ปกิณณกธรรม ตอนที่ 345
ตอนที่ ๓๔๕
สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่
พ.ศ. ๒๕๓๔
ผู้ฟัง ผมเท่าที่เจริญสติปัฏฐาน ถึงแม้ปัญญาขั้นสติปัฏฐานยังไม่ไปถึงไหน แต่ว่าที่เห็นประโยชน์อยู่คือ เมื่อเจริญสติปัฏฐานแล้ว ทำให้สติขั้นสมถะนั้นเจริญขึ้นโดยแต่ก่อนไม่เคยมี
ท่านอาจารย์ เราจะไม่เรียนสมถะ เราจะเรียกกุศลได้ไหม
ผู้ฟัง ได้
ท่านอาจารย์ พอพูดถึงสมถะแล้วรู้สึกเหมือนกับว่า ทุกคนต้องไปทำอะไรสักอย่างที่ให้มีนานๆ ให้มีมากๆ แต่ไม่ได้คิดถึงว่า กุศลทุกชนิดสงบ ถ้าเรารู้ว่ากุศล คือ ความสงบจากอกุศล แค่นี้เราก็น่าจะพอใจ แต่คนส่วนใหญ่ก็โลภกุศลเข้าไปอีก เท่านี้ก็ไม่เอา จะต้องเอาให้มากๆ กว่านี้ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วกุศลเป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าเราก็ควรจะรู้ด้วยว่า กุศลทุกประเภทต้องเป็นเรื่องของการละ ไม่ใช่เป็นเรื่องของความต้องการ แต่ว่าทุกคนลืมว่ามี โลภะตามติดมาอยู่ข้างหลัง ไม่ว่าจะเป็นกุศลประเภทใดทั้งสิ้น โลภะ เขาพอใจในกุศล ต้องการมีกุศลมากๆ เพราะฉะนั้น ถ้าเราเป็นผู้ที่เห็นโทษของอกุศล แล้วก็รู้ว่าขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นสงบ เราก็เจริญกุศล หมายความว่ามีกุศล เราก็สงบแล้ว แล้วทำไมถึงจะต้องไปนึกถึงสมถภาวนา หรืออะไรต่ออะไร ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นเรื่องที่เราต้องการอยากจะทำให้มากขึ้น หรืออะไรอย่างนั้น แต่ที่จริงแล้วเป็นเรื่องละ อย่างที่คุณธงชัยบอกว่า คุณธงชัยยังไม่เห็นว่า เมตตาจะละโลภะ ใช่ไหม เห็นแต่เมตตาละโทสะ
ผู้ฟัง ผมเห็นว่ายังไม่เห็นโทษของโลภะ แล้วทำให้สติขั้นนี้เกิด
ท่านอาจารย์ แต่ว่าเห็นโทษของโทสะ แล้วก็ทำให้สติขั้นนี้เกิด แสดงว่าคุณธงชัย ยังไม่เห็นศัตรูใกล้ของเมตตา เพราะฉะนั้น คุณธงชัยจะมีเมตตาก็ต่อเมื่อมีความขุ่นเคืองใจ ในบุคคลหนึ่งบุคคลใด แล้วสติเกิดระลึกได้เห็นโทษของโทสะในขณะนั้น แล้วก็การสะสมมาทำให้เกิดกุศลจิต เมตตาแทนโทสะ ใช่ไหม
ผู้ฟัง ถูกต้อง
ท่านอาจารย์ ถ้าคุณธงชัยจะมีความละเอียดขึ้นอีก ที่เห็นศัตรูใกล้ของเมตตา คือ โลภะ แม้แต่คนที่คุณธงชัยเคยรักใคร่ผูกพันโดยฐานะต่างๆ อาจจะเป็นบุคคลในครอบครัว หรืออาจจะเป็นเพื่อนสนิท เพราะบางคนรักเพื่อน ถ้าเป็นเพื่อนสนิทก็มีความรักเพิ่มขึ้นมากกว่าเพื่อนเห็น เพื่อนเดินทาง หรือเพื่อนอะไรก็แล้วแต่ จะเห็นได้ว่า ความผูกพันมีมาก แต่ถ้าขณะใดที่เห็นแม้โทษของความผูกพัน แล้วก็เกิดเมตตาแทนความผูกพัน ขณะนั้นคุณธงชัยก็เจริญเมตตาเพิ่มขึ้นอีก เพราะว่าเห็นโทษของโลภะ
ผู้ฟัง รับรองเรื่องนี้ยากที่สุด เพราะว่าถ้าหากว่าผมเห็นผูกพันกับใครแล้ว เกิดติดในบุคคลใด คงจะนึกไม่ถึงเลย ที่จะต้องไปเมตตาต่อไปก็ยังนึกไม่ถึง
ท่านอาจารย์ แม้แต่การจะช่วยเหลือ เราก็อาจจะคิดว่า เวลาที่เราให้ด้วยความผูกพันอย่างหนึ่ง กับการที่เราเห็นใจเขา เหมือนกับว่าเราต้องการอย่างไร เขาคนนั้นแม้ว่าจะไม่ใช่คนที่เรารัก หรือเป็นคนที่เราเคยรัก หรือว่าเคยผูกพันกันมา แต่จิตขณะนั้นเราก็อาจจะเปลี่ยนได้ โดยเห็นว่าเขาก็เป็นคนหนึ่งซึ่งก็มีความต้องการจะมีสุข เหมือนอย่างคนอื่นๆ เพราะฉะนั้น การช่วยเหลือของเราต่อบุคคลนั้น ในขณะนั้นจะเปลี่ยนสภาพจากการเคยให้ด้วยความผูกพัน มาเป็นให้ด้วยความเมตตาว่าเขาเป็นบุคคลที่เราควรสงเคราะห์ ควรช่วยเหลือ ควรมีเมตตา หรืออย่างว่าถ้าคุณธงชัยโกรธ คนนี้เป็นคนที่เราผูกโกรธมากๆ เราไม่ควรจะโกรธเขา เห็นโทษของความโกรธ เพราะฉะนั้น ก็ควรจะมีเมตตาต่อบุคคลนี้ ทีนี้คนที่ีเราเคยรัก เคยผูกพัน เราก็ควรจะเห็นได้เหมือนกันว่า นี่ก็เป็นบุคคลหนึ่งซึ่งเราเคยผูกพันธ์ แล้วเราก็ไม่ได้มีเมตตาต่อเขา แต่ยังคงมีความผูกพันๆ ๆ ๆ ทุกทีเพิ่มขึ้น ถ้ามีการเห็นโทษจริงๆ เราอาจจะมีความประพฤติต่อบุคคลนั้นเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง ยังมีความช่วยเหลือ ยังมีการให้ อนุเคราะห์ ยังมีความไม่โกรธ แต่ว่าโดยฐานะที่ว่า ไม่มีความผูกพันได้ เปลี่ยนสภาพจากความผูกพัน เป็นความเป็นมิตร ถ้าเราไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เราก็นึกถึงคำว่า มิตร ความเป็นเพื่อนจริงๆ หมายความว่าเป็นผู้ที่เรามีความหวังดีต่อเท่านั้น มีความหวังดีต่อบุคคลนี้ โอกาสของความผูกพัน หรือโลภะอาจจะมีในขณะอื่น เพราะฉะนั้น ก็เพิ่มความเป็นมิตรมากขึ้น และความผูกพันซึ่งยังมีอยู่จะคงระดับเดิม หรือว่าจะลดน้อยลงไป แล้วก็มีความเมตตาแทรกเพิ่มขึ้นแทนก็ได้ นี่เป็นการอบรมเจริญความเมตตา โดยไม่ต้องไปถึงอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ เพราะฉะนั้น ขอให้เลิกคิดเรื่องที่จะไปทำสมถภาวนา หรือว่าจะไปให้ถึงอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ เพียงชีวิตประจำวันจริงๆ ซึ่งแวดล้อมไปด้วยอกุศลมากมาย โลภะก็มากกับคนในครอบครัว กับมิตรสหาย กับอะไรอีกหลายอย่าง แม้แต่สุนัข หนู แมวในบ้าน ก็มีความผูกพัน มีความรักอย่างเป็นโลภะ
ถ้าเราจะค่อยๆ เปลี่ยนสภาพความรู้สึกของเราจากความผูกพันมาเป็นความเมตตาเพิ่มขึ้น คือ ความเป็นมิตร มันก็จะเห็นได้ว่า เมื่อวานนี้เคยรักเขามากเชียว เจ้าสุนัขตัวนี้ แล้ววันนี้เกิดเห็นว่าเขาเป็นสัตว์ แล้วก็เขาไม่สามารถจะอย่างนี้ อย่างนั้น อย่างนั้นอย่างนี้ หาอาหารเอง รักษาตัวเองได้ แม้แต่การจะทำนุบำรุงรักษาเขา ก็ด้วยความเมตตา ด้วยความเป็นมิตรจริงๆ ไม่ใช่ด้วยความผูกพันว่าเขาน่ารัก เขาเป็นของเรา เรารักเขา เขามาประจบเรา อะไรอย่างนี้ มันก็ค่อยๆ ลดลงไป แต่ว่าเราก็จะเห็นความต่างกัน แล้วจะรู้ได้ว่า ถ้าเราเห็นศัตรูใกล้ ความเมตตา ความเป็นมิตรจริงๆ ของเราที่เป็นกุศลจะเข้ามาแทนที่โลภะ แม้ว่ายังไม่ตลอดทั้งหมด แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะเกิดได้ โดยที่ไม่ต้องไปคิดถึงอุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ แต่เป็นกุศลในชีวิตประจำวัน เป็นสมถะในชีวิตประจำวัน เป็นกุศล เป็นสมถะ เพราะสงบในชีวิตประจำวัน ชั่วขณะที่เป็นกุศล แล้วเรื่องสมถภาวนานั้นก็เลิกคิดเสียดีกว่า เพราะว่าแสนจะไกล
ผู้ฟัง คงจะต้องเป็นจิตอีกระดับหนึ่ง ซึ่งยากมากๆ สำหรับผม แล้วก็กลับไปบ้าน เจอเจ้าหมา ๒ ตัว ตัวหนึ่งรัก อีกตัวไม่ค่อยรักมัน ก็ต้องพิจารณาสังเกตดูว่า เราจะเกิดเมตตาได้ไม่ได้ จะเกิดได้ตัวไหน อะไรนี่
ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนี้ก็ยังไม่เป็น แล้วก็จะไปเจริญสมถภาวนากัน ก็รับรองได้ ให้มีมากๆ ในชีวิตประจำวัน จนกระทั่งเป็นอุปนิสัย แล้วก็จุดประสงค์จริงๆ ในชีวิต สำหรับผู้ที่เข้าใจเรื่องการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ก็ไม่ต้องเป็นอย่างอื่น เพราะเหตุว่าแล้วแต่สภาพขณะนั้นจะเป็นกุศลจิต หรืออกุศลจิต ก็ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีความมุ่งหวังไกลที่จะมากั้นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพที่เป็นนามธรรม หรือรูปธรรม โดยไปมัวตั้งใจที่จะให้ถึง อุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ ซึ่งไม่ถึง เพราะว่าขาดสติสัมปชัญญะ ไม่เข้าใจเรื่องการเจริญสมถภาวนา แล้วก็จะไปอ่านเฉยๆ แล้วก็ไปจ้องด้วยความต้องการ ก็เป็นมิจฉาสมาธิ ซึ่งไม่มีทางถึงอุปจารสมาธิ แล้วคำถามก็มาว่า มีสติสัมปชัญญะไหม มีอะไรไหม ซึ่งก็เป็นเรื่องสงสัยทั้งหมด เป็นวิจิกิจฉานิวรณ์
ผู้ฟัง ผมขอวกกลับมาเรื่องเกี่ยวกับสติปัฏฐาน ขณะที่สติเกิดทางกายทวาร บางครั้งเราพิจารณาได้นานๆ แล้วเราก็เห็นความไม่เป็นตัว ไม่เป็นตน เช่น จะเป็นร้อนก็ดี หรือแข็งก็ดี ถึงแม้ขั้นการคิดก็ไม่เป็นตัวตน พิจารณาร้อน แข็งไปนานๆ อาจจะมองเป็นมโนภาพอะไรขึ้นมาว่า มันเป็นมือกำลังกดอยู่ที่เสื่อ มโนภาพนั้นมันก็ไม่ใช่ตัวตนแน่ๆ อยู่แล้ว ความเข้าใจอย่างนี้ ผมว่า จะว่าคิดมันก็คิด มันก็เห็นไม่มีตัวตน
ท่านอาจารย์ คิดเรื่องไม่มีตัวตน
ผู้ฟัง มันก็เห็นความเป็นไม่มีตัวตนอยู่
ท่านอาจารย์ หมายความว่า คิดเห็นว่า ไม่มีตัวตน
ผู้ฟัง คือแม้แต่คิดก็ยังเห็นว่า สมมติว่า ถ้าเราเกิดมีมโนภาพขึ้นมา มโนภาพมันก็เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอยู่ เราก็เห็นว่ามันไม่มีตัวตน
ท่านอาจารย์ แต่ที่เรากำลังเห็นว่า ไม่มีตัวตน ไม่ใช่นามธรรมชนิดหนึ่ง
ผู้ฟัง มันก็เห็นเป็นลักษณะ เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งเหมือนกันว่า มันเป็นอย่างนั้นเอง ร้อนอย่างนั้น ดูๆ แล้วมันก็แปลก จะว่าคิด จะว่าประจักษ์ก็ไม่ใช่ ไม่ใช่แน่ๆ แต่ว่า จะว่าเราว่าไม่เข้าใจก็ไม่ใช่
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ระลึกรู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมไปอีกเรื่อยๆ เพราะว่านามธรรมใดเกิดแล้วดับไป ไม่กลับมาอีกเลย ขณะนี้มีนามธรรมใหม่ ขณะไหนก็ขณะนั้นที่สติจะระลึกแล้วก็รู้ ไม่ไปติดอยู่ที่นามธรรมใด รูปธรรมใดเลยทั้งสิ้น
รู้ลักษณะที่เป็นสภาพรู้ที่เป็นนามธรรม ที่เราใช้คำว่า นามธรรม คือ สภาพรู้ ขณะนั้นสภาพรู้กำลังรู้อะไร อย่างขณะนี้ที่ทุกคนบอกว่า มีสภาพรู้ สภาพรู้กำลังรู้อะไร ถ้าหาไม่ได้ ก็หมายความว่า สติไม่ได้รู้ในลักษณะของสภาพรู้ แต่ขณะใดที่กำลังเห็น เห็นไหม นี่กำลังเห็นเป็นสภาพรู้ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะว่ากำลังเห็น กำลังได้ยิน ที่กำลังได้ยินเป็นสภาพรู้ ที่กำลังคิดก็เป็นสภาพรู้ เมื่อเป็นสภาพรู้ก็ต้องมีสิ่งที่กำลังรู้ด้วย
เพราะฉะนั้น เราก็รู้ได้ว่า กำลังรู้ในสภาพรู้ไหน สภาพรู้ที่กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ หรือสภาพรู้ที่กำลังได้ยินเสียง หรือสภาพรู้ที่กำลังคิดนึก หรือกำลังเป็นสภาพรู้ที่จำ อย่างเวลาคิดคำ คิดเรื่องขึ้นมา ขณะนั้นถ้าจะรู้ ก็รู้สภาพจำคำ
ผู้ฟัง ไม่ใช่รู้เรื่องราว
ท่านอาจารย์ เรื่องราวนั้นมาจากคำทีละคำ
ผู้ฟัง ที่เรารู้สภาพเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ที่บอกว่าไม่ใช่ตัวตนนั้น เด็กๆ ก็คงจะรู้สึกอย่างนั้น แล้วเด็กนั่นก็จะไม่รู้ด้วยว่า มีตัวตนหรือไม่มีตัวตน ลักษณะรู้ของเด็กเหล่านั้นเป็นโมหะ ใช่ไหม หรือว่าไม่ทราบเป็นอะไร
ท่านอาจารย์ สภาพรู้แข็งเหมือนกันหมด ไม่ว่าใคร
ผู้ฟัง ไม่ใช่เป็นตัวตน
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ตัวตน เพราะว่าเป็นเพียงอาการรู้แข็ง รู้อย่างอื่นไม่ได้ แต่การที่จะรู้ว่าไม่ใช่ตัวตนต้องเป็นปัญญา แล้วก็เป็นปัญญาที่รู้ในลักษณะของรูปธรรม ลักษณะของนามธรรมในขณะนั้น ถ้าเด็กบอกว่าแข็ง แล้วเราบอกว่าเด็กมีปัญญาสามารถที่จะบอกได้ว่าแข็ง และถ้าเราบอกเด็กว่าแข็งไม่ใช่ตัวตน เด็กก็บอกว่าแข็งไม่ใช่ตัวตน แล้วเราจะไปบอกว่าเด็กรู้ ก็ไม่ได้
ผู้ฟัง คำว่า สมถะ ปกติท่านอาจารย์ก็จะไม่ค่อยจะให้คำอธิบายในเรื่องของสมาธิเท่าไร เป็นแต่เพียงบอกว่า ชีวิตปกติประจำวันควรจะเข้าใจเรื่องสมถภาวนา เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นสมาธิจะอาศัยสมถภาวนาถึงขั้นสมาธิ จะได้ไหม
ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจว่า สมาธิ หมายความถึง ขณะที่จิตตั้งมั่นที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด แต่ว่าปกติ เอกัคคตาเจตสิกนี้ จะเกิดกับจิตทุกขณะ ทำให้จิตนั้นรู้อารมณ์เดียวเท่านั้น จิตขณะหนึ่งก็รู้อารมณ์หนึ่ง เพราะฉะนั้น เวลาที่รู้อารมณ์เดียวสั้นๆ ไม่ปรากฏลักษณะของสมาธิ ต่อเมื่อใดรู้อารมณ์นั้นนานขึ้นอีก อารมณ์เดียวนั้นแหละซ้ำอยู่เรื่อยๆ บ่อยๆ ขณะนั้นลักษณะของสมาธิก็ปรากฏ เพราะเหตุว่าเพียงแค่จิตเห็นขณะหนึ่ง เอกัคคตาเจตสิกไม่ได้ปรากฏสภาพความเป็นสมาธิ ต่อเมื่อใดตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์เดียวนานๆ บ่อยๆ เนืองๆ ลักษณะของสมาธิก็ปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดถึงสมาธิ ก็มีทั้งมิจฉาสมาธิ สัมมาสมาธิ คนที่กำลังตั้งใจฟัง เราก็บอกว่าคนนั้นกำลังมีสมาธิได้ เขากำลังทำงานอะไร ขะมักเขม้น เขาไม่มองอะไรเลย เราก็บอกว่าเขากำลังมีสมาธิ แสดงให้เห็นอาการที่ตั้งมั่นของจิต แต่ทีนี้คนไปทำสมาธิ เพราะเหตุว่าต้องการที่จะให้มีการจดจ้องตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด เป็นความพอใจที่จะทำอย่างนั้น เพราะเหตุว่าไม่ชอบให้จิตซัดส่ายไปคิดเรื่องที่ไม่สบายใจ เดือดร้อนใจ เพราะฉะนั้น เมื่อไม่ชอบโทสะ อย่าลืม พวกที่จะทำสมาธิ ถามดูเถอะ ไม่ชอบโทสะ แต่ว่าไม่ได้มีปัญญาเห็นโทษของโลภะ เมื่อไม่มีปัญญา ก็เพียงแต่ว่าขณะที่จิตใจไม่สบาย ก็อยากจะทำให้จิตใจสบาย เพราะฉะนั้น ก็ไปจ้องอยู่ที่หนึ่งที่ใด เพื่อให้ขณะนั้นจิตใจสบายไม่คิดถึงเรื่องอื่น เพราะฉะนั้น ก็เป็นมิจฉาสมาธิ ซึ่งคนที่จะทำสมาธิไม่เคยรู้เลยว่า สมาธิมี ๒ อย่าง คือ มิจฉาสมาธิอย่างหนึ่ง แล้วก็สัมมาสมาธิอย่างหนึ่ง เมื่อไม่มีความรู้ลักษณะของสัมมาสมาธิ ที่ทำไปก็ต้องเป็นมิจฉาสมาธิ เพราะเหตุว่าไม่มีปัญญาอะไร เพียงแต่ไปจ้องให้จิตมั่นคง ไม่ซัดส่ายไปที่อื่น เท่านั้นก็พอใจแล้ว
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นเท่าที่มีการสอนกันว่า เป็นการไปนั่งสมาธิ แม้แต่การเริ่มต้นก็ผิด ตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ก็ไม่ได้สอนให้คนนั้นเกิดปัญญาอะไรเลย
ผู้ฟัง จากคำอธิบายที่ท่านอาจารย์พูดมา หมายความว่า ก่อนที่จะเป็นสมาธิที่เป็นสัมมาสมาธิ จะต้องเป็นเรื่องของความสงบของจิตที่เราเรียกว่า สมถภาวนา
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นสัมมาสมาธิต้องเป็นกุศล ถ้าจะเจริญสัมมาสมาธิก็ต้องเจริญด้วยกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ไม่มีปัญญาแล้วจะไปเจริญสมถภาวนาไม่ได้ เจริญวิปัสสนาภาวนาไม่ได้
ผู้ฟัง แม้แต่สมถภาวนาก็
ท่านอาจารย์ ต้องมีปัญญาที่เห็นโทษของโลภะ
ผู้ฟัง เพราะว่าขณะนั้นโลภะไม่ปรากฏ และก็ยังไม่เห็นโทษ
ท่านอาจารย์ ก็ไม่ต้องเจริญ คนที่ไม่เห็นโทษจะไปเจริญสมถภาวนาทำไม
ผู้ฟัง แต่ว่าเห็นโทษของโทสะ
ท่านอาจารย์ เห็นโทษของโทสะ ไม่ชอบโทสะ หรือเห็นโทษของโทสะ
ผู้ฟัง ไม่ชอบโทสะ
ท่านอาจารย์ แต่ว่าโลภะวันหนึ่งมีมากกว่า หรือเปล่า
ผู้ฟัง ทีนี้ก็คิดว่า การที่เราจะไม่ให้โทสะเกิด ก็อบรมให้จิตตั้งมั่นเพื่อจะได้ไม่ต้องไปคิดเรื่องความโกรธ หรือความขุ่นใจต่อไป ดูเหมือนว่าบังคับให้จิตอยู่ในการนึกถึงสิ่งเดียวตลอดเวลา
ท่านอาจารย์ ถ้าวันหนึ่งๆ อะไรเกิดมากกว่ากัน โลภะกับโทสะ
ผู้ฟัง ถ้าไม่สังเกตไม่ทราบ
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ เมื่อไม่ทราบแล้วจะเจริญสมถภาวนาไม่ได้ เพราะฉะนั้น คนที่จะเจริญสมถภาวนา ต้องรู้ว่าวันหนึ่งๆ อะไรเกิดมากกว่ากัน
ผู้ฟัง นี่คือการเริ่มต้นที่ถูกต้อง
ท่านอาจารย์ จะเจริญความสงบไม่ใช่หรือ ถ้าจะเจริญความสงบก็ต้องหมายความว่า กิเลสไม่เกิด ที่เขาไม่ชอบโทสะ แล้วเขาไปสนุกสนาน เขาสนุกแล้ว บางคนก็ไปเที่ยว บางคนก็ไปทำอย่างอื่นที่ให้เกิดความพอใจขึ้น แม้แต่เพียงนั่งนิ่งๆ เฉยๆ หรือจะนึกอะไรก็ตามแต่ ครูบาอาจารย์คนนั้นจะให้มาว่า จะให้ท่องอะไร แล้วก็คิดว่า เขาทำอย่างนั้นแล้วเขาจะสงบ เขาก็นั่งท่องไป คนที่ให้ ไม่ได้ให้ปัญญาคนนั้น แล้วก็ไม่ได้ถูกติเตียนอะไรด้วย เพราะว่าเชื่อเขาเอง ก็เข้าใจแค่นั้น แต่คนนั้นไม่ได้ให้ปัญญาว่า ความสงบคืออะไร ความสงบ คือ สงบจากอกุศล เพราะฉะนั้น ต้องเป็นกุศล
ผู้ฟัง เมื่อกุศลมีกำลังหรือตั้งมั่นอยู่ในกุศลนั้น แล้วจึงจะกล่าวว่า ความสงบนั้นเพิ่มขึ้น อย่างนั้นใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ท่านที่เคยซาบซึ้งในพระธรรม แล้วก็รู้สึกได้ทันทีว่า บางขณะเราไม่เคยมีความรู้สึกอย่างนี้เลย เพราะฉะนั้น ความซาบซึ้งในพระธรรมที่ประกอบด้วยปีติ แล้วถ้าดำรงอยู่นานๆ ความสงบของจิตจะมากไหม
ผู้ฟัง อันนี้ยังไม่ปรากฏ ไม่เคยมี
ท่านอาจารย์ การจะเจริญอบรมเจริญสมถภาวนา โดยอาศัยอารมณ์ ๔๐ อารมณ์ ที่จะทำให้จิตเป็นกุศลยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ผู้นั้นก็สามารถที่จะรู้ความต่างกันของกุศลจิต และอกุศลจิต เพราะว่าปกติธรรมดากุศลจิตก็สั้น อกุศลจิตก็สั้น แล้วก็สลับกันเร็วมาก นี่กำลังฟังเข้าใจ เสียงอื่นมาแล้ว เสียงอื่นคั่นชั่วครู่ ขณะนั้นไม่ใช่กุศล ไปเข้าใจอะไรในเสียงนั้น เสียงนั้นทำให้ซาบซึ้งอย่างไรก็เปล่า เพราะฉะนั้น คนนั้นก็จะต้องมีความเข้าใจว่า ขณะใดเป็นกุศลจิต ขณะใดเป็นอกุศลจิต แล้วก็ใส่ใจเฉพาะในอารมณ์ที่ทำให้กุศลจิตเกิด แล้วก็รู้ว่าขณะใดอกุศลแทรก ถึงสามารถที่จะมีวิตก วิจาร ระลึกถึงอารมณ์ที่ทำให้กุศลจิตเกิด โดยที่ว่าไม่ให้อกุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใดในนิวรณธรรม ๕ อย่างนั้นเข้ามาได้เลย ต้องรู้ถึงลักษณะที่ต่างกันของนิวรณ์ ๕ อย่างด้วย ว่านี่เป็นนิวรณ์ นั่นเป็นนิวรณ์ นี่เป็นนิวรรณ์ นั่นเป็นนิวรณ์ เข้ามาเมื่อไร ขณะไหน วิตก วิจารก็เกิดระลึกถึงอารมณ์ที่ทำให้จิตสงบเพิ่มขึ้น
เพราะฉะนั้น ต้องประกอบด้วยปัญญา ไม่ใช่ว่าใครอยากจะนั่งนิ่งๆ แล้วจิตจะสงบ เป็นคนที่ไม่มีปัญญาเลย คือไม่รู้ว่าสงบนั้นสงบอย่างไร แต่ว่าสงบในทางพระพทุธศาสนา ในสภาพธรรมจริงๆ ที่เป็นสมถะ แล้วต้องเป็นกุศล เพราะว่าสงบจากอกุศล
ผู้ฟัง ถ้าลักษณะอย่างที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวมาทั้งหมด โดยความเห็นส่วนตัวของผมคิดว่า ยากมาก แล้วเป็นสิ่งที่คงจะเกิดไม่ได้ แต่ถ้าสมมติเราจะพิจารณาเรื่องการอบรมเจริญสติปัฏฐานในชีวิตประจำวัน รู้สึกว่ายังมีโอกาสที่จะมีการระลึกได้ หรือใช้คำว่าคิดดีกว่า เพราะว่าจากสิ่งที่เราได้ฟังพอมีความเข้าใจอยู่บ้างว่า ถ้ามีการสังเกตทางใดทางหนึ่งก็ได้ จะเป็นเสียงก่อนก็ได้ หรือว่าจะเป็นการเห็นก็ได้ รู้สึกว่าจะทำให้เกิดความเข้าใจ หรือเป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวันมากกว่า
ท่านอาจารย์ ด้วยเหตุนี้แม้ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน ผู้ที่เป็นสุกขวิปัสสกะไม่บรรลุพร้อมกับองค์ของฌานขั้นต่างๆ จึงมีมากกว่าพวกเจโตวิมุตที่บรรลุพร้อมทั้งองค์ของฌาน นั่นในสมัยพระพุทธเจ้า แล้วสมัยนี้จะทำอะไรกัน จะอบรมเจริญอะไร
ผู้ฟัง วิญญาณ หรือจิตที่เขาออกจากร่างไปนั้น ที่กำลังจะตายนั้น ไปได้อย่างไร หรือเป็นอย่างไร ใคร่ขอท่านอาจารย์อธิบายให้ฟังหน่อย
ท่านอาจารย์ วิญญาณออกจากร่างไม่ได้แน่ จิตเกิดขึ้นแล้วก็ดับอยู่ตลอดเวลา อันนี้ต้องเข้าใจให้แน่นอน ไม่ว่าจะไปได้ยิน เรื่องราวแปลกประหลาดมหัศจรรย์อย่างไรก็ตามแต่ แต่ให้ทราบว่าจิตซึ่งเป็นสภาพรู้เกิดขึ้น แล้วก็ดับไปทันที เร็วมาก มีอายุสั้นที่สุด คือ เพียงชั่วขณะ ๓ ขณะย่อย คือ ขณะเกิด ขณะตั้งอยู่ แล้วก็ขณะดับไป แล้วก็ขณะเกิดก็ไม้ใช่ขณะดับ ระหว่างขณะเกิดกับขณะดับก็เป็นขณะที่ตั้งอยู่ชั่วครู่ แล้วก็ถึงขณะที่ดับไป เพราะฉะนั้น จิตนี้ดับเร็วมาก เกิดดับอย่างเร็วที่สุด แล้วก็ไม่ใช่รูปที่จะออกไปทางหนึ่งทางใดได้เลย จิตเกิดที่ไหนดับที่นั่น นี่ต้องแน่ใจก่อนว่า เป็นความจริงอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ใครจะมาบอกว่าวิญญาณออกจากร่าง เราก็รู้ว่าผู้นั้นพูดผิด เข้าใจผิด ที่ถูกต้อง คือ จิตขณะสุดท้ายดับ ที่เขาเข้าใจว่าวิญญาณออกจากร่าง ก็คือจิตขณะสุดท้ายดับ เพราะว่าธรรมดาเวลาที่จิตขณะหนึ่งดับไป การดับของจิตขณะก่อนจะเป็นปัจจัยจิตให้ จิตขณะต่อไปเกิด อย่างจิตเมื่อวานนี้ ระหว่างที่เรานอนหลับจนกระทั่งเราตื่นมาตอนเข้าจนกระทั่งเรานั่งอยู่เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่จิตดวงเดียว ขณะเดียว แต่เป็นจิตขณะสั้นๆ เกิดแล้วก็ดับๆ ๆ อยู่เรื่อยๆ
เพราะฉะนั้น ไม่มีการออกจากร่างแน่นอน ที่ชื่อว่าคนตาย เพราะเหตุว่าจิตขณะสุดท้ายที่ทำให้เขาดำรงความเป็นบุคคลนี้เกิดขึ้นแล้วดับไปไม่เกิดต่อ เมื่อไม่เกิดต่อจึงชื่อว่าคนนั้นตาย ไม่เกิดต่อ หมายความว่า ไม่เกิดต่อโดยการดำรงความเป็นสภาพบุคคลนี้ แต่ว่ากรรมหนึ่งที่ทำไว้จะเป็นปัจจัยทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อจากจุติจิต จิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ เป็นจุติ จิตขณะแรกของชาติต่อไปเป็นปฏิสนธิ
การดับของจิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตขณะแรกของชาติต่อไปเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าออกไปไหน หรือออกไปจากร่างได้ เกิดที่นี่ดับที่นี่ไม่ได้ข้ามภพข้ามชาติ ไม่ได้จากนี่ไปเกิดที่โน่น แต่ว่าการดับของจิตดวงนี้เป็นปัจจัยให้ปฏิสนธิจิตเกิด แล้วแต่ว่าจะเกิดที่ไหน ไม่มีการออกจากร่างเลย ตอนนี้สงสัยไหม
ผู้ฟัง อาตมาแปลกใจตอนที่เอาลูกชายไปบวช แล้วก็มาวุ่นทันที
ท่านอาจารย์ ถ้ายังไม่ตายแล้วก็ไม่มีใครไปทำให้ตายได้ คนที่ยังไม่ตาย ที่จุติจิตขณะสุดท้ายยังไม่เกิด ใครก็จะไปทำให้คนนั้นตายไม่ได้ และจุติจิตขณะสุดท้ายที่จะเกิดเป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องของกรรมที่จะทำให้คนนี้ตายเมื่อไร คือคนเราบางที่ก็มีกำลังของจิต พลังของจิต การที่เรามีจิตมันคงอยู่ที่หนึ่งที่ใด ก็เหมือนกับว่า เมื่อต้องการหรือปรารถนา หรือเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เป็นรูปอะไร เกิดขึ้นก็ได้ เป็นเสียงก็ได้ เป็นกลิ่นก็ได้ ทั้งๆ ที่ยังไม่ตายก็ได้ หรือตายแล้วก็ได้ เป็นเรื่องกำลังของจิต แต่อะไรที่ผ่านไปแล้วก็แล้วไป นั่นดีที่สุด รู้สิ่งที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง ต่างกันไหม
ท่านอาจารย์ ต่างกันเจ้าค่ะ
ผู้ฟัง เสียงมี ๒ อย่าง สมมติเสียงเครื่องยนต์ หรือเสียงอะไรอย่าง เช่น นกหวีดเป่าปี๊ด ไอ้นี่มันไม่เป็นคำ
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 301
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 302
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 303
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 304
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 305
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 306
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 307
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 308
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 309
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 310
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 311
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 312
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 313
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 314
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 315
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 316
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 317
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 318
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 319
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 320
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 321
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 322
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 323
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 324
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 325
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 326
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 327
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 328
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 329
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 330
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 331
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 332
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 333
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 334
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 335
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 336 ***
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 337
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 338
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 339
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 340
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 341
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 342
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 343
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 344
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 345
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 346
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 347
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 348
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 349
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 350
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 351
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 352
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 353
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 354
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 355
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 356
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 357
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 358
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 359
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 360