ปกิณณกธรรม ตอนที่ 303
ตอนที่ ๓๐๓
สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า
พ.ศ. ๒ ๕๔๓
ผู้ฟัง ผมจะเรียนถามเรื่องศีล คือ รักษาทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ ทางกายผมเข้าใจแล้ว ทางวาจาเข้าใจแล้ว ทางใจถ้าเกิดมันเกิดทางใจ ตามที่พระพุทธเจ้าสอนว่า ยังไม่ทันได้มีโทษ แต่ทีนี้ผมมาพิจารณาดู ถ้าทางมันเกิดทางใจ เป็นโทษอย่างไร มันเป็นการว่า เราสะสมไว้เพื่อจะให้ออกมาทางกาย หรือทางวาจา อย่างนี้จะถูกไหม
ท่านอาจารย์ ปกติก็มีอกุศลจิตซึ่งพร้อมที่จะเป็นปัจจัย เมื่อมีกาลที่สมควรก็กระทำทุจริตได้ ถ้ามีมากๆ ก็ยับยั้งไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วที่กล่าวถึงศีลเวลาที่เกิดทางใจ คงจะหมายความถึง อินทรียสังวรศีล หรืออธิศีลสิกขา หมายความว่าเกิดพร้อมกับปัญญาที่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ว่าสภาพธรรมใดๆ เวลาที่อกุศลจิตเกิด โดยมากไม่รู้ ใช่ไหมว่า เป็นอกุศล หรือแม้ว่ากุศลจิตเกิด ก็ไม่รู้ว่าเป็นกุศล ยังถามกันว่า เป็นกุศลหรือเปล่า หรือว่าเป็นอกุศลหรือเปล่า เป็นคำถามโดยความไม่รู้ แต่การที่ะจะอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม ต้องเป็นเรื่องของสติปัฏฐานที่สามารถจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมใดๆ ที่กำลังปรากฏ เพราะเกิดขึ้นแล้ว แล้วก็รู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ตัวตนอย่างไร
ผู้ฟัง ทีนี้ตามที่อาจารย์ว่า สติปัฏฐาน สติปัฏฐานฟังดูแล้วรู้สึกว่าสำคัญ ก็เข้าใจแล้ว ทีนี้สติมีหลายขั้น ใช่ไหม หมายถึงว่า ไม่ใช่เฉพาะสติปัฏฐาน สติเกิดกับอย่างอื่นได้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ขณะที่ให้ทาน หรือให้สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น โดยสภาพปรมัตถธรรม คือ ไม่ใช่เรา แต่เป็นกุศลจิต ขณะใดที่กุศลจิตเกิดขึ้นต้องประกอบด้วยโสภณเจตสิกอย่างน้อยที่สุด ๑๙ ประเภท แล้วใน ๑๙ นั้นก็มีสติเจตสิกอยู่ด้วย เพราะฉะนั้น ก็เป็นสตินั่นเองที่ระลึกเป็นไปในทานขณะที่ให้ หรือว่าขณะที่วิรัติทุจริต ก็เป็นสติที่เกิดขึ้น พร้อมกับเจตสิกอื่นๆ ที่เป็นโสภณเจตสิก ระลึกในการที่จะวิรัติทุจริต ที่เป็นวาริตศีล ถ้าเป็นไปในทางที่เหมาะควร ก็เป็นจาริตศีล
ผู้ฟัง สติขั้นทานกับสติปัฏฐาน เป็นสติตัวเดียวกันหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ขณะที่ให้ทาน คงจะมีมากบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน แต่ไม่รู้ว่า ขณะนั้นเป็นเพียงสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรา แต่ว่าเวลาที่เป็นสติปัฏฐาน คือ เริ่มระลึกลักษณะของปรมัตถธรรม สิ่งที่มีจริง เพื่อจะได้เข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรมแต่ละอย่างที่ปรากฏเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย
ผู้ฟัง ทีนี้ผมจะถามว่า ข้อต่างระหว่างสติปัฏฐานกับสติขั้นทาน หรือขั้นศีล ต่างกันคืออะไร
ท่านอาจารย์ ปัญญา
ผู้ฟัง ต่างกันที่ปัญญา
ท่านอาจารย์ ปกติธรรมดาเวลาให้ทาน มีปัญญาเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า
ผู้ฟัง บางครั้งอาจจะมีศรัทธา ขาดปัญญาก็ได้
ท่านอาจารย์ แต่สำหรับสติปัฏฐาน ถ้าไม่มีปัญญาเจริญไม่ได้
ผู้ฟัง ทีนี้ สติ แปลว่าระลึกได้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ระลึก เป็นกุศลที่ระลึก
ผู้ฟัง เข้าใจ เพราะว่าสติเกิดกับกุศลอย่างเดียว ไม่เกิดกับอกุศล อันนี้ผมเข้าใจแล้ว อันนี้ผมจะถามว่า การระลึก สติระลึกถึงอะไร สิ่งนั้นเป็นอารมณ์ของสติ อย่างนี้ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เพราะว่าสติเป็นนามธรรม ต้องมีอารมณ์ คือ สิ่งที่กำลังรู้
ผู้ฟัง ทีนี้ผมจะถามต่อไปว่า สติต้องระลึกสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่เป็นปัจจุบันอารมณ์ หรือว่าระลึกถึงอารมณ์เมื่อวาน ได้
ท่านอาจารย์ สติปัฏฐาน คือ ขณะนี้มีสภาพธรรมที่ปรากฏเพราะเกิดขึ้นแล้วดับไปอย่างรวดเร็ว การที่จะรู้ความจริง ต้องรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เมื่ออบรมเจริญปัญญาเพิ่มขึ้น จึงสามารถจะประจักษ์การเกิดดับได้
ผู้ฟัง ในปัจจุบันนี้
ท่านอาจารย์ กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง ถ้าระลึกถึงเมื่อวานนี้ ถือว่าเป็นสติปัฏฐาน ได้ไหม
ท่านอาจารย์ อะไรกำลังปรากฏ
ผู้ฟัง เมื่อวานนี้มันดับแล้ว
ท่านอาจารย์ เมื่อวานนี้ ปรากฏหรือ
ผู้ฟัง เมื่อวานดับไปหมดแล้ว
ท่านอาจารย์ ดับไปแล้ว สติก็ไม่สามารถจะไปรู้สิ่งที่ไม่มี ไม่ปรากฏ
ผู้ฟัง ที่ผมถาม ผมสงสัยว่า สติ คือการระลึกได้ ระลึกที่เมื่อวานนี้ หรือระลึกที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้
ท่านอาจารย์ สติ ถ้าเป็นการที่ระลึกอย่างที่คนไทยใช้คำว่า คิดหรือระลึกได้ เวลาที่ขณะนั้นเป็นอกุศลจิต ไม่ใช่สติ แต่เป็นสภาพของวิตกเจตสิก เป็นเจตสิกอีกประเภทหนึ่งจะคิดเรื่องเก่าๆ ประวัติศาสตร์ แล้วก็จะคิดเรื่องของตัวเอง เมื่อกี่ ๑๐ ปีมาแล้ว ขณะใดที่ไม่ใช่กุศลจิต ขณะนั้นก็ต้องเป็นวิตกเจตสิก ไม่ใช่สติ เพราะฉะนั้น สติ คือ ขณะใดที่เป็นกุศล มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นระลึกเป็นไปในทาน ในศีล ในภาวนา
ผู้ฟัง การปฏิบัติธรรมที่ผมฟังท่านอาจารย์อยู่ประจำว่า อย่างเวลานี้เรากำลังนั่งอยู่ เป็นปกติธรรมดา หมายถึงว่า ธรรมดา คนเจริญวิปัสสนากรรมฐานกับไม่ได้เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ ต่างกันที่ ถ้าสติไม่เกิด ไม่ระลึกลักษณะของปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง ทั้งๆ ที่ปรมัตถ์กำลังปรากฏ แต่เราไม่ได้ระลึกถึง อย่างนี้ใช่ไหม การปฏิบัติ คือสภาพธรรมที่ปกติ แต่ส่วนมากที่เราปฏิบัติกัน ส่วนมากไปทำ ไม่เป็นปกติ อย่างนี้ถูกไหม
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ไม่สามารถที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่พียงปรากฏ แล้วดับอย่างรวดเร็วได้ เช่น ขณะนี้มีเห็นไหม มีได้ยินไหม คิดนึก สุขหรือทุกข์ เฉยๆ แข็ง เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิด ที่ใช้คำว่า ระลึกรู้ หมายความว่าเป็นสภาพที่ระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะใดที่ระลึกถึงสภาพธรรมใด คือถึงลักษณะของสภาพธรรมนั้น เฉพาะลักษณะนั้น เช่น ได้ยิน หรือเสียง ต้องทีละอย่าง เพราะฉะนั้น ขณะนั้นสติเป็นสภาพที่ระลึกถึง หรือว่าเป็นสภาพที่ถึงลักษณะที่กำลังปรากฏในขณะนั้น
ผู้ฟัง ตามที่ท่านอาจารย์พูด เวลานี้สภาพธรรมปรากฏทั้ง ๖ ทวาร แต่เราจะรู้ได้ทีละ ๑ ทวาร อันนี้เข้าใจ
ท่านอาจารย์ แล้วแต่ สติจะถึงลักษณะของสภาพธรรมอะไร
ผู้ฟัง ทีนี้แล้วแต่ว่าสภาพธรรมไหนจะเป็นประธาน อย่างนี้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ แล้วแต่สติ จะเกิดระลึก เพราะว่าเป็นอนัตตา เตรียมตัวเตรียมใจไว้ก่อนไม่ได้เลยว่า จะระลึกตรงนั้นตรงนี้
ผู้ฟัง ระหว่างที่สติจะระลึก เราก็ต้องมีสภาพธรรมตรงนั้นเป็นประธานใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีสภาพธรรมปรากฏเกิดดับสืบต่อทั้งวันทั้งคืน ไม่หยุดเลย เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่สติจะเกิดเมื่อไร ก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม คือ ถึงเฉพาะลักษณะหนึ่ง ทีละลักษณะ
ผู้ฟัง เหมือนกับว่า เวลานี้ผมยืนอยู่ ผมรู้สึกว่าแข็ง พอได้ยินท่านอาจารย์พูด ผมก็ไม่นึกถึงแข็ง นึกถึงเสียงของท่านอาจารย์ อย่างนี้
ท่านอาจารย์ ผมระลึก ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ถ้าบอกว่า สติกำลังระลึก เพราะฉะนั้น ผู้นั้นจะรู้ว่า ขณะใดหลงลืมสติ ขณะใดมีสติ หรือสติเกิด จะไม่มีเราตั้งใจที่จะระลึก หรือที่จะดู หรือที่จะรู้ แต่ว่าเป็นปัญญาที่เกิดพร้อมในขณะนั้นที่รู้ว่า ขณะนั้นสติเกิดจึงระลึกลักษณะของอารมณ์นั้น หรือสิ่งนั้นจึงปรากฏ เพราะว่าสติระลึกเฉพาะลักษณะของสภาพธรรมนั้น
ผู้ฟัง แล้วที่บอกว่า ธรรมทั้งหลายเป็นสติปัฏฐาน อย่างนี้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน เป็นอารมณ์ของสติ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ความหมายของสติ ๓ อย่าง คือ
๑. สติปัฏฐาน เป็นทางที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอริยสาวกทั้งหลายดำเนิน จะไม่ไปทางอื่นเลย เพราะเหตุว่าสภาพธรรม มี แต่เมื่อไม่รู้ตามความเป็นจริง ไปเรื่อยๆ ก็ไม่มีวันจะเป็นพระอริยบุคคล เพราะว่าไม่สามารถจะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ต่อเมื่อใดสติเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ปัญญาเริ่มเข้าใจถูกต้องในลักษณะของสภาพธรรมนั้น จนประจักษ์แจ้งความจริงซึ่งเกิดขึ้น และดับไป ก็จะทำให้เป็นพระอริยบุคคลได้
หนทางนี้เป็นหนทางที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอริยสาวกทั้งหลายดำเนิน นี่ความหมายหนึ่ง
๒. อีกความหมายหนึ่ง สติปัฏฐาน ปัฏฐานคือที่ตั้ง หรือที่ระลึกของสติ ขณะนี้มีสภาพธรรม แล้วก็ไม่เคยรู้ความจริงของสภาพธรรมใด เพราะว่าเกิดแล้วดับไปเร็วมาก ถ้าขณะนี้สติจะเกิด ก็สามารถที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่ใช่สภาพธรรมที่ดับแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนี้สติไม่ระลึกสภาพธรรมนั้นก็ดับไป แล้วสติเกิดเมื่อไร ก็ระลึกลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ สิ่งที่สติกำลังระลึกเป็นสติปัฏฐาน ความหมายที่ ๒.
๓. อีกความหมาย คือ สติมีหลายระดับ สติขั้นทานก็มี ขั้นศีลก็มี ขั้นสมถภาวนาก็มี แต่ขณะใดที่เป็นสติปัฏฐาน คือ กำลังระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ซึ่งต้องอาศัยการศึกษา การฟัง เข้าใจเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้มีการระลึก ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ ไม่ใช่ว่าเราจะอยู่ดีๆ ก็จะไปบอกคนโน้นคนนี้ ให้ระลึกลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ โดยเขาไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจเรื่องธรรมเลย
แม้ปัญญาขั้นต้นก็ไม่มี ปัญญาขั้นต่อไปก็เจริญไม่ได้ การที่ปัญญาจะเจริญขึ้นตามลำดับขั้น ก็ต้องอาศัยปัญญาขั้นฟัง ปริยัติศาสนา คำสอนเรื่องสภาพธรรม และมีความเข้าใจ ไม่ใช่เพียงอ่านได้ เพราะว่าบางคนเขาก็บอกว่า อ่านแล้วจบ หลายเล่ม แต่ว่าการเข้าใจธรรม ไม่ใช่การอ่านได้ หรือการอ่านออก แต่ว่าเมื่ออ่านแล้วรู้ว่า ธรรมนั้นเป็นเรื่องอะไร เช่น เรื่องของจิตคืออะไร เจตสิกคืออะไร รูปคืออะไร สภาพธรรมที่ปรากฏทางตา ทางหู ทุกอย่างในชีวิตประจำวัน เป็นธรรมอย่างไร เมื่อมีความเข้าใจซาบซึ้งชัดเจนขึ้น เข้าใจมากขึ้น จะเป็นสังขารขันธ์ที่จะปรุงแต่งให้สติเกิดระลึก ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วก็มีความเข้าใจถูกทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะเข้าใจเพิ่มขึ้น นั่นก็เป็นลักษณะของสติปัฏฐาน ซึ่งไม่ใช่สติระดับศีล หรือว่าระดับทาน
ผู้ฟัง ในที่นี้เขาบอกว่า เฉพาะภรรยาอย่างเดียว เขาไม่ได้บอกว่ามีเพื่อนมากมาย เพราะฉะนั้น ภรรยาก็เป็นมิตรชั่วได้ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ในนี้ไม่ได้บอกความละเอียดไว้ เพราะฉะนั้น แต่ละคนไม่สามารถที่จะรู้จักตัวเองจริงๆ ถ้าพระผู้มีพระภาคไม่ทรงแสดงว่า ในอดีตเขาเคยสะสมมาอย่างไร พร้อมที่ว่าถ้าในปฐมวัยสามารถที่จะบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของการสะสมจริงๆ แล้ววันไหนในสังสารวัฏฏ์ข้างหน้า ที่แต่ละคนอาจจะมีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ในปฐมวัย แต่ไม่บรรลุ ก็แล้วแต่ปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ไม่ควรจะประมาทเลย ตามความเป็นจริงคือ ไม่ว่าจะกล่าวถึงเรื่องบุตรเศรษฐี ซึ่งสามารถรู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ในปฐมวัย แต่เรื่องของคนอื่นก็เป็นเรื่องของคนอื่น เรื่องของแต่ละคนก็เป็นเรื่องจริงที่สามารถจะรู้ได้เฉพาะตัวว่า ขณะที่ฟังธรรม มีความเข้าใจในธรรม ในเรื่องของสภาพธรรม หรือในธรรมที่กำลังปรากฏมากน้อยแค่ไหน ก็เป็นเรื่องที่แต่ละคนจะต้องสะสมไป ไม่ใช่เพียงฟังเฉยๆ เรื่องบุตรเศรษฐี ๘๐ โกฏิ กับภรรยาอีก ๘๐ โกฏิ ก็เป็นเรื่องสนุก แสดงให้เห็นว่า ใช้ทรัพย์กันอย่างมากมาย แล้วในที่สุดก็ต้องขอทานเขา ก็เพียงแค่นั้น แต่ตามความเป็นจริงก็ควรจะได้รู้จักตัวเองด้วยว่า ในชีวิตอาจจะเป็นอย่างนั้นหรือว่าอาจจะเป็นอย่างนี้ ก็แล้วแต่ แต่ว่าข้อสำคัญก็คือว่า แม้ทั้ง ๒ ท่านสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ยังไม่มีปัจจัยพอที่จะได้บรรลุ แต่ว่าสะสมมาแล้วในชาตินั้นที่จะบรรลุได้ กว่าชีวิตจะถึงวันที่จะถึงพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่งหรือไม่ หรือว่าอีกหลายๆ พระองค์ ที่จะสามารถรู้ได้ว่า แต่ละคนสะสมมามากน้อยเท่าไร ก็เป็นเรื่องของชาตินี้จริงๆ ซึ่งแต่ละคนสามารถที่จะทราบได้
เพราะฉะนั้น ทุกๆ ชาติก็เฉพาะตัว ที่จะรู้ได้ว่ากำลังสะสม มากน้อยแค่ไหนก็ตามความเป็นจริงอย่างนั้น
ผู้ฟัง สรุปว่า ที่อยู่มีเงินตั้ง ๑๖๐ โกฏิ ยังเป็นที่พึ่งไม่ได้ ใช่ไหม ผมอยากให้อาจารย์อธิบาย คำว่า ธรรมเป็นที่พึ่ง เพื่อจะได้เข้าใจว่า บางทีเราศึกษาธรรม ธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่เห็นพึ่งอย่างไรเลย กลับไปบ้าน ยังหิวข้าว ยังกินข้าวอยู่เลย ให้อาจารย์อธิบายว่าให้เห็นว่า ธรรมเป็นที่พึ่งอย่างไร
ท่านอาจารย์ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องเสวยหรือเปล่า เป็นพระบรมศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ตราบใดที่ยังมีรูป ไม่ใช่อรูปพรหม ถ้าเป็นรูปพรหมก็ไม่ต้องบริโภคอาหารเป็นคำๆ หรือเทวดาก็มีอาหารทิพย์ ไม่ลำบากอย่างของเรา ซึ่งกว่าจะได้มาแต่ละอย่างที่มาปรากฏอยู่ในจาน ต้องไปถึงตลาด เรื่องมากมาย กว่าจะสำเร็จไปแต่ละมื้อ แต่ละคราว เป็นเรื่องที่เห็นความต่างกัน แต่ว่าตราบใดก็ตามที่มีนามธรรมกับรูปธรรม ต้องดำรงอยู่ได้ด้วยอาหาร
อ. สมพร เรื่องหลักใหญ่ ปัญญา การเจริญสติปัฏฐาน ต้องปัญญา ต้องคบสัตบุรุษ ต้องคบเพื่อนที่ดี คือ กัลยาณมิตรก็ได้ หรือสัตบุรุษก็ได้ ถ้ามิฉะนั้นแล้วเราไปคบเพื่อนชั่ว มีทรัพย์เท่าไรๆ อย่าว่าแต่เท่านี้เลย มากกว่านี้ก็พินาศได้ ท้ายที่สุดก็จะต้องหมดเนื้อหมดตัว ตายเปล่าๆ ไม่มีสาระเลย
หลักใหญ่ที่จะทำให้ปัญญาเกิดขึ้นต้องคบกัลยาณมิตร หรือสัตบุรุษ เมื่อคบแล้วกัลยาณมิตรจะพูดอะไรกับเรา พูดแนะนำประโยชน์ให้กับเรา คือเรื่องสติปัฏฐาน นี้เป็นประโยชน์อย่างสูงสุด ถ้าเราไปคบมิตรชั่ว ก็พาเราไปมัวเมาในสิ่งที่ไม่มีสาระ เพราะฉะนั้น เรื่องปัญญาจะทำให้เราพ้นทุกข์ คือการคบ
ผู้ฟัง ดูเหมือนต้องการทราบว่า ธรรมเป็นที่พึ่ง ให้อาจารย์อธิบายให้ผมฟังหน่อย คำว่า ธรรมเป็นที่พึ่ง
ท่านอาจารย์ ทุกอย่างเป็นธรรม ธรรมฝ่ายดีก็มี ฝ่ายไม่ดีก็มี เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นอกุศลกรรมพึ่งไม่ได้แน่ แต่ทางฝ่ายกุศลกรรมก็พึ่งได้ตามลำดับขั้นของกุศลนั้นๆ เช่น ถ้ากุศลที่เป็นไปในทาน ให้ผล คือ สามารถที่จะมีวิบากจิตที่ดี แล้วก็ได้รูป ได้เสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสที่น่าพอใจ เพราะว่าเป็นผลของกุศล ไม่ว่าจะเป็นกุศลขั้นทาน ขั้นศีล หรือขั้นสมถภาวนา ก็ไม่พ้นจากสังสารวัฏฏ์ ถ้าพึ่งจริงๆ อย่างทุกคนก็กล่าวคำถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง คือทั้งพระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ แต่พึ่งแล้วหรือยัง หรือว่าพึ่งหรือเปล่า เช่น มีพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง จะพึ่งในลักษณะไหน ถ้าพึ่งในลักษณะที่ขอ พอมีทุกข์ยากก็ขอ ขอใครดี ขอพระพุทธเจ้าก็คงจะดี ก็ไปนั่งกราบไหว้ แล้วก็ขอ อย่างนั้นพระองค์ไม่ได้เป็นที่พึ่งอย่างนั้น แต่ที่พึ่งเหนือบุคคลอื่นที่เราจะพึ่งได้ คือพึ่งพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ ที่ทรงแสดงพระธรรมให้เราสามารถที่จะเกิดปัญญารู้สภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ตามปกติตามความเป็นจริงขึ้นทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะประจักษ์แจ้ง นี่จึงจะเป็นการพึ่งพระปัญญาคุณ ซึ่งการพึ่งพระธรรมก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่ทรงแสดงพระธรรมให้บุคคลได้ศึกษาได้เข้าใจ ก็ไม่มีทางที่เราจะพึ่งพระธรรมได้เลย เพราะว่า เราไม่สามารถที่จะรู้ว่า พระธรรมที่ตรัสรู้ และทรงแสดงนั้นคืออะไรบ้าง แต่ว่าเมื่อได้ศึกษาแล้วก็สามารถที่จะทราบได้ว่า ธรรมซึ่งจะเป็นที่พึ่งคือ โพธิปักขิยธรรม เพราะเหตุว่าพึ่งให้เราได้ถึงที่สุดของสังสารวัฏฏ์
ผู้ฟัง ถ้าเรามีธรรมเป็นที่พึ่ง ตอนนี้เท่ากับว่า บุตรเศรษฐีที่มีเงิน ๑๖๐ โกฏิ คงไม่หมด หมายถึงว่า เขามีธรรมอยู่ในใจก็เป็นที่พึ่ง
ท่านอาจารย์ เรื่องเงินคงไม่สำคัญเท่าปัญญา เพราะว่ามีเงินเท่าไรก็ไม่สามารถที่จะซื้อนิพพานได้ หรือว่าจะทำให้เป็นพระอริยบุคคล ก็ไม่ได้
ผู้ฟัง ธรรมมีมากมาย ธรรมที่เป็นใหญ่ที่สุด คือข้อไหน ธรรมข้อไหน
ท่านอาจารย์ อนัตตาหมายความถึงอะไร เป็นลักษณะของสภาพธรรมทุกอย่าง คือ ไม่สามารถจะบังคับบัญชาได้
ผู้ฟัง บุตรเศรษฐีทั้งภรรยา ถ้าเอาชื่อออกทั้ง ๒ ท่าน เอาเรื่องราวออกทั้ง ๒ ท่าน ก็จะเหลือแต่จิตเจตสิกที่สะสมมาที่จะเป็นพระอรหันต์ เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี แล้วก็ก่อนที่จะสะสมมาเป็นพระอรหันต์ได้ เป็นพระอริยบุคคล พร้อมที่จะเป็น อย่างน้อยที่สุดจะต้องมีการอบรมปัญญาบารมีมา มีปัญญาที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง สะสมมาไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไร แต่ทำไมถึงว่า ในวัยขั้นต้น ขั้นกลาง ขั้นปลาย ทำไมจะไม่มีเหตุอันใดเลยหรือ ที่จะทำให้ทั้ง ๒ ท่าน เข้าถึงพระอริยบุคคล หรือเป็นพระอรหันต์ได้
ท่านอาจารย์ ก่อนอื่น ขอให้ความหมายของพรหมจรรย์ก่อน เท่าที่ทราบ พรหม คือประเสริฐ จรรย์ คือความประพฤติ เพราะฉะนั้น พรหมจรรย์ คือ ความประพฤติที่ประเสริฐ ความประพฤติที่ประเสริฐก็มีหลายขั้น เพราะฉะนั้น สำหรับเศรษฐี เราไม่ทราบเลยถึงอดีตชาติแสนโกฏิกัปป์ หรือนานกว่านั้นว่า เขาสะสมอะไรมาบ้าง ในเรื่องของการที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม แต่ว่ายังไม่ได้ดับกิเลสเลยสักอย่าง
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้เลย ถึงจะเป็นคนดีในชาติหลายๆ ชาติ มีการฟังธรรมมาในหลายๆ ชาติ มีการอบรมเจริญปัญญาถึงระดับ ที่สามารถจะถึงความเป็นพระอรหันต์ในชาตินั้น แต่ถ้าไม่มีปัจจัยพร้อมที่จะทำให้เกิดปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ปัญญาขั้นนั้นก็เกิดไม่ได้
เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ อย่างท่านพระสารีบุตร มีปัจจัยที่ท่านจะได้พบท่านพระอัสสชิ แล้วก็ได้ฟังธรรมของท่าน เมื่อได้ฟังธรรม จะเห็นปัจจัยของท่านพระสารีบุตรที่ได้สะสมมา พร้อมที่จะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง ซึ่งสภาพธรรมที่ปรากฏแก่ท่านพระสารีบุตร เมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปี ทางตาคือสิ่งที่กำลังปรากฏอย่างนี้ ทางหูคือเสียง ทางจมูกคือกลิ่น ทางลิ้นคือรส ทางกายสิ่งที่กระทบสัมผัสแล้วปรากฏเป็นอ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ทางใจเป็นการคิดนึก เป็นสภาพธรรมต่างๆ ก็เป็นชีวิตประจำวันจริงๆ แต่ให้เห็นว่า ยากมากที่สามารถที่จะรู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าในขณะนี้ สิ่งที่ปรากฏทางตามี ฟังมานานแสนนานก็ยังเห็นคน เห็นโต๊ะ เห็นเก้าอี้ เห็นทุกอย่าง ลืมคิดสนิทไปเลยว่า ถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา จะมีการนึกถึงเรื่องราวที่เป็นคนเป็นสัตว์ที่นี่หรือเปล่า แต่เพราะเหตุว่ามีสิ่งที่ปรากฏทางตาอย่างไร ก็นึกคิดตามสิ่งที่ปรากฏทางตา เช่น ถ้าเห็นดอกมะลิ ก็จะคิดเป็นดอกมะลิ เพราะเหตุว่าเห็นสิ่งนี้ ที่กำลังปรากฏ ถ้าเห็นถ้วยแก้ว ก็มีสิ่งที่ปรากฏให้คิดเป็นถ้วยแก้ว
การที่เราไม่สามารถจะรู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเกิดแล้วดับ อย่างรวดเร็วว่า ถ้ามีสิ่งที่ปรากฏโดยไม่มีการคิดนึกเลย ทางใจ สิ่งใดๆ ก็ไม่มีทั้งสิ้น เพียงปรากฏเป็นสีสันวัณณะต่างๆ เท่านั้น แต่เมื่อสิ่งที่ปรากฏทางตาดับไปแล้วก็จริง แล้วก็มีการคิดนึกเรื่องราวของสิ่งที่ปรากฏทางตาด้วยความจดจำ เนิ่นนามมาแล้วที่จะเป็น อัตตสัญญา
เมื่อเห็นก็มีความยึดถือมั่นคงว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาไม่ดับ แต่ว่าผู้ที่สะสมปัญญามาพร้อมที่สามารถรู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ เพียงฟังก็สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้
การสะสมของแต่ละคน เมื่อสะสมไป มีความรู้ความเข้าใจสภาพธรรมเพิ่มขึ้น ก็ต้องแล้วแต่ว่า ขณะนั้น ถึงกาลมีปัจจัยที่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้หรือเปล่า แต่ต้องฟัง เมื่อเป็นสาวก ผู้ที่เป็นสาวกจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมโดยไม่ฟัง เหมือนอย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระปัจเจกพุทธเจ้าไม่ได้
เพราะฉะนั้น ก็เห็นความจริงว่า อย่างไรๆ ถึงแม้ว่า สะสมไปในฐานะของสาวกก็ต้องมีการฟังให้เข้าใจในสิ่งที่ปรากฏ แล้วแต่ว่าปัญญาระดับใดจะเกิดขึ้น
นิภัทร คาถาที่พระพุทธองค์ตรัส มีอยู่ ๒ ตอน ตอนแรกก็ว่า พวกคนเขลาไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ได้ทรัพย์ในคราวยังเป็นหนุมสาว ย่อมซบเซา ดั่งนกกระเรียนแก่ซบเซาอยู่ในเปลือกตมที่หมดปลา ฉะนั้น เป็นคาถาแรก คาถาที่ ๒ พวกคนเขลาไม่ประพฤติพรหมจรรย์ ไม่ได้ทรัพย์ในคราวยังเป็นหนุ่มสาว ย่อมนอนทอดถอนถึงทรัพย์เก่า เหมือนลูกศรที่ตกจากแล่งฉะนั้น คาถา ๒ คาถา ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น น่าสงสัยไหม ทำไมถึงได้บรรลุ
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 301
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 302
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 303
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 304
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 305
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 306
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 307
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 308
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 309
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 310
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 311
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 312
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 313
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 314
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 315
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 316
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 317
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 318
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 319
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 320
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 321
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 322
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 323
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 324
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 325
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 326
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 327
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 328
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 329
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 330
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 331
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 332
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 333
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 334
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 335
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 336 ***
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 337
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 338
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 339
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 340
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 341
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 342
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 343
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 344
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 345
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 346
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 347
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 348
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 349
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 350
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 351
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 352
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 353
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 354
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 355
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 356
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 357
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 358
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 359
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 360