ปกิณณกธรรม ตอนที่ 327
ตอนที่ ๓๒๗
สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า
พ.ศ. ๒๕๔๖
ผู้ฟัง เรียนถามเกี่ยวกับเรื่องสมุฏฐานของรูป การที่มีการค้นพบสิ่งมีชีวิตใหม่ๆ ในอนาคต หรือสิ่งที่มีชีวิตในอดีตที่สูญพันธุ์ไปแล้ว อันนี้ใช้อธิบายด้วยสมุฏฐานของรูปได้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ต้องเป็นรูปที่ปรากฏ รูปที่หมดไปแล้ว ก็เหมือนไฟที่ดับไปแล้ว จะไปตามหาที่ไหนอีกก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงๆ เท่านั้น ที่กำลังปรากฏที่จะให้ปัญญาสามารถที่จะรู้ชัดได้ ไม่ใช่เพียงขั้นคิดนึกย้อนอดีต หรือคิดถึงอนาคตที่ยังไม่มาถึง
ผู้ฟัง หมายถึงว่าการที่เขาตื่นเต้นกับการค้นพบสัตว์ประหลาดต่างๆ หมายถึงว่าอนาคตข้างหน้า มันแล้วแต่กัมมชรูป ทำให้เกิด สิ่งมีชีวิตแปลกๆ ขึ้นมาก็ได้ โดยที่ขณะนี้ เรายังอาจจะไม่พบ
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นสิ่งที่มีชีวิต ซึ่งเกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐาน แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิตอย่างต้นไม้ใบหญ้า เกิดจากอุตุเป็นสมุฏฐาน
ผู้ฟัง อธิบายด้วยสมุฏฐานของรูปได้ อีกเรื่องหนึ่ง การโคลนนิ่ง อันนี้ ก็คือเป็นได้แค่รูป แต่จิต คือเป็นแล้วแต่จิตของบุคคลคนนั้น ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ มีความเข้าใจในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมยิ่งขึ้น ชัดเจนขึ้น ก็จะรู้ว่า นามธรรมไม่ใช่รูปธรรมโดยประการใดๆ ทั้งสิ้น รูปธรรมก็จะเป็นนามธรรมไม่ได้เลย ยังคงเป็นสภาพที่ไม่สามารถจะรู้ ไม่ใช่สภาพรู้อยู่นั่นเอง สำหรับรูปธรรมทั้งหมดทุกชนิด แล้วนามธรรม ไม่ว่าจะเป็นจิตหรือเจตสิกที่เกิด เป็นธาตุรู้ ต่างกับรูปธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อธาตุชนิดนี้เกิดขึ้นเมื่อไร ต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่กำลังปรากฏ เช่น ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เพราะธาตุรู้เกิดขึ้นเห็น ถ้าธาตุรู้ไม่เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ก็เกิดไม่ได้
สำหรับคนตายกับคนเป็น ก็ต่างกันที่ว่าคนตายไม่มีจิต เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่ามองดูเหมือนกับมีตา หรือว่ามีรูปร่างซึ่งยังเหลืออยู่ แต่ก็ไม่เห็นอะไร เพราะเหตุว่าสภาพที่เห็นเป็นนามธรรม
ผู้ฟัง พุทธศาสนาเกี่ยวข้องกับโหราศาสตร์อย่างไร เพราะเมื่อพระพุทธเจ้า ประสูติมีพราหมณ์พยากรณ์ว่า ทารกนี้จะเป็นศาสดาเอกของโลก พรามหณ์ใช้หลักอะไรในการพยากรณ์ หลักการที่ใช้ในการพยากรณ์สัมพันธ์กับพระพุทธศาสนาหรือไม่
ท่านอาจารย์ ถ้าจะกล่าวถึงจิต เจตสิก อีกนัยหนึ่ง โดยนัยของขันธ์ ก็จะมีนามขันธ์ ๔ อย่าง ๔ ขันธ์ คือ เวทนาขันธ์ ได้แก่ เวทนาเจตสิก เป็นสภาพที่รู้สึก สัญญาเจตสิก เป็นสภาพที่จำ ส่วนเจตสิกอื่นๆ เช่น การตรึก การคิดนึกปรุงแต่งต่างๆ เป็นสังขารขันธ์อีก ๕๐ ประเภท จิตเป็นวิญญาณขันธ์ แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าในกาล สมัยใด จะมีโหราศาสตร์ หรือไม่มีโหราศาสตร์ก็ตามแต่ เมื่อนามธรรม คือ จิต และเจตสิกเกิดขึ้น จะต้องมีทั้งเวทนาขันธ์ สภาพที่รู้สึก สัญญาขันธ์ สภาพที่จำสิ่งต่างๆ แล้วก็สังขารขันธ์ การตรึก การนึกคิด ซึ่งเป็นศาสตร์ต่างๆ ถ้าไม่มีการตรึก การนึกคิดเลย ศาสตร์ต่างๆ ก็เกิดขึ้นมีไม่ได้ แล้วก็มีจิต ซึ่งเป็นวิญญาณขันธ์ เป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าขณะไหนต้องพร้อมทั้ง ๔ ขันธ์ แยกกันไม่ได้เลย ไม่ว่าศาสตร์ไหนก็ปราศจากความทรงจำไม่ได้ จะปราศจากสัญญาไม่ได้ จะปราศจากการตรึก นึกคิด อย่างละเอียดในเรื่องนั้นๆ ก็ไม่ได้
ทุกศาสตร์ มาจากสภาพธรรมที่เป็นจิต และเจตสิกนั่นเอง โหราศาสตร์ก็เป็นศาสตร์หนึ่งซึ่งมาจากการทรงจำการคิดการปรุงแต่งเรื่องของดวงดาว เรื่องของสถิติ เรื่องของสิ่งต่างๆ จนกระทั่งสามารถที่จะ กล่าวถึงความโน้มเอียงซึ่งเป็นไปได้ แต่ไม่มีโหราศาสตร์ หรือโหราจารย์ท่านใดที่จะกล่าวได้ถึงการกระทำ และผลของการกระทำอย่างละเอียด ว่าสิ่งที่กำลังได้รับอยู่ขณะนี้ มาจากไหน เกิดขึ้นจากอะไร เขาก็อาจจะเพียงพยากรณ์ได้ ว่าคนนี้ต่อไปข้างหน้าจะเป็นโรคกระดูก หรือว่าจะได้รับลาภ ยศ อะไรก็แล้วแต่ จากสถิติ จากการทรงจำ จากการปรุงแต่ง แต่ไม่สามารถจะชี้ลงไปว่า ขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นจิตประเภทใด เป็นผลของกรรมชนิดไหน แต่ว่าพระศาสนาที่ได้ทรงแสดงไว้ก็ได้ทรงแสดงเรื่องนี้ไว้โดยละเอียด
อ.อรรณพ แล้วก็เป็นวิชาที่ไม่สามารถนำออกจากทุกข์ได้ นอกจากพระพุทธศาสนาเท่านั้น
ถ. ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอย่างหนึ่งอันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมยึดประโยชน์ทั้ง ๒ ไว้ได้ คือ ประโยชน์ในปัจจุบัน ประโยชน์ในสัมปรายภพ คำถามคือ ประโยชน์ในปัจจุบัน เราจะนับจากอะไร ทำอะไรจึงจะเรียกว่าเป็นประโยชน์ปัจจุบัน แล้วก็ประโยชน์ ในสัมปรายภพ คืออะไร
ท่านอาจารย์ เกิดมาแล้วในโลกนี้ ทุกคนก็อยู่ที่นี่ ก็พอจะเห็นว่าได้รับอะไรจากชาติก่อนบ้างหรือเปล่า การที่เราเกิดมาเป็นคนนี้ มีสิ่งที่ปรากฏมางตา หู จมูก ลิ้น กาย มีเรื่องราวต่างๆ มีสุข มีทุกข์ต่างๆ แต่ละคนก็เฉพาะคนๆ เคยคิดไหมว่า นี่เป็นประโยชน์ที่ได้มาจากชาติก่อนหรือเปล่า ถ้าขณะนั้นเป็นสิ่งที่ดี มีประโยชน์ ไม่ทำให้เราเดือดร้อนใจ ก็เป็นผลของกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว แต่ว่าประโยชน์แท้จริง ไม่ใช่เพียงว่า มีการเห็น มีการได้ยิน มีได้กลิ่น มีลิ้มรส มีการเพลิดเพลินต่างๆ ก็คงจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ถ้าไม่มีประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง คือ ประโยชน์ที่ได้สะสมความสนใจที่จะได้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งโอกาสที่จะมีการได้ฟังแล้วเข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ หายาก ไม่ง่ายเลย เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีการสะสมมาจากชาติก่อน ชาตินี้ก็คงจะไม่มีความสนใจที่จะฟังเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังมีในขณะนี้
ถ้าเราจะถอยไปถึงอดีตว่า สิ่งที่เราได้มาในปัจจุบันชาตินี้ทั้งหมด ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงขณะนี้ มาจากชาติก่อนๆ หรือเปล่า ซึ่งเป็นเหตุ จะเห็นได้ว่า แม้ในชาตินี้ก็จะเป็นเหตุของชาติหน้าต่อไปอีก เพราะฉะนั้น ประโยชน์จริงๆ ที่จะได้จากการที่เรากำลังอยู่ในโลกนี้คืออะไร เพราะว่าแต่ละคนก็จะเห็นได้ว่า เราก็ได้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และสิ่งต่างๆ เหล่านั้น ก็ไม่เที่ยง ถ้าประจักษ์แจ้งความจริงว่าเพียงเกิดแล้วดับไป ไม่เหลือเลยสักอย่างเดียว นอกจากสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็จะรู้ได้ว่า มีประโยชน์อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมีประโยชน์กว่ามากนัก คือ ประโยชน์ที่จะได้รู้ความจริง จนกระทั่งมีความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรม
ถ้าจะพูดถึงประโยชน์ชาตินี้ และประโยชน์ชาติหน้า ก็สามารถที่จะย้อนไปถึงอดีตได้ว่า ชาติก่อนเป็นปัจจุบันของชาติก่อน แล้วก็ชาตินี้เป็นอนาคตของชาติก่อน เพราะฉะนั้น ชาตินี้ ชาติหน้าก็วนเวียนกันไปเรื่อยๆ เพราะชาตินี้ก็จะต้องเป็นเหตุให้เกิดชาติหน้า เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่สามารถที่จะมองเห็นประโยชน์ได้ในชาตินี้ ถ้าชาตินี้ยังไม่เห็นประโยชน์ ของการฟังพระธรรม ชาติหน้าจะเห็นประโยชน์ ไหม
ผู้ฟัง เท่าที่เราได้รับในชาตินี้ สืบเนื่องมาจากชาติที่แล้ว ผลที่จะได้รับจากการฟังธรรม หรือการปฏิบัติธรรมในชาตินี้ ผมก็ยังมองไม่ออก มันมองจากจุดไหน
ท่านอาจารย์ เพราะว่ายังมีตัวผม แต่ถ้าฟังพระธรรมต่อไปก็จะได้ทราบว่า มีธรรม แล้วธรรมที่เป็นเหตุก็เป็นเหตุ ธรรมที่เป็นผลก็เป็นผล ไม่มีใครสามารถที่จะไปดลบันดาลให้ธรรมที่หวัง ที่ต้องการเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุ
ผู้ฟัง ประโยชน์ที่จะเกิดในสัมปรายภพ อันนี้ก็แปลว่าเป็นชาติหน้า แล้วเราจะเชื่อใจได้อย่างไรว่า ชาติหน้าเราจะได้รับประโยชน์นี้
ท่านอาจารย์ ชาตินี้คืออะไรต้องรู้ แล้วก็มาจากไหนต้องรู้ แล้วก็จะได้รู้ว่า ชาติหน้ามีจริงๆ หรือเปล่า
ผู้ฟัง ในปัจจุบันนี้ การที่จะสร้างเหตุดีเพื่อผลในอนาคต ในพระสูตรนี้ท่านสรุปอย่างที่ท่านอาจารย์ได้สรุปไว้ตอนต้นว่า คือไม่ประมาท เพราะฉะนั้น อยากจะลงมาสนทนาว่า การสร้างเหตุในปัจจุบันให้ดีเพื่อผลในอนาคตให้ดี สรุปว่าคือความไม่ประมาทนั้น เรียนถามท่านอาจารย์สุจินต์ว่า ความไม่ประมาท ถ้าเราจะคิดถึงองค์ธรรม คือการเจริญสติปัฏฐาน ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ กุศลจิตทุกประการ
ผู้ฟัง ทุกประการ ทั้งทาน ทั้งศีล ทั้งภาวนา อย่างนั้นหรือ
ท่านอาจารย์ นั่นก็ยังไม่พอด้วย เพราะเหตุว่านั้นเป็นไปในเรื่องของวัฏฏะ ต้องเป็นเรื่องของวิวัฏฏะ ด้วยคือการออกจากวัฏฏะ เพราะฉะนั้น ทาน ศีล ภาวนาปกติทั่วๆ ไป หรือว่าศีล สมาธิ ปัญญา ที่ไม่ออกจากวัฏฏะก็มี แต่ว่าที่เนื่องมาจากความเห็นที่ถูกต้อง เป็นไปเพื่อออกจากวัฏฏะด้วย ไม่ใช่แต่เฉพาะในเรื่องของโลกนี้เท่านั้น
ผู้ฟัง นั่นคือสร้างเหตุในปัจจุบัน ประโยชน์ในปัจจุบัน คือหมั่นสร้างเหตุที่ดีในปัจจุบัน เพื่อออกจากวัฏฏะ รู้สึกจะยาก
ท่านอาจารย์ เป็นเรื่องของกุศลทุกประการ
ผู้ฟัง คือเอาเหตุที่ดีในปัจจุบัน เป็นผลที่ดีในอนาคต
ท่านอาจารย์ เหตุคือกุศล ผลคือกุศลวิบาก
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น รู้สึกจะเป็นที่สอนใจได้ว่า ในขณะซึ่งในพระสูตรพูดว่า นำความสุขมาให้ นั่นแหละคือประโยชน์ในปัจจุบัน ใช้ของที่น่าปลื้มใจ การงานที่ไม่อากูล อันนี้เป็นเหตุในอดีต ซึ่งสร้างผลในปัจจุบันทั้งสิ้น พระสูตรนี้ดีมากเลย ท่านสรุปง่ายๆ ว่า ไม่ประมาท เพราะฉะนั้น ทางไม่ประมาท ลักษณะมันเป็นอย่างไร เพื่อเราจะได้ช่วยกันสร้างเหตุในปัจจุบันว่า ไม่ประมาท แต่อยากจะเอาว่า ปัจจุบันนี้ เดี๋ยวนี้ นั่งอยู่ในที่นี้ ไม่ประมาทคืออะไร
ท่านอาจารย์ ฟังพระธรรมให้เข้าใจยิ่งขึ้น
อ.อรรณพ จะเพิ่มเติมที่ท่านอาจารย์พูดไว้ การทำบุญ และกุศลทุกประการ เป็นการเจริญความไม่ประมาททั้งนั้น การทำบุญ และกุศลทุกประการ ก็บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ถ้าพูดถึงในข้อภาวนา ก็จะเป็นเรื่องทั้งวัฏฏะ และวิวัฏฏะ แต่โดยต่างกันคือการเจริญศีล สมาธิ ปัญญาทั้งหมด ข้อความต่อไป โดยอาศัยอุปนิสัยแห่งวิวัฏฏะ ถ้าเราได้มีการสะสมมา ก็จะออกจากวัฏฏะได้ คือ วิวัฏฏะ เป็นอย่างที่ท่านอาจารย์พร่ำสอนอยู่ทุกวัน คือ การเจริญสติระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง อันนี้ก็จะเป็นการถึงสรณะ และการสำรวมทางกาย และทางวาจา เพราะเหตุนั้นการเจริญกุศล การเจริญธรรมอันไม่มีโทษ พึงทราบว่า เป็นการเจริญความไม่ประมาท ตรงนี้คลุมหมดเลย คือบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ การทำบุญ และกุศลทุกประการ เป็นการเจริญความไม่ประมาททั้งนั้น ก็ย้ำข้อความตรงนี้ไว้ เพื่อให้พวกเราได้ดู และเน้นกันตรงนี้
ผู้ฟัง อยากจะขอให้ท่านช่วยขยาย รอยเท้าสัตว์ทั้งหลายมักจะรวมอยู่ในรอยเท้าช้าง เพราะรอยเท้าช้างนั้นใหญ่ แต่ในพระสูตรนี้ ท่านเปรียบรอยเท้าช้างเหมือนกับ ความไม่ประมาท อยากจะขอให้ท่านอาจารย์ช่วยขยายนิดหนึ่ง
ท่านอาจารย์ คงจะไม่ต้องคิดถึงรอยเท้าก็ได้ เพราะว่าประเดี๋ยวข้อความมีคำว่า รอยเท้าก็คิดถึงแต่รอยเท้า แต่ว่าความจริงแล้วก็เป็นเรื่องธรรมในชีวิตประจำวัน ถ้าเป็นเรื่องการสนทนา ก็อยากจะให้ทุกคนได้มีโอกาสคิดพิจารณาไตร่ตรอง เป็นความรู้ความเข้าใจในเรื่องของความไม่ประมาท ตั้งแต่ต้นเลย อยากจะถามว่า วันนี้มีใครได้รับความลำบากเดือดร้อนใจอะไรบ้างไหม ตั้งแต่เช้ามา หรือคิดไม่ออก ลืมไปแล้ว หมดเวลาไปแล้ว
ถ้าลองย้อนไปถึงว่า วันหนึ่งๆ จะเป็นเมื่อเช้าหรือเมื่อวันก่อนก็ตามแต่ เราได้รับอะไรที่เป็นอันตรายแม้เล็กๆ น้อยๆ นิดๆ หน่อยๆ เพราะเราจะใช้คำว่าเลินเล่อ หรือว่าภาษาไทยเราอาจจะใช้คำว่าประมาทก็ได้ ในขณะนั้น คือถ้าชีวิตของเรา เริ่มตั้งแต่ค่อยๆ เข้าใจในคำที่เราใช้ จนกระทั่งถึงในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ก็จะทำให้เราค่อยๆ เข้าใจคำที่พระผู้มีพระภาคตรัส และทรงแสดงไว้ถึง ๔๕ พรรษา โดยนัยประการต่างๆ เช่น คำว่า ไม่ประมาท เพราะเหตุว่าชีวิตของใครก็ตามที่มีอันตราย หรือว่าได้รับโทษภัยต่างๆ ทั้งหมดมาจากความประมาท อันนี้เรื่องธรรมดา
ตั้งต้นจากเรื่องธรรมดาจนกระทั่งเรื่องว่าประมาท เพราะขณะนั้น เป็นอกุศลจิต หรือว่าเป็นกุศลจิต ถ้าเป็นอกุศลจิต ประมาทแน่นอน แต่เราไม่รู้ เพราะว่าเราเกิดมา สิ่งที่เราต้องการก็เพียงแต่ความสะดวกสบายของชาตินี้ที่เราจะหาได้
หลายๆ คนก็พยายามหาทุกอย่าง เพื่อความสะดวกสบายของชีวิต โดยที่ว่าไม่เป็นไปในทางทุจริต เขาจะไม่ได้รับโทษจากความประมาทในการทำทุจริต แต่ว่าเขาก็จะมีอกุศลจิตอยู่ ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดที่ว่า แม้แต่วันหนึ่งๆ ที่เราอยู่ได้สบาย ไม่เดือดร้อน ไม่ได้รับอุบัติเหตุ หรือว่าร่างกายไม่เจ็บป่วย หรือว่าไม่ถูกมีดบาด หกล้ม หรืออะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็เป็นเพียงแต่ความไม่ประมาทที่เราคิดว่า เราไม่ได้เลินเล่อ แต่ว่าตามความจริงแล้ว จิตขณะนั้นเป็นอกุศล ถ้าขณะนั้นไม่เป็นไปในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ คือไม่เป็นไปในเรื่องของทาน เรื่องของศีล เรื่องของภาวนา การอบรมจิตใจ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าต้องเป็นขั้นๆ ตั้งแต่การที่เราไม่ประมาท ที่จะมีชีวิตในทางโลก ทำการงานโดยที่ว่า ไม่เดือดร้อนไม่เป็นโทษเป็นภัย ไม่ได้รับภัยจากทุจริต แต่แม้กระนั้นเมื่อจิตเป็นอกุศล ก็ควรจะได้คิดว่า เราจะสั่งสมอกุศลจิตนั้นไปเรื่อยๆ หรือว่าเราเห็นโทษเห็นภัยของอกุศล แล้วมีความเห็นที่ถูกต้องว่า กุศลเท่านั้นที่จะนำประโยชน์สุขมาให้ทั้งหมด แม้แต่ในขั้นของวัฏฏะ ความเป็นอยู่ในสังสารวัฏฏ์ หรือในเรื่องของวิวัฏฏะ คือการออกจากสังสารวัฏฏ์
นี่ต้องเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศล แล้วก็มีความเข้าใจว่า กุศลมีอะไรบ้าง เพราะเหตุว่าบางคนจะข้ามขั้น เพียงแต่ฟังธรรมนิดหน่อย ก็ไม่อยากจะมีกิเลส กลายเป็นเดือดเนื้อร้อนใจอีกแล้ว ใช่ไหม แทนที่ว่ารู้ตัวเองว่า มีอกุศลที่สะสมมามาก แล้วต้องอาศัยการฟังพระธรรมเท่านั้น จึงจะสามารถเข้าใจธรรมได้ถูกต้องตามความเป็นจริง แล้วก็จะอบรมกุศลทุกประการค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนกระทั่งถึงประโยชน์ขั้นสูงสุดได้ โดยการที่ว่าต้องเป็นเรื่องของปัญญาความเห็นถูก ความเข้าใจถูก ไม่ใช่พอศึกษาธรรมแล้วอยากหมดกิเลส เดือดร้อนมากไหม โดยที่ว่าเป็นตัวเราที่มีอกุศลมากมาย ทั้งๆ ที่มีอกุศลมากมาย ก็ยังอยากหมดกิเลส โดยที่ว่ายังไม่มีเหตุที่จะให้หมดกิเลสได้เลย
ด้วยเหตุนี้การฟังพระธรรมต้องเป็นผู้ที่ละเอียด เพื่อเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วเข้าใจในเหตุ และผลด้วย เพราะฉะนั้น เพียงแต่เห็นโทษของอกุศล ไม่ว่าจะเป็นโลภะ ความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งตราบใดที่ยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงขั้นความเป็นพระอนาคามีบุคคล ยังมีปัจจัยที่จะเกิด ทำให้ไม่ประมาทที่จะมัวเมา เพราะเหตุว่าถ้าวันหนึ่งๆ จิตของเราเป็นทางฝ่ายอกุศลมากๆ แล้วกุศลก็ไม่มีกำลังเลย ที่จะทำให้อกุศลนั้นเบาบาง แล้วก็จะให้อกุศลนั้นหมดไปได้อย่างไร
นี่ก็เป็นเรื่องที่ว่า การฟังธรรมต้องเป็นผู้ที่ละเอียดรอบครอบ แล้วก็รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง อย่าข้ามขั้น หรือว่าคิดว่าอยากจะรู้ตรงโน้น อยากจะเข้าใจตรงนี้ แต่ว่าสิ่งที่มีอยู่ขณะนี้ ยังไม่สามารถจะเข้าใจได้ แต่ว่าประโยชน์จริงๆ คือทุกอย่างเป็นธรรม ที่เป็นสังขารขันธ์ ถ้าขณะนั้นเป็นเจตสิกซึ่งไม่ใช่เวทนาเจตสิก หรือสัญญาเจตสิก ไม่ว่าจะเป็นสติ ไม่ว่าจะเป็นปัญญา ไม่ว่าจะเป็นอโลภะ อโทสะทั้งหมด เป็นสังขารขันธ์ที่ค่อยๆ ปรุงแต่งจนกระทั่งเราไม่สามารถจะรู้ได้เลยว่า การฟังสิ่งที่ทำให้เราเกิดความเข้าใจในธรรม ทีละเล็กทีละน้อยจะปรุงแต่ง กุศลอื่นๆ ให้เจริญขึ้นด้วย เป็นบุญกิริยาวัตถุขั้นต่างๆ เพราะว่าไม่มีใครสามารถที่จะให้กุศลเกิดได้ตลอดเวลา มีปัจจัยของอกุศลที่จะเกิด อกุศลก็ต้องเกิด
เพราะฉะนั้น ก็จะค่อยๆ เห็นว่า แม้ว่าไม่ได้รับโทษภัยจากความประมาท ในการที่จะไปกระทำทุจริตก็จริง แต่ว่าขณะใดก็ตามที่สั่งสมอกุศลจิตไว้มาก ก็เป็นสิ่งที่ควรจะเห็นโทษ แล้วก็เริ่มที่จะบำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุตามกำลังของความเข้าใจ
ในขั้นของการฟังธรรม เป็นขั้นที่เข้าใจสภาพธรรมที่ได้ยินได้ฟังทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่สามารถว่า จะไปเข้าใจได้ทั้งหมดโดยทั่ว แต่ว่าเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวันว่า ชีวิตประจำวันของแต่ละคนเป็นอย่างนี้ไหม ที่ว่ามีอกุศลมาก แล้วก็เริ่มที่จะเห็นโทษของอกุศล แล้วก็บำเพ็ญกุศลยิ่งขึ้นทุกประการ
อย่างในเรื่องของทาน เรื่องง่ายหรือเรื่องยาก บางท่านก็จะตอบว่ายาก มีใครที่ตอบว่าง่ายไหม เรื่องของทาน การให้ ก็เป็นแต่ละอัธยาศัย แม้แต่อกุศลขั้นต้น ลองคิดดู แม้แต่เพียงการที่จะสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น เพราะเห็นธรรมแล้วไม่ประมาท เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าเรื่องของความประมาท หรือไม่ประมาท เป็นชีวิตประจำวัน แม้แต่ในเรื่องของการให้แต่ละครั้ง ซึ่งมีสิ่งที่สามารถจะสละให้บุคคลอื่นได้ แต่ยังไม่ให้ เพราะประมาทหรือเปล่า ยังไม่ต้องไปถึงกุศลขั้นอื่นๆ แต่ว่าเพียงการสละวัตถุ ซึ่งไม่ใช่สละความเป็นเรา ยังไม่ถึงการที่จะสละความเป็นเราออกได้ เพียงแค่สละวัตถุที่เป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น ในเมื่อสิ่งนั้นไม่ได้เป็นประโยชน์กับเรา เท่านี้ สละได้ไหม ถ้าศึกษาโดยความละเอียดต่อไป ก็จะเห็นอกุศลละเอียดขึ้นว่า แม้แต่บางครั้งมีการสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น เป็นไปในวัฏฏะ หรือว่าอาศัยอุปนิสัยแห่งวิวัฏฏะ นี่ก็เป็นความต่างกัน บางคนให้เพราะเหตุว่าต้องการ เพราะรู้ว่าถ้าให้แล้วจะได้ เมื่อกุศลจิตเกิดย่อมเป็นเหตุให้กุศลวิบากเกิดภายหลัง อันเนื่องมาจากการกระทำกุศลนั้น เพราะฉะนั้น บางคนก็อยากจะให้มากๆ เลย เพราะอะไร เพราะหวังจะได้มากๆ
นี่ก็เป็นเรื่องที่เห็นความละเอียดของสภาพธรรม ซึ่งต้องเป็นการไตร่ตรอง แล้วก็เป็นการพิจารณา แล้วก็เป็นความเข้าใจถูก เห็นถูกว่า เรื่องของการที่สะสมอกุศลมามากๆ แล้วจะให้บุญกิริยวัตถุเกิดมากๆ เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นอกจากว่าจะมีความเข้าใจสภาพธรรมนั้นเพิ่มขึ้น แล้วกุศลอื่นๆ ก็จะเจริญขึ้นด้วย
อุปมาเหมือนกับรอยเท้าช้างซึ่งประมวลไว้ซึ่งกุศลธรรมทุกประการ ถามนิดหนึ่ง เดี๋ยวนี้ประมาทหรือเปล่า
อ.อรรณพ ขณะนี้ไม่ประมาท กำลังเจริญกุศลอยู่
ท่านอาจารย์ แต่ว่าจิตก็เกิดดับสลับกันเร็วมากเ พราะฉะนั้น ต้องเป็นผู้ที่ละเอียด จึงสามารถที่จะรู้ได้จริงๆ ว่า ประมาทหรือเปล่า ขณะใดเป็นอกุศล ขณะนั้นประมาท
ผู้ฟัง คำถามจากผู้ฟัง ข้อที่ ๑. ไม่ประมาทในบุญกิริยาทั้งหลาย คืออย่างไร ข้อที่ ๒. ผีลืมหลุม อภินิหารสำเร็จด้วยความพยายามมาก หมายความว่าอย่างไร
อ.นิภัทร เรื่องผีลืมหลุม สงสัยจะยกยอดให้คุณธนิต บุญกิริยาวัตถุนี้ในบาลีท่านบอกว่ามีอยู่ ๑๐ อย่าง แต่ท่านย่อลงมาเหลือ ๓ คือ ทาน ศีล ภาวนา
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 301
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 302
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 303
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 304
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 305
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 306
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 307
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 308
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 309
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 310
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 311
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 312
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 313
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 314
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 315
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 316
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 317
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 318
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 319
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 320
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 321
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 322
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 323
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 324
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 325
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 326
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 327
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 328
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 329
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 330
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 331
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 332
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 333
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 334
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 335
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 336 ***
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 337
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 338
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 339
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 340
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 341
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 342
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 343
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 344
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 345
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 346
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 347
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 348
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 349
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 350
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 351
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 352
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 353
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 354
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 355
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 356
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 357
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 358
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 359
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 360