ปกิณณกธรรม ตอนที่ 356


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๕๖

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๓๘


    ผู้ฟัง ตกลงก็สรุปได้เลยว่า วิชาเรื่อง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สูงที่สุดยิ่งกว่าวิชาใดๆ ในโลกนี้ ขอฝากไว้ว่า ได้มา ณ จุดนี้ มีผู้ตั้งปัญหาว่า ให้คิดว่า วิชาที่มีค่ามากที่สุด คือวิชาที่ทำให้รู้เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ คำนี้จริงหรือไม่จริง ถ้าจริงควรเผยแพร่ ถ้าไม่จริงก็ควรเก็บเลย

    ท่านอาจารย์ อีกอย่างหนึ่งก็คือว่า โลกนี้จะเป็นอย่างไร จะมีไฟไหม้ที่โน่น น้ำท่วมที่นี่ ภูเขาไฟระเบิดที่โน่น ถ้าไม่มีตัวคุณธาริณีที่กำลังรู้กำลังได้ยิน จะสะเทือน จะหวั่นไหว หรือจะเดือดร้อนบ้างไหม ไม่ สิ่งสำคัญอยู่ตรงไหน ถ้าเพียงฟังจะไม่มีประโยชน์เลย คือไม่ทราบว่าคนที่กำลังฟังเข้าใจแค่ไหน หรือกำลังเข้าใจผิด หรือว่ายังควรจะต้องพูดจุดไหนให้เข้าใจขึ้น แต่คำตอบจะทำให้สามารถจะรู้ได้ว่า ควรจะเพิ่มเติมตรงจุดไหน เพราะฉะนั้น ที่พระคุณเจ้ากล่าวว่า การรู้เรื่องตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นวิชาที่สูงสุด เราก็ต้องมีความมั่นใจอีกว่า พระคุณเจ้าพูดแล้วเราต้องมานั่งคิดว่า สูงสุดอย่างไรกับเรา คือถ้าไม่มีตัวของอาจารย์เลย ไม่มีเห็น ไม่มีได้ยิน ไม่มีได้กลิ่น ไม่มีอะไรทั้งหมดเลย จะเดือดร้อนไหม ไฟฟ้าจะดับ โลกจะแตก น้ำจะท่วม ไฟจะไหม้ สำคัญอะไรไหม ไม่สำคัญเลย เพราะฉะนั้น จุดอยู่ที่ตรงนี้ว่า ความสำคัญอยู่ตรงไหน

    ผู้ฟัง สงสัย ถึงแม้ว่าเราจะเข้าใจว่าไม่มีตัวเราอยู่ แต่ว่าถ้าอย่างไฟไหม้ เราก็จะต้องวิ่งหนี ไม่อย่างนั้นมันก็ร้อน

    ท่านอาจารย์ เพราะอย่างนั้น จึงต้องรู้ความจริงที่ตัวที่กำลังเห็นไฟไหม้ ทุกขณะหมดเลย

    ผู้ฟัง รู้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ รู้ว่าไม่มีตัว

    ผู้ฟัง ไม่เข้าใจ อย่างสมมติว่า เรารู้ว่าไม่มีตัว อย่างสมมติว่าเรานั่งอยู่ในกุฎิ กุฏิไฟไหม้ เราจะเข้าใจ เราก็ต้องวิ่งหนีไฟอยู่ดี

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้บอกว่าไม่ให้วิ่งนี่ เข้าใจก็เรื่องเข้าใจ แล้วกำลังวิ่งก็รู้ด้วยว่า ไม่มีตัวที่วิ่ง

    ผู้ฟัง แต่ต้องวิ่ง

    ท่านอาจารย์ แน่นอน พระอรหันต์ท่านต้องกินอาหารไหม

    ผู้ฟัง แต่เราก็ต้องยอมรับส่วนหนึ่งว่า เราก็อยู่ในโลก

    ท่านอาจารย์ โลกอะไร

    ผู้ฟัง ก็มีโลกวัตถุ

    ท่านอาจารย์ ชาวโลกก็เรียกว่าโลกวัตถุ แต่ความจริง โลกคืออะไร

    ผู้ฟัง โลกคือ ๖ ทวาร

    ท่านอาจารย์ เราพูดเรื่องปรมัตถธรรม พูดเรื่องนามธรรมกับรูปธรรม หรือนามธาตุกับรูปธาตุ พูดเรื่องสภาพรู้กับสิ่งซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้น คำตอบไม่ว่าเรายกอะไรขึ้นมา เราสามารถที่จะเอาพื้นฐานความรู้ของเราเข้าใจสิ่งนั้นได้ เพราะว่าต้องตรง เพราะฉะนั้น เพียงแค่นี้ คือ ธรรม แล้วก็นามธาตุกับรูปธาตุ โลกคืออะไร โลกซึ่งเป็นรูปธาตุมีไหม ที่เรากล่าวว่า โลกพระจันทร์ โลกพระอังคาร พระอาทิตย์ จักรวาลต่างๆ หรือแม้แต่โลกที่เป็น ที่ๆ เราอยู่ขณะนี้ ที่เด็กทุกคนก็บอกว่าเขาอยู่ในโลก หรือเขาอยู่บนโลก ก็แล้วแต่ คือก้อนดินนี่แหละ แต่ว่าตามความเป็นจริง แล้วสิ่งนี้คืออะไร ที่เราเรียกว่าโลก หรือบัญญัติเรียกว่าโลก ก็คือรูปธาตุ เพราะฉะนั้น จึงใช้คำว่า โอกาสโลก แปลโดยศัพท์ คุณนิภัทร โอกาสโลก

    ผู้ฟัง โอกาสโลก โลกเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์

    ท่านอาจารย์ หรือแม้ว่าจะไม่มีสัตว์อยู่เลย

    ผู้ฟัง เป็นภูมิ เป็นสถานที่

    ท่านอาจารย์ โลกซึ่งเป็นรูปมีกว้างใหญ่ไพศาลมาก นั่นโลกตามภูมิศาสตร์ แต่ว่าขณะใดก็ตามซึ่งมีนามธาตุเกิดเป็นสัตวโลก เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีนามธาตุ ต่อให้มีแต่เพียงรูปธาตุเท่านั้น จะไม่เดือดร้อนเลย ที่ว่าน้ำจะท่วม ไฟจะไหม้ หรืออะไรๆ ทั้งหมด ไม่เดือดร้อน แต่ที่เดือดร้อน เพราะมีธาตุรู้ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นรู้ อย่าลืม เมื่อเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด อันนี้ไม่ต้องจด พอนึกถึงรูปธาตุทันที สิ่งที่ตรงกันข้าม คือ รู้ รูปธาตุไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เพราะฉะนั้น นามธาตุตรงกันข้าม ต้องเป็นสภาพซึ่งเมื่อเกิดขณะใดต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดขณะนั้น จึงเป็นนามธาตุ ที่ใช้คำว่าจิตก็ได้ เจตสิกก็ได้ แต่ว่าเรายังไม่ไปถึงความละเอียดอย่างนั้น เราเอาเพียงแต่ว่า ธาตุที่ตรงกันข้ามกัน คือ รูปธาตุเกิดขึ้นเหมือนกัน แต่ไม่รู้อะไร นามธาตุที่เกิดก็เกิด แต่ว่าเป็นสภาพรู้

    เวลาที่มีนามธาตุเกิดขึ้นจึงมีสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นเทพ เป็นเดรัจฉาน เป็นปลา เป็นนก เป็นแมว เป็นเทวดา พรหม อะไรก็ตามแต่ ซึ่งมีธาตุรู้ หรือสภาพรู้เกิดขึ้น เป็นสัตวโลก โดยเฉพาะในภูมินี้ นามธาตุทันทีที่เกิดขึ้นต้องอาศัยรูปธาตุ ในภูมิที่มีทั้งนามธาตุ และรูปธาตุ

    จะเห็นได้ว่า ที่เราเรียกว่าเป็นคน ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าที่กระทบสัมผัสแล้วแข็งบ้าง อ่อนบ้าง เย็นบ้าง ร้อนบ้าง ไม่ใช่สภาพรู้เลย เหมือนแข็งเดี๋ยวนี้ เหมือนอ่อนเดี๋ยวนี้ เพราะว่าไม่รู้อะไร นั่นเป็นรูปธาตุ แต่ที่กำลังรู้เป็นนามธาตุ เพราะฉะนั้น สัตวโลกในภูมิที่มีทั้งนามธาตุ และรูปธาตุ จำแนกเป็นขันธ์ ๕ ที่เราได้ยินบ่อยๆ เป็นรูปขันธ์ ๑ นามขันธ์ ๔ ก็มาจากนามธาตุ และรูปธาตุนี้เอง คือแตกย่อยให้เห็นชัดๆ ออกไปอีกว่า เพียงแค่นามธาตุรูปธาตุก็ไม่เข้าใจ ไม่เห็นชัดก็ต้องขยายพระธรรมที่ทรงแสดงออกไปใน ๔๕ พรรษา ก็ไม่พ้นจากเรื่องนามธาตุ รูปธาตุ แต่ว่าละเอียดขึ้นจนกว่าสัตว์โลกสามารถจะฟังมีปัญญา แล้วก็รู้ความจริงได้

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า สัตวโลก ก็คือนามธรรม และรูปธรรมในภูมิที่มีรูปด้วย แต่บางภูมิไม่มีแต่รูป มีแต่เพียงนามธาตุซึ่งเกิดขึ้นเป็นสัตวโลก เพราะเหตุว่าเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ยังขาดอีกโลกหนึ่งคือสังขารโลก ถ้าพูดถึงโลกแล้วจะมี ๓ โลก คือ โอกาสโลก สัตวโลก เมื่อมีรูป มีโอกาสโลกนี่แน่นอนที่สุด แต่ว่าไม่ใช่มีแต่เฉพาะโอกาสโลก ยังมีสัตวโลก หรือสัตว์โลกด้วย เพราะเหตุว่ามีนามธาตุ ซึ่งเป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นก้อนเนื้อที่งอกขึ้นมาในท้อง ไม่ใช่สัตว์ เป็นรูป ต่อเมื่อมีนามธาตุเกิด เมื่อนั้นจึงจะชื่อว่า สัตว์เกิด

    จะเห็นได้ว่า เพราะมีนามธรรม มีนามธาตุจึงมีสัตวโลก หรือสัตว์โลก ส่วนสังขารโลกก็คือว่า ไม่ว่าจะเป็นรูปธาตุ นามธาตุใดๆ ก็ตามเกิดขึ้นแล้วดับไป เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นสังขารโลก

    ผู้ฟัง โลกนี้เป็นรวมหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างที่เกิดดับ ซึ่งก็ได้แก่นามธาตุ และรูปธาตุ ซึ่งเกิดแล้วต้องดับ ไม่มีนามธาตุใดซึ่งเกิดแล้วไม่ดับ ไม่มีรูปธาตุใดซึ่งเกิดแล้วไม่ดับ เพราะฉะนั้น ก็ทั้งหมดที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะนามธาตุหรือรูปธาตุ ก็เป็นสังขารโลก

    ผู้ฟัง นามที่ไม่มีการปรุงแต่ง รวมอยู่ในสังขารโลกหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่รวม เพราะว่าสังขารโลกต้องเกิดขึ้นแล้วดับไป

    ผู้ฟัง สัตวโลก คือ มีทั้งจิต และมีทั้งรูป ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ นามธาตุกับรูปธาตุ ถ้าเป็นแต่เพียงรูปอย่างเดียว คือโอกาสโลก ความหมายของโลก ถ้าอ่านในพระไตรปิฎก มีผู้ไปทูลถาม ภิกษุไปทูลถามว่าโลกคืออะไร พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สิ่งใดที่เกิดขึ้นแล้วดับไป สิ่งนั้นเป็นโลก เพราะฉะนั้น จำกัดความได้เลยว่า โลก คือ สิ่งที่เกิดดับ ตั้งแต่โอกาสโลก สัตวโลก หรือนามธาตุ หรือรูปธาตุที่เกิด ทุกอย่างที่เกิด เพราะฉะนั้น ใช้คำว่านามธาตุที่เกิด ไม่ได้มุ่งถึงนิพพานเลย คำจำกัดความต้องตายตัว นามธาตุที่เกิด ต้องดับ เป็นสังขารโลก

    ผู้ฟัง สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญ กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อญาณทัศนะ สติลาภะ ความได้ญาณทัศนะก็มี สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญ กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะก็มี สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญ กระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะก็มี สมาธิภาวนาที่เจริญกระทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่อความพักผ่อน คือ สำราญในอัตภาพสภาพปัจจุบัน เป็นไฉน แล้วก็สมาธิภาวนาที่เจริญ กระทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่อได้ญาญทัศนะ เป็นไฉน อันนี้อาตมาอยากจะขอยกไป แต่ที่เป็นปัญหาคือ ก็สมาธิภาวนาที่เจริญ กระทำให้มากแล้วเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ เป็นไฉน ท่านก็กล่าวต่อไปว่า ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ เวทนาเกิดขึ้นก็รู้ เวทนาตั้งอยู่ก็รู้ เวทนาดับไปก็รู้ สัญญาเกิดขึ้นก็รู้ สัญญาตั้งอยู่ก็รู้ สัญญาดับไปก็รู้ วิตกเกิดขึ้นก็รู้ วิตกตั้งอยู่ก็รู้ วิตกดับไปก็รู้ นี้สมาธิภาวนาที่เจริญ กระทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ อันนี้ที่ยังไม่เข้าใจตรงจุดนี้

    ท่านอาจารย์ ข้อความตอนนี้เป็น อรรถกถาหรือเป็นพระไตรปิฎก ...

    ผู้ฟัง อันนี้เป็นพระไตรปิฎก ก่อน

    ท่านอาจารย์ ขอดูข้อความในอรรถกถาต่อไป ตอนเดียวกัน

    ผู้ฟัง ถามว่าอย่างไร เวทนาที่รู้แล้วชื่อว่าเกิดขึ้น ที่รู้แล้วชื่อว่าดับไป ตอบว่าภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมกำหนดวัตถุ ย่อมกำหนดอารมณ์ เพราะภิกษุนั้นกำหนดวัตถุ และอารมณ์แล้ว เวทนาที่รู้อย่างนี้ว่า เวทนาเกิดขึ้นอย่างนี้ ตั้งอยู่อย่างนี้ ดับไปอย่างนี้ ชื่อว่าเกิดขึ้น ที่รู้แล้วชื่อว่าตั้งอยู่ ที่รู้แล้วชื่อว่าดับไป แม้ในสัญญา และวิตกก็นัยนี้ เหมือนกัน

    ท่านกล่าวว่าเพียงแค่นี้ อันนี้คือจะถามข้อนี้ก่อนว่า ก็สมาธิภาวนาที่เจริญ กระทำให้มากแล้ว เป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ เป็นไฉน

    ท่านอาจารย์ เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานแล้วจะไม่สงสัยเลย เพราะว่าถ้าปราศจากสติสัมปชัญญะแล้ว เจริญสมถภาวนาหรือวิปัสสนภาวนาไม่ได้

    ผู้ฟัง ไม่ทราบว่าจะเข้าใจถูกหรือเปล่า จุดแรกเริ่มก็คือที่ให้ได้ศึกษาธรรมก็คือ ให้เข้าใจถึงความไม่มีตัวตน แต่ว่ามีแต่รูปกับนามเท่านั้น ไม่เข้าใจอยู่ครั้งหนึ่ง คือว่า เสียง หรือกลิ่น หรือรส นี้ก็เป็นรูปด้วย อันนี้ก็ให้ท่านอาจารย์กรุณาอธิบายอีกสักครั้ง

    ท่านอาจารย์ ถ้าจำไว้ได้ว่า รูปธาตุหรือรูปธรรม สิ่งที่มีจริง แต่ไม่ใช่สภาพที่รู้อะไรเลย ทั้งหมด

    ผู้ฟัง รู้ในที่นี้รู้

    ท่านอาจารย์ เสียง เสียงรู้อะไรหรือเปล่า เสียงเห็นอะไรหรือเปล่า เสียงคิดอะไรหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เป็นรูปธรรม

    ผู้ฟัง แต่มันเข้าใจยาก ท่านอาจารย์ ได้ยินไปเลย

    ท่านอาจารย์ เราเคยคิดว่า รูปต้องเป็นสิ่งที่เรามองเห็น เพราะฉะนั้น เราเปลี่ยนเสียใหม่ หมายความว่าเป็นธาตุนานาชนิด มากมายไปหมดเลย เต็มทั้งโลก จักรวาล คือธาตุแต่ละอย่าง แล้วก็ธาตุใดก็ตามซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่คิดไม่นึก ไม่ปวด ไม่เมื่อย เป็นรูปธาตุทั้งหมด ไม่สามารถจะรู้อะไรได้

    ผู้ฟัง แล้วสิ่งที่รู้อะไรได้ มีกี่อย่าง

    ท่านอาจารย์ เป็นนามธาตุ เพราะฉะนั้น เราอาจจะคิดว่าตัวของเราเกิดมาตั้งนาน แล้วนั่งอยู่ที่นี่ก็ตั้งนาน แล้วเมื่อกี้ก็ลงไปรับประทานอาหาร ตอนนี้ก็ขึ้นมานั่งที่นี่อีก แต่ให้ทราบว่า นี่ไม่ใช่ความรู้เลย ถ้าเป็นความรู้ต้องรู้ว่า แม้ขณะที่กำลังกระทบสิ่งที่แข็ง ขณะนั้นไม่ใช่ว่ามีการรู้แข็งอยู่ก่อน แต่หมายความว่าทันทีที่กระทบแข็ง จึงมีสภาพรู้แข็งเกิด ปัจจัยที่จะให้รู้แข็งก็คือว่า ทันทีที่กระทบสิ่งที่แข็ง มีสภาพรู้แข็งกำลังรู้ลักษณะที่แข็ง ลักษณะที่แข็งเป็นรูปธาตุ เพราะว่าไม่ใช่สภาพรู้ แต่ที่มีการรู้ลักษณะที่แข็งว่า ตรงนี้แข็ง ลักษณะที่แข็งเป็นอย่างนี้ สภาพที่แข็งคืออย่างนี้ ขณะที่รู้อย่างนั้น เป็นนามธาตุ เพราะว่าตัวนิ้วที่แข็งก็ไม่สามารถจะรู้พื้นที่แข็ง แต่ว่าทันทีที่นิ้วที่แข็งกระทบกับพื้นที่แข็ง ที่กายปสาทรูป ต้องมีกายประสาทด้วย อันนี้เป็นปัจจัยที่จะทำให้นามธาตุชนิดหนึ่งเกิดขึ้นรู้แข็ง อย่าลืมไม่ใช่เราอีกต่อไป แต่เป็นนามธาตุชนิดหนึ่งเกิดขึ้นรู้แข็ง ทันทีที่เสียงกระทบหู ก็มีนามธาตุชนิดหนึ่งเกิดขึ้นได้ยิน แล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น แตกย่อยออกไปหมด อย่ารวมไว้ว่า เป็นเรากำลังนั่ง แต่แยกออกไป แต่เป็นสภาพของธาตุแต่ละชนิด ธรรมแต่ละอย่าง ตัดขาดไปเลย เป็นอย่างๆ เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับไป แต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ได้กล่าวว่า แยกออกไป จะแยกอย่างไร

    ท่านอาจารย์ หมายความว่าไม่มีตัวเราซึ่งเป็นกลุ่มก้อนนั่งอยู่ เฉพาะเห็น เกิดแล้วดับ จักขุปสาทรูปก็เกิดแล้วดับด้วย รูปก็เกิดแล้วดับ ช้ากว่าจิตเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง เล็กน้อยมาก คือ ชั่วขณะที่จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะเท่านั้น รูปๆ หนึ่งดับ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ที่เรายึดถือว่าเป็นรูปร่างกายของเราทั้งหมด รูปแต่ละกลุ่ม หรือแต่ละกลาปที่เล็กที่สุดกำลังทยอยกันเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าถ้าเรากระทบที่ศีรษะ แข็ง กระทบที่พิ้นเท้า แข็ง กระทบตรงไหนในร่างกายทั้งหมด แข็ง เป็นรูปธรรมที่ตรงขณะที่ปรากฏเท่านั้น ที่เกิดแล้วดับด้วย เพราะฉะนั้น หาความเป็นเราจริงๆ ไม่ได้ นอกจากความทรงจำไว้ว่า มี ด้วยเหตุนี้ธาตุดินก็ตามซึ่งอ่อนหรือแข็ง ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ซึ่งมีประชุมรวมกันอยู่ที่เป็นกลุ่มเล็กๆ ที่มีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ ไม่ใช่อินทรีย์ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีตา ต่อให้มีมหาภูตรูป คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ก็ไม่สามารถจะเห็นได้ ทั้งก้อน ทั้งแท่งทั้งหมด ถ้าไม่มีหู ได้ยิน จิตได้ยินก็เกิดไม่ได้

    เพราะฉะนั้น แม้แต่ในร่างกายของเราซึ่งประกอบด้วยรูปซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธาน ๔ รูป เป็นใหญ่เป็นประธาน แต่ไม่ได้เป็นอินทรีย์

    นี่แสดงว่าเรากำลังมาถึงสภาพของโอกาสโลก ไม่เกี่ยวกับสัตวโลก แต่ในสัตวโลกจะมีรูปแต่ละรูปซึ่งแสดงให้เห็นว่า เมื่อประชุมรวมกันเมื่อไร ความยึดถือว่าเป็นตัวตน มี แต่มีแล้วก็ตาม แต่ยังรู้ความต่างกันของรูปที่ประชุมรวมกันว่า รูปไหนเป็นปัจจัยให้นามธาตุชนิดไหนเกิด ที่ร่างกายของเราตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า มีกายปสาทรูป แทรกคั่นอย่างละเอียดมากทั้งภายในภายนอก ไม่ว่ากระทบลำไส้ ตับ ไต ไส้ พุง อะไรก็ตามแต่ ก็มีปสาทรูป ซึ่งเป็นปัจจัยให้มีวิญญาณธาตุหรือนามธาตุเกิดขึ้น รู้สิ่งที่กำลังกระทบ พร้อมกันนั้นเมื่อกระทบที่กายแล้วเป็นปัจจัยให้เวทนาหรือความรู้สึกเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ทุกข์กาย ถ้าไม่มีกายแล้ว ทุกขเวทนาทางกายเกิดไม่ได้ สุขเวทนาทางกายก็เกิดไม่ได้

    นี่แสดงให้เห็นว่า สภาพธรรมที่มีอยู่ เมื่อแตกย่อยเป็นแต่ละส่วนโดยละเอียดยิบ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความจริงของสภาพธรรมนั้นแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้น ทางตาก็เป็นโลกๆ หนึ่ง เปลี่ยนโลกนี้ไม่ได้เลย คือ ต้องเป็นสีต่างๆ หรือสิ่งที่ปรากฏ จะใช้คำว่าแสงสว่าง หรืออะไรก็ตามแต่ โลกนี้เป็นอย่างนี้ ซึ่งทันทีที่ตาบอด โลกนี้ไม่ปรากฏอีกเลย เพราะฉะนั้น จักขุนทรีย์ จักขุปสาทเป็นใหญ่ เป็นประธาน เป็นรูปที่ทำให้มีการเห็นในขณะนี้เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่เขาไม่ใช่มหาภูตรูป แต่ว่าโดยลักษณะสภาพแล้ว เขาเป็นอินทรีย์ ซึ่งถ้าไม่มีแล้ว ไม่มีจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท คนเราจะเหมือนกับท่อนไม้ เพราะว่าต้นไม้ก็ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส แต่ความต่างกันมี แม้แต่รูป ก็ยังมีรูปที่เกิดจากกรรม รูปที่เกิดจากจิต รูปที่เกิดจากอุตุ รูปที่เกิดจากอาหาร ยิ่งเรียนก็ยิ่งเข้าใจในสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบทั้งหมดที่เรียนเพื่อให้สามารถจะทำให้ปัญญาเจริญ ถึงขั้นที่เมื่อสติระลึกที่ลักษณะของสภาพปรมัตถธรรมใด ละความเป็นตัวตนได้ แต่ถ้าไม่มีพื้นฐานความเข้าใจอย่างนี้เลย จำเป็นเรื่องเป็นราวไปตลอด ก็ไม่มีทางที่จะเป็นปัญญาที่จะละความเป็นตัวตนได้ แต่ฟังละเอียดขึ้นๆ เพราะว่า ๔๕ พรรษาทรงแสดงสำหรับผู้ที่ไม่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้อย่างรวดเร็ว สังเกตดูเวลาอ่านพระสูตร ท่านเหล่านั้นได้ฟังธรรมแล้วไม่นานก็ได้บรรลุธรรม ไม่ต้องแสดงโดยละเอียดถึง ๔๕ พรรษา ถึงจิตแต่ละชนิด ถึงรูปแต่ละประเภท ท่านก็สามารถที่จะเห็นแจ้งประจักษ์ในความเกิดขึ้น และดับไป เมื่อละคลายการยึดถือว่าเป็นตัวตน

    เราจะถามว่ารู้แค่นี้แล้วทำไมไม่ประจักษ์การเกิดดับ ยังไม่ละคลาย เพราะว่าปัญญายังไม่เจริญ ไม่ได้รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ เพียงขั้นฟังก็ยังงงๆ ว่า เป็นไปได้อย่างไร ในเมื่อสิ่งที่ปรากฏเคยจำไว้ว่า เป็นคนนั้น คนนี้ กำลังมองเห็นคน กำลังพูดกับคน แต่ว่าตามความจริงแล้วเป็นสิ่งที่ปรากฏ เป็นโลกใบนี้ที่เห็น โลกใบนี้ที่คิดนึก แต่ละโลกคือแต่ละคน ไม่ก้าวก่ายกันเลย แล้วในโลกใบนี้ที่เต็มไปด้วยความคิดนึก คิดนึกทุกเรื่อง เรื่องวิชาการที่เรียนมาตั้งแต่เด็ก เรื่องวิชาการขณะนี้ที่เพิ่งฟังมาใหม่จากวิทยุบ้าง จากโทรทัศน์บ้าง จากข่าวสาร ต่างๆ บ้าง นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เป็นโลกของความคิดนึกสืบต่อมาจากเห็นบ้าง ได้ยินบ้างพวกนี้

    ผู้ฟัง ขอความกรุณาอธิบายสภาพธรรมทั้งหมด เกิดขึ้นด้วยเหตุ และปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิต ความจงใจจะมีได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็มีไม่ได้

    ท่านอาจารย์ นี่คือปัจจัย

    ผู้ฟัง แล้วเหตุ

    ท่านอาจารย์ เหมือนกัน เหตุบางทีใช้ในความหมายของปัจจัยก็ได้

    ผู้ฟัง เหตุ และปัจจัยนี้อันเดียวกัน

    ท่านอาจารย์ อันเดียวกันก็ได้ เจาะจงเน้นลงไปอีกก็ได้ ให้แคบกว่านั้นอีกก็ได้ ขณะนี้ก็มีผู้ที่ศึกษาธรรม แต่ไม่รู้แจ้งธรรม แล้วในครั้งกระโน้น ก็มีผู้ที่รู้แจ้งธรรม และพูดถึงเรื่องการปฏิบัติ หรือปริยัติ แสดงให้เห็นว่า จุดประสงค์เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า การที่จะศึกษาธรรมโดยไม่รู้แจ้งธรรมนั้นมีประโยชน์ ไหม หรือว่าประโยชน์จริงๆ อยู่ที่การรู้แจ้งสภาพธรรม จึงได้ทรงแสดงความต่างของบุคคล ๔ บุคคล เพราะบุคคลหนึ่งรู้ปริยัติ แต่ว่าไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรม อีกบุคคลหนึ่งรู้แจ้งอริยสัจธรรม แต่ว่าไม่รู้เรื่องของปริยัติ จริงๆ แล้วไม่ใช่ว่าจะไม่รู้เลย แต่หมายความว่าจุดมุ่งที่นี่ คนที่จะไม่รู้เรื่องปริยัติ แล้วจะไปรู้แจ้งอริยสัจ เป็นไปไม่ได้ แต่ว่ารู้มากรู้น้อยแค่ไหน เพราะเหตุว่าบางทีเราไปติดคำว่าปริยัติต้องรู้มากเหลือเกิน แต่ที่จริงแล้วที่เปรียบเทียบอย่างนี้ หมายความว่าต้องมีปริยัติ แต่ว่าที่กล่าวอย่างนี้ละไว้ในที่เข้าใจว่า อย่างมากมาย หรือว่าอย่างตำรับตำราโดยละเอียด อย่างเช่นคำว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา สั้นแค่นี้เอง เป็นปริยัติไหม สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ไหม เพราะว่าผู้ที่ได้ยินคำว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แล้วเขาก็ไปเรียนตั้ง ๙ ปริจเฉท แล้วก็เรียนอภิธรรมอีก ๗ คัมภีร์ กับผู้ที่เพียงฟัง แล้วเข้าใจเลยว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่เว้นเลยในขณะนี้ คือรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่เป็นปรมัตถธรรม ไม่ต้องมีคำอธิบายแตกออกไปอีกมากมาย แต่ว่าผู้นั้นสามารถที่จะเข้าถึงความหมายของตัวธรรมที่กำลังเป็นธรรมในขณะนั้นได้

    นี่ก็แสดงให้เห็นเพียงความต่างกันของผู้ที่ศึกษามาก แต่ไม่เข้าใจธรรม ไม่รู้จักธรรม กับผู้ที่ได้ยินเพียงสั้นๆ แต่สามารถที่จะเข้าใจจริงๆ แล้วก็ประจักษ์แจ้งแทงตลอดในอริยสัจธรรมได้ เพราะฉะนั้น ก็เลยเป็น ๔ บุคคล ซึ่งสำหรับผู้ที่ทั้งมีการศึกษามากด้วย แล้วก็รู้แจ้งอริยสัจธรรมด้วย ก็เป็นบุคคลหนึ่ง ที่มีการศึกษาต้องหมายความถึงปริยัติที่นี่ หมายความว่าโดยละเอียด โดยถี่ถ้วยด้วย

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าใครจะเป็นคนมารู้ว่า ที่เป็นกุศลวิบากขณะนี้เป็นผลของกุศลชาติไหน และกุศลประเภทไหนที่ทำไว้ จึงทรงแสดงไว้ว่า กรรมเป็นสภาพที่ปกปิด แต่ทรงแสดงว่าเหตุดี ผลต้องดี เพราะฉะนั้น กุศลกรรมเป็นปัจจัยให้เกิดกุศลวิบากจิต เป็นจิตประเภทหนึ่งซึ่งเป็นผลของกรรมเกิดขึ้น เมื่อไร ขณะปฏิสนธิ ทำให้ปฏิสนธิเกิด

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    23 มี.ค. 2567