ปกิณณกธรรม ตอนที่ 307


    ตอนที่ ๓๐๗

    สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

    พ.ศ. ๒ ๕๔๓


    ท่านอาจารย์ เมื่อมีการนึกถึงรูปร่างสัณฐานใด ก็เหมือนเห็นสิ่งนั้น แต่ความจริงเห็นก็คือเห็น แล้วแต่ว่าจะมีการตรึกนึกคิดถึงรูปร่างสัณฐานสิ่งใด ก็จะมีการทรงจำว่าเป็นสิ่งนั้น แต่ไม่ใช่ว่าให้เห็นโดยที่ว่าไม่ให้รู้ว่าเป็นอะไร ถ้าให้เห็นแล้ว ไม่รู้ว่าเป็นอะไร จะมีชีวิตอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่ประกอบด้วยปัญญาที่รู้ตามความเป็นจริงว่าขณะที่เห็นไม่สามารถที่จะรู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร ต้องขณะหลังจากเห็น เพราะฉะนั้น แม้ในขณะที่เห็น หรือหลังจากเห็นแล้วรู้ว่า เป็นอะไร ทั้งหมดไม่ใช่เรา เป็นแต่เพียงสภาพธรรม ชั่วขณะหนึ่งขณะหนึ่ง ซึ่งเกิดดับสืบต่อแล้วก็ ทำกิจการงานตามประเภทของจิตนั้นๆ เท่านั้นเอง นี้คือการรู้ความจริง แต่ว่าอย่าไปพยายามที่จะหาวิธีทำ ที่จะให้เห็นแล้วไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร เพราะว่านั่นไม่ใช่ปัญญา

    ผู้ฟัง เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วคิดนึกถึง รูปร่างสัณฐาน รูปร่างสัณฐานอันนี้เป็น รูปร่างสัณฐานของมหาภูตรูป ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ มหาภูตรูป คืออะไร

    ผู้ฟัง มหาภูตรูป คือ ธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะที่เห็น อะไรปรากฏ

    ผู้ฟัง ขณะที่เห็น เห็นเพียง สี ที่ปรากฏทางตา แต่ว่า สีจะอยู่ลอยๆ โดยไม่มีมหาภูตรูปก็ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ แต่ขณะใดที่เห็น ขณะนั้น อะไรปรากฏ

    ผู้ฟัง สี แล้วที่นึกถึงรูปร่างสัณฐาน ก็เป็นรูปร่างสัณฐานของธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะเห็น ธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม ปรากฏหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ปรากฏ ถ้าปรากฏ เอามือไปจับก็แข็ง อ่อน

    ท่านอาจารย์ แล้วเวลาที่เห็นเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ในความทรงจำ สี หรือว่าลักษณะดิน น้ำไ ฟ ลม

    ผู้ฟัง สี

    ท่านอาจารย์ ดิน น้ำไ ฟ ลม ไม่ได้ปรากฏ

    ผู้ฟัง ไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ เวลาที่เห็นแล้วคิดนึก ทรงจำ สีสันวรรณะว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ขณะนั้น อะไรปรากฏ

    ผู้ฟัง สิ่งหนึ่งสิ่งใดปรากฏ เพราะจำไว้

    ท่านอาจารย์ สีสันวรรณะ ปรากฏ

    ผู้ฟัง สีปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ ยังลืมตาอยู่ทุกคน ยังไม่ได้หลับตา แล้วก็รู้สิ่งที่เห็นเป็นอะไร เพราะความทรงจำในรูปร่างสัณฐานของสิ่งที่ปรากฏทางตา ธรรมพิสูจน์ได้ เป็นความจริง แล้วพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ เป็นพยาน คำสอน ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่าเป็นจริงอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง ด้วยการพิจารณา ในขณะที่กำลังลืมตา ความจริงเห็นมี แล้วการที่รู้ว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ได้อาศัยตาเลย เพราะว่าขณะนั้น ตาไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร จักขุวิญญาณ หมายความถึงจิตที่อาศัยทางตาเกิดขึ้นเห็น จะทำหน้าที่เดียวคือ เห็น เพราะฉะนั้น หลังจากจิตนี้ดับไปแล้ว จิตที่เกิดต่อภายหลัง ทรงจำลักษณะสีสัน แล้วก็รู้ว่า เป็นอะไร ไม่ใช่จักขุวิญญาณจิต คนละขณะ

    ผู้ฟัง ธรรมคืออะไร ธรรม คือสิ่งที่กำลังปรากฏชั่วขณะหนึ่ง ธรรมที่กำลังปรากฏชั่วขณะหนึ่ง ท่านอาจารย์มีความหมายลึกซึ้งมากอย่างไร

    ท่านอาจารย์ เมื่อกี้นี้คุณประทีป รับประทานอะไร

    ผู้ฟัง รับประทานอาหารกลางวัน

    ท่านอาจารย์ มีอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง มีข้าวมีกระเพาะปลา

    ท่านอาจารย์ เดี๋ยวนี้ปรากฏ ไหม

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้ถ้านึกคิดก็มีปรากฏ นึกถึงเรื่องนั้นได้

    ท่านอาจารย์ แต่สิ่งนั้นปรากฏจริงๆ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้อะไรปรากฏ

    ผู้ฟัง ขณะนี้ก็มีเห็นบ้างได้ยินบ้าง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ขณะนี้ อะไรเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ขณะนี้ก็มีสิ่งที่กำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ทุกสิ่งที่มีจริง ปรากฏแล้วมีจริงชั่วขณะที่ปรากฏ เสียง ชั่วขณะที่ปรากฏ ไม่มีแล้วก็มี แล้วก็หามีไม่ เร็วมาก ทุกขณะ

    ผู้ฟัง เป็นเรื่องยาวๆ หรือว่าเรื่องสั้นๆ ที่ปรากฏเกิดขึ้นมา

    ท่านอาจารย์ โดยมากทุกคนจะคิดถึงเรื่องยาว แต่ถ้าไม่มีขณะสั้นๆ ยาวๆ จะมีได้ไหม

    ผู้ฟัง ถ้าไม่มีสั้นๆ ยาวๆ ก็มีไม่ได้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็เหมือนกัน ถ้าแยกให้ละเอียดที่สุด คือขณะที่สภาพธรรมใดเกิดปรากฏ ขณะนั้นคือมีจริงในขณะที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง แล้วถ้าฟังธรรม มีความเข้าใจในขณะระดับนี้ ขณะที่มีธรรมปรากฏสั้นๆ แล้วก็เป็นยาว เพียงพอที่จะทำให้สติปัฏฐาน ผมระลึกได้ไหม

    ท่านอาจารย์ ไปคิดถึงสติปัฏฐาน แล้วก็หวังไปอีกไกล ไปอีก แต่ถ้าทุกคน จะกลับมาใกล้ ตัวที่สุด คือฟังแล้วก็ให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง นี่คือหนทางอบรม คือภาวนาแท้ๆ เป็นความเข้าใจ ไม่ใช่เป็นการฟังแล้วหวัง ฟังแล้วหวังจะระลึกลักษณะของกายบ้าง เวทนาบ้าง จิตบ้าง ธรรมบ้าง ฟังแล้วหวังว่าจะให้มีปัญญาระดับนั้น หรือว่าสติเกิดมากๆ แต่ว่าขณะเดี๋ยวนี้ สภาพธรรมกำลังปรากฏ ความเป็นผู้ตรงก็คือว่า แม้การฟัง ก็ฟังพร้อมกับการรู้ว่า ฟังเรื่องของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ยังไม่ต้องข้ามไปถึงตรงไหนเลย เพราะว่าถ้าปัญญาจะรู้ความจริงของสภาพธรรม ก็รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้เดี๋ยวนี้ ไม่ว่าเมื่อไรก็ตามที่ปัญญาจะสมบูรณ์ขึ้น ปัญญาก็รู้ลักษณะความจริงของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อเวลานั้นยังไม่มาถึง แต่เวลานี้เป็นเวลาที่สภาพธรรม มี แล้วเรากำลังฟังเรื่องสภาพธรรม ก็ควรที่จะรู้ว่า ฟังเรื่องสิ่งที่มีจริงๆ กำลังมีจริง กำลังปรากฏในขณะนี้ ให้เข้าใจขึ้น นี้คือการอบรมเจริญปัญญา ไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องสติปัฏฐาน หรืออะไรเลย นั่นคือก้าวไกลเกิน โดยที่ขณะนี้ยังไม่ได้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่ฟังเพียงเรื่อง แต่มีสภาพธรรมปรากฏพิสูจน์ว่า เรากำลังเริ่มค่อยๆ เข้าใจลักษณะของสภาพที่มีจริงๆ หรือยัง เข้าใจ ขณะนั้นไม่ต้องเป็นห่วงเลย สติเกิดแล้ว จึงมีการระลึก จึงมีการศึกษา จึงมีการค่อยๆ เข้าใจ ลักษณะตัวจริงของสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น ผมขออนุญาตถาม ในขณะที่ฟังแล้ว ธรรมคือสิ่งที่มีจริง มีปรากฏอยู่ชั่วขณะหนึ่ง ก็เข้าใจต่อ ท่านอาจารย์ก็บรรยายต่อว่าซึ่งเป็น นามธรรม และรูปธรรม ไม่ใช่สภาพรู้ และสภาพรู้อะไรนั่น พอผมเข้าใจในระดับนี้แล้ว มีเจตนาที่จะเข้าใจพระธรรมนี้มากขึ้น ก็เริ่มศึกษาปรมัตถธรรม มีจิต เจตสิก รูป นิพพาน ก็เริ่มศึกษาว่ามีจิตกี่ดวง มีเจตสิกกี่ดวง มีรูปกี่รูป ที่กำลังปรากฏอยู่ในขณะนี้ การที่ศึกษาธรรมมากๆ ซึ่งมีจิต ๘๙ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ จิตดวงนี้เกิดกับอย่างนี้ เกิดกับวิบาก บ้างกิริยาบ้าง อะไรบ้าง อย่างนี้ การที่ผมศึกษาอย่างนั้นมากๆ เพื่อวัตถุประสงค์อะไร เพื่อที่จะเข้าใจธรรม ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ความรู้นิดเดียวพอไหม

    ผู้ฟัง คงไม่พอ

    ท่านอาจารย์ นี้ก็คือคำตอบ

    ผู้ฟัง ยังสงสัยอยู่ เมื่อเวลาพูดถึงธรรมแล้ว เมื่อเวลาสติเกิดหรือว่าในลักษณะที่ธรรมปรากฏ เขาจะมีแต่ลักษณะที่กำลังปรากฏ แล้วทำไมผมต้องไปเรียนว่า จิตดวงนี้ เรียกว่าโลภมูลจิต

    ท่านอาจารย์ จิตดวงนี้ ดวงไหน

    ผู้ฟัง ที่เรากำลังศึกษาอยู่

    ท่านอาจารย์ นั่นสิ ดวงไหน

    ผู้ฟัง ดวงที่ยังไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ แต่ดวงที่กำลังพูดเดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ ใช่ไหม นี่คือสิ่งที่เราเรียนมาแล้ว ที่จะต้องเข้าใจว่าดวงนี้ จิตนี้ คือจิตอะไร ไม่ใช่ไปคิดถึงดวงอื่นเลย

    ผู้ฟัง ถ้ากำลังศึกษาเรื่องอะไรก็ตาม ต้องคิดว่า จิตในขณะนั้น เดี๋ยวนี้เอง ก็มี หรือ แล้วจะมีครบทั้ง ๘๙ หรือ

    ท่านอาจารย์ ถ้าศึกษาแล้วจะทราบ

    ผู้ฟัง ตอนนี้เหมือนผมศึกษา แล้วผมก็ทราบ แต่ว่ามันแยกไม่ออก ว่าขณะไหนเป็นโลภะ ขณะไหนเป็นโทสะ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ให้ใครไปแยก แต่ให้เข้าใจสิ่งที่มีเดี๋ยวนี้

    ผู้ฟัง ถ้าไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ไม่รู้ก็ต้องศึกษา ถ้าไม่ศึกษาจะรู้ได้อย่างไร

    ผู้ฟัง ผมกำลังจะถอยหลัง มาเริ่มต้น ศึกษาธรรมใหม่ ก็ควรเข้าใจในลักษณะที่กำลังปรากฏ อยู่ในขณะนี้เองเท่านั้น หรือ

    ท่านอาจารย์ รู้ว่า จิต เจตสิก รูป ไม่ได้อยู่ในตำราเป็นเล่มๆ แต่ว่าจริงๆ แล้วทุกขณะ เห็นเป็นจิตชนิดหนึ่ง ได้ยินเป็นจิตชนิดหนึ่ง ศึกษาไปศึกษามาก็รู้ว่ามีจิตกี่ชนิด

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น ขอเข้าใจจุดมุ่งหมายในการที่ศึกษาพระธรรม เพื่อเข้าใจในลักษณะอย่างนี้ แล้วก็มีผู้ฝากถามมาว่า เพื่อประโยชน์ของนักศึกษาใหม่ อยากเรียนถามท่านอาจารย์ว่า เราเกิดเป็นมนุษย์ เกิดมาทำไม แล้วเกิดมาเพื่ออะไร

    ท่านอาจารย์ เกิดมาแล้วทุกคนตอบได้ เกิดมา แล้วจะไม่เป็นไปได้ไหม จิตขณะแรกที่เกิด ต้องมีจิต ๑ ขณะแน่นอน ที่เกิดเป็นครั้งแรก ถ้าไม่มีจิตเกิดขึ้นเป็นขณะแรก ขณะหลังๆ ก็ไม่มี แล้วที่จะรู้ว่า เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะเหตุว่ามีนามธรรม คือจิต และเจตสิกเกิดขึ้น ขณะแรกดับ จิตเป็นธรรมชาติที่มีลักษณะพิเศษ เวลาที่จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้น สามารถที่จะทำให้เป็นปัจจัยให้จิต และเจตสิก ขณะต่อไป เกิดสืบต่อทันทีที่จิตขณะแรกดับ เพราะฉะนั้น เวลาที่เราได้ทราบลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เราก็จะทราบถึงลักษณะ กิจการงานของสภาพธรรมนั้น อาการปรากฏ และเหตุใกล้ให้เกิด รวมทั้งปัจจัยที่จิตนั้น สามารถที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดอะไรๆ อีก พร้อมกันหรือว่าต่อจากนั้นก็ได้ เพราะฉะนั้น เวลาที่จิตหนึ่งขณะเกิด จะมีเพียงจิตหนึ่งขณะก่อน ที่เกิดแล้วก็ดับไป แต่จิตเป็นสภาพที่เป็น อนันตรปัจจัย หมายความว่าทันทีที่จิตขณะนั้นดับ ก็จะเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด โดยที่ใครๆ ก็ไปยับยั้งไม่ได้ นี่เป็นเหตุที่ทันที่ที่ปฏิสนธิจิตดับ จิตอื่นต้องเกิดสืบต่อ ทีละ ๑ ขณะสืบๆ มาจนกระทั่ง ถึงขณะนี้ จิตก็จะเกิดขึ้นเพียงทีละ ๑ ขณะ พร้อมด้วยเจตสิกที่เกิดร่วมกัน แต่ทีละขณะเดี๋ยวแล้วก็ดับ แล้วก็จิตอื่นก็เกิดสืบต่อ

    ผู้ฟัง การศึกษาในลักษณะนี้ ศึกษาเรื่อง ธรรม รู้แล้วจากความเข้าใจขั้นการฟังว่า มีสิ่งที่กำลังปรากฏ จะเป็นประโยชน์อย่างไร สำหรับในชีวิตของผมบ้าง

    ท่านอาจารย์ ความรู้กับความไม่รู้ อะไรเป็นประโยชน์

    ผู้ฟัง ความรู้ย่อมเป็นประโยชน์กว่า แต่ว่าความรู้ในลักษณะอย่างนี้ เหมือนกับไปทำประโยชน์อะไรไม่ได้เลย รู้ว่าผมกำลังเห็น ทุกคนก็เห็นเหมือนกัน ได้ยินก็ได้ยินเหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ แล้วต้องการประโยชน์อะไร ที่ว่าความรู้อย่างนี้ทำประโยชน์ไม่ได้ แต่ความ รู้อย่างอื่นทำประโยชน์ได้ หมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ความรู้อย่างอื่นที่ผมศึกษาเล่าเรียนมา เราสามารถไปประกอบอาชีพการงานได้ อะไรได้ ทำให้เรามีเงินมีทองใช้ มีข้าวของใช้ แต่ว่าการมาศึกษาธรรม มันจะหนีไม่พ้น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มันก็เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งเราเห็น เราได้ยินเป็นประจำอยู่ แล้วจะเป็นประโยชน์มากกว่านี้อย่างไร

    ท่านอาจารย์ คนที่ไม่ศึกษาเลย ไม่มีความรู้อะไรเลย ต้องตายไหม

    ผู้ฟัง ต้องตาย

    ท่านอาจารย์ คนที่มีความรู้มาก ศึกษามาก มีทุกสิ่งทุกอย่าง ตายไหม

    ผู้ฟัง ตาย

    ท่านอาจารย์ คนที่ศึกษาธรรมแล้ว ตายไหม

    ผู้ฟัง ก็ตาย

    ท่านอาจารย์ ตาย เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ความจริงว่าต้องตาย แล้วก็ต้องเกิด ซึ่งคนที่ไม่ศึกษา คิดว่า ตายแล้วไม่ต้องเกิดอีกก็มี บางคนก็เข้าใจว่าอย่างนั้น คือเข้าใจว่าตายแล้วก็สูญไปเลย แต่นั่น เข้าใจผิด เพราะฉะนั้น แม้แต่การที่จะเกิด ก็ยังไม่รู้เลยว่า ต้องเกิด เพราะมีเหตุที่จะทำให้เกิด แล้วเมื่อเกิดแล้ว บางคนตอนเป็นเด็ก ไม่รู้เลยว่าจะต้องตาย แต่เมื่อโตขึ้นก็จะรู้ว่า เมื่อเกิดแล้วที่จะไม่ตายนั้นไม่มี แต่ถ้าคนที่มีปัญญาเพิ่มขึ้น ก็จะรู้ว่า ถึงแม้ว่าตายแล้ว ก็ยังต้องเกิดอีก ไม่รู้จบ ก็เป็นอย่างนี้ แล้วก็เปลี่ยนไป แต่ละภพ แต่ละชาติ เพราะฉะนั้น ถ้ารู้ความจริงว่าเพราะเหตุใด แต่ละคนจึงมีการสะสมอุปนิสัยที่ต่างกัน มีการกระทำที่ต่างกัน เพราะว่าบางคนก็มีความประพฤติที่ดี ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนเลย แต่บางคนก็มีอัธยาศัย อุปนิสัยที่ไม่ดี ที่ทำความเดือดร้อนให้คนอื่น แล้วก็เป็นโทษกับตัวเองด้วย เพราะฉะนั้น ก็มีชีวิตอยู่เหมือนคนตาบอด เดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์ เดี๋ยวก็ได้ลาภ เดี๋ยวก็เสื่อมลาภ โดยไม่มีรู้เหตุว่า มาอย่างไร ไปอย่างไร จึงได้เป็นอย่างนี้ แต่ถ้าสามารถจะรู้ได้ ก็สามารถที่จะพ้นจากความทุกข์ได้ ตามลำดับขั้น เพราะว่า คงจะไม่มีใครที่ต้องการที่จะมีทุกข์ แต่ว่าไม่มีใครที่สามารถที่จะพ้นจากทุกข์ได้ เมื่อมีเหตุของทุกข์ ที่จะต้องเกิดเป็นทุกข์ขึ้น ที่พึ่งจริงๆ เป็นวิชาความรู้ หรือว่าอะไรแน่ สำหรับชาวพุทธเรา

    ผู้ฟัง ที่พึ่งจริงๆ สำหรับชาวพุทธเราคือ ความดี หรือ กุศลจิต

    ท่านอาจารย์ ที่ใช้คำว่าชาวพุทธ หมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง ผู้นั้นจะต้องศึกษาพระธรรม คำสั่งสอน

    ท่านอาจารย์ ถ้าใช้คำว่าชาวพุทธ หมายความว่า ผู้ที่นับถือเคารพในพระศาสดา คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีพระองค์เป็นที่พึ่ง ใช่ไหม มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ เป็นที่พึ่ง ถ้าเราไม่ศึกษาเลย แล้วเราบอกว่าเรามีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง แล้วเราก็บอกว่าเราไปพึ่งวิชาความรู้ ความรู้เป็นรัตนะ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ที่กล่าวว่า เรามีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ไม่ใช่มีความรู้เรื่องวิชาการทั้งหลายเป็นที่พึ่ง แต่ว่าเราไม่ได้ไปนั่งพูดว่า เราพึ่งวิชาการใช่ไหม แต่ พุทธังสรณังคัจฉามิ เราพูด ธัมมังสรณังคัจฉามิ สังฆังสรณังคัจฉามิ เมื่อพูดอย่างไร ก็ควรที่จะเข้าใจให้ตรงตามที่เราพูดด้วยว่าเรามีอะไรเป็นที่พึ่งแน่ เพราะว่า มิฉะนั้น แล้วเราก็อาจจะคิดว่า เรามีวิชา ความรู้ เป็นที่พึ่ง แต่เราไม่เคยกล่าวว่า เรามีวิชาความรู้เป็นที่พึ่ง แต่ชาวพุทธกล่าวว่ามีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง การที่จะพึ่งพระรัตนตรัยหรือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้หมายความว่า เราไปกราบไหว้แล้วขอ แต่พึ่งในพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ และการที่จะพึ่งในพระปัญญาคุณ จะพึ่งเมื่อไร

    ผู้ฟัง การที่จะพึ่งในพระปัญญาคุณ พึ่งเมื่อฟังพระธรรม แล้วเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ไม่ใช่วิชาอื่น ใช่ไหม ที่เป็นที่พึ่ง ถ้าเราค่อยๆ คิด เราก็จะค่อยๆ เข้าใจ แล้วเราก็จะเป็นผู้ตรง ที่เราเคยคิดว่า วิชาความรู้ เป็นที่พึ่ง แต่วิชาความรู้ก็พึ่งได้อย่างไร บางคนเรียนมา ไม่มีงานจะทำ บางคนไม่ต้องเรียนเลย เกิดมาก็สะดวกสบายจนตลอดชีวิต เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว เรามีอะไรเป็นที่พึ่ง ถ้าไม่มีพระธรรมที่แสดงเรื่องเหตุ แม้แต่ของการเกิดในขณะแรก ซึ่งทำให้จิตที่เกิดต่างกันไป ตามประเภทที่เกิดเป็นสัตว์ต่างๆ วิจิตรพิสดารมาก แล้วก็เกิดเป็นมนุษย์ อุปนิสัยต่างๆ บางคนก็พิการตั้งแต่กำเนิด บางคนก็เป็นผู้ที่สมบูรณ์ด้วยทรัพย์สินเงินทอง แต่ว่าไม่มีปัญญา แต่บางคนก็มีปัญญา นี้ก็เป็นเรื่องต้องมีเหตุทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งจริงๆ เราก็รู้ว่าอย่างอื่นไม่ได้เป็นที่พึ่งแน่นอน เพราะว่าวิชาอื่น ไม่ได้ให้ความรู้ ที่จะทำให้เราเข้าใจถูกต้องในสภาพธรรมซึ่งมีอยู่ตั้งแต่เกิดจนตาย

    ผู้ฟัง ถ้าเข้าใจพระธรรมถูกต้อง เราก็จะรู้จักตัวเองได้มากขึ้น

    ท่านอาจารย์ จะเข้าใจธรรม

    ผู้ฟัง จะเข้าใจธรรมได้มากขึ้น บางคราว ผมคิดว่าผมเป็นคนดี ไม่ได้เบียดเบียนใคร แต่ถ้าเราศึกษาพระธรรมแล้ว จะทำให้เราเข้าใจธรรมได้มากขึ้น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เราไม่เบียดเบียนใครก็จริง แต่เราโกรธไหม

    ผู้ฟัง โกรธ

    ท่านอาจารย์ ดีไหม ตอนโกรธ

    ผู้ฟัง ตอนโกรธ คงไม่ดี

    ท่านอาจารย์ แล้วทำอย่างไร ถึงจะดี บังคับได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ อะไรทำให้คน จากคนที่ไม่ดี เต็มไปด้วยอกุศล เปลี่ยนเป็นมีกุศลมากขึ้น แล้วเปลี่ยนไปจนกระทั่ง แม้กุศลอกุศลก็ไม่มี เพราะว่าไม่มีเหตุ ที่จะต้องให้เกิดอีก

    ผู้ฟัง อันนั้น สืบเนื่องมาจากอะไร

    ท่านอาจารย์ ปัญญาอย่างเดียว

    ผู้ฟัง ปัญญา หมายถึง การเข้าใจในพระธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่าพระพุทธศาสนา คำว่า พุทธ เป็นเรื่องของปัญญาโดยตรง พุทธคือผู้รู้ ผู้เบิกบาน ผู้ตื่น ไม่ใช่ผู้หลง ไม่ใช่ผู้ไม่รู้ ไม่ใช่ผู้หลับ เพราะฉะนั้น ความรู้ เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา พุทธ คือผู้รู้ รู้สภาพธรรม ตามความเป็นจริง รู้ว่าเป็นธรรมแต่ละอย่าง

    ผู้ฟัง ผมมาฟังธรรมแล้ว เริ่มเข้าใจธรรมได้มากขึ้น เป็นการเพียงพอหรือยังที่จะทำให้ผมเป็นคนดี หรือเข้าใจตัวเองได้มาก เข้าใจพระธรรมได้มาก

    ท่านอาจารย์ เพียงพอหมายความว่าอย่างไร

    ผู้ฟัง เพียงพอที่จะเป็นคนดี สำหรับตัวผม

    ท่านอาจารย์ ดีแค่ไหน

    ผู้ฟัง ดีในระดับที่ฟัง แค่นี้ ในขั้นการเข้าใจแค่นี้

    ท่านอาจารย์ ดี แค่ได้ฟัง สิ่งซึ่งเมื่อก่อนนี้ ไม่เคยฟัง หรือว่า เมื่อแต่ก่อนนี้ยังไม่เข้าใจ ก็ดีขึ้น และเข้าใจขึ้น เพราะฉะนั้น ต้องตรง ดีแค่ไหน ก็คือแค่นั้น

    ผู้ฟัง ความเข้าใจ ที่อาจารย์ว่า ความเข้าใจธรรม ความเข้าใจที่จะถึงขั้นที่จะละกิเลสได้ ต้องเป็นเความเข้าใจในโลกุตตระ แล้วก็ประโยชน์ที่ว่าเข้าใจวิชาการ ความรู้ทางโลก อะไรต่ออะไร หาเงิน หาทองได้เท่าไร ความที่เราร่ำรวยขึ้นมา เงินทอง ซื้อความเข้าใจธรรมไม่ได้ ผมไม่ต้องไปบอกว่าไปซื้อปัญญาในทางพระพุทธศาสนา ซื้อความเข้าใจในพระพุทธศาสนาก็ไม่ได้ แต่เงิน ๑ ล้านบาท เอามาวางไว้ ขอซื้อความเข้าใจธรรม ก็ซื้อไม่ได้ แล้วก็ประโยชน์ตรงนั้นก็เป็นประโยชน์ที่อยู่ในวัฏฏสงสาร ไปไหนไม่รอด เกิดแก่เจ็บตาย ก็เกิดอยู่อย่างนั้นแหละ กี่ชาติๆ กี่หมื่นกี่พัน จะมีเงินกี่แสนโกฏิ กี่ล้านโกฏิ ก็ไปไหนไม่รอด วนเวียนอยู่ในวัฏฏสงสาร แล้วอะไรประโยชน์ที่มันจะดีกว่ากัน ถ้ายังเห็นว่าประโยชน์ของวัฏฏะมี การมาศึกษาธรรม เราก็ต้องเห็นว่า การเกิดเป็นทุกข์ พระพุทธเจ้า ก็ตรัสแล้ว คำนี้เป็นพุทธพจน์ การเกิดเป็นทุกข์ แล้วยังจะเกิดอีก แล้วต้องกี่ชาติ ต้องไม่รู้ นับชาติ เราก็นับไม่ถ้วน แล้วทุกข์ก็บวกเข้าไปเถอะ ตั้งเท่าไร แล้วก็จิตที่อบรมแล้ว จนถึงขั้นละกิเลสได้ ต้องเป็นโลกุตตรจิต ปัญญาขั้นไหน ความเข้าใจธรรม ขั้นไหน ถ้าไม่จนถึงขั้นโลกุตตระแล้วก็ ละกิเลสไม่ได้

    ผู้ฟัง ธรรม เป็นที่พึง คือถ้าเราไม่เข้าใจธรรม จะเอาธรรมเป็นที่พึ่ง คงไม่ได้ ใช่ไหม ทีนี้เราเห็นชีวิตประจำวัน ธรรมเป็นที่พึ่งตรงไหน ในเมื่อเราก็ต้องทำมาหากิน เพราะว่า ถ้าไม่มีเงิน มีแต่ธรรมอย่างเดียวก็เป็นที่พึ่งเราไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผมสรุปของผม ธรรมเป็นที่พึ่งทางใจ ส่วนการทำมาหากิน มีทรัพย์สมบัติก็คือ ที่พึ่งทางกาย ถูกไหม

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ เราจะมีชีวิตที่สมบูรณ์ ด้วยรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส แต่ว่าไม่รู้อะไรเลยตามความเป็นจริง แล้วเราก็พอใจที่จะไม่รู้ หรือว่าเรารู้ว่า แม้ว่าเราจะมีทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว แต่สิ่งที่ไม่มีคือปัญญา ที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่มีอยู่

    ผู้ฟัง ผมก็จะมาพิจารณาดู ส่วนตัวผม คือว่า ธรรมเป็นที่พึ่ง หมายความว่า เราเกิดมาเราก็ต้องสูญเสียสิ่งที่เรารัก ถ้าเราไม่มีธรรมเป็นที่พึ่ง เมื่อเราสูญเสียสิ่งที่เรารัก เราก็ต้องเศร้า โศกเสียใจร้องไห้ บางคนอาจจะคิดมากไปฆ่าตัวตาย อะไรอย่างนี้ ก็ได้ แต่ถ้ามีธรรมเป็นที่พึ่ง เราก็นึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า คนเราเกิดมาแล้วก็ต้องตาย เมื่อตายแล้วก็เป็นธรรดา นี่เอง ทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตาย แทนที่จะมานั่งเสียใจว่า ต้องตาย อะไรอย่างนี้ อันนี้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมเป็นที่พึ่ง คือผมเข้าใจของผมอย่างนี้ แล้วอีกอย่างหนึ่ง บางครั้ง ของที่เรารักจากไป เราก็พิจารณาตามคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ มันไม่เที่ยง วันนี้มี วันหลังก็อาจจะหมดได้ พอมันหมดไปจริงๆ เราก็รู้แล้ว พระพุทธเจ้าสอนไว้แล้วว่า มีแล้วต้องหมด เราก็ไม่ทุกข์ คือสบายใจ หมายถึงเราเข้าใจธรรม ถ้าเราไม่เข้าใจธรรม เราก็ยึด มันไม่น่าจากเราไปอะไรอย่างนี้ อันนี้ผมเข้าใจว่า อันนี้เป็นที่พึ่งของเรา คือธรรมเป็นที่พึ่ง อันนี้ถูกหรือผิด

    ท่านอาจารย์ แล้วพอไหม รู้แค่นี้

    ผู้ฟัง ยังไม่พอ เพราะเรายังไม่ได้ละกิเลส กิเลสเรายังมีอยู่ เป็นที่พึ่งได้ส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้ว่า ไม่พอ เป็นประโยชน์ที่เราจะอบรมเจริญปัญญาด้วยการฟัง ให้เข้าใจเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง มัชฌิมาปฏิปทา ที่จะประพฤติปฏิบัติ ในชีวิตประจำวันนั้น ขอความกรุณาท่านอาจารย์ได้กล่าวในส่วนนี้

    อ. สมพร มัชฌิมาก็แปลว่า กลาง ซึ่งเราก็รู้กันอยู่ ปฏิปทา ก็แปลว่า ข้อปฏิบัติ เวลาเราแปลกัน ก็มักจะแปลว่า ข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลาง

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีสายกลางก็ต้องหมายความว่า มีส่วนสุด ๒ ข้าง คือข้างหนึ่งเป็นการทรมานตัว อีกข้างหนึ่งเป็นการที่เพลิดเพลินไป

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 98
    20 ธ.ค. 2567