ปกิณณกธรรม ตอนที่ 304


    ตอนที่ ๓๐๔

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒ ๕๔๓


    นิภัทร คาถา ๒ คาถานี้ ในเวลาจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น น่าสงสัยไหมว่า ทำไมถึงได้บรรลุ ฟังแค่นี้ไม่เห็นบอก พูดถึงทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ให้เจริญสติปัฏฐาน อะไรไม่เห็นมีเลยในนี้ แต่ฟังแล้วได้บรรลุ น่าสงสัย ท่านอาจารย์จะช่วยสงเคราะห์อย่างไร

    ท่านอาจารย์ จริงๆ เป็นสภาพธรรมที่มีกำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้ามีปัญญาที่จะสามารถรู้ สามารถที่จะเข้าใจได้ แม้แต่คำว่า พรหมจรรย์

    ผู้ฟัง ถ้าเพียงแต่เห็น เพียงแต่ได้ยิน แล้วไม่คิดนึกตาม ก็จะไม่มีอะไร แต่ว่าตามความจริงแล้ว ก็ต้องคิดนึกตาม ขั้นจะเป็นอัตตสัญญา ก็เป็นปกติ คำถามมีว่า เป็นอัตตสัญญา หรือเป็นปกติที่จะต้องรู้อยู่แล้วว่า สิ่งที่เห็นคืออะไร แต่ว่าเป็นอกุศล ใช่ไหม แต่ถ้าพูดถึงว่าคิดนึกตาม โดยที่รู้ว่า เมื่อเห็นแล้วเป็นอะไร ก็จะไม่ใช่อัตตสัญญา

    ท่านอาจารย์ การฟังพระธรรม ช่วยให้ปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น อย่างขณะที่เราเห็น เราก็เห็นทุกวัน แล้วก็เห็นเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้อยู่ตลอดเวลา ทุกวันด้วย ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมเลย เราไม่สามารถที่จะรู้ความต่างกันว่า ขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่คิด แต่ว่าเวลาที่ฟังแล้วค่อยๆ พิจารณาว่า ขณะนี้จริงๆ แล้ว อะไรกำลังปรากฏ ก็มีสีสันวัณณะต่างๆ เท่านั้น ที่ปรากฏ แล้วความคิดก็ปรุงแต่ง

    ผู้ฟัง แต่อย่างไรก็ต้องคิด

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง แต่เมื่อความจริงเป็นอย่างนี้ คือ ความจริง คือ สิ่งที่ปรากฏทางตามี แล้วก็มีความคิดด้วย เพราะฉะนั้น ปัญญาก็จะต้องอบรมจนกว่าจะรู้อย่างนี้ ไม่ใช่ว่าไปกั้นไม่ให้คิด แต่หมายความว่าเมื่อคิดเมื่อรู้ ก็สามารถที่จะค่อยๆ พิจารณาได้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาก็คือขณะที่กำลังเห็น

    ผู้ฟัง แล้วสิ่งที่ตามมาก็เป็นปกติอีกเช่นเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ แต่ก็รู้ตามความเป็นจริง เป็นปกติ

    คือบางทีเราฟัง แล้วเราก็จำๆ สิ่งที่ได้ฟัง แต่ถ้าเราคิด เป็นปัญญาของเราเอง เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะได้ยินคำอะไรก็ตาม ขอให้อย่าเพียงฟัง หมายความว่าต้องคิดด้วย พิจารณาด้วยให้ถ่องแท้ ให้เป็นปัญญาของเราเอง เช่น คำว่า อนิจจัง คำถามเรื่อง สังขารกับอนิจจัง อนิจจัง คือ ไม่เที่ยง ลักษณะที่ไม่เที่ยงคือมี แล้วไม่มี จึงไม่เที่ยงใช่ไหม เราก็ต้องคิดว่า ถ้ามีคำว่า อนิจจัง แปลว่าไม่เที่ยง อะไรไม่เที่ยง เราไม่เคยคิดมาก่อน เพราะว่าฟังมาเรื่อยๆ จำมาเรื่อยๆ แต่ถ้าสิ่งใดก็ตามที่ไม่เที่ยงหมายความว่า สิ่งนั้นต้องมี แล้วไม่มี ไม่ใช่ว่ามีอยู่ตลอดไป ถ้ามีตลอดไป ก็คือเที่ยง แต่ถ้าไม่เที่ยงก็คือว่า มีแล้วไม่มี ขณะที่ไม่มีจากสิ่งที่เคยมี ไม่เที่ยงแล้ว เพราะฉะนั้น สิ่งที่มี ก็ต้องเกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดขึ้นจะมีไหม ไม่ว่าอะไรทั้งหมดก็ตาม ที่บอกว่ามี ขณะนี้มีดอกไม้อยู่บนโต๊ะ ก็ต้องมีการเกิดขึ้น จึงปรากฏได้ แต่ถ้าไม่เกิด ก็ไม่มีอะไรที่จะปรากฏเลย

    สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏ เราลืมว่าสิ่งนั้นต้องเกิดจึงได้ปรากฏ แล้วสิ่งที่เกิดปรากฏ ถ้าไม่มีการปรุงแต่ง อยู่ดีๆ ลอยๆ ก็จะเกิดมาไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ก็สัมพันธ์กัน จากคำว่าไม่เที่ยง คือ สิ่งที่มีอยู่ แล้วไม่มี นั่นคือไม่เที่ยง แต่สิ่งที่มีก็ต้องหมายความว่ามีการเกิดขึ้น แล้วสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมีการปรุงแต่ง จึงจะเกิดขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้น สังขาร คือสภาพธรรมใดๆ ทั้งสิ้นที่เกิดเพราะมีปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อเกิดแล้วก็ดับ เป็นอนิจจัง ไตรลักษณะ หรือลักษณะ ๓ ของสังขารธรรมทั้งหมด คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สภาพธรรมใดก็ตามที่ไม่เที่ยง สภาพธรรมนั้นไม่ใช่สิ่งที่น่าจะยินดีพอใจเลย เพราะว่าจะพอใจสักเท่าไรก็หมดไปแล้ว หาอีกไม่ได้ หายไปเลย ไม่กลับมาอีกด้วย ทุกอย่างที่เกิดก็เพียงแต่ว่าให้โลภะ หรือความติดข้องพอใจในสิ่งที่ปรากฏแล้วสิ่งนั้นก็หมดไป โดยไม่รู้เลย

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่าทุกขณะที่เรามีชีวิตอยู่ เมื่อมีจิตก็จะต้องมีการรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส เพื่ออะไร เพื่อติดในสิ่งที่เห็น ลองคิดดู เห็นเพื่ออะไร เพื่อจะติดในสิ่งที่เห็น ได้ยินเพื่ออะไร เพื่อติดในสิ่งที่ได้ยิน เพื่ออะไร เพื่อความสุขเพียงในสิ่งที่ปรากฏแล้วหมดไป เท่านั้นเอง นี่คือความหลง ที่พอใจยึดมั่นในความรู้สึกที่เป็นสุข จากการที่เห็นรูป ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส

    ถ้าเห็นความไม่รู้ของตัวเองว่าไม่รู้ขนาดไหน ไม่รู้ว่าทุกอย่างที่ปรากฏ เพื่อให้เวทนา หรือความรู้สึกติดข้อง โสมนัส พอใจยินดี เกิดขึ้นในสิ่งซึ่งไม่เที่ยง ทั้งความรู้สึกนั้นก็ไม่เที่ยง ทั้งสิ่งนั้นก็ไม่เที่ยง แล้วเป็นอย่างนี้ตลอด จะไม่เปลี่ยนเลย ไม่มีสิ่งไหนที่เที่ยง สิ่งใดก็ตามที่เกิดเป็นสังขาร มีปัจจัยปรุงแต่ง สิ่งนั้นต้องดับ เป็นธรรมดา แต่ว่าปรากฏเพื่อให้ติดข้อง เพื่อให้พอใจ เพื่อให้ยึดมั่น เพื่อให้เป็นสุข แล้วก็หมด

    นิภัทร คุณวีณา คือ สังขาร อนิจจัง อะไรที่ว่า ก็ต้องต้อนเข้าหลัก เพราะว่าหลักของเราก็เรียนกันอยู่แล้ว ปรมัตถธรรม ๔ คือ ปรมัตถธรรม ๔ มีอะไรบ้าง เราส่วนใหญ่จะรู้ ผู้ที่เรียน คือ มีจิต เจตสิก รูป แล้วก็นิพพาน จิต เจตสิก รูป เป็นสังขาร เกิดด้วยปัจจัยปรุงแต่ง แล้วก็สังขารนี้มันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ส่วนพระนิพพานเป็นวิสังขาร คือ พ้นจากสังขาร เที่ยง เป็นสุข แล้วก็เป็นอนัตตา นี้หลัก

    ผู้ฟัง อุปาทานขันธ์ มีอะไรบ้าง

    อ. สมพร อุปาทานขันธ์ มี ๕ อย่าง อุปาทานขันธ์ ๕ มีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สิ่งที่เข้าไปยึดมี ๔ อย่าง กามุปาทาน ยึดด้วยอำนาจกาม กาม คือ กิเลสกาม กิเลสกามหมายความถึงตัณหา ก็จัดเป็นอุปาทานเหมือนกัน แต่ว่า ถ้าเป็นขันธ์ เราเรียกว่า อุปาทานขันธ์ ๕ ๕ อย่าง คือ นามรูป คือตัวเรา ที่เราบอกว่าตัวเรา เราสมมติว่าตัวเรา แท้จริงเป็นนามรูป เรายึดว่าเป็นเรา นี้เป็นอุปาทาน

    ท่านอาจารย์ เรื่องชื่อคงเข้าใจแล้ว ถ้าถามว่า ติดข้องต้องการยึดมั่นในอะไรบ้าง พอจะตอบได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็พอตอบได้

    ท่านอาจารย์ ยึดมั่นในอะไร

    ผู้ฟัง รูป รส กลิ่น เสียง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ยึดมั่นในรูป เป็นกามุปาทานในรูปขันธ์ แล้วก็ยึดมั่นในอะไรอีก

    ผู้ฟัง ยึดมั่นในเวทนา

    ท่านอาจารย์ ในเวทนา ความรู้สึก เราพอใจมากที่เราจะได้มีความรู้สึกที่เป็นสุข ต้องการแสวงหาความรู้สึกที่เป็นสุข ขณะนั้นก็เป็นอุปาทานขันธ์ เพราะเหตุว่ามีความต้องการยึดมั่นในเวทนา

    ผู้ฟัง แล้วก็ยึดในสัญญา ในสังขาร แล้วก็ยึดในวิญญาณ สรุปคือ ยึดมั่นในขันธ์ ๕ นั่นเอง

    ท่านอาจารย์ ครบหมด

    อดิศักดิ์ ข้อความตรงนี้ พระพุทธเจ้าจะถามพระสาวกว่า ท่านเห็นรูป เป็นตนหรือ พระสาวกก็จะตอบว่า ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านเห็นเวทนาเป็นตนหรือ เพียงแต่ว่าท่านเห็นขันธ์ ๕ เป็นสัตว์ เป็นบุคคลหรือ คือ เห็นสภาพธรรมไม่ตรงตามความเป็นจริง ถ้าเห็นขันธ์ ๕ ตรงตามความเป็นจริง คือ เห็นสภาพธรรม ตรงตามความเป็นจริงว่าเป็นรูปหรือเป็นนามเท่านั้น อย่างนี้ก็จะค่อยๆ คลายไม่ยึด ถ้ายังเห็นเป็นสัตว์ เป็นบุคคลอยู่ เป็นสิ่งของอยู่ ก็ยึด

    ผู้ฟัง มรรค ๘ กับมรรคมีองค์ ๘ กับอริยมรรคมีองค์ ๘ มันต่างกันอย่างไร ตามที่องค์ธรรมคือเหมือนกัน เจตสิก ๘ ดวง ตามที่ผมศึกษา ผมก็เข้าใจแล้ว อันนี้ผมจะถามว่า ที่เขาต้องมีชื่อต่างกัน เพราะอะไร ถ้าว่าเหมือนกัน ผมก็ยังนึกถึงว่าอย่าง โลภมูลจิต ๘ ดวงก็ยังต่างกัน ชื่อโลภะ เหมือนกัน แต่มันก็ต่างกัน

    ท่านอาจารย์ มรรค ๘ ที่เป็นสัมมามรรคก็มี ที่เป็นมิจฉามรรคก็มี แต่มิจฉามรรคจะเป็นอริยมรรคไม่ได้

    ผู้ฟัง สิกขาสูตร มีข้อแรกที่ว่า ปาณาติบาต ช่วยขยายความ ปาณาติบาต ว่ามีความหมายอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบเคยคิดที่จะวิรัติ เว้นการฆ่าบ้างหรือเปล่า

    ผู้ฟัง อันนี้อาจจะเคย แต่ว่าความเป็นจริงแล้ว ถ้าเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงๆ แล้ว ก็ไม่ทราบ ว่าเป็นไปได้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าเวลาที่ไปวัด ก็มีการถวายทาน ถวายภัตตาหารก็มีการให้ศีล ทุกคนก็พูดตาม ในขณะที่พูดตาม ไม่ทราบว่าเจตนาอะไรเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า หรือว่าเพียงแต่กล่าวตามเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่ตรง ถึงแม้จะไม่มีใครมาบอกให้พูดว่า ปาณาติปาตา เวรมณี สิกขาปะทัง สมาธิยามิ ไม่มีใครมาบอกอย่างนี้ แต่ถ้าในขณะใดที่เกิด ต้องเป็นสติ เป็นไปในการที่จะวิรัติ ก็จะมีความคิดว่า ต่อจากนี้ไป หรือว่าเมื่อไรก็ตามแต่ ที่คิดอย่างนั้นว่า จะไม่ฆ่าสัตว์ ขณะนั้นก็เป็นเจตนาศีล หมายความว่ายังไม่ได้มีสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาเผชิญหน้า แต่ว่ามีเจตนาที่จะวิรัติทุจริต ยกตัวอย่างในเรื่องของ ปาณาติบาต แต่ว่า หลังจากคิดอย่างนั้นแล้ว อกุศลจิตก็เกิดเป็นประจำ มีใครบ้างที่จะมีกุศลจิตเกิดบ่อยเป็นประจำ เป็นเจ้าของบ้าน แล้วนานๆ อกุศลจิตก็จะมาเยี่ยมเยียน เพราะว่าปกติแล้ว อกุศลจิตก็ต้องเกิดมากไม่รู้ตัวเลย แล้วนานๆ กุศลจิตก็จะมาเยี่ยมเยียน อย่างขณะนี้เอง ถ้าง่วงก็อาจจะเป็นประจำของอกุศลซึ่งมีอยู่บ่อยๆ เพราะฉะนั้น อกุศลก็ครอบครองอยู่เสมอ แม้ในขณะฟังธรรม อกุศลก็มาเยี่ยมเยือน แต่แขกที่มา จะมานาน หรือว่าจะกลับเร็ว นั่นก็เป็นเรื่องของแต่ละขณะจิต แต่ให้ทราบว่า ขณะใดที่จิตเป็นกุศล ก็คือกุศล แม้แต่ความคิด สมาทานที่จะถือ ที่จะวิรัติทุจริตต่างๆ เช่น บางท่านอาจจะบอกว่า ตั้งแต่นี้ต่อไป จะไม่พูดคำที่ไม่น่าฟัง ที่ทำให้คนอื่นไม่สบายใจ จะไม่พูดเรื่องที่ไม่จริง ก็แล้วแต่ว่าจะเกิดกุศลจิตขณะใดที่เป็นไปในทาน หรือเป็นไปในศีลที่ตั้งใจไว้ ขณะนั้นก็เป็นเพียงเจตนา ถ้าการกระทำนั้นยังไม่ได้สำเร็จ

    เพราะฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่กล่าวตามโดยที่ว่า ไม่ได้มีความคิดสักนิดเดียวที่จะวิรัติ เพียงแต่พูดตาม ก็ต่างกับคนซึ่งแม้ไม่ได้พูดตาม แต่มีเจตนาจริงๆ ที่จะงดเว้นชั่วขณะที่คิด แต่ข้างหน้าไม่ทราบ อะไรจะเกิดขึ้น เพราะความเป็นอนัตตา แต่ให้เห็นความวิจิตรของจิตที่ว่า เมื่อมีปัจจัยเกิดขึ้นที่จะเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น แสดงให้เห็นว่า ถ้าขณะนั้นเป็นเจตนาศีล แต่ไม่ใช่วิรัติศีล จนกว่าจะมีวัตถุเผชิญหน้าเมื่อไร ตอนนี้จะรู้ได้ว่าจะวิรัติหรือไม่วิรัติ เป็นเรื่องของศีลที่จะเกิดขึ้น แต่ข้อสงสัย สงสัยว่าจะมีศีลตลอดเวลาหรือเปล่า ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ข้อสงสัยคือ

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าไม่ได้ทำอะไร ก็น่าจะเป็นผู้มีศีลอยู่ตลอดเวลา แต่ลองคิดถึงเด็ก เด็กที่เกิดมานอนในเบาะ ก็ไม่ได้ทำอะไร มีศีลหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่มีศีล

    ท่านอาจารย์ เราจะกล่าวเหมาว่า ขณะที่ไม่ได้ทำอะไร เป็นผู้ที่มีศีลไหม ก็เป็นเรื่องที่พิจารณาได้ แต่ว่าถ้าเป็นผู้ที่ฟังพระธรรม จะเห็นความบริสุทธิ์ของพระธรรม ไม่ส่งเสริมให้เกิดอกุศลจิตแม้เพียงเล็กน้อย ให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นอกุศลแล้วที่เป็นไปแล้วแต่ว่าจะในเรื่องอะไร แต่ขณะนั้นก็มีความโน้มเอียง มีความพอใจ และมีการสรรเสริญด้วย แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้กระทำ แต่หวังอยู่ในใจหรือเปล่าว่าเหมือนกับอยากจะให้เป็นอย่างนั้น แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้กระทำเอง แต่เวลาที่มีการกระทำสำเร็จลงไป ก็ดีใจว่า เป็นอย่างนั้น

    พระธรรมที่ทรงแสดงจึงเปรียบเหมือนกระจกที่จะส่องจิตของตนเองให้รู้ว่า ขณะนั้น เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล มากน้อยขนาดไหน ไม่ใช่เพียงพอใจว่า เราไม่ได้ฆ่าก็ไม่เป็นไร แต่แม้แต่เพียงความยินดีในการฆ่าเกิดขึ้น ก็ยังรู้ว่าขณะนั้นเป็น อกุศล ซึ่งเป็นไปในเรื่องของการฆ่า หรือว่าเป็นไปในเรื่องของทุจริตอื่นๆ ถ้าฟังอย่างนี้แล้วพอเห็นข่าวอะไรๆ ก็ยังคงจะคิดอย่างเดิมหรือเปล่า หรือว่ารู้ว่า แต่ละคนก็มีกรรมเป็นของตนเอง แล้วทุกคนก็ไปสงสารตอนที่ผลของกรรมเกิดขึ้น ไม่ว่าเขาจะยากจน ไม่ว่าเขาจะเจ็บไข้ได้ป่วย หรือว่าเกิดอุบัติเหตุ ได้รับทุกข์ทรมานต่างๆ ก็สงสารตอนนั้น แต่ว่าตอนที่เขายังไม่ได้รับผล พลอยเป็นอกุศลไปด้วยในการที่จะเกลียดชัง หรือว่าในการที่จะทำให้เขาได้รับผลเร็วๆ

    ถ้าเป็นผู้ที่ฟังพระธรรม อย่างละเอียดแล้ว แล้วเป็นผู้ที่มีจิตอ่อนโยน เชื่อฟัง เคารพในพระธรรมจริงๆ ก็ต้องรู้ว่า ทรงแสดงพระธรรมอย่างละเอียดเพื่ออะไร ถ้าไม่ทรงมีพระมหากรุณาอย่างนี้ ที่จะรู้ว่าอกุศลเกิดได้บ่อยๆ แล้วก็เกิดมากในเรื่องสารพัดเรื่อง ทรงอธิบายให้เห็นโทษของอกุศลตามความเป็นจริง ถ้ามีข่าวหรือว่าเห็น หรืออะไรก็ตามแต่ ปัญญาที่เกิดขึ้นในขณะนั้นจะไม่ทำให้จิตหวั่นไหวที่จะพลอยเป็นอกุศลไปด้วย แต่ว่าจะรู้ถึงกรรมของแต่ละบุคคล ถ้าไม่มีกรรมที่ได้กระทำแล้ว สิ่งใดๆ ก็จะไม่เกิดขึ้นกับใครในลักษณะอย่างนั้นแน่นอน แต่ว่าถ้าสิ่งใดได้เกิดขึ้นแล้ว หมายความว่าเป็นผลของกรรมที่ได้กระทำแล้ว

    ถ้าเป็นผู้มีปัญญาเพิ่มเติมไปอีก ก็ทำให้มีการระลึกที่จะไม่กระทำกรรมอย่างนั้นๆ เพราะว่าผลของกรรมก็ปรากฏให้เห็นอยู่

    ผู้ฟัง ทำไมคนเราเมื่อฟังธรรมเหมือนกันอย่างเดียวกัน แต่ประโยชนที่ได้รับ หรือผลที่เกิดขึ้นต่างกัน

    ท่านอาจารย์ แต่ละคนแม้ไม่ได้ฟังธรรมก็มีอัธยาศัยต่างกันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า การที่แต่ละคนจะมีอัธยาศัยต่างกัน ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ก็เหมือนกัน แล้วก็มาต่างกันทีหลัง แต่หมายความว่า ต้องมีการสะสมมาแม้ในปัจจุบันชาติ การที่เด็กเล็กๆ เติบโตขึ้นมา แล้วก็มีอัธยาศัยต่างกัน แม้ว่าจะอยู่ในครอบครัวเดียวกัน แต่พี่กับน้องก็นิสัยไม่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่รับประทานอาหารชนิดเดียวกัน ที่อยู่ที่อาศัยก็ที่เดียวกัน ที่เป็นอย่างนี้ก็เป็นเพราะเหตุว่า แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง ไม่มีการซ้ำกันลย เช่น ในขณะที่นั่งอยู่ที่นี่ มีหลายคน คงคิดไม่เหมือนกันเลยสักคน แสดงให้เห็นว่า แต่ละขณะที่ผ่านมาตั้งแต่เกิด ก็มีการสะสมจนกระทั่งถึงปัจจุบันก็ต่างกัน แล้วก็ถ้าย้อนไปถึงอดีตชาติก่อนๆ ว่าเพราะเหตุใดจึงต่าง ก็ยิ่งมีการสะสมในอดีตที่นานมาก ที่ทำให้เป็นความต่างกัน

    อดิศักดิ์ ไม่ใช่เฉพาะการฟังแล้ว ผู้รับฟังจะต่างกันอย่างเดียว เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องทางกาย รวมทั้งการคิดนึกด้วย เห็นอะไรก็คิดกันคนละอย่าง ลิ้มรสอะไรก็คนละอย่าง ก็ไม่พ้นทวารทั้ง ๖ อยู่ที่การสะสม

    ผู้ฟัง จากเอกสารที่ได้กรุณาแจก ผมเห็นแล้วก็รู้สึกซาบซึ้ง ไพเราะอย่างยิ่ง ที่กล่าวเป็นบาลีว่า อปฺปกาเต มนุสฺเสสุ เย ชนา ปารคามิโน ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงว่า ชนผู้ถึงฝั่งมีจำนวนน้อย ฝั่งนี้คงจะเป็นเรื่องของการเข้าใจซึ่งธรรม ผมก็ใคร่ที่จะเรียนถามว่า การเข้าใจถึงธรรม คงจะมีการฟังธรรอยู่ด้วย เป็นแน่นอน เพราะในเรื่องของการฟังธรรม ก็คงจะทำให้เกิดความเข้าใจในธรรม ธรรมดังกล่าวที่ท่านอาจารย์สมพร และคุณน้าธนิตได้กรุณากล่าวไปข้างต้น ชนผู้ถึงฝั่งมีจำนวนน้อย เข้าใจธรรมถึงระดับไหน ส่วนประชานอกนี้เลาะไปตามตลิ่งอย่างเดียว อย่างพวกผมที่นั่งอยู่ ตรงนี้ยังเลาะไปตามตลิ่ง หรือว่าจะถึงไปถึงเป็นพวกไปถึงฝั่งมีจำนวนน้อยบ้างหรืออย่างไร คือ ความแตกต่างระหว่าง ผู้ที่เข้าใจในธรรม จนกระทั่ง เป็นชนผู้เข้าถึงฝั่งมีจำนวนน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับฝ่ายประชานอกนี้เลาะไปตามตลิ่งอย่างเดียวนั้น ตรงนี้เราจะพิจารณาความแตกต่างอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นขอให้ทุกคนได้ฟังข้อความจากพระไตรปิฎก ซึ่งจะขออ่านให้ฟัง เรื่องการฟังธรรม

    พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภการฟังธรรม ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า แม้แต่เพียงการฟังธรรม ซึ่งเรารู้สึกว่าเป็นของธรรมดา แต่แม้กระนั้นพระผู้มีพระภาคก็ตรัสเรื่องของการฟังธรรม

    แสดงให้เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง ถ้าเราเพียงเผินๆ ก็เหมือนไม่มีอะไร แต่ว่าถ้าเราจะเป็นผู้ที่ละเอียด เราก็จะเห็นประโยชน์ว่า แม้เพียงเรื่องที่ดูเหมือนเล็กน้อย คือ การฟังธรรม แต่ผู้ที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดง ก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ขออ่านข้อความต่อไปอีกนิดหนึ่ง เพราะว่าในการฟังธรรม ไม่ว่าในกาลก่อนหรือว่าในสมัยนี้ หรือสมัยต่อไปก็เหมือนกัน ข้อความต่อไปจึงมีว่า

    คนอาศัยภพแล้วติดภพมีมาก ดังได้สดับมา พวกมนุษย์ผู้อยู่ถนนสายเดียวกันในกรุงสาวัตถี เป็นผู้พร้อมเพียงกัน ถวายทานโดยรวมกันเป็นคณะแล้ว ก็ให้ทำการฟังธรรมตลอดคืนยันรุ่ง แต่ไม่อาจฟังธรรมตลอดคืนยันรุ่งได้ บางพวกเป็นผู้อาศัยความยินดีในกาม ก็กลับไปเรือนเสียก่อน บางพวกเป็นผู้อาศัยโทสะ ไปแล้ว แต่บางพวกง่วงงุนเต็มที่ นั่งสัปหงกอยู่ ในที่นั้นนั่นเอง ไม่อาจจะฟังได้

    ในวันรุ่งขึ้น พวกภิกษุยังถ้อยคำให้ตั้งขึ้นในโรงธรรม เจาะจงถึงเรื่องนั้น พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ด้วยเรื่องชื่อนี้ จึงตรัสว่า

    ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาสัตว์เหล่านี้อาศัยภพ แล้วเลยข้องอยู่ในภพนั่นเอง โดยดาษดื่น ชนิดผู้ถึงฝั่งมีจำนวนน้อย

    สมัยนี้คนที่ฟังธรรมแล้วนั่งง่วงมีไหม ก็ต้องมีทุกกาลสมัย แต่ว่าเรื่องอย่างนี้ก็ดูเหมือนธรรมดา แต่กระนั้นก็ยังมีผู้ที่เป็นพระภิกษุที่ได้เห็นเหตุการณ์นี้ แล้วก็ได้สนทนาธรรมกันเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น ทุกเรื่องจะเป็นประโยชน์ เมื่อสนทนาในแนวของธรรม ในแนวที่จะให้เข้าใจธรรมยิ่งขึ้น พระภิกษุทั้งหลายท่านก็สนทนากันเรื่องนี้ และเมื่อพระผู้มีพระภาคเสด็จผ่านมา ได้ตรัสถาม แล้วภิกษุทั้งหลายก็ได้พูดถึงเรื่องของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งพระองค์ก็ตรัสแสดงให้เห็นถึงความต่างกันของแม้คนที่ฟังธรรมในคืนก่อน ที่ว่า

    ภิกษุทั้งหลาย ธรรมดาสัตว์เหล่านี้อาศัยภพ แล้วเลยข้องอยู่ในภพนั่นเอง โดยดาษดื่นนี่ โดยมาก

    เพราะว่าถ้าไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วเราจะเห็นผิดในอะไรว่า เป็นเรา แต่เพราะเหตุว่าเมื่อสภาพธรรมที่ปรากฏ แล้วไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างซึ่งเกิดแล้วดับ ก็ย่อมเข้าใจว่า สภาพธรรมนั้นเป็นเราทั้งหมด

    ที่น่าสนใจอีกบรรทัดหนึ่งที่สั้นมากคือ ตรัสโดยชอบ ได้แก่ ตรัสถูกต้อง ไม่มีคำไหนเลยที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสผิด หรือว่าไม่ถูกต้อง เพราะว่าพระธรรมที่ทรงแสดงจากการตรัสรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ก็ไม่ใช่เป็นการนึกเดาตามทฤษฏี แต่ว่า เป็นการที่ทรงสามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมทุกอย่าง แล้วก็ทรงแสดงลักษณะสภาพธรรมนั้นๆ ตามความเป็นจริง

    ผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ก็ได้ฟังพระธรรม ซึ่งจากผู้ที่ได้ตรัสรู้ความเป็นจริงของธรรม เป็นความถูกต้องทั้งหมด แต่ว่าการที่จะเข้าใจได้ถูกต้อง ก็ต้องอาศัยการพิจารณาในการฟังด้วย

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    17 ธ.ค. 2567