ปกิณณกธรรม ตอนที่ 332


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๓๒

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ ในขณะนี้ที่กำลังนั่ง แล้วก็ฟังพระธรรมต้องรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง สงบหรือไม่สงบ คุณเด่นพงศ์ว่าไม่สงบ ใช่ไหม ช่วยกรุณาให้ความเห็นด้วย ทำไมว่าไม่สงบ

    ผู้ฟัง เพราะว่าจิตไม่อยู่กับที่ฟังไป แต่ว่าจิตมันไปคิดเรื่องอื่นอยู่เสมอๆ มันไม่มีความสงบ

    ท่านอาจารย์ นี่คือความตรง ซึ่งบางคนถ้าไม่ตรง ก็อาจจะบอกว่า กำลังฟังก็เป็นกุศล ก็ต้องสงบจากอกุศล แต่ความจริงจิตเกิดดับสลับกันเร็วกว่านั้นมาก เพียงได้ยินเสียงบางเสียง เมื่อกี้นี้ก็อาจจะมีเสียงไมโครโฟนขัดข้อง ขณะนั้น จะสงบไหม ไม่สงบแล้ว ถ้าเห็นดอกไม้สวยๆ กำลังนั่งฟังธรรม แต่ตาก็เห็นดอกไม้สวย ขณะที่เห็นดอกไม้สวย สงบไหม ไม่สงบ มีความติดข้องแล้ว

    สภาพธรรมจริงๆ เกิดดับเร็วมาก ต้องเป็นผู้ฟังแล้วก็พิจารณา เป็นผู้ที่ละเอียดด้วยที่จะไม่หลงผิด เพราะฉะนั้น ขณะใดที่สงบก็คือขณะที่เป็นกุศล ไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ขณะนี้มีกุศลจิตที่สงบสลับกับอกุศลจิตที่ไม่สงบ

    ถ้าอกุศลจิตที่ไม่สงบมีมาก ลักษณะของความสงบก็ไม่ปรากฏ แต่ถ้าขณะนี้ไม่ได้สนใจเรื่องอื่นเลย กำลังฟัง แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจธรรม ขณะนั้นก็จะไม่ไปคิดถึงเรื่องเสียง หรือว่าเรื่องอื่น ลักษณะของความสงบก็จะปรากฏบ้างแต่สั้นมาก เพราะเหตุว่าสภาพธรรมตามธรรมดา เราอดที่จะเห็นไม่ได้ เราอดที่จะได้ยินไม่ได้ ในขณะที่กำลังฟังอยู่ขณะนี้ ได้ยินแล้วก็คิดด้วย แต่คิดเรื่องที่กำลังฟัง หรือว่าคิดเรื่องอื่น แต่ที่จะไม่ให้คิดเลย เป็นไปไม่ได้ ขณะที่เห็นก็เช่นเดียวกัน ขณะที่เห็นแล้วก็คิด เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่กำลังฟังก็เป็นกุศลที่สั้นสลับกับเห็น ซึ่งขณะที่เห็นไม่ได้คิดอะไร เพราะเป็นจิตที่เพียงกำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ หรือว่าขณะที่กำลังได้ยิน สภาพที่ได้ยิน ขณะนั้นมีแต่เสียงปรากฏให้รู้ว่าเสียงนั้นมีลักษณะอย่างนั้น

    ขณะที่ได้ยินไม่ได้คิด แต่จะมีจิตที่คิดสลับอยู่ตลอดเวลา หลังเห็นแล้วก็คิด เป็นของธรรมดา หลังได้ยินแล้วก็คิด จะมีจิตที่คิดสลับอยู่

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า กุศลที่เกิดสั้น เพราะว่าจะมี สิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหูหรือว่าอาจจะเป็นทางจมูก ทางลิ้น หรือทางกาย เกิดแทรกคั่นสลับอยู่ตลอดเวลา ผู้ที่มีความเข้าใจถูกต้องว่า วันหนึ่งๆ กุศลจิตจะเกิดไม่มาก แล้วถึงแม้ว่าเกิด ก็มีอกุศลจิตสลับ ถ้าเห็นขณะใด ได้ยินขณะใด ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่จะไม่ให้จิตหวั่นไหวไปในทางกุศล หรืออกุศล ยาก นอกจากจะมีหนทางที่ชื่อว่า สมถภาวนา เป็นการอบรมเจริญกุศลที่ทำให้จิตเป็นกุศลเพิ่มขึ้น บ่อยขึ้นจนกระทั่ง ถ้าสามารถที่จะถึงลักษณะของอัปปนาสมาธิ ซึ่งไม่ง่ายเลย แต่ว่าจะเริ่มจากสมาธิขั้นแรกๆ จนกระทั้งถึงขั้นที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส จิตมั่นคงอยู่ที่ลักษณะของอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบได้ ขณะนั้นก็เป็นผลของสมถภาวนา คือ เป็นขณะที่ไม่มีการเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส และรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ซึ่งไม่ง่าย แต่ว่าในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ได้ตรัสรู้ ก็จะมีผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนามาก จนกระทั่งสามารถที่จะถึงฌานจิตขั้นสูงสุด คือเป็นอรูปฌาน ซึ่งโดยชื่อก็อาจจะมีคนที่ได้ยินได้ฟังชื่อนี้บ่อยๆ หรืออาจจะคิดว่าตนเองได้บรรลุฌานขั้นนี้แล้วก็ได้ คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน มีสัญญาก็ไม่ใช่ สัญญาคือความจำ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ เพราะฉะนั้น ลักษณะของจิตจะสงบประณีตสูงสุด แต่แม้กระนั้นก็ไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่สามารถที่จะดับกิเลสได้เป็นสมุจเฉท

    นี่คือความต่างกันของสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนา นี่คือสมถภาวนาเท่านั้น ยังไม่ได้พูดถึงวิปัสสนาภาวนา

    มีข้อสงสัยตอนนี้ไหม เรื่องสมถภาวนา ยากหรือง่ายลองคิดดู

    ผู้ฟัง คำว่า สมาธิ อยู่ด้วย แล้วก็มี สมถะ อยู่ด้วย บางทีเราก็ได้ยินว่า ถ้าคนไหนที่ทำสมาธิให้สนิทแนบแน่น จริงๆ โดยไม่รู้ตัว ก็แสดงว่าเป็นสมาธิที่ไม่มีปัญญา อย่างนั้นเรียกว่า ไม่ใช่สมถะ ใช่ไหม เป็นแค่สมาธิ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องทราบว่า สมาธิไม่ใช่รูปธรรม ต้องแยกธรรมออกเป็น ๒ ประเภทใหญ่ คือสภาพที่ไม่รู้อะไรเลยทั้งหมดเป็นรูปธรรม ส่วนสภาพรู้ที่เกิดขึ้นก็มีจิต กับเจตสิก เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงสมาธิ รูปไม่ใช่สมาธิแน่ ต้องแยกออกก่อนว่า เป็นนามธรรม จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้ เช่นขณะนี้กำลังเห็น ส่วนความรู้สึกดีใจ เสียใจ หรือว่าความชอบ ความชัง ความริษยา ความเมตตา วิริยะ ความเพียร ชีวิตประจำวันทั้งหมด ที่เราใช้คำ ให้หมายความถึงสภาพธรรม ที่มีในขณะนั้นเป็นเจตสิกทั้งหมด เกิดกับจิตซึ่งเป็นใหญ่ เป็นประธานในการเพียงรู้แจ้งในลักษณะของอารมณ์ที่กำลังปรากฏ อารมณ์คือสิ่งที่จิตกำลังรู้ เช่น ขณะนี้เห็น สิ่งที่ถูกเห็นเป็นอารมณ์ของจิตเห็น ถ้าเป็นเสียงปรากฏ เสียงก็เป็นอารมณ์ของจิตได้ยิน หมายความว่า ขณะนั้นจิตกำลังมีเสียงนั้นเป็นอารมณ์ เป็นสิ่งที่ถูกจิตรู้

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องทราบว่าสมาธิ เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เป็นเอกัคคตาเจตสิก ถ้าชื่อก็เป็นภาษาบาลี ต่อไปก็คงจะคุ้นหู แต่หมายความว่าลักษณะของสมาธิหรือเจตสิกชนิดนี้มี เป็นสภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ที่ปรากฏ เกิดกับจิตทุกขณะ ในขณะที่กำลังเห็นมีสิ่งที่ปรากฏทางตา มีจิตที่รู้แจ้งในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะปรากฏอย่างไร จิตก็เห็นสิ่งนั้น ที่รู้ว่าเห็นอะไร ก็คือจิตกำลังเห็นแจ้งในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ โดยที่เอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิต ตั้งมั่นในอารมณ์ชั่วขณะสั้นๆ ทุกขณะไป ไม่ต้องกังวลถึงเรื่องของสมาธิ เพราะเหตุว่าสมาธิเกิดกับจิตทุกประเภท ถ้าเกิดกับอกุศลจิตเป็นอกุศลสมาธิ ถ้าเกิดกับกุศลจิตก็เป็นกุศลสมาธิ

    เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่า ถ้าเป็นการที่จิตจะสงบจริงๆ ต้องประกอบด้วยปัญญา ที่สามารถเข้าใจว่า ขณะนี้ไม่สงบ แล้วจึงรู้หนทางว่า ถ้าจะสงบในขณะนี้คืออย่างไร ถ้าไม่มีปัญญาที่จะรู้ว่า จิตจะสงบขึ้นได้อย่างไร คนนั้นก็ไม่สามารถที่จะมีจิตที่สงบได้ แต่ว่าอาจจะมีความต้องการที่จะให้จิตจดจ้องอยู่ที่หนึ่งที่ใด แล้วก็เข้าใจว่าขณะนั้นสงบ แต่ความจริงเวลาที่เรากำลังทำอะไรอยู่ เช่น กำลังเย็บเสื้อ หรือว่ากำลังปักดอกไม้ในแจกัน หรือว่าจะเขียนหนังสือ หรือทำอะไรก็ตาม ขณะนั้นมีลักษณะของสมาธิเกิดร่วมด้วย แต่ขณะนั้นไม่ใช่กุศล ต้องเป็นอกุศล

    ด้วยเหตุนี้ถ้าเรามีความต้องการ ที่จะให้จิตตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด ขณะนั้นไม่ใช่เป็นการละ แต่เป็นความต้องการ แล้วก็พากเพียรที่จะทำให้จิตตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์นั้น แล้วก็มีความตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์นั้น จริงๆ มีความยินดีพอใจด้วย ที่ขณะนั้นสามารถที่จะตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์นั้น ขณะนั้นก็เป็นมิจฉาสมาธิ เพราะเหตุว่าจริงๆ แล้วไม่สงบ

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น พวกเราส่วนใหญ่ที่เข้าใจกัน เวลาไปปฏิบัติธรรมกันหลายๆ แห่ง ไปนั่งสมาธิ จิตตั้งมั่นแล้วมันรู้สึกมีความสุข มีความสบาย ก็คิดว่าอันนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นมิจฉาสมาธิไป เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่ก็คงเป็นมิจฉาสมาธิกันทั้งนั้นที่เห็นๆ กันอยู่ในหลายๆ แห่ง อย่างนั้นใช่หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นสัมมาสมาธิต้องประกอบด้วยปัญญา ไม่ใช่กุศลธรรมดา กุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา ให้ทานก็ได้ รักษาศีลจะกี่ข้อก็ได้ หรือว่าจะทำกุศลอื่น เช่น ช่วยเหลือบุคคลอื่นก็ได้ ทำกุศลอื่นใดได้หมด แต่ถ้าจะอบรมเจริญความสงบของจิต ซึ่งเป็นสมถภาวนาที่จะให้จิตสงบยิ่งขึ้น ต้องประกอบด้วยปัญญา แล้วปัญญาที่นี้ ปัญญาระดับของสติสัมปชัญญะ

    เวลาที่กุศลเกิดขึ้น กุศลทุกประเภทต้องมีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย จึงจะระลึกเป็นไปในกุศล ถ้าเพียงแต่คิดเรื่องใดๆ ก็ตาม ขณะนั้นไม่ใช่สติ เช่น คิดว่าเมื่อวานนี้ทำอะไรบ้าง ขณะนั้นก็ไม่ใช่เป็นไปในทาน ในศีล ในภาวนา เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่สติ สติต้องเป็นไปในเรื่องของกุศล เพราะฉะนั้น ถ้าจิตคิดที่จะให้ทาน ขณะนั้นเพราะสติเจตสิก จึงระลึกเป็นไปในทาน เพราะว่าวันหนึ่งๆ เป็นอกุศลส่วนใหญ่ สติที่จะเป็นไปในทานหรือเป็นไปในกุศลประการใดๆ ก็ไม่เกิดขึ้น ถ้าขณะนั้นเป็นอกุศล

    สติขั้นทาน หรือสติขั้นศีล ก็สามารถที่จะเกิดได้ โดยที่ว่าไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่ถ้าเป็นระดับของภาวนาต้องประกอบด้วยปัญญา จึงจะสำเร็จได้ เพราะฉะนั้น บางคนมีอุปนิสัยที่ได้สะสมมาเป็นทานุปนิสัย เป็นคนที่มีอัธยาศัยในการที่จะให้วัตถุ ถ้าเห็นใครที่ต้องการ หรือว่าลำบาก เขาก็สามารถที่จะสละวัตถุให้ ไม่ยากเลย เพราะเหตุว่าสะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น นั่นคือทานุปนิสัย หรือว่าบางคนก็อาจจะไม่ค่อยได้ให้ทาน แต่กายวาจาดีมาก วิรัติคำที่จะทำให้คนอื่นไม่สบายใจ แล้วก็จะมีคำที่น่าฟัง เพราะสะสมสีลุปนิสัย ในการที่จะไม่ใช้คำที่ไม่น่าฟัง แต่ขณะนั้นไม่ใช่สมถภาวนา แต่เป็นขณะจิตที่เกิดขึ้นด้วยเมตตาบ้าง หรือด้วยกรุณาบ้างซึ่งได้สะสมมา แต่ถ้าจะสะสมให้เป็นการสงบที่เพิ่มขึ้น ต้องประกอบด้วยปัญญาที่สามารถจะรู้สภาพจิต เช่นในขณะนี้รู้ว่า สงบหรือไม่ ถ้าไม่รู้ก็อบรมเจริญสมถภาวนาไม่ได้ เพราะเหตุว่าสมถภาวนาจะละนิวรณธรรมซึ่งเป็นอกุศลทุกประเภท จึงสามารถที่จะสงบขึ้นได้

    ผู้ฟัง ในหลายๆ แห่งที่ฟังมา ถ้าเผื่อว่าเป็นสมถะหรือสมาธิ ไม่ค่อยจะประกอบด้วยปัญญา แต่พอไปพูดถึงวิปัสสนาต้องประกอบด้วยปัญญาด้วย สมถะก็ต้องประกอบด้วยปัญญา วิปัสสนาก็ต้องประกอบด้วยปัญญา มันต่างกันตรงไหน ถ้าอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ต่างขั้น เพราะสมถภาาวนาเป็นการอบรมเจริญความสงบของจิตให้สงบขึ้น แต่ไม่สามารถที่จะเห็นถูก เข้าใจถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แต่สำหรับวิปัสสนาภาวนา ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไม่มีการเจริญหรืออบรมสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นการอบรมเจริญให้เกิดวิปัสสนา เป็นปัญญาที่เห็นแจ้งตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ซึ่งไม่ใช่เราเลย สามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจถูกขึ้น จนกระทั่งดับการยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน แล้วความเห็นผิดทั้งหลายได้

    ผู้ฟัง จะเรียกว่า เริ่มจากสมาธิ แล้วต่อไปที่สมถะ แล้วต่อไปวิปัสสนา พอจะได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ต่อเองคงไม่ได้

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ต่อเอง คือ เป็นการฝึกอบรม

    ท่านอาจารย์ ฝึกเองก็ไม่ได้ ต้องมีการฟังธรรม แล้วถึงจะเกิดปัญญาที่รู้ความต่างของภาวนาทั้ง ๒ อย่าง มิฉะนั้นจะสับสน ไม่ใช่วิปัสสนาเลย ก็เรียกว่าวิปัสสนา โดยที่ว่าไม่รู้ว่าวิปัสสนาเป็นปัญญาอีกระดับหนึ่ง ขณะที่ฟังแล้วก็มีความเข้าใจถูก นี่ก็เป็นปัญญาระดับขั้นฟัง แล้วถ้ามีการฟัง มีความเข้าใจที่มั่นคงขึ้น ก็จะมีความเข้าใจว่า ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏทั้งหมดที่เคยเป็นเรา คือลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เช่น เห็นขณะนี้มีจริงๆ ได้ยินได้ฟังว่า เป็นธรรม แต่ก็ต้องมีการไตร่ตรอง และการฟังจนกระทั่งค่อยๆ เข้าใจขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมซึ่งมีจริงๆ แต่ไม่เคยที่จะรู้ลักษณะนั้น ถ้าเริ่มที่จะมีการเข้าใจลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ นั่นคือการอบรมหนทาง ที่จะทำให้ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ขณะนี้ถ้าไม่รู้อะไรเลยในเรื่องของสภาพธรรม ก็เหมือนอยู่ในความมืด พูดเรื่องจิต จิตก็อยู่ในความมืดมองไม่เห็น พูดเรื่องเอกัคคตา ซึ่งเป็นลักษณะของความตั้งมั่น สภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์ ขณะนี้ทุกขณะจิตต้องมีเจตสิกนี้ถึงเกิดร่วมด้วย ก็อยู่ในความมืดอีก ถ้าพูดถึงโทสะ มีอาการที่ปรากฏ ขุ่นใจ ไม่สบายใจ แต่เป็นเราต่างหาก ยังไม่รู้เลย แท้ที่จริงแล้ว ก็คือธรรม ซึ่งไม่ว่าจะเห็นสิ่งซึ่งที่ไม่น่าพอใจก็ขุ่นใจ ได้ยินเสียงที่ไม่น่าพอใจก็ขุ่นใจ ไม่น่าพอใจแล้วจะไปพอใจ ก็คงเป็นไปไม่ได้

    ทั้งโลภะ ทั้งโทสะ ทั้งวิริยะ ความเพียร ริษยา มานะ ทั้งหมดมีจริงแต่อยู่ในความมืดทั้งหมด เพราะเหตุว่าไม่ได้ปรากฏลักษณะที่เป็นธรรม แต่ปัญญาที่เป็นวิปัสสนา จะมีความเห็นถูกในขั้นของการฟังอย่างมั่นคงที่จะรู้ว่า ไม่มีใครหนีพ้นธรรมได้เลย ขณะที่นั่งอยู่ตรงนี้ ก็มีธรรมตรงนี้ อยู่ที่บ้านหรือจะไปไหนก็ตาม ก็คือธรรมทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น ไม่มีใครที่จะแยกเป็นตัวเรา แล้วก็มีธรรมต่างหาก ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ก็คือเข้าใจว่า สิ่งที่มีทั้งหมด แท้จริงแล้วเป็นธรรมลักษณะต่างๆ หลากหลาย ตั้งแต่เด็กจนโต ตั้งแต่เกิดจนตาย

    นี่คือการที่จะมีความเข้าใจที่ว่า โดยขั้นการฟัง แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประจักษ์แจ้งสภาพธรรม แล้วก็ทรงแสดงหนทาง ที่จะทำให้แต่ละคนอบรมเจริญปัญญาของตัวเอง จนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้

    เพราะฉะนั้น ก็จะรู้ได้เลยว่าขั้นฟัง คือ ขั้นที่ยังไม่ประจักษ์แจ้ง แต่สามารถที่จะอบรมจนกระทั่งประจักษ์แจ้งได้ นั่นคือวิปัสสนาภาวนา

    ผู้ฟัง คำว่า ที่บุคคลไม่ฝึกฝน แล้วก็ที่บุคคลไม่สำรวม อันนี้มันทำให้รู้สึกยาก เพราะว่า คำว่า ภาวนา ฟังไปฟังมา ไม่ใช่เราภาวนา เป็นเรื่องของจิต เป็นการทำงานของจิต เจตสิก ทีนี้ตรงนี้ที่ทำให้เรารู้สึกว่ายาก พอทำอะไรไป มาติดอยู่ที่ตัวเราๆ พอจะฝึกอบรม ก็กลายเป็นเราอบรม พอจะสำรวม ก็กลายเป็นเราสำรวม ทีนี้ ตรงนี้ ที่มันแยกไม่ออก แล้วก็ถามอาจารย์ อาจารย์ก็บอกว่าให้ฟังต่อไป ผมก็ฟังของผมอยู่อย่างนี้ มันก็ไม่ได้อะไรเท่าไร ก็เลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้น เราไปหาที่ๆ มันสงบๆ ให้มันสบายๆ มันจะได้มีการสำรวม จะดีไหม

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าธรรมเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง ถ้าไม่ลึกซึ้งคงจะไม่ต้องเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงบำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงไขยแสนกัป สำหรับผู้ที่ยิ่งด้วยปัญญา ๘ อสงไขยแสนกัป สำหรับผู้ที่ยิ่งด้วยศรัทธา ๑๖ อสงไขยแสนกัป สำหรับผู้ที่ยิ่งด้วยวิริยะ กัปหนึ่งไม่ใช่ชาติหนึ่ง ไม่ใช่ปีหนึ่ง เพราะเหตุว่าธรรมกำลังปรากฏเกิดขึ้น แต่ไม่รู้ เพราะฉะนั้น เวลาที่เราจะรู้อย่างที่ว่า ฟังดูเหมือนเข้าใจ อย่างผัสสายตนะ ๖ แต่ว่าอยู่ที่ไหน เดี๋ยวนี้หรือเปล่า ฟังแล้วเข้าใจ แต่ไม่รู้ว่า อยู่ที่ไหน แล้วไม่รู้ว่า เดี๋ยวนี้ใช่ไหมที่เป็นผัสสายตนะ

    เพราะฉะนั้น ก็คิดว่าต้องไปหาที่อื่น หรือว่าคิดว่าจะไปป่า แล้วจะไปที่สงบเงียบ แต่เดี๋ยวนี้อยู่ที่ไหน นั่นคือความคิด เพียงความคิดเกิดขึ้นว่าจะไป คิดว่าจะไปรู้ธรรมที่โน้น แต่ถ้าขณะนี้ไม่สามารถจะรู้ธรรมได้ ขณะแรกที่จะเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมไม่มี แล้วจะไปมีได้อย่างไร ที่ไหน อีกอย่างหนึ่งที่ว่า ธรรมลึกซึ้ง เพราะเหตุว่าเป็นอนัตตาจริงๆ โดยถ่องแท้ โดยละเอียด โดยทั้งปวง คือ ไม่มีอะไรเลยที่เป็น อัตตา แต่ในความรู้สึกของผู้ที่ไม่ได้เข้าใจในความเป็นอนัตตา ก็จะเต็มไปด้วยอัตตา มีแต่เราต้องการ เราหาวิธี เราคงจะเป็นอย่างนี้ เราคงจะเป็นอย่างนั้น ถ้าอยู่ที่โน่น แต่ไม่ได้คิดว่า ที่จริงแล้วการเข้าใจธรรมเป็นพื้นฐาน ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน เป็นเรื่องละ แต่ทั้งหมดที่ฟังแล้วกลับเป็นเรื่องต้องการ พอได้ยินแล้วก็มีความต้องการ อย่างเมื่อเช้าก็มีเรื่องของ เครื่องเนิ่นช้า น่าจะคิดว่า เนิ่นช้าอะไร ไปไหนกัน ถึงจะต้องเนิ่นช้า เนิ่นช้าเพราะเหตุว่า พอรู้ว่า เครื่องเนิ่นช้าก็คือ พอรู้ว่ามีกิเลสอยากหมด พอรู้ว่ามีปัญญาอยากมี

    เครื่องเนิ่นช้าหรือเปล่า ตัวนี้ ความอยาก ถ้ารู้ว่าปัญญาจะมีได้อย่างไร ถ้าไม่ฟัง ไม่ไตร่ตรองโดยละเอียด ปัญญาจะเกิดได้ไหม ถ้ารู้อย่างนี้แล้วเราก็ไม่ต้องไปเป็นห่วง ไม่ต้องไปอยากมีปัญญา หรือไม่ต้องไปอยากทำวิปัสสนา หรือว่าไม่ต้องไปอยากรู้ ในเมื่ออยากก็ไม่รู้ แต่ถ้ามีเหตุ คือ ความเข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็สามารถจะรู้ว่า ขณะนี้ เป็นผัสสายตนะ แล้วยังสามารถจะรู้ได้ด้วยว่าทางไหน ถ้าขณะที่เห็น ก็เพราะผัสสเจตสิกกระทบสิ่งที่ปรากฏทางตา ทั้งๆ ที่กำลังได้ยิน คนอื่นก็คิดเรื่องอื่น เพราะเหตุว่าผัสสเจตสิกเป็นอนัตตา จะให้ได้ยินแล้วก็คิดถึงเรื่องที่ได้ยินโดยตลอด เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าประเดี๋ยวก็คิดถึงเรื่องอื่นแล้ว จะไม่มีผัสสเจตสิกไม่ได้ ในขณะที่คิด เพราะว่าผัสสเจตสิกเกิดกับจิตขณะใด จิตก็รู้อารมณ์คือสิ่งที่ผัสสะกระทบ

    ผัสสายตนะ ไม่ใช่อยู่ที่อื่นเลย ถ้าสามารถเข้าใจผัสสายตนะขณะนี้ได้ นั่นคือมีความเข้าใจถูก ไม่ใช่ว่าต้องหลบเลี่ยงขณะนี้ไปหาขณะอื่น แล้วอีกอย่างหนึ่งสิ่งซึ่งทุกคนอาจจะคิดไม่ถึง หรือว่าลืมไป เพราะว่าเวลาฟังธรรม ก็อยากจะมีปัญญาบ้าง อยากจะสงบบ้าง แต่พระธรรมที่ทรงแสดง ที่จะเทียบเคียงรู้ได้ว่า อะไรเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และอะไรไม่ใช่

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567