ปกิณณกธรรม ตอนที่ 347


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๔๗

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๓๗


    ท่านอาจารย์ ลักษณะก็คือกำลังปรากฏ ลักษณะปรากฏทางตา นั่นคือลักษณะของเขา

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็เข้าใจ ยังสงสัยว่าเมื่อพูดถึงสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วยังพูดถึงลักษณะของสติระลึกอีก

    ท่านอาจารย์ สติระลึก ลักษณะของสติคือระลึก

    ผู้ฟัง ระลึก

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ปรากฏทางตา ลักษณะของเขาก็คือปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง ลักษณะของเขาก็คือปรากฏทางตา เพราะฉะนั้น เมื่อสติระลึกก็คือระลึกสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ รู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา รู้จริงๆ คือสิ่งนี้กำลังปรากฏทางตา ลักษณะของสิ่งนี้ ก็คือปรากฏทางตา เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง ในขณะที่รู้สิ่งที่ปรากฏทางตา คงไม่มีสติที่จะไวเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ทำไมต้องไปไว ไม่ไว เอารู้ เอาค่อยๆ รู้ขึ้น ไม่ต้องไปสนใจเรื่องสติมาก สติน้อย สติช้า สติไว สติอะไรทั้งหมด เอาความรู้

    ผู้ฟัง คือนึกถึง คำว่า เมื่อรู้สิ่งที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เมื่อรู้ นั่นคือสติเกิดแล้ว เมื่อสติไม่เกิดก็ไม่รู้

    ผู้ฟัง แล้วก็จะต้องมีการพิจารณาอีก ใช่ไหม ในเรื่องของ

    ท่านอาจารย์ ขณะที่รู้ ก็คือพิจารณาแล้ว ฟังแล้ว เข้าใจแล้ว ค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ รู้ คือกำลังมีการพิจารณาแล้วรู้ แต่ไม่ใช่ไปนั่งพิจารณา เวลาที่กำลังรู้ขึ้น คือ พิจารณาแล้ว ในวาระหนึ่ง ๑๗ ขณะ แล้วก็ดับ สันตีรณะ ขณะหนึ่งพิจารณา ทำกิจพิจารณา

    ผู้ฟัง ใช้คำว่า วัณณะ แปลว่า สี

    ท่านอาจารย์ ใช้คำว่า วัณณะ วัณโณ ธาตุ สี รูปารมณ์ ความหมายเดียวกันคือ สิ่งที่ปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง พิจารณาสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือสิ่งที่ปรากฏทางหู เราไม่แน่ใจ โลภะแทรกเข้า ต้องมีโลภะที่โลภ เพราะว่ามีตัณหามากๆ แต่เราไม่รู้ลักษณะของโลภะ เพราะว่าเราเป็นคนเริ่มเจริญสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ คุณนีน่าถามว่า ทุกคนมีโลภะ เพราะฉะนั้น เวลาที่มีการรู้ลักษณะของสภาพธรรมแล้วพิจารณา ขณะนั้นไม่รู้ว่าจะเป็นโลภะด้วยหรือเปล่า ใช่ไหม เวลาที่สติเกิด เพราะเหตุว่าถ้าเป็นสติปัฏฐาน แล้วจะมีการรู้ร่วมกับสติ แต่ถ้าเราจะไปคิดถึง สติอย่างเดียว ไม่ใช่เป็นการรู้ ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงปัญญาที่รู้ ขณะนั้นต้องมีสติเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ขณะนี้สภาพธรรมมากหลายอย่าง ถ้าขณะใดที่มีการรู้ลักษณะใด ไม่ต้องสนใจลักษณะอื่นที่แทรก เพราะว่าขณะนั้นสติไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะนั้น เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าสภาพธรรมมีมากมายเวลานี้ สติระลึกที่ไหน รู้ที่ไหน ไม่ต้องสนใจในสิ่งที่สติไม่ได้ระลึก และไม่รู้ ถ้าจะมีโลภะเกิดสลับ กับขณะที่กำลังระลึก ขณะที่สติเกิดแล้วรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แต่สติไม่ได้รู้โลภะซึ่งเกิดต่อ ก็ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะว่าขณะนั้นสติกำลังรู้เพื่อที่จะค่อยๆ รู้ในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น แล้วแต่สติ

    ผู้ฟัง เราอาจจะพิจารณาไม่ถูกต้อง เท่าทันตัวโลภะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ โลภะเป็นโลภะ สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา สติเป็นสติ ปัญญาเป็นปัญญา เพราะฉะนั้น เวลารู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ไม่นาน ต้องรู้ว่า ไม่นาน ไม่ใช่ว่ารู้ทีเดียวได้นานตลอดไปทีเดียว แต่หมายความว่าเริ่มรู้ และอาจจะบ่อย ซึ่งในช่วงนั้นที่สลับกัน ก็อาจจะมีสภาพธรรมอื่นเกิดขึ้น และดับไป แต่สติไม่ได้ระลึก ก็ไม่เป็นไร เพราะเหตุว่ากำลังระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อย่างเราเอื้อมมือไปจับสิ่งหนึ่งสิ่งใด กำลังเอื้อมมือไป เราอาจจะรู้ลักษณะของจิตที่ต้องการ หรือว่าอาจจะรู้สภาพเห็น และสิ่งที่ปรากฏก็ได้ ซึ่งแล้วแต่ว่าสติขณะนั้นจะระลึกอะไร จะรู้อะไร ส่วนที่ไม่ระลึก ไม่รู้ขณะนั้นก็ผ่านไปแล้วภายหลังก็จะระลึกรู้สิ่งที่เกิดต่อก็ได้ เป็นเรื่องปกติธรรมดาๆ สบายๆ ใจเย็นๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็เป็นเรื่องละตั้งแต่ต้น แต่จะใช้คำอะไรก็ตามแต่

    ผู้ฟัง คำว่า สี ก็เทียบกับว่า สิ่งใดที่ไม่มีสี ก็จะไม่สามารถปรากฏทางตาได้ ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นมีอยู่ สิ่งใดที่ไม่มีสี สิ่งนั้นก็ไม่สามารถที่จะปรากฏทางตาได้ ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นมีอยู่

    ท่านอาจารย์ ที่โปร่งๆ หมอเคยเห็นไหม โปร่งแสง โปร่งใสอะไร

    ผู้ฟัง ใช่ อย่างกระจก สมมติว่ากระจกบางชนิดที่ใสจนไม่มีสี บางทีเรามองผ่านไป เรานึกว่าไม่มีอะไรกั้น เป็นเพราะว่ามันไม่มีสี

    ท่านอาจารย์ ไม่เป็นไร แต่มันปรากฏทางตาให้คุณหมอเห็นว่า มันไม่มีอะไรกั้นหรือเปล่า

    ผู้ฟัง อันนี้เราใช้เปรียบเทียบ เพราะว่ามันไม่มีสีจึงไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ถูก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่อย่างนั้น หมอจะรู้ว่ามันไม่มีอะไรกั้นก็ต่อเมื่อมันปรากฏทางตา แล้วหมอจำไว้ว่า อย่างนี้มันไม่มีอะไรกั้น

    ผู้ฟัง ลองไปจับดู

    ท่านอาจารย์ ก็นั่นมันปรากฏทางตาไง มันปรากฏทางตา หมอถึงได้เอื้อมมือไปจับ

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ ยังไม่ปรากฏ แล้วผมไปจับ

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ปรากฏไม่ได้ ทันทีที่ลืมตาต้องปรากฏแล้ว

    ผู้ฟัง เพราะมันไม่มีสี

    ท่านอาจารย์ ไม่มีสีก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตา ทันทีที่มีการเห็น

    ผู้ฟัง แล้วอย่างเสียงก็ใช้เทียบว่า อาศัยระลึกที่ความดัง ไม่ได้คิดว่ามันเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางหู

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ยังไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ถ้าเจริญสติปัฏฐานก็รู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง หมอจะไม่ต้องไปนั่งท่องมันปรากฏทางหู แต่ว่ามันปรากฏแล้ว ใช่ไหม

    ผู้ฟัง พอสติระลึก มันก็ตรงที่มันดังเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ มันปรากฏแล้วไง

    ผู้ฟัง มันปรากฏแล้ว

    ท่านอาจารย์ เอาสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ไม่มีอะไรปรากฏแล้วไปรู้ แล้วแต่ว่าจะปรากฏทางไหน ถ้าปรากฏทางหูก็ลักษณะหนึ่ง ถึงแม้ว่าเราจะไม่ใช้คำว่าทางหู มันก็เป็นสิ่งที่ปรากฏ

    ผู้ฟัง ทีนี้พอมาเทียบกับตา จะระลึกอะไร

    ท่านอาจารย์ ก็รู้เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง มันเหมือนกับท่อง

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ปรากฏแล้ว จะท่องอย่างไร ไม่ต้องท่องก็ปรากฏ เดี๋ยวนี้ก็กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ อะไร ไม่เห็นได้อย่างไรคุณนิภัทร ลืมตาแล้วไม่เห็นได้อย่างไร

    ผู้ฟัง มันเห็นแต่เป็นฝาผนัง เห็นแต่เป็น

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่ได้ระลึกรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าเมื่อไรที่ระลึกบ่อยๆ ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เราจะรู้เลยว่า นี่เป็นโลกขอสิ่งที่ปรากฏทางตา คนละโลกกับเสียงแล้ว นี่เป็นโลกของสิ่งที่ปรากฏ คือเห็นแล้วเฉยๆ ไม่นึกอะไรเลย รู้เลยว่าเป็นโลกหนึ่งที่ปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง ถ้าไปเทียบกับคนตาบอด อย่างที่ผมพูด เหมือนกับหลับตาหรือลืมตาแล้ว สภาพธรรมอย่างนี้มีสำหรับคนที่ตาดี มีเหตุมีปัจจัยที่จะเกิด หรือว่าเทียบกับคนที่ว่า สภาพธรรมอย่างนี้ในคนตาบอดไม่มี แล้วจะระลึกอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ก็เดี๋ยวนี้เห็น ไม่ต้องไปเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงเลย เพียงแต่ค่อยๆ รู้

    ค่อยๆ เข้าใจ

    ผู้ฟัง เป็นสภาพธรรมที่คนตาบอดไม่มี

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง มรรคอย่างหนึ่งที่คนตาบอดไม่มี

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า เดี๋ยวนี้มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ แล้วเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น จะปรากฏทางอื่นไม่ได้เลย ค่อยๆ ชินกับความเข้าใจอย่างนี้ทีละเล็กทีละน้อย

    ผู้ฟัง พอพูดถึงสิ่งที่ปรากฏ ก็มักจะคุ้นเคยกับสิ่งที่คุ้นเคย คือ ตา พอลืมตาก็เห็น แล้วก็กว้าง แล้วก็ไกล

    ท่านอาจารย์ ต้องนึกแล้ว ถ้ากว้างไกลแปลว่านึก อย่างนี้ได้ไหม ไม่ต้องไปนึกว่ากว้าง ไม่ต้องไปนึกว่าไกล ไม่ต้องไปนึกว่าโน่นนี้ แต่รู้ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ จะกว้างจะไกลไม่สนใจ เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ พอเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ จะค่อยๆ ถอนความเป็นคนออกไปได้ ค่อยๆ ถอนความเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดออกไปได้ แล้วจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะว่าปัญญาค่อยๆ รู้ขึ้นว่า เป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พูดมานี่ ไม่มีความคัดค้าน หรือแย้งอะไรทั้งสิ้น

    ท่านอาจารย์ แต่ว่ายังไม่ได้เริ่ม ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ยังสงสัย ต่อเมื่อใดค่อยๆ เริ่ม ค่อยๆ ชิน จะค่อยๆ คลายความสงสัย เป็นของธรรมดา ที่ว่าเมื่อยังไม่เริ่มก็ต้องสงสัย เริ่มบ้างแล้ว มันไม่พอ มันยังไม่พอสิ เริ่มอีก บ่อยๆ จนกระทั่งชิน ต้องใช้คำว่าชินกับการที่จะรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ แล้วถ้าจะมีโลภะเกิดขึ้นเรารู้เลย เห็นไหมๆ บอกแล้วว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ ยังมีโลภะได้ ตรงตามที่พระธรรมทุกอย่าง

    ผู้ฟัง ผมเกิดความคิดอย่างนี้ รู้สึกว่า จะผิดเพี้ยนหรือเปล่าไม่ทราบ คือ ฟังก็เข้าใจยาก แล้วยังจะต้องฟังไป แล้วท่านอาจารย์บอกว่า ถ้าปรากฏอย่างนั้นจริงๆ ก็เป็นอย่างที่พูดกันเดี๋ยวนี้ บังเอิญถ้าเกิดปรากฏขึ้นมาจริงๆ ขณะนั้น ความรู้สึกของเราคงจะตื่นเต้นดีใจมากเลย อดที่จะนึกว่า โห สิ่งที่เราเคยเพียรที่จะระลึก บัดนี้มันปรากฏแล้ว แล้วถ้าสมมติว่าผมเกิดดีใจจนกระทั่งเอาความจริงนั้นไปบอกกับคนอื่นว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นอย่างนี้จริงๆ การกระทำของผมอย่างนี้ถือว่า เป็นสิ่งที่เป็นโทษ หรือว่าจะเป็นประโยชน์ต่อไป

    ท่านอาจารย์ ถ้าคุณศุกลสามารถที่จะถึงการประจักษ์แจ้งได้ คุณศุกลจะรู้เลย ยากที่ใครเขาจะรู้

    ผู้ฟัง กลับเป็นอย่างนั้นไปอีก ผมนึกว่าดีใจแล้วอุตสาห์ไปบอกเขาว่า มาทำได้อย่างนี้ วิธีอย่างนี้ แล้วจะเห็นอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ ก็คุณศุกลกว่าจะถึงอย่างนั้น คุณศุกลต้องรู้ว่ามันเหลือเข็น

    ผู้ฟัง รู้ เดี๋ยวนี้รู้

    ท่านอาจารย์ เหลือเข็น แล้วก็ยากที่ใครจะรู้ตามได้ ถ้าคนที่เขาจะรู้ตามได้ ก็คือว่า คนที่เขาปฏิบัติอย่างนี้มา ชินอย่างนี้ เหมือนกันอย่างนี้ ค่อยๆ รู้อย่างนี้ รู้จริงๆ ว่ายาก แต่ถ้าค่อยๆ อบรม จนกระทั่งเป็นความชินขึ้น จะเห็นประโยชน์จริงๆ ว่า ปัญญาแท้ๆ จะต้องรู้ถูก และมีการระลึกตามปกติในขณะที่กำลังเห็นอย่างนี้ ซึ่งไม่เคยระลึก หรืออาจจะไปทำอย่างอื่น ก็เปลี่ยนมาเป็นการรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ แม้ในขั้นแรกๆ จะไม่ใช่การรู้ขั้นประจักษ์แจ้ง แต่พอค่อยๆ ชิน จะเข้าใจความหมายที่ว่า คำว่าคลายจะต้องเกิดจากปัญญาที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ไม่มีปัญญาเลยแล้วก็ไปละความเป็นตัวตนทางตาที่กำลังเห็น ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเหตุที่สมควรแก่ผล

    ผู้ฟัง เราเห็นคนที่นั้นตลอดเวลา จะต้องเอาออก คนที่นั่นเอาออกก่อน คนสัตว์ แต่เดี๋ยวนี้ยังไม่เคย แต่มีความรู้สึก เป็นไปไม่ได้ แต่คิดว่า ค่อยๆ เริ่มเป็นไปได้

    ท่านอาจารย์ แล้วความจริงเป็นอย่างไร ความจริงก็คือเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ สิ่งที่ปรากฏทางตาจะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ แต่เราคิด เราจำได้ว่ารูปร่างสัณฐานอย่างนี้เป็นใคร นั่นคือหลังจากเห็นแล้ว เพราะฉะนั้น ต้องรู้ว่า ขณะเห็นต้องมีสิ่งที่เพียงปรากฏเท่านั้นเอง เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งที่กำลังปรากฏ เราไม่จำเป็นต้องมาใคร่ครวญหรือไตร่ตรอง เพราะว่ามันมีหลายอย่าง อย่างผู้ที่มีปัญญา โดยอัตโนมัติ ต้องหมายความว่าเขาเห็นแล้วว่า อวิชชาไร้สาระ ความไม่รู้ไร้สาระ ไม่มีสาระอะไรเลย อยู่ดีๆ ก็อยู่ไป อยู่ไป แล้วก็ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม เห็น ไม่ใช่ไม่เคยเห็น เห็นมาแล้ว โลภ โลภะ ชอบในสิ่งที่เห็นก็เคยชอบมาแล้วกี่ภพกี่ชาติก็ชอบมาแล้ว แล้วยังจะต้องเห็นแล้วชอบไปอีก เห็นแล้วชอบไปอีกเรื่อยๆ หรือว่าเห็นแล้วโกรธอีก เห็นแล้วโกรธอีก

    ผู้ฟัง อย่างนี้แสดงว่า เราต้องมีปัญญาเห็น โทษ

    ท่านอาจารย์ แต่ว่าเราไม่จำเป็นต้องไปนั่งนึกถึงโทษต่างๆ แต่ว่าการกระทำแสดงอยู่แล้ว

    ผู้ฟัง ความไร้สาระในวัฏฏะสงสาร

    ท่านอาจารย์ ใช่ เพียงแต่เขาต้องการความจริงในขณะนั้นก็ตรงกันข้ามแล้วกับความไม่จริง ต้องการความรู้ก็ตรงกันข้ามกับความไม่รู้ โดยที่เขาไม่จำเป็นต้องไปพิจารณาโทษอะไร แต่ว่าโดยสภาพธรรมนั้นๆ มันเป็นธรรมที่ตรงกันข้ามกันอยู่แล้ว อย่างคนที่เขาบอกว่า ทำไมเราจะต้องมานั่งศึกษา ทำไมจะต้องมานั่งรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็เป็นเพราะเหตุว่าเขามีอวิชชา เขาก็ไม่เห็นปัญญา

    ผู้ฟัง สิ่งหนึ่งคือ เห็นโทษภัยของวัฏฏะ

    ท่านอาจารย์ ต้องเห็นประโยชน์ของธรรม ของความจริงของปัญญา ไม่อย่างนั้นจะเห็นว่าเสียเวลาจริงๆ ในการที่จะต้องมานั่งฟัง ในการที่จะต้องพิจารณาธรรม

    ผู้ฟัง อาจารย์มักจะพูดทางตาอยู่เรื่อย อาจารย์ลองพูดทางกายทวารบ้าง

    ท่านอาจารย์ เป็นสิ่งที่ปรากฏทางกายเท่านั้นเอง คือ เรื่องของการละนี่สำคัญที่สุด ส่วนใหญ่พอมีสติแล้ว บางทีจะมีความต้องการที่จะรู้แทรกขึ้นมาอีก แต่ว่าพอปัญญาเกิด สติเกิดจริงๆ จะรู้ว่า ละ รู้แล้วละ ไม่ใช่ตัวตน หมดแล้วไป หมายความว่า ไม่ต้องไปจ้องอยู่ที่เดียว สิ่งอื่นก็มีแล้วปรากฏที่สติจะต้องตามรู้ต่อไปได้ เพราะฉะนั้น ก็ไม่เยื่อใยอยู่ตรงแข็งที่กำลังปรากฏ แข็งก็แข็ง รู้แข็งก็รู้แข็งจบ แล้วก็รู้อื่นอีกที่จะต้องรู้ เพราะฉะนั้น ก็พิจารณาอื่นไปอีก จนกว่าจะทั่วหมดในชีวิตประจำวัน ด้วยการละ ด้วยการไม่ข้องใจ ด้วยการไม่ติดใจ ด้วยการไม่สงสัย เพราะรู้ว่า เป็นเพียงลักษณะของสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นของธรรมดาปกติ

    ผู้ฟัง เพราะสงสัย ก็ต้องรู้อีก อย่างกายทวาร สงสัยก็ต้องดูอีก

    ท่านอาจารย์ สงสัยว่าอย่างไร สงสัยก็คือไม่รู้

    ผู้ฟัง สงสัยว่า นี่หรือตัวตน นี่หรือไม่ใช่ตัวตน

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ นั่นคิด

    ผู้ฟัง คิด แต่ว่าเราก็สามารถที่จะพิจารณาได้อีก

    ท่านอาจารย์ พิจารณาไปจนกว่าจะหายสงสัย ทางเดียว แข็งคือแข็ง เอาแค่นั้น รู้แข็งก็คือรู้แข็ง เพราะว่าถ้ารู้แข็งก็คือรู้แข็ง คือไม่ใช่เรา ถ้าแข็งคือแข็ง แข็งนั้นก็ไม่ใช่เรา รู้แข็งคือรู้แข็ง ก็ไม่ใช่เรา ก็เพียงแค่รู้แข็ง แต่มันก็มีรู้อื่นต่อไปอีก เพราะฉะนั้น ก็จะต้องรู้อื่นต่อไปอีกว่า เป็นแต่เพียงรู้ เป็นสภาพรู้ จึงจะไม่ใช่เราได้

    มีคนที่ถามบอกว่าเมื่อธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ก็ไม่ต้องเรียน นั่นคือการฟังธรรมโดยไม่แยบคาย ถ้ารู้ว่าเป็นอนัตตาจริงๆ จริงๆ คนนั้นต้องเรียนแน่ เพราะบังคับบัญชาไม่ได้ แต่ถ้าคนที่ฟังโดยไม่แยบคาย พอรู้ว่าเป็นอนัตตา ความไม่แยบคายทำให้ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ต้องเรียน นั่นไม่ใช่ปัญญา แต่ถ้าปัญญาเข้าใจความหมายของอนัตตา แล้วรู้ว่า บังคับไม่ได้ แต่เข้าใจได้ แต่คนที่อโยนิโสมนสิการไม่ศึกษา เพราะเห็นว่าเป็นอนัตตา แต่คนที่โยนิโสมนสิการเป็นอนัตตา แต่เข้าใจได้ ค่อยๆ เริ่มเข้าใจขึ้นบ้าง ขึ้นอยู่กับปัญญาของแต่ละคนว่า ฟัง จะฟังในแง่ไหน

    ผู้ฟัง ถ้าเราจะคิดแง่ที่ว่า เราจะไปอนุเคราะห์คนอื่นให้รู้พระธรรม มันคงจะยาก แต่เราต้องรู้ตัวเราเองเป็นสำคัญ

    ท่านอาจารย์ เขาต้องการให้เราอนุเคราะห์หรือเปล่า แค่นี้อยู่ดีๆ เขาไม่ได้ต้องการ ก็จะตั้งหน้าตั้งตาไปอนุเคราะห์เขา

    ผู้ฟัง เดี๋ยวก็ไม่มีคนสืบทอดพระพุทธศาสนา

    ท่านอาจารย์ ช่วยไม่ได้ ถึงเวลาที่พระพุทธศาสนาจะเสื่อม แล้วเราจะไปทำอะไร แต่ละคนเกิดมาเพื่อจะเป็นแต่ละคนจริงๆ สลับกันไม่ได้เลยสักนิดเดียว เกิดมาเพื่อจะเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น แต่เราอยู่ในยุคนี้ สมัยนี้ เราต้องรู้ว่า เราอยู่ในสมัยไหน หลังจากปรินิพพานไม่นานพระธรรมก็จะเริ่มแตกแยกแล้ว ตามความเข้าใจของแต่ละคน เพราะฉะนั้น นี่หลัง ๑๐๐ ปี มาตั้งกี่ร้อยปี ถึง ๒,๕๐๐ ปี ไม่เดือดร้อนใจ สบายที่สุด ทำไมเราจะต้องเดือดร้อนใจ เราเกิดมาแล้วเราทำสิ่งที่ดี เราทำสิ่งที่เป็นประโยชน์เท่าที่เราจะทำได้ เท่านั้นพอแล้ว ไม่ต้องเดือดร้อนใคร

    ผู้ฟัง ขอเรียนถามว่า ที่เจริญสติปัฏฐาน ตามที่อธิบายมาตลอด ต้องถึงขั้นวิสุทธิไหม ปัญญาวิสุทธิหรือเปล่า หรือยังไม่ถึง

    ผู้ฟัง คำว่า วิสุทธิ หมายความว่าอะไร

    ผู้ฟัง วิสุทธิ หมายความว่า บริสุทธิ์ ปราศจากกิเลส

    ท่านอาจารย์ คุณพิพัฒน์หมายความว่า ขณะที่เริ่มเจริญสติหรืออย่างไร

    ผู้ฟัง เพิ่งเริ่ม ทั้งหลังเริ่ม

    ท่านอาจารย์ วิสุทธิ หมายความถึง ทิฏฐิวิสุทธิ วิสุทธิที่ ๑ วิสุทธิทั้งหมดมี ๗ ค่อยๆ รู้ไปทีละอย่างก็พอ ไม่ต้องเก็บไปมากๆ แล้วก็เอาไปทิ้ง วันหลังก็จำไม่ได้อีกแล้ว ก็ไม่เอา เอาเข้าใจอะไรได้ก็ค่อยๆ เก็บที่เข้าใจ วิสุทธิมี ๗ อย่าง หมายความว่า บริสุทธิ์หมดจด ที่จะถึงความดับกิเลส วิสุทธิแรกก็คือ ทิฏฐิวิสุทธิ ได้แก่ นามรูปปริจเฉทญาณ เป็น วิปัสสนาญาณที่ ๑ เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิดครั้งแรกที่กำลังเริ่มจะเป็น นามรูปปริจเฉทญาณไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นทิฏฐิวิสุทธิไม่ได้

    ผู้ฟัง เวลาปฏิบัติ เราจำเป็นจะต้องศึกษาถึงว่า ทุกคนจะต้องไปถึงขั้น นิพพิทาญาณหรือเปล่า ถึงจะหลุดพ้น หรือว่าต้องผ่านขั้นต่างๆ

    ท่านอาจารย์ ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ก็อย่าไปถึงไหน และถ้าไม่เข้าใจลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ก็ไม่ถึงแน่ ไปเป็นขั้นๆ ขั้นที่ว่า สัมมาสติคืออะไร ถ้ายังไม่เข้าใจสัมมาสติ ก็ไม่ถึงไหนเหมือนกัน

    ผู้ฟัง ไม่จำเป็นต้องมีนิพพิทาญาณ หมายความว่า ถ้าเรามีปัญญาแล้ว ทำไมจะต้องมีความโศกเศร้า

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่โศกเศร้า ปัญญาไม่โศกเศร้าเลย ปัญญาโศกเศร้าไม่ได้

    ผู้ฟัง หมายความถึงเบื่อหน่าย

    ท่านอาจารย์ ก็ต้องเป็นปัญญาที่หน่าย หน่ายที่นี่คือไม่เห็นความน่ายินดี เห็นความไม่น่ายินดี

    ผู้ฟัง อาจารย์อธิบายเรื่องตั้งแต่ต้นมา จนถึงวิปัสสนาญาณ

    ท่านอาจารย์ ตั้งแต่ต้น คือ สัมมาสติ อันนี้สำคัญมาก ขณะนี้ที่กำลังเห็น ที่กำลังได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก สัมมาสติคืออย่างไร ถ้าสัมมาสติไม่เกิด ก็ไม่มีทางที่ปัญญาจะเจริญขึ้น

    ผู้ฟัง สำหรับผู้ที่จะเริ่มสติปัฏฐาน ข้ออื่นๆ เช่น อิทธิบาท ๔ และอะไรต่างๆ จำเป็นจะต้องมีโดยในขณะนั้นหรือไม่ หรือไม่จำเป็น

    ท่านอาจารย์ ขณะใดที่สติเกิดที่เป็นสติปัฏฐาน โสภณเจตสิกอื่นๆ ก็เกิดร่วมด้วย จนกว่าจะมีกำลังขึ้น เรื่อยๆ แล้วก็เป็นอิทธิบาท เป็นอินทรีย์ เป็นพละ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ต้องเริ่มจากสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง อ่านหนังสือ แล้วก็เจอบอกว่า ในขณะที่ปฏิบัติ ในทางสติปัฏฐานไปจนถึงขั้นสูง พอไปถึงระยะหนึ่งแล้ว ที่อาจารย์อธิบายแล้วผมก็ไปอ่านหนังสือว่า ผู้ที่สำเร็จด้วยทางเจโตวิมุตติกับทางปัญญาวิมุตติ ทีนี้สำหรับ ๒ ขั้น พอไปถึงจุดๆ หนึ่งแล้ว จะมารวมกันได้ทั้งเจโจวิมุตติ กำลังเห็นนิพพาน อย่างนี้เป็นจริงหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ บางคนเข้าใจว่า พระพุทธศาสนาอ่านได้ แต่จริงๆ แล้ว พระพุทธศาสนาอ่านไม่ได้ ต้องศึกษา ต้องเข้าใจจริงๆ แล้วก็เป็นลำดับขั้นด้วย อย่างถ้าจะพูดถึงเจโตวิมุตติ ต้องรู้เลยว่าหมายความถึงอะไร แค่ไหน ไม่ใช่เพียงแต่อ่านว่าเจโตวิมุตติ ก็เจโตวิมุตติ พูดเรื่องสติปัฏฐาน ก็สติปัฏฐาน อย่างนั้นไม่ได้เลย ต้องศึกษาตามลำดับจริงๆ เจโตวิมุตติคือการที่จะหลุดพ้นจากกิเลส พร้อมด้วยสมาธิขั้นอัปปนา คือองค์ของฌานเกิดร่วมด้วย ก่อนที่จะถึงขั้นนั้น สติสัมปชัญญะคืออะไร ถ้าไม่รู้ ก็เป็นอันว่าไม่ต้องไปกล่าวถึง ใครจะเขียนว่าอย่างไรๆ ก็ตาม เขาอ่านแต่เขาไม่ได้ศึกษา เพราะฉะนั้น เขาไม่ได้เข้าใจสภาพธรรม เขาคิดตามตัวหนังสือ เพราะว่าคนที่สามารถจะอ่านภาษาไทยได้ อ่านอะไรก็ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาเข้าใจสิ่งนั้น ถ้าจะส่งตำราแพทย์มาให้ดิฉันอ่าน ดิฉันก็อ่านได้ แต่ดิฉันไม่รู้เรื่อง อ่านได้แต่ไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้น คนนั้นก็เหมือนกัน เขาอ่านว่าเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ แต่เขาไม่รู้เรื่องว่า วิมุตติมาจากไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร อย่างสติสัมปชัญญะ ขณะที่จะเป็นการเจริญสมถภาวนา ก่อนที่ฌานจิตจะเกิด สติสัมปชัญญะขณะนั้นรู้อะไรต่างกับมิจฉาสมาธิอย่างไร ถ้าไม่มีความรู้อย่างนี้ก็พูดกันไป แต่ไม่ได้เข้าใจความหมาย

    ปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่ว่าให้มาอ่าน ดีที่สุดคือฟัง ฟังแล้วเรารู้ว่าเราเข้าใจไหม นั่นคือผลแล้ว ผลคือเข้าใจ แต่ถ้าไม่ฟัง ไม่มีโอกาสเข้าใจ และเมื่อฟังแล้วไม่พิจารณา แล้วไม่เกิดความเข้าใจขึ้น ก็เท่ากับว่ายังไม่ได้ผลของการฟัง แต่ว่าฟังแล้วเริ่มเข้าใจแล้ว เรารู้เลย

    ผู้ฟัง ทุกคนพูดว่า เจริญสติ แล้วทุกคนก็คิดว่าสติจะเจริญสติได้ แต่อันที่จริงแล้ว มันไม่ใช่การที่เราจะเจริญสติได้ แต่เป็นสติเจริญ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง มีความเข้าใจว่าอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ อันนี้ต้องเป็นอย่างนี้แน่นอน ถูกต้อง เพราะว่าเป็นอนัตตา แต่ที่โดย ภาษาที่ใช้กันก็เป็นเจริญสติ แต่ความจริงแล้ว สติเจริญ มรรคมีองค์ ๘ มรรคมีองค์ ๕ เจริญ

    ผู้ฟัง ทีนี้ว่า ปกติแล้วเราก็พูดถึงเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน แต่ว่าในรายละเอียดของการศึกษากล่าวไว้อย่างละเอียดมากเลย เช่น กิเลสทั้งหลาย แต่เวลาที่สติปัฏฐานเกิด หน้าที่ของสติ คือ ระลึกถึงลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วขณะนั้นไม่ได้แยกออกว่าเป็นกิเลสประเภทนั้นประเภทนี้ เป็นเพียงการรู้ลักษณะของธรรม

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นเป็นกุศลไหม

    ผู้ฟัง แต่ว่าที่จิตจะรู้ หรือว่าสติ หรือปัญญาจะรู้ หมายว่าแล้วแต่จะปรากฏ ระลึกทางไหน

    ท่านอาจารย์ เวลานี้เราพูดคำ ปรมัตถธรรม แต่เราไม่ได้รู้เลยว่า เป็นปรมัตถธรรม ทั้งหมดเดี๋ยวนี้ เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน คือขณะที่ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม เพื่อจะได้รู้จริงๆ ไม่ใช่ไปรู้แต่ชื่อว่าปรมัตถธรรม แต่รู้ลักษณะปรมัตถ์ สภาพที่ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นได้ ในขณะที่สติระลึกกำลังรู้ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับรายละเอียดที่เป็นกิเลสทั้งหลายเลย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้ขึ้นๆ ๆ จะรู้อื่นไม่ได้ นอกจากรู้พวกนี้แหละทั้งหมดในชีวิตประจำวัน ทั้งหมด สติระลึกจนรู้จนละความเป็นตัวตนทั้งหมด

    ผู้ฟัง ทีนี้การรู้ละ กับการที่เห็นโทษแล้วละ มันจะมีความต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องละการยึดถือว่า เป็นตัวตน

    ผู้ฟัง ทั้งๆ ที่ไม่ได้คิดว่า จะเป็นโทษหรือเป็นคุณอะไรเลย

    ท่านอาจารย์ เวลานี้ที่เราพูดกันเรื่องธรรม เพราะเราเห็นโทษของความไม่รู้หรือเปล่า

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567