ปกิณณกธรรม ตอนที่ 306


    ตอนที่ ๓๐๖

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒ ๕๔๓


    ท่านอาจารย์ แต่ถ้าจะพูดคำให้ถูกต้อง ตามภาษาบาลีกับทั่วโลก ที่ใช้ภาษาบาลีในพระพุทธศาสนา ก็ต้องออกเสียงให้ถูกต้อง แต่เราก็พูดแบบเราคือ นอกจากจิตแล้ว ยังมีสภาพธรรมที่เกิดร่วมกันคือเจตสิกอีก ๕๒ ชนิด เพราะฉะนั้น ในชีวิตประจำวันของเรา ที่รู้สึกปวด มีจริงไหม

    ผู้ฟัง มีจริง

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นธรรม

    ท่านอาจารย์ เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม

    ผู้ฟัง ปวด เป็นนามธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะรูปปวดไม่ได้เลย รูปไม่สามารถจะรู้สึกอะไรได้เลย เพราะฉะนั้น ในขณะที่จะเกิดปวด ต้องมีกายปสาทที่กาย สามารถจะกระทบกับสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่แข็ง หรือเย็น หรือร้อนเกินไป ที่จะทำให้ความรู้สึกเป็นทุกข์ทางกายเกิดขึ้น ชั่วหนึ่งขณะที่จิตเกิดขึ้นต่างกับจิตเห็น ต่างกับจิตคิดนึก

    เพราะฉะนั้น จิตก็มีต่างๆ กันไปตามประเภท คือ เจตสิกที่เกิดร่วมด้วย หรือตามกิจการงานหน้าที่ของจิตนั้นๆ จึงเป็นเรื่องที่ว่า ต้องเข้าใจว่า ตั้งแต่เกิดจนตาย คือธรรมทั้งหมด คือ นามธรรม และรูปธรรม โดยเฉพาะสำหรับสิ่งที่มีชีวิต คือมีทั้งจิต เจตสิก ซึ่งเป็นนามธรรม และมีรูปซึ่งเป็นรูปธรรมด้วย

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์กล่าวถึงนามอีกประเภทหนึ่ง คือ เจตสิก บางทีเราก็มีความรู้สึกว่า เจ้าเจตสิกนี้แหละ คือ ตัวอาการของจิต อันนี้เราจะพูดได้ไหมว่า เจ้าเจตสิกนี้คือ การบ่งบอกว่า จิตจะเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ คืออากาารจิต จะใช้คำพูดอย่างว่านี้ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ความคิดของเรา เราจะคิดอย่างไรก็ได้ แต่คิดไปคิดมาอาจจะจน หรือว่าอาจจะมีคำอธิบายซึ่งสั้น ยังไม่กระชับ ยังไม่ชัดเจน แต่ถ้าศึกษาแล้วพยายามเข้าใจสิ่งซึ่งทรงแสดงไว้โดยละเอียดขึ้น เช่น เจตสิกเป็นสภาพธรรม ซึ่งเป็นนามธรรม ไม่เกิดกับรูปเลย ต้องเกิดกับจิตเท่านั้น แล้วถ้าจะเข้าใจความหมายที่ว่า ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นได้ ต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง จะไม่มีสภาพธรรมใดสภาพธรรมหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นตามลำพังเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมก็ตาม ต้องอาศัยกัน และกันเกิดขึ้นพร้อมกันก็ได้ หรือพร้อมกันก็มี หรือว่าเกิดทีหลังก็ได้ อันนี้ก็เป็นเรื่องละเอียด แต่ให้ทราบความละเอียดของแม้นามธรรม ซึ่งไม่มีใครมองเห็นเลย เป็นธาตุรู้ หรือสภาพรู้ล้วนๆ ไม่มีรูปร่างลักษณะ ไม่มีสีสันวัณณะ ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส เจือปนในนามธรรมนั้นเลย แต่นามธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ก็ทรงแสดงว่า มี ไม่ใช่แต่เฉพาะจิต ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏให้รู้ แต่ยังมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ชนิด และก็ทรงแสดงถึงประเภทของจิตนานาชนิด ซึ่งประกอบด้วยเจตสิกต่างๆ

    นี่แสดงให้เห็นถึงการตรัสรู้ความจริงของแม้นามธรรมซึ่งเกิดดับเร็วที่สุด จนเกินกว่าที่ใครจะประมาณได้ แล้วก็ประกอบด้วย เจตสิกอะไรบ้าง แล้วก็ทำกิจอะไรบ้าง แต่ละเจตสิกนั้น การปรุงแต่งของเจตสิกก็ยังประสมประสานตามลำดับ แม้แต่ปัญญาก็มีหลายระดับ ขั้นกำลังฟัง เริ่มที่จะเข้าใจ ก็เป็นจุดเริ่มต้นของปัญญาที่จะเติบโตขึ้นจนเป็นปัญญาระดับต่างๆ

    ปัญญาระดับของพระอรหันต์ทั้งหลาย ไม่ใช่ปัญญาระดับของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือว่าปัญญาของพระอนาคามีบุคคล ก็ไม่ใช่ปัญญาระดับพระอรหันต์ ปัญญาพระสกทาคามีบุคคล ก็ไม่ใช่ระดับปัญญาพระอนาคามีบุคคล ปัญญาพระโสดาบันก็ไม่ใช่ปัญญาระดับของพระสกทาคามีบุคคล ปัญญาของปุถุขน ซึ่งไม่เคยฟังธรรมเลย ก็ต่างกับปัญญาของคนซึ่งเป็นปุถุชน แต่เป็นกัลยาณปุถุชน คือมีการได้ยินได้ฟังธรรม

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจความละเอียด โดยที่ว่า เราก็จะไม่คิดเอาเอง หรือว่าจะไปใช้คำจำกัดความเอาเอง แต่ว่ายิ่งฟังพระธรรม ไตร่ตรอง ก็จะใช้คำตามที่ทรงแสดงไว้ ให้เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง เรื่องความโกรธ ผมเองก็ระงับความโกรธไม่ได้ คืออยากจะกำหนดจิตว่า ไม่โกรธ ก็กำหนดไม่ได้ ถามว่านามเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ที่เราไม่สามารถจะกำหนดได้ ที่เรียกว่า อภิธรรม หรืออะไรต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น ขณะนี้เรากำลังเรียนอยู่ หรือ

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจความหมายของธรรมจริงๆ ว่า ธรรม คือ ธาตุ ธา-ตุ ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ บังคับบัญชาไม่ได้ แล้วแต่ละสภาพธรรมก็จะเกิดขึ้นเฉพาะเมื่อมีเหตุปัจจัยเฉพาะของสภาพธรรมนั้นๆ ถ้าเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ก็เป็นปัจจัยที่จะให้เกิด ความขุ่นเคือง มากหรือน้อยก็แล้วแต่ ถ้าเห็นสิ่งที่พอใจ ก็ทำให้จิตเกิดพร้อมกับเจตสิก ซึ่งทำให้ติดข้อง เพลิดเพลิน ยินดี ในสิ่งที่น่าพอใจนั้น ก็เป็นชีวิตประจำวันที่ต้องรู้ว่า ไม่ได้มีจิตใดซึ่งคงอยู่ดำรงอยู่ อย่างจิตเห็นในขณะนี้ ไม่มีใครรู้ว่า จิตเห็นดับ แต่ว่ามีจิตได้ยินซึ่งไม่ใช่จิตเห็น เกิดสลับ เพราะฉะนั้น ก็ต้องหมายความว่า จิตเห็นต้องดับก่อน จิตอื่นจึงจะเกิดขึ้นได้ แต่ที่พูดอย่างนี้ ก็ยังรู้สึกว่า ใกล้ชิดมาก คือ เหมือนกับว่าหลังจากเห็นแล้วก็เป็นได้ยิน แต่จากการตรัสรู้ทรงแสดงไว้โดยละเอียดว่า ก่อนที่จิตเห็น เมื่อดับไปแล้วจิตได้ยินจะเกิด จะต้องมีจิตอื่นเกิดมากมายสักเท่าไร

    นี่ก็เป็นเรื่องที่ยิ่งศึกษา ยิ่งเห็นความเป็นอนัตตาว่า ไม่ใช่ว่าเราสามารถที่จะไม่มีโทสะ หรือว่าเราสามารถที่จะเป็นคนดี โดยที่ว่าไม่มีความรู้ความเข้าใจ หรือมีความเห็นถูก ในลักษณะของธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวเรา เริ่มจากเดี๋ยวนี้ เข้าใจว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา

    ผู้ฟัง ผมจะถามต่อไปว่า จิตเกิดได้ทีละ ๑ ดวง ส่วนเจตสิกอย่างน้อยก็ ๗ ดวง ใช่ไหม ขั้นต่ำ ส่วนมากก็มากว่านี้ ทีนี้ เจตสิกสามารถเกิดกับจิตได้ทีละหลายๆ ดวง แต่ทำไม จิตเกิดได้ทีละดวง

    ท่านอาจารย์ สภาพธรรมเป็นอย่างไร ทรงตรัสรู้ ทรงแสดงตามความเป็นจริงของสภาพธรรมนั้น แต่ไม่ใช่เรื่องเราจะไปคิดอย่างอื่น ทำไมไม่เป็นอย่างนี้ หรือทำไมไม่เป็นอย่างนั้น แต่ก็ต้องทราบตามความเป็นจริงว่า การที่จิตจะเกิดขึ้นได้ต้องมีปัจจัย และปัจจัยคือเจตสิก ซึ่งจะต้องกระทำหน้าที่ของเจตสิกนั้นๆ ในขณะที่เกิดกับจิต อย่างเช่นในขณะที่เห็น เราไม่เคยรู้เลยว่า มีสัญญาเจตสิกเกิดกับจิตที่เห็น สัญญาเจตสิกคือสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่จิต เป็นเจตสิกซึ่งมีหน้าที่จำ

    เพราะฉะนั้น ค่อยๆ เข้าใจความจริงไปทีละเล็กละน้อย จนกว่าเราสามารถที่จะรู้ลักษณะซึ่งไม่ใช่ตัวตนจริงๆ

    สติปัฏฐานคืออะไร ขณะที่ฟังมีสติหรือเปล่า สติเกิดหรือเปล่าขณะที่ฟัง

    ผู้ฟัง สำหรับผม ขณะนี้เวทนามันเกิด เพราะว่า ผมตึงตรงนั้น เมื่อยตรงนี้ ก็ระลึกว่า ขณะนี้เกิดแล้ว เวทนาเกิดแล้ว เกิดที่กาย แล้วในที่สุดก็เมื่อย ขบ หรือว่าปวด เดินไม่ถนัดอะไรอย่างนี้ก็เกิดขึ้น แต่ยังนับเป็นเรา เราปวด เราเมื่อยอยู่ เมื่อไรที่จะเป็นจิตรู้ หรือว่าเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่ธรรมแต่ละอย่าง เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยของมัน อันนี้ยังไม่เป็นไปอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ ก่อนที่จะเจริญสติปัฏฐาน หรือสติปัฏฐานจะเกิด จะเจริญ ต้องมีความเข้าใจ เพราะมรรคมีองค์ ๘ เริ่มจากสัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ในขณะนี้ เริ่มจากขณะนี้ เดี๋ยวนี้ ทุกอย่างคือขณะที่ผ่านไปแล้วก็หมดไปแล้ว ขณะที่ยังไม่มาถึงก็ยังไม่มาถึง ความเข้าใจก็ต้องมีเป็นลำดับ เช่นในขณะที่กำลังนั่งอยู่เดี๋ยวนี้ มีสติเจตสิกเกิดหรือเปล่า ถ้าไม่รู้อย่างนี้ก็เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ เพราะว่าไม่รู้ลักษณะของสติ

    ในขณะนี้กำลังฟังอย่างนี้ ถ้าคนที่ไม่ได้ศึกษาจะตอบไม่ได้เลย เพราะไม่รู้ว่าสติคืออะไร แต่เราก็ได้พูดถึงเรื่องนามธรรม ๒ อย่าง คือ จิตกับเจตสิก สติเป็นจิตหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ผมต้องกราบขอบคุณอาจารย์ที่กรุณาให้ความรู้ ให้คำแนะนำผม การที่เราศึกษาธรรม ถือปัจจุบัน เอาปัจจุบันเป็นหลัก คืออดีตหรืออนาคต เราก็ยังไม่ต้องไปพูดถึง อะไรเกิดขึ้นขณะนี้ก็ให้พิจารณา ขณะที่เกิดขึ้น อันนี้ที่อาจารย์ให้แนวทาง ซึ่งผมก็ได้ฟังจากอาจารย์บ่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ยังไม่มีคำตอบ

    ผู้ฟัง ฟังต่อไป ผู้พัน ให้ฟังธรรมต่อไป

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าจริงๆ ธรรมเป็นเรื่องละเอียด ต้องเข้าใจคำว่า ละเอียด แม้แต่ขณะที่ฟัง ถ้าไม่เคยศึกษามาก่อน จะไม่ทราบเลยว่า ขณะนี้เป็นกุศลจิต ขณะที่สติเกิด ต้องเป็นกุศลจิต หรือขณะใดที่เป็นกุศล ขณะนั้นต้องมีกุศลเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะเราได้กล่าวถึงจิตหลายๆ อย่าง หลายๆ ประเภทว่าอย่างน้อยที่สุด จิตที่มีเจตสิกเกิดอย่างน้อยที่สุด มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภทเท่านั้น แต่ถ้ามากกว่านั้น เช่น เวลาที่อกุศลจิตเกิด มากกว่า ๗ หรือเวลาที่กุศลจิตเกิด ยิ่งมากกว่าเวลาที่อกุศลจิตเกิด เพราะปกติจิตย่อมเป็นอกุศล แต่กว่าจะเป็นกุศลได้แต่ละครั้ง แต่ละขณะ ก็ต้องอาศัยเจตสิกซึ่งเป็นโสภณเจตสิก เจตสิกฝ่ายดีเกิดทำกิจการงานร่วมกัน พร้อมกันในจิต ๑ ขณะ ไม่น้อยกว่า ๑๙ ประเภท

    เราก็จะได้ทราบ โดยที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลย ไม่ว่าจะกุศลในขณะที่เป็นไปในการให้สิ่งที่เป็นประโยชน์กับบุคคลอื่น หรือในขณะที่เว้นทุจริตต่างๆ ขณะนั้น ก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๑๙ ประเภท ซึ่งต้องมีสติเจตสิกเกิดด้วยทุกครั้ง

    ถ้าไม่มีความเข้าใจว่าสติคืออะไร ต่างกับเจตสิกอื่นอย่างไร โสภณเจตสิกมี ๑๙ ชนิด เช่น อโลภะ อโทสะ อโมหะ หรือว่า ศรัทธา ก็เป็นโสภณเจตสิก สติก็เป็นโสภณเจตสิก

    เพราะฉะนั้น ที่เราเคยเข้าใจว่า ถ้าเราเดินไม่หกล้ม ทำอะไรไม่เสียหาย ก็หมายความว่า มีสติ นั้นไม่ถูกต้อง เพราะสติจะต้องเป็นโสภณเจตสิก โสภณธรรมซึ่งเกิดกับจิตที่เป็นฝ่ายดีเท่านั้น ในขณะที่กุศลจิต กำลังตั้งใจฟัง สนใจฟัง เข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง ขณะนั้นสติเกิดแล้ว เกิดกับกุศลจิตนั้น แต่ไม่ใช่ระดับที่สามารถจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตรงตามที่ได้ยินได้ฟัง

    ถ้าความรู้ขั้นต้นยังไม่พอ ไม่มีทางที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามที่กำลังพูดถึง เช่น กายก็ดี หรือ เวทนา ความรู้สึกก็ดี หรือจิต หรือเจตสิกอื่นๆ ต้องมีความรู้ความเข้าใจจากการฟังเพียงพอที่จะรู้ว่า เป็นธรรมทั้งหมด แต่ละธรรมก็มีลักษณะเฉพาะของธรรมนั้นๆ

    ขณะนี้เป็นสติระดับฟัง ขั้นฟังกำลังค่อยๆ เข้าใจสิ่งซึ่งมีอยู่ในขณะนี้ ให้ถูกต้องว่า เป็นธรรม ในเรื่องราวของสภาพธรรมนั้นๆ แต่ตัวจริงของธรรม กำลังเกิดดับ สติซึ่งไม่มีใครรู้ ก็เกิดดับไปแล้วทุกขณะที่เป็นกุศลจิต โดยไม่รู้

    นี่ก็คือ นามธรรม และรูปธรรม ซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับไป แต่ว่าถ้าเป็นสติปัฏฐาน อย่างที่กล่าวถึงคือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือว่าเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุสปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน จะเป็นโดยชื่อ ซึ่งเพียงได้ยิน แล้วก็ไม่รู้ว่าอะไร แต่ว่าอยากจะทำ แล้วก็เลือกที่จะทำ

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่การอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ปัญญาต้องเจริญตามลำดับขั้น ไม่ใช่ว่าจะกระโดดจากขั้นนี้ไปสู่อีกขั้นหนึ่งได้ ทุกอย่างต้องค่อยๆ เจริญ ค่อยๆ เติบโตขึ้น ขณะที่กำลังฟังเข้าใจ นี่เป็นปัญญาระดับ ที่จะก้าวไปสู่ หรือว่านำไปสู่การเจริญ ขึ้นของปัญญาขั้นต่อๆ ไป แต่ข้ามขั้นไม่ได้ คือ ถ้าในขณะนี้ไม่ฟัง จนกระทั่งเข้าใจจริงๆ แล้วจะไปทำวิปัสสนา หรือคิดว่าจะไปสามารถรู้ลักษณะของสภาพธรรม เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจตามลำดับขั้นที่ถามว่า ขณะนี้สติเกิดหรือเปล่า ก็ต้องตอบได้ เพราะว่าฟังแล้ว ใช่ไหม แต่ถ้าก่อนฟัง อาจจะตอบไม่ได้ นี่คือประโยชน์ของการฟังว่า ฟังแล้วพิจารณา ให้เข้าใจสภาพธรรมก่อน แล้วก็ปัญญาที่เกิดจากการฟัง ไม่ใช่ว่าอยู่ในอำนาจบังคับบัญชาว่า อยากให้มีมากๆ วันนี้ให้รู้มากมาย จนกระทั่งสามารถที่จะประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรม แต่ต้องเป็นเรื่องที่บุคคลนั้นเป็นผู้ที่ตรง ถ้าไม่รู้ก็คือไม่รู้ ถ้าเข้าใจเพียงเท่านี้ก็คือเท่านี้ ถ้าได้ฟังอีกเข้าใจขึ้นอีก เท่าไรก็คือเท่านั้น เพราะฉะนั้น การเป็นผู้ตรง ก็จะไม่ทำให้เราหลอกตัวเอง เพราะขณะใดที่หลอกตัวเอง ไม่ใช่ความจริง แล้วขณะนั้นก็เป็นเรื่องของโลภะ ซึ่งเป็นเรื่องของความติดข้องต้องการ ซึ่งเป็นสิ่งซึ่งจะต้องละ

    ในพระพุทธศาสนา แสดงหนทางที่จะรู้แจ้งสภาพธรรม จนกระทั่งประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมได้โดยการละ ถ้ายังติดข้องอยู่ ในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งนั้นได้

    ผู้ฟัง จากการฟังธรรมทราบว่า สัตว์ บุคคล เป็นความเห็นผิด ที่เรามองเห็นสัตว์ บุคคล ทำไมการเจริญเมตตาที่เรามีสัตว์ บุคคล เป็นอารมณ์ ไม่เห็นผิดอย่างไร ถ้าในลักษณะที่คำอธิบายที่ว่า ถ้าเรามองเห็นเป็นสัตว์บุคคลเมื่อไร เป็นความเห็นผิด

    ท่านอาจารย์ ต้องแยกกันเรื่องของเจตสิกที่มี ๕๒ ชนิด สัญญาเจตสิกเป็นสภาพที่จำ ไม่ใช่ความเห็นผิด แล้วสำหรับเจตสิกที่เป็นทิจฉาทิฏฐิ หรือทิฏฐิเจตสิก ก็เป็นขณะที่เห็นผิด เป็นสภาพที่เห็นผิดจากความเป็นจริง

    เพราะฉะนั้น จึงได้แสดงวิปลาส ไม่ใช่เฉพาะแต่ทิฏฐิอย่างเดียว ขณะใดก็ตามซึ่งเห็น หรือว่าได้ยิน สัญญาเจตสิกจะเกิดกับจิตทุกขณะ สัญญาเจตสิกเกิดกับอกุศลจิตก็ได้ กุศลจิตก็ได้ วิบากจิตก็ได้ กิริยาจิตก็ได้ แต่สำหรับทิฏฐิเจตสิก ต้องเกิดในขณะที่เป็นอกุศลเท่านั้น

    ถ้าศึกษาเข้าใจจริงๆ ก็จะทราบความหลากหลายของสัญญา ซึ่งเวลาที่เกิดกับอกุศล ไม่มีทิฏฐิ ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย ก็มี ไม่ใช่ว่าทุกครั้งที่อกุศลจิตเกิด จะต้องมีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วย แต่มีสัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง

    ผู้ฟัง จากการฟังธรรมแล้ว เกิดความเข้าใจว่า การศึกษา การเรียนทางโลก เรียนหนังสือ เป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ต้องเป็นความละเอียด เพราะว่าจิตเกิดดับเร็วมาก เวลาที่เราพูดถึงเรื่องราว แล้วจะให้วินิจฉัย ความจริงจิตเกิดดับสลับกัน ทั้งจิตที่เป็นผลของกรรม จิตที่เป็นกุศล อกุศล จิตที่เป็นกิริยา เพราะฉะนั้น การศึกษาโดยละเอียด จะทำให้เราไม่คิดถึงเหตุการณ์ แต่พยายามที่จะเข้าใจสภาพของจิตแต่ละประเภทให้ถูกต้องขึ้น มิฉะนั้นก็สับสน

    ผู้ฟัง สมัยพระโพธิสัตว์ที่ในชาดก ๕๕๐ ชาติ ท่านก็เรียนศิลปะทั่วไป ไม่ต้องห่วง

    ท่านอาจารย์ แต่ต้องตรง ขณะที่เรียน ต้องตอบได้ว่า วิชาการทางโลกในขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล ต้องเป็นผู้ตรง จิตเกิดดับเร็วมาก ถ้ามีการศึกษาเรื่องจิตโดยละเอียด ก็จะเห็นการเกิดดับสลับกันที่มีทั้งกุศล และอกุศลด้วย

    ผู้ฟัง คำว่า ขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ หมายถึงปัจจุบันธรรม ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ปัจจุบันธรรมก็เป็นคำที่แสดงว่า ต้องในขณะเดี๋ยวนี้ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ถึงใช้คำว่าปัจจุบัน

    ผู้ฟัง ทีนี้คำว่าจิตเราแปลก ชอบไปคิดถึงอดีต และอนาคต คำนี้เน้นลงไปที่ปัจจุบันธรรม ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ปัจจุบัน คือขณะนั้นไม่ใช่จิตที่เห็น แต่เป็นจิตที่คิดเรื่องในอดีต

    ผู้ฟัง สิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ต้องใช้คำปัจจุบัน เพราะมันบ่งชัดอยู่ เฉพาะเห็น เห็นแต่สี ได้ยินแต่เสียง ได้กลิ่น สักแต่ว่า ไปถึงตรงนี้ มันยังไกลที่ว่าจะไปถึงสักแต่ว่า เพราะว่ากิเลสมีทุกกองเลย เรายังไม่รู้เลยว่า กิเลสอยู่ตรงไหน เราจะไปลด ละ กิเลส กว่าจะมาถึงตรงคำว่า สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน สักแต่ว่าได้กลิ่น อะไรอย่างนี้อาจารย์ช่วยอธิบาย

    ท่านอาจารย์ บางคนก็คิดว่า พอบอกว่าขณะนี้ มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งทุกคนก็รับว่าจริง ต้องมีแน่นอน เพราะว่ากำลังเห็น ก็ยังคงมีผู้ที่ต้องการมากกว่านี้อีก คือ จะรู้ได้อย่างไร จะประจักษ์ได้อย่างไร ในสภาพธรรมที่ไม่ใช่ตัวตน เกิดแล้วก็ดับ นั่นไกลมากเลยจากขณะนี้ไปสู่ขณะนั้น ซึ่งการอบรมเจริญปัญญา ต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไปจริงๆ ไม่ใช่ว่าจากผู้ที่อบรมมาแสนกัป ที่จะรู้ว่า ที่ฟังก็สามารถที่จะประจักษ์ความจริงของสภาพธรรมได้ อย่างท่านพระสารีบุตร ท่านฟังท่านพระอัสสชิสั้นๆ แล้วเราฟังตั้งยาวหลายชั่วโมงแล้ว แล้วก็ต่อไปอีก แล้วก็ทางวิทยุ บวกไปบวกมาก็ฟังตั้งมากมาย แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ

    ความเป็นผู้ตรง คือ ขณะนี้ได้ฟังว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จริงไหม เท่านี้ก่อน แล้วที่เห็นว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด คนหนึ่งคนใดเพราะคิดถึงรูปร่างสัณฐาน ซึ่งต้องเกิดหลังจากเห็น เหมือนกับทางหู ต้องมีการได้ยินเสียง แล้วก็มีการนึกคิดด้วยความทรงจำในความหมายของเสียงสูงๆ ต่ำๆ แต่ก็ดูเหมือนว่าเ ราได้ยินเป็นคำ เป็นเรื่องทันที นี่คือความรวดเร็ว

    ความรวดเร็ว ที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม ที่รวดเร็ว เหมือนเดิม ไม่มีใครไปทำให้จิตช้าลงได้ แต่ว่าเป็นการที่ฟังแล้วก็อบรม แล้วก็ค่อยๆ รู้ จนกว่าจะค่อยๆ ละความไม่รู้ หรือว่าความสงสัยในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม และวันหนึ่งก็จะถึงเวลาที่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้ แต่ต้องเป็นวันหนึ่ง ไม่ใช่ว่าวันนี้ที่กำลังฟัง แล้วทำอย่างไรที่ไม่ให้เห็นว่าเป็นคนนั้นคนนี้ ซึ่งความจริงไม่ใช่ไม่ให้เห็น จิตเห็นไม่รู้ว่าเป็นใครอยู่แล้ว ไม่ใช่มีใครต้องไปทำจิต เห็นให้ไปรู้ได้ จิตเห็นไม่สามารถที่จะรู้ว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นอะไร เพราะจิตเห็นเป็นชั่วขณะสั้นๆ ซึ่งเกิดเห็นแล้วดับ จิตเห็นไม่มีหน้าที่ที่จะพิจารณาที่จะรู้ที่จะจำในความเป็นสัตว์ ความเป็นบุคคลได้ ต้องจิตหลังๆ ซึ่งเกิดต่อ

    ไม่ใช่ว่ามีใครไปเปลี่ยนสภาพธรรมได้ แม้ว่าสภาพธรรมจะเกิดดับเร็ว แต่ว่าปัญญาก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อยจนกระทั่งสามารถที่จะรู้ความจริง ของสภาพธรรมได้ แต่ถ้าเป็นไปด้วยความต้องการ มีประโยชน์อะไรที่จะเพียงเห็นแล้วไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ดีจริงหรือเปล่า เกิดมาเห็น แล้วไม่รู้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร จะรับประทานอาหาร จะมีชีวิตปกติประจำวันได้ไหม เพียงแค่เห็น แล้วไม่รู้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร เพราะฉะนั้น เห็นที่นี่ไม่ใช่เห็นที่ด้วยการพยายามไปทำให้เห็นอย่างนั้น แต่เห็นด้วยปัญญา แม้ว่าสภาพธรรมที่กำลังปรากฏมีจริงๆ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ เป็นสิ่งที่ปรากฏ เมื่อกระทบจักขุปสาท แล้วก็ปรากฏ เป็นสีสันวัณณะต่างๆ ความรู้ก็คือรู้ว่า ขณะนั้นเป็นจริงอย่างนั้น แล้วขณะที่รู้ว่า เป็นคน เป็นสัตว์ ถ้าไม่คิด ก็ไม่มี อย่างในห้องนี้ ถ้าจะถามว่า มีอะไรบ้าง แต่ละคนก็ตอบตามที่คิด แต่ไม่ครบ จะคิดได้ละเอียดหมดไหม ถึงจุดเล็กจุดน้อยตรงประตูบ้าง ตรงไหนบ้างมากมาย แต่ว่าเมื่อมีการนึกถึงรูปร่างสัณฐานใด ก็เหมือนเห็นสิ่งนั้น แต่ความจริงเห็นก็

    คือเห็น แล้วแต่ว่าจะมีการตรึกนึกคิดถึงรูปร่างสัณฐานสิ่งใด ก็จะมีการทรงจำว่าเป็นสิ่งนั้น แต่ไม่ใช่ว่าให้เห็น

    โดยที่ว่าไม่ให้รู้ว่าเป็นอะไร ถ้าให้เห็นแล้ว ไม่รู้ว่าเป็นอะไร จะมีชีวิตอยู่ไม่ได้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    19 ธ.ค. 2567