ปกิณณกธรรม ตอนที่ 352


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๕๒

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๓๗


    ท่านอาจารย์ เพราะจริงๆ แล้วทุกอย่างเกิด ไม่ใช่ว่าไม่เกิด แล้วเกิดแล้วดับเร็วมาก โลกทั้งโลก หรือว่าแม้แต่ไม้ทั้งชิ้น หรืออะไรก็ตามแต่ ที่เราไม่เคยคิดว่ามันจะดับ เพราะเราไม่ได้ประจักษ์การเกิดขึ้นของรูปนั้น แต่ถ้ารูปนี้ไม่เกิด เราจะกระทบสัมผัสได้อย่างไร คิดดูว่าต้องมีการเกิดขึ้น แล้วต้องดับไปอย่างรวดเร็วด้วย เพราะว่า รูปทุกรูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รวดเร็วแค่ไหน เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เกิดดับเร็วมาก ไม่อย่างนั้นจะไม่มีการแสดงว่า โลก คือ สภาพธรรมที่เกิดดับ แล้วก็สภาพธรรมที่ไม่เกิดดับ คือโลกุตตระ คือนิพพานอย่างเดียว

    เราไม่ต้องคิดถึงไกล อะไรมากมายแต่ให้เข้าใจธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง การตรัสรู้ คือ รู้จริงๆ เพราะว่าบางคนก็เอาประมวลมา แล้วก็เอาหลักวิทยาศาสตร์มา แต่คิดง่ายๆ อย่างนี้ ถ้าสิ่งนี้ไม่เกิดขึ้น จะกระทบสัมผัสสิ่งนี้ได้อย่างไร แล้วสิ่งนี้ที่เกิดแล้วก็ต้องดับด้วย แล้วก็มีสิ่งที่เกิดแล้วก็ดับ แล้วก็มีสิ่งที่เกิดแล้วก็ดับ ในขณะที่เรามีความรู้สึกว่า เราสัมผัสอยู่ตลอด เร็วมากก็แล้วกัน หมายความว่า ถ้าปัญญาสามารถที่จะประจักษ์ก็รู้ว่าสภาพธรรมไม่ใช่ว่าจะแข็งแรง มั่นคง แล้วก็หาทางดับไม่ได้ อย่างที่เราคิดว่าจะดับไปได้อย่างไร แต่อันนี้ก็คงจะไม่เป็นปัญหาอะไร เพราะเหตุว่าเราจะต้องเริ่มต้น ที่จะเข้าใจว่า ธรรมจริงๆ เป็นอย่างไร ก็เป็นจริงๆ อย่างนั้น แต่อวิชชาไม่สามารถจะรู้ได้ นี่คือความต่างกัน

    ทุกคนเข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า ไม่มีใครไปบังคับหรือยับยั้ง ที่จะไม่ให้สภาพธรรมที่เคยสะสมมาแล้วเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย แต่ใครก็ตาม จะคิดอะไรก็ตาม จะทำอะไรก็ตาม ให้ทราบว่า ถ้าไม่มีเหตุปัจจัยเฉพาะ ตัวของแต่ละบุคคลแล้ว ความคิดอย่างนั้นเกิดไม่ได้ การเห็นอย่างนั้นเกิดไม่ได้ การได้ยินอย่างนั้นก็เกิดไม่ได้

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวว่าเป็นเหตุเป็นปัจจัย เกิดมีตัวตนขึ้นมาหรือเปล่า ที่ไปสร้าง เหตุปัจจัยนี้มา เพื่อความมีตัวตน

    ท่านอาจารย์ ไม่มี จะเข้าใจในลักษณะที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมโดยตลอด อย่างทางตาเป็นนามธรรม เป็นรูปธรรมแล้ว ทางหูเป็นนามธรรม รูปธรรม แม้แต่ความคิด ขณะที่คิดก็เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง แล้วแลกความคิดกันไมได้เลย ใครจะคิดชังใคร ริษยาใคร หมั่นไส้ใคร ใครจะคิดเมตตา ขณะจิตหนึ่งๆ ให้ทราบว่าเกินวิสัยที่ใครจะไปเตรียมหรือจะไปทำขึ้นมาได้ เพราะว่าไม่มีอำนาจอะไรที่จะทำอะไรทั้งสิ้น เป็นธาตุซึ่งไม่ใช่ว่ามีอยู่แล้วเกิดขึ้น แต่ธาตุนี้อาศัยเหตุปัจจัยเกิดแล้วดับ ถ้าสิ่งนั้นยังไม่กระทบหู จิตได้ยินก็เกิดไม่ได้ ไม่ใช่ว่าจิตได้ยินไปคอยอยู่ที่หนึ่ง แต่ว่าจิตมีเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถ้าขณะใดที่อารมณ์ต่างๆ ไม่ปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ขณะนั้นจิตก็เกิดดับสืบต่อ ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ จนกว่าจะถึงจุติจิต ซึ่งถ้าจุติจิต คือ จิตขณะสุดท้ายของชาตินี้ยังไม่เกิด ใครจะไปบังคับไม่ให้เห็นเกิด ให้หลับไปตลอดเวลาก็ไม่ได้ เพราะว่าให้ทราบว่า ทุกขณะจิตมีเหตุปัจจัยที่จะเกิด แต่ละคนแต่ละขณะ สร้างไม่ได้ ทำไม่ได้ แต่อบรมปัญญาเข้าใจได้ว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นของจริงซึ่งมีจริง และเป็นลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง สมมติว่า เราจะไปวัด หรือจะไปฟังธรรม แล้วขณะเดียวกันก็มีทางเลือกที่จะไปดูหนัง ซึ่งก็เป็นเรื่องของโลภะ ถ้าหากว่าเราตัดสินใจว่าจะไปวัด เราไปสร้างเหตุปัจจัยขึ้นมาได้ไหมว่า นั่นแหละเป็นเหตุปัจจัยที่เราสร้างขึ้นมา เราถึงไปวัด

    ท่านอาจารย์ นั่นคือคิด เพราะฉะนั้น ต่อให้จะไปวัด หรือจะไปดูหนัง ก็คือจิตที่คิด ที่ทำอย่างนั้น ดูทีวีก็ได้ ฟังข่าวก็ได้ ฟังธรรมก็ได้ แต่ละขณะเสียเวลาเตรียม พอถึงเวลาจริงๆ แล้ว มันไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิดก็ได้ เพราะแล้วแต่จิตขณะนั้นจะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยอะไร บางทีตั้งใจว่า จะฟังข่าว ก็อาจจะไปฟังธรรม หรือบางทีตั้งใจจะฟังธรรม ก็อาจจะดูละคร

    ผู้ฟัง ผมเข้าใจที่อาจารย์พูด แต่ในขณะเดียวกันเหมือนกับว่ามีสิ่งใดสิ่ง หนึ่งซึ่งเราเรียกว่าตัวตน ไปสร้างเหตุปัจจัยนั้นขึ้นมาว่า ให้ทำอย่างนั้น ให้เป็นอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ คิด จิตคิด การเข้าใจเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือเรื่องเสียง เรื่องอะไรก็ตาม มันเป็นเรื่องที่ยาก เพราะว่ามันเคยรวมกันแล้วก็ติดกันแน่นเลย คนๆ หนึ่งก็มีทั้งหมดเลย ทีนี้ถ้าเราได้ฟังธรรมส่วนอื่นประกอบด้วย ก็อาจจะทำให้เราไม่ลืม แล้วก็ค่อยๆ พิจารณาเพิ่มขึ้นได้ อย่างที่ว่าแท้ที่จริงแล้ว เราอยู่คนเดียวในโลก อันนี้จริงหรือเปล่า จริงๆ หรือเปล่า ใช่ แต่เราต้องถอยจากมากลงมาทีละน้อยทีละน้อย อยู่คนเดียวหรือเปล่า เวลานี้

    ผู้ฟัง เพราะว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา คนก็ไม่มี เพราะฉะนั้น ความจริง มันก็ไม่มี

    ท่านอาจารย์ แต่ที่อยู่คนเดียวที่นี่ ไม่ได้หมายความว่า คุณชาญณรงค์ต้องไปพยายามอยู่คนเดียว จริงๆ ไม่ใช่ ถึงจะอยู่ด้วยกันที่นี่ตั้ง ๑๐ คน ร้อยคน ทั่วโลกก็ตาม แต่ตามความเป็นจริงแล้ว ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ในเรื่องลักษณะของสภาพธรรม จะรู้ว่า ไม่มีใครเลย นี่แน่นอนที่สุด

    ผู้ฟัง ถูกต้อง ผมเข้าใจตามนั้น

    ท่านอาจารย์ ค่อยๆ เข้าใจไป เราจะได้ค่อยๆ ย่อลง หรือว่า ให้เรารู้ตัวเสียก่อนว่า แท้ที่จริงแล้วที่เราคิดว่ามีพี่น้องมีเพื่อนฝูงมีอะไรมากมาย เป็นความคิด แต่ละคน คือ โลกแต่ละใบ ไม่ได้ก้าวก่ายกันเลย โลกแต่ละใบ เอาจิตขึ้นมาเป็นประธาน เพราะว่า จิตเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้น ก็มีสิ่งที่จิตรู้ตั้งแต่เกิดตอนปฏิสนธิ ก็คงจะไม่ต้องนับ เพราะเหตุว่า ภวังคจิตก็ไม่รู้อะไร แต่ว่าเขาสะสมปัจจัยที่จะทำให้หลังจากปฏิสนธิแล้ว หลังจากภวังค์แล้ว จะเห็นอะไร จะได้ยินอะไร ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาเลย แม้แต่ว่าตอนดึกเราจะตื่นขึ้นมาได้ยินเสียงประหลาด หรือจะฝันเห็นอะไร ก็ตามแต่ พวกนี้ ก็แสดงให้เห็นว่า ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา แต่มีเหตุปัจจัยสะสมอยู่ในจิตอย่างละเอียดมาก ที่จะทำให้ชีวิตของแต่ละคนเป็นไปตามเหตุปัจจัยนั้นๆ แม้แต่การตื่นก็ตื่นเวลาไม่ตรงกัน คนตื่นเช้าก็เห็นพระอาทิตย์สวยงาม คนตื่นสายก็ไม่เห็นเลย อะไรอย่างนี้

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าย่อมาจริงๆ แล้ว เหมือนเราอยู่กับพระอาทิตย์ เราอยู่กับโลก เราอยู่กับคน แต่แท้ที่จริงแล้วก็คือว่า โลกคนละใบ แล้วก็เป็นเพียงจิตซึ่งเกิดขึ้น แล้วก็เห็น ชั่วขณะแล้วก็ดับ แล้วก็คิดนึกเรื่องสิ่งที่ปรากฏทางตาจนเป็นคน จนเป็นโลก จนเป็นพระอาทิตย์ แล้วทางหูอีก ก็ได้ยินเรื่อง ตาดู หูฟัง อ่านหนังสือพิมพ์แล้วยังต้องไปทำเป็นหนัง เป็นเรื่องอะไรพวกนี้ขึ้นมาอีก ให้ประกอบกันเข้าไป ให้ใจของเราหนักแน่นว่ามันมีสิ่งนั้นจริงๆ แต่ตามความเป็นจริงแล้วก็คือว่า ทำให้เราคิด คิดไปอีกกว้าง คิดไปอีกไกล คิดให้มันเป็นตัวตน คน สัตว์ไปอีกตั้งมากมายทั้งๆ ที่ชั่วขณะนั้นจิตก็เกิดขึ้น คิดแล้วก็ดับ แต่ทางนั้นที่เขาสร้างเรื่องนิยายต่างๆ ไว้ให้เรา อะไรก็ตาม ไม่มีคนเลยสักคนเดียว นิยายก็เป็นชื่อ คุยกัน โกโบริ อะไรๆ แล้วแต่สมัยนี้ จะเป็นเรื่องอะไร เหมือนจริง Scarlet Ohara แต่ไม่มีเลย เขาสร้างให้ความคิดนึกของเราเกิด แล้วทั้งๆ ที่ถึงเขาไม่มาบอกเรา ความเป็นตัวตนของเราก็มีอยู่แล้วมากมาย ยังมาเพิ่มเติมความเป็นตัวตนเข้าไปอีก

    เราต้องทราบว่ามีอยู่ ๖ โลก ถ้าจะพูดจริงๆ แล้วก็คือ โลกทางตา สีปรากฏ ทำอะไรไม่ได้เลย คิดนึกไม่ได้ นี่ขณะหนึ่ง อยู่คนเดียวหรือเปล่า ขณะที่มีแต่จิตเห็นกับสิ่งที่ปรากฏทางตา ถ้าเป็นปัญญาจริงๆ ไม่มีคนเลย ใช่ไหม แล้วก็โลกนั้นก็ดับด้วย นี่คือความไม่เที่ยง แล้วที่เราไปยึดจิตแต่ละขณะว่า เป็นตัวเราเรื่อยมาตลอด ทั้งๆ ที่จิตนั้นก็ดับแล้ว แสนนานด้วย ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ จำไว้หมดเลย เรื่องราวต่างๆ เราเป็นใคร ลูกใคร อะไร เกิดที่ไหน อย่างไร จำไว้หมด แม้แต่สิ่งที่มันไม่มีแล้ว ก็ยังอยู่ในความคิดนึก พรุ่งนี้ก็ไม่ลืม ต่อไปอีก ๑๐ ปีก็ไม่ลืม เพราะว่ามันสะสมสืบต่ออยู่ในจิต แต่ว่าเราจะต้องรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่ขณะที่เพียงเห็นทางตา ค่อยๆ แยกออกไปว่า ชั่วขณะที่เห็น ไม่ได้คิดเรื่องราวต่างๆ เลย แล้วขณะที่ได้ยินก็เป็นอีกขณะหนึ่งขณะที่ได้กลิ่นขณะหนึ่ง ขณะที่ลิ้มรสขณะหนึ่ง ขณะที่กระทบสัมผัสกายขณะหนึ่ง นี่ชั่วขณะที่กระทบสัมผัสกาย ไม่มีเรื่องราว แต่พอทางใจเก็บทุกอย่างไว้ แล้วก็คิด จนกระทั่งในโลกของแต่ละคน ไม่ได้อยู่คนเดียว

    เราก็ต้องค่อยๆ ถอยจากโลกกว้างใหญ่ เต็มไปด้วยคนมากมาย มาถึงขณะจิตซึ่งเป็นโลกแต่ละใบของแต่ละคน แล้วก็เต็มไปด้วยความคิด แล้วแต่ว่าใครจะคิดถึงใครมากน้อยอย่างไร โลกของคนนั้นก็มีเรื่องของคนนั้นเต็ม แต่โลกของอีกคน เขาก็มีโลกของคนอื่น หรือเรื่องของคนอื่นเข้าไปอยู่ในโลกของเขา

    เพราะฉะนั้น อยู่คนเดียว และอยู่คนเดียวก็คือจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่ง แล้วจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่งก็ดับด้วย แสดงให้เห็นว่า นี่คือไม่มีตัวตน มีสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับ แล้วก็เป็นอย่างนี้

    ผู้ฟัง เวลามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นในชีวิตผม เมื่อผมระลึกถึงคำพูดของอาจารย์ว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ผมรู้สึกสบายใจจังเลย รู้สึกโล่งอกว่า ที่เราทำอะไรขึ้นมา ไม่ว่าผิดถูกอะไรก็ตาม เราทำไปตามเหตุปัจจัยต่างหาก แล้วไม่ใช่มีตัวตนอะไรเกิดขึ้นแท้จริง

    ท่านอาจารย์ นี่เพียงแค่คิดยังเบาใจ ถ้าประจักษ์จริงๆ ว่า ไม่มีตัวตนเลย จะโล่งใจ สบายใจ เบาใจกว่านี้สักแค่ไหน เพราะว่าเป็นการประจักษ์แจ้ง

    ผู้ฟัง มันเหมือนกับยกภูเขาออกจากอก ผมไม่รู้จะอธิบายอย่างไร

    ท่านอาจารย์ ลองเปรียบเทียบดูว่า ถ้าประจักษ์แจ้งจริงๆ จะยิ่งกว่านี้สักแค่ไหน นี่แค่คิด

    ผู้ฟัง คำถามนี้น่าสนใจทีเดียว พระอภิธรรมมีประโยชน์ สำหรับการนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ โดยมากทุกคนคิดที่จะใช้ แต่ว่าไม่ได้คิดที่จะเข้าใจ นี่คือคำปลีกย่อยซึ่งมีความสำคัญ เพราะเหตุว่าถ้าเพียงเข้าใจผิดเพียงนิดเดียว การศึกษาธรรมทั้งหมดก็จะไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะตามความเป็นจริงนั้น ธรรมไม่มีใครสามารถที่จะใช้ เพราะไม่มีตัวตนที่จะใช้ธรรม แต่ว่ามีธรรมปรากฏ ขณะนี้ ถ้าเป็นผู้ที่ศึกษาพระอภิธรรมแล้วก็จะทราบได้ว่า ตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่ปราศจากธรรมเลย ไม่ว่าโลกนี้หรือว่าโลกไหนก็ตาม ก็ไม่ปราศจากธรรมเลย มีธรรมอยู่ แต่ไม่รู้จักธรรม บางคนไม่เคยฟังเรื่องธรรมเลย ฟังเรื่องอื่น แต่ว่าไม่เคยฟังเรื่องธรรม แต่ผู้ที่ศึกษาพระอภิธรรม ได้ฟังเรื่องธรรม ต้องได้ฟังแน่นอน แล้วก็เริ่มจะรู้เรื่องของธรรม อย่างโทสะ ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา มีปัจจัยก็เกิดขึ้น ไม่ว่าอะไรก็ตาม ทุกอย่างที่เกิดต้องมีเหตุปัจจัย เกิดแล้วก็ไม่เที่ยง คือ ไม่ตั้งอยู่ เกิดแล้วก็ดับไป นี่เป็นสิ่งที่เราฟังเรื่องธรรม แต่ยังไม่รู้จักธรรม เพราะเหตุว่าขณะนี้มีเห็น เราพูดเรื่องเห็นว่าเป็นจิตชนิดหนึ่ง มีได้ยิน แล้วเราก็พูดเรื่องได้ยินว่า เป็นสภาพของจิตชนิดหนึ่ง แต่เรารู้จักจิตที่เห็น หรือสภาพเห็น กับรู้จักได้ยินซึ่งกำลังได้ยินในขณะนี้ หรือว่าเพียงพูดเรื่องจักขุวิญญาณบ้าง หรือว่าโสตวิญญาณบ้าง หรือว่าจิตประเภทต่างๆ บ้าง

    นี่แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าจะมีธรรม แล้วก็ธรรมก็กำลังปรากฏ การศึกษาเรื่องปริยัติธรรมนั้น เป็นแต่เพียงแนวทางที่จะให้รู้จักธรรมตัวจริง ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ แล้วก็กำลังดับไปในขณะนี้ด้วย กำลังเห็นเกิดดับ กำลังได้ยินก็เกิดดับ คิดนึกก็เกิดดับทุกสิ่งก็เกิดดับ ผู้ที่ศึกษาแล้ว มีใครบอกว่าไม่จริงบ้าง คงไม่มี แต่ว่าไม่ประจักษ์ ไม่รู้จัก ตัวจริงของธรรมซึ่งกำลังเกิดดับ

    เราเองเมื่อศึกษาธรรมก็จะต้องทราบว่า มีปัญญาหลายขั้น ปัญญาขั้นฟังดับกิเลสไม่ได้ ไม่มีทางเลย จะเรียนจบ ๙ ปริจเฉท หรือว่าจบคัมภีร์พระอภิธรรม ทั้งหมด ๗ คัมภีร์ ไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว ชาติก่อนๆ ก็อาจจะเรียนจบมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาษาบาลี หรือว่าพระอภิธรรมปิฎกก็ตาม ก็ลืม พอเกิดมาอีก ก็ไม่รู้จักธรรมอีก ทั้งๆ ที่มีธรรมปรากฏอยู่ตลอดเวลา

    นี่แสดงให้เห็นว่าการฟังธรรม ต้องเป็นผู้ที่พิจารณาจริงๆ แล้วขณะที่พิจารณาแล้วเข้าใจ จะรู้ได้ว่าปัญญาของตนเองเป็นระดับไหน ไม่จำเป็นต้องมีคนอื่นมาบอก หรือว่าไม่จำเป็นต้องมีคนอื่นมาสอบ แต่ว่าตัวเองจะต้องเริ่มรู้ว่า ปัญญามีหลายระดับ แล้วปัญญาขั้นฟังเป็นแต่เพียงปัญญาที่รู้เรื่องเท่านั้น

    ต้องทราบจุดประสงค์ของการศึกษาพระอภิธรรม หรือการศึกษาธรรมทั้งหมดว่า เพื่ออะไร มิฉะนั้นแล้วการเรียนของเราจะได้ประโยชน์น้อยมาก แล้วก็จะล่องลอย คือไม่มีจุดยืน ไม่มีจุดหมาย ไม่มีปลายทางว่า เราเรียนทำไม เราเรียนเพื่ออะไร บางคนก็เรียนแบบภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ แบบศาสตร์ชนิดหนึ่ง จิตประกอบด้วยเจตสิกเท่าไร มีรูปกี่ประเภท มีอะไรต่างๆ เหมือนกับประเทศไทยอยู่ที่ไหน ประเทศอื่นอยู่ที่ไหน มีภูมิประเทศ มีน้ำ มีภูเขาอย่างไร เรียนแบบนั้นจริงๆ คือ ไม่ได้เข้าใจ จริงๆ ว่า แท้ที่จริงแล้วกำลังเรียนเพื่อที่จะเข้าใจตัวเอง เข้าใจสภาพธรรมซึ่งไม่เคยรู้จัก แล้วก็เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน

    จะเห็นได้ ว่าแต่ละคนก็ต้องรู้จุดประสงค์ว่า เรียนเพื่อรู้จักธรรมซึ่งกำลังปรากฏในขณะนี้ ตามความเป็นจริง ถ้าเรียนอย่างนี้จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น เพราะเหตุว่า ธรรมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ในขณะนี้ไม่มีใครบอกว่าจะใช้สติ หรือว่าจะทำสติ หรือจะอะไรได้ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมกำลังปรากฏ ถ้าไม่มีความรู้ความเข้าใจว่านี่เป็นธรรม นี่คือตัวธรรม ก็ไม่มีการที่จะระลึกลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วความรู้จากการฟังพระอภิธรรมทั้งหมดจะได้ประโยชน์อะไร เรียนจบแล้วก็จริง กี่ปริจเฉทก็ตาม แต่ไม่สามารถที่จะเข้าถึงลักษณะซึ่ง เป็นธาตุรู้ หรือเป็นนามธรรมที่กำลังเห็น ที่กำลังคิดนึกเหล่านี้

    การเรียนทั้งหมดก็เปล่าประโยชน์ เพราะเหตุว่าแม้สภาพธรรมไม่ใช่ตัวตนกำลังเกิดดับ ก็เพียงแต่ไปเรียนเรื่อง แต่ว่าไม่รู้จักตัวธรรมจริงๆ เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจว่าการสะสมการเรียนธรรมในชาตินี้ หรือว่าอาจจะสืบต่อมาจากชาติก่อนๆ ก็ได้ ก็เพื่อเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้

    ผู้ฟัง ลักษณะของโลภมูลจิต ซึ่งเป็นประเภททิฏฐิคตสัมปยุตต์ ซึ่งเกิดในชีวิตประจำวันเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เห็นไม่ยากเลย ถ้าใครก็ตามที่กำลังทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด ซึ่งไม่ประกอบด้วยเหตุผลตามความเป็นจริง ต้องเกิดจากความไม่รู้สภาพธรรม แล้วมีความเห็นผิด ถ้ามีคนบอกว่า ถ้าใช้เงินสัก ๒ แสน แล้วจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เห็นถูกหรือเห็นผิด เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์หรือเปล่า อะไรก็ตามซึ่งไม่ตรงตามเหตุตามผลทั้งหมด เหมือนกับท่านผู้หนึ่งท่านกล่าวว่า ทานไอศครีม ๓ ถ้วยแล้วจะได้บรรลุมรรคผลนิพพาน อย่างนี้ก็เป็นความเห็นผิดแล้ว เพราะว่าไม่ประกอบด้วยเหตุผล

    การที่จะรู้จักโลภมูลจิต เป็นเรื่องที่จะต้องมีปัญญาพอสมควร เพราะเหตุว่าโลภะเกิดอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ลืมตาจนกระทั่งหลับตา พอตื่นขึ้นมาทุกคน ถ้าไม่มีกุศลจิตเกิด ขณะนั้นต้องเป็นอกุศลจิตประเภทหนึ่งประเภทใด แล้วถ้าไม่ใช่ความขุ่นใจ ขณะนั้นก็ต้องเป็นโลภะ แต่ก็ยังไม่มีความเห็นใดๆ เกิดร่วมด้วย ต่อเมื่อใดมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ขณะนั้นให้ทราบว่าต่างกับโลภะที่ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย เพราะว่ามีความเห็นผิดอย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้น หรือเห็นว่าการที่จะเอาดอกประดู่มาทัดหู วันนั้นก็คงจะโชคดี นี่ก็เป็นอะไรก็ไม่ทราบ ซึ่งในพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องของเหตุ และผล คือ กรรมซึ่งเป็นเหตุ และวิบากซึ่งเป็นผล แล้วแต่กรรม

    ทุกคนเกิดมาก็คงจะทราบว่า แต่ละคนมีกรรมเป็นของๆ ตน แลกกันไม่ได้ จะเอากรรมของเราไปให้คนอื่น หรือจะขอยืมกรรมคนอื่นมาให้เราก็ไม่ได้ แต่ถ้าเชื่อว่า ถ้าเราไปกราบไปไหว้คนนั้นคนนี้ แล้วเราจะได้รับผลของกรรมดีๆ แล้วกรรมของเราอยู่ที่ไหน เขาจะเอากรรมอะไรมาให้เราที่จะให้วิบากที่ดีเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น นี่ก็เป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ก็มองเห็นไม่ยาก เวลาที่มีความเชื่อต่างๆ เกิดขึ้น ที่ผิดจากความเป็นจริง

    ผู้ฟัง ขอบคุณ ต่อไปปัญหาตามว่า เคยฟังว่า สติมีแต่สัมมาสติเท่านั้น แต่พอได้ฟังเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ กล่าวถึงสติว่ามีทั้ง ๒ คือ มิจฉาสติกับสัมมาสติ จริงๆ แล้ว มีทั้ง ๒ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ โดยองค์ธรรม มิจฉาสติไม่มีเลย แต่ในพระสูตรทรงแสดงทั้งมิจฉามรรค และสัมมามรรค เพื่อเทียบให้เห็นว่า สัมมามรรคมีองค์เท่าไร มิจฉามรรคก็มีองค์เท่านั้น อย่างสัมมามรรคเริ่มด้วยสัมมาทิฏฐิ มิจฉามรรคก็เป็นมิจฉาทิฏฐิ สัมมามรรคเป็นสัมมาสังกัปปะ มิจฉามรรคก็เป็นมิจฉาสังกัปปะ ตลอดไปหมด แสดงให้เห็นว่า หนทางผิด คนที่ปฏฺิบัติอยู่เข้าใจว่าถูก เพราะฉะนั้น เขาเรียกชื่อถูก เรียกคำว่ามรรคมีองค์ ๘ ไม่ผิด แต่กำลังปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ที่เป็นสัมมา หรือว่าปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ที่เป็นมิจฉา นี่เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะเหตุว่าถ้าคนปฏิบัติผิด ทำไมปฏิบัติผิด เพราะเข้าใจผิด แล้วมีความติดข้องในข้อปฏิบัตินั้น จึงทำให้สนใจ แล้วก็ปฏิบัติข้อปฏิบัติที่ผิดนั้น ถ้าเป็นผู้ที่รู้ว่าข้อปฏิบัตินั้นผิด ถ้าเป็นปัญญา มีใครไหมที่จะปฏิบัติข้อปฏิบัติที่ผิดนั้น

    จะเห็นได้ว่าการปฏิบัติผิดมี เพราะเหตุว่ามีความเห็นผิด แม้ขณะนั้นเป็นโลภมูลจิตทิฏฐิคตสัมปยุตต์ ก็เข้าใจว่าเป็นสัมมาสติ เพราะเหตุว่าไม่รู้ลักษณะของสัมมาสติ ด้วยเหตุนี้จะต้องทราบว่า สภาพของสิ่งที่มีจริง ที่เป็นปรมัตถธรรมทุกอย่าง ต้องมีลักษณะเฉพาะของตน ถ้าเป็นสัมมาสติ ไม่ใช่มิจฉาสติ แต่ถ้าเป็นมิฉาสติ แล้วขณะนั้นจริงๆ แล้วคือโลภมูลจิตที่เข้าใจว่า ขณะนั้นเป็นสติ แต่ความจริงแล้วเป็นความเห็นผิด แล้วก็เป็นความต้องการด้วย จึงพอใจที่จะปฏิบัติทางที่คิดว่าขณะนั้นเป็นสัมมาสติ

    ผู้ฟัง เนื่องจากว่าปัญหามีมากทีเดียว ก็แสดงว่าผู้ที่สนใจมีมากทีเดียว แต่ละปัญหาท่านอาจารย์อาจจะต้องตอบย่อๆ สั้นๆ สักหน่อย ถ้าเผื่อว่าเจ้าของปัญหา ท่านสนใจยังติดใจอยู่ ก็กรุณาถามต่อได้

    ปัญหาต่อไปคือ การติดยึดตัวตนมานานตั้งแต่เกิด ทำอย่างไรจึงจะคลายตัวตนลงได้ง่ายๆ จะต้องเข้าใจอะไร และทำอย่างไร

    ท่านอาจารย์ อยากละตัวตนเหลือเกิน อยากรู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงหรือเปล่า ถ้าเพียงแต่อยากละตัวตน แต่ไม่อยากรู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ก็ละไม่ได้ เพราะไม่ใช่ตัวเราที่จะละ ตัวตนละไม่ได้ เพราะจริงๆ แล้วไม่มีตัวตน ลองแยกวันนี้ ตั้งแต่เช้ามา มีจิตประเภทไหนบ้าง จิตได้ยินก็มี จิตเห็นก็มี จิตคิดนึกก็มี กุศลจิตมีน้อยกว่าอกุศลจิตมากมายทีเดียว รู้หรือเปล่า เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง แล้วจะละตัวตน ละไม่ได้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567