ปกิณณกธรรม ตอนที่ 333
ตอนที่ ๓๓๓
สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า
พ.ศ. ๒๕๔๗
ท่านอาจารย์ พระธรรมที่ทรงแสดง ที่จะเทียบเคียงรู้ได้ว่า อะไรเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และอะไรไม่ใช่ ก็คือคำสอนใดที่เป็นไปเพื่อละ จึงจะเป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ถ้าเป็นไปเพื่อได้ หรือว่าเพื่อตัวตน ด้วยความต้องการ นั่นไม่ใช่คำสอน
ผู้ฟัง มันเป็นบัญญัติอยู่สมมติได้ยินเสียง ก็ได้ยินเสียงนายเด่นพงศ์พูด ก็เป็นบัญญัติอยู่ ทีนี้มันจะเรียนได้อย่างไร ถ้าอยู่ในสังคมอย่างนี้ ผมถึงบอกว่าสักนิดหน่อย ออกไปให้มีสำรวมหน่อย ไปอยู่คนเดียวหน่อย นั่งคิดหน่อย ตรึกหน่อย ตรองหน่อยอย่างนี้ ก็ผิดอีกหรือ
ท่านอาจารย์ มิได้ ออกมาจากบ้านหน่อย มานั่งที่นี่หน่อย ฟังเรื่องนี้หน่อย พอไหม หรือจะไปที่อื่นอีก
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น คำว่า หลีกเร้น คำว่าปลีกวิเวกก็ดี สำรวมก็ดี สัปปายะก็ดี อยู่บ้านเรือนเก่า เรือนว่าง อะไรต่างๆ ก็ดีมาจากไหน ถ้าอย่างนั้นคำพวกนี้ ไม่ได้ต้องการให้คนทำใจหาวิธีให้มันสงบ ผมก็ไม่เข้าใจอีกเหมือนกัน
ท่านอาจารย์ แต่ละคำก็ลึกซึ้ง เดาไม่ได้เลย อย่างหลีกเร้น ระดับไหนของใคร ถ้าเป็นผู้ที่ได้ฌานสมาบัติ อย่างพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมสลับกับสมาบัติ หลีกเร้นไหม ท่านสามารถที่จะหลีกเร้นได้หมด แต่หลีกเร้นที่นี่ต้องด้วยปัญญา ไม่ใช่เอาตัวเราไปนั่งหลีก แล้วก็มีความเป็นตัวเราเต็มที่ ขณะนั้นไม่ชื่อว่าหลีกเร้น
การฟังธรรม ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ ไตร่ตรองโดยละเอียด รอบคอบที่จะสามารถเข้าถึงอรรถ แล้วก็สอดคล้องกันทั้งปวง อันนั้นจึงจะเป็นความถูกต้อง แต่ถ้าไม่สอดคล้องนั่นคือผิด เช่น คำว่า “หลีกเร้น” เป็นต้น แล้วถ้าเราอ่านชีวประวัติของพุทธสาวก ก็จะเห็นได้ว่า แต่ละท่านบรรลุในสถานที่ต่างๆ กัน แต่อะไรบรรลุ สถานที่หรือว่าปัญญาที่ได้อบรมแล้ว ซึ่งเมื่อเป็นปัญญาที่อบรมแล้วเป็นอนัตตา ใครสามารถจะเลือกสถานที่ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ พระเจ้าสุทโธทนะเป็นพระโสดาบัน และเป็นพระอรหันต์ด้วย ก่อนที่ท่านจะสวรรคต ท่านอยู่ที่ไหน
แต่ละคนก็รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง เพราะว่าจริงๆ แล้ว ชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วหนึ่งขณะที่เกิดแล้วก็ดับ แล้วก็เกิด แล้วก็ดับ และขณะนี้มีปัญญาเกิดร่วมไหม หรือไม่มีปัญญาเลย หรือว่าเป็นจิตประเภทไหน เราศึกษาโดยละเอียด เราจะทราบได้ว่า เป็นเรื่องของธรรมทั้งหมด แล้วก็การที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่โดยสถานที่ แต่ว่าต้องด้วยปัญญา แล้วการที่แต่ละบุคคลมีเพศต่างกัน เช่น บรรพชิตกับคฤหัสถ์ ชีวิตความเป็นอยู่ก็ต่างกันแล้ว มีที่ไหนในพระไตรปิฎกที่ให้คฤหัสถ์ไปสู่สถานที่อื่น ในป่า หรือว่าไม่มีเลย ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีฟังพระธรรมแล้วรู้แจ้งอริยสัจธรรม เพราะอะไร เพราะว่าเคยฟังเรื่องสภาพธรรม ต้องมีการฟัง เพราะว่าไม่ใช่ผู้ที่เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือแม้แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็เป็นพหูสูตร ได้ยินได้ฟังพระธรรมจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อน
ประโยชน์ของการฟัง คือ เข้าใจจริงๆ ว่า ธรรมคือสิ่งที่มีจริง การตรัสรู้ก็คือรู้ความจริงของสภาพธรรมที่มีจริง แล้วก็ทรงแสดงหนทางที่จะอบรมเจริญปัญญาให้รู้ความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น เป็นปัญญา ไม่ใช่เราจะทำ แต่เป็นปัญญาที่เริ่มจากฟังเข้าใจ ถ้าฟังไม่เข้าใจ ไม่มีทางที่ปัญญาจะเจริญขึ้น เมื่อฟังเข้าใจแล้ว สภาพธรรมทั้งหลายเป็นสังขารขันธ์ มีเจตสิกเพียง ๒ อย่างที่ไม่ใช่สังขารขันธ์ คือ เวทนาเจตสิกกับสัญญาเจตสิก เวทนาเป็นความรู้สึกซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ สัญญาก็เป็นความจำ ขณะนี้สัญญาอยู่ที่ไหน สัญญาเจตสิกอยู่ที่ไหน อยู่หรือเปล่า มีหรือเปล่า สัญญาเจตสิกขณะนี้ อยู่ที่ไหน เกิดกับจิตทุกขณะ ไม่รู้เลยว่า ขณะนี้ทันทีที่เห็นก็รู้ว่าใคร เพราะจำ ใช่ไหม ถ้าไม่มีสภาพที่จำ จะรู้ไหมว่าอะไร
นี่ก็แสดงให้เห็นว่าทุกอย่างอยู่ที่ตัว แต่ไม่เคยรู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นธรรมแต่ละอย่างซึ่งหลากหลาย แล้วถ้าไม่รู้อย่างนี้ จะดับกิเลสได้ไหม สำหรับผู้ที่เป็นพระโสดาบัน จะเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติ แล้วเราเคยเกิดมาแล้วในสังสารวัฏฏ์นานเท่าไร ความตายจะมาถึงเมื่อไร ไม่มีใครทราบเลย อาจจะเป็นพรุ่งนี้ อีก ๑๐ ปี หรืออีก ๒๐ ปีก็ได้ แต่ต้องเกิดอีกแน่นอน ตราบใดที่ไม่ใช่พระอรหันต์
เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า เราก็เกิดมาโดยที่ว่า ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม ต่อเมื่อใดได้ฟังพระธรรม เริ่มฟัง ก็จะรู้ว่า เรามีความเข้าใจแค่ไหน เป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง แล้วต้องรู้ว่า ปัญญาต้องเข้าใจจริงๆ ขณะนี้เข้าใจขั้นฟัง ยังไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ แต่ว่าต่อไปข้างหน้า ท่านอนาถบิณฑิกเพียงฟังรู้ได้ เพราะท่านเข้าใจธรรมที่กำลังปรากฏ หรือที่ฟังว่า การฟังธรรม คือฟังสิ่งที่มีจริงๆ ให้เข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อทรงแสดงธรรมเรื่องสิ่งที่มีจริงขณะใด ความรู้ที่ท่านสะสมมาแล้ว พร้อมที่จะประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมในขณะนั้นได้ ท่านก็ไม่ได้ไปสู่ที่อื่น
ผู้ฟัง มันก็ยังไม่สนิทใจ เราอาจจะชินกับโลกภายนอก โลกธรรมดา โลกที่ไม่ใช่ปรมัตถธรรม เป็นสมมติสัจจะเกินไป ถ้าเผื่อเราเอาสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนไว้ แล้วเราเอามาประยุกต์กับคนอย่างเราที่เป็นคฤหัสถ์ ไม่ใช่บรรพชิต ไม่ต้องให้มานั่งอย่างนี้ ไม่ให้ถึงแบบบรรพชิต ทำอย่างไรให้เลียนแบบของบรรพชิตบ้าง จะไม่ช่วยบ้างหรือ คนตรัสรู้ในสภาวะที่แปลกๆ แตกต่างกันทั้งนั้น คนที่บรรลุธรรม อยู่ในสภาวะแตกต่างกันทั้งนั้น ทีนี้เราหาวิธีที่มันจะ เอาอีกแล้วหาวิธี คือทำอย่างไร ช่วยให้มันตรึกได้ง่าย วิจารณ์ได้ง่าย
ท่านอาจารย์ ฟังดูแล้ว ก็คือการต้องการปัญญาอีกระดับหนึ่ง โดยที่ว่าปัญญาระดับนั้นจะมีขึ้น หรือว่าจะถึงไม่ได้เลย ถ้าไม่อาศัยปัญญาขณะนี้แต่ละขณะไป ระดับนี้ไปจนกว่าจะถึงระดับนั้น เพราะว่าพอได้ยิน เราก็มุ่งหวังที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม หาหนทางที่จะรู้แจ้ง แต่ถ้าเราทิ้ง ขณะนั้นมีปัญญารู้ว่า นั่นคือเครื่องเนิ่นช้า โลภะ ทิฏฐิ มานะ ซึ่งเรามองไม่เห็นเลย จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม ถึงจะรู้ได้ว่าผู้ที่เหมือนนายช่างสร้างเรือนก็คือ โลภะ มีอยู่ด้วยตลอดเวลา ทำให้มีความต้องการที่จะเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ แต่ว่านั่นก็ต้องทราบว่า เป็นแต่เพียงความคิด และความต้องการซึ่งไม่ใช่ความจริง อยากจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมในชาตินี้ เป็นไปได้ไหม หรือว่าในอีก ๑๐ ชาติ เป็นไปได้ไหม คำตอบว่าได้หรือไม่ได้ อยู่ที่ปัญญาที่สะสมมาพร้อมที่จะรู้ในชาติไหน ก็รู้ในชาตินั้น
เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับปัญญา ถ้ารู้อย่างนี้แล้วเราก็ไม่ไปขวนขวายว่า เราจะไปที่ไหน แต่ว่าไม่ว่าเราอยู่ที่ไหนก็ตาม เราก็มีการที่จะระลึกถึงพระธรรม ซึ่งการคิดถึงพระธรรม หรือว่าระลึกถึงพระธรรม ก็ต้องเป็นไปตามลำดับขั้นด้วย ถ้าสติสัมปชัญญะที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรมยังไม่เกิด แต่ก็มีการระลึกถึงว่า ขณะนี้เป็นธรรม สิ่งที่กำลังปรากฏมีจริงๆ แล้วก็ขณะนี้ก็ต้องมีธาตุรู้ หรือสภาพรู้ที่กำลังเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งถ้าเป็นคนตาย คือ คนที่ไม่มีจิต ไม่มีนามธรรม จะไม่เห็นเลย
เพราะฉะนั้น เห็นมีจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่รูปด้วย สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูปหนึ่ง สิ่งที่ปรากฏทางหู แม้มองไม่เห็น ก็เป็นอีกรูปหนึ่ง สิ่งที่ปรากฏทางจมูกเป็นอีกรูปหนึ่ง สิ่งที่ปรากฏทางลิ้นก็เป็นอีกรูปหนึ่ง สิ่งที่ปรากฏทางกายก็มีเย็นร้อนธาตุไฟ อ่อนแข็งธาตุดิน ตึงไหวธาตุลม นอกจากนั้นแล้วเป็นนามธรรม เรารู้อย่างนี้ไหม คิดเป็นนามธรรม เห็นเป็นนามธรรม สุขเป็นนามธรรม ทุกข์เป็นนามธรรม จำเป็นนามธรรม นอกจาก ๗ รูปนั้นแล้ว ทั้งหมดเป็นนามธรรม
ถ้าเป็นอย่างนี้เราก็ค่อยๆ มีการที่จะคิดถึงธรรม ซึ่งก่อนฟังไม่เคยคิด คิดเรื่องอื่น แต่พอฟังธรรมมากขึ้นก็มีปัจจัยปรุงแต่งที่จะทำให้ความคิดเรื่องธรรมเกิดขึ้นได้ ซึ่งการคิดก็ไม่มีใครจะไปบังคับบัญชาได้ว่า ใครจะคิดเรื่องอะไร เพราะว่าทั้งหมดเป็นอนัตตา ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ ละความไม่รู้ ในที่สุดความไม่รู้ก็จะค่อยๆ จางลง แสดงว่าปัญญาที่จะทำให้ความไม่รู้จางลง มี แล้วก็ได้ทำหน้าที่ที่จะทำให้รู้ขึ้น แล้วความไม่รู้ก็น้อยลง จนกว่าจะถึงกาลที่เจริญขึ้นๆ อีก ก็สบายๆ ไม่ต้องเดือดร้อน
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวบอกว่า อยู่ในความมืด อยู่ในความมืดนี่หมายความว่าขณะที่เป็นโลภะ โทสะ ได้กลิ่น ลิ้มรส ตรงนี้มืดหมดหรืออย่างไร
ท่านอาจารย์ ขณะที่ไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง อย่างพูดเรื่องจิต ลักษณะของจิตปรากฏหรือเปล่า พูดถึงเรื่องเจตสิกทั้ง ๕๒ ประเภท อยู่ตรงไหน ปรากฏหรือเปล่า แม้แต่ขณะนี้ที่กล่าวว่า จิตต้องเกิดกับเจตสิก ทั้งจิต ทั้งเจตสิกปรากฏสภาพที่เป็นจิต และเจตสิกหรือเปล่า เมื่อไม่ปรากฏ จะชื่อว่าเห็นได้อย่างไร
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์หมายความว่า เพราะว่าไม่ได้ปรากฏ แต่พูดถึงสภาพธรรม จริงๆ แล้ว จะมีสว่างอยู่ก็เฉพาะตรงเห็นเท่านั้น ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ตามความเป็นจริง ตามปกติเลย แสดงธรรมตามความเป็นจริง
ผู้ฟัง ตรงนี้ก็เหมือนจะเหลือเชื่อ ขณะที่ดิฉันพูดอยู่มันก็สว่าง ตอนทานข้าวมันก็สว่าง แต่ที่มันเป็นเพราะว่าเห็นว่าสว่างตลอด เป็นเพราะว่าธรรมเกิดดับเร็วหรืออย่างไร
ท่านอาจารย์ สืบต่อกันมากทางตา
ผู้ฟัง ที่กล่าวว่า ย่อมรักษาใจให้ประกอบด้วยเนกขัมมะ เนกขัมมะ รู้สึกเป็นคำที่ดัง ได้ยินอยู่บ่อยๆ มันจะเกี่ยวข้องกับ ตรงนี้อย่างไร
ท่านอาจารย์ คงต้องพูดว่ากามคืออะไรก่อนหรือเปล่า สำหรับบางท่าน กิเลสกาม คือ ความยินดีติดข้อง วัตถุกามคือสิ่งที่กิเลสยินดีติดข้อง ไม่ว่าจะเป็นอะไร แต่ว่าส่วนใหญ่ กามอีกความหมายหนึ่ง ก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เพราะฉะนั้น ความยินดีเป็นตัวกิเลสที่ยินดีติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ
เมื่อกี้นี้ที่รับประทานอาหาร ออกจากกาม หรือว่าเป็นไปกับกาม รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ วันหนึ่งๆ ตาเห็นสีที่สวยงาม ไม่สวยงาม หูได้ยินเสียงที่น่าพอใจ ไม่น่าพอใจ จมูกก็ได้กลิ่น อย่างเมื่อกี้ ตอนเช้าก็มีตัวอย่างเรื่องกลิ่นหนูตาย อีกท่านหนึ่งได้กลิ่นดอกไม้ ขณะที่กำลังฟังเรื่องกลิ่นหนูตาย แต่ท่านที่ได้กลิ่นดอกไม้ท่านก็บอกว่า ท่านก็มีความสำคัญตนเกิดขึ้นว่า ท่านได้กลิ่นหอม ไม่ใช่กลิ่นที่เหม็น
นี่ก็เป็นเรื่องความละเอียดของธรรมซึ่ง เป็นไปในรูป ในเสียง ในกลิ่นในรส ในโผฏฐัพพะ วันหนึ่งๆ ก็มีตา หู จมูก ลิ้น กาย แล้วจะไม่ให้ติดในสิ่งที่ตา หรือว่าเห็นด้วยตาที่เห็นได้อย่างไร ถ้าเห็น ก็ต้องติดในสิ่งที่เห็น พอใจอยากจะเห็น จะให้ไปติดในสิ่งอื่นไม่ได้ ในขณะที่ได้ยินเสียง ขณะที่เสียงปรากฏ ติดในอะไร ต้องการอะไร ก็ติดในเสียงเพราะเสียงกำลังปรากฏ จะให้ขณะนั้นไปติดในอะไรก็ไม่ได้ ขณะที่ได้กลิ่นก็เช่นเดียวกัน ก็ติดในกลิ่น กำลังรับประทานอาหารอร่อย ลิ้มรสต่างๆ ก็ติดในรส กายกำลังสบาย ก็ติดในความสบายของกาย
เพราะฉะนั้น ทั้งหมดที่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ติด ไม่ได้สละ เพราะฉะนั้น เนกขัมมะ คือ การสละ การละความติดในกาม กุศลทุกประเภทเป็นเนกขัมมะ เพราะว่าขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นไม่ใช่การติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แต่ว่าการที่จะออกจากกามก็มีหลายขั้นด้วย กุศลทุกประเภทก็แล้วแต่ว่าจะเป็นประเภทใด แต่ก็ให้เข้าใจความหมายของกาม แล้วก็เนกขัมมะคือการออกจากกามด้วย
ผู้ฟัง เพราะเป็นตัวเป็นตนหรืออย่างไร จึงยินดียินร้ายกับคำว่า รูป ปิยรูป สาตรูป มันจึงได้ไปยินดียินร้ายกับมัน เพราะเรายังเป็นเราอยู่ ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ผู้ที่จะหมดความเป็นเรา คือ พระโสดาบัน
ผู้ฟัง แล้วการอบรมให้มันละคลาย
ท่านอาจารย์ ปัญญาเป็นความเห็นถูก ก็ละความไม่รู้กับความเห็นผิด
ผู้ฟัง ทีนี้ละคลาย ละคลายการเป็นตัวตน ตรงนี้อาจารย์ อบรมตั้งแต่หนึ่งชั่วโมงก็กำลังอบรมการละคลายเป็นตัวตน ก็ยังมีความอยากเข้ามาอีก ยังไม่พอ อยากเข้ามาอีก อยากจะให้อาจารย์อบรมการที่จะละคลายตัวตนที่เป็นเราเห็น แล้วก็ไปยินดียินร้ายกับการเห็น ได้ยินเสียง เป็นเสียงอาจารย์ รู้สึกว่ายินดี ถ้าเป็นเสียงบางเสียงก็ยินร้ายอย่างนี้ อบรมอย่างไรจึงละคลายได้
ท่านอาจารย์ ให้ทราบว่าเป็นธรรมดา
ผู้ฟัง เป็นธรรมดา
ท่านอาจารย์ เกิดแล้วหมดแล้ว ธรรมดาคือเกิดขึ้นแล้วก็หมดไป
ผู้ฟัง มันพิจารณา หรือระลึกถึงอย่างนั้น ระลึกยังไม่ถึง
ท่านอาจารย์ ใครก็คงจะละ ความยินดีหรือความอยากไม่ได้ ใช่ไหม แต่สามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง คือให้เข้าใจจนกระทั่งทุกอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็คือเริ่มที่จะรู้ว่า ขณะนั้นก็เป็นลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง
ผู้ฟัง มาถึงคำว่า อบรม อบรมนี้ด้วยการได้ยินคือเสียง แล้วก็เห็น คือรูปเท่านั้น เป็นการอบรม ใช่ไหม ส่วนเรื่องกลิ่น เรื่องอื่นๆ ไม่เป็นการอบรม ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ทั้งหมด รู้ความจริงว่า เป็นธรรมทั้งนั้นเลย เป็นธรรมแต่ละลักษณะด้วย กลิ่นก็ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วแต่อะไรจะปรากฏ ก็รู้ว่าลักษณะนั้นเป็นธรรมค่อยๆ รู้ขึ้น ใจเย็นๆ
ผู้ฟัง คำว่า ย่อมรักษาใจให้ประกอบด้วยเนกขัมมะ การรักษาใจให้ประกอบด้วยเนกขัมมะอันนี้ ถ้าเกิดผู้ใดเป็นผู้รักษาใจให้ประกอบด้วยเนกขัมมะ ผู้นั้น เป็นผู้ที่กำลังเจริญมรรคอยู่ด้วย ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ อันนี้ขอถามคุณรังสรรค์ เพื่อให้คุณรังสรรค์ตอบเองได้ ว่าขณะนี้ที่กำลังนั่งอย่างนี้ มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า ไม่ใช่ขณะเห็น ไม่ใช่ขณะได้ยิน ขณะที่เป็นกุศล หรือขณะที่เป็นอกุศลก็แล้วแต่ เอา ๒ อย่างนี้ก็ได้ มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือเปล่า
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ มี ถ้ามี เวลาที่สติเกิด จะมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วยไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะกล่าวว่า มีองค์มรรคองค์เดียวได้ไหมที่จะเกิด ในเมื่อขณะนี้ก็มีวิริยะ เวลาที่สติสัมปชัญญะเกิด ก็มีสติ และวิริยะด้วย สัมมาวายาโม หรือว่า สัมมาสติ ขณะนั้นก็มี ๒ แล้ว ใช่ไหม วิตกเจตสิกก็ต้องเกิดด้วย เพราะเว้นไม่เกิดกับจิต ๑๐ ดวง เพราะฉะนั้น ต้องตอบก่อนว่า จะมีมรรคเพียงองค์เดียวเกิดได้ไหม ในเมื่อต้องมีทั้งสติ ต้องมีทั้งวิริยะ ต้องมีทั้งวิตกเจตสิก
ผู้ฟัง ขณะที่มันมีหลายๆ อย่างตรงนั้น ผมยังไม่แน่ใจว่า เป็นมรรคหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ปกติขณะนี้ ยังไม่ต้องเป็นมรรคเลย เพียงแค่เกิดกุศลจิต หรืออกุศลจิต ขั้นใดก็ตาม มีวิริยเจตสิกเกิดไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ มีวิตกเจตสิกเกิดไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ วิตกเจตสิกก็เป็นองค์ของมรรค วิริยเจตสิกก็เป็นองค์ของมรรค แล้วเวลาที่สติสัมปชัญญะเกิดด้วย จะมีเพียงองค์เดียวได้ไหม
ผู้ฟัง ยังตอบไม่ได้
ท่านอาจารย์ ทำไม เวลาที่เราพูดถึงสติสัมปชัญญะ หรือสติปัฏฐาน พูดถึงกุศล แล้ว ดิฉันก็เปรียบเทียบให้ทราบว่า เวลาที่เป็นอกุศลมีวิริยะไหม มี ใช่ไหม เวลาที่เป็น กุศล มีวิริยะไหม มี เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นกุศล ก็มีสติเกิดร่วมด้วย เพราะว่าสติต้องเกิดกับโสภณธรรม โสภณจิตจะเกิดกับอกุศลไม่ได้ ขณะที่สติซึ่งเป็นโสภณเกิด แล้วก็วิริยะก็เกิด จะกล่าวว่ามีแต่เพียงองค์เดียวได้ไหม ที่เป็นองค์มรรค
ผู้ฟัง ได้ ถ้าเผื่อว่าเราคิดว่าอันหนึ่งอันใดเป็นใหญ่อยู่
ท่านอาจารย์ อย่างไรกันนี่ ก็เมื่อกี้นี้ นั่งอย่างนี้ มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เอาอกุศลก่อนก็ได้ มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วจิตที่จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยน้อยกว่า ๗ ดวงไม่มีเลย จิตอย่างน้อยที่สุดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท นั่นน้อยที่สุด คือ จิตเห็น จิตได้ยิน เป็นต้น เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตเป็นอกุศลเกิดขึ้นต้องมีเจตสิกเกิดมากกว่านั้น แล้วก็ต้องมีวิริยะเกิดร่วมด้วย แล้วก็ต้องมีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย นี่ฝ่ายอกุศล ทางฝ่ายกุศล นอกจากจะมีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย ยังมีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยอีก ไม่ใช่เฉพาะสติเจตสิกเท่านั้น แต่ถ้าจะเอาเพียง ๓ คือ สติเจตสิก วิริยเจตสิก วิตกเจตสิก ขณะที่กุศลจิตเกิด ไม่ว่ากุศลระดับใด ยังไม่กล่าวถึงพวกฌานขั้นสูงๆ เพราะฉะนั้น ถามว่า ขณะที่กุศลจิตเกิดมี สติเกิดร่วมด้วย แล้วเป็นสติปัฏฐาน จะให้มีแต่เพียงองค์มรรคเพียงองค์เดียว คือสติ ซึ่งทั้งๆ ที่วิตกเจตสิกก็มี เป็นสัมมาสังกัปปะ แล้วก็วิริยเจตสิกก็มี เป็นสัมมาวายามะ คำถามก็คือว่า ขณะนั้นจะให้มีแต่เพียงองค์เพียงได้ไหม ขณะนี้ที่เป็นอกุศลจิต มีวิริยเจตสิกเกิด และมีวิตกเจตสิกเกิด เวลาที่เป็นกุศลจิตก็มีวิตกเจตสิกเกิด มีวิริยเจตสิกเกิด แล้วยังมีโสภณเจตสิกอื่นๆ เกิดร่วมด้วย เช่น สติ เพราะฉะนั้น เวลาที่เป็นสติปัฏฐาน สติเกิด แล้วก็ต้องมีวิริยเจตสิก มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถามว่า จะให้มีแต่มรรคองค์เดียว เพราะจริงๆ ที่กล่าวมานี้เป็นมรรคมีองค์ ๘ แต่จะกล่าวเพียง ๓ ก่อน ให้ทราบว่า ในขณะที่สติเกิด มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย มีวิตกเจตสิกเกิดร่วมด้วย จะให้มีแต่องค์เดียว คือ สติ หรือวิริยะ หรือวิตก ได้ไหม
ผู้ฟัง ไม่ได้
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง ไม่ได้
ผู้ฟัง แล้วที่พระองค์ตรัสแยกมรรคออกมาเป็น ๘ อย่าง ๘ องค์ นี้เพื่อแสดงให้เราเห็นอะไร
ท่านอาจารย์ เวลาที่ถึงโลกุตตรจิต จะต้องมีองค์มรรคทั้ง ๘ เกิดพร้อมกัน ขาดองค์หนึ่งองค์ใดไม่ได้ เพราะว่า ทำกิจวิรัติกิเลสเป็นสมุจเฉทตามลำดับขั้น
ผู้ฟัง ในเมื่อมันเกิดอย่างไรก็ต้องเกิดครบทั้ง ๘ อยู่แล้ว
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
ผู้ฟัง แล้วก็ตรัสว่ามรรคคำเดียวก็พอ
ท่านอาจารย์ แต่เจริญขึ้น ค่อยๆ เจริญขึ้น ตามองค์ของโพธิปักขิยธรรม
ผู้ฟัง มันจะแยกเจริญเป็นบางส่วนไม่ได้เลย
ท่านอาจารย์ แยกอย่างไร
ผู้ฟัง เช่น ถ้าเกิดเราเจริญวิรตี ทางกาย วาจา
ท่านอาจารย์ เจริญอย่างไร เจริญวิรตี โดยที่ไม่มีเจตสิกอื่นเกิดร่วมด้วย
ผู้ฟัง เช่น เรารักษาศีล
ท่านอาจารย์ ก็มีเจตสิกเกิดมากมายเลย
ผู้ฟัง แต่ตรงนี้ก็ถือว่าเราเจริญมรรค เพียง ๓ หรือเปล่า
ท่านอาจารย์ มรรคมีองค์ ๘ ต้องมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย มิฉะนั้นไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 301
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 302
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 303
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 304
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 305
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 306
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 307
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 308
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 309
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 310
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 311
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 312
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 313
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 314
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 315
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 316
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 317
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 318
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 319
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 320
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 321
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 322
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 323
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 324
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 325
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 326
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 327
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 328
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 329
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 330
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 331
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 332
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 333
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 334
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 335
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 336 ***
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 337
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 338
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 339
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 340
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 341
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 342
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 343
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 344
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 345
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 346
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 347
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 348
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 349
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 350
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 351
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 352
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 353
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 354
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 355
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 356
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 357
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 358
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 359
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 360