ปกิณณกธรรม ตอนที่ 314


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๑๔

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๔


    ท่านอาจารย์ ถ้าสามารถที่จะเข้าใจความเป็นธรรม ของธรรมทุกอย่างซึ่งเกิดสืบต่อกัน ก็จะถึงกาลที่สามารถจะคลายความเป็นเรา จากลักษณะของสภาพธรรม ที่สติสัมปชัญญะได้ระลึกบ่อยๆ จนชิน จนเข้าใจขึ้น จนคลายความเป็นเรา เมื่อนั้นสภาพธรรมก็จะปรากฏตามความเป็นจริง คือ การเกิดขึ้นแล้วดับไป ซึ่งขณะนี้เป็นอย่างนี้ การศึกษาธรรมต้องมีจุดประสงค์ เพื่ออะไร ถ้าเพื่อที่จะได้เป็นผู้ที่รู้มาก เข้าใจมาก ขณะนั้นไม่ใช่เป็นการศึกษาที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าการศึกษาที่ถูกต้อง คือศึกษาเริ่มจากไม่รู้จึงศึกษา

    การศึกษาทั้งหมดก็จะละคลายความไม่รู้ และละคลายอกุศลทั้งหลาย ซึ่งเกิดเพราะความไม่รู้ จนกระทั่งสามารถที่จะนอกจากละชั่ว บำเพ็ญความดี ยังชำระจิตให้บริสุทธิ์จากการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลด้วย

    ผู้ฟัง พูดถึงว่า ปริยัติ หรือพระไตรปิฎก เป็นการแสดงของท่านผู้รู้ ซึ่งการศึกษาเราก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ทั้งหมด แต่ว่าจากการศึกษาสภาพธรรมที่เข้าใจขึ้น การที่จะเข้าไปอ่านพระไตรปิฎกก็เข้าใจเพิ่มขึ้นด้วย เพราะทั้ง ๒ อย่างต้องเทียบเคียงกันไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่อ่านพระไตรปิฎกไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าทราบว่าพระไตรปิฎก เป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้งหลายท่านก็สังคายนาสืบต่อมา จนกระทั่งถึงเราทุกวันนี้ในรูปแบบของพระไตรปิฎก ก็จะรู้ได้เลยว่าปัญญาของเรากับปัญญาของท่านผู้รู้ ต่างกันระดับไหน เพราะฉะนั้น จึงต้องศึกษาด้วยความละเอียด ด้วยความสุขุม ด้วยความรอบคอบ ที่จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมถูกต้อง แล้วก็รู้กำลังปัญญาของเราว่า เราสามารถจะรู้ถึงระดับของท่านได้ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ขณะที่ศึกษาสภาพธรรมก็สับสน ในความที่ศึกษาสภาพธรรมนั้น ไปเทียบเคียงกับพระไตรปิฎก ก็ยังสับสนก็ต้องวางไว้ก่อน ทิ้งไว้ก่อน

    ท่านอาจารย์ เราเข้าใจอะไรได้แค่ไหน เวลาที่ศึกษาพระไตรปิฎก ต้องเริ่มเป็นปัญญาของเราเอง แล้วเราถึงจะรู้ได้ แม้พระไตรปิฎกจะกล่าวไว้อย่างนี้ แต่ปัญญาของเราเพียงเข้าใจ หรือสามารถที่จะประจักษ์แจ้ง อย่างที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด

    ผู้ฟัง แต่ก็ต้องขยับขึ้นไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ก็เป็นการอบรมเจริญปัญญา

    ผู้ฟัง สำหรับที่พูดกันว่าจะต้องเรียนอะไรก่อน หรืออะไรอย่างนั้น ในความคิดเห็นของดิฉัน ถ้าเป็นการอบรมเจริญสติปัฏฐานแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรทุกอย่าง มันก็อบรมได้ ตรงนี้เป็นอย่างนี้จริงหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรม ให้ทราบว่าเพื่อรู้ธรรมที่มีจริงๆ ก็ทั้ง ๓ ปิฎก เพราะว่าแม้แต่ในพระวินัย ก็พูดถึงเรื่องกาย วาจาของทุกคน พระสูตรก็เป็นเรื่องของสภาพธรรม โดยนัยประการต่างๆ โดยโวหารเทศนาบ้าง แต่ว่าสำหรับพระอภิธรรมก็คือ กล่าวถึงสภาพธรรมที่มีจริงๆ

    ถ้าเข้าใจถูกในความหมายของคำว่า ธรรม ในพระวินัยก็มีธรรม ในพระสูตรก็มีธรรม พระอภิธรรมก็เป็นข้อความเรื่องของธรรมด้วยทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีความต่างกัน จริงๆ แล้วเรื่องของการรู้ และการละ หรือการขัดเกลากิเลสต้องทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจด้วย

    ผู้ฟัง จากหัวข้อเกี่ยวกับเรื่องที่โลกสว่าง ที่กล่าวว่า เฉพาะพุทธบริษัทที่ได้ฟังพระธรรม หมายถึงได้ฟังแล้วก็อบรม เจริญปัญญาจนรู้แจ้งลักษณะของสภาพธรรม ตรงที่ว่าอบรมเจริญปัญญาจนรู้ลักษณะของสภาพธรรม จะเริ่มต้นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้กำลังอบรมด้วยการฟัง ถ้าไม่มีการฟังไม่มีความเข้าใจเป็นเบื้องต้น ปัญญาต่อไปก็เจริญไม่ได้

    ผู้ฟัง ตรงนี้จะเกี่ยวกับการเริ่มต้นอบรมเจริญสติปัฏฐาน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ต้องคิดถึงเรื่องใดเลย คิดถึงความเข้าใจ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมก็จะเจริญขึ้น เมื่อมีความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ย่อมนำไปสู่กายวาจา และการประพฤติที่ถูกทั้งหมด แม้ในเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาก็ถูก

    ผู้ฟัง การอบรมจะเกี่ยวกับตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีการได้ยินขณะนี้จะอบรมอย่างไร

    ผู้ฟัง เข้าใจ แล้วทุกอย่างที่ปรากฏก็เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ ก็คงต้องตั้งต้นที่การศึกษาสภาพธรรม คือ พระอภิธรรม แต่พระไตรปิฎกที่เป็นพระอภิธรรมปิฎกไม่สามารถที่จะอ่านเข้าใจได้ ถ้าไม่มีพื้นฐานความรู้ปรมัตถธรรมมาก่อน เพราะว่าในครั้งโน้นทรงแสดงพระธรรมกับบรรดาผู้รู้ในกาลสมบัติ มีผู้ที่สามารถที่จะเข้าใจธรรมที่ได้ยินได้ฟัง แล้วก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้โดยไม่นาน แต่ว่าสำหรับในยุคนี้สมัยนี้ เป็นยุคที่แต่ละคนก็พิสูจน์ได้จากตัวเอง สิ่งที่ได้ยินได้ฟังต้องฟังแล้วฟังอีก จนกระทั่งมีความเข้าใจระดับขั้นของการฟังเพิ่มขึ้นด้วย เพราะเหตุว่าถ้าจะเป็นผู้ที่ประมาท คิดว่า ฟังแล้ว วันนี้เข้าใจแล้ว จบ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าสภาพธรรมจริงๆ ลึกซึ้งมาก ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของชีวิตประจำวัน เรื่องของสภาพธรรม ธรรมดาที่สุด คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จากการตรัสรู้ความลึกซึ้ง ความเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว โดย ประการต่างๆ โดยปัจจัยต่างๆ

    นี่ก็ย่อมแสดงให้เห็นแล้วว่า ปัญญาของผู้ที่เริ่มจะฟังหรือว่าเริ่มจะศึกษา เข้ามาถึงพระศาสนาเพียงเล็กน้อยในขั้นต้น ยังจะต้องติดตามต่อไป ฟังเรื่องของสภาพธรรม ต่อไป จนเป็นความเข้าใจจริงๆ ซึ่งละเอียดขึ้น ถี่ถ้วนขึ้น

    เมื่อได้ศึกษาพระอภิธัมมัตถสังคหะ แล้วก็มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็เริ่มอ่านพระไตรปิฎกได้ ไม่ว่าจะเป็นพระวินัยปิฎก พระสุตตันปิฎก หรือพระอภิธรรมปิฎก ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมทั้งสิ้น และเป็นความละเอียด โดยประการที่ต่างกัน คือ พระวินัยเป็นความละเอียดในเรื่องของกาย วาจา ที่ละเอียดมาก ซึ่งจะไม่มีในพระสูตร และพระอภิธรรม แต่ในเรื่องของพระสูตรก็เป็นเรื่องของสภาพธรรม ที่สะสมมามีความวิจิตรหลากหลายของบุคคลต่างๆ ในครั้งพุทธกาล ย้อนไปถึงอดีต คือ ชาติต่างๆ ก่อนที่ท่านจะได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ประวัติของพระสาวกต่างๆ วิจิตรมาก ต่างกันมาก หรือแม้แต่ทุกคนในวันนี้ก็เป็นอย่างนั้น คือไม่มีการซ้ำเลย สำหรับคนหนึ่งๆ และในคนหนึ่งๆ ในวันหนึ่งๆ ก็ไม่ซ้ำกันอีก ก็เป็นเรื่องความวิจิตรของขณะจิตซึ่งเกิดขึ้น

    ถ้ากล่าวโดยนัยของโวหารเทศนาก็มีความวิจิตรมาก แต่ความลึกซึ้งของพระอภิธรรม แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าเราจะเพียรฟัง แล้วก็อบรมความรู้ความเข้าใจขึ้น แต่ปัญญาก็มี ๓ ระดับ คือ ปัญญาที่เกิดสำเร็จจากการฟัง คือ ฟังแล้วไตร่ตรอง จนกระทั่งเข้าใจจริงๆ ในสภาพธรรม ในหนทางอบรมเจริญปัญญา ก็รู้ว่า นั่นเป็นขั้นของสัจจญาณ เพราะเหตุว่าเราได้กล่าวถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรมที่เราได้ยินบ่อยๆ อริยสัจ ๔ ซึ่งชาวพุทธทุกคนก็คงจะได้ยินแล้วในหนังสือตำราเรียนสมัยเด็กก็มี แต่ว่าแสดงไว้เพียงชื่อ เช่น ทุกขอริยสัจจะ ได้แก่สภาพธรรมซึ่งเกิดดับเป็นทุกข์ เราก็รับฟังมาเท่านั้น แต่ว่าขณะนี้สภาพธรรมก็เกิดดับเป็นทุกข์ โดยที่ว่าเราก็เพียงพูดว่า สภาพธรรมไม่เที่ยงเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย ไม่เที่ยง แต่นั่นยังเป็นขั้นที่หยาบมาก เพราะว่าไม่เที่ยงจริงๆ ต้องเป็นในขณะที่สภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดปรากฏ เพราะเกิดแล้วดับสืบต่อกันในขณะนี้ แล้วก็นั่นเป็นเพียง อริยสัจที่ ๑ ซึ่งถ้าไม่มีการฟัง ไม่มีปัญญาซึ่งเป็นสัจจญาณ เป็นปัญญาที่มีความเข้าใจมั่นคงจริงๆ ว่า สิ่งที่มีในขณะนี้ที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดง ๔๕ พรรษา ก็เพื่อที่จะให้พุทธบริษัทได้ศึกษาได้เข้าใจได้ประพฤติปฏิบัติอบรมเจริญปัญญา จนสามารถที่จะถึงความเป็นพระอริยสาวกได้ ไม่อย่างนั้นการฟังก็ไม่มีประโยชน์เลย ฟังมาเท่าไร ๑๐ ปี ๒๐ ปี ถ้าไม่ใช่เพื่อเป็นการอบรมปัญญาที่จะรู้แจ้งสภาพธรรม ในขณะนี้ตามความเป็นจริงในวันหนึ่งวันใด การฟังเหล่านี้ก็ไม่มีประโยชน์

    แม้แต่การฟังที่เริ่มมีศรัทธา มีความสนใจแล้วก็ที่จะเป็นประโยชน์ต่อไป คือเข้าใจความจริงของสิ่งที่ได้ฟัง แล้วก็ไม่ทิ้งความเข้าใจนั้น แล้วก็จะต้องตรงต่อความเข้าใจนั้นว่า เมื่อสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เกิดขึ้นแล้วดับไป ก็จะถึงการอบรมเจริญปัญญาระดับที่สามารถจะประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม รู้แจ้ง ลักษณะของนิพพาน แล้วก็รู้ว่า หนทางนี้แหละที่ได้เดินมาแล้ว ดำเนินมาแล้ว ตั้งแต่เริ่มอบรม จนกระทั่งมีความเห็นถูก จนกระทั่งมีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม เป็นหนทางเดียวที่จะทำให้รู้อริยสัจธรรมได้

    นี่ก็เป็นเรื่องซึ่งเกี่ยวเนื่องกันหมด ทั้ง ๓ ปิฎก

    อดิศักดิ์ การฟังธรรมต้องคอยเตือนตนเองเสมอว่าวัตถุประสงค์คืออะไร วัตถุประสงค์ในการฟัง เราลืมเรื่องวัตถุประสงค์ในการศึกษาธรรมอยู่เรื่อย เพราะเราไปมีวัตถุประสงค์เป็นอย่างอื่นกันส่วนใหญ่แทบทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ต้องนึกถึงความประสงค์ เพื่อรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก่อนจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ต้องเพื่อรู้สภาพตามความเป็นจริงเพิ่มขึ้นๆ แล้วมันก็จะค่อยๆ ไม่ยึด ไม่ถือ อะไรอย่างที่ตามวัดสอนกันทั่วไป อย่าไปยึดถือ อย่าไปยึดมั่น ถือมั่น แล้วมันก็จะทุกข์น้อยลง อะไรอย่างนี้ ความจริงธรรมพระพุทธเจ้าเป็นอนัตตา จะไม่ยึดไม่ถือ ก็ต้องรู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง จิตนี้สะดุ้งอยู่เป็นนิจ หวาดเสียวอยู่เป็นนิจ ในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าแสดงไว้หลายแห่ง เพราะไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง จึงหวาดเสียวอยู่เป็นนิจ จึงสะดุ้งอยู่เป็นนิจ จริงไหม ถ้ารู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ก็เป็นเพียงสภาพธรรมเท่านั้น เป็นเพียงรูปธรรมนามธรรม ทางตาก็เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ใช่ เราเห็น เป็นจิตที่เห็น อันนี้ก็รู้ขึ้นๆ ๆ อย่างคำถามที่คุณกุลวิไลถามเมื่อกี้นี้ จริงๆ มันไม่ใช่เป็นคำถามที่นานๆ ถามครั้ง ควรจะถามบ่อยๆ ควรจะถามบ่อยๆ แล้วก็ท่านอาจารย์ก็ได้ตอบ ตอบแล้ว ก็ได้ความเข้าใจเพิ่มขึ้นๆ แล้วก็ต้องอบรมไปทีละเล็กละน้อย ไม่มีการติวเข้ม

    ผู้ฟัง เนื่องจากคำสอนของพระองค์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามันยาก ก็เลยมีคนคิดอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ขึ้นมา จากเถรวาทเป็นมหายาน เป็นอาจาริยาวาท อะไรต่างๆ สารพัดอย่าง เพื่อให้มันง่าย มันเข้าใจ ทีนี้ผมก็กลัวว่า พวกเราที่อ่านไปๆ แล้วยาก ก็จะกลับไปหาสิ่งที่มันง่ายๆ แล้วก็ง่ายกว่า เข้าใจง่ายกว่า ผมกลัวว่า พวกเราจะเสียเวลา เสียโอกาส

    ทีนี้มันก็กลับมาสู่ปัญหาอีกว่า ทำอย่างไร ถึงจะอดทน ทำอย่างไรถึงจะสู้ไปได้ ถึงจะเหมือนอาจารย์อดิศักดิ์ที่บอกว่า หู ตา จมูก ก็สำคัญ ถึงได้อ่านบ่อยๆ คือ บางทีอ่านไปแล้วมันยาก ตามันจะหลับท่าเดียว มันไม่ไหวจริงๆ พระไตรปิฎก ผมเต็มตู้อยู่ อ่านไปได้ไม่ถึง ๔ เล่ม ๕ เล่มใน ๔ - ๕ ปี ๑๐ ปีแล้วอย่างนี้เป็นต้น ช่วยกรุณาอย่างไรให้พวกเรา ไปในทางที่ถูก ได้พระธรรมที่ถูกต้อง ได้วิชาการที่ถูกต้อง อาจารย์ก็คงตอบอย่างเก่าว่าฟังไป ฟังไป ผมทายว่าอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ก็ลองคิดถึงความจริงว่า พระธรรมทุกคนก็กล่าวเมื่อกี้นี้ว่ายาก แล้วก็อยากจะถึงเร็ว มันเป็นอย่างไร ก็ค้านกันแล้ว ใช่ไหม ยากแสนยาก พูดอย่างนี้ แต่อยากจะถึงเร็ว เพราะฉะนั้น โลภะเป็นสิ่งที่เห็นยากว่า มีอยู่ประจำ แล้วติดข้องในทุกอย่าง เว้นโลกุตตรธรรม ติดข้องในกุศลทุกขั้นเลย บางคนคิดว่าถ้าอย่างนั้นก็ไปทำกุศลเสีย ก็จะได้ดีกว่าเป็นอกุศล หรืออะไรต่างๆ ก็แล้วแต่จะคิด แต่ถึงกุศลใดๆ ก็ไม่สามารถที่จะทำให้เข้าใจสภาพธรรม และออกจากสังสารวัฏฏ์ได้

    ที่จริงแล้วก็ไม่ใช่จะเร่งรัดใครให้ออกจากสังสารวัฏฏ์ หรือว่าไม่ใช่จะเร่งรัดใครให้เห็นทุกข์ เพราะว่าทุกคนมีทุกข์ แต่เป็นเรา เพราะฉะนั้น ทนทุกข์ต่างๆ เหล่านั้นได้ ทนมาแล้วกี่ชาติ กองกระดูกในแผ่นดินนี้ที่เป็นปู่ย่าตายาย เป็นของเราเอง ที่ทรงแสดงไว้ก็มากมายมหาศาล เราก็ทนกันมาเรื่อยๆ เพราะเหตุว่าไม่มีปัญญาที่สามารถจะรู้ความจริงได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจว่ายาก ทำไมไม่รู้กำลังของตัวเองว่า ตอนนี้ยังไม่มีกำลังพอที่จะไปรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้อย่างรวดเร็วเลย แต่อาศัยการที่ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจขึ้น แล้วก็เป็นผู้ที่มีปกติรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่สะสมมาตามความเป็นจริง สะสมมาตามความเป็นจริงของแต่ละคน วันนี้ทำอะไรบ้าง ตื่นมา มีใครดูโทรทัศน์บ้าง มีใครอ่านหนังสือพิพม์บ้างหรือเปล่า มีใครสนทนากันโทรศัพท์ถามข่าวคราวใครหรือเปล่า ก็เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน เป็นธรรมทั้งหมด แล้วไม่ใช่ว่า ให้เราไปบีบ ไม่ให้ทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ให้เคร่งครัด ให้อ่านพระไตรปิฎก ๑๒ ชั่วโมง หรือว่าให้สนทนาธรรมกันอย่างนั้น ไม่ใช่เลย เป็นการที่จะรู้กำลังของตัวเองว่า เมื่อเริ่มเข้าใจธรรม ย้อนกลับไปแสนโกฏิกัปป์ เราสะสมมามากน้อยแค่ไหน สะสมอะไรมา เครื่องพิสูจน์คือว่า ถ้าสะสมมาเหมือนอย่างท่านพระสารีบุตร หรือเหมือนอย่างพระอริยบุคคลในกาลสมบัติที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ปรินิพพาน เครื่องพิสูจน์ก็คือว่า สามารถจะเข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้ตามความเป็นจริง ละคลายความเป็นเราจากสิ่งที่กำลังปรากฏ เมื่อไรที่ละคลายความเป็นเราไม่มีเครื่องกั้นเลย สภาพธรรมปรากฏตามความเป็นจริง คือเกิดดับ แล้วปัญญาก็จะอบรมเจริญขึ้นจนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งบางท่านในเวลา ๖๐ ปี บางท่านในเวลา ๑๒ ปี บางท่านในเวลาไม่นานเลย ทันทีที่จบพระเทศนาก็สามารถที่จะรู้ได้

    การศึกษาธรรมเพื่อรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ซึ่งไม่ยอมจะรู้จัก พยายามที่จะไปเหมือนคนโน้น เหมือนคนนี้ จะไปนั่งใต้ต้นโพธิ์ หรือว่าที่หนึ่งที่ใดก็แล้วแต่ แล้วก็คิดว่าขณะนั้นจะทำให้สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ แต่ถ้าเข้าใจถูกต้องว่า ขณะนี้เป็นสัจธรรม ซึ่งเกิดแล้วดับเร็วมาก ถ้าไม่มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดซึ่งกำลังปรากฏในขณะนี้ ไม่มีการที่สามารถจะรู้อริยสัจธรรม ทุกขอริยสัจจะรู้ไม่ได้เลย จะไปรู้เมื่อไร ในเมื่อขณะนี้สภาพธรรมเป็นจริงอย่างนี้แล้วปัญญาก็ยังไม่เริ่มที่จะระลึกที่จะเข้าใจลักษณะที่เป็นนามธรรม หรือลักษณะที่เป็นรูปธรรม จึงไม่ใช่เรา ถ้าไม่รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นนามธรรม เห็นนี้ก็ต้องเป็นเราเห็น ฟังอย่างไรๆ ก็ยังเป็นเราที่เห็น แต่ถ้าค่อยๆ เข้าใจถูกขึ้น แล้วขณะนี้ที่กำลังเห็น พร้อมกับการฟัง ก็ค่อยๆ เข้าใจจริงๆ ว่า เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ไม่มีใครสามารถที่จะทิ้ง ละทิ้งสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หรือเปลี่ยนลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะนี้ให้เป็นอย่างอื่นได้ กำลังเผชิญหน้าอยู่ ขึ้นอยู่กับว่า ปัญญาสะสมมาระดับไหน ถ้าสะสมมาที่จะเข้าใจจริงๆ ก็สามารถที่จะค่อยๆ ไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะของสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ทุกอย่างก็จะตรงตามที่ทรงแสดงทุกอย่าง แต่ต้องเป็นปัญญา ไม่ใช่ว่าเป็นเราคิด เราทำ แล้วเราก็ลืม ตั้งแสนโกฏิกัปป์มาอวิชชาเราแค่ไหน โลภะซึ่งมีอยู่ในชีวิตประจำวันทุกขณะ แม้ว่าเป็นธรรมยากก็ยังอยากที่จะประจักษ์การเกิดดับ อยากจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม นี่คือผิด แต่ถ้ารู้ตามความเป็นจริง เป็นผู้ที่แล้วแต่การสะสมว่า เราสะสมความรู้ขึ้นแค่ไหน แล้วสติสัมปชัญญะจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใด ในขณะนี้เป็นปกติ ละความเป็นเราที่จะทำ ละความเป็นเราที่อยากหรือต้องการที่จะเร่งรัดโดยที่ว่า สิ่งที่สะสมมาแล้วทั้งหมดไม่คำนึงถึงเลย ต้องการเพียงแต่ว่าทำอย่างไร เราถึงรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ขณะนั้นก็ไม่เห็นโลภะ จึงไม่ได้ละสมุทัย เพราะว่าสมุทัย นายช่างที่สร้างเรือน คือ โลภะ จะสร้างเรือนแบบไหนก็ได้ สร้างดีถึงขนาดอรูปฌาน รูปฌาน หรือว่าสวรรค์ชั้นหนึ่งชั้นใด หรือมนุษย์ หรือว่าจะสร้างบ้านที่ไม่น่าอยู่เลย ก็จะเป็นสิ่งที่ให้ได้ประสบพบเห็นแต่สิ่งที่ไม่น่าพอใจทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

    นั่นก็เป็นเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ แต่ถ้าไม่ละโลภะ ไม่ถึงการรู้แจ้งอริยสัจธรรม คำนี้ลืม แล้วก็เข้าใจว่า ขณะนั้นกำลังเพียรที่จะเพื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ความเพียรมี ๒ อย่าง เพียรถูกกับเพียรผิด ไม่ได้คิดถึงความเพียรผิดเลย คิดถึงแต่จะเพียรอย่างเดียว แต่ความจริงความเพียรมี ๒ อย่าง ถ้าไม่เกิดร่วมกับปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ทีละเล็กทีละน้อย เพียรทำอย่างอื่นเพราะอยากรู้ ขณะนั้นไม่ใช่หนทางที่จะรู้ ก็ต้องเป็นความเพียรผิด

    ด้วยเหตุนี้จึงมีข้อความที่ทรงแสดงไว้ว่า อริยสัจ ๔ ลุ่มลึกทั้ง ๔ อริยสัจ แม้หนทางที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้อริยสัจธรรมก็เป็นหนทางที่ลุ่มลึก เพราะว่าตราบใดที่ไม่เห็นโลภะ จะละโลภะได้อย่างไร เป็นไปได้ไหม แต่ว่าถ้ารู้ว่า ขณะใดที่ไม่ใช่หนทางที่ถูก ขณะนั้นเพราะใคร

    ผู้ฟัง สิ่งที่ท่านอาจารย์บอกว่า สมมติว่าเรา ยกตัวอย่าง ตื่นขึ้นมา เราได้ยินเสียงนก เราก็รู้ว่ามันผิด เราก็รู้ว่า สิ่งนั้นมันเป็นสมมติ ไม่ใช่ธรรมของจริง วิธีคิดที่ถูกต้องจะคิดอย่างไร คิดต่อไป วิเคราะห์ต่อไปว่า นั่นมันไม่ใช่เสียงนกนะ เราไม่ใช่เรานะ จิตได้ยินนะ นั่นไม่ใช่เสียงนกนะ เสียงเฉยๆ นะ หรือถ้าเผื่อเราเห็น ก็บอกว่า เอะนี่เห็นเวที มันไม่ใช่เวทีนะ เป็นสีเฉยๆ อาจารย์บอกว่า ไม่ต้องไปคิดต่อมันดับไป นั่นเป็นความคิด คืออะไรถูกไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ ทั้ง ๒ คำถามเป็นตัวตน จะปล่อยก็เป็นเรา จะไม่ปล่อยก็เป็นเรา จะคิดก็เป็นเรา จะไม่คิดก็เป็นเรา เพราะฉะนั้น จะพ้นจากความเป็นเราไม่ได้ ยังมีโลภะขณะนั้นเต็มที่เลย ไม่เห็นเลย

    ผู้ฟัง โลภะหรือขณะนั้น

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ถ้าขณะใดไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในในความสงบของจิต ก็จะต้องเป็นอกุศล แล้วจะเป็นอกุศลประเภทใด เป็นโลภะ หรือว่าเป็นโทสะ หรือว่าเป็นโมหะ

    เพราะฉะนั้น การที่เราจะรู้จักโลภะ คือฟังพระธรรมให้เข้าใจ สภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกันคือ โลภะกับปัญญา ที่ใดที่มีโลภะ ที่นั่นไม่มีปัญญา ที่ใดที่มีปัญญา ที่นั่นไม่มีโลภะ

    ผู้ฟัง ผมไม่คิดว่า นี่มันเป็นโลภะ ผมได้ยินเฉยๆ ได้ยินเสียงเฉยๆ

    ท่านอาจารย์ ถ้าขณะนั้นไม่เป็นกุศล ต้องเป็นอะไร

    ผู้ฟัง ก็เป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นอกุศล แล้วขณะนั้นไม่ใช่โทสะ เป็นอะไร

    ผู้ฟัง ก็เป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ หรือโมหะ

    ผู้ฟัง โมหะ

    ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรมจะช่วยให้เราเป็นผู้ตรงต่อความจริง การที่จะบรรลุอริยสัจธรรมได้ อุชุปฏิปันโน เป็นคุณธรรมของผู้ที่จะเป็นพระโสดาบัน ต้องเป็นผู้ตรง เพราะว่าถ้ามีความเป็นเรา เพราะโลภะ ยึดถือเรา แล้วก็ยังมีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย หรือว่ามีมานะ มีความสำคัญตนก็ได้ เพราะว่าความเป็นเรา มี ๓ อย่าง เราด้วยโลภะ เราด้วยทิฏฐิ หรือว่าเราด้วยมานะ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567