ปกิณณกธรรม ตอนที่ 320
ตอนที่ ๓๒๐
สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า
พ.ศ. ๒๕๔๖
ผู้ฟัง ปกติวิสัย คือ ทั่วๆ ไป ถ้าไม่ปกติแล้วมันจะเกิดตัวตน ใช่ไหม เป็นกุศโลบาย หรือจะเป็นวิธีการ หรือจะเป็นอะไร มันก็เกิดเป็นตัวตน อาจารย์อธิบายในลักษณะที่ผมฟังเป็นอย่างนี้ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นความละเอียดของการที่จะเข้าใจว่า ธรรมเป็นธรรมจริงๆ ไม่ใช่เรา เพราะว่าเวลาที่ยังเป็นเราอยู่ ก็จะมีคำถามมากมาย เรื่องทำ เรื่องไม่ทำต่างๆ แต่ถ้ามีการที่จะเข้าใจถูกต้องว่า ความคิดก็เป็นธรรม ทุกอย่างเป็นธรรม โลภะเป็นธรรม อโลภะก็เป็นธรรมด้วย ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้จริงๆ ก็ต้องสอบถามไปว่า จะเข้าใจได้อย่างไร คือไม่ใช่มีใครบอกว่า เป็นธรรมหมดเลย ทุกอย่างเป็นธรรม แต่ว่าผู้นั้นเข้าใจว่า เป็นธรรมได้อย่างไร มีหนทางอย่างไรที่จะรู้ว่า โลภะเป็นธรรม มีหนทางอย่างไรที่จะรู้ว่า โทสะเป็นธรรม โมหะเป็นธรรม เห็นเป็นธรรม คิดเป็นธรรม ได้ยินเป็นธรรม ต้องมีหนทางที่จะรู้ ไม่ใช่เพียงแต่คิดว่าเข้าใจแล้ว
เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้ที่ละเอียดที่จะต้องรู้ว่าปัญญามีหลายระดับ ปัญญาจากการฟัง เริ่มพิจารณา เริ่มเข้าใจถูกต้องว่าทุกอย่างมีปัจจัยเกิด ถ้าไม่เกิดไม่ปรากฏ อะไรก็ตามขณะนี้ที่ปรากฏต้องเกิด แล้วที่เกิดก็ต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง จึงจะเกิดได้ ไม่ใช่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย เมื่อเป็นความไม่รู้ ก็เป็นเราทำ แต่ว่าความจริงทั้งหมดเป็นธรรม อกุศลก็เป็นธรรม ความเห็นผิดก็เป็นธรรม ที่ทำก็เป็นความเห็นผิดก็เป็นธรรม
ผู้ฟัง ตรงจุดนี้เองที่จะเรียกว่าไม่ปกติ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ปกติคือขณะนี้ ต้องทำอะไรหรือเปล่า ขณะนี้ก็คือว่าใครทำเห็น เมื่อเห็นเกิดแล้วใครทำ ขณะนี้ได้ยิน ใครทำได้ยิน เพราะว่าเป็นปกติที่ได้ยินจะเกิด ได้ยินก็เกิด เพราะฉะนั้น ปัญญาตามรู้ ไม่ใช่ปัญญาทำขึ้น แต่ปัญญาตามรู้สิ่งที่มีปัจจัยเกิดปรากฏ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมใดที่ยังไม่ปรากฏ ยังไม่เกิดขึ้น ปัญญารู้ไม่ได้ สิ่งที่ล่วงไปแล้ว หมดไปแล้ว ไม่ได้กลับมาอีกเลย ปัญญาก็รู้ไม่ได้ แต่ถ้าปัญญาไม่รู้สภาพธรรม ในขณะนี้ที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ปัญญาจะรู้อะไร มีอะไรที่ปัญญาจะรู้ได้ ก็ไม่มี ถ้าสิ่งนั้นไม่ปรากฏ หรือสิ่งนั้นดับไปแล้ว
ผู้ฟัง ทีนี้ถ้าปัญญารู้ในกิเลสต่างๆ หรืออุปกิเลสต่างๆ มันจะละคลายไปเองหรืออย่างไร
ท่านอาจารย์ เราเรียกชื่อ ใช้ชื่อแสดงลักษณะของสภาพธรรมระดับต่างๆ แต่ความจริงก็คือเมื่อสภาพธรรมนั้นเป็นอย่างนั้นที่ต่างกัน แล้วก็มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ก็ทรงแสดงความจริงในชีวิตประจำวัน โดยชื่อต่างๆ แต่ทรงแสดงว่าเป็นธรรม ซึ่งผู้ที่ได้ยินได้ฟังก็จะต้องอบรมจนกระทั่งมีความเข้าใจถูกต้องในขั้นต้นจริงๆ ว่า เป็นธรรม แม้แต่เราจะได้ยินอย่างนี้ เพราะว่าทุกอย่างเป็นธรรม อย่าเพิ่งคิดว่าเรารู้จริงๆ อย่างนั้น แต่จะรู้จริงๆ ได้โดยการที่ลักษณะของสภาพธรรมนั้นปรากฏกับปัญญาที่ค่อยๆ อบรมจนกระทั่ง สามารถรู้ว่าเป็นธรรมจริงๆ
ผู้ฟัง ถ้าเช่นนั้นก็ปัญญารู้แข็ง แล้วจะลดละคลายอะไร กิเลสอะไรได้บ้าง
ท่านอาจารย์ แข็งเป็นเราหรือเปล่า
ผู้ฟัง ถ้าเป็นปัญญา ตอนนี้ผมก็ต้องตอบว่า เป็น เรา
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จนกว่าจะไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง จนกว่าจะไม่ใช่เรา
ท่านอาจารย์ จนกว่าแข็งจะเป็นเพียงธรรม ซึ่งเกิดแล้วดับ
ผู้ฟัง แล้วจะลดละอะไร
ท่านอาจารย์ ความไม่รู้ว่าเป็นธรรมที่เกิดดับ ขณะนี้กำลังไม่รู้เลยว่า ธรรมเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้น เวลาที่ประจักษ์ว่าเป็นธรรมที่ประจักษ์การเกิดดับ ก็ละความไม่รู้ ซึ่งไม่เคยรู้เลยว่า ธรรมนั้น เกิดดับ
ผู้ฟัง อย่างเช่นว่าความโกรธ โทสะ เราจะรู้ รู้ได้ง่าย อย่างเช่นว่า กายคตาสติ รู้แข็ง รู้เคลื่อนไหว แล้วผมก็ยังไม่เข้าใจ รู้เพื่อจะลด ละ กิเลสตรงไหน
ท่านอาจารย์ ขณะที่แข็งปรากฏ มีตัวคุณสุกิจไหม หรือว่ามีแต่แข็ง กับสภาพรู้แข็ง
ผู้ฟัง ตามความเป็นจริง ตามปริยัติก็ต้องบอกว่า
ท่านอาจารย์ ตามความเป็นจริงของคุณสุกิจ
ผู้ฟัง เราต้องโยนิโส หรือพิจารณาไตร่ตรองว่า มันไม่มี
ท่านอาจารย์ นั่นคิด ไม่ใช่ขณะที่รู้ว่า แข็งเป็นธรรม
ผู้ฟัง ใช่
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เวลาที่แข็งปรากฏ เยื่อใยความเป็นเราที่แข็งว่า แข็งเป็นเรามีไหม
ผู้ฟัง ตรงนี้จะลดตัวตน ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ จนกว่าจะไม่มีเลย เวลานี้ยึดถืออะไรว่าเป็นตัวตน ถ้าไม่ได้ยึดถือสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าอะไรปรากฏก็เป็นเราไปหมดทั้งนั้น เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่า ไม่ใช่เรา ก็คือรู้ลักษณะความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะประจักษ์ลักษณะนั้นจริงๆ ว่าเป็นธรรมที่เกิดดับ แข็งเป็นอายตนะหรือเปล่า เป็น ถ้าศึกษาต่อไป เป็นธาตุหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็น
ท่านอาจารย์ เป็นเราหรือเปล่า
ผู้ฟัง ถ้าตามปริยัติก็ไม่ใช่ บางครั้งก็ยัง ...
ท่านอาจารย์ จนกว่าไม่ใช่เพียงปริยัติ แต่ถึงขั้นประจักษ์แจ้ง ปฏิเวธ เพราะฉะนั้น ปริยัตินำไปสู่การปฏิบัติ คือ ปฏิปัตติ ปฏิ แปลว่า เฉพาะ ปัตติ แปลว่าถึง สติถึงลักษณะเฉพาะอย่าง เฉพาะอย่างจนกระทั่งปัญญารู้ชัดในลักษณะของสภาพธรรมนั้น จนกว่าจะประจักษ์อริยสัจจะ ทุกขลักษณะ สภาพธรรม ใดเกิดสภาพธรรมนั้นดับ ไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง อาจารย์ยังไม่ได้ขยาย คำ ปกติ
ท่านอาจารย์ ปกติ คือเดี๋ยวนี้ เป็นอย่างไร ก็คือสภาพธรรมเกิดแล้วเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวนี้เห็น เห็นเป็นปกติหรือเปล่า ใครทำให้เห็นเกิด ทำได้ไหม ไม่ได้ เป็นปกติ เมื่อมีปัจจัยก็เห็น ได้ยินในขณะนี้เป็นปกติ ต้องไปทำอะไรหรือเปล่า ขณะนี้นั่งเป็นปกติ ต้องมาทำอะไรอีกหรือเปล่า คือ ขณะใดที่เป็นปกติจริงๆ ขณะนั้นคือสามารถรู้ความจริงว่าทุกอย่างที่มีในขณะนั้น เป็นธรรมที่เกิดแล้วเพราะเหตุปัจจัย เป็นสังขตธรรม เป็นธรรมที่ปัจจัยปรุงแต่งแล้วเกิด ถ้าไม่เกิดก็ไม่ปรากฏ เกิดแล้วก็ดับด้วย ก็เป็นปกติ ไม่ต้องทำอะไรเลย ใครจะทำอะไรได้ ลองคิดถึงสิ ทำจิตได้ไหม ทำเจตสิกได้ไหม ทำรูปได้ไหม แต่เป็นความเข้าใจผิดว่าทำ หรือเราทำ เพราะขณะนั้นไม่รู้ว่า เป็นธรรมที่เกิดเมื่อมีปัจจัยตามปกติ
ผู้ฟัง ท่านเปรียบเทียบไว้ใน มหาสติปัฏฐานสูตร การทำลายตัวตน โดยนัยของพระสูตร ท่านอุปมาไว้ว่า คนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโค เมื่อจับโคมาได้ ก็บอกว่าโค จูงไปสู่ที่จะฆ่า ก็โค จูงไปจนถึงที่ฆ่าแล้ว ก็เป็นโคอีก ฆ่าโคตายแล้ว ก็ยังเป็นโคอยู่ สัญญา ความจำ ความคิดนึก มันยังอยู่ มันยังเป็นโคอยู่ พอแล่หนังออก เอาเนื้อออกเป็นชิ้นๆ กระดูกก็ตัดเป็นชิ้นๆ ความรู้สึกของคนธรรมดา รู้สึกว่าไม่มีโค ใครก็เห็นว่าโคไม่มี ถามว่าเนื้อเป็นชิ้นๆ โคหรือเปล่า เขาก็บอกว่าไม่ใช่โค หนังที่เป็นแผ่นที่ลอกออกมาแล้ว โคหรือเปล่า ความรู้สึกเขาก็บอกว่าไม่ใช่โค ความรู้สึกที่เราเข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงก็ต้องอย่างนี้ ต้องให้รู้สึกว่า ธรรมที่ปรากฏที่เราระลึกรู้ มันเป็นธรรมจริงๆ ไม่ใช่เรา ไม่มีเรา เหมือนไม่มีโค กระจายออกไปแล้ว มันไม่มีโค มีแต่ชิ้นเนื้อ เป็นชิ้นๆ มีกระดูกเป็นท่อนๆ อะไรต่ออะไรไปอย่างนี้ นี่ท่านอุปมาให้ฟัง การเข้าใจธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริงก็อย่างนี้ เข้าใจก็ต้องเป็นอย่างนี้ เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว ความรู้สึกว่าเป็นอัตตาตัวตน มันจะหมด มันจะไม่มี มันจะทำลายไป โดยที่ความเข้าใจ มันจะเกิดว่า อย่างนี้ จริงอย่างนี้ มันเป็นจริงอย่างนี้
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พูดถึงการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคว่า ขณะที่ตรัสรู้ไม่มีคำ ซึ่งจริงๆ คงจะไม่มีคำ แต่ว่าการศึกษาของเรา เราศึกษาเป็นเรื่อง เป็นคำ เป็นอะไรทุกอย่าง ตอนที่ศึกษาใหม่ๆ จริงๆ รู้สึกว่า เวลาโลภะเกิด คือรู้สึกว่า จะต้องโลภะ เพราะว่ามันเป็นความรู้สึกว่า กลัวว่ามันจะไม่ใช่โลภะ ประมาณนี้ ซึ่งตอนนี้เริ่มจะเข้าใจว่า ไม่จำเป็นต้องมีคำ มีอะไรเลย แต่ว่าก็ไม่ทราบว่า ลักษณะของสติจริงๆ จะเป็นอย่างไรก็ต่างกับปกติ อย่างนี้อย่างไร
ท่านอาจารย์ ขณะนี้คุณวาณีรู้สึกแข็งตรงไหนบ้าง ไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ ต้องเรียกไหมว่า แข็ง
ผู้ฟัง ไม่เรียกเลย
ท่านอาจารย์ แต่ว่าสามารถจะรู้ได้ โดยไม่ต้องเรียก เพราะว่ามีลักษณะนั้นปรากฏให้ค่อยๆ เข้าใจถูก แต่ว่าเราคุ้นเคยกับความคิดมานานแสนนาน แล้วก็ธรรมไม่ใช่ว่าบังคับ เป็นอนัตตา บ่งอยู่แล้วว่า ไม่มีใครสามารถบังคับบัญชาได้ บังคับไม่ให้คิดได้ไหม ไม่ได้ แต่ก่อนนี้พอโลภะเกิด คุณวาณีจะคิดอย่างอื่น แต่ว่าเวลาที่ได้ฟังธรรมพอสมควร พอโลภะเกิดก็เกิดคิดชื่อว่า นี่โลภะ ใช่ไหม มีใครบังคับให้คิดอย่างนั้นหรือเปล่า แม้แต่ความคิดก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
การที่จะละความเป็นตัวตน ต้องละแม้แต่คิด ก็รู้ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ใช่ห้ามไม่ให้คิด ไม่มีใครเลยที่จะห้ามอะไรได้ ห้ามไม่ให้เห็น ห้ามไม่ให้ได้ยิน ห้ามไม่ให้ได้กลิ่น ห้ามไม่ให้ลิ้มรส ห้ามไม่ให้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ห้ามไม่ให้คิด ใครห้ามได้ เมื่อมีปัจจัยก็เกิด
การศึกษาต้องตรงตั้งแต่ขั้นได้ยินได้ฟัง ความเป็นอนัตตา ทุกอย่างปรากฏเมื่อเกิดขึ้น เมื่อมีเหตุปัจจัย แม้แต่ความคิดก็จริง แต่เรื่องที่คิดไม่จริง เพราะเหตุว่าไม่ใช่สภาพธรรมที่เกิดดับ ถ้าจิตไม่คิด เรื่องราวขณะที่จิตคิดก็ไม่มี เพราะว่าขณะนั้น เรื่องราวเป็นอารมณ์ของจิตที่คิด จะคิดเรื่องอะไรก็ได้ อย่างฝัน เราก็ฝันได้ทุกเรื่องเลย ฝันจริงหรือเปล่า ฝันว่าได้เงินได้ทอง แล้วได้จริงๆ หรือเปล่า ไม่ได้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ความคิดจะคิดอะไรก็ได้ เป็นเรื่องที่จิตคิดเท่านั้น แต่ไม่ใช่สภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่เกิดดับ แต่ว่าจิตเป็นสภาพธรรมที่มีจริงแล้วคิดคำใดก็ดับ พอคิดอีกก็ดับอีก คิดอีกก็ดับอีกทุกคำ เพราะฉะนั้น การจะละความเป็นเราได้ ก็ต้องทั้งทั้ง ๖ ทาง
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์หมายถึงว่า คือเราจะต้องตรงต่อความจริงในขณะนั้นเท่านั้น
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นผู้ไม่ตรง จะไม่ได้สาระจากพระธรรมเลย แม้ในขั้นการฟัง
ผู้ฟัง เรื่องความจริงที่อาจารย์ยกตัวอย่างเมื่อกี้นี้ แข็ง ต้องใส่ชื่อไหม ไม่ต้องใส่ มันก็แข็ง อย่างตอนที่พระพุทธองค์ท่านพิจารณาปฏิจจสมุปบาท ตอนนั้นพระธรรม ๘๔,๐๐๐ ธรรมขันธ์ยังไม่มี แต่พระพุทธเจ้าท่านรู้ลักษณะ ท่านรู้ว่า ความไม่รู้ทำให้เกิดการปรุงแต่ง สังขารทำให้เกิดต่อไปเป็น ปฏิจจสมุปบาท ท่านไม่มีชื่อ ขณะนั้นไม่มี แต่ท่าน รู้ลักษณะว่า สิ่งนี้เกิดทำให้สิ่งนี้เกิด สิ่งนี้เกิด ท่านรู้ลักษณะหมดเลย แต่ขณะนั้นไม่มีชื่อ ต้องระลึกรู้ในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จึงจะรู้จักต้นเต่ารั้งจริงๆ
ท่านอาจารย์ พอได้ยินคำว่า เต่ารั้ง ไม่ทราบว่ามีใครเคยเห็นกี่คน หรือรู้จักต้นเต่ารั้งกี่คน คงจะน้อยมากเลย
ผู้ฟัง ผมก็ไม่เคยเห็น
ท่านอาจารย์ เวลาที่ได้ยินคำนี้แล้ว อยากจะไปหาต้นเต่ารั้งหรือเปล่า อยากจะไปรู้ว่าต้นเต่ารั้งเป็นอย่างไร หรือว่าพออ่านก็รู้ว่าที่ตัวคือต้นเต่ารั้ง เพราะว่าอกุศลทั้งหลายที่เกิดไม่ได้ทำลายต้นเต่ารั้ง ถ้าคิดว่าเป็นต้นเต่ารั้ง แต่อกุศลธรรมที่เกิด ทำลายตน บุคคลผู้มีอกุศลนั้นเอง เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็นเพียงคำอุปมา แม้ไม่เห็นต้นเต่ารั้ง รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร แต่จากคำอุปมาก็ทราบได้เลยว่า อุปมาให้รู้ว่า ทุกคนก็เหมือนกับต้นเต่ารั้ง ซึ่งผลเกิดแล้วก็ทำลายต้นนั้น ฉันใด เวลาที่อกุศลธรรมทั้งหลาย เกิดกับบุคคลใดก็ย่อมทำลายบุคคลนั้นเอง ไม่ต้องเห็นต้นเต่ารั้งก็รู้ได้ ใช่ไหม หรือต้องไปเจอต้นเต่ารั้ง เสียก่อนถึงจะรู้ได้
ผู้ฟัง ก็ไม่ต้องไปหาต้นเต่ารั้งอย่างที่ท่านอาจารย์พูด พระพุทธเจ้าท่านอุปมาไว้
ผู้ฟัง แต่คำอุปมาไม่เห็นต้นเต่ารั้ง แต่เวลาโลภะ เกิด โทสะเกิด โมหะเกิด นี่ต้องรู้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่รู้ก็เป็นอวิชชา
ผู้ฟัง ต้นเต่ารั้งไม่รู้ไม่เป็นไร แต่โลภะเกิดต้องรู้ โทสะเกิดต้องรู้ โมหะเกิดต้องรู้ ถ้าไม่รู้ก็เป็นอวิชชา
ผู้ฟัง พระพุทธเจ้าเปรียบเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์ พระธรรมเปรียบเหมือนขุมทรัพย์ พระสงฆ์เปรียบเหมือนชนผู้ได้ขุมทรัพย์ อีกนัยหนึ่งคำถามที่จะถาม คือ พระธรรมเปรียบเหมือนขุมทรัพย์ คืออะไร
ท่านอาจารย์ ทรัพย์ที่ประเสริฐยิ่งกว่าทรัพย์อื่นใด คือ ความเห็นถูก ความเข้าใจถูก หรือปัญญานั่นเอง เพราะว่าถึงแม้ว่าเราจะมีทรัพย์อื่น ก็ไม่สามารถที่จะพ้นจากความทุกข์ได้ อาจจะเป็นห่วงแล้วก็ยิ่งมีทรัพย์มาก ก็ยิ่งทุกข์มากก็ได้ แต่ว่าถ้ามีปัญญามีความเห็นที่ถูกต้อง ก็จะทำให้ละคลายอกุศล ค่อยๆ หมดไปจนกระทั่งไม่เกิดอีกเลยได้
ผู้ฟัง อันนั้นคือสุดยอดของขุมทรัพย์ที่เราเรียนพระธรรม แต่กว่าเขาจะเป็นขุมทรัพย์ อันนี้ซึ่งเราใฝ่หาด้วยฉันทะ ไม่ใช่ด้วยโลภะ รู้สึกว่ามันยาก แล้วมันใช้เวลามากเหลือเกิน ก่อนที่จะถึงปัญญา ดิฉันอยากจะรู้จักพระธรรมตัวหนึ่ง ที่เรียกว่า ศรัทธา เพราะว่าทุกคนที่มานั่งในที่นี้ ต้องมีศรัทธามาตั้งแต่บ้านแล้ว ไม่อย่างนั้นก็คงไม่มานั่ง แต่ว่าอยากจะเรียนถามอาจารย์ว่า จิตนี้เกิดดับทุกขณะ ศรัทธาคงจะไม่เกิดติดต่อกันทุกขณะ คงจะมีหนึ่งขณะที่เป็นศรัทธา อีกหนึ่งขณะที่อาจจะไม่มีศรัทธา นี่คือรู้จักสภาพธรรมที่ตัวเองรู้สึกอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ทำไมบางครั้งเราก็อยากจะฟังธรรม บางครั้งเบื่อ ในขณะเบื่อ อกุศลจิตเกิด ศรัทธาไม่เกิดแล้ว ศรัทธาเขาไม่ได้เกิดตลอดไป แต่การที่จะฟังธรรม ก็ต้อง มีศรัทธาก่อน
ท่านอาจารย์ ทุกคนมีกุศลมาก หรืออกุศลมาก
ผู้ฟัง อกุศล
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น อยากฟังธรรมมาก หรืออยากสนุกสนานมาก
ผู้ฟัง ที่ดิฉันพูด หมายความว่าทุกคนตั้งใจมาในที่นี้ ต้องมีศรัทธาก่อนแน่ๆ แต่ต้องยอมรับว่าในขณะที่มาฟัง บางทีก็ไม่อยากฟัง บางทีก็อยากฟัง อันนั้นในขณะที่ไม่อยากฟัง อกุศลจิตเกิดแล้ว ศรัทธาไม่มีแล้ว
ท่านอาจารย์ เพราะว่าศรัทธา เกิดกับอกุศลจิตไม่ได้
ผู้ฟัง ไม่ได้ ใช่ แต่คำถามของดิฉันก็คือว่า เขาไม่ได้เกิดตลอด แต่เหตุใดเราถึงได้ใฝ่หาธรรมอยู่ตลอด เกือบจะว่าตลอดชีวิตของเราที่ก่อนจะจากโลกนี้ไป มีความรู้สึกอย่างนั้น แต่มันค้านว่า ศรัทธาเขาไม่ได้เกิดตลอด แต่มันเกิดๆ ดับๆ
ท่านอาจารย์ เพราะว่าเราไม่ได้มีกุศลอย่างเดียว เราก็มีอกุศลด้วย
ผู้ฟัง ต้องมีปัจจัยหลายอย่างด้วย ใช่ไหม นอกจากสุขภาพของผู้นั้นเอง หรือว่าผู้แสดง หรือว่าสถานที่ ทำอย่างไรศรัทธาถึงจะมีกำลัง รู้สึกว่ากำลังมันน้อยเหลือเกิน แต่ก็อยากเรียนธรรม เป็นบางครั้งบางคราว อันนี้ คือ ปัญหา
ท่านอาจารย์ ทุกคนเหมือนกันหมด
ผู้ฟัง จาคะนี้ก็เป็นทรัพย์อีกตัวหนึ่งเหมือนกัน มันจะต่างกับทานอย่างไร
ท่านอาจารย์ เป็นการสละกิเลส
ผู้ฟัง ทานก็สละนะ ในขณะที่เราให้ เราไม่มีความตระหนี่
ท่านอาจารย์ แต่หวังอะไรหรือเปล่า การให้เพื่อวัฏฏะ หรือ เพื่อวิวัฏฏะ
ผู้ฟัง เพื่อวิวัฏฏะ
ท่านอาจารย์ ถ้าเพื่อวิวัฏฏะ ก็ไม่ได้หวังอะไรในเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส หรือภพชาติ
ผู้ฟัง แต่ก็ยัง เดิมอีกนั้นแหละ มันเกิดขณะจิต
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องตรง คือขณะใดที่อกุศลเกิดก็เป็นอกุศล จะไปเปลี่ยนอกุศลที่เกิดให้เป็นกุศลไม่ได้ ให้รู้ความจริงว่า ไม่มีใครอยากมีอกุศลเลย แต่เมื่อมีปัจจัย อกุศลก็เกิด เป็นของธรรมดาของปัจจัย เมื่อมีก็ต้องเกิด
ผู้ฟัง แต่มันก็ต้องมีกำลังอีก ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ค่อยๆ สะสมไป เท่านั้น
ผู้ฟัง จาคะมันยาก จะออกวัฏฏะ ในขณะที่ให้ จิตเป็นกุศล ในขณะนั้นไม่ใช่เรา ในขณะที่จิตเป็นกุศล เราให้จริงๆ คือสภาพจิตตอนนั้นเขาทำงานของเขา จิตจึงเป็นกุศล ถ้าเราทำแล้ว เราจะเป็นโลภะทันที แต่หลังจากที่ดับไปแล้ว มันจะเป็นเราทันที มันสลับกัน
ท่านอาจารย์ จนกว่าจะหมดความเป็นเรา
ผู้ฟัง ขณะนี้ ผมกำลังได้ยินเสียง แล้วรู้ด้วยว่าเสียงนั้นเป็นเสียงอะไร รู้ความหมายว่า ใครพูด แต่ว่าเท่าที่ฟังผมก็รู้ว่า ขณะที่รู้ว่าเสียงเป็นรูป แต่ว่าขณะที่ได้ยินรู้ว่า มันเป็นนาม แต่เป็นนามธรรม แต่ว่าผมก็ไม่เข้าใจโดยละเอียดว่า ที่จะให้เข้าใจว่า เป็นธรรม อย่างที่ท่านอาจารย์พูด มันเป็นอย่างไร คือต้องการความละเอียด หรือขยายความให้ผมเข้าใจบ้าง
ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นความตรง คือขณะนี้เราเพียงได้ยินคำว่า นาม ได้ยินคำนี้ แล้วรู้ว่าไม่ใช่รูป เพราะเหตุว่าต่างกันมาก รูปไม่สามารถที่จะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น แต่ว่ามีสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมองไม่เห็นเลย ไม่มีรูปร่างสัณฐาน แต่เป็นสภาพธรรม ที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏให้รู้ เช่นในขณะนี้ ถ้าเราจะลืมอย่างอื่นหมดเลย เห็น มีแน่นอน ไม่ต้องคิดถึงรูป ไม่ต้องคิดถึงเรา ไม่ต้องคิดถึงอะไรเลย แต่ธาตุชนิดนี้สามารถ ขณะนี้ ที่กำลังเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือในขณะนี้ก็เป็นธาตุที่เกิดขึ้นได้ยินเสียง แล้วก็ดับ มีปัจจัยที่จะให้เกิดได้ยิน เพราะเป็นสภาพรู้ ก็ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด จะรู้สิ่งที่ปรากฏทางตาคือเห็นในขณะนี้ หรือว่าจะได้ยินเสียง รู้เสียง ลักษณะของเสียงก็ต่างๆ กัน
เพราะฉะนั้น สภาพรู้นั้นสามารถที่จะรู้ความต่างของเสียง คือรู้แจ้งในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ จะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ก็มีกลิ่นหลายกลิ่น แล้วธาตุนี้ก็สามารถที่จะรู้ทุกกลิ่นที่กระทบกับฆานปสาท หรือรูปที่สามารถกระทบกลิ่นได้ ทางลิ้นซึ่งทุกคนก็เพิ่งจะผ่านการรับประทานอาหารมา ขณะที่กำลังรับประทาน รสต้องปรากฏแน่นอน แล้วก็มีสภาพที่รู้รส คือ ลิ้มรสที่หวาน ลิ้มรสที่เปรี่ยว ที่เค็มต่างๆ ขณะนั้น ซึ่งรสก็ไม่ได้มีรูปร่างสัณฐานใดๆ ปรากฏเลย แต่ธาตุชนิดนี้สามารถลิ้มลักษณะของรส ที่กำลังปรากฏเมื่อกระทบกับลิ้น นี่ก็เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งทางกายในขณะนี้ก็มีธาตุรู้ซึ่งกำลังรู้สิ่งที่กระทบกาย
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 301
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 302
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 303
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 304
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 305
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 306
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 307
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 308
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 309
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 310
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 311
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 312
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 313
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 314
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 315
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 316
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 317
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 318
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 319
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 320
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 321
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 322
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 323
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 324
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 325
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 326
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 327
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 328
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 329
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 330
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 331
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 332
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 333
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 334
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 335
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 336 ***
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 337
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 338
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 339
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 340
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 341
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 342
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 343
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 344
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 345
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 346
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 347
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 348
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 349
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 350
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 351
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 352
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 353
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 354
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 355
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 356
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 357
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 358
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 359
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 360