ปกิณณกธรรม ตอนที่ 360
ตอนที่ ๓๖๐
สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่
พ.ศ. ๒๕๓๙
ท่านอาจารย์ ทางจมูกก็แสวงหากลิ่น ทางลิ้นก็แสวงหารส ทางกายก็แสวงหาสิ่งที่กระทบสัมผัส ทางใจก็คิดนึกเรื่องราว เช่น เราดูโทรทัศน์ มีแต่สีขาวๆ ดำๆ แต่ทำไมเราตื่นเต้น เราหัวเราะ เดี๋ยวเราก็พลอยโกรธคนนั้น เกลียดคนนี้ในโทรทัศน์
นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เพราะใจเราชอบติดข้องในเรื่องราวต่างๆ เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ จำเป็นที่จะต้องรู้ว่า สุขทุกข์ของเราเกิดจากทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่พ้นจาก ๖ ทางนี้เลย แต่ว่าจะสุข จะทุกข์เท่าไรก็ต้องตาย หรือว่าตายก็ยังช้าไป สมมติว่าเรารับประทานอาหารเมื่อเช้านี้ อร่อยเพียงขณะที่ลิ้มรส เดี๋ยวนี้รสอร่อยอยู่ที่ไหน เราเปลี่ยนความต้องการความพอใจของเราไปสู่อย่างอื่นเรื่อยๆ ซึ่งไม่มีวันจบ แม้แต่ตายแล้ว ความพอใจของเราเก็บสะสมอยู่ในจิต จนกระทั่งทำให้ขณะจิตต่อไป ซึ่งเกิดหลังตาย คือ ปฏิสนธิ เพราะเหตุว่าผู้ใดที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ผู้นั้นยังต้องเกิดอยู่ ก็จะต้องมีการเห็น ได้ยิน อย่างนี้ไปเรื่อยๆ
อริยมรรคมีองค์ ๘ หรือหนทางซึ่งประกอบด้วยสภาพธรรม ๘ อย่าง เป็นหนทางที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าดำเนินไป เพื่อการรู้แจ้งสภาพธรรมที่จะดับความต้องการ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ ซึ่งก่อนฟังทุกคนไม่เคยคิดเลยว่าอะไรแน่ ที่เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ เราบอกว่า คนนั้นทำให้เราไม่พอใจ เขาว่าเรา แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเราไม่ได้ติดในคำที่คนอื่นว่า ไม่เดือดร้อน เขาจะว่าสักเท่าไร ไม่กระทบ กระเทือนจิตใจของเราได้เลย เพราะฉะนั้น ที่จริงแล้วเพราะกิเลสของเรา ทำให้เราเป็นทุกข์ คนที่มีกิเลสน้อยลง ทุกข์ก็น้อยลง แต่กิเลสที่สำคัญที่สุดซึ่งคนมองไม่เห็น แล้วก็ละยากที่สุดก็คือ ความติดข้อง ความต้องการทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ด้วยความสำคัญผิดที่ยึดถือว่า ยังมีเรา หรือยังมีตัวตน เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ความจริง ทำให้เป็นพระอริยบุคคลดับกิเลสเป็นขั้นๆ
นี่คือความหมายของหนทางที่เป็นมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ คือ หนทางที่พระพุทธเจ้าทรงดำเนินเพื่อตรัสรู้ความจริง เพื่อดับกิเลส แล้วถ้าเรายังไม่รู้สภาพธรรมในขณะนี้ว่า กิเลสอยู่ตรงไหน ก็อย่าเพิ่งไปถึงตรงนั้น ต้องเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้จริงๆ เสียก่อน เพราะโดยมากที่สอนกัน อริยมรรคมีองค์ ๘ ปฏิจจสมุปบาท อายตนะ ขันธ์ ธาตุ เรื่องใหญ่ เรื่องยาว เรื่องยาก โดยที่ว่าไม่รู้ว่าความจริงแล้วก็คือขณะนี้เอง
ถ้ามีปัญญา แม้ขณะนี้เอง มรรคมีองค์ ๘ ก็เกิด ถ้ามีปัญญา แต่ถ้าไม่มีปัญญา อยู่ในหนังสือบ้าง หรือว่าคิดเอาเองบ้าง หรือว่าไม่เข้าใจว่า มรรคมีองค์ ๘ จริงๆ แล้วคืออะไร
ต้องเป็นความรู้ ความเข้าใจตามลำดับขั้น คือ รู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้ตามความเป็นจริง
คุณธาริณี ที่ใช้คำว่าพระพุทธศาสนา ศาสนา คือ คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถูกต้องไหม แล้วก็ศาสนาคือคำสอน สอนเรื่องอะไร
ผู้ฟัง สอนเรื่องเกี่ยวกับตัวเอง
ท่านอาจารย์ นั่นสิ เป็นอย่างไร ตัวเอง
ผู้ฟัง ความรู้สึก ความจำ
ท่านอาจารย์ เป็นอะไร ความรู้สึกกับความจำเป็นอะไร
ผู้ฟัง เป็นนามธรรม
ท่านอาจารย์ เป็นธรรม เพราะฉะนั้น จะใช้คำว่าแสดงธรรมก็ได้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรม ที่เราใช้คำว่า พระพุทธศาสนา เมื่อแสดงธรรม ธรรมทั้งหมดที่ทรงแสดงก็คือคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้ามีความเข้าใจแล้ว จะใช้คำว่า ทรงแสดงธรรมก็ได้ หรือว่าพระธรรมทั้งหมด ที่ได้ทรงแสดงแล้วเป็นพุทธศาสนา เป็นคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ฟัง เท่าที่ผมฟังธรรมแล้ว ผมยอมรับว่า ยังไม่เข้าใจในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน คือ การเจริญสติปัฏฐาน บอกให้มีสติ พอถามว่าเรามีสติก็บอกว่า ไม่ใช่ เพราะไม่ใช่ตัวตน ทีนี้อะไรคือสติ ที่ผมยังข้องใจ ที่อยากจะกราบเรียนถามท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ ทำไมคุณศีลกันต์ ต้องการมีสติ หรือเจริญสติ
ผู้ฟัง ที่ต้องการมีสติก็เพื่อที่จะได้ปฏิบัติธรรมตามที่ผมได้ฟังเทปจากท่านอาจารย์ ก็บอกว่า เจริญสติปัฏฐาน ๔ หมายความว่าให้มีสติ เพราะว่าเมื่อมีสติแล้วต่อไปก็จะเกิดปัญญา อันนี้คือเป็นขั้น เป็นตอน
ท่านอาจารย์ ทีนี้เพียงฟังขั้นต้น เขาบอกให้เรามีสติ แล้วต่อไปจะเกิดปัญญา เราอย่าเพิ่งไปทำตามเขาบอก เพราะว่าเรายังไม่รู้อะไร นี่คือสิ่งสำคัญ ตอนต้นของเทปที่บรรยายธรรม เพราะว่าสมัยโน้นคนพยายามที่จะไปทำสติ หรือเจริญสติ เพราะฉะนั้น จึงเป็นการที่จะอธิบายให้เขาเข้าใจว่า ไม่ใช่เรื่องทำ หรือไม่ใช่เรื่องเจริญ เพราะเหตุว่าสภาพธรรมมีแล้ว เกิดแล้ว ปรากฏแล้ว ไม่มีใครทำ แต่ว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจสภาพธรรมที่มีให้ถูก แม้แต่สติที่จะเกิดภายหลัง ก็เพราะเหตุว่ามีความเข้าใจแล้ว แต่ถ้ายังไม่เข้าใจก็เกิดไม่ได้
ถ้ายังไม่เข้าใจ ลืม ยังไม่ต้องไปเจริญสติทั้งหมด แต่ว่าให้ทราบเรื่องของธรรมเสียก่อน อย่าเพิ่งเจริญสติ ดีไหม เพราะว่าส่วนใหญ่บางคนพอได้ยินเรื่องปฏิบัติ ก็เลยคิดถึงเรื่องสติ แล้วก็อยากจะปฏิบัติทันที หรือทำทันที แต่ว่าก่อนอื่นสำคัญที่สุด คือ ต้องมีความเข้าใจเกิดขึ้นตามลำดับ
คุณวีระ สัจจะกับธรรม คุณวีระเข้าใจว่าอย่างไร
ผู้ฟัง สัจจะคือความจริง เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้เลย ความจริงนั้น หมายความถึงว่าความจริงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่แม่น้ำแม่กกนี่ หรือว่าจะเป็นที่กรุงเทพ หรือว่าจะเป็นที่โลกพระจันทร์ หรือว่าจะเป็นที่ไหนก็แล้วแต่ เป็นที่ที่เราอาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นเลยในชีวิต
ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นต้องยกตัวอย่างว่า อะไรนะที่แม่กก หรือที่กรุงเทพ หรือที่โลกพระจันทร์ ที่มันจริงจนกระทั่งเปลี่ยนปลงไม่ได้ มันคืออะไร
ผู้ฟัง เช่น อาการที่เห็น และสิ่งที่ถูกเห็น อย่างนี้เป็นต้น หรือว่าเสียงที่เกิดขึ้นที่นี่ การได้ยินเสียง อย่างนี้เป็นต้น หรือว่ารสที่อร่อยที่แม่กก หรือว่าจะเป็นรสที่แฟนผมทำให้ทาน
ท่านอาจารย์ หมายความว่า เค็มที่จานเมื่อกี้นี้ หรือที่กรุงเทพ หรือว่าอาจจะมีคนเอารสเค็มนี้ขึ้นไปที่พระจันทร์ เค็มก็ยังคงเป็นเค็ม ซึ่งใครจะเปลี่ยนเค็มนั้นไม่ได้ แล้วเค็มนี้เป็นธรรม หรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็นธรรม
ท่านอาจารย์ เพราะอะไร
ผู้ฟัง เพราะว่าเป็น สัจจะ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
ท่านอาจารย์ เรามีคำว่า สัจจะ กับ ธรรม ๒ อย่าง ธรรม หมายความถึงสิ่งที่มีจริง สัจจะคือความจริงแท้ของธรรมนั้น ซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ อย่างเห็นกับได้ยิน ได้ยินเกิดขึ้นต้องได้ยินเสียง ได้กลิ่นไม่ได้ ลิ้มรสไม่ได้ ได้ยินต้องได้ยินเสียงเท่านั้น นี่คือธรรมที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นสัจธรรม ถ้ามีคนอื่นเขาบอกว่าไม่ใช่สัจธรรม คุณ วีระจะบอกว่าอย่างไร
ผู้ฟัง ผมก็ให้เขาลองเกลือ เกลือนี้เค็ม แล้วเกลือนี้ หูรู้เค็มหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ หูรู้เค็มได้ไหม
ผู้ฟัง หูไม่รู้เค็ม
ท่านอาจารย์ นี่คือความหมายของสัจธรรม คนตาบอดลิ้มรส เค็มไหม
ผู้ฟัง เค็ม
ท่านอาจารย์ คนตาดีลิ้มรส
ผู้ฟัง เค็ม
ท่านอาจารย์ คนตาดีกับคนตาบอดก็รู้รสเค็มเหมือนกัน แต่อะไรต่างกัน ตาบอดมองไม่เห็น คือ ถ้าคิดมาก มันก็ไม่ตรงกับความจริง ความจริงแค่ไหนก็คือแค่นั้น เพราะฉะนั้น ใครก็เถียงไม่ได้ในเรื่องของสัจธรรม เปลี่ยนชื่อได้ไหม
ผู้ฟัง เปลี่ยนชื่อได้
ท่านอาจารย์ แต่เปลี่ยนสภาพของธรรมนั้นไม่ได้ จึงเป็นสัจธรรม เพราะฉะนั้น การที่ตรัสรู้สภาพธรรม คือ รู้ความจริงแต่ละลักษณะ แล้วรู้ละเอียดยิ่งกว่านั้น คือ สภาพธรรมใดเกิดขึ้น สภาพธรรมนั้นดับไป ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า รูปทุกกลุ่มที่ละเอียดยิบ กำลังเกิดดับ และนามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ยิ่งเกิดดับเร็วกว่านั้นอีก
นี่คือสัจธรรม คือหมายความว่าชื่อของธรรมอาจจะเปลี่ยนได้ เช่น เราเปลี่ยนคำว่า เค็ม เป็นภาษาจีน ภาษาอังกฤษได้ แต่ลักษณะเค็ม ใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ที่ตัวคุณศีลกันต์มีอะไรเค็มบ้างไหม
ผู้ฟัง เท่าที่สังเกตก็มีเหงื่อ เหงื่อของคนเราเค็ม แต่จากการที่เรามาสัมผัส เช่น เหงื่อออกมากตามหน้า กระทบลิ้น เรา รู้สึกว่ามันเค็ม
ท่านอาจารย์ แปลว่า มีแน่ ที่ตัวทุกคนมีเค็ม จริงๆ แล้ว ถ้าแยกย่อยส่วนที่เราถือว่าเป็นรูปร่างกาย ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า แยกได้ไหม
ผู้ฟัง แยกอย่างไร ผมยังไม่เข้าใจ
ท่านอาจารย์ หมายความว่า เวลานี้มีตัวคุณศีลกันต์ไหม ตั้งแต่ปลายเส้นผมเรื่อยไปจนถึงปลายเท้า จะแยกออกมาเป็นส่วนละเอียดยิบ ได้ไหม ตัดผมได้ไหม
ผู้ฟัง เป็นชิ้นเล็กๆ ได้
ท่านอาจารย์ ตัดเล็บเท้าได้ไหม ตัดหูได้ไหม ตัดจมูก เรียกว่าสามารถที่จะแยกย่อยส่วนต่างๆ ในร่างกายออกได้ละเอียดมากที่สุดเลย เพราะอะไร อย่างผม เวลานี้ก็ติดกัน แต่ถ้าใช้ของมีคมตัดให้ละเอียดสักเท่าไรก็ได้ เพราะอะไร ทำไมแยกได้
ผู้ฟัง ตัดผมแล้วแยกได้
ท่านอาจารย์ หมายความว่าตั้งแต่ปลายผมของคุณวีระ จรดปลายเท้า สามารถที่จะแตกย่อยออกให้ละเอียดยิบได้ไหม
ผู้ฟัง ได้
ท่านอาจารย์ เพราะอะไร ทำไมแยกได้
ผู้ฟัง เพราะว่าตลอด ตั้งแต่ปลายผมถึงเท้า ถึงแม้จะเป็นบัญญัติก็เป็นเรื่องของรูป
ท่านอาจารย์ ทำไมแยกได้ แตกย่อยให้กระจัดกระจายไปให้เป็นชิ้นส่วนที่ละเอียดที่สุด
ผู้ฟัง เพราะว่ามันมีส่วนแยกของมัน อาจารย์เคยกล่าวว่าตัวคุณวีระคือฝุ่น ฝุ่นนี้หมายความถึงว่า คงจะเป็นชิ้นเล็กๆ น้อยๆ มารวมกัน ชิ้นเล็กๆ น้อยๆ มาเกาะกันเป็นกล่ม ชิ้นเล็กๆ น้อยๆ มารวมกันเป็นกองใหญ่ ในส่วนย่อยของระหว่างชิ้นเล็กๆ น้อยๆ นั้น ก็มีรูปชนิดหนึ่งซึ่งเป็นตัวย่อย
ท่านอาจารย์ เราพูดง่ายๆ ธรรมดาว่า มีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่อย่างละเอียดที่สุด เพราะจริงๆ แล้วมันไม่มีคุณวีระเลย มีรูปมี รูปมี ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า แต่ตราบใดที่มันยังรวมอยู่ ยังมีความสำคัญว่าเป็นเรา แต่ว่าจริงๆ แล้วรูปแต่ละรูปเกิดจากสมุฏฐานต่างกัน บางรูปเกิดจากกรรม บางรูปเกิดจากจิต บางรูปเกิดจากอุตุ คือความเย็นร้อน บางรูปเกิดจากอาหาร นี่แสดงให้เห็นว่ารูปที่เกิดจากกรรม แม้ว่ากรรมเป็นปัจจัยให้เกิดก็จริง แต่ว่าถ้าไม่อาศัยรูปอื่น เช่น อาหาร ดำรงอยู่ไม่ได้ นี่แสดงให้เห็นว่าสัตว์โลกทุกชนิดที่เป็นสัตว์ต้องกินอาหาร หรือว่าต้องมีอาหารเป็นเหตุเป็นปัจจัยดำรงอยู่
ถ้าจะแยกรูปที่เกิดจากกรรม จักขุปสาท ตรงกลางตา เป็นรูปๆ หนึ่ง มองไม่เห็นเลย เพราะถ้ามองเห็น คือเห็นเป็นสีต่างๆ ไม่ใช่เห็นรูปนั้น ถ้ากระทบสัมผัสก็คืออ่อนหรือแข็ง ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่เราเรียกว่า สมอง หรือตา หรือหู หรือหัวใจทั้งหมด สิ่งที่จะกระทบสัมผัสกายได้ก็มี แต่ลักษณะที่อ่อนหรือแข็งอย่างหนึ่ง เย็นหรือร้อนอย่างหนึ่ง ตึงหรือไหว อย่างหนึ่ง อย่างเวลาที่หัวใจเต้น เราก็รู้สึกว่าลักษณะนั้นไหว นั่นก็แสดงให้เห็นว่า เป็นรูปที่จะรู้ได้เมื่อกระทบกับกาย
แสดงให้เห็นว่า รูปทั้งหมดที่กายจะต้องมีส่วนที่อ่อน ที่แข็ง ที่เย็น ที่ร้อน ที่ตึง ที่ไหว แต่เป็นรูป ไม่ใช่เรา แต่ส่วนที่เป็นจักขุปสาทกับแข็ง เป็นรูปเดียวกันหรือเปล่า
ผู้ฟัง คนละรูป
ท่านอาจารย์ เพราะว่าแข็งที่ไม่มีจักขุปสาทก็มี แข็งที่โต๊ะมี ที่แขนมี แต่ไม่มีจักขุปสาท เพราะฉะนั้น จักขุปสาทเป็นรูปที่เกิดจากกรรม เล็กนิดเดียว ถ้าไม่มีอาหารที่จะไปสืบต่อให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่ รูปที่เกิดจากกรรมทั้งหมดก็อยู่ไม่ได้ เพราะมันเป็นส่วนเล็กๆ จริงๆ รูปที่เป็นใหญ่ เป็นประธานที่คนไทยเราได้ยินบ่อยๆ คือ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า แต่เกิดจากกรรมก็มี เกิดจากจิตก็มี เกิดจากอุตุก็มี เกิดจากอาหารก็มี แต่รูปที่เกิดจากกรรมซึมซาบอยู่ทั่วตัว เล็กกว่านั้น ซึ่งต้องอาศัยรูปๆ อื่นเกิดขึ้น
นี่ก็ยิ่งเรียนเท่าไรก็เพื่อจุดประสงค์เดียว เพื่อแสดงให้เห็นว่า ธรรมเป็นธรรม กรรมได้แก่เจตนาหรือความจงใจ ตั้งใจ ซึ่งเมื่อได้กระทำกรรมหนึ่งกรรมใด ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรืออกุศลสำเร็จลงไปแล้ว เราไม่รู้เลยว่า กรรมนั้นจะทำให้จักขุปสาทรูปเกิด จะทำให้โสตปสาทรูปเกิด เพราะบางคนทำกรรมที่ทำให้ตาบอด จักขุปสาทรูปไม่เกิด บางคนทำกรรมที่ทำให้หูหนวก คนอื่นเขามีกรรมที่ทำให้โสตปสาทเกิดสามารถรับกระทบเสียงได้ แต่คนนั้นทำกรรมที่ไม่ทำให้โสตปสาทเกิด เพราะฉะนั้น เป็นคนหูหนวก ไม่สามารถได้ยินเสียงได้
นี่แสดงให้เห็นว่า ถ้าแตกย่อยร่างกายของเราออกไปแล้ว จะเห็นว่า ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเราต้องการตามใจชอบ หรือว่าไม่ได้เกิดขึ้นเพราะผู้หนึ่งผู้ใดทำให้ทั้งสิ้น ไม่มีเจ้ากรรมนายเวรที่ไหนมาทำให้ แต่ว่าจะต้องมีปัจจัยคือกรรม ซึ่งเราไม่รู้ เพราะเหตุว่ากรรมเป็นสภาพที่ปกปิด เวลาที่ทำกรรม คนนั้นก็ไม่รู้เลยว่า กรรมนี้จะให้ผลเมื่อไร หรือขณะที่กำลังได้รับผลของกรรม คนนั้นก็ไม่รู้ว่า ผลของกรรมขณะนี้เป็นผลขอกรรมชาติไหน เมื่อไร แต่ให้ทราบว่า เจตนา ความจงใจ มี ๒ อย่าง คือ ที่เป็นกุศลอย่างหนึ่ง เป็นอกุศลอย่างหนึ่ง และถ้ากระทำกรรมนั้นสำเร็จลงไปแล้ว แม้นานเท่าไรก็ตาม ทำให้จิต และรูปเกิดขึ้น ที่เราเรียกว่า บุคคล หรือว่าเป็นสัตว์ประเภทต่างๆ
นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเราจะต้องศึกษาธรรมมาก ให้เข้าใจจริงๆ ว่า ที่บอกว่ามีคุณวีระจริงๆ ถูกไหม
ผู้ฟัง ไม่ถูก
ท่านอาจารย์ เพราะอะไร
ผู้ฟัง เพราะว่าจริงๆ แล้วก็มีแต่รูปกับนาม
ท่านอาจารย์ ทั้งรูปทั้งนาม ทำไมไม่ใช่คุณวีระ
ผู้ฟัง เพราะว่าคุณวีระ คือสมมติขึ้นมาจากรูปกับนามนั่นเอง คุณวีระก็ไม่ใช่ความจริงที่เป็นสัจธรรม มีแต่รูปกับนามเท่านั้นที่เป็นความจริง
ท่านอาจารย์ เพราะถ้าไม่มีนามรูป จะมีคุณวีระไหม
ผู้ฟัง มีไม่ได้
ท่านอาจารย์ ไม่มีรูปนี้เลย ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า จะมีคุณวีระไหม
ผู้ฟัง สมมติขึ้นมาไม่ได้ว่า นี่ คุณวีระ
ท่านอาจารย์ แต่เมื่อมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้ว สมมติเรียกว่า เป็นคนนั้นคนนี้ได้ นี่คือธรรม
อันนี้ยังไม่ต้องไปมรรคมีองค์ ๘ ยังไม่ต้องไปสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าถ้ายังไม่เข้าใจลึกซึ้งจริงๆ สติจะระลึกตามนี้ไม่ได้เลย แม้ว่าสภาพธรรมกำลังปรากฏ แต่ที่จะให้รู้ว่าเป็นรูป ไม่ใช่เรา ก็แสนยาก แต่ต้องรู้จริงๆ ว่า ที่ใช้คำว่า ธรรม คำว่าธรรมก็เหมือนกับคำว่าธาตุ เราทุกคนรู้จักธาตุ ธาตุอ่อน ธาตุแข็ง ธาตุออกซิเจน ไนโตรเจน อะไรก็แล้วแต่ พอพูดถึงคำว่าธาตุ ไม่ใช่ใครเลย เป็นสิ่งที่มี แล้วก็เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิด แต่ว่าธาตุมี ๒ อย่าง คือ รูปธาตุกับนามธาตุ ซึ่งศาสนาอื่นเขาไม่สามารถจะสอนเรื่องของนามธาตุได้เลย ทั้งๆ ที่ทุกคนเวลานี้มีจิต หรือภาษาไทยเราเรียกว่า ใจ แต่มีใครที่จะอธิบายลักษณะของใจออกมาอย่างละเอียดยิบว่า แม้แต่ใจคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร มีหน้าที่อย่างไร แล้วสามารถที่จะรู้แจ้งสภาพของใจซึ่งมองไม่เห็นเลย แต่สามารถที่ปัญญาจะรู้แจ้งได้ว่า เป็นเพียงสภาพของธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นธาตุรู้ อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น แล้วก็ดับอย่างรวดเร็ว จึงเป็นธรรม ไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง เนื่องจากทุกวันนี้ก็มีการพูดถึงเรื่องการไปปฏิบัติธรรมๆ แต่เข้าใจว่าคงจะมีคำจำกัดความที่จะเป็นความหมายที่ถูกต้องว่า ที่ว่าปฏิบัติธรรม แล้วก็คนที่เขาไม่ได้ไป เขาก็อ่านหนังสือ ฟังธรรม กับผู้ที่สละเวลาแล้วไปยังสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่ง จริงๆ แล้วความหมายของคำว่า ปฏิบัติธรรม ที่ถูกในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งจะได้เป็นประโยชน์กับผู้ที่เข้าใจจริงๆ ขอให้ท่านอาจารย์อธิบาย
ท่านอาจารย์ พระพุทธศาสนาไม่ใช่ศาสนาที่งมงาย ไม่ใช่ศาสนาที่สอนให้เชื่อตามๆ กัน เช่น มีใครบอกว่า ไปปฏิบัติธรรมก็ไปเลย นั่นไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแน่นอน เพราะฉะนั้น ผู้ที่นับถือพุทธศาสนาเป็นผู้ที่มีเหตุผล เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่เชื่อคำสอนของผู้ที่เป็นพุทธะ คือ ผู้รู้ ผู้เบิกบาน ผู้ที่ไม่สอนให้เราโง่ ไม่ได้สอนให้เรางมงาย แต่สอนให้เราเกิดปัญญาของเราเอง ความเข้าใจที่ถูกต้อง อย่างในครั้งอดีตมีผู้ที่ไปเฝ้าฟังพระธรรม ฟัง แล้วผลที่จะเกิดจากการฟัง ก็คือความเข้าใจของตัวเองเริ่มเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่พอไปถึงพระพุทธเจ้าก็บอกว่า ให้ปฏิบัติธรรม ไม่มีเลยในพระไตรปิฎก ที่จะบอกว่า พอไปถึงแล้วให้ปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้น คนยุคนี้สมัยนี้ เข้าใจธรรมหรือยัง ถ้าไม่เข้าใจธรรม ปฏิบัติอะไร จะเป็นคนเชื่อง่ายๆ ทำอะไรที่ไม่รู้หรือ
ผู้ฟัง ที่เรากำลังฟังธรรมอยู่ แล้วมาพูดเรื่องเห็นมีจริงไหม เค็มมีจริงไหม แล้วเราก็เปรียบเทียบสภาพธรรมที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ เราฟังพระธรรมแล้วเรากำลังปฏิบัติพระธรรมหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ การปฏิบัติธรรมมีหลายขั้น แต่ปฏิบัติจริงๆ ต้องเป็นการอบรมเจริญปัญญาที่จะเข้าใจถูกต้องในลักษณะของธรรมที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง เรากำลังฟังว่า อย่างเมื่อกี้นี้ที่บอกว่ามีเค็มปรากฏ เพราะเหงื่อออกมาถึงลิ้น ขณะที่ถึงลิ้น ความเค็มก็ปรากฏ แล้วเราลองนึกพิจารณาเปรียบเทียบดู ถ้าหากว่าวันใดวันหนึ่งความเค็ม เรากำลังรับประทานอาหารแล้วความเค็มนั้นปรากฏเกิดขึ้น ในขณะนั้นถ้าเรารู้ตามความเป็นจริงในขณะนั้นว่า เค็มปรากฏ ก็ถือว่าปฏิบัติธรรมหรือไม่
ท่านอาจารย์ ถ้ามีความเข้าใจว่า เค็มเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งปรากฏเมื่อมีสภาพรู้เค็ม เค็มจึงปรากฏได้ ถ้าเกลือวางอยู่ตรงนี้ ใครรู้ว่าเค็มบ้าง
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนี้ก็คงไม่รู้
ท่านอาจารย์ อาจจะจำได้ ใช่ไหม รู้ว่าเค็ม แต่ไม่ใช่ขณะเดียวกับที่กำลังลิ้มรสเค็ม นี่เป็นคนละขณะ เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ความจริงของเค็ม ไม่ใช่ไปนั่งนึกว่า นั่นเป็นเกลือที่เค็ม นั่นเป็นความคิดนึก แต่ว่าจะรู้ว่า เค็มจริงๆ ต่อเมื่อลิ้มรสฉันใด ปัญญาที่จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลจริงๆ เมื่อมีการฟังพระธรรม เข้าใจเรื่องธรรม แตกย่อยละเอียดยิบทั้งนามธรรม และรูปธรรม แล้วเห็นขั้นเข้าใจว่า ไม่ใช่เราจริงๆ ขณะใดที่เค็มปรากฏ ก็มีการระลึกรู้ตรงเค็ม แล้วก็สามารถที่จะอบรมปัญญา ที่จะรู้ความต่างกันของสภาพรู้ ซึ่งกำลังรู้เค็มกับรสเค็ม ซึ่งไม่ใช่สภาพรู้ เมื่อนั้นจะไม่มีเรา มีแต่เพียงจิตขณะหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นลิ้มรสเค็มแล้วก็ดับ และขณะนี้ก็เป็นจิตอีกขณะหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเห็นแล้วก็ดับ แล้วขณะได้ยินก็เป็นจิตอีกขณะหนึ่งซึ่งเกิดได้ยินแล้วก็ดับ ก็จะรู้ได้จริงๆ ว่า ที่หลงว่าเป็นเรา เพราะเหตุว่ามีสภาพธรรมเหล่านี้ต่างหากเกิดขึ้น แล้วไม่รู้ความจริง ก็เลยรวมทุกสิ่งทุกอย่างว่า เป็นเราเห็น เป็นเราได้ยิน เป็นเราสุข เป็นเราทุกข์ เป็นเราคิดนึก แต่ถ้าแยกแตกย่อยออกไปแล้ว จะไม่มีสักขณะเดียวที่เป็นเรา
เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะไปถึงการปฏิบัติธรรม ก็เข้าใจเรื่องธรรมก่อนจริงๆ
คิดว่าคุณประดลเดชบอกว่ามีคำถาม แต่ตอนนี้อาจจะไม่มี ขอดิฉันถามก่อนได้ไหม
ทุกอย่างเป็นธรรม ในพระธรรมตรงตามที่ทรงแสดงว่า สัพเพ ธัมมา พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม ไม่ได้ทรงแสดงเรื่องราวที่เป็นโลกกำลังเกิดสงครามที่โน่นที่นี่ คนนั้นคนนี้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ เมื่อทุกอย่างเป็นธรรมแล้ว ขณะนี้อะไรบ้างที่เป็น ธรรม ทุกอย่างไม่เว้นเลย ที่นี่หรือที่ไหนก็ตามเป็นธรรม คือหมายความว่าเป็นสิ่งที่มีจริง คำว่าธรรม หมายความว่าสิ่งที่มีจริง เสียงมีจริง เสียงต้องเป็นธรรม เพราะมีจริง เราไม่ได้หลอกเรื่องเสียง แต่เสียงกำลังปรากฏ ให้ได้ยิน เสียงเป็นธรรมชนิดหนึ่ง รู้เมื่อไรว่าเสียงมีจริง เมื่อได้ยินเกิดขึ้นเท่านั้น เค็มเป็นสิ่งที่มีจริง เมื่อไร เมื่อกำลังลิ้มรสเค็ม เพราะฉะนั้น เค็มเป็นธรรม เสียงเป็นธรรม ทุกอย่างไม่เว้นเลยเป็นธรรม
นี่เป็นการที่เราจะเริ่มเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมตามความเป็นจริง แล้วทรงแสดงธรรมละเอียดยิบ มากเลย ถึงเหตุที่เกิด ถึงลักษณะที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น ขอตัวอย่างอื่นว่า นอกจากเสียง นอกจากเค็ม อะไรเป็นธรรมอีก
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 301
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 302
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 303
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 304
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 305
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 306
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 307
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 308
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 309
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 310
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 311
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 312
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 313
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 314
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 315
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 316
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 317
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 318
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 319
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 320
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 321
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 322
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 323
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 324
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 325
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 326
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 327
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 328
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 329
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 330
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 331
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 332
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 333
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 334
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 335
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 336 ***
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 337
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 338
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 339
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 340
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 341
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 342
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 343
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 344
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 345
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 346
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 347
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 348
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 349
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 350
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 351
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 352
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 353
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 354
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 355
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 356
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 357
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 358
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 359
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 360