ปกิณณกธรรม ตอนที่ 340
ตอนที่ ๓๔๐
สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่
พ.ศ. ๒๕๓๔
ผู้ฟัง การที่เราจะระลึกในขณะที่เริ่มจะสังเกตทางตา มันก็ยังเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งตลอดเวลาเลย มันไม่ใช่เป็นสีอย่างที่เรากำลังพูดถึงเลย อันนี้เป็นเรื่องที่รู้สึกว่ายากมาก
ท่านอาจารย์ อะไรยาก
ผู้ฟัง ยากที่ว่า แม้จะกล่าวว่า ทางตามีเพียงสีเท่านั้น แต่มันเป็นสีที่อยู่ในสัณฐาน ถ้าไม่มีสัณฐาน ก็คงจะเบาไปอีกมากมายเลย มีแต่สีจริงๆ แต่พอเห็นที่ไรจะเป็นลักษณะเป็นรูปร่าง เป็นใบไม้ เป็นคน เป็นสิ่งของต่างๆ เพราะฉะนั้น จึงเป็นการพิจารณาที่ยากที่สุดเลย
ท่านอาจารย์ ยากก็ยาก
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์คิดว่า จะให้ความรู้ความเข้าใจที่จะให้เป็นประโยชน์ต่อไปอย่างไร
ท่านอาจารย์ ก็ยากไง ไม่มีการบอกว่าง่ายแน่ๆ เลย ยากมากคือว่าปัญญาเกิดยาก ถ้าปัญญาเกิดแล้วก็ไม่ยาก เพราะว่าปัญญารู้ แต่ขณะใดที่ไม่รู้ แสดงว่าขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา ซึ่งปัญญาที่จะรู้อย่างนี้ไม่ง่าย ไม่ใช่เราจะพยายามไปรู้ แต่เราจะต้องรู้ว่า นี่เป็นหน้าที่ของปัญญาเขา ถ้าปัญญาไม่เกิด ไม่มีทางที่จะรู้เลยว่า ขณะนี้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วเรื่องสีไม่ต้องเป็นห่วงที่จะใช้คำว่าสีเขียว สีแดง สีนั้นสีนี้ เปลี่ยนใหม่ เป็นสิ่งที่กำลัง
ปรากฏทางตาเท่านั้น
ผู้ฟัง ถ้าพูดถึงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาจะยากยิ่งกว่าคำว่าสีอีก
ท่านอาจารย์ หมายความว่าเราไม่สนใจสี แล้วต่อไปนี้ จะเป็นสีอะไรก็ไม่สนใจเลย ทั้งสิ้น นี่คือการละนิมิต อนุพยัญชนะ เพื่อที่จะรู้ความจริง ความจริงจะปรากฏเมื่อไม่มีการใส่ใจถึงนิมิต อนุพยัญชนะ เพราะเหตุว่าเพียงใส่ใจนิดเดียว เราจะเห็นได้ว่า ปิดบังสภาพธรรมได้ แต่ขณะที่เราเพิกถอนนิมิต รูปร่าง สัณฐาน อนุพยัญชนะ ส่วนละเอียด หมายความว่าขณะนั้นกำลังรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏเท่านั้น แล้วคำนี้ก็เป็นความจริง เพราะว่าขณะนี้กำลังมีสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ถอนความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ออกจากสิ่งที่ปรากฏทางตา คือ ค่อยๆ เริ่มเข้าใจขึ้นว่า ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นอย่างอื่นไม่ได้ ลักษณะแท้ๆ คือ สามารถจะปรากฏเฉพาะทางตาที่กำลังเห็นเท่านั้น นี่คือธาตุชนิดหนึ่ง เป็นอาภาธาตุ เป็นแสงสว่าง หรือจะใช้คำว่า รูปธาตุ หรือจะใช้คำว่า สีต่างๆ ก็ได้ รวมความแล้วไม่ว่าอะไรก็ตาม ขณะนี้ที่กำลังปรากฏทางตา ลืมสิ่งอื่นว่าเป็น สีอะไรก็ไม่ต้องสนใจ แต่ค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา สิ่งนี้มีจริงสำหรับคนที่ตาไม่บอดเท่านี้
ผู้ฟัง ไม่มีข้อคัดค้านหรือว่า ไม่มีความคิดที่ว่าจะแทรกซ้อนอะไร ยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างเลย แต่บางครั้งเกิดจะมีการพิจารณาขึ้นมาว่า เพราะปกติเราเห็น ก็ผ่านๆ ไป เห็นเป็นรถยนต์ เห็นเป็นผู้หญิงผู้ชาย แต่พอจะมาพิจารณาว่า ทำไมในเมื่อการศึกษาของเรา ก็ศึกษามาว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา จะเป็นสัตว์ เป็นบุคคลไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็จะต้องเป็นสิ่งที่ปรากฏจริงๆ มันก็นึกไม่ได้เพราะว่ามีสัณฐาน เพราะมี
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ เพราะมีสิ่งที่ปรากฏ จึงมีการจำสีสัน เป็นสัณฐานต่างๆ ถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏทางตา จะเอาสีสัน สัณฐานมาจากไหน
ผู้ฟัง แต่มันจะพร้อมกันหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ ไม่จำเป็น
ผู้ฟัง พอเห็น ทั้งสี ทั้งสัณฐาน
ท่านอาจารย์ เพราะเราชิน ทีนี้เราจะต้องเลิกนิสัยเก่าที่ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่ปรากฏ มาสู่นิสัยใหม่ซึ่ง ค่อยๆ รู้ความจริง
ผู้ฟัง นี่ตรงนี้เป็นจุดที่จะเริ่มต้นแล้วว่า เปลี่ยนนิสัยตรงนี้ จะเปลี่ยนอย่างไร เพราะว่าปกติมันคุ้นเคยเหลือเกิน
ท่านอาจารย์ ค่อยๆ รู้ขึ้น
ผู้ฟัง ด้วยการคิดก่อน ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ อย่าใช่คำว่าก่อนหรือหลัง ใครจะคิด หรือจะทำอะไร ไม่มีใครไปบังคับบัญชา หรือจะไปแนะนำให้คิดก่อน หรืออะไร แต่ให้รู้ความต่างกัน ของนามธรรม และรูปธรรมทุกชนิด อย่างทางตาที่กำลังเห็น สามารถจะรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นเพียงสภาพธรรมอย่างหนึ่ง และอาการรู้ลักษณะรู้ ไม่ใช่สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เป็นอาการเห็น สภาพรู้คือเห็น
ผู้ฟัง ที่อาจารย์พูดมานี้ หมายความว่า ให้เข้าใจตามความเป็นจริงว่า ทุกขณะที่ทางตา ก็จะต้องมีสภาพธรรม ๒ อย่างปรากฏ
ท่านอาจารย์ ซึ่งไม่ใช่เรา ตั้งแต่เกิดจนตาย มีเราไหม
ผู้ฟัง อันนี้ผมก็ไม่อยากตอบว่า ถ้าหลงลืมสติ ก็ต้องเป็นเรา
ท่านอาจารย์ แต่ที่ศึกษามา ที่จะต้องรู้ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง
ผู้ฟัง จากการศึกษา ก็ต้องยอมรับตามความเป็นจริงว่า เป็นเราไม่ได้ เพราะอาศัยจากการที่ได้ฟังธรรมในส่วนต่างๆ มากมาย เช่นในเรื่องของขันธ์ ๕ ก็ดี ในเรื่องความหมายของรูปธรรมนามธรรมก็ดี ก็ยอมรับแต่ว่า มองดูแล้วมันเป็นเรื่องที่ยากจะไถ่ถอน
ท่านอาจารย์ ถ้าเราเริ่มทีละน้อย จะถอนได้ไหม
ผู้ฟัง สังเกต
ท่านอาจารย์ ความเข้าใจของตัวเอง คือ ปัญญาขั้นต้นที่จะต้องรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสภาพธรรมที่มีจริงขณะนี้กำลังปรากฏ แล้วค่อยๆ รู้ขึ้น แค่นี้เอง ไม่ต้องไปเดือดร้อน ทำอย่างไร หรือว่าเมื่อไร หรือว่าอะไร อย่างไร ค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ รู้ขึ้น เมื่อยังไม่รู้ก็ไม่รู้ แล้วก็ค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น
ผู้ฟัง ถ้าเข้าใจทางตาสักทางหนึ่ง ทางหู ทางจมูก
ท่านอาจารย์ ไม่เลือก ไม่เลือกว่าจะเป็นทางไหน อย่ามีตัวตนที่จะไปเจาะจง กะเกณฑ์ สร้างอะไรขึ้นมา ให้รู้ว่า เป็นเรื่องของสติ สติจะระลึกที่ไหน เราจะไปฝืนว่า เราจะเอาทางตาก่อน ก็ไม่ได้ ถ้าสติจะระลึกที่นามอะไร หรือรูปอะไรก็เป็นเรื่องของสติ เมื่อสติเกิดแล้วก็คือว่าจะต้องค่อยๆ เข้าใจค่อยๆ รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ
ผู้ฟัง เข้าใจแล้ว เพราะว่าผมต้องการให้ท่านอาจารย์พูดเน้นในเรื่องของสติ เพราะปกติแล้ว ถ้าสติไม่เกิด จะให้เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็คงเป็นเรื่องพูดตามเฉยๆ แต่ถ้าพูดถึงว่าถ้าสติเกิด ก็คงจะต้องเป็นเพียงลักษณะของสติที่ระลึกในสิ่งที่กำลังปรากฏ จะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ถูกไหม
ท่านอาจารย์ ดิฉันคิดว่า เน้นที่ปัญญา เน้นที่ความเข้าใจ เพราะว่าขณะใดที่เข้าใจ ขณะนั้นมีสติแน่นอน แทนที่จะไปอยากได้สติ ไม่ต้องสนใจ กำลังนี้กำลังเข้าใจค่อยๆ เข้าใจขึ้น นั้นคือสติปัฏฐานอยู่ในตัว เพราะว่ามีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วกำลังเข้าใจสิ่งนั้น หมายความว่า สติระลึกจึงได้เกิดความเข้าใจขึ้น
นิภัทร. สิ่งที่ปรากฏทางตา จะต้องมีก่อน ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ทำไมต้องใช้คำว่าก่อน คำว่าหลังอีกล่ะ
นิภัทร. คือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา
ท่านอาจารย์ เวลานี้อะไรก่อน อะไรหลัง
นิภัทร. สิ่งที่ปรากฏทางตา มี แต่ว่าความรู้ที่ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งของ ไม่ใช่คน ไม่ใช่ต้นไม้ ไม่ใช่พรม ไม่ใช่อะไรเลย ความรู้ขั้นที่จะเกิดตามสติที่ระลึกว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ส่วนใหญ่มันไม่ค่อยจะมี
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีเห็น จะมีสิ่งที่ปรากฏทางตาได้ไหม
ผู้ฟัง ก็ไม่ได้
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ทำไมจะต้องมานึกเรื่องก่อนเรื่องหลัง
ผู้ฟัง เพราะว่าพอเห็น เรารู้ว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา ต้องมีคิด อันนี้ไม่ใช่เรา มันคิด อาจารย์ มันคิด
ท่านอาจารย์ คิดก็คิด ไม่ได้บอกว่า อย่าคิด หรือห้ามคิด หรือว่าให้คิดก่อน ไม่ได้แนะนำอะไรเลยสักอย่างเดียว ที่จะชวนให้เกิดความเป็นตัวตนที่จะทำ สภาพธรรมเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น จะคิดก็คิด จะไม่คิดก็ไม่คิด
ผู้ฟัง แล้วคิดแล้วให้รู้อะไร
ท่านอาจารย์ ตั้งแต่เกิดจนตาย มีเราไหม
ผู้ฟัง คิดก็ไม่ใช่เรา
ท่านอาจารย์ ถูกหรือเปล่า
ผู้ฟัง ถูก
ท่านอาจารย์ ก็รู้ตามความเป็นจริงว่า เป็นสภาพที่กำลังคิด คิดเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง
ผู้ฟัง คอยสิ่งที่ปรากฏ มันจะต้องไปคิดอีกทีว่า ไอ้นี่ ไม่ใช่เรา คล้ายๆ มันสอนตัวเองอีกทีว่า อันนี้ไม่ใช่เรา เพราะเราฟังมา
ท่านอาจารย์ ขณะนั้นก็ไม่ใช่คุณนิภัทรที่กำลังคิด
ผู้ฟัง จะต้องรู้ลักษณะ
ท่านอาจารย์ ทั่ว ละเอียด หมด ไม่เหลือ ไม่อย่างนั้นดับความยึดถือว่า เป็นตัวตนไม่ได้ ละความสงสัยไม่ได้ ไม่อย่างนั้นไม่ต้องเป็นจิรกาลภาวนา แป๊บเดียวก็รู้แล้ว แป๊บเดียวก็รู้แล้ว นี่ไม่ใช่อย่างนั้น ทุกอย่างไม่ว่าจะคิดอะไรด้วย
ผู้ฟัง ความเป็นตัวตน เท่าที่ผมฟังท่านอาจารย์มาทั้งหมด แม้แต่ผู้ที่ได้วิปัสสนาญาณที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ จะพ้นความเป็นตัวตน ได้ไหม
ท่านอาจารย์ ยังไม่ดับเป็น สมุจเฉท
ผู้ฟัง แต่ในขณะที่เป็นวิปัสสนาญาณ ขณะนั้น
ท่านอาจารย์ ความรู้ในขณะนั้นชัดเจนว่า ไม่ใช่ตัวตน ถึงจะเป็นวิปัสสนาญาณ ใช่ แสดงให้เห็นว่ายิ่งรู้จะต้องรู้ว่า ลึกแค่ไหน เวลานี้เหมือนกับรู้แล้วว่า ลึก ยังไม่ได้สัมผัสความจริงว่า แท้ที่จริงแล้วจะต้องลึกยิ่งกว่าที่คิด เหมือนต้นไม้ใหญ่ เราเห็นต้นโต เราก็คิดว่า รากต้องลึกมาก แต่ถ้าเราสามารถที่จะค่อยๆ ขุดลงไปจริงๆ เราถึงจะรู้ว่า ยังลึกลงไปกว่านั้นอีก รากอันนี้
ผู้ฟัง ...
ท่านอาจารย์ นั่นเป็น อโยนิโสมนสิการ ถ้าอย่างคนที่ได้ฟังว่า อีก ๔ อสงไขยแสนกัป จะเป็นพระพุทธเจ้า ยังโสมนัส แต่เราไม่ได้ ๔ อสงไขยแสนกัป เพราะเราไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า ถ้าจะบอกว่า ๑ แสนกัป พอจะปีติยินดีไหมว่า แค่ ๑ แสนกัป หรือว่าตั้ง ๑ แสนกัป แล้วแต่โยนิโสมนสิการ ถ้าจะบรรลุได้จริงๆ แล้ว ๑ แสนกัป จะเอาไหม หรือไม่เอา
ผู้ฟัง แต่เรื่องเวลา โดยความจริงใจของผม รู้สึกไม่กังวล คำว่า แสนกัป หรืออสงไขย
ท่านอาจารย์ ก็ดีนี่
ผู้ฟัง แต่มันก็เกิดความคิดขึ้นมาว่า เป็นสิ่งที่รู้ยากจริงๆ
ท่านอาจารย์ แน่นอน
ผู้ฟัง แต่ทีนี้ว่า เกิดมีความคิดว่าได้ยินได้ฟังแล้วจำได้ว่า พุทธบริษัทในครั้ง เมื่อตอนที่สุเมธดาบส ได้รับคำพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าพระนามว่า ทีปังกร เมื่อบอกว่า อุปมาเหมือนการข้ามท่าน้ำฝั่งนี้ไม่ทัน จะข้ามอีกท่าหนึ่ง รู้สึกมีความชื่นชมโสมนัสยินดี ผมฟัง มานั่งคิดว่า ยินดีอย่างไร
ท่านอาจารย์ คนสมัยนั้น ท่านอดทน ท่านรู้เลยว่า ชาตินี้ ในกัปนี้ยังไม่ได้ อีก ๔ แสนกัป ท่านยังมีโอกาสจะได้ ความอดทนของท่านอดทนอย่างนั้น ท่านรู้ความจริงว่ามันไม่ใช่ง่าย แต่ยังมีท่าที่จะให้ลง ที่จะให้บรรลุถึง ท่านี้ยังไม่ได้พระพุทธเจ้าพระองค์นี้ยังไม่ได้ พระพุทธเจ้าพระองค์ต่อไปก็ยังมี ไม่ใช่ว่าหมดโอกาสเลย ความอดทนจะต้องอดทนรอคอยถึงพระพุทธเจ้าพระองค์ต่อไปได้ อยากจะรู้ว่าเป็นไปได้อย่างไรกำลังเห็นเดี๋ยวนี้ ที่จะรู้ว่า เป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้ารู้มีหวัง
ผู้ฟัง ยังไม่เข้าใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทั่วหมด เพราะโอกาส
ท่านอาจารย์ ก็เป็นตัวตน เหตุผลบอกอยู่แล้วว่า เป็นตัวตนแน่ๆ
ผู้ฟัง เรารู้ตัวเองว่า ในบารมี ๑๐ ยังไม่ได้สักบารมีเดียวเลย โอกาสที่จะทำให้เกิดสติ และทำให้เกิดปัญญา ทำให้เกิดความเข้าใจ มันคงเป็นสิ่งที่ขาดปัจจัย ขาดอุปกรณ์ใช่ไหม เพราะเดี๋ยวนี้เมื่อพิจารณาทั้ง ๑๐ บารมีแล้ว ยังไม่มีบารมีใดที่จะพอจะพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า รู้สึกตอนนี้ เรื่องทานก็ดีขึ้น เรื่องศีลก็ดีขึ้น ก็ยังไม่มีสิทธิ์จะพูดคำนี้ได้เลย เพราะฉะนั้น ในระหว่างที่บารมีทั้ง ๑๐ ยังอ่อนกำลังมากโอกาสที่จะเข้าใจ แล้วทำให้เกิดการระลึกได้ หรือเป็นสติปัฏฐาน จะมีโอกาสเป็นไปได้ไหม
ท่านอาจารย์ ทานคืออะไร
ผู้ฟัง ทาน แปลว่า การให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นการสละเพื่อการขัดเกลากิเลสของตน
ท่านอาจารย์ ไม่มีหรือ
ผู้ฟัง มันนิดๆ หน่อยๆ
ท่านอาจารย์ ทำไมล่ะ นิดหน่อยหรือมาก ก็ไม่เห็นสำคัญ เราไม่ได้โลภทานนี่ เมื่อถึงเวลาที่เราจะให้ เราก็ให้ เราไม่ต้องมานั่งคิดว่า ทานฉันน้อย พรุ่งนี้ฉันต้องทำให้มาก จะได้เป็นบารมี นั่นโลภทานหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่โลภ
ท่านอาจารย์ อยากจะได้มาก โลภหรือเปล่า
ผู้ฟัง เพราะว่าเข้าใจในคำว่า กุศลควรเจริญทุกประการ แล้วก็ต้องเป็นกุศลที่ต้องเป็นบารมีด้วย
ท่านอาจารย์ แต่นี่พระพุทธเจ้าท่านไม่ต้องการให้เราโลภ ให้หมายความว่า เรารู้จักตัวเรา เมื่อเวลาที่ควรจะให้ เราให้ได้ไหม ให้หรือเปล่า ไม่ใช่วันหนึ่ง เอาบารมีมา มานั่งนับนั่งเทียบ วันนี้ฉันขาดอันโน้น พรุ่งนี้ฉันเจริญให้ใหญ่เลย ให้มันเป็นบารมีให้ได้ ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ต้องการให้เกิดโลภในบารมีหนึ่งบารมีใด หรือทั้ง ๑๐ บารมี แต่ว่าเราจะต้องรู้ว่า เมื่อถึงเวลาที่ควรจะให้ เราให้ได้ไหม วันนี้เราอาจจะไม่ให้ เพราะยังไม่มี ใครที่ควรจะให้ เราอาจจะมีเสื้อผ้ามีของใช้ในบ้านหลายอย่างที่เราคิดจะให้ อยากจะให้ แต่เราก็ยังไม่ได้ให้ อันนั้นก็แล้วแต่ แต่ถ้ามีอะไรที่เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา ใกล้เคียง หรือว่าอยู่ในเขตรัศมีที่เราควรจะให้ เราให้ไหม นี่แสดงว่าเราไม่โลภในทาน เมื่อเป็นโอกาสที่ทานจะเกิดก็เกิด สละให้ได้ สามารถสละให้ได้ เป็นทานจริงๆ ไม่คิดหวังแม้แต่ว่า จะโลภในทานบารมี
ผู้ฟัง ทีนี้ตรงนี้ที่ผมก็เกิดความรู้สึกว่า ทุกวันนี้แม้แต่สมมติว่าเราจะช่วยเหลือสงเคราะห์ที่เป็นคนขอทาน ก็เกิดมีหน่วยราชการหนึ่งขัดขวางอย่างรุนแรงเลย หาว่าเป็นการไปส่งเสริมอาชีพ แล้วก็พูดว่า ขอทานบางคนมีเงินเป็นหมื่น เป็นแสนมากกว่าคนให้อีก
ท่านอาจารย์ ดิฉันขออนุญาตนิดหนึ่ง เรื่องคิดนี่เรื่องคิดมากมายใหญ่โต แตกกิ่งก้านสาขาไปมากมาย อาจจะคิดถึงนอกจากองค์การนี้ ยังองค์การโน้นทั่วโลก อะไรๆ คือเรื่องความคิดแตกสาขา เป็นสิ่งที่เพียงคิด เอาเฉพาะหน้าว่า เราจะให้ไหม ให้ได้จบ เราสามารถที่จะสละให้ได้ พอ ไม่ต้องไปคิดว่า องค์การนี้เขาจะเป็นอย่างไรเรื่องโน้น เรื่องนี้มากมาย เรื่องที่จะเกี่ยวกับความคิด
ผู้ฟัง ทีนี้สังเกตุดูในบารมี ๑๐ ผมเห็นว่าเรื่องขันติบารมีมีความสำคัญต่อบารมีอื่นมากเลย เช่นเมื่อมีสิ่งที่มากระทบ แล้วเกิดความไม่พอใจ เป็นโทสะ เป็นความขุ่นใจ แล้วขณะนั้นจะพูดถึงเรื่องเมตตาไม่ได้ กรุณาไม่ได้ แม้แต่เพียงว่าจะให้อภัยยังเกิดไม่ได้เลย
ท่านอาจารย์ แม้แต่บอกว่า จะถึงนิพพาน แลกกับความขุ่นใจขณะนั้นก็ยังไม่ยอม เอาขุ่นใจมากกว่าเอานิพพาน
ผู้ฟัง แต่ทำไมน่าจะเน้นในเรื่องของขันติบารมี
ท่านอาจารย์ เน้นได้ แต่ทำได้หรือเปล่า อยู่ที่ทำ ไม่ใช่อยู่ที่เน้น เน้นแสนเน้นสักเท่าไร ทำได้ไหม
ผู้ฟัง คือจะได้ให้คนที่ฟัง ได้เกิด
ท่านอาจารย์ ก็ใช่ แล้วก็เน้นอีก เรื่องพระเตมีย์ เรื่องอะไรๆ พระชาติเท่าไร ชาดกเท่าไร ข้อความในพระไตรปิฎกเท่าไร ไม่ใช่ไม่เน้น ทำได้ไหม อย่าไปโทษคนว่า เขาไม่เน้น อยู่ที่ตัวเอง ได้หรือเปล่า เวลาก่อนจะทำ รู้สึกว่าทำไม่ได้ ยากแสนเข็น แต่ลองทำ ถ้าทำได้แล้วก็ง่ายมาก เพราะทำได้แล้ว อยู่ที่จะทำหรือจะไม่ทำ พอบอกว่า จะทำไม่ได้ ก็ไม่ได้ตลอดชาติ ถ้าบอกว่าทำได้แล้วทำทันที ผ่านไปหนึ่งแล้ว คราวหน้าทำได้อีก คราวหน้าทำได้อีก ไม่อย่างนั้นจะไม่ใช้คำว่า เจริญ เริ่มทีละเล็กทีละน้อย สะสมเพิ่มขึ้น ทุกคนอยากจะมีมาก แต่ไม่ชอบสะสมทีละนิด แล้วก็คร่ำครวญว่า เมื่อไรจะมาก แต่ทีละนิดไม่มี แล้วจะมากได้อย่างไร ถ้ามีทีละนิดแล้วพอใจแล้วว่า นิดหนึ่งก็ยังมี คราวหน้าก็นิดหนึ่งก็ยังมี คราวหน้าหนึ่งก็ยังมี ต่อไปก็มาก ไม่ต้องไปคร่ำครวญที่ไหนว่า ทำไมไม่มาก แต่ละคน เป็นแต่ละคนจริงๆ คุณศุกลไม่ใช่สุเมธดาบส แต่ละคน เปลี่ยนแปลงอะไรที่สะสมมา หรือว่าจะแลกเปลี่ยนกันไม่ได้ ก็เป็นการสะสมเฉพาะตัวๆ
ชีวิตของแต่ละท่านที่เป็นสาวก หรือว่าชีวิตของพระชาติต่างๆ ในชาดกต่างๆ เป็นแต่เพียงเครื่องสะท้อนให้เราพิจารณาว่า เรามีธรรมเหล่านั้นไหม คืออกุศลที่ท่านหล่านั้นเคยมี เพราะฉะนั้น เราก็ต้องสะสมปัญญา แล้วก็บารมีอื่นๆ ต่อไป โดยการที่ไม่ใช่ไปเป็นคนอื่น หรืออยากจะเหมือนคนอื่น แต่เราต้องรู้จักตัวของเราเอง ตามความเป็นจริง แล้วก็ด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ด้วยการเข้าใจสภาพธรรมนี้ เราจะรู้ว่า แม้แต่ขณะหนึ่งขณะใดที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเรา เป็นไปตามเหตุปัจจัยทั้งนั้น เกินความคาดหมายที่เราจะไปหวังอะไร หรือเราจะไปเปลี่ยนแปลงอะไร ถ้าเราจะไปบอกคุณศุกลว่า อย่าคิดอย่างนี้นะ ทำไม่ได้ คือว่าถึงบอกไป ก็แล้วแต่คุณศุกลนั่นเอง แล้วแต่จริงๆ แล้วอะไรจะเกิดขึ้น สิ่งนั้นเกิดขึ้นเพราะการสะสม เพราะเหตุปัจจัย ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องเสียเวลาคิดล่วงหน้าตั้งเป็นวัน นี่คิดมากี่วันก่อนจะมาอินทนนท์ แล้วอีกตั้งหลายวันกว่าจะกลับจากอินทนนท์ เรื่องนี้ยังไม่จบ แล้วก็ขณะจิตจริงๆ ซึ่งจะเกิด คุณศุกลเดาไม่ได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้น
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ว่า ความคิด เราต้องรู้ว่า เป็นส่วนของความคิด แต่ว่าทุกขณะจิตที่เกิดขึ้น แม้แต่คิดก็เกิดขึ้นเพราะการสะสม ตั้งใจไว้หรือว่าตอนนี้จะคิดอย่างนี้ แล้วตอนนั้นจะคิดอย่างนั้น ไม่ได้ตั้งใจเลย แต่ขณะจิตที่เปลี่ยนไป ก็ต้องเปลี่ยนไปตามการสะสมด้วย
แต่ละคนก็รู้จักตัวเอง ตัวเองจริงๆ อย่าลืมว่า ทุกคนไม่ได้อยู่ร่วมโลกกับใครอันแท้จริง อยู่เพียงร่วมโลกในความคิด จิตเห็นแต่ละขณะซึ่งเกิดขึ้น เกิดแล้วดับทันที ยังไม่เป็นสัตว์ ไม่เป็นบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จะมีคนอื่นมาได้อย่างไร เพราะว่าจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่งก็เป็นโลกๆ หนึ่ง คือ โลกทางตา เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏ ที่เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ แสนสั้น แล้วดับ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตาขณะนี้ สั้นแสนสั้น เหมือนเสียงที่ปรากฏทางหู เรายังคะเนได้ว่าสั้นมาก ฉันใด สิ่งที่ปรากฏทางตาก็ต้องสั้นแสนสั้นอย่างนั้น
เมื่อทุกอย่างเกิดขึ้นเป็นปรมัตถธรรม กระทบกันแล้วก็ปรากฏเป็นโลกของความรู้ทางตาโลก ๑ ความรู้ทางหูโลก ๑ ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ รวมความว่า จิตเกิดขึ้นเพียงทีละขณะ ไม่มีตัวตนไม่มีใคร แต่ว่ามีความคิดนึกเรื่องต่างๆ มากมาย เพราะฉะนั้น มีคนอื่นเพียงในความทรงจำว่า เราได้นั่งอยู่กับคนนั้น หรือกำลังพูดอยู่กับคนนี้ แต่จิตเกิดแล้วดับแล้วอยู่ตลอดเวลา
การที่จะเข้าใจความหมายว่า อยู่คนเดียว โลกส่วนตัวของแต่ละคนจริงๆ กับความคิดนึก เพราะฉะนั้น เราจะเข้าใจได้ว่า หมายความว่าอะไร ไม่มีใครอยู่กับเรา ไม่มีใครเกิดมากับเรา ไม่มีใครตายไปกับเรา จิตของเราขณะหนึ่งเกิดแล้วก็ดับไป คนอื่นก็จะมาร่วมอยู่ในโลกของจิตดวงเดียวที่เกิดดับนั้นไม่ได้
เราจะต้องเข้าใจแยกสมมติสัจจะกับปรมัตถสัจจะ แล้วก็เข้าใจที่ว่าขณะนี้ความหมายของธรรมทั้งหมดที่ได้แสดงไว้ โดยสภาพที่ไม่ใช่ตัวตนเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้น ก็แยกรู้ว่า ปรมัตถธรรมไม่ใช่ความคิดนึก กำลังเห็น ชั่วขณะแล้วดับ แต่คิดเรื่องเรากำลังนั่งอยู่ที่นี้มากมาย ความคิดก็จะเข้ามา เป็นโลกส่วนรวม แต่แท้ที่จริงแล้ว คนหนึ่งก็คือจิตขณะหนึ่งซึ่งไม่ใช่ใคร เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับไป
ผู้ฟัง อาจารย์กรุณาให้ข้อแนะนำ หรือ คำแนะนำ คือ ผมอยากจะตั้งต้น ทำบารมี คือเมื่อก่อนได้ทราบว่า อาจารย์บอกว่า บารมีไม่ใช่จะทำกันได้ง่ายๆ จะต้องมี เจตนาที่ถูกต้อง ทีนี้ผมอยากจะทำ คือหมายความว่า อยากจะให้มีบารมีสะสม
ท่านอาจารย์ ต้องทราบว่า บารมีมี ๑๐ แล้วบารมีเป็นธรรมที่จะทำให้ถึงฝั่ง คือ พระนิพพาน ที่จะดับกิเลสหมด ซึ่งถ้าไม่อาศัยบารมีทั้ง ๑๐ นี้ ไม่มีทางที่จะถึง เหมือนกับอีกฝั่ง แล้วเรายืนอยู่ฝั่งนี้ เรือแพอะไรก็ไม่มีทั้งนั้น ร่างกายก็อ่อนแอ กระปลกกระเปลี้ย แล้วก็จะไปถึงอีกฝั่งได้อย่างไร เพราะฉะนั้น บารมีก็เหมือนเครื่องประกอบ เครื่องช่วยที่จะทำให้เราข้ามไปถึงฝั่งซึ่งดับกิเลส เพราะว่าขณะนี้เมื่อยังไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ก็ต้องอยู่ในฝั่งกิเลสอยู่ จะคิด จะนึก จะพูด จะทำอะไร มันก็เป็นไปด้วยกิเลสทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจความหมายของบารมี ซึ่งการจะถึงฝั่งด้วยการประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง ถ้าไม่มีการประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้วละก็ดับกิเลสไม่ได้ ต้องเห็นภัยของกิเลส ไม่ใช่ว่าอยากจะถึงนิพพาน แต่ชอบกิเลสจัง โกรธนี่ชอบ ต้องมี เพราะฉะนั้น เราต้องรู้จริงๆ ว่า กิเลสแต่ละอย่างเป็นอย่างไร แล้วมันมีกับเรามากน้อยขนาดไหน เป็นผู้ที่ตรวจตราตัวเอง สำรวจด้วยสติสัมปชัญญะที่ จะรู้จักตัวเอง แล้วถึงจะค่อยๆ ขัดกิเลสได้ ไม่ใช่ว่าในขณะเดียวกันที่เราอยากละกิเลส แต่เราก็เต็มไปด้วยการไม่อภัยเลย ผูกโกรธ มานะสำคัญตน อะไรๆ สารพัดอย่าง คนที่จะดับกิเลส ต้องเห็นภัยของกิเลส แล้วก็รู้ว่ากิเลสดับยาก เพราะฉะนั้น ก็ต้องพากเพียรด้วยบารมี ๑๐ ที่จะสอนตัวเองว่า ถ้าไม่มีบารมีเหล่านี้แล้วละก็ จะไม่มีทางถึง
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 301
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 302
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 303
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 304
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 305
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 306
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 307
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 308
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 309
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 310
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 311
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 312
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 313
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 314
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 315
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 316
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 317
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 318
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 319
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 320
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 321
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 322
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 323
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 324
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 325
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 326
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 327
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 328
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 329
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 330
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 331
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 332
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 333
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 334
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 335
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 336 ***
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 337
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 338
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 339
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 340
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 341
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 342
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 343
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 344
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 345
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 346
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 347
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 348
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 349
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 350
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 351
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 352
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 353
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 354
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 355
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 356
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 357
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 358
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 359
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 360