ปกิณณกธรรม ตอนที่ 321
ตอนที่ ๓๒๑
สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า
พ.ศ. ๒๕๔๖
ท่านอาจารย์ นี่ก็เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งทางกายในขณะนี้ก็มีธาตุรู้ซึ่งกำลังรู้สิ่งที่กระทบกาย และถึงแม้ว่าจะไม่มีสิ่งที่กระทบตา หู จมูก ลิ้น กาย ธาตุนี้ก็คิดนึกได้ แล้วก็เป็นสุข เป็นทุกข์ต่างๆ
เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยสืบต่อกัน ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งถึงขณะที่ตาย ไม่ขาดไปเลย สภาพรู้เกิดขึ้น ทั้งวันที่ทุกสิ่งทุกอย่างปรากฏ ถ้าย้อนกลับไปว่าปรากฏกับอะไร ถ้าไม่มีสภาพรู้ สิ่งต่างๆ ในวันนี้จะปรากฏเลยไม่ได้เลยสักอย่างเดียว แต่เวลาที่สิ่งต่างๆ ปรากฏ ลืมว่าต้องมีสภาพรู้หรือธาตุรู้
การที่เราจะเข้าใจลักษณะรู้ หรือธาตุรู้ โดยการฟัง แล้วก็พิจารณา จากขณะที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนี้ เช่นในขณะนี้ที่กำลังเห็น เห็นมีจริง แต่ปัญญาไม่สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของธาตุซึ่งกำลังเห็น โดยสภาพที่เป็นความรู้ ซึ่งไม่มีเรา ไม่มีตัวตนเลย เพราะเหตุว่าปัญญาไม่ถึงระดับ ที่จะประจักษ์แจ้งในสภาพของธาตุนั้น แต่รู้ว่าการที่เราได้ยินได้ฟังอย่างนี้ เพราะว่ามีผู้ที่ประจักษ์ลักษณะของสภาพนี้ จึงสามารถที่จะแสดงลักษณะของธรรมนี้ให้คนอื่นสามารถที่จะฟัง แล้วก็พิจารณาแล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นได้ จนกระทั่งถึงสามารถที่จะประจักษ์แจ้งได้ ซึ่งขณะที่ประจักษ์แจ้งเมื่อไร ก็เป็นการรู้อริยสัจธรรม เป็นธรรมที่มีจริงซึ่งพระอริยบุคคลสามารถที่จะรู้ได้
เพราะฉะนั้น จากความไม่รู้ ก็ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วจนกระทั่งค่อยๆ รู้ว่า ขณะใดจะเป็นขณะที่ปัญญาสามารถที่จะรู้ลักษณะ ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องราว เช่นขณะนี้ เป็นลักษณะของสภาพธรรมทั้งหมดเลย เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป แต่ว่าเพียงฟังเรื่องราวของจิต เจตสิก รูป ทั้งๆ ที่ในขณะนี้จิต เจตสิก รูปก็กำลังเกิดกำลังดับ ไม่ได้หนีไปไหนเลย ยังอยู่ มี เกิดขึ้นตลอดเวลากับทุกคน แต่ว่าอวิชชาไม่ใช่สภาพที่สามารถจะรู้ความจริงของสิ่งใดๆ ได้เลย ธรรมที่สามารถจะรู้ได้ ธรรมนั้นก็คือปัญญา
เราก็เริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่จิต แต่ว่าเป็นเจตสิก คือเป็นสภาพธรรมที่เกิดกับจิต เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้พอฟังก็เข้าใจลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม ๒ อย่าง คือ จิตกับเจตสิก ทั้งหมดจะต้องค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ จนกว่าจะเข้าใจขึ้น ละเอียดขึ้น จึงจะทำให้สามารถระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่เราไม่ใช่เพียงกำลังฟังเรื่องราวของสภาพธรรม ที่กำลังเกิดดับจริงๆ แต่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพนั้นๆ ทีละลักษณะได้จนกว่าจะรู้ชัด
ผู้ฟัง ข้อที่ ๒. ฟังเมื่อตอนเช้า ท่านอาจารย์ได้กล่าวไว้ว่า จะไปละกิเลสโดยไม่รู้อะไรเลย คำว่า ไม่รู้อะไรเลย ไม่ทราบว่า จะต้องศีกษาอะไรบ้าง ถึงจะรู้ว่าอย่างนั้น
ท่านอาจารย์ รู้สิ่งที่มีจริง
ผู้ฟัง รู้สิ่งที่มีจริง
ท่านอาจารย์ สิ่งที่มีจริง มีจริงในขณะไหน ต้องทราบอีก ในขณะที่ปรากฏ สิ่งที่ดับไปแล้วจะไม่กลับมาอีกเลย สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น ยังไม่มาถึง ก็ไม่สามารถที่จะแสดงลักษณะ ความจริงของสิ่งนั้นได้ เพราะว่ายังไม่ได้เกิด ใครจะไปรู้แจ้งในสิ่งที่ยังไม่ได้เกิดไม่ได้ แต่สิ่งใดที่กำลังปรากฏ สิ่งนั้นเกิดแล้ว มีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว จึงได้เกิดปรากฏในขณะนี้ แต่ว่าความจริงของสิ่งที่เกิดปรากฏดับเร็วมาก แต่ว่าเกิดสืบต่อกันจนไม่ปรากฏการดับ
เพราะฉะนั้น จึงมีการเปรียบเทียบว่า จิตเหมือนกับนายมายากล สามารถที่จะทำให้มองเห็นเป็นสิ่ง ต่างๆ ทั้งๆ ที่ความจริงเป็นสิ่งที่เพียงเกิดชั่วขณะที่แสนสั้นแล้วดับ ทั้งสิ่งที่ปรากฏทางตา และจิตเห็น ทั้งเสียงที่กำลังปรากฏทางหู และจิตได้ยิน ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม ทั้ง ๒ อย่างเกิดดับเร็วมาก แต่ว่ารูปธรรมมีอายุมากกว่าจิต ยาวกว่าจิต คือ รูปที่เกิดจะดับเมื่อจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ ขณะจิตเร็วมาก ไม่สามารถที่จะเปรียบเทียบกับอะไรได้เลย เพราะขณะนี้จิตเห็นคนละขณะกับจิตได้ยิน แต่ถ้าไม่ได้ศึกษาก็เสมือนว่าเกิดพร้อมกัน ไม่มีใครสามารถแยกเห็นกับได้ยินในขณะนี้ได้ ถ้าไม่ใช่ปัญญาที่สมบูรณ์ถึงระดับที่สามารถจะประจักษ์การเกิดขึ้นของสภาพธรรมแล้วก็ดับไป แล้วก็รู้ว่าสภาพธรรมอื่นก็เกิดดับสืบต่อ แต่ว่าในขณะนี้เพราะสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้น เหมือนกับว่าพร้อมกัน แต่ความจริงระหว่างเห็นกับได้ยิน มีจิตเกิดดับเกิน ๑๗ ขณะ
รูปที่กำลังปรากฏ ดับแล้ว เพราะมีเห็นกับได้ยินสลับกัน โดยที่รูปที่เกิดก็ดับในระหว่างนั้นด้วย สภาพธรรมจริงๆ เป็นสิ่งที่มีจริง แล้วก็เป็นธรรม ไม่มีเจ้าของ ไม่มีใครสร้าง ไม่มีใครบันดาลได้เลย แต่ว่ามีปัจจัยเกิดขึ้น ทำหน้าที่ของสภาพธรรมนั้นๆ แล้วก็ดับไป ทุกภพทุกชาติก็เป็นอย่างนี้ ชาตินี้ขณะเมื่อกี้ก็ไม่เหลือเลย แล้วขณะที่กำลังมองเห็นขณะนี้ก็กำลังดับอยู่เรื่อยๆ ไป เพราะฉะนั้น ทุกอย่าง ซึ่งเหมือนกับว่า เป็นของเรา มีเราเป็นเจ้าของ แต่ความจริงคือไม่มีอะไรเหลือเลยสักขณะเดียว
ผู้ฟัง อยากจะให้อธิบาย ตรงที่ว่า เมื่อบังเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ คำว่าเกิดขึ้นภายใน ก็คงจะไม่พ้นเรื่องของจิต เจตสิก ก็ยังไม่เข้าใจ ต้องขอคำขยาย
ท่านอาจารย์ จิตเป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ แล้วก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย อะไรเป็นภายในระหว่างจิตกับเจตสิก อาจจะต้องคิดนิดหน่อย ในที่สุดยิ่งกว่าอื่น คือ จิต เพราะว่าบางจิต มีเจตสิกชนิดนี้เกิดร่วมด้วย บางจิตมีเจตสิกอีกชนิดหนึ่งเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น สภาพของจิต โดยธรรมที่ใช้คำว่า หทัย ที่อยู่ใน หมายความถึงที่เป็นภายใน เป็นสภาพในที่สุด คือ ตัวจิต แล้วก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วแต่ว่าจะเป็นเจตสิกชนิดใด จิตเป็นสภาพที่ เฉพาะจิต จะกล่าวว่าเป็นกุศล หรืออกุศลไม่ได้ แต่ว่าเจตสิกที่เป็นฝ่ายดีเกิดร่วมด้วย จิตจึงเป็นกุศล เจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดีงาม ให้โทษเป็นอกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตขณะนั้นก็เป็นอกุศล
ลักษณะของจิตเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ แต่ไม่ใช่กุศลหรืออกุศล อกุศลต่อเมื่อมีเจตสิกฝ่ายไม่ดีเกิดร่วมด้วย และกุศลต่อเมื่อมีเจตสิกฝ่ายดีเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ที่ว่าป็นภายใน คือในจิตของแต่ละจิตนั่นเอง
ผู้ฟัง แสดงว่าเป็นเรื่องของเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกับจิต
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
ผู้ฟัง ถ้าเผื่อจิตไม่อยาก มันก็คงไม่ยืน ไม่นั่ง เหมือนเราเดินเข้าส้วม กลิ่นเหม็น เราวิ่งหนีทันที มันก็เป็นจิตสั่งให้เราวิ่งหนี อยู่เหมือนกัน อะไรอย่างนี้เป็นต้น ยิ่งพูดไปผมก็ยิ่งเลอะไปใหญ่ เพราะว่ามันต่อเนื่องกันหมด
ท่านอาจารย์ การศึกษาธรรม ต้องเป็นผู้ที่ตรงตั้งแต่แรก ถ้ารู้เข้าใจถูกต้องว่า จิตเป็นสภาพรู้ ต้องมีความมั่นคงว่า จิตเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่จิตกำลังรู้ ซึ่งสิ่งที่ถูกรู้ ภาษาบาลีใช้คำว่า อารัมมณะ หรืออาลัมพนะ หมายความถึง อารมณ์ เพราะฉะนั้น จะทิ้งคำนี้ไม่ได้เลย จริงอยู่ มีรูปซึ่งเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน แน่นอน เพราะว่าที่ร่างกายมีรูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน ส่วนหนึ่ง กลุ่มหนึ่ง แต่ละกลุ่ม ถ้ากลุ่มไหนเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน กลุ่มนั้นก็มีกรรมเป็นปัจจัย ที่จะทำให้รูปนั้นเกิด ส่วนกลุ่มอื่นที่ไม่ใช่กลุ่มที่เกิดขึ้นเพราะกรรม ก็มีจิตเป็นสมุฏฐานได้ ถ้ารูปใดเกิดเพราะจิตเป็นสมุฏฐาน รูปนั้นไม่ได้เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน หรือสมุฏฐานอื่น เพราะฉะนั้น แต่ละกลุ่มของรูปก็มีสมุฏฐาน คือ ธรรมที่ก่อตั้งให้รูปนั้นเกิด เช่น จักขุปสาทที่เกิด เกิดเพราะกรรมเป็นสมุฏฐาน เราไม่สามารถที่จะเข้าใจได้เลย ว่าทำไมรูปนี้เกิดขึ้น เป็นรูปที่สามารถกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ในเมื่อรูปอื่นไม่สามารถจะกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตาเลย เช่น โสตปสาทรูป ไม่สามารถจะกระทบกับสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่สามารถกระทบเสียง เพราะฉะนั้น แต่ละรูปต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้อง สำหรับจิตตชรูป เกิดพร้อมจิต จะใช้คำว่าจิตสั่งไม่ได้เลย เพราะว่าทันทีที่จิตเกิด ขณะที่จิตเกิดนั่นเองเป็นปัจจัยให้รูปเกิดด้วย แล้วแต่ว่าจิตนั้นเป็นจิตประเภทใด ก็แล้วแต่ แต่ก็จะทันสั่งไหม พร้อมกัน เกิดพร้อมกัน แล้วก็จิตก็เป็นสภาพรู้ เช่น ในขณะที่กำลัง เห็น เฉพาะจักขุวิญญาณ ไม่มีจิตตชรูปเกิด จักขุวิญญาณไม่สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้ จิตตชรูปเกิดได้ เพราะว่าเป็นการประจวบกันของรูป คือ จักขุปสาท และสิ่งที่ปรากฏ ทำให้ทำกิจเห็นเกิดขึ้น แต่ว่าหลังจากที่จักขุวิญญาณดับ จิตที่เกิดต่อเป็นปัจจัยให้จิตตชรูปเกิด โดยที่ว่าใครไปนึกอะไรในขณะนั้น ในขณะที่กำลังมีรูปเป็นอารมณ์ ไม่ได้สั่งอะไรเลย
การศึกษาธรรม ต้องตรงตัวตามความจริงของสภาพธรรมนั้นว่า เมื่อจิตเป็นสภาพรู้ เปลี่ยนไม่ได้เลย จะต้องรู้ เกิดขึ้นต้องรู้ รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ปรากฏให้รู้
การที่เราฟังธรรม แล้วเราจะคิดตามเผินๆ จะทำให้เราเข้าใจผิด แต่ถ้าเราคิดละเอียดประกอบกับส่วนอื่นๆ ของพระไตรปิฎก กับสภาพธรรมตามความเป็นจริง จะทำให้เราเข้าใจขึ้น เช่น ในขณะที่หลับสนิท กายของเราที่เรายึดถือว่าเป็นกาย ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าปรากฏหรือเปล่า กายของเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ตอนยังไม่หลับเป็นกายของเราทั้งตัวเลย ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ทันทีที่หลับ กายที่ว่าเป็นของเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าปรากฏหรือเปล่า
ผู้ฟัง ปรากฏ
ท่านอาจารย์ กำลังหลับสนิท กายของเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ปรากฏหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ปรากฏ
ท่านอาจารย์ ไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น จะมีกายปรากฏเมื่อไร ต้องมีทางที่จิตจะเกิดขึ้นรู้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็จะมีการรู้ได้ ใช่ไหม ขณะนอนหลับสนิท มีตาจริง มีหูจริง มีจมูกจริง มีลิ้น มีกาย กายปสาทซึมซาบอยู่ แต่ขณะที่หลับสนิทไม่ได้รู้ลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน หรือสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือเสียงที่ปรากฏทางหูใดๆ เลยทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น การที่จิตจะเกิดขึ้นสามารถรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด คือสามารถเห็นได้ ต้องอาศัยทวารคือทาง ได้แก่รูป เช่น ถ้าปราศจากจักขุปสาท จิตเห็นจะเกิดไม่ได้ แม้ว่าตื่นก็ไม่เห็น ถ้าปราศจากโสตปสาทรูป แม้ว่าไม่หลับ ก็ไม่ได้ยินเสียง เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่า มีเรา หรือรูป รู้ตามความเป็นจริงของรูป ซึ่งเคยยึดถือว่า เป็นเรา ถ้าไม่มีกายปสาท จะกระทบ จะรู้รูปที่ตัวได้ไหมว่าเป็นอย่างไร
ผู้ฟัง ไม่รู้
ท่านอาจารย์ การที่จะบอกว่า เราสามารถจะรู้ลักษณะของสิ่งที่เราเคยยึดถือว่า เป็นรูปของเรา ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ก็ต่อเมื่อกระทบ แล้วความทรงจำของเรา สามารถที่จะทรงจำว่า เรากระทบศีรษะ ทั้งๆ ที่ศีรษะก็แข็ง หรือเรากระทบข้อศอก ทั้งๆ ที่ข้อศอกก็แข็ง ลักษณะที่มีจริงๆ คือลักษณะที่แข็งตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า แต่เรายึดถือรูปที่แข็ง ที่อ่อน ที่ร้อน ที่เย็น ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าว่า เป็นเรา
การที่จะละการยึดถือว่ามีเรา หรือว่ามีรูปที่นั่งตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า คือโดยการรู้ความจริงว่า รูปจริงๆ ที่คิดว่ามี หรือหลงว่าเป็นเรา ปรากฏเมื่อมีการกระทบกาย เป็นรูปที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อนเท่านั้นจริงๆ ขณะที่กำลังรู้สิ่งที่กำลังกระทบ ที่อ่อนหรือแข็งที่กาย ท่านั่ง ท่านอน ท่ายืน ท่าเดิน หรือว่ารูปที่เราคิดว่าเป็นเรานั่ง เรานอน เรายืน เราเดิน ปรากฏหรือเปล่า
ผู้ฟัง ถ้าหลับก็ไม่ปรากฏ
ท่านอาจารย์ ถ้ากำลังมีแข็งกำลังปรากฏที่ส่วนหนึ่งส่วนใด เฉพาะส่วนนั้นจะปรากฏทั่วตัวทันทีไม่ได้เลย เวลานี้แข็งปรากฏทั่วตัวทันทีหรือเปล่า หรือเฉพาะส่วนหนึ่งส่วนใดที่ปรากฏ
ผู้ฟัง เฉพาะส่วนหนึ่งส่วนใด
ท่านอาจารย์ ในเมื่อส่วนที่ปรากฏเคยยึดถือตรงนั้นว่าเป็นเรา แต่ลักษณะที่แท้จริง คือ เย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหวเท่านั้น นั่นก็คือสามารถจะรู้ความจริงว่า แท้ที่จริง รูปที่เรายึดถือว่าเป็นเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เป็นเพียงอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว เท่านั้นเอง จึงจะละการเป็นเรา หรือการยึดถือรูปนั้นๆ ว่าเป็นเราได้
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น ทำไมถึงเอาเรื่องนี้มาพูดใน มหาสติปัฏฐาน กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรืออิริยาบถบรรพ
ท่านอาจารย์ เพราะว่าเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ถ้าแตกย่อยเป็นรูปกลาปเล็กๆ ที่สุด มีอากาศธาตุแทรกอยู่ เป็นผมหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่
ท่านอาจารย์ จะเป็นผมได้ไหม เล็กที่สุด ผมเราจะติดให้สั้นให้ละเอียดอย่างไรก็ได้ พอแยกย่อยออกมา เพราะเหตุว่ามีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ ส่วนที่เล็กเหลือเกิน จนกระทั่งแยกอีกไม่ได้แล้ว ยังจะเป็นผมหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่เป็น
ท่านอาจารย์ ไม่เป็น เพราะฉะนั้น เมื่อรูปมารวมกัน แล้วก็มีสัณฐาน สีสันต่างๆ เราก็มีความทรงจำ แม้แต่เพียงสีดำ สีขาวในหน้าของเรา ก็จำเป็นคิ้ว จำเป็นตา จำเป็นจมูก จำเป็นปาก แต่ความจริงเป็นความทรงจำในรูปร่างสัณฐานที่ปรากฏทางตา แต่ถ้ากระทบสัมผัส คือ อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว แล้วถ้าพิจารณาความจริงก็มีอากาศธาตุแทรกคั่นทั้งตัว ละเอียดยิบ เหมือนกับกองฝุ่น แต่ไม่รู้ว่าเป็นจริงอย่างนั้น จึงต้องพิจารณาว่า เมื่อรวมกันแล้วก็จะเกิดการยึดถือทั้งตัวว่า นั่ง หรือยึดถือบางส่วนว่าเป็นผม เป็นขน เป็นเล็บ เป็นฟัน เป็นหนัง แต่ว่าจริงๆ แล้วไม่พ้นจากธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม แล้วก็ขณะนั้น ถ้าศึกษาต่อไปก็จะรู้ว่า ที่ใดมีธาตุดิน น้ำไฟ ลม ที่นั่นก็มีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชา รวมอยู่ด้วย ตั้งแต่ปริมาณที่เล็กน้อยที่สุด จนถึงรวมแล้วเป็นเนื้อชิ้นโตๆ หรือว่าเป็นอาหารเป็นคำๆ ส่งกลิ่น มีรสต่างๆ ได้
นี่คือเราจะต้องเข้าใจความจริงว่า การที่จะละการยึดถือว่าเป็นเรา หรือของเรา แม้แต่รูปตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ก็ด้วยการรู้ความจริงของสภาพธรรมนั้น เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ว่าเป็นเพียงอ่อนหรือแข็งก็ต้องมีทวาร คือ ทางกาย ทางตา มองอย่างไร ก็ไม่อ่อนไม่แข็ง ทางหูจะได้ยินอ่อนแข็งที่กายก็ไม่ได้ ทางจมูกก็ได้กลิ่น แต่ไม่สามารถที่จะรู้ ลักษณะที่อ่อนหรือแข็งได้ เพราะต้องอาศัยทางเฉพาะแต่ละทางเท่านั้น ที่รูปต่างๆ เหล่านั้นจะปรากฏ แล้วจะปรากฏเมื่อเกิดด้วย เพราะฉะนั้น ชีวิตแต่ละขณะ รูปธรรมนามธรรมเล็กน้อยสั้นแค่ไหน ที่จะเข้าใจได้ถูกต้องว่า ไม่ใช่เรา ก็ต่อเมื่อรู้ความจริง ไม่ใช่ไปจำไว้ว่ามี แต่ความจริงไม่ได้ปรากฏ
ผู้ฟัง ผมก็ยังไม่ค่อยเข้าใจอยู่ คือ บังเอิญเอาเรื่องนี้มาใส่ไว้ในอิริยาบถบรรพ ก็เลยคิดว่าการยืน การเดิน การนั่ง การนอน ถือเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ รูปยืนมีจริงๆ หรือเปล่า
ผู้ฟัง จะไม่ใช้ว่ารูปยืนก็ได้ คือเขาก็ไม่ใช้รูปยืน เขาใช้คำว่าการยืน การเดินการนั่ง
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีรูป ยืนได้ไหม
ผู้ฟัง มันเป็นอาการ เพราะฉะนั้น ผมถึงได้งงว่า คำอธิบายในนี้ ผมอ่านอย่างไรมันก็ไม่เข้าใจ เขาใช้คำว่าเป็นรูปธรรม ประกอบกันเป็นอิริยาบถใหญ่ อะไรก็ไม่รู้
ท่านอาจารย์ ประกอบกัน บอกแล้วใช่ไหม ประกอบกัน แล้วทำไมทิ้งคำว่า ประกอบกัน ทำไมทิ้งคำว่า ที่ประชุมแห่งธรรม ก็บอกแล้ว ประกอบกัน จึงได้เข้าใจว่าเป็นรูปนั่ง แต่การที่จะรู้รูป จะรู้ได้ทางทวารไหน รูปมีทั้งหมด ๒๘ รูป แต่รูปที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าชาติไหนก็ตาม มี ๗ รูป คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา๑ เสียงที่ปรากฏทางหู๑ กลิ่นที่ปรากฏทางจมูก๑ รสที่ปรากฏทางลิ้น๑ ๔ แล้วใช่ไหม เย็นหรือร้อน ธาตุไฟ ๑ รูป รู้ได้ทางกาย อ่อนหรือแข็ง ธาตุดิน ๑ รูป รู้ได้ทางกาย ตึงหรือไหว รู้ได้ทางกาย ๑ รูป รวม ๓ รูปที่รู้ได้ทางกาย เรียกว่า โผฏฐัพพารมณ์ หรือว่าจะใช้คำว่าโผฏฐัพพายตนะก็ได้ ถ้าต่อไปก็จะทราบว่า สิ่งที่มีจริงจะปรากฏได้ต้องอาศัยการประชุมของสภาพธรรมอะไรบ้าง สิ่งนั้นๆ จึงจะปรากฏได้
เราจะไม่ข้ามเลย ถ้าเราข้ามคำว่าประชุม เราก็หลงผิดแล้วใช่ไหม แต่ความจริงแต่ละรูปในที่นั้นเกิด แล้วก็มีการทรงจำว่า ไม่ได้ดับ แต่ความจริงรูปขณะนี้ทยอยกันเกิดแล้วก็ทยอยกันดับ รูปใดที่ไม่ปรากฏ รูปนั้นเกิดแล้วดับแล้ว ขณะนี้ ถ้าแข็งปรากฏตรงไหน หมายความว่าลักษณะแข็งนั้นเกิด ผู้ที่ประจักษ์ความจริงก็ประจักษ์การดับ และการเกิด และดับของสภาพธรรมนั้น จึงเป็นทุกขลักษณะที่เป็นอริยสัจธรรมได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมใดที่เกิดแล้วดับแล้วไม่รู้ ก็ไม่มีการละคลาย ก็ต้องยึดถือสิ่งนั้น ยังมีความพอใจในสิ่งนั้น แต่ถ้าสามารถประจักษ์การเกิดดับจริงๆ จะเห็นไหมว่า ไม่มีอะไรเลย เพียงแต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับอยู่ตลอดเวลา เกิดแล้วก็ดับอยู่ตลอดเวลา ไม่เหลืออะไรเลย ถ้าไม่ได้อบรมเจริญปัญญาถึงระดับนี้ ดับการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตนไม่ได้ แม้จะคลายการยึดถือสภาพธรรมว่า ตัวตนก็ไม่ได้ ทั้งๆ ที่กำลังนั่ง ปอดปรากฏหรือเปล่า ผมปรากฏหรือเปล่า แล้วมีหรือเปล่า
ผู้ฟัง มีแต่ไม่ปรากฏ
ท่านอาจารย์ เห็นไหม ยังยึดถือว่ามี แต่ว่าตามความเป็นจริง รูปใดที่ไม่ปรากฏ รูปนั้นเกิดแล้วดับแล้วทั้งหมด ทั้งหมดจริงๆ
เพราะฉะนั้น จึงไม่มีท่านั่ง รูปนั่ง เพราะว่าการอบรมเจริญปัญญา ต้องถึงการเพิกอิริยาบถ คือ ไม่มี เราทั้งตัวตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เหลือเพียงส่วนที่ปรากฏทางกายทวาร แล้วก็สืบต่อทางมโนทวารเท่านั้นเอง หายไปหมดทั้งตัว เพราะว่ารูปใดที่ไม่ปรากฏ รูปนั้นเกิดแล้วดับแล้ว จึงจะไม่มีเราได้ แต่ถ้ายังรวมกันอยู่ตราบใดก็ยังคงต้องเป็นเราอยู่ตราบนั้น
การศึกษาธรรมแม้แต่การอ่านก็ต้องละเอียด ถ้าประชุมรวมกัน ก็ต้องเข้าใจว่าเป็นรูปแต่ละกลุ่มเล็กๆ ละเอียดมากซึ่งประชุมรวมกัน ถ้าจะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด สิ่งนั้นต้องปรากฏ แล้วสิ่งใดที่จะปรากฏได้ ต้องมีทางที่สิ่งนั้นจะปรากฏ ถ้าไม่มีทาง อย่างจิตกำลังนอนหลับ มีทางที่จิตจะรู้อารมณ์ใดๆ หรือเปล่า ในขณะที่หลับสนิท
ผู้ฟัง ไม่มี
ท่านอาจารย์ ไม่มี พอตื่นก็มีทางที่เกิดรู้อารมณ์อื่น ที่ไม่ใช่อารมณ์ที่หลับสนิท ซึ่งไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้น ทางที่จะรู้อารมณ์ สิ่งที่ปรากฏจริงๆ ได้ มี ๖ ทาง ถูกต้องไหม ทางตาในขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏจริงๆ รู้ชัด รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่รู้อื่น สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เรามองเป็นคน หรืออาจจะเห็นตัวเราเองตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ส่วนหนึ่งส่วนใดก็ได้ แล้วก็ยึดถือว่าเป็นเรา จากเพียงสิ่งที่ปรากฏ มีสิ่งใดปรากฏเหมือนเห็นขณะนี้ บ้างหรือเปล่า
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 301
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 302
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 303
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 304
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 305
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 306
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 307
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 308
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 309
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 310
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 311
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 312
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 313
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 314
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 315
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 316
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 317
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 318
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 319
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 320
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 321
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 322
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 323
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 324
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 325
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 326
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 327
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 328
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 329
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 330
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 331
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 332
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 333
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 334
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 335
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 336 ***
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 337
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 338
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 339
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 340
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 341
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 342
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 343
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 344
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 345
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 346
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 347
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 348
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 349
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 350
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 351
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 352
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 353
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 354
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 355
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 356
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 357
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 358
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 359
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 360