแล้วก็จะไม่มีปัญหาเลย เพราะว่าแท้ที่จริงแล้วก็คือ จิต เจตสิก รูป นั่นเองเกิดขึ้นเพราะกรรมหนึ่งเป็นปัจจัย ถ้าไม่มีกรรมเป็นปัจจัย ก็จะไม่มีการเกิดเลย แต่ที่ทุกคนเกิดมา แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ในพระชาติสุดท้ายก็เพราะกรรมหนึ่งที่ได้กระทำไว้ ทำให้ปฏิสนธิจิตเป็นผลของมหากุศลที่ประกอบด้วยปัญญา

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นกุศลวิบากจิต ชั้นเลิศ คือ โสมนัสเวทนาอสังขาริกด้วย

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า กรรมของแต่ละคนที่ทำมา ยังไม่ตายก็มีปัจจัยให้เกิดแล้ว เช่น โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ วันนี้สบายดีแข็งแรง แต่วันต่อไปกรรมก็จะทำให้อะไรเกิดย่อมได้ทั้งหมด การตายของแต่ละคนในชาตินี้ ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า จะในลักษณะใด ตามกรรม สิ่งที่ได้รับในขณะที่ยังไม่ตาย ก็ตามกรรมอีก เพราะว่าจิตเกิดแล้วก็ดับ แล้วก็เกิดอีก ไม่ใช่ไม่เกิดอีก

    เวลาที่เราพูดถึงความตายก็มี ๓ อย่าง ขณิกมรณะ หมายความถึงจิตตายทุกขณะ เกิดแล้วไม่ดับไม่มี ขณะที่สุขเกิด ทุกข์เกิดไม่ได้ ขณะที่ทุกข์เกิด สุขก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็ต่างขณะกัน จะให้สุขมาเกิดเป็นทุกข์อีกก็ไม่ได้ จะให้ทุกข์กลับไปเกิดเป็นสุขก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าแต่ละขณะมีปัจจัยเกิดขึ้น จึงได้เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนั้น

    ถ้าเข้าใจเรื่องกรรม และผลของกรรมว่า แม้ยังไม่ตาย กรรมก็ให้ผลแล้วได้ ทุกขณะที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส นี่เป็นผลของกรรมทั้งหมด

    พระพุทธศาสนาไม่ได้เป็นศาสนาที่ไม่แฝงด้วยความจริง หรือไม่ใช่มีจริง พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่แสดงความจริงทั้งหมด ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น เหตุการณ์ทั้งหลายทุกๆ ขณะก็ทรงแสดงไว้มากโดยครบถ้วนว่า เป็นผลของกรรม ไม่มีเรื่องที่ต้องสงสัยเลย ที่เมื่อจิตขณะหนึ่งดับเป็นปัจจัยให้ขณะหนึ่งเกิด เรื่อยๆ ไป แม้ในขณะที่ยังไม่ตาย เพราะฉะนั้น เมื่อจิตขณะสุดท้ายดับ ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะแรกของชาติต่อไปเกิด แล้วแต่ว่าจะเกิดในภพไหนภูมิไหน

    ผู้ฟัง พระธรรมเป็นปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พวกเรามักจะพูดกันว่า พระธรรมยากมาก และท่านอาจารย์สุจินต์ท่านก็รับรองว่า นั่นเป็นการสรรเสริญคุณของพระพุทธเจ้า ผมขอกราบเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ทำไมการกล่าวว่าพระธรรมยาก จึงเป็นการสรรเสริญคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

    ท่านอาจารย์ ถ้าพระธรรมง่าย ก็คงไม่ต้องอาศัยพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะว่าใครๆ ก็ย่อมสามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรมได้เอง แต่สภาพธรรมแม้ที่กำลังมีในขณะนี้ ก็ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ได้ว่า เป็นธรรม เพราะเหตุว่าเป็นเรา ไม่ว่าจะเห็น จะได้ยิน จะได้กลิ่น จะลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก ตั้งแต่เกิดจนตายก็เป็นเราทั้งนั้น มองหาธรรมไม่เจอว่า ธรรมอยู่ที่ไหน ต่อเมื่อใดที่ได้ฟังแล้ว ก็ไม่ต้องหาธรรมเลย เพราะว่าไม่มีวันพ้นจากธรรม แต่ไม่รู้ว่า เป็นธรรม

    การที่จะรู้ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเหตุว่าถ้าเป็นธรรมก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ใครไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดอีกต่อไป แต่ต้องเป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ มีลักษณะเฉพาะธรรมนั้นๆ ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร แล้วก็สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏ ถ้าคิดให้ลึกๆ ให้ถูกต้อง ก็ต้องเข้าใจถูกได้ว่า สิ่งที่ปรากฏต้องเกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดขึ้นจะไม่มีอะไรปรากฏเลย เช่น เสียง เงียบ เสียงไม่ได้ปรากฏ ไม่ได้เกิดขึ้น แต่ขณะใดที่กำลังได้ยิน หมายความว่ามีเสียงปรากฏ แล้วมีสภาพที่ได้ยิน คือ รู้เสียงนั้นในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเสียงต้องเกิด แม้แต่สภาพที่ได้ยินก็ต้องเกิด

    ทุกขณะตั้งแต่เกิดจนตาย เราก็ใช้คำว่า เกิด อยู่แล้ว ตั้งแต่เกิด หมายความว่าต้องมีการเกิด แต่เกิดด้วยความไม่รู้ว่าเกิดคืออะไรเกิด เมื่อไม่รู้ก็ยึดถือสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยทั้งหมดว่าเป็นเรา พอเกิดมาก็เห็น แต่ถ้าคนตาบอดก็ไม่เห็น

    ถ้าพิจารณาไตร่ตรองจริงๆ ก็สามารถที่จะเข้าใจความจริงของธรรม แต่ก็ไม่มีใครไตร่ตรองในลักษณะนี้ จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น กว่าจะได้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงของสภาพธรรมที่มีการเกิดขึ้น มีการปรากฏแล้วก็ดับไป ก็ต้องเป็นการฟังด้วยการพิจารณาจริงๆ จึงจะสามารถรู้ในพระคุณที่ได้ทรงประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมถึงความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงพระธรรมโดยละเอียด โดยนัยประการต่างๆ ๔๕ พรรษา เพราะไม่ใช่เป็นสิ่งที่เพียงใครได้ฟังเดี๋ยวนี้ อย่างที่ได้ฟัง แล้วก็จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ฟังแล้วก็ต้องฟังอีก แล้วก็ต้องมีการพิจารณาไตร่ตรอง จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องยากแน่นอน ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เพียงฟังวันนี้ แล้วทุกคนก็จะเห็นว่า เป็นธรรมทั้งหมด ไม่ใช่เราอีกต่อไป

    อดิศักดิ์ พระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านอาจารย์พูดไปเมื่อกี้นี้ เป็นเพียงบางส่วน พระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้กระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็พรรณาไม่หมด เพราะว่ามากมายมีแสดงไว้ในพระไตรปิฎก การที่จะพรรณาพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือการเข้าใจพระธรรม สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นจริงๆ จะเป็นจริงต้องกำลังปรากฏ ถ้ายังอยู่ในหนังสือไม่จริง เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่จริงที่สุดคือ ที่กำลังปรากฏ สติเกิดระลึกรู้ในสภาพธรรมนั้นๆ ได้ อันนี้ถ้าเราเข้าใจถึงจริงๆ อันนี้ก็เป็นการเคารพธรรม เคารพพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประการหนึ่งทีเดียว

    ผู้ฟัง พระคุณของพระพุทธเจ้าที่ท่านวิทยากรกล่าว เป็นสิ่งที่มากมายจริงๆ สำหรับพระคุณที่ประมวลโดยย่อที่พระโบราณจารย์ทั้งหลายที่ท่านได้รวบรวมไว้ ที่โดยย่อ ๓ อย่าง คือ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ และพระปัญญาคุณ เป็นการประมวลที่ให้เห็นเด่นชัดว่า พระคุณทั้งหมดของพระผู้มีพระภาค เมื่อจำแนกแล้วรวมลงในทั้ง ๓ อย่างนี้ แต่ที่บทสวดมนต์ที่เราสวดกันอยู่ ก็จะจำแนกเป็น ๙ บท มีตั้งแต่

    อะระหัง เป็นพระอรหันต์ อันนี้ก็เป็นพระคุณอย่างหนึ่งของพระผู้มีพระภาค

    สัมมาสัมพุทโธ เป็นพระคุณอย่างหนึ่งซึ่งจะไม่ทั่วไปกับทุกๆ คน เฉพาะผู้เดียวที่มาตรัสรู้ ในแต่ละยุค แต่ละสมัย อันนี้ก็เป็นพระคุณอีกอย่างหนึ่ง

    วิชาจรณสัมปัณโน ถึงพร้อมด้วยวิชา และจรณะ อันนี้ก็เป็นพระคุณอย่างหนึ่ง

    สุคโต เป็นผู้ที่เสด็จไปดีแล้ว ก็เป็นพระคุณอย่างหนึ่ง

    โลกะวิทู รู้แจ้งโลก ไม่ว่าจะเป็นโลกแบบไหน โลกที่เป็นกามโลก รูปโลก อรูปโลก หรือที่เป็นโลกุตตระ พระองค์ก็ทรงทราบทั้งหมด ขันธโลก อายตนโลก อินทรีย์ สัจจะต่างๆ เป็นโลกที่มีมากมาย พระองค์ก็รู้แจ้งทั้งหมด

    อนุตตะโร ปุริสะทัมมะสารถิ พระคุณของพระผู้มีพระภาคอย่างหนึ่งที่เป็นสารถี ฝึกบุรุษที่สมควรฝึก ที่ไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นอนุตตะโร ซึ่งในครั้งพุทธกาลผู้ที่ได้รับการฝึกฝนจากพระผู้มีพระภาคก็มากมาย ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ที่ดุร้าย เช่น โจรองคุลีมาล เป็นผู้ที่แม้พระราชาเองก็หวาดกลัว ไม่สามารถที่จะไปปราบปราม ไปฝึกฝนเขาได้ แต่พระผู้มีพระภาคทรงฝึกฝนโจร ผู้มีความร้ายกาจ โดยไม่ต้องใช้อาชญา ไม่ต้องใช้ศาสตราอาวุธอะไรเลย ก็สามารถจะฝึกผู้ที่มีความโหดร้ายเหล่านี้ได้ อันนี้เป็นพระคุณอย่างหนึ่ง แม้แต่สัตว์เดรัจฉา ที่เป็นช้างนาฬาคีรี ตกมัน มีความร้ายกาจมากเลย พระผู้มีพระภาคก็ทรมานได้ ฝึกได้ ทำให้ช้างหมดพยศ ได้แน่นอน เช่นเดียวกัน

    สัตถาเทวมนุษย์สานัง เป็นครูผู้สอนของเทวดา และมนุษย์ ทั้งหลาย

    พุทโธ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

    ภควา ทรงจำแนกพระธรรม

    เป็นพระคุณที่โบราณาจารย์ทั้งหลายท่านได้จำแนกไว้ในตำรา และในบทสวดมนต์ทั้งหลาย ที่ให้เราเข้าใจในพุทธคุณ ซึ่งก็จะว่าแล้วเป็นส่วนน้อย ซึ่งท่านได้เปรียบเหมือนน้ำในมหาสมุทร เวลาเอาเข็มจุ่มลงไป น้ำส่วนที่ลอดช่องเข็มปริมาณน้อยมาก พระคุณที่ยังไม่ได้สรรเสริญก็มาก เปรียบเหมือนน้ำในมหาสมุทร แต่ที่ปุถุชนทั้งหลาย ผู้ที่เป็นบัณฑิตทั้งหลายที่สรรเสริญก็มีส่วนน้อย เหมือนกับน้ำที่ลอดในช่องเข็มเท่านั้นเอง ซึ่งก็เปรียบกันไม่ได้เลย อันนี้ก็เป็นพระคุณของพระผู้มีพระภาคท่านได้เปรียบเทียบไว้ เป็นสิ่งที่ว่า มากมายอย่างนั้นจริงๆ

    ผู้ฟัง ที่กล่าวว่าพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้พิจารณาสิ่งที่กำลังปรากฏ สิ่งที่ปรากฏไปแล้ว และสอนให้เป็นคนระลึกถึง ไม่อาจนับเป็นพระคุณ

    ท่านอาจารย์ ระลึกถึงอะไร ต้องเป็นเรื่องละเอียด สิ่งที่ผ่านไปแล้วหมดไปแล้ว แล้วจะระลึกถึงอะไร ที่ผ่านไปแล้ว ที่หมดไปแล้ว คือ คำพูดทุกคำไม่ใช่คำพูดที่เราจะรับฟังโดยที่ไม่ไตร่ตรอง หรือว่าโดยที่ไม่พิจารณา แต่ว่าเมื่อได้ยินคำใดแล้ว คำพูดนั้นต้องสมควรที่จะไตร่ตรองให้ได้เข้าใจจริงๆ ในคำพูดนั้น ถ้ามีคำกล่าวว่า ให้ระลึกถึงสิ่งที่หมดไปแล้ว ล่วงไปแล้ว ก็ควรถามว่า อะไรเป็นสิ่งที่จะระลึก สิ่งใดที่ล่วงไปแล้วที่จะระลึก เป็นเรื่องของการที่จะซักถามให้เกิดความเข้าใจที่ตรง และถูกต้อง ฟังเฉยๆ ก็ไม่ทราบว่า จะให้ระลึกอะไรที่ล่วงไปแล้ว ข้อสำคัญที่สุด สิ่งที่ล่วงไปแล้ว ดับไปแล้ว ไม่เหลือทุกอย่าง แม้แต่จิตเมื่อวานนี้ ก็ไม่ใช่จิตขณะนี้ที่กำลังเห็น หรือจิตที่เห็นในขณะนี้ ก็ไม่ใช่จิตเห็นเมื่อสักครู่นี้ ก็เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ เมื่อดับล่วงภังคขณะ ขณะที่ดับ ก็หมดสิ้นไป

    เพราะฉะนั้น จะให้ระลึกถึงสิ่งใดที่ล่วงไปแล้ว

    พระพุทธเจ้าสอนให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริง ที่กำลังปรากฏ แต่ห้ามความคิดไม่ได้ มีใครบ้างที่จะไม่คิด แต่ขณะที่คิดต้องรู้สภาพธรรมที่คิดว่า เป็นเราคิดหรือเปล่า การที่จะรู้ ความจริงว่า ไม่มีตัวตน ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ตรงกับที่ทรงแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เมื่อเป็นพระพุทธดำรัสแล้วไม่มีใครที่จะปฏิเสธ หรือจะเปลี่ยนคำนี้ได้เลย ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สัพเพ ธัมมา อนัตตา

    การที่จะมีความเห็นค่อยๆ ตรง ค่อยๆ ถูก ว่า ธรรมทั้งหลาย คืออะไร แล้วก็เป็นอนัตตา คือ ไม่มีเจ้าของ ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้ สภาพธรรม ใดเกิดต้องมีปัจจัยเฉพาะสภาพธรรมนั้น สภาพธรรมนั้นจึงเกิดได้ ไม่สับสนกัน

    การที่จะรู้ความเป็นอนัตตา ไม่ใช่ห้ามคิด แต่ขณะที่คิด เป็นเราคิด หรือว่า เป็นธรรมที่คิด

    นี่คือการที่จะเข้าใจความจริง เพราะว่าทั้งหมดต้องรู้ความจริงว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่มีเจ้าของ บังคับบัญชาไม่ได้ แต่สภาพนั้นเป็นอะไร นี่คือปัญญา แต่ถ้าไม่สามารถจะรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอะไรก็ไม่ใช่ปัญญา

    ปัญญาคือขณะที่สามารถจะเห็นสภาพธรรม ไม่ว่าจะเป็นสภาพคิด สภาพเห็น สภาพได้ยิน สภาพจำ ทุกอย่างเป็นธรรม คือหมายความว่า มีลักษณะเฉพาะอย่าง เช่นขณะที่เห็น ไม่ใช่ขณะที่คิด นี่แน่นอน ขณะที่ได้ยิน เพียงได้ยินเสียง ก็ไม่ใช่ขณะที่คิด เพราะเหตุว่าแม้ไม่เห็น แม้ไม่ได้ยิน ก็ยังคิดได้ แต่เวลาที่เห็นแล้วคิด สืบต่อกันเร็วมาก ก็คิดถึงสิ่งที่เห็น เวลาที่ได้ยินเสียง ก็คิดถึงเสียงสูงต่ำซึ่งมีความหมาย ขณะนั้นก็เป็นการคิดถึงเสียงที่กำลังได้ยิน หรือว่าที่เพิ่งผ่านไป ที่ได้ยินแล้ว แต่การที่จะรู้ว่า คิดต่างกับเห็น คิดต่างกับได้ยิน เพราะเหตุว่าแม้ว่าไม่เห็น แม้ว่าไม่ได้ยิน จิตก็คิดได้

    เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่าขณะนั้นเป็นธรรมคืออย่างไร ทั้งหมดเป็นธรรม คำนี้เป็นคำตั้งต้น การที่จะรู้ความจริงว่า ทั้งหมดก็คือเดี๋ยวนี้ แต่ละขณะ แต่ละอย่างแต่ละสภาพธรรม เป็นธรรมอย่างไร แม้แต่คิดขณะนั้นก็เป็นธรรมด้วย เป็นธรรมอะไร

    นี่คือสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แต่ความจริงคิดถึงอะไร คิดถึงเรื่องราวต่างๆ หรือคิดถึงสภาพจำ นี่ก็คือยังไม่ได้แยกเลย ยังไม่ได้แยกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567