ปกิณณกธรรม ตอนที่ 348


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๔๘

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๓๗


    ผู้ฟัง การที่เห็นโทษแล้วละ มันจะมีความต่างกัน

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องละการยึดถือว่าเป็นตัวตน

    ผู้ฟัง ทั้งๆ ที่ไม่ได้คิดว่าจะเป็นโทษหรือเป็นคุณอะไรเลย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เวลานี้ที่เราพูดกันเรื่องธรรม เพราะเราเห็นโทษของความไม่รู้หรือเปล่า

    ผู้ฟัง อันนี้สำหรับคนอื่น ผมตอบแทนใครไม่ได้ ที่ผมสังเกต คือรู้สึกว่าเราจะพูดเรื่องอะไร ความที่เราเห็นว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ มันน้อยเหลือเกิน เมื่อน้อยเหลือเกิน มันก็เลยไม่กระตือรือร้น แล้วก็ไม่ได้เห็นว่า มันจะเป็นอันตรายต่อชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ เราไม่รู้ว่า จิตมันดำ แต่เราจะเริ่มรู้ต่อเมื่อเราศึกษา ไม่มีทางเลย ที่เราจะไปรู้ แต่ถ้าไม่เริ่มศึกษาจะไม่รู้ และถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด เราก็ไม่รู้อีกว่า ที่เราพูดว่ามันดำ หรือมันสกปรก มันแค่ไหนกัน ต่อเมื่อความไม่รู้มันมากมาย มหาศาลเหลือเกิน ทางตานี้ก็ไม่รู้แล้ว แล้วกี่วาระที่ผ่านไป ด้วยความไม่รู้ในลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน แล้วเวลาที่ยังเป็นโลภะ ยังมีลักษณะอาการต่างๆ มานะเล็ก มานะน้อยในชีวิตประจำวันทั้งหมด มันออกมาเพราะเหตุว่ามีกิเลสอย่างนี้ที่ยังไม่ได้ดับไป แต่ด้วยความไม่รู้ ก็เลยไม่รู้เลยว่า ตัวเองมีกิเลสแค่ไหน ตราบใดที่เป็นปุถุชน จะมีความเสมอกันในการที่กิเลสยังไม่ดับเลย อนุสัยยังเต็มเพียบ แต่ว่ายังมีกัลยาณปุถุชน คือ ปุถุชนฝ่ายดี ซึ่งมีสติสัมปชัญญะ มีหิริโอตตัปปะ แล้วยังมีการสนใจที่จะศึกษา ฟังธรรม อบรมเจริญปัญญาขึ้น

    นี่คือฝ่ายกัลยาณปุถุชน เพราะฉะนั้น ก็ยังแยกปุถุชนเป็นพาลปุถุชน กับกัลยาณปุถุชน แล้วก็กว่าจะค่อยๆ ขยับไปอีก

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นก็สรุปหมายความว่า การปฏิบัติเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ก็ต้องเป็นเรื่องของการรู้จนกระทั่งเป็นความรู้อย่างที่เรากำลังพูดถึงเดี๋ยวนี้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ แน่นอน ไม่อย่างนั้นจะไปละกิเลสอะไรได้ จะไปดับกิเลสอะไรได้

    ผู้ฟัง นั่นแหละคือเป็นความสงสัยของผมอยู่ คิดว่าเรื่องละเอียดต่างๆ เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ง่ายเลย แม้แต่จะจำก็ยังจำไม่ค่อยจะลำดับได้ แล้วทีนี้การที่จะไปละได้ถึงขนาดนั้นจะต้องอาศัยข้อปฏิบัติ โดยที่มีปัญญาเกิดร่วมด้วยถึงระดับวิปัสสนาญาณอะไร จึงจะสามารถทำให้กิเลสเหล่านั้นหมดได้

    ท่านอาจารย์ ถึงมรรคจิต ถึงจะดับได้ ถ้าไม่ถึงมรรคจิตก็ยังดับเป็นสมุจเฉทไม่ได้

    ผู้ฟัง ถ้าเป็นเรื่องของวิปัสสนาญาณ ก็เป็นการรู้

    ท่านอาจารย์ คือความรู้ชัดในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมเพิ่มขึ้นๆ เป็นลำดับขั้น จนประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไปได้จริงๆ

    ผู้ฟัง ถ้าผิดจากข้อปฏิบัติ คือ เป็นการเจริญสติปัฏฐานแล้ว แม้แต่จะรู้อย่างที่เรากำลังพูดถึง จะสามารถรู้ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้เลย เพราะว่าไม่ใช่ปัญญา ไม่รู้เรื่องสภาพปรมัตถธรรมเลย

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น เวลานี้เราก็พอจะเน้นได้ไหมว่า ถ้าเป็นการประพฤติปฏิบัติ ในทางพุทธศาสนาที่จะละคลายความเป็นตัวเป็นตน แล้วจะดับกิเลสได้ ไม่ใช่ข้อปฏิบัติ อย่างอื่น นอกจาก

    ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้เลย หนทางเดียว แล้วใครจะไปเปลี่ยนพระพุทธพจน์ ก็ไม่ได้ เพราะเหตุว่าขณะนี้มีสภาพปรมัตถธรรม ถ้าสติไม่ระลึกแล้วจะรู้ได้อย่างไร แล้วต้องระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถ์ด้วย ขณะนี้เรากำลังพูดเรื่องปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป และความจริงก็คือว่า เป็นจิต เจตสิก รูปเท่านั้นจริงๆ แต่ใครรู้จนถึงขั้นที่จะละได้ หรือค่อยๆ เข้าใจความจริงว่าเมื่อฟังแล้ว สติระลึกเมื่อนั้น ถึงจะรู้ว่า ลักษณะแท้ๆ เป็นปรมัตถธรรม

    ผู้ฟัง ทีนี้การเริ่มต้น ถ้าจะต้องมาเกี่ยวข้องกับเรื่องของความสงบ เพื่อจะได้เป็นพื้นฐานหรือเป็นบาทที่จะนำไปสู่การเจริญสติปัฏฐาน จริงๆ แล้วมันมีความเกี่ยวข้องกันไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่เกี่ยวเลย โลภะ สงบไหม ขณะนั้น โทสะ สงบไหม ขณะนั้น เป็นตัวตนหรือเปล่า และเมื่อไรจะรู้ว่าขณะนั้นไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ไปนึกเอาเฉยๆ ว่า ไม่ใช่ตัวตน แต่สติต้องระลึกลักษณะที่เคยเป็นเราในชีวิตประจำวันทั้งหมด จนกระทั่งไม่มีความเป็นเราในชีวิตประจำวันทั้งหมด เป็นแต่เพียงนามธรรม และรูปธรรมเท่านั้น

    ผู้ฟัง ผมก็มาสังเกตดูว่า ตลอดเวลาที่เราคิดว่า เราเข้าใจแล้วว่า เวลาที่สติเกิด ก็จะมีแต่เพียงลักษณะทีละขณะ เวลาที่มีการเห็นก็พิจารณา มีการได้ยินก็พิจารณา ซึ่งอันนี้ไม่ใช่เป็นตัวตนจะไปทำ คือหมายความว่า จากการฟัง จากการพิจารณา จะเป็นปัจจัยช่วยให้สติปัฏฐานได้ระลึกได้ไหม

    ท่านอาจารย์ เวลานี้ที่เรากำลังฟังแล้วเข้าใจขึ้น จะไม่ช่วยให้สติระลึกหรือ แต่มันไม่ใช่ทันทีที่คุณศุกลพูดจบก็ให้สติระลึก แล้วแต่จะเกิดเมื่อไร เพื่อละความต้องการ เพื่อละความเป็นตัวตนที่จะวางแผน

    ผู้ฟัง ความจริงแล้วในวันหนึ่งๆ สติก็เกิดอยู่บ้างแล้ว แต่ว่าเรายังไม่ได้สังเกตหรือว่ามันยังเล็กน้อย

    ท่านอาจารย์ สติขั้นไหน

    ผู้ฟัง สติขั้นพิจารณา

    ท่านอาจารย์ ขั้นคิดถึงธรรม

    ผู้ฟัง ขั้นคิดถึงธรรม เพราะปกติแล้ว ถ้าเราไม่คิดถึงธรรม ก็คิดถึงเรื่องอื่นด้วยความรัก ความชัง อันนี้เป็นปกติ ถ้าเราสังเกต แต่พอเราไม่สังเกตมันก็ไหลไปเป็นเรื่องเป็นราวตลอดไปเลย แต่พอสิ่งที่เรากำลังพิจารณาถึงเรื่องที่เคยได้ยินได้ฟัง ก็ถือว่าขณะนั้นก็เป็นสติ แต่เป็นการคิดด้วยความเป็นตัวเป็นตน

    ท่านอาจารย์ สติมีหลายขั้น ขณะที่ฟังก็ต้องเป็นสติ ถ้าไม่มีสติ หรือปัญญาก็เกิดไม่ได้ เข้าใจไม่ได้เหมือนกัน มีการระลึกตามเหตุตามผล

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้ผมเลยเริ่มตั้งต้นใหม่ คล้ายๆ ว่าเรื่อง สติปัฏฐาน นี่ชักไม่ค่อยจะสนใจแล้ว กลับมาสนใจเรื่องการพิจารณาว่า สิ่งที่เราได้ยินได้ฟังควรจะเป็นเรื่องของสติขั้นพิจารณามากกว่า

    ท่านอาจารย์ ที่จริงจะให้คำว่าไม่สนใจก็ไม่ถูก หมายความว่า เพราะเราสนใจ เราถึงได้มาพูดเรื่องสติปัฏฐานกัน แต่ไม่ได้มีเจตนา จงใจ ต้องการให้มีสติ ถ้าเป็นอย่างนั้น แล้วไม่ถูก เพราะว่าเราเคยอาจจะมีความต้องการสติ มีความจงใจ แต่เดี๋ยวนี้เรารู้แล้ว เป็นอนัตตา ไม่ใช่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แล้วอย่าได้เพียรไปหา เพราะเขามีปัจจัยก็เกิด นี่แสดงให้เห็นว่า เรามีการละคลายการที่จะไปต้องการสติ เพราะว่า ถ้าเราต้องการสติเมื่อไร ก็ผิด เพราะว่าไม่เข้าใจจริงๆ ว่า สตินั้นเป็นอนัตตา มีเหตุปัจจัยจึงเกิด ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยก็ไม่เกิด เสียเวลาไปต้องการ แล้วแต่เหตุปัจจัย

    ผู้ฟัง ทีนี้ที่คำหนึ่งที่เราเคยได้ยินได้ฟังว่า ปรารภความเพียร เป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้ทันที เพราะสติหมอเกิดขณะนี้ ก็คือกำลังปรารภ คือเกิดแล้ว แล้วก็เริ่มแล้ว แล้วก็เริ่มอีกๆ จนกว่าจะตั้งได้มั่นคง

    ผู้ฟัง แล้วที่คำว่า ความจำอันแม่นยำ เป็นเหตุใกล้ของสติ

    ท่านอาจารย์ สัญญาอันมั่นคงในลักษณะของปรมัตถธรรม เพราะขณะนี้เป็นปรมัตถธรรม แล้วแต่หมอจะมีสัญญาที่มั่นคงขนาดไหน

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น เราต้องฟัง พิจารณา ลักษณะของ

    ท่านอาจารย์ ไปเรื่อยๆ เป็นเรื่องของธรรม สังขารขันธ์เขา ไม่มีเราที่จะไปทำอะไรเลย

    ผู้ฟัง แต่ถ้าไปเรื่อยๆ ก็ไปกันนานหน่อย

    ท่านอาจารย์ ไปเรื่อยๆ คือไม่ทิ้ง ไม่ทิ้งนี้จะนานหรือ ก็ต้องดีกว่าทิ้ง ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ตามความรู้สึกของผม ผมสมมติอย่างนี้ อาจารย์ก็บรรยาย ธรรมไว้มากมาย พอในพระสูตร ผมก็พิจารณาน้อย หรือว่าผมจำได้น้อย แต่ถ้าเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ผมสนใจมาก ผมก็ใคร่ครวญมาก ผมก็จำได้มาก เพราะฉะนั้น ผมไม่ไปเรื่อยๆ เท่าไร แต่ผมพยายามชอบเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ นี่คือไปเรื่อยๆ คือหมอไม่ทิ้ง ไปเรื่อยๆ คือไม่ทิ้งความจำเรื่องปรมัตถธรรม เวลานี้ ปรมัตถธรรมทั้งนั้น แต่หมายความว่า นี่จะไม่ปรากฏทางตาไม่ได้

    ผู้ฟัง ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น สีอะไรก็ตามแต่ก็ปรากฏทั้งนั้นแหละ

    ผู้ฟัง แต่ถ้าถามว่าเห็นสีอะไร ตอบว่าเห็น สีแดง ก็ไม่ใช่แล้ว

    ท่านอาจารย์ นึกถึง นั่นไปนึกถึงสีแดง แต่ไม่ใช่หมายความว่า สีแดงไม่ได้ปรากฏ ก็ยังปรากฏ เพราะฉะนั้น ผู้เจริญสติก็คือว่า ไม่ได้ไปสนใจว่าสีอะไร แต่ไม่ได้หมายความว่าสีนั้นไม่ปรากฏ

    ผู้ฟัง สนใจสิ่งที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ คือผู้เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ไปสนใจว่า สีอะไร ไม่ได้สนใจ แต่ไม่ได้หมายความว่า สิ่งนั้นไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ กี่สีก็ตามแต่ ปรากฏทั้งนั้น ทุกสี แต่ผู้เจริญสติ ก็คือผู้ที่รู้สภาพที่เป็นปรมัตถ์ ว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วไม่ใช่มานึกเป็นคำอย่างนี้ แต่ค่อยๆ รู้ความจริงว่า ลักษณะนี้คืออย่างนั้น คือสภาพของจริงซึ่งปรากฏทางตา ถ้าพูดออกมาเป็นคำก็คืออย่างนี้ แต่หมายความถึงเพื่อให้รู้ลักษณะแท้ๆ ว่าสิ่งนี้เป็นธาตุชนิดหนึ่ง เป็นของจริงชนิดหนึ่งแล้วก็กำลังปรากฏด้วย ชั่วขณะนี้เป็นโลกๆ หนึ่ง แต่ว่าทุกคนฟังแล้วก็คิด แล้วก็พิจารณาว่า เป็นความจริง แล้วก็พิสูจน์ได้ เมื่อเข้าใจเพิ่มขึ้นก็ศึกษาเพิ่มขึ้น เพราะรู้ว่าเป็นหนทางเดียวซึ่งเราคิดเองไม่ได้ เราจะไปให้คนที่ไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบอก ผิดๆ ถูกๆ ไม่เหมือนการศึกษาจากพระไตรปิฎกโดยตรง

    ผู้ฟัง ผมไม่ทราบว่า แต่ละคนสามารถมีภูมิปัญญาขึ้นมาได้อย่างไร อาจจะใช้เวลามากน้อยต่างกัน วิธีต่างกัน แต่ถ้าหากว่าคนๆ นั้นเขาได้ผ่านมาแล้ว เขาได้บรรลุถึงปัญญานั้นแล้ว เขาอาจจะบอกต่อ เหมือนกับว่า ชี้แนะแนวทางนั้นให้กับคนที่ยังไม่

    ท่านอาจารย์ โดยวิธีไหน ชี้แนะ อธิบาย นี่เราก็กำลังทำอยู่ เรามีทั้งหนังสือ เรามีทั้งเทป เรามีทั้งวิทยุ

    ผู้ฟัง เป็นวิถีทางที่คิดว่า น่าจะเร็วที่สุด

    ท่านอาจารย์ สืบๆ ต่อกันมาจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระพระอรหันตสาวกซึ่งท่านก็เผยแพร่ไปทั่วเลย ไม่ใช่แต่เฉพาะที่ประเทศอินเดีย แล้วก็สืบๆ ต่อกันมาจนกระทั่งมีการจารึกเป็นพระไตรปิฎก มีการศึกษา มีการแสดงอธิบายกันมาสืบๆ ต่อๆ กันมาจนถึงยุคนี้ ยังอยู่ครบถ้วน พร้อมที่จะให้ทุกคนได้อ่าน ได้พิจารณาว่า นี่ต้องเป็นคำสอนของผู้ที่ตรัสรู้ ถ้าไม่ตรัสรู้แล้วพูดอย่างนี้ไม่ได้ อธิบายอย่างนี้ไม่ได้ สอนอย่างนี้ไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง ชาวตะวันตก ฝรั่งก็ดี คนญี่ปุ่น จีน ที่ว่าสนใจในทางพระพุทธศาสนา ความเข้าใจทางภาษา หรือว่าจะวิเคราะห์ หรือจะศึกษาในพระไตรปิฎกไม่ลึกซึ้ง แต่เขาก็บอกว่าเขาได้ภูมิปัญญา หรือได้บรรลุอะไรบางอย่าง มันจะมีเครื่องวัดอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ถ้าคนไม่มีปัญญาก็ไม่สามารถจะรู้ได้ว่า คนอื่นมีปัญญาหรือไม่มีปัญญา ต่อเมื่อใดตัวเองมีปัญญา ก็จะรู้ได้ว่า คนอื่นมีหรือไม่มีปัญญา แล้วที่จะมีปัญญาได้ ไม่ใช่อยู่เฉยๆ มี ต้องศึกษา ต้องฟัง ต้องพิจารณา สิ่งที่ได้ยินได้ฟัง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจของเราเอง

    ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพานมีผู้ที่ไปเฝ้า ตอนเย็นๆ ไม่ว่าจะประทับที่พระวิหารเชตวันหรือว่าพระวิหารเวฬุวันก็ตามเพื่อฟังธรรม คิดดูว่า เขาเห็นคุณประโยชน์ของการฟังพระธรรมมากแค่ไหน แล้วบางคนก็มีอายุมาก สูงอายุถึง ๑๒๐ ปี แต่พอได้ฟังพระธรรมแล้วชื่นชมยินดีในพระภาษิต เพราะเหตุว่าพูดเรื่องสภาพธรรมที่มีจริง เป็นจริง ไม่ได้พูดเรื่องอื่น พูดเรื่องเห็นเดี๋ยวนี้ ที่กำลังเห็น ให้เข้าใจขึ้น พูดเรื่องได้ยิน พูดเรื่องคิดนึก พูดเรื่องสุข พูดเรื่องทุกข์ พูดเรื่องโลภ พูดเรื่องโกรธ พูดเรื่องหลง พูดเรื่องของจริงทั้งหมด

    ถ้าแปลจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย ที่ใช้คำว่า สัจธรรม ก็คือธรรมที่มีจริง ไม่ใช่ว่าเราไปพูดเรื่องอื่น นอกเรื่อง พิสูจน์ไม่ได้ แต่สภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ และทรงแสดงโดยละเอียดให้เห็นความไม่ใช่ตัวตน จนกว่าเราจะเกิดปัญญาของเราเอง นี่คือพระมหากรุณาคุณ จากการที่ไม่รู้อะไรเลย ทำให้คนฟังรู้ขึ้นๆ จนกระทั่งสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ นี่คือผู้ที่มีปัญญา แล้วก็มีพระบริสุทธิคุณ มีพระมหากรุณาคุณ นอกจากจะรู้ด้วยพระองค์เอง เป็นผู้บริสุทธิหมดจดจากกิเลส ก็ยังมีพระมหากรุณาที่จะให้คนอื่นเกิดความเข้าใจทีละเล็กทีละน้อย จนกว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรม

    ผู้ฟัง ความเข้าใจของทุกคน ควรจะต้องมุ่งไปสู่จุดเดียวกัน เหมือนอย่างที่พระพุทธองค์ได้

    ท่านอาจารย์ เราเกิดมาแล้วชาตินี้ เรามีอาหารอร่อย เรามีเสื้อผ้าสวย เราไปเที่ยวสนุกสนาน พอไหม ถ้าทุกคนในโลกนี้จะเป็นอย่างนั้น พอไหม พอหรือยัง เป็นจุดที่รัฐบาลหรือทุกคนต้องการไหม ให้ทุกคนมีการอยู่ดี กินดี มีเงิน มีทอง มีความสนุกสนาน พอไหม

    ผู้ฟัง อาจจะเป็นความต้องการขั้นแรก พื้นฐานก่อนที่จะนำไปสู่

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบหรอก พอไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่เพียงพอ

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า เราเกิดมามีความสุขสบายแล้วก็ตายไป เพราะทุกคนต้องตายแน่ ไม่มีใครพ้นจากความตายได้ เพราะฉะนั้น อะไรที่จะมีประโยชน์กว่า ความสุขซึ่งสั้น อาหารอร่อย ก็ชั่วขณะที่กำลังอร่อย สิ่งที่สวยๆ งามๆ ก็ชั่วขณะที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น เสียงที่ว่าไพเราะ ฟังไปก็หมดไป ฟังไปก็หมดไปทุกขณะ แม้แต่ความคิดนึกต่างๆ มันก็เหมือนกับกำมือเปล่า ซึ่งเวลาที่กำลังกำอยู่ เราก็คิดว่ามันต้องมีอะไรในนั้น แต่ความจริงพอแบออกมาแล้วมันไม่มีอะไรเลย เหมือนกับแต่ละขณะ ซึ่งเราหวังว่า ทำให้เราได้สิ่งที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกเป็นสุข แต่พอสุขแล้วก็หมด ไม่มีอะไรเหลือเลย แล้วเราจะยังคงต้องการให้เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ หรือว่ายังคิดว่ามีปัญญาที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังเผชิญหน้าอยู่เวลานี้ แต่ไม่เคยรู้เลย รู้กับไม่รู้อย่างไหนจะดีกว่ากัน แล้วคนอื่นก็สอนไม่ได้จริงๆ ไม่มีใครในโลกนี้ กี่โลก กี่จักรวาล ที่จะสอน นอกจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ เทวดานี้รวมหมด พรหมทั้งหลายก็ต้องนับว่าเป็นเทพ ไม่ใช่มนุษย์

    ผู้ฟัง ผมคิดว่าคนส่วนมากที่ไม่สามารถที่จะเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ได้ เพราะว่ามีข้อจำกัดอะไรหลายๆ อย่างที่ปิดกั้นไม่ให้เขาเกิดภูมิปัญญาได้

    ท่านอาจารย์ มีสภาพธรรม ๒ อย่าง อวิชชา สภาพที่ไม่รู้ ไม่รู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ แล้วก็สภาพธรรมที่ตรงกันข้ามคือ วิชชา ถ้าวิชชาแล้วสามารถจะเริ่มจากเข้าใจ แล้วค่อยๆ รู้ชัดขึ้นจนกว่าจะประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรม เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า วิชาจรณสัมปันโน เป็นผู้ที่ถึงความสมบูรณ์พร้อมของปัญญา เพราะเหตุว่าสามารถประจักษ์ความจริง แล้วก็แสดงความจริง ซึ่งคนอื่น ถ้าศึกษาก็สามารถที่จะรู้ตามได้ อย่างที่ทรงแสดงว่า ธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นแล้วดับไป สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ สังขารทั้งหลายเป็นอนัตตา เราก็ได้ยิน แม้แต่ภาษาบาลี อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราก็ได้ยิน แต่เราก็พูดตามๆ ไป แล้วเราก็รู้คำนี้มาจากใคร มาจากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงประจักษ์ว่า สภาพธรรมใดเกิดขึ้นสภาพธรรมนั้นดับ นี่คือไม่เที่ยง แล้วไม่มีใครสามารถที่จะบังคับว่า ไม่ให้ดับ ก็ไม่ได้ เพราะว่าเป็นอนัตตา แต่ว่าเรายังไม่ประจักษ์ แต่เรารู้ว่า ผู้ที่ตรัส คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็ทรงอนุเคราะห์สัตว์โลกให้เกิดปัญญายิ่งขึ้น แต่เราไม่สนใจเลย เราหันหลังให้พระธรรม พระธรรมมีก็มี แต่เราก็ไม่คิดว่า เราจะเพิ่มเติมความรู้ความเข้าใจยิ่งขึ้น นี่คือผู้ที่เป็นพุทธบริษัท โดยที่ไม่ได้เข้าใจในพระปัญญาคุณ เพราะว่าไม่ได้ศึกษาพระธรรม

    เรากราบนมัสการพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เรียกได้ว่าทุกวัน เช้าค่ำก็ได้ แต่ว่าพระกรุณาคุณคืออะไร พระบริสุทธิคุณคืออะไร ข้อสำคัญคือ พระปัญญาคุณ ที่จะทำให้เป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยพระบริสุทธิ และพระมหากรุณาคุณ อันนี้เราไม่รู้ เพราะฉะนั้น รู้จักจริงๆ ไม่ใช่รู้จากโดยกราบไหว้สิ่งซึ่งเป็นตัวแทนเท่านั้น ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้เข้าใจเลยว่าผู้ที่เรากราบไหว้ ทรงพระคุณมากมหาศาลแค่ไหน จนกว่าจะได้ศึกษา พอศึกษาเข้าใจนิดหนึ่ง ก็รู้ว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งอย่างนี้ พอศึกษาต่อไปก็รู้ว่า พระองค์ทรงรู้แจ้งอย่างนี้ๆ ๆ แต่แม้อย่างนั้นข้อความในอรรถกถา ก็ยังมีว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง จึงจะสามารถที่จะสรรเสริญ พระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอีกพระองค์หนึ่งได้ ถ้าคนที่ไม่มีปัญญาก็สรรเสริญได้เพียงแค่ศีล ไม่ฆ่าสัตว์ มีพระมหากรุณาทางแสดงธรรม ก็เท่าที่เราได้ยินได้ฟัง นิดๆ หน่อยๆ แต่ว่าไม่สามารถที่จะรู้จริงๆ ถึงพระกรุณาคุณจริงๆ พระปัญญาคุณจริงๆ ต้องผู้นั้นเป็นผู้ที่ศึกษา แล้วก็เพิ่มความรู้ความเข้าใจในพระธรรมขึ้น จะได้เห็นพระปัญญา เพราะว่าการเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยพระปัญญา

    ผู้ฟัง ผมก็เป็นบุคคลซึ่งอยู่ในวงการศึกษา พยายามจะค้นหาวิธีการที่จะหล่อหลอมให้คนหรือเด็กเยาวชนในยุคต่อๆ ไป มีภูมิปัญญาทางด้านนี้มากยิ่งขึ้น คือไม่ได้ไปหลงผิดทางอวิชชา ไม่ทราบว่าท่านอาจารย์พอจะมีแนวทางที่ชี้แนะทางด้านนี้ ได้ไหมว่า ในยุคต่อไป เด็กที่เกิดมาในยุคใหม่ ยุคปีหน้า ๑๐ ปีข้างหน้า ร้อยปี ข้างหน้า จะทำอย่างไรให้เขามีคุณสมบัติที่พร้อมที่จะศึกษา เข้าถึงธรรมด้วยตนเอง

    ท่านอาจารย์ เหมือนหวังเขา หวังคนอื่น แต่ต้องเราก่อน ถ้าเราไม่รู้ เราช่วยคนอื่นไม่ได้แน่ เพราะฉะนั้น เราต้องรู้ก่อน เราถึงจะช่วยได้ โดยที่ไม่เกี่ยงให้คนอื่นรู้ ไม่เกี่ยงให้คนอื่นช่วย

    ผู้ฟัง ไม่เกี่ยง คือ อยากให้มันมีระบบ หรือว่ามีระบอบ หรือว่าอะไรสักอย่าง

    ท่านอาจารย์ เริ่มที่เรา เริ่มที่เราศึกษาก่อน ถ้าเรารู้แล้วก็มีหนทางที่จะช่วยได้ เพราะเรารู้ แต่ถ้าเราไม่รู้ ต่อให้เราพยายามหาทางอย่างไรก็ช่วยไม่ได้ ได้แต่เป็นเพียงความหวังสำหรับคนอื่น แต่ไม่หวังเลยสำหรับตัวเอง คนอื่นเขาอาจจะหวังให้เราเป็นอย่างนั้น ก็ต่างคนก็ต่างหวังกันไป โดยที่ไม่มีปัญญาที่จะช่วยใครได้ นั่นเป็นเรื่องไม่สำเร็จ ถ้าเรื่องสำเร็จ คือ เริ่มต้นที่เรา ก็เป็นแนวทางที่ดี ที่เริ่มที่ตัวเองที่จะศึกษาก่อน เพราะฉะนั้น ถ้าตัวเองไม่ศึกษาแล้วไปคอยให้คนอื่นศึกษาไม่มีทางสำเร็จเลย

    พอเริ่มจะศึกษา จะมี ๓ คำถาม คำถามที่ ๑ คือ เมื่อไร ถ้าตอบยังไม่ได้ ก็ช่วยคนอื่นก็ยังไม่ได้ เพราะแม้แต่จะศึกษาเมื่อไร ก็ยังไม่รู้ หรือว่าไม่ใช่เดี๋ยวนี้ ไม่ใช่วันนี้ ไม่ใช่พรุ่งนี้ อีก ๕ ปี อย่างนี้ หรือปีหน้า จะช้าไปไหม นี่คือคำถามที่ ๑

    คำถามที่ ๒ คือ จะศึกษาอะไร

    คำถามที่ ๓ คือ จะศึกษาที่ไหน ถ้าตอบ ๓ คำถามนี้ไม่ได้ ก็ช่วยใครไม่ได้เหมือนกัน

    ผู้ฟัง มีคนชี้แนะไหม

    ท่านอาจารย์ อย่างศึกษาเมื่อไร คนอื่นคงชี้แนะไม่ได้ อยู่ที่ตัวเอง

    ผู้ฟัง ศึกษาอะไร

    ท่านอาจารย์ ศึกษาอะไร ก็คือพระไตรปิฎก แล้วก็สิ่งใดที่ได้ยินได้ฟัง คำใดที่จะทำให้เข้าใจเรื่องสภาพธรรมที่เป็นสัจธรรม อันนั้นศึกษาได้

    ผู้ฟัง แล้วที่ไหน

    ท่านอาจารย์ ที่ไหน อันนี้ก็ต้องรู้ ที่ไหนสอนสัจธรรม ความจริง ตอนนี้ เจอคำตอบหรือยัง

    ผู้ฟัง พยายามศึกษา หรือพยายามจะ

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่ใช่ศึกษาพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้น นั่นไม่ใช่การศึกษาที่เริ่มต้น เป็นแต่เพียงการค้นคว้าหาทาง แต่ถ้าศึกษาจริงๆ เรารู้แล้วว่า ศึกษาพระไตรปิฎก เพราะฉะนั้น เมื่อไร

    ผู้ฟัง แสดงว่า สถานที่ก็คงไม่เกี่ยวอย่างนั้นใช่ไหม จะเป็นที่บ้าน หรือที่โรงเรียน หรือที่วัด หรือที่ไหน นั่นคงเป็นคำตอบที่ผมติดอยู่ในใจว่าจะบวชดีหรือไม่ดี

    ท่านอาจารย์ ต้องมีความเพียร แล้วมีความอดทน ถ้าพระพุทธเจ้าสอนสิ่งที่เรารู้แล้ว ไม่มีความหมายเลย เพราะเรารู้แล้ว แต่สิ่งใดที่ยังไม่เคยรู้เลย แล้วมีผู้สอนให้ค่อยๆ รู้ขึ้น อันนั้นเป็นผู้ที่อนุเคราะห์ที่แท้จริง คือ เป็นผู้ที่ทำให้เราเกิดปัญญา แล้วก็จะเทียบได้ ก่อนศึกษาพระธรรมกับศึกษาพระธรรมต่างกัน คือก่อนศึกษาอาจจะคิดว่า รู้แล้ว แต่พอศึกษาแล้ว จะรู้ว่าไม่รู้ อันนั้นเป็นการตั้งต้นที่ถูกต้อง เป็นจุดเริ่มของการจะศึกษาเพราะเรายังไม่รู้ แต่ถ้าเราคิดว่าเรารู้แล้ว ไม่จำเป็นต้องศึกษา ใครก็ตามที่พูดเรื่องธรรมดาๆ แล้วเราก็ไม่ได้เข้าใจเพิ่มเติมเลย มีน้องเขย ซึ่งเพื่อนของเขาก็ไปที่วัด แล้วก็ไปฟังอะไรๆ เขาก็ถามว่า ก่อนไปรู้อะไร แล้วพอไปมาแล้วรู้อะไรเพิ่มขึ้นหรือเปล่า หรือเหมือนเดิม ถ้ามีความรู้ที่ถูกต้องในเรื่องสภาพธรรมเพิ่มขึ้นก็ควรจะไป แต่ถ้าไปแล้วก็เท่าเก่า เหมือนเดิม คือว่า รู้เรื่อง อย่าฆ่าสัตว์ อย่าลักทรัพย์ ละความยึดถือว่าเป็นตัวตน ก็เหมือนเดิม หรือเหมือนตามที่โรงเรียนสอน เหมือนครูสอนเด็ก เหมือนพ่อแม่สอนลูก แต่ยังไม่ใช่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนพุทธบริษัท ต้องมีความต่าง แล้วเราจะไปตื่นเต้นยินดีกับการสอนเรื่องศีลธรรม เรื่องละ ทุกศาสนาก็เป็นการสอนให้ประพฤติดี แต่ว่าไม่ได้สอนเรื่องสัจธรรม ความจริงที่กำลังเผชิญหน้า ตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่ตื่นจนหลับ แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้โดยละเอียดเรื่องของสภาพธรรมแต่ละขณะ นี่คือผู้ที่ประจักษ์แจ้งความจริงที่ตรัสรู้ ที่ได้พระนามว่า “พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า” เพราะว่าคนอื่นจะชื่อนี้ไม่ได้เลย แล้วไม่มีใครไปแต่งตั้งให้ด้วย แต่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยพระปัญญาคุณ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567