ปกิณณกธรรม ตอนที่ 317


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๑๗

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๕


    ผู้ฟัง สติ และปัญญายังไม่ถึง ตรงนี้ใช่ไหม ที่ทำให้เราระลึกไม่ถูก

    ท่านอาจารย์ ต้องเริ่มรู้ว่าขณะไหนสติเกิด ขณะไหนหลงลืมสติ นี่เป็นปัญญาที่รู้ในขณะนั้น ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม ผม มีไหม ไม่มี เพราะฉะนั้น เพราะมีปรมัตถธรรม จึงมีความทรงจำในรูปร่างสัณฐานว่าเป็นผม

    สำหรับสติปัฏฐาน มหาสติปัฏฐานสูตรครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา แสดงให้เห็นว่าไม่เว้น ถ้าใครอบรมเจริญสมถะมา ขณะใดที่สติปัฏฐานเกิด ต้องรู้สภาพที่เป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่เป็นการทรงจำเรื่องราวของสภาพธรรม ถ้าเป็นสมถภาวนา จะมีการระลึกถึงผมในลักษณะต่างๆ เพื่อสงบจากความติดข้องในผมแต่ว่าไม่สามารถจะรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล ไม่รู้ในความเป็นปรมัตถธรรมในขณะนั้น เพราะเหตุว่ายังมีความคิด ยังมีความจำในผม

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่สามารถที่จะรู้จริงๆ ว่า ขณะนั้น ผมไม่มี แต่มีปรมัตถธรรม ถ้ายังคงยึดมั่นในผมอยู่ ก็เหมือนยึดมั่นในคน ในวัตถุ ในสิ่งหนึ่งสิ่งใด แล้วขณะที่จะจำผม ก็จะมีการนึกถึงคำว่า ผม ขณะที่กำลังนึกถึงคำว่า ผม ขณะนั้นไม่ได้ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ว่า ขณะที่คิดเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น ก็เป็นตัวตน เป็นเรา เป็นบุคคลผู้นั้นที่คิดคำว่า ผม แล้วถ้าคิดต่อไปว่าผมไม่เที่ยง ขณะนั้นก็เป็นบุคคลนั้นเอง เป็นนามธรรม แต่ไม่รู้ในความเป็นนามธรรม

    เพราะฉะนั้น ก็มีตัวบุคคลนั้นที่คิดว่า “ผม” ไม่เที่ยง แล้วก็ลองถามผู้ที่คิดว่าผมไม่เที่ยง เขาคิดอย่างนั้นจริงๆ ขณะที่คิดเขาไม่รู้หรอกว่า ที่คิดแต่ละคำเป็นนามธรรมที่คิด เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นตัวตนที่กำลังคิดเรื่องผมไม่เที่ยง

    วันนี้ใครคิดถึงเรื่องผมบ้างไหม หรือไม่มีใครคิดเลย ต้องมี ใช่ไหม ขณะไหนก็ตามที่สติสัมปชัญญะระลึกลักษณะของสภาพธรรม ขณะนั้นจึงจะเป็นสติปัฏฐาน เพราะว่าถ้าคิดว่าเป็นผม ปัญญาจะรู้อะไร แต่ทุกคนก็คิดถึงผม แต่เมื่อคิดถึงผมแล้วขณะนั้น ความจริงคืออะไร ความจริงคือนามธรรมที่มีผมเป็นอารมณ์ จะคิดถึงผม แต่ขณะนั้นจะระลึกลักษณะที่อ่อน หรือที่แข็ง ที่เป็นผม หรือว่าระลึกลักษณะของจิตที่กำลังคิดถึงผมก็ได้ สิ่งใดที่เป็นปรมัตถธรรม ก็เป็นสิ่งที่มีจริง ที่เกิดขึ้น

    ด้วยเหตุนี้การอบรมเจริญสติปัฏฐาน จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก สิ่งใดก็ตามที่เคยยึดถือว่า เป็นเรา เป็นตัวตน สติจะต้องระลึกจนกว่าจะรู้ลักษณะของสภาพปรมัตถธรรม ในขณะนั้น จึงสามารถที่จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไมใช่บุคคล มิฉะนั้นเราเรียนปรมัตถธรรมทำไม ทำไมเราต้องให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ธรรมเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ยังไม่พอ เรายังใช้คำว่า ปรมัตถธรรมด้วย ให้รู้ว่าสิ่งที่มีจริงไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงลักษณะได้เลย จิตเป็นจิต เจตสิกเป็นเจตสิก รูปเป็นรูป นิพพานเป็นนิพพาน เราเรียนสิ่งใด ก็เพื่อที่จะเข้าใจถูกต้องในสิ่งนั้นจนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์ ความจริงได้ ทั้งๆ ที่ชีวิตของเราก็มีรูปมากมาย แล้วก็มีคำต่างๆ ที่ใช้เรียกสิ่งที่เป็นรูปต่างๆ เป็นผมบ้าง เป็นขนบ้าง เป็นเล็บบ้าง เป็นฟันบ้าง เป็นหนัง เป็นตับ ปอด หัวใจ เราก็ใช้ทั้งนั้นเลย คำที่จะเรียกลักษณะของรูปต่างๆ แต่สิ่งที่เป็นรูปจริงๆ ซึ่งเอาชื่อออกไปหมดเลย ลักษณะสภาพธรรมนั้นเป็นปรมัตถธรรม ที่ศึกษาปรมัตถธรรมเพื่อที่จะให้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่า แท้ที่จริงแล้วปอดมีไหม ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม หัวใจมีไหม เลือด กระดูกมีไหน ถ้าไม่มีปรมัตถธรรม

    เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงๆ ก็คือปรมัตถธรรม เท่านั้น แล้วแต่ว่าจะนึกถึงในรูปร่าง หรือว่านึกถึงสมมติบัญญัติต่างๆ คำต่างๆ ให้รู้ว่าหมายความถึงสิ่งใด แต่ปัญญาที่จะประจักษ์การเกิดดับ ไม่ใช่ไปขณะที่กำลังคิดถึงผม แล้วก็ไม่รู้ว่า ขณะนั้นปรมัตถธรรม คือ จิตที่คิด เพราะว่าจิตนั้นคิดถึงผมแล้วก็ดับ แล้วแต่จะคิดถึงอะไรอีกแล้วก็ดับ นั่นก็คือ การที่เข้าใจความหมายของปรมัตถธรรม

    การศึกษาธรรมต้องตรงตั้งแต่ขั้นต้น ตั้งแต่คำแรกจนถึงคำสุดท้าย ถ้าศึกษาปรมัตถธรรม ก็ต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ปรมัตถธรรม คือสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่บัญญัติ

    ผู้ฟัง เรื่องเวทนา เวทนาภายนอก คือขณะที่เรารู้ว่าผู้อื่นกำลังโกรธ ความโกรธของบุคคลอื่นนั้น เป็นเวทนาภายนอกใช่หรือไม่ แล้วเวทนาภายในคืออะไร แล้วสติปัฏฐาน สติสัมปชัญญะระลึกรู้เวทนา ภายนอก และภายในได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีคน ใช่ไหม เมื่อไรที่ว่ามีคน เมื่อเห็น รูปร่างสัณฐานอย่างนี้เป็นคน รูปร่างสัณฐานอีกอย่างหนึ่งเป็นนก ใช่ไหม ไม่ใช่คน แต่เป็นนก เพราะรูปร่างสัณฐานต่างกัน เพราะฉะนั้น เวลาที่มีการคิดนึกเรื่องรูปร่างสัณฐานต่างๆ ขณะนั้นก็จะเห็นได้เลยว่า มีนกเพราะว่าจิตคิดถึงรูปร่างของสิ่งที่ปรากฏทางตา ซึ่งความจริงเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เท่านั้น ในขณะนี้มีแต่คน ถ้าเกิดจะมีแมวสักตัวหนึ่งที่นี่ ทุกคนจะบอกว่าแมวนั้นเป็นคนหรือเปล่า ไม่ใช่ แต่เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา เหมือนกันหมด เวลาที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วคิดถึงแมว เพราะรูปร่างสัณฐานอย่างหนึ่ง เพราะคิดถึงคนก็รูปร่างสัณฐานอีกอย่างหนึ่ง

    การที่จะคิดถึงคนกำลังร้องไห้ ก็ไปคิดถึงความรู้สึกของคนที่ร้องไห้ว่า เขาต้องเศร้าโศกเสียใจ ก็เป็นเรื่องความคิดนึกที่เกิดจากการเห็น แล้วก็ปรุงแต่งให้เป็นการคิดถึง ไม่ใช่แต่เฉพาะรูปร่างสัณฐานเท่านั้น แต่ก็ยังไปคิดนึกถึงความรู้สึก ของสิ่งที่เราเข้าใจว่า เป็นคน หรือเป็นสัตว์ต่างๆ ด้วย ที่กล่าวว่าเป็นภายนอก แต่ว่าตามความเป็นจริง ถ้าไม่มีจิตคิด เวทนาภายนอกมีไหม คนมีไหม อย่างอื่นก็ไม่มีเลย

    การที่จะเข้าใจความหมายในพระไตรปิฎกลึกลงไปอีก คือทุกคนจริงๆ แล้วอยู่ผู้เดียว ไม่มีคนอื่นเลยถ้าไม่คิด มีสีสันวัณณะที่ปรากฏทางตาจริง แล้วก็มีความคิดว่า เป็นคนนั้นคนนี้ด้วย แล้วทรงจำไว้ไม่ลืม ไม่เคยลืมเลย จนกว่าจะมีการระลึกได้ว่า เมื่อเห็นขณะใดก็เพียงเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง จนกว่าจะลอกความทรงจำว่า เป็นอัตตสัญญา เป็นบุคคลต่างๆ เป็นเรื่องราวต่างๆ ออก จึงสามารถที่จะรู้จริงๆ ว่า ทั้งหมดของสติปัฏฐานก็คือสภาพธรรม ที่เป็นปรมัตถธรรมเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าจะมีอารมณ์อะไร จะแสดงในบรรพไหน ก็หมายความว่า เคยเป็นสิ่งนั้น เคยคิดถึงเวทนานั้นๆ เคยคิดถึงเรื่องนั้นๆ แล้วก็ในขณะที่คิดนั้นเองก็ต้องมีเข้าใจที่ถูกต้องด้วยว่า แท้ที่จริงแล้วเป็นชั่วขณะที่จิตหนึ่งขณะเกิดแล้วก็คิด เพราะฉะนั้น จะมีคนจริงๆ ที่เที่ยง จากไหน ถ้าไม่ใช่จากความคิดอย่างเดียว เพราะว่าสิ่งที่ปรากฏทางตาก็ดับ เหมือนกับที่เคยกล่าวถึงสภาพลักษณะของจิตจริงๆ เป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ซึ่งไม่มีรูปร่างสีสันเลย เพราะฉะนั้น จะมืด หรือจะสว่าง จิตไม่ใช่สีสันวัณณะ ไม่ใช่แสงสว่าง ไม่ใช่สีอะไรเลยทั้งสิ้น สภาพรู้หรือธาตุรู้ มืดหรือสว่าง ถ้าไม่ประจักษ์ลักษณะของจิต ก็เพียงแต่กล่าวว่าจิตมีราคะ จิตมีโทสะ แล้วก็ระลึกลักษณะของจิต แต่ว่าลักษณะของจิตแท้ๆ จริงๆ ไม่มีรูปร่างใดๆ เจือปนทั้งสิ้น เป็นแต่ธาตุรู้ ซึ่งเกิดขึ้นต้องรู้ ไม่รู้ไม่ได้เลย ถ้าเอาสีสันออกจากโลกหมดเลย เอาเสียง เอากลิ่น เอารส เย็นร้อนอ่อนแข็งออกหมด ไม่มีเลยสักอย่างเดียว แต่มีสภาพรู้ หรือธาตุรู้ นั้นคือลักษณะจริงๆ ของจิต ซึ่งไม่มีรูปร่างสัณฐานใดๆ เจือปนเลย ไม่มีรูปใดๆ เจือปนในลักษณะของจิตเลย

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่เมื่อฟังธรรมแล้ว ค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ ไตร่ตรอง แม้แต่มหาสติปัฏฐานสูตร ที่จะกล่าวถึงภายในภายนอกต่างๆ ถ้าไม่เคยมีความทรงจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จะไม่มีการที่จะให้ระลึกในขณะที่กำลังมีความทรงจำอย่างนั้น แต่เพราะเหตุว่าเราเคยทรงจำไว้ว่ามีคน แล้วก็มีเวทนาต่างๆ ของคนนั้นด้วย

    เมื่อเคยทรงจำไว้อย่างไร ที่จะละความทรงจำนั้นให้หมด ไม่เหลือความเป็นคน หรือความเป็นเวทนาภายนอก หรือคนอื่นเลย ก็คือต่อเมื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า แท้ที่จริงก็มีธาตุรู้ ซึ่งเกิดขึ้น รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ทางตาสั้นมาก ทางหูสั้นมาก ทางจมูก ทางลิ้น ทางกายสั้นมาก แต่ทางใจทรงจำไว้อย่างแน่นหนามั่นคง ถึงแม้ว่า จะไม่มีอะไรปรากฏ ยังนึกจำเป็นเรื่องที่เป็นบุคคลต่างๆ อย่างมั่นคงได้ เพราะฉะนั้น ความจริง คือ ต้องอบรมเจริญปัญญา จนกระทั่งละความสำคัญว่ามีคน หรือว่ามีเวทนาของบุคคลอื่นๆ ด้วย

    ผู้ฟัง ขณะที่เป็นโลกสว่าง จะหมายถึงขณะที่มีสี หรือ รูปารมณ์ เป็นอารมณ์เท่านั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้สว่างไหม

    ผู้ฟัง สว่าง ถ้าพูดถึงจิตเป็นสภาพรู้ จะไม่เกี่ยวกับความสว่าง ความมืด

    ท่านอาจารย์ แน่นอน เพราะว่าจิตไม่ใช่รูป

    ผู้ฟัง แต่ก็มีสีเป็นอารมณ์

    ท่านอาจารย์ เป็นอารมณ์ได้ แต่อารมณ์นั้นไม่ใช่จิต จิตกำลังรู้อารมณ์นั้น เพราะฉะนั้น ลักษณะของจิต แท้ๆ ไม่ใช่สว่าง แต่สิ่งที่ปรากฏที่จิตรู้ เป็นสิ่งที่สว่าง

    ผู้ฟัง จะกล่าวว่า มืดก็ไม่ได้ มืดก็จะนึกเป็น ความดำ

    ท่านอาจารย์ จะเป็นอะไรก็ตามแต่ ใช้คำว่า ปรากฏทางตา คนที่มีจักขุปสาท คนที่ตาไม่บอด แล้วก็นั่งอยู่ในห้องมืด จะรู้ไหมว่ามืด

    ผู้ฟัง รู้

    ท่านอาจารย์ แล้วคนที่ตาบอด นั่งอยู่ในห้องมืด รู้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่รู้ว่ามืด เป็นอย่างไรด้วยซ้ำไป

    ท่านอาจารย์ ไม่มีทางที่จะรู้ความต่างของความสว่างกับความมืด แต่คนที่มีจักขุปสาท สามารถที่จะรู้ตั้งแต่ความือสนิท ไม่มีอะไรเลย จนกระทั่งค่อยๆ มีความสว่างทีละเล็กทีละน้อยได้ อย่างเวลาที่อยู่ในห้องมืดสนิท เรายังบอกได้ว่า มืดสนิทจริงๆ สามารถที่จะบอกได้ แล้วเวลาที่มีแสงสว่างนิดหน่อย ก็ยังสามารถที่จะบอกได้ ว่ามีแสงสว่างนิดหน่อย เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนี้ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏกับจิตที่รู้โดยจักขุปสาท

    ผู้ฟัง เรื่องเวทนา ที่จะกล่าวว่า แต่ว่าเวทนาภายนอกภายใน ในกรณีที่ ถ้าเป็นลักษณะสติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ เวทนาภายใน ก็จะเป็นทั้ง ๕ เวทนาได้ แต่ถ้าเป็นเวทนาภายนอกของคนอื่น จะไม่เป็นลักษณะของเวทนาแน่ จะเป็นสภาพรู้หรือสภาพคิดเท่านั้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เวลาที่สติระลึกลักษณะของเวทนาที่เป็นความรู้สึก ที่มีปัญญาสามารถที่จะรู้สภาพของเวทนานั้นจริงๆ จะไม่มีภายใน หรือภายนอกเลย เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งกำลังรู้สึกอย่างนั้น

    ผู้ฟัง ดิฉันเข้าใจว่า เราจะไปรู้สึกเวทนาภายนอกไม่ได้ เพราะว่าเป็นคนอื่น

    ท่านอาจารย์ ไม่มี หมายความว่าเมื่อสภาพของเวทนาปรากฏเมื่อไร แล้วสติก็ระลึกรู้ จึงจะรู้ลักษณะจริงๆ ของเวทนาได้

    ผู้ฟัง ถ้าเราเห็นว่าคนนั้นเขาไม่สบาย นั่นก็เป็นสภาพคิดนึกเท่านั้น จิตรู้สภาพ รู้คิด

    ท่านอาจารย์ มีคนไหม ก่อนอื่นต้องมาตั้งต้น

    ผู้ฟัง เข้าใจ อาจารย์

    ผู้ฟัง ผมมีข้อมูลอยู่ว่า จิตเป็นสภาวธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งถ้าไม่มีการสัมผัส ไม่มีจักขุปสาท หรือไม่มีอะไรให้สิ่งที่ปรากฏเห็น ก็จะไม่มีจิตเกิดขึ้น ยกตัวอย่างๆ ที่อาจารย์กำลังพูดเมื่อกี้นี้ ถ้ายกตา หู จมูก ยกอะไรๆ ออก ไปนอกหมด ไม่มีอะไรอยู่ในโลกนี้ อย่างนั้นสภาพจิตก็จะไม่มี เพราะมันไม่มีอะไร

    ท่านอาจารย์ ขอโทษ เอารูปออกไปเท่านั้น ก็ยังมีนามธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ ซึ่งไม่ใช่รูป

    ผู้ฟัง ก็มันไม่มีอะไรจะเห็น

    ท่านอาจารย์ นั่นแหละ ลักษณะนั้นที่เกิดขึ้น ที่เป็นธาตุรู้ ซึ่งไม่ใช่รูป เป็นจิต

    ผู้ฟัง จะรู้อะไร ไม่มีอะไรจะรู้

    ท่านอาจารย์ ก็มีธาตุรู้ปรากฏให้รู้ว่า นั่นเป็นลักษณะของธาตุรู้

    ผู้ฟัง แสดงว่า มันก็ยังมีอยู่ แม้จะไม่มีรูป แต่สภาพรู้ก็ยังมีอยู่

    ท่านอาจารย์ นี่แสดงถึงความแยกขาดจากกันโดยเด็ดขาด หมายความว่า นามธรรมไม่ใช่รูปธรรมแน่นอน โดยประการทั้งปวง จะให้นามธรรมเป็นรูปธรรมไม่ได้ แล้วรูปธรรมก็ไม่ใช่นามธรรมเด็ดขาดทั้งปวง จะให้รูปธรรมสักรูปหนึ่งเป็นนามธรรมก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าสภาพรู้ก็เป็นสภาพรู้ สภาพที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย ก็เป็นสภาพที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย แล้วโลกก็มีนามธรรม และรูปธรรม ๒ อย่างที่ต่างกัน

    ผู้ฟัง ผมคิดว่าถ้าทั้ง ๒ อย่างไม่มาเจอกัน จิตก็จะไม่มี สภาพรู้ก็จะไม่มี

    ท่านอาจารย์ มีสภาพรู้ ที่ไม่ต้องมีรูปเลยก็ได้ ในอรูปพรหมภูมิ

    ผู้ฟัง ถ้ามันจะอยู่อย่างนั้นตลอดไปหรือว่ามันจะเป็นสภาพที่ลอยอยู่ เหมือนกระแสไฟฟ้า หรือว่ามันเสร็จแล้ว มันจะกลับไปอยู่ที่หทยวัตถุ หรืออย่างไร อันนี้ผมไม่เข้าใจจริงๆ

    ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพที่เกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้น ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตจะต้องเกิดที่รูปหนึ่งรูปใด มีรูปซึ่งเกิดจากกรรมเป็นที่เกิดของจิต จิตจะเกิดนอกรูปที่เกิดจากกรรมไม่ได้

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น ก็เรียกว่าอยู่ที่หทยวัตถุ

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่อยู่เลย เกิดที่นั่นแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ แล้วแต่ว่าเป็นจิตประเภทไหน

    ผู้ฟัง ถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น ให้ได้ยิน ก็จะไม่มีจิตปรากฏขึ้น

    ท่านอาจารย์ กำลังหลับสนิท มีใครรู้บ้างว่ามีจิต แม้ว่าจิตเกิด ทำกิจภวังค์ ดำรงภพชาติ

    ผู้ฟัง มีภวังคจิตเกิดต่อ

    แต่ว่าไม่ มีใครรู้ว่า มีจิตขณะนั้น ขณะที่เป็นภวังค์

    อดิศักดิ์. คุณ เด่นพงศ์ จิตไม่ได้อยู่ที่หทยวัตถุ เกิดที่หทยวัตถุ

    ผู้ฟัง เกิดที่หทยวัตถุ แต่ไม่อยู่ที่นั่น

    อดิศักดิ์. ไม่อยู่ มันไม่มีรูปร่าง เกิดขึ้นทีละขณะๆ

    ผู้ฟัง ถ้าไม่มีตา ไม่มีสี มันก็ไม่มา ผมคิดอย่างนั้น คิดง่ายๆ ไม่รู้ถูกหรือเปล่า

    อดิศักดิ์. ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ เขาจะเกิดที่ปสาทรูป ๕ แต่จิตนอกจากนั้น ๗๙ ดวงจะเกิดที่หทยวัตถุ เกิดที่ ไม่ได้อยู่ตรงนั้น เกิดที่ ได้เหตุได้ปัจจัยก็เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง เรื่องมหาสติปัฏฐานสูตร ที่พิจารณากายในกาย ท่านแสดงไว้ว่าทุกบรรพทั้ง ๑๔ บรรพ ก็ไม่พ้นรูปที่ปรากฏที่กาย บรรพที่เป็นปฏิกูลบรรพ ที่บอกว่าพิจารณาเห็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โดยความเป็นปฏิกูล ถ้าโดยสภาพธรรมแล้ว ถ้าหากว่าเป็นรูปที่ปรากฏที่กาย ก็ไม่พ้นธาตุทั้ง ๓ คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึงไหว จะเรียนถามท่านอาจารย์ว่า พิจารณาเกี่ยวกับรูปที่กาย พิจารณากายในกาย โดยความเป็นปฏิกูล ที่จะเห็นว่าความเป็นรูป

    ท่านอาจารย์ เวลาที่พูดถึงมหาสติปัฏฐาน ชื่อก็บอกอยู่แล้ว มหา มากมายกว้างขวางครอบคลุมทั้งหมด เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครกำลังคิดถึงผม ขณะนั้นจริงหรือเปล่า กำลังคิดถึงผมจริงไหม จริง ขณะนั้นเป็นปรมัตถธรรม อะไร

    ผู้ฟัง สภาพที่คิดเป็นจิต

    ท่านอาจารย์ สภาพที่คิดเป็นจิต ใช่ไหม แล้วผม มีไหม ที่คิดถึงผม คิดถึงอะไร โดยการสัมผัส หรือโดยการเห็น ถ้าโดยการเห็นก็ต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ทรงแสดงอย่างนี้ในพระอภิธรรมหรือเปล่า ทางตามีสิ่งที่ปรากฏ เท่านั้น เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ความจริงก็ต้องตรงตามที่ศึกษา ถึงจะเห็นว่า เป็นผม คิดว่าเป็นผม นึกถึงผม แต่ว่าตามความเป็นจริงก็ต้องรู้ว่า เป็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาในขณะที่กำลังเห็น หรือว่าในขณะที่กำลังกระทบสัมผัส ลักษณะที่ปรากฏทางกาย เพราะว่าการที่สิ่งหนึ่งสิ่งใดจะปรากฏทางกายได้ก็ต้องกระทบสัมผัส ในขณะที่กระทบสัมผัส แล้วเคยเข้าใจว่าเป็นผม แต่ว่าตามความเป็นจริงก็คือ นามธรรมกำลังรู้ลักษณะที่แข็ง จึงจะไม่ใช่เรา การที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่า เป็นธรรม คือไม่ใช่เรา ก็ต้องมีลักษณะของปรมัตถธรรมที่ปรากฏให้รู้ว่า เป็นลักษณะของปรมัตถธรรม อะไร

    ผู้ฟัง ต้องเห็นความเป็นปฏิกูล ขณะนั้นก็มีสภาพความรู้สึกเกิดขึ้นด้วย ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่าง ไม่ว่าจะรู้สึกปฏิกูล หรือรู้สึกเพลิดเพลินสวยงามดีก็แล้วแต่ ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงวาระของจิตที่จะเกิด แต่เมื่อสิ่งใดเกิดมีจริงสติปัฏฐานก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น ไม่ว่าใครจะเป็นผม ขน เล็บ ฟัน หนัง โดยนัยที่กำลังท่องบ่นที่จะเป็นสมถภาวนา ที่จะให้จิตสงบ หรือว่าลมหายใจ หรืออะไรก็ตามแต่ทั้งหมด สติปัฏฐาน คือสติที่ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม เพื่อปัญญาจะได้รู้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า ไม่ใช่เรา แล้วก็จะรู้ถูกต้องตามความเป็นจริงว่า เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ มิฉะนั้นก็ไม่มีหนทางที่ประจักษ์ทุกขลักษณะ ซึ่งเป็นการเกิดดับของสภาพธรรมได้

    ผู้ฟัง อยากจะพูดถึงตอนเช้าที่มีผู้ร่วมสนทนา มากล่าวถึงว่า เหมือนกับว่า ไม่เชื่อเรื่องต่างๆ บางเรื่อง ที่พระพุทธองค์ท่านตรัสในพระสูตร มันก็มาตรงกับดิฉันเหมือนกันที่ฟังอยู่บอกว่า พระพุทธองค์ห้ามที่จะค้าขายมีอยู่ ๕ อย่าง เช่น มนุษย์ สัตว์ สุรา อาวุธ ยาพิษ ตรงยาพิษ ดิฉันติดอยู่นานเลยว่าอะไร คนจะมาค้ายาพิษได้อย่างไร พอมาถึงสมัยนี้ มันรู้สึกว่า พวกที่เป็นยาบ้า ยาม้า อันนี้มันจะเป็นลักษณะของยาพิษได้หรือเปล่า

    เผชิญ. ยาพิษในสมัยก่อน เขาก็จะมีใช้ในลักษณะต่างๆ อาจจะเอาไปทำร้ายคนหรือว่า ต้องการที่จะเอาไปทำร้ายสัตว์ นั่นคือการใช้ของยาพิษในยุคนั้น แต่ในยุคนี้ การที่จะขายยาพิษที่จะมีการใช้ลักษณะที่กว้างขวางต่างกัน ซึ่งการขายยาม้า ยาบ้าที่เป็นของมึนเมา อาจจะเข้าในลักษณะของสุรา ที่เป็น มัชฌะ ก็ได้ เพราะตรงนั้นจะทำให้ คนมึนเมา ทำให้เสียสติสัมปชัญญะ อันนี้ผมเข้าใจว่า ยาพิษกับมัชฌะ ต้องต่างกัน

    อดิศักดิ์. ถ้าเป็นสมัยนี้ ก็ยาฆ่าหนู

    ท่านอาจารย์ ขอย้อนมาที่ผม ขน เล็บ ฟัน หนังอีกครั้งหนึ่ง ขณะที่กำลังรู้สิ่งที่แข็งที่กาย เพราะว่าทางกาย สภาพธรรมที่จะปรากฏจะพ้นจาก เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวไม่ได้ ทุกส่วนที่กระทบสัมผัส ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ถ้ากระทบสัมผัสลักษณะที่มีจริงๆ ที่ปรากฏ คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว

    เพราะฉะนั้น ในขณะที่มีสิ่งที่อ่อน นุ่มปรากฏทางกาย ต้องบอกไหมว่า เนื้อ หรือต้องบอกไหมว่า หนัง ในขณะที่สภาพธรรมนั้นจริงๆ กำลังปรากฏ แล้วก็เป็นปรมัตถธรรม เพราะว่าทางที่จะรู้อารมณ์ สำหรับสิ่งที่มีจริงที่ปรากฏในขณะนี้ ทางตาก็ต้องอาศัยตา สิ่งนี้จึงจะปรากฏได้ ถึงแม้ว่าสีสันวัณณะต่างๆ มีจริง แต่ก็ต้องอาศัยจักขุปสาท จึงสามารถที่จะปรากฏได้ หรือเสียงก็เป็นสิ่งที่มีจริง ต้องอาศัยโสตปสาท จึงจะปรากฏได้ กลิ่นก็ต้องอาศัยฆานปสาท จึงจะปรากฏได้ รสก็ต้องอาศัยชิวหาปสาท จึงจะปรากฏได้ สำหรับกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ที่จะปรากฏว่าเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ก็ต้องอาศัยกายปสาทจึงจะปรากฏได้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567