ปกิณณกธรรม ตอนที่ 313


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๑๓

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๔


    ท่านอาจารย์ แม้แต่คิดขณะนั้นก็เป็นธรรมด้วย เป็นธรรมอะไร นี่คือสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แต่ความจริงคิดถึงอะไร คิดถึงเรื่องราวต่างๆ หรือคิดถึงสภาพจำ นี่ก็คือยังไม่ได้แยกเลย ยังไม่ได้แยกรู้ลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง นี่คือความสำเร็จในธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนไว้

    ท่านอาจารย์ ความสำเร็จอะไร

    ผู้ฟัง มีขัดเกลากิเลส

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีกิเลสหรือเปล่า

    ผู้ฟัง มี

    ขัดอย่างไร

    ผู้ฟัง ถ้าเผื่อเราขัด ช่วยขัดทีละนิดละหน่อย เดี๋ยวเราก็ คงจะหลุดๆ บ้าง

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีความรู้ จะขัดได้ไหม ความรู้ขัด หรือเราขัด เราไปเอาสิ่งที่สกปรกยิ่งกว่านั้นมาขัด ก็ยิ่งสกปรกกันใหญ่ เพราะว่าไม่ใช่ความรู้ที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น การที่ขัดจริงๆ ไม่ใช่เรา แต่เป็นความรู้ถูกต้องตามความเป็นจริง ในลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้นที่กำลังปรากฏ จึงจะละความเป็นเราจากสภาพธรรมที่มี จริงๆ ที่กำลังปรากฏ ให้ค่อยๆ เข้าใจถูกต้องขึ้นว่า ขณะนั้นไม่ใช่เราอย่างไร แต่ไม่ใช่ไปนึกเป็นเรื่องเป็นราว จะเอาตัวตนไปขัดอะไรนั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา ถ้าปัญญาต้องสามารถเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะเหตุว่าจะไปรู้ความจริงของสิ่งซึ่งไม่ปรากฏในขณะนี้ที่ล่วงไปแล้วหรือที่ยังไม่เกิดขึ้น ได้ไหม ในเมื่อสิ่งนั้นยังไม่ปรากฏเหมือนอย่างนี้ แต่ว่าสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้เป็นอย่างนี้ แล้วไม่มีความเข้าใจถูกต้องในสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วจะเข้าใจว่า ไปรู้สิ่งอื่นที่ไม่ใช่ขณะนี้ได้อย่างไร ในเมื่อขณะนี้ก็ยังไม่รู้

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ได้อธิบายสักครู่นี้ ก็มีความสงสัยว่า ธรรมเป็นเรื่องจริง ขณะนี้ก็ได้ยินเสียง ผมก็ไม่ทราบว่า เป็นธรรมอย่างไร แต่รู้ว่ามันมีจริงๆ เสียง ได้ยินจริงๆ แต่ผมต้องการจะขยายความว่า ผมจะเข้าใจอย่างไรอีกที่จะรู้ว่า ธรรมเป็นเรื่องจริงๆ คือ ข้อสงสัย คือว่า ผมยังไม่ทราบอะไรเลย แต่ยอมรับว่า ได้ยินเสียงมีจริงๆ เห็นก็มีจริงๆ แต่ไม่ทราบว่าเป็นธรรมอย่างไรทั้งหมด

    ท่านอาจารย์ นี่เป็นสิ่งที่มีกับทุกคนตั้งแต่เกิด ไม่พ้นจากธรรมเลย เพราะธรรมเกิด ตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นธรรมทั้งหมด แต่ไม่รู้ว่า เป็นธรรม จึงต้องฟังพระธรรม แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริง แล้วก็ไม่มีใครสามารถที่จะบังคับบัญชาได้เลย มีใครจะบังคับธรรมอะไรในขณะนี้บ้าง มีเหตุปัจจัยเกิดแล้วดับ แต่ไม่รู้ตามความเป็นจริง ก็คิดว่ามีเราที่สามารถจะบังคับหรือทำได้ แต่ถ้าศึกษาโดยละเอียด ทรงแสดงลักษณะของจิต ตั้งแต่เกิดจนตายสืบต่อกันทุกขณะ ซึ่งไม่มีเราที่จะไปทำอะไรกับการเกิดดับสืบต่อของสภาพธรรมได้ เช่น ในขณะที่กำลังเห็น โดยพระสูตรไม่ได้แสดงโดยละเอียดเลย เห็นแล้วชอบ เห็นแล้วไม่ชอบ แต่ว่าหลังจากเห็นแล้ว จิตอะไรเกิด ทรงแสดงไว้โดยละเอียด เช่น ก่อนที่จะเห็น ต้องมีจิตแน่นอน แต่จิตในขณะนั้นไม่เห็นอะไร ไม่ได้ยินอะไร ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เช่น ในขณะที่นอนหลับสนิท ต้องมีจิต ขณะนั้นไม่เห็นไม่ได้ยินไม่ได้อาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่คิดไม่ฝัน ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น แต่มีการได้ยินเกิดขึ้น เปลี่ยนสภาพจากการไม่รู้อะไรเลย ไม่มีอะไรปรากฏเลยในขณะที่หลับสนิท เป็นเสียงปรากฏขึ้น แต่ว่าไม่ได้รู้ความจริงเลยว่า ที่เสียงปรากฏ ปรากฏเพราะจิตเกิดขึ้นได้ยิน เสียงนั้นจึงปรากฏได้ แต่ว่าก่อนได้ที่จิตได้ยินจะเกิดขึ้น ต้องไม่ใช่ภวังคจิต ต้องมีจิตซึ่งเกิดขึ้นก่อนหนึ่งขณะ อันนี้แสดงไว้โดยละเอียด แล้วเวลาที่ได้ยินเกิดขึ้นดับไปแล้ว ก็จะมีจิตเกิดดับสืบต่อ ขอใช้ชื่อหน่อยหนึ่ง แต่ว่าบางท่านอาจจะคุ้นหูแล้ว คือ สัมปฏิจฉันนจิตเกิดสืบต่อ สันตีรณจิตเกิดสืบต่อโวฏฐัพพนจิตเกิดสืบต่อ แล้วจึงจะเป็นจิตที่เป็นกุศล หรือ เป็นอกุศล เป็นโลภมูลจิต หรือเป็นโทสมูลจิต ไม่มีใครทำอะไรได้เลย รวดเร็วที่สุดตามการสะสมในขณะนี้ ก็กำลังเป็นอย่างนี้อยู่

    การฟังธรรมโดยละเอียด ก็จะทำให้เห็นความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมซึ่งเกิดดับสืบกัน โดยความเป็นลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ที่ต้องเป็นอย่างนั้น ที่ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้

    เพราะฉะนั้น ก็จะคลายความไม่รู้ แล้วก็คลายความที่เคยยึดถือ สภาพธรรมว่าเป็นตัวตนเพียงขั้นฟัง แต่ว่าตราบใดที่ยังไม่ประจักษ์ การเกิดดับของสภาพธรรมจริงๆ ก็ยังคงไม่สามารถที่จะดับการยึดถือสภาพธรรมว่าตัวตนได้

    ผู้ฟัง แสดงว่าจะต้องฟังต่อไปจนกว่า จะเข้าใจ

    อดิศักดิ์ เดี๋ยวผมเพิ่มเติมนิดหน่อย คุณจรัลถามว่าเสียงมีจริง แต่เสียงเป็นธรรม คุณจรัลไม่เข้าใจว่า เสียงเป็นธรรมได้อย่างไร เรามาศึกษาธรรม มาศึกษาความจริง พระพุทธเจ้าท่านแสดงความจริง มีอะไรบ้าง จิต เจตสิก รูป นิพพาน เสียงเป็นอะไร เสียงเป็นรูป ใช่ไหม เพราะฉะนั้น เสียงจึงเป็นธรรม เป็นความจริงที่คุณจรัลว่า เสียงเป็นความจริง เสียงก็เป็นรูป เพราะฉะนั้น เสียงจึงเป็นธรรม ถ้าบอกว่าทำไมถึงเป็นธรรม ก็ไปโต้เถียงกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าบอกว่าเสียงเป็นธรรม รูปก็มีรูป นาม มีจิต เจตสิก รูป เสียงเป็นรูป เพราะฉะนั้น เสียงเป็นธรรม เพราะฉะนั้น ก็ไม่ต้องสงสัย แต่ที่ท่านอาจารย์ท่านลงลึกไปว่าเสียง มี ปรากฏ สติเกิดระลึกรู้ที่เสียงไหม สภาพของเสียง มีลักษณะดัง ปรากฏได้ทางหูเท่านั้น เป็นธรรมที่ปรากฏได้ทางหูเท่านั้น อย่างนี้คุณจรัลก็คิดว่า พยัญชนะเหล่านี้ก็คงจะได้ฟังมามากพอสมควร พอจะเข้าใจขึ้นไหมว่า เสียงเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ชีวิตประจำวัน พอตื่นนอนขึ้นมา ทันทีที่รู้สึกตัว ก็มีเสียงปรากฏ อย่างยกตัวอย่าง เช่น เสียงไก่บ้าง เสียงนกร้องบ้าง ทุกครั้งพอได้ยินมันก็เป็นเสียงนก เสียงไก่เสียงอะไรทันทีเลย ด้วยความรวดเร็วอย่างนี้

    อดิศักดิ์ ถ้าขณะที่เป็นเสียงไก่ เสียงนก ไม่ใช่ธรรมแล้วเป็นสมมติ ถ้าเป็นเสียงไก่ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ปรากฏทางหู รู้ได้ทางหู ไก่ไม่มี นกไม่มี เราได้ยินไม่มี คุณจรัลก็ไม่มี ชายไม่มี หญิงไม่มี สัตว์ไม่มี บุคคลไม่มี มีแต่ธรรม ต้องเป็นเสียงเท่านั้น ถ้าเป็นเสียงนก เสียงไก่ ก็เป็นสมมติบัญญัติไป ตรงนี้ต้องเข้าใจ อ่านเรื่องบัญญัติกับเรื่องสมมติในหนังสือ ปรมัตถธรรมสังเขป ของท่านอาจารย์มากๆ หน่อย ในนั้นจะเน้นเรื่องบัญญัติกับเรื่องปรมัตถธรรมมากเลย

    ผู้ฟัง ผมไม่เข้าใจว่า โลกสว่างกับโลกมืด หมายถึงโลกมนุษย์นี้ใช่ไหม โลกอื่นไม่เกี่ยว ไม่ทราบว่าจะอธิบาย อย่างไร ขอคำอธิบายด้วย

    เผชิญ ในที่นี้ท่านพูดถึงปัญญา ความเข้าใจสภาพธรรม ซึ่งไม่ว่าจะเกิดในโลกไหนก็ตาม โลกนั้นก็คือสว่าง จะเป็นมนุษย์ หรือเทวดา หรือพรหม ถ้าได้ยินได้ฟังธรรม คือโลกตรงนั้นก็สว่าง แต่จริงๆ แล้วก็ต้องเป็นโลกทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นทางกาย ทางใจ ไม่ว่าจะเป็นภพภูมิไหนก็ตาม เมื่อได้ยินได้ฟังพระธรรม นั่นคือสว่าง ตามใจความที่นี้

    ผู้ฟัง แสดงว่าโลกทุกโลกจะเป็นโลกสวรรค์ หรือว่าโลกมนุษย์หรือว่าสัตว์เดรัจฉาน ถ้ามีตา หู จมูก ลิ้น กาย จะมีโอกาสเป็นโลกสว่างได้ใช่ไหม หรือว่าอย่างสัตว์เดรัจฉานก็มีตา หู จมูก ได้ยินเหมือนกัน หรืออะไรอย่างนี้ แต่คงจะไม่ได้ยินพระธรรม คงจะฟังพระธรรมไม่รู้เรื่อง คงจะหมดโอกาส อันนี้หมายถึงเฉพาะโลกมนุษย์ หรือเปล่า อันนี้ผมสงสัย คำว่า โลกสว่างโลกมืด ส่วนมนุษย์ ได้ยินเสียง เข้าใจพระธรรม ตามลำดับก็พอจะเข้าใจ อันนี้ว่า พูดถึงโลกอื่นด้วยหรือเปล่า

    ประเชิญ สว่างโดยในหัวข้อนี้ ก็ควรจะเป็นสถานที่เข้าใจพระธรรม ไม่ว่าจะเป็นภพภูมิไหน แต่ว่าในอบายภูมิ โอกาสที่จะได้ยินได้ฟังพระธรรมจะได้เข้าใจพระธรรม เจริญปัญญาตามลำดับมากขึ้น ก็คงจะยาก เพราะว่าเป็นอบายภูมิ เป็นภูมิที่ไม่มีความสุข เป็นภูมิที่มีแต่ความเบียดเบียนกัน มีแต่โมหะความลุ่มหลงมากมาย แต่ว่าผู้ที่ได้อบรมปัญญามา ได้เกิดในภพภูมินั้นบ้าง ด้วยอำนาจอกุศลกรรม ท่านก็ยังมีความรู้ มีความเข้าใจในระดับของท่าน ในเมื่อท่านได้เกิดตรงนั้นแล้ว ท่านก็ฉลาดกว่าสัตว์เหล่าอื่น อย่างเช่นพระโพธิสัตว์ ในพระชาติต่างๆ อย่างเช่น พระภูริทัตนาคราช ท่านก็อยู่ในภพภูมินั้น ท่านก็ได้บำเพ็ญบารมีได้ เป็นศีลบารมี แต่ว่าการอบรมปัญญาก็จะไม่มีโอกาสเหมือนกับการที่จะเกิดเป็นมนุษย์ แล้วได้พบพระพุทธศาสนา มีโอกาสได้อบรมปัญญามากขึ้น คือ ได้ฟังพระธรรมนั่นเอง

    ผู้ฟัง แสดงว่า ที่ได้พูดถึง ทางตาก็เป็นโลกหนึ่ง ทางหูก็เป็นโลกหนึ่ง แสดงว่าโลก ในตัวเราเองก็มีโลกมากมาย คำว่าโลกทางหู โลกทางตา โลกทางจมูก ผมก็ยังไม่เข้าใจว่า มันเป็นโลกได้อย่างไร ช่วยขยายความด้วย

    อดิศักดิ์ โลกคือสภาพที่แตกดับ เป็นสภาพธรรมที่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป คุณจรัญต้องเข้าใจว่า โลกนี่คือสภาพธรรมที่เกิดดับ เป็นธรรม โลก โล-กะ เช่น ทางตา ทางหู เกิดดับไหม

    ผู้ฟัง คือเห็นแล้ว ก็ดับ

    อดิศักดิ์ เกิดขึ้น และก็ดับไป

    ผู้ฟัง ต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ

    อดิศักดิ์ อันนั้น คือ โล-กะ มีความหมายของคำว่าโลก ในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ขอถามได้ไหมว่า ถ้าไม่มีตา จะเห็นอะไรไหม

    ผู้ฟัง ไม่มีตาก็ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ แล้วจะมีโลกไหม ถ้าไม่เห็น

    ผู้ฟัง ก็ไม่มีเรื่องราวอะไรทั้งสิ้น

    ท่านอาจารย์ จะมีโลกเห็นไหม

    ผู้ฟัง โลกเห็นก็คงไม่มี

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีหู ก็ไม่มีโลกเสียง ไม่มีจมูก ก็ไม่มีโลกกลิ่น ไม่มีลิ้น ก็ไม่มีโลกที่ลิ้มรสรู้รสต่างๆ ถ้าไม่มีกาย กายปสาทก็ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็งตึงหรือไหวได้ ถ้าไม่มีจิตใจที่จะคิดนึก โลกต่างๆ ที่เกิดจากความคิดนึกก็ไม่มี

    ถ้าจะย่อยโลกที่เราคิดว่าเป็นโลกรวม ออกเป็นแต่ละทาง ย่อมได้ใช่ไหม โลกคือสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจนั่นเอง เพราะว่าถ้าไม่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โลกใดๆ ก็ไม่ปรากฏ ทั้งสิ้น ไม่มีการคิดนึกเรื่องโลกต่างๆ ตอนดึก ไม่มีแสงสว่างเลย กลางคืนมืดหรือสว่าง

    ผู้ฟัง มืด

    ท่านอาจารย์ ตื่นเช้ามามีพระอาทิตย์ มีแสงแดด มีแสงไฟ มืดหรือสว่าง

    ผู้ฟัง สว่าง

    ท่านอาจารย์ จริงๆ หรือ

    ผู้ฟัง ก็จริง เพราะว่าอย่างตอนนี้ก็สว่าง

    ท่านอาจารย์ ในความหมายหนึ่ง แต่เป็นเรา ยังชื่อว่า สว่างไม่ได้ เพราะว่าไม่ได้รู้ความจริงของสภาพธรรมว่า แท้ที่จริงแม้แต่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ ก็อาศัยเหตุปัจจัยปรุงแต่งเกิดแล้วดับ แน่นอน ขณะที่กำลังมืดสนิท ไม่เห็นอะไรเลยก็ตาม แต่ถ้าปัญญาเกิดก็สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพรู้ หรือธาตุรู้ซึ่งมีจริงๆ ในขณะนั้น ถูกต้องตามความเป็นจริง ขณะนั้นที่เป็นปัญญา เป็นความสว่าง เพราะเหตุว่าเป็นแสงสว่างที่สามารถเข้าใจถึงลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมที่มีจริงๆ มี ๒ อย่าง ลักษณะหนึ่งไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ทั้งสิ้น ที่เราใช่คำว่า รูปธรรม อีกลักษณะหนึ่ง ก็เป็นสภาพรู้ซึ่งไม่มีรูปร่างใดๆ เลยทั้งสิ้น เช่นเวลาที่นอนหลับสนิท แล้วคิดนึก ไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือว่าไม่มีเสียง ไม่มีอะไร แต่จิตเป็นสภาพที่สามารถรู้ สามารถคิด ในขณะที่จิตเกิดขึ้นรู้ หรือคิดขณะนั้น ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ถ้าสามารถที่จะประจักษ์ถึงความเป็นธาตุ ที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้ซึ่งสามารถจะรู้ได้ทุกอย่าง ไม่ว่าทางตาขณะนี้กำลังเห็น ธาตุชนิดนั้นกำลังเห็น ทางหูกำลังได้ยิน ทางจมูกกำลังได้กลิ่น ทางลิ้นกำลังลิ้มรส ทางกายรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ทางใจคิดนึก ถ้าสามารถที่จะหยั่งถึงความจริงของสภาพธรรม ขณะนั้นไม่มี แสงสว่างใดจะเปรียบได้ เพราะเหตุว่าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ

    เพราะฉะนั้น ในข้อนี้ไม่ได้หมายความถึงความมืด ความสว่างที่มองเห็นด้วยตา แต่หมายความว่า แม้จะมืดหรือสว่างก็ตาม แต่ขณะใดที่ปัญญารู้ หยั่งถึงความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ขณะนั้นก็เป็นแสงสว่าง ซึ่งไม่มีแสงอื่นเปรียบได้ เพราะว่าแสงสว่างขณะนี้ก็ไม่สามารถที่จะทำให้หยั่งถึงความจริง ของสภาพธรรมได้ นอกจากปัญญา

    ผู้ฟัง ฟังท่านอาจารย์อธิบายแล้ว ทำให้เกิดความเข้าใจว่า พระธรรมที่มาศึกษา หรือว่าฟังพระธรรมกัน คือให้มารู้ความจริงว่า รู้ คำว่า รู้ คือ ปัญญา มันเป็นอย่างไร ไม่ทราบว่าถูกไหม

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะว่าพูดกันด้วยปัญญา แต่บางคนก็ไม่ทราบว่าปัญญา รู้ อะไร

    ผู้ฟัง ส่วนมากผมก็เข้าใจว่า ในชีวิตประจำวัน มันก็ไม่พ้นเรื่อง ทางตา ทางหู ทางจมูก แล้วก็รู้กลิ่น รู้รสอะไรต่างๆ สัมผัสเย็นร้อนอะไรต่างๆ มันมีอยู่ทุกขณะ อย่างขณะนี้ ผมก็รู้ว่า เย็นมี ยอมรับว่ามีจริง ผมไม่เถียงเลยว่า จะมีหรือไม่มี แต่ผมว่ามันมีจริงๆ ให้รู้ แต่ตรงนี้ พอจะเป็นธรรม ก็พูดไม่ได้ คือแต่เข้าใจว่า มี ยอมรับตรงนี้

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้ปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมนั้นเกิดขึ้น แล้วจะรู้ไหมว่า ธรรมเกิดขึ้นมาได้อย่างไร มีแต่ไม่รู้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ให้เข้าใจว่า ก่อนศึกษาธรรม อาจจะเข้าใจว่ามีความรู้ แต่เมื่อได้ศึกษาธรรมแล้วทุกคนก็กล่าวว่า ไม่ได้รู้ เพราะเหตุว่ายังไม่ได้ฟังพระธรรม ต่อเมื่อฟังแล้วเริ่มเข้าใจ นั่นคือเริ่มมีความรู้ที่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ผมก็ต้องฟังต่อไป ยังมีเรื่องอีกหลายๆ เรื่องที่ยังไม่เข้าใจ อย่างพออ่านพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แค่อย่างฟังพระธรรม คำว่าฟังยังจำแนกออกไปตั้งมากมาย แล้วชาตินี้ผมจะศึกษาได้หมดไหมนี่ ท่านอาจารย์บอกว่า แค่รู้แข็ง คือ ฟังในเทปว่า แค่รู้แข็งอย่างเดียว ยังไม่รู้เลย ผมก็ไม่รู้แข็ง ทุกครั้งที่รู้ ผมก็เป็นตัวผมรู้ทุกครั้ง ว่าอย่างนั้นนะ อันนี้คือปัญหาว่า แล้วเมื่อไรนะ อันนี้อาจจะเป็นความอยาก หรือความรวดเร็วก็ได้ แต่ว่ายอมรับว่า เป็นเราจริงๆ ตอนนี้ ไม่สามารถที่จะอธิบายได้ว่า ธรรมจะให้เข้าใจได้รวดเร็ว ผมคิดว่าเป็นเรื่องของการสะสม ผมก็ยังต้องสะสมต่อไป

    อดิศักดิ์ อย่างที่คุณจรัลพูดถึงเมื่อกี้นี้ว่า รู้ทีไรก็เป็นเรารู้ กับคุณจรัลรู้ ถ้าคุณจรัลได้อ่านหนังสือเล่มนั้น สิ่งที่รู้ เมื่อกี้ท่านอาจารย์ก็บอกแล้ว เป็นจิตที่รู้ มีสภาพรู้ กับสภาพไม่รู้ หรือรูปกับนาม คือ จิตจะเป็นผู้รู้ ไม่ใช่คุณจรัลรู้ จิตก็คือ กายวิญญาณ ในนั้นมี ในหนังสือเล่มนั้น กายวิญญาณจะรู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว กายวิญญาณจะเป็นตัวรู้ ไม่ใช่คุณจรัลเป็นผู้รู้ ถ้าเผื่อว่าเข้าใจอย่างนี้ ศึกษาในหนังสือเล่มนั้น ก็จะมีบอก แล้วคุณจรัลก็มาสังเกต มันจริงไหม จริงในชีวิตประจำวันไหม ทุกวันนี้ ที่เห็น คุณจรัลเห็น จริงๆ ไม่ใช่ จักขุวิญญาณเขาทำทัศนกิจ เคยไหม เคยได้ยินอย่างนี้บ้างไหม เคยแล้วสังเกตตามความเป็นจริง ว่าเป็นจริงอย่างที่พระพุทธเจ้า สอนหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เวลาที่เรียนอะไรแล้วก็คิดว่า เมื่อไรจะจบ จะรู้ได้ไหมว่า ทำอย่างไรถึงจะจบได้

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นหนังสือ หรือว่า ตำรา ผมคิดว่าอ่านไปเรื่อยๆ ก็จบเล่ม

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจ ใช่ไหม ไม่ใช่ว่าขณะที่เพิ่งตั้งต้น แล้วก็บอกว่าเมื่อไรจะจบ ถ้ายังไม่มีความเข้าใจ ก็จบไม่ได้

    ผู้ฟัง เช่นเดียวกับการฟังพระธรรม ต้องเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ประโยชน์สูงสุดของการฟัง แม้ในวันนี้ คือได้ความเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ แม้ว่าจะเพียงเล็กน้อย ก็เป็นความเห็นที่ถูกต้องว่า เป็นธรรม เริ่มเข้าใจ ความเป็นธรรม

    ผู้ฟัง เวลาฟังเรื่องสภาพธรรม ซึ่งดูเหมือนง่าย เหมือนกับว่าทุกคนมีความสามารถที่จะรู้ได้ พิสูจน์ได้ แต่จริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่ลุ่มลึกอย่างยิ่ง ข้อความที่กล่าวมานี้ อยากให้คุณน้าอธิบายให้ละเอียด

    ธนิต เคยได้ฟัง จิรกาลภาวนาไหม หรืออุปมาที่กล่าวว่า ทุกครั้งที่ฟังเหมือนการได้เริ่มต้นใหม่ทุกครั้ง เพราะฉะนั้น การฟังธรรมทุกครั้ง คือ การเริ่มต้น สภาพที่น้อมไป โดยความเคารพที่จะรู้ แล้วรู้ได้แค่ไหน อย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับการสะสม ไม่ใช่ของง่ายเลย ยากมากๆ และลุ่มลึกที่จะรู้ เพราะฉะนั้น ประโยคที่คุณป้าถาม ค่อยๆ อ่านไป อ่านมา หลายๆ เที่ยว จึงจะค่อยๆ เข้าใจ ไม่ทราบว่าจะเข้าใจแค่ไหน

    ผู้ฟัง ถ้าการศึกษาสภาพธรรม ในการศึกษาสภาพธรรม ซึ่งค่อยๆ ศึกษาไปเรื่อยๆ แต่ว่าก็ยังถึงในระดับใดก็ตาม ตรงนั้นเรายังสับสนอยู่ เมื่อวานท่านอาจารย์บอกว่า ขวนขวายที่จะศึกษา ตรงนี้หมายความว่า พระไตรปิฎกเราก็ไม่ทิ้ง ปริยัติ ในการศึกษาสภาพธรรมจริงๆ สับสน ต้องเอาปริยัติเข้ามาเทียบ เพียงแต่จะไต่ถามอย่างเดียว หรือ สนทนาอย่างเดียว จะไม่เพียงพอ หมายความว่า ต้องรู้จักการศึกษาจากการขวนขวายในพระไตรปิฎกด้วยตัวเองด้วยอย่างนั้นหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ โดยมากพอพูดถึงคำว่าปริยัติ ทุกคนก็คิดถึงตำราแต่จริงๆ แล้วตำรากล่าวถึงอะไร ต้องเข้าใจว่า ปริยัติคือการศึกษาเรื่องราวของสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้ ไม่ใช่ศึกษาชื่อ หรือศึกษาเรื่อง แต่ว่าศึกษาให้มีความเห็นถูก มีความเข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ อย่างคำว่า ธรรม มีอยู่ในหนังสือ แต่ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ คือ ธรรมไม่ได้อยู่ในหนังสือเลย เป็นเรื่องราวของธรรมเท่านั้นในหนังสือ แต่ว่าตัวธรรมจริงๆ คือ ขณะนี้ทั้งหมด ถ้ามีการฟัง มีการพิจาณา มีการอ่าน มีการศึกษา แล้วไตร่ตรอง แล้วก็เข้าใจว่า ทุกอย่างในขณะนี้เป็นธรรมที่มีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่างๆ ก็จะเห็นความเป็นอนัตตา แล้วสามารถที่จะประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมซึ่งมีลักษณะต่างๆ กัน กำลังปรากฏทีละอย่างให้รู้จริงๆ นี่คือการศึกษาปริยัติ ซึ่งจะทำให้มีปัญญาเพิ่มขึ้น ถึงระดับที่รู้ว่า ขณะใดที่มีสติสัมปชัญญะ คือ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งสืบต่อกันตลอดเวลา ขณะนี้ก็มีเห็นแล้วก็มีการได้ยินสืบต่อ มีการคิดนึกสืบต่อ

    ถ้าสามารถที่จะเข้าใจความเป็นธรรมของธรรมทุกอย่าง ซึ่งเกิดสืบต่อกันก็จะถึงกาล ที่สามารถจะคลายความเป็นเรา จากลักษณะของสภาพธรรมที่สติสัมปชัญญะได้ระลึก บ่อยๆ จนชิน จนเข้าใจขึ้น จนคลายความเป็นเรา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567