ปกิณณกธรรม ตอนที่ 315


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๑๕

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๔


    ท่านอาจารย์ ถ้ามีความเป็นเรา เพราะโลภะ ยึดถือเรา แล้วก็ยังมีทิฏฐิเกิดร่วมด้วย หรือว่ามีมานะ มีความสำคัญตนก็ได้ เพราะว่าความเป็นเรามี ๓ อย่าง เราด้วยโลภะ เราด้วยทิฏฐิ หรือว่าเราด้วยมานะ

    ธรรมทั้งหมดที่ศึกษาเพื่อที่จะรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ไม่มีเราแต่มีสภาพธรรมแต่ละอย่างที่ปรากฏ ซึ่งความจริงก็เป็นธรรมทั้งหมดอยู่แล้ว อย่างโทสะ ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง มีลักษณะเฉพาะลักษณะที่เป็นโทสะ ความขุ่นเคือง ความหยาบกระด้าง ไม่ใช่ลักษณะของโลภะ ซึ่งเป็นความติดข้อง ไม่ใช่ลักษณะของความตระหนี่ ไม่ใช่ลักษณะของเมตตา คือ สภาพธรรมแต่ละอย่างเป็นธรรมทั้งหมดในชีวิตประจำวันจริงๆ มีปัจจัยก็เกิดขึ้นปรากฏลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ แต่ความไม่รู้ ทำให้ยึดถือสภาพธรรมนั้นๆ ว่า เป็นเรา

    ไม่มีหนทางอื่นเลย อย่าไปคิดว่าจะให้ทำอย่างไร ไม่ให้ทำอย่างไร แต่ว่าค่อยๆ เข้าใจถูกต้องตรงตามความเป็นจริงขึ้น ขณะใดที่เข้าใจถูก ก็ไม่ใช่เรา แต่ว่าเป็นปัญญาที่เริ่มเจริญ เริ่มเข้าใจถูก และการอบรมเจริญปัญญาให้ย้อนกลับไปคิดถึงที่ผ่านมาแล้วว่า เราได้อบรมเจริญปัญญาอย่างนี้หรือเปล่า ในแสนโกฏิกัปป์ หรือว่าเรากำลังเริ่ม หรือว่าเราได้สะสมปัจจัยมาที่จะไม่เห็นผิด แต่ว่าเป็นผู้ละเอียดที่จะพิจารณาธรรมว่า เป็นเรื่องที่ละเอียด แล้วก็เป็นปกติ จะไปฝืนอัธยาศัยที่สะสมมาได้ไหม แต่ละคนไม่มีทางเลย

    ไม่มีการคิดว่า เราจะทำอะไร เพราะว่าขณะที่คิดว่า เราจะทำอะไร ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้คิดอย่างนั้น ซึ่งไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต เกิดเพราะเหตุปัจจัยที่ได้สะสมมา ผู้ที่เข้าใจจริงๆ ก็สามารถที่จะรู้ความเป็นอนัตตา ซึ่งไม่มีใครไปทำอะไรได้เลย บังคับไม่ได้ เวลาที่กล่าวถึงวิถีจิตที่เห็นว่า เกิดสืบต่อรวดเร็ว ไม่มีใครจะไปเปลี่ยนแปลงลักษณะ และกิจการงานของจิตแต่ละประเภทได้

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่าเราเห็น เห็นแล้วมันก็หายไป มันก็หมดไปแล้ว มันก็ดับไป ถ้าอาจารย์ไม่ให้ผมคิดต่อไป อย่าไปคิดว่า มันเป็นสี เป็นเวทีทำไม คิดว่าเป็นแสงไฟทำไม ไม่ให้คิดต่อไป

    ท่านอาจารย์ ขอโทษ ไม่ได้ไม่ให้ แต่ให้เข้าใจความถูกต้องตามความเป็นจริงว่าต้องมีเห็นก่อน แล้วจึงเกิดคิด

    ผู้ฟัง มันชำนาญ พอเห็นปั๊บ มันสีนะ

    ท่านอาจารย์ ก็พยายามจะเร่งรัด ใช่ไหม แทนที่จะรู้ว่า ค่อยๆ เข้าใจนั้นคืออย่างไร อย่างสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทุกคนก็บอกว่ายากมาก ฟังมาเท่าไรก็ยังเห็นเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะเหตุว่าต้องมีเห็น แล้วก็ต้องมีการคิดนึก ซึ่งต่างกัน แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีเห็น มีแต่เพียงคิดนึก ไม่ใช่ หรือว่าไม่ใช่มีแต่เห็น โดยไม่มีการคิดนึกเลย ก็ไม่ใช่ แต่ต้องรู้ว่า เมื่อเห็นแล้วคิด แต่ว่าเห็นไม่ใช่คิด นี่คือความรวดเร็วของสภาพธรรมที่ปรากฏ ทางตาฉันใด ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ก็รวดเร็วฉันนั้น

    จิตจึงเป็นมายากล ไม่มีอะไรเลย นอกจากธาตุรู้ซึ่งเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางตาก็เห็น ทางหูก็ได้ยิน แล้วก็ทางใจก็คิดนึกเรื่องราวของสิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน ทำให้เหมือนนายมายากลที่เหมือนกับว่า มีสิ่งต่างๆ ทั้งๆ ที่ไม่มี แต่ก็ยังคงทรงจำว่า มีอยู่

    นี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ ด้วยความไม่รีบร้อนด้วยการรู้ว่า ปัญญาจริงๆ คือความเข้าใจตัวเอง ไม่ใช่ไปพยายามให้ตัว เป็นตัวรู้สภาพธรรม ซึ่งขณะใดที่รู้สภาพธรรม ขณะนั้นไม่ใช่ตัว แต่ต้องเป็นปัญญาจึงสามารถที่จะ เข้าใจสภาพธรรมได้ ฟังอย่างนี้คงจะไม่ทราบว่า นี่คือ วิริยารัมภกถา หรือว่าคำพูดที่ทำให้เกิดความเพียรไม่ให้ท้อถอย แต่เพียรที่นี่ไม่ใช่เพียรให้ไปเร่งทำอะไร แต่เพียรที่จะอดทนรู้ว่า การที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ เป็นเรื่องละ

    ในที่นี้ กถานี้ก็เหมือนกับ กถาที่จะทำให้เกิดการละความต้องการ เพราะเหตุว่าถ้ามีความต้องการที่จะทำ ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั่นผิด ถ้ามีคำพูดใดๆ ที่จะทำให้ไม่ใช่ว่าไปต้องการ แต่ว่าเป็นการอบรมความรู้ควาามเข้าใจ เวลาที่มีความรู้ความเข้าใจนั่นเอง ก็จะทำให้ความต้องการนั้นคลายลง ไม่มีตัวตนเหมือนเดิมที่มากมาย ที่ต้องการทุกอย่างด้วยความเป็นเรา

    ผู้ฟัง เมื่อสักครู่นี้ ดิฉันได้ยินพูดถึงคำว่า สัมมาทิฏฐิ ช่วยกรุณาอธิบาย ขยายความให้เข้าใจเพิ่ม สัมมาทิฏฐิเป็นอย่างไร แตกต่างกับมิจฉาทิฏฐิอย่างไร

    อดิศักดิ์ เมื่อสักครู่นี้ที่อาจารย์อธิบายให้คุณเด่นพงศ์ฟัง ให้เห็นให้ถูกต้องตามความเป็นจริง นั่นแหละคือสัมมาทิฏฐิ ท่านกำลังแนะสัมมาทิฏฐิ

    ธนิต รู้ขณะนี้ที่กำลังฟัง เป็นเรารู้ เมื่อเป็นเรารู้ ก็รู้เป็นเรื่อง เรื่องของความเห็นผิด เรื่องของความเห็นถูก เป็นเรารู้ เมื่อไรที่ได้สะสมการรู้ถูกอย่างนี้ โดยขั้นของการฟังสะสมไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งซึ่งยาวนานเหลือเกิน ที่รู้ ที่ไม่ใช่เป็นเรารู้ ขณะนี้รู้อย่างนี้ก็มีอยู่แต่เป็นเรารู้ เมื่อเป็นเรารู้ก็รู้ต่อไปศึกษาต่อไปจากเรื่องราวละเอียดขึ้นๆ จนกระทั่งถึงขั้นที่ศึกษาลักษณะของสภาพธรรมจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เพราะขณะนี้กำลังมี และปรากฏ แต่ไม่รู้ ที่รู้เป็นเรารู้

    เพราะฉะนั้น เวลานี้ก็สะสมรู้เรื่องไปเรื่อยๆ แล้วก็ละเอียดขึ้นๆ แต่ถ้าเมื่อไร ความเข้าใจในขั้นของการฟัง ค่อยๆ สะสมไปสะสมไป ความรู้ถูกก็จะค่อยๆ เกิดขึ้นๆ จึงจะเป็นที่มาของคำว่าสัมมาทิฏฐิ

    ผู้ฟัง ได้ฟังคำอธิบายก็มีคำถาม คือเกี่ยวกับเรื่องการอบรม ได้สนใจระลึก คือนึกถึง คำว่าอบรม เช่น ขั้นทาน ขั้นศีล ขั้นภาวนา ขั้นภาวนานี้ก็จัดว่าเป็นขั้นอบรมให้เกิดปัญญาเหมือนกัน เช่น การมาฟังธรรมในวันนี้ ก็จัดว่า เป็นการทำให้เกิดปัญญาขึ้น แล้วก็การที่มาสนทนาธรรมกันนี้อีก สิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง มีบุคคลนั้นถาม เราก็บอกว่าคำถามนี้ดีจริงจังเลย ฟังแล้วเกิดความเข้าใจ ทีนี้มันก็ไปประพฤติปฏิบัติที่บ้าน จะเรียกว่าเป็นตัวตนอีก แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในขณะที่รู้ หรือว่าได้ยิน ได้ยินเสียง ยกตัวอย่างว่า ได้ยินเสียง ซึ่งจริงๆ ก็ได้ยิน คือ รู้สิ่งที่ปรากฏทางหู ในขณะนั้นก็นึกคิดว่า รู้เป็นจิต ขณะที่เสียงเป็นรูป แต่รู้ทางหู หูก็เป็นธาตุทั้ง ๔ มาประชุมรวมกัน อย่างนี้ อันนี้เป็นนึกคิด จะจัดว่าเป็นการอบรมไหม

    ท่านอาจารย์ ที่พูดมามีตรงไหนผิดบ้างไหม ฟังแล้วจะไปปฏิบัติที่บ้าน นี่ถูกหรือผิด ตรงนี้

    ผู้ฟัง มันเป็นตัวตน

    ท่านอาจารย์ เวลาที่เกิดความคิดอะไรขึ้นมา ถ้ามีการฟังจนกระทั่งเข้าใจ สติก็จะมีการระลึกได้ว่า ที่คิดหรือเข้าใจอย่างนั้น ถูกหรือผิด ด้วยตัวของตัวเอง ประโยชน์ที่สำคัญที่สุด คือการฟังทำให้เกิดปัญญาของผู้ฟัง แล้วก็ปัญญานั้นก็จะตรงต่อลักษณะของสภาพธรรมที่จะทำให้มีความเห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะนั้นเพิ่มขึ้น

    ในขณะนี้มีธรรม ถ้ามีความคิดว่า กลับไปบ้านจะปฏิบัติ ทำไมต้องรอ ไม่เป็นเรื่องของธรรม ไม่เป็นเรื่องของอนัตตา ซึ่งอาจจะมีสัมมาสติเกิดระลึกในขณะนี้ก็ได้ หรือว่ากลับไปถึงบ้านแล้วก็ไม่ระลึก จะไปสร้างความระลึกให้เกิดขึ้นก็ไม่ได้ เพราะแม้แต่การระลึกลักษณะของสภาพธรรมก็ต้องเกิดขึ้น เพราะมีปัจจัยเพียงพอ เหมือนกับได้ยิน ถ้าไม่มีเสียง อย่างไรๆ ได้ยินก็เกิดขึ้นไม่ได้ ฉันใด การที่สติสัมปชัญญะจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ได้ฟังบ่อยๆ ก็แล้วแต่เหตุปัจจัย จึงจะเป็นสัมมาสติ จึงจะเป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นความเห็นที่ถูกต้องว่า เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา เพราะว่าในที่สุดก็จะต้องประจักษ์ ความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมทั้งหลาย จึงจะเป็นถูกต้อง แต่ถ้ามีความสำคัญว่าเป็นเราจะทำ ขณะนั้นให้ทราบว่าเป็นความเห็นผิด ซึ่งจะกั้น เมื่อไรๆ ก็จะทำ เมื่อไรๆ ก็จะทำ ระหว่างที่ยังไม่จะทำ ก็มีสภาพธรรม แล้วสัมมาสติก็ไม่มีทางที่จะเกิดขึ้น เพราะมีความคิดมีความเข้าใจว่าจะทำ

    ถ้าไม่มีความคิดว่าจะทำ แต่รู้ว่าสภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ทุกคนก็คงจะเห็นด้วย ถ้ามีการกล่าวว่า ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้า แต่ว่าข้างหน้าแสนไกล อาจจะเป็นหลาย ๑๐ ปีหรือว่าอาจจะเป็นปีหน้า หรือเดือนหน้า แต่ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจธรรม ไม่รู้จริงๆ ว่า ขณะต่อจากขณะจิตที่เกิดขึ้นนี้แล้ว จิตอะไรจะเกิดต่อ นี่จึงจะเป็นความถูกต้อง คือเป็นผู้ที่มีความเข้าใจการเกิดขึ้นของจิตแต่ละขณะว่า เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

    ถ้ามีปัจจัยเพียงพอ ไม่ต้องคิดเลย กลับบ้านจะไปปฏิบัติ ถ้ามีปัจจัยเพียงพอ ผู้ที่ไปเฝ้าฟังพระธรรม ไม่ได้กลับไปไหนเลย รู้แจ้งอริยสัจธรรมเมื่อได้ฟังพระธรรม ฉันใด พุทธบริษัทที่ได้ฟังพระธรรมก็ฉันนั้น คือไม่มีความต่าง ธรรมต้องเป็นธรรม สัจธรรมก็เป็นสัจธรรม ไม่ว่าเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีหรืออีกกี่แสนปีก็ตามแต่ ความจริงก็ต้องเป็นความจริงอย่างนี้คือว่า สภาพธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ขึ้นอยู่กับว่าปัญญาจะรู้หรือไม่รู้ตามความเป็นจริง ถ้ามีความเห็นว่าจะทำ ก็ขอให้พิจารณา แล้วก็ควรจะเลิกคิดอย่างนั้น

    ผู้ฟัง คำว่าศึกษาตาม ส่วนมากก็จะฟัง แล้วก็สนทนากัน คำว่าศึกษาตาม คือ ชีวิตประจำวัน ปกติแล้วยกตัวอย่าง ตอนเช้าลุกขึ้นมาทำกิจวัตรชีวิตประจำวัน คือ แปรงฟัน ขณะที่แปรงฟัน มันก็มีสิ่งที่ปรากฏทางลิ้น คือรสชาติของยาสีฟัน มันก็มีปรากฏ ในขณะที่รู้ในขณะนั้น มันก็นิดเดียวมันก็นึกคิดต่อว่า ขณะนี้รู้ มันเป็นจิตรู้เป็นธาตุ เป็นอะไรก็นึกคิดไปเรื่อย ไม่ทราบว่าการศึกษาตามแบบนี้ จะถูกหรือเปล่าผมก็ไม่ทราบ

    ท่านอาจารย์ คิดนึกตามด้วยความเคยชินที่จะคิดตาม ถูกไหม ไม่ว่าอะไรจะปรากฏทางตาก็คิดเป็นเรื่องราวของสิ่งนั้น แม้ว่ารสชาติของยาสีฟันจะปรากฏก็คิดเรื่องรสชาติของยาสีฟันก็ได้ เป็นปกติที่เคยสะสมมา แต่ถ้าเข้าใจว่าสติปัฏฐาน คือ รู้ตามสภาพธรรม ที่ปรากฏ ไม่ได้ผิดจากสภาพธรรม ที่ปรากฏ แทนคิดมีลักษณะจริงๆ กำลังปรากฏ ยังไม่ทันคิดสติปัฏฐานสามารถจะเกิดรู้ลักษณะของรส หรือรู้ลักษณะของสภาพที่กำลังลิ้มรส ซึ่งจะทำให้เข้าใจว่า ขณะนั้นไม่ใช่เรา สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเข้าใจสภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริงว่า นามธรรมก็เป็นนามธรรมที่รู้ แล้วรูปธรรมก็เป็นสภาพที่ปรากฏให้รู้ ในขณะนั้น แม้เล็กน้อย แต่ก็ควรจะเกิดปีติ ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจประโยชน์ว่า ขณะนั่นแหละ จะเป็นขณะที่ค่อยๆ สะสม ค่อยๆ เกิด ในสังสารวัฏฏ์ได้เกิดแล้ว จะมากหรือจะน้อยก็ตาม แต่ก็เป็นขณะที่มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วก็ขณะนั้นก็จะต้องละความหวัง เพราะว่าความหวังจะติดตามมาตลอด หวังจะให้สติเกิดอีก หวังจะให้เป็นอย่างนั้น หวังจะให้เป็นอย่างนี้

    ผู้ที่อบรมเจริญหนทางที่ถูก จะเห็นโลภะ จึงจะละโลภะได้ แต่ถ้าไม่เห็นก็จะตามโลภะไปทันที

    ผู้ฟัง เสียงที่จะทำให้เข้าใจธรรมตามความเป็นจริง ใช่ขณะที่กำลังสนทนากันนี้ ใช่หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ก็ถูกต้อง ถ้าพิจารณาแล้วเข้าใจได้

    ผู้ฟัง เพราะบางทีมันไปนึกคิดว่า ฟังเราเข้าใจ แต่ว่าพอไปทำหรือเป็นตัวตนอะไรขึ้นมาเมื่อไรมันก็ผิดหมด

    ท่านอาจารย์ ข้อสำคัญคือห้ามความคิดไม่ได้ แต่ปัญญาความเห็นถูก จะทำให้เข้าใจว่าแม้คิดก็เป็นธรรม จนกระทั่งทุกอยย่างจริงๆ ในชีวิตเป็นธรรมทั้งหมด จึงจะละวิจิกิจฉานุสัย ความสงสัยในลักษณะของสภาพธรรมได้

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ยาวนานมากกว่าจะสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรมจนทั่ว จนเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นสภาพธรรมใดที่สติระลึกก็เป็นธรรมทั้งนั้น

    ถ้าไม่ศึกษาพระธรรม ไม่มีทางที่จะรู้จักพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยพระคุณเลย ก็มีแต่เพียงชื่อว่าท่านเป็นใคร มีพระมารดา พระบิดาอย่างไร แล้วก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมที่ไหน แต่ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจได้ว่า การรู้แจ้งอริยสัจธรรมนั้นมีพระคุณต่อเราอย่างไร ถ้าเราไม่ศึกษา

    ผู้ฟัง ที่พูดกันว่า ทุกข์มีอยู่ แต่ผู้เป็นทุกข์ไม่มี จากที่สนทนาก็ทราบว่า ที่ไม่มีผู้เป็นทุกข์ก็เพราะมีแต่จิตกับเจตสิก ทีนี้ลักษณะของที่ความไม่ชอบต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางใจ พอจะน้อมเข้ามาพิจารณาได้ว่า ไม่ใช่เป็นเรา แต่เวลาที่เป็นทุกข์ทางกาย ทำอย่างไรมันก็เราเจ็บปวดอยู่ตลอด

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องไม่ลืมว่า ทุกอย่างเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ลักษณะของทุกขเวทนาก็เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ทุกอย่างไม่เว้น เดี๋ยวนี้มีไหม ทุกขเวทนานั้น

    ผู้ฟัง ตรงนี้อาจจะอิ่ม ทุกขเวทนา

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้มีไหม ทุกขเวทนาอย่างที่ว่า

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ทางกาย

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เหมือนอันเก่าไหม

    ผู้ฟัง ไม่เหมือน

    ท่านอาจารย์ แล้วก็ทุกข์นี้จะคงอยู่ตลอดไป

    ผู้ฟัง อย่างนี้ต้องเข้าใจถึงลักษณะที่เขาเกิดเดี๋ยวเขาก็ไม่เกิด ต้องมาลงตรงนี้

    ท่านอาจารย์ อย่างไรก็ตามไม่ลืมคำแรกที่ได้ฟัง แล้วก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า แม้แต่คำว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ระดับไหนที่เราเข้าใจ ระดับฟังเข้าใจแล้วก็พูดตาม แต่เวลาที่สภาพธรรมอะไรเกิดขึ้น ทำไมไม่เห็นว่า เป็นธรรม จะนอนไม่หลับ ทำไมไม่เห็นว่า เป็นธรรม ขณะนั้นเห็นอะไรหรือเปล่า คิดนึกอะไรหรือเปล่า แม้แต่ความคิดของแต่ละคนก็ บังคับไม่ได้ว่า วันนี้ เดี๋ยวนี้จะให้คิดอะไร ทุกอย่างมีเหตุปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นๆ เหลือวิสัยที่ใครจะไปทำอะไรได้ แล้วไปนั่งพยายามควบคุม ไปนั่งพยายามทำอะไร แทนที่จะสภาพธรรมใดเกิดขึ้นก็รู้ลักษณะ มีลักษณะปรากฏจริงๆ ให้เข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นธรรมอย่างหนึ่ง ตลอดเวลามาแล้วก็เป็นธรรมแต่ละอย่าง แล้วขณะนี้ก็เป็นธรรมแต่ละอย่าง ต่อไปข้างหน้าก็มีแต่ลักษณะของสภาพธรรมที่เกิด จึงปรากฏให้รู้ลักษณะที่ต่างกัน แต่พอไม่รู้ก็เป็นเรา ก็มีอยู่เท่านี้ ไม่รู้ก็เป็นเราถ้ารู้จริงๆ ก็เป็นธรรมแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง ที่ได้มาสนทนาธรรมที่นี้ ก็เป็นโรงพยาบาลพระมงกุฎ ก็มีคนเข้ามาก็เจ็บไข้กันมากมายที่มองเห็นก็อดที่จะหวั่นไหวไม่ได้ว่า ถ้าเราไม่เป็นลมตายเสียก่อน ก็ต้องอาจจะต้องมาเจ็บอยู่ที่โรงพยาบาล

    ท่านอาจารย์ มีใครคิดอย่างคุณบุษบงรำไพบ้างไหม คำพูดที่ได้ยินทั้งหมดเมื่อกี้นี้ มีใครคิดอย่างนั้นบ้างหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ความคิดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เห็นไหม ขณะที่คุณบุษบงรำไพคิดอย่างนี้ คนอื่นคิดอย่างอื่น ทำไมไม่คิดเหมือนกันเพราะเหตุว่าประสบการณ์ หรือความรู้สึกต่างๆ ต่างกันตามการสะสม แม้แต่ความคิดก็ไม่เหมือนกัน ในคนหนึ่งๆ วันหนึ่งๆ ก็คิดไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็คิดเรื่องนั้น เดี๋ยวก็คิดเรื่องนี้ ตามเหตุตามปัจจัย

    สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อได้ฟังว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ค่อยๆ พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า ถ้าเป็นจริงหมายความว่า ปัญญาของเรายังไม่พอที่จะรู้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม เพราะว่าเดี๋ยวก็เป็นเรา เดี๋ยวก็เป็นเรา วันนี้ได้ยินคำว่า ทุกอย่างเป็นธรรมกี่ครั้ง แต่ว่าความเป็นเรากี่ครั้ง

    เพราะฉะนั้น ก็เห็นได้เลยว่า ความรู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรมขั้นฟังเพียงเล็กน้อย ยังไม่ถึงกับที่จะทำให้เราหมดความสงสัย แล้วก็ประจักษ์แจ้งจริงๆ ว่า เป็นธรรม ปัญญาก็จะต้องอบรมเจริญอีกมาก แต่ไม่ใช่เรื่องท้อถอยเลย เป็นเรื่องที่มีโอกาสแล้วที่ได้ยินได้ฟัง เพราะว่าจะได้ยินได้ฟังไปอีกนานเท่าไร ไม่มีใครสามารถที่จะบอกได้ พรุ่งนี้อาจจะไม่ได้ยินได้ฟังอีกเลยก็ได้

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นโอกาสที่ว่าเมื่อได้ยินได้ฟัง ก็อย่าผ่านไป เผินๆ แต่ต้องพิจารณาจริงๆ ว่า นั่นเป็นสิ่งที่เป็นสัจธรรม แล้วใครไม่สามารถที่จะช่วยให้เรามีความเห็นถูกอย่างนี้ได้ ถ้าเราไม่มีการฟังพระธรรมบ่อยขึ้น แล้วก็พิจารณาให้ละเอียดขึ้น ซึ่งขณะนั้นๆ ก็เป็นการอบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่ว่าเป็นการไปทำอย่างอื่น แล้วปัญญาจะเกิด แต่ว่าเมื่อมีการฟัง มีการเข้าใจขึ้น ปัญญาก็จะปรุงแต่ง เป็นปัญญาที่สามารถเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ วันหนึ่งก็สามารถที่จะประจักษ์แจ้งได้

    นี่ก็เป็นหนทางซึ่งยังไม่ได้ถูกปิดบัง ถ้าตราบใดที่ยังมีความเห็นที่ถูกต้อง แต่ถ้ามีความเห็นผิดเกิดขึ้น พ้นจากทางนี้เมื่อไร นั่นคือทางกั้นที่จะไม่ให้รู้สภาพธรรมในขณะนี้ตามความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ต้องกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ เพราะจากที่ดิฉันกลัวว่าจะต้องมานอนในโรงพยาบาล ดิฉันต้องทุกข์ทรมานมาก ก็ได้ข้อคิดจากท่านอาจารย์ที่ว่า ธรรมเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปที่ละขณะ ก็ค่อยเบาใจขึ้น

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามคุณน้า คือวันนี้ได้ชวนคนที่เขามาฟังธรรมใหม่เอี่ยมเลย เมื่อกี้ไปรับประทานอาหารร่วมกัน เขาบอกว่าช่วยถามหน่อยว่า เขาจะเริ่มต้นศึกษาธรรมเขาจะเริ่มอย่างไรก่อนดี

    ธนิต เริ่มต้นจากว่า ธรรมคือสภาวธรรม เป็นธาตุ เป็นธาตุ เป็นสภาวะ จำแนกออกเป็น ๒ อย่าง คือนามธาตุกับรูปธาตุ แล้วก็ศึกษาว่า รูปธาตุกับนามธาตุ แยกออกไปเป็นขันธ์ ๕ ให้รู้จักเรื่องที่รู้ สะสมไว้เพื่อเป็นเหตุ เป็นปัจจัยที่จะได้เข้าใจว่า มันเป็นธรรม มันเป็นสภาวะ เป็นรูปธาตุ เป็นนามธาตุ เป็นอย่างนี้หรือเปล่า ส่วนใหญ่แล้วใจร้อน อยากรู้ อยากเข้าใจ ก็พยายามที่จะบอกให้ว่า ฟังต่อไปเรื่อยๆ แล้วตรงที่ฟัง สงสัยแล้วถามทันที จะได้ค่อยๆ อธิบายให้ฟังว่า เรื่องที่รู้มันเป็นเรื่อง แต่จริงๆ ของเรื่องนี้มี ก็ต้องทีละอย่างๆ ต้องเริ่มต้น

    ท่านอาจารย์ ขอสนทนาเพิ่มเติมคำถามเมื่อกี้นี้ คือที่ถามว่า จะเริ่มต้นอย่างไร จะเริ่มต้นเมื่อไร โดยมากมักจะเป็นคำถาม แต่ว่าดิฉันอยากจะถามให้ตอบ มากกว่าที่วิทยากรจะช่วยกันตอบ เพราะเหตุว่าจะได้เป็นความรู้ความเข้าใจของท่านผู้ถาม

    ถ้าเดี๋ยวนี้จะถามว่า ขณะนี้ท่านที่กำลังฟัง กำลังเริ่มต้นหรือเปล่า ตอบได้ใช่ไหม ว่ากำลังเริ่มต้นหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ทุกครั้งที่ฟังธรรม คือ การเริ่มต้นโดยที่ว่า รู้จักว่าธรรมคืออะไร ถ้าไม่รู้จักว่า ธรรมคืออะไร แล้วเราจะศึกษาธรรมได้ไหม ถ้าเราไม่รู้เลยว่า ธรรมคืออะไร เพราะฉะนั้น ในขณะที่ได้ฟังคำว่า ธรรม แล้วก็เริ่มเข้าใจว่า ธรรมเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงๆ ที่ปรากฏให้รู้ได้ ตั้งแต่เกิดจนตายมีธรรมทั้งนั้นเลย เพราะเหตุว่ามีลักษณะเฉพาะอย่างๆ ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะบันดาลให้เกิดขึ้น แต่ว่ามีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดถ้าวันนี้มีผู้ที่มีความโกรธเกิดขึ้น ความโกรธที่กำลังเกิดเป็นไปในขณะนั้น เตรียมตัวมาก่อนหรือเปล่าว่า จะให้เป็นความโกรธในลักษณะอย่างนี้ๆ ในเรื่องนี้ๆ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567