ปกิณณกธรรม ตอนที่ 308
ตอนที่ ๓๐๘
สนทนาธรรม ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า
พ.ศ. ๒ ๕๔๓
ท่านอาจารย์ ถ้ามีสายกลางก็ต้องหมายความว่า มีส่วนสุด ๒ ข้าง คือข้างหนึ่งก็เป็นการทรมานตัว อีกข้างหนึ่งก็เป็นการที่เพลิดเพลินไป เพราะฉะนั้น ทางสายกลาง ในภาษาไทยที่จะเข้าใจได้คือ เป็นการอบรมเจริญปัญญา เพราะว่าหัวใจของพระพุทธศาสนา หรือพระธรรม คือ เพื่อที่จะให้ผู้ฟังเกิดปัญญาของตัวเอง นี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าเราไม่มีปัญญาของเรา แล้วก็ต้องอาศัยคนอื่นอยู่เรื่อยๆ ก็ไม่สามารถที่จะรู้ความจริงได้ แต่ถ้าใครสามารถที่จะทำให้เราเกิดปัญญาของเราเอง จากการฟัง จากการพิจารณาไตร่ตรอง อันนั้นก็จะทำให้ปัญญาของเราเจริญขึ้น
ในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ คำสอนของพระองค์ให้ผู้ฟังเกิดปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ตามที่พระองค์ทรงตรัสรู้ และหนทางก็มี เพราะเหตุว่าขณะนี้ก็มีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏที่จะต้องเข้าใจ ข้อสำคัญที่สุดคือ ไม่ใช่ไปคิดว่าจะทำ แต่ว่าสภาพธรรมที่มีในชีวิตประจำวัน ควรที่จะได้เริ่มคิดที่จะเข้าใจให้ถูกต้องว่า แท้ที่จริงแล้วการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ใช่รู้อื่น นอกจากสิ่งที่กำลังมี กำลังปรากฏในขณะนี้ เพราะเหตุว่าถ้ารู้อื่น ไม่ใช่สิ่งที่กำลังมี ไม่ทราบจะให้รู้อะไรที่ไม่มีในขณะนี้
นี่ก็เป็นเหตุเป็นผลที่เราจะต้องทราบว่า เราเกิดมามีชีวิตทุกวันที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้กลิ่น ที่ลิ้มรส ที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ที่คิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร มากมายมหาศาลกับสิ่งที่ปรากฏกับเรา เสมือนไม่มีอะไรเลย ดูเหมือนว่า เป็นชีวิตธรรมดาที่แสนจะธรรมดา คือ เห็น แล้วได้ยิน แล้วได้กลิ่น แต่การตรัสรู้นั้นสามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมที่ปรากฏจนสามารถที่จะละอกุศลธรรมทั้งหมดได้
นี่ก็เป็นสิ่งซึ่งประเสริฐที่สุด เพราะเหตุว่าที่ทุกคนเกิดมาต้องมีอวิชชา คือความไม่รู้ ถ้ามีวิชชา หรือว่าไม่มีกิเลสเลย ไม่ต้องเกิด เป็นผู้ที่หมดกิเลส แต่ทุกคนไม่ว่าใครแม้แต่พระชาติสุดท้ายที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะก็มีกิเลส ซึ่งจะต้องดับเป็นสมุจเฉท เมื่อได้อบรมพระปัญญาบารมีถึงความที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
สำหรับเราที่เริ่มสนใจธรรม ก็จะต้องเข้าใจถูกจริงๆ ว่า เราไม่รู้อะไร ไม่รู้สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจมากมายสักแค่ไหน มากมายจนไม่รู้ว่าไม่รู้ แต่จริงๆ แล้วไม่รู้เลยว่า จริงๆ แล้วไม่มีเรา มีแต่สภาพธรรมที่เกิดจึงได้ปรากฏ แล้วที่จะเกิดได้ ก็เพราะเหตุว่ามีปัจจัยปรุงแต่งทำให้เกิดขึ้นเป็นไปต่างๆ สำหรับแต่ละบุคคล ซึ่งไม่เหมือนกันเลย
วันนี้ทั้งหมดตั้งแต่เช้ามา เห็นแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ได้ยินแล้วเป็นอย่างไร จำได้หรือเปล่า ลืม เพราะว่าเป็นสิ่งที่เกิด และดับเร็วมาก จนกระทั่งเป็นเรื่องซึ่งคิด คิด ไปตลอด แล้วก็ไม่รู้เลย คิดอะไรเมื่อกี้นี้ก็ลืมไปแล้ว เมื่อเช้านี้ก็ลืมไปแล้ว แต่เวลาที่เกิด ความสุข ความทุกข์ มีความต้องการ ติดข้อง เหมือนกับว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะฉะนั้น ก็ให้รู้ความจริง เมื่อเกิดมาแล้วที่จะไม่ไป ไม่มี กำลังนั่งอยู่ในขณะนี้ มีใครไปไหน หรือยังไง ธรรมเป็นเรื่องที่ต้องคิด ต้องพิจารณา ขณะนี้ที่กำลังนั่งมีใครไปไหนหรือยัง จิตเกิดแล้วต้องไป อยู่ไม่ได้เลย เกิดขึ้น ทำกิจการงานหน้าที่แล้วดับ แล้วก็จิตต่อไปก็เกิดขึ้นสืบต่อทำกิจการงานหน้าที่นั้นแล้วก็ดับ
เพราะฉะนั้น ตั้งแต่เช้าจนถึงขณะนี้ จิตเกิดดับนับไม่ถ้วน มีลักษณะต่างๆ กัน แม้ในขณะนี้ ทางตาไปสู่สิ่งที่กำลังปรากฏ ดับ ทางหูไปสู่เสียงที่กำลังปรากฏ ทางใจกำลังคิดนึก ก็ไปสู่เรื่องที่กำลังคิดนึก
นี่เป็นความรวดเร็วของสภาพธรรม ซึ่งทั้งหมดเป็นอนัตตา การศึกษาธรรมต้องเห็นประโยชน์ว่า สามารถทำให้คนที่ไม่รู้สิ่งที่มีจริงๆ ค่อยๆ รู้ขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะละกิเลสได้ แต่ว่าไม่รวดเร็ว แล้วก็เป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ
ผู้ที่ศึกษาทุกคนเป็นผู้ที่ตรง แล้วก็เป็นผู้ที่รู้ด้วยตัวเอง คงไม่ต้องถามใครว่า เราไม่รู้แค่ไหน หรือว่าเราเริ่มรู้แค่ไหนแล้ว เพราะว่าแต่ละคนก็ต้องรู้จักตัวเอง ตามความเป็นจริง
เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีทางอื่นเลย นอกจากเห็นประโยชน์ที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงพระธรรม แล้วก็ผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลก็ได้ทรงจำสืบทอดจนกระทั่งมาถึงเราในยุคนี้ ซึ่งทำให้ผู้ที่มีโอกาสได้ยินได้ฟัง และได้สะสมศรัทธา และกุศลธรรมมาแล้ว สามารถที่จะศึกษา และเข้าใจถูกต้องขึ้น แต่ว่าพระธรรมที่ทรงแสดง เป็นสิ่งที่ไม่ง่าย ถ้าใครคิดว่า สามารถที่จะหมดกิเลสได้เร็ว หรือว่าในเวลาไม่นาน ก็จะมีปัญญาเกิดขึ้น สามารถประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นั่นเป็นความเข้าใจผิด เพราะเหตุว่าไม่ใช่รู้อื่น แต่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ซึ่งเกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็ว
เพราะฉะนั้น ก็ต้องเป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาจริงๆ ซึ่งจะเห็นพระคุณของทั้ง ๓ ปิฎกว่า ช่วยให้เราเกิดปัญญาขึ้น จะทำให้พุทธบริษัทสนใจศึกษาแล้วรู้ว่า การฟังพระธรรมครั้งหนึ่งๆ ก็จะทำให้ค่อยๆ เข้าใจพระธรรมขึ้น นั่นคือหนทางที่จะค่อยๆ ละความไม่รู้ ซึ่งเป็นมูลเหตุของอกุศลทั้งหลายได้
ผู้ฟัง ปุถุปัญโญ บุคคลมีปัญญากว้างขวาง จะฟังธรรมอย่างไร จึงจะเป็นบุคคลผู้มีปัญญากว้างขวาง
ท่านอาจารย์ ก่อนจะถึงปัญญากว้างขวาง ก็เข้าใจในขณะนี้ก่อน แล้วก็ถึงจะเข้าใจกว้างขวางขึ้น ไม่ใช่ว่าตอนแรกก็ไม่มีปัญญาเลย แล้วก็จะไปทำอย่างไร ถึงจะมีปัญญากว้างขวาง แต่ปัญญาที่จะกว้างขวางได้ ก็ต้องเริ่มทีละเล็กทีละน้อย
ผู้ฟัง ฟังเรื่องสติปัฏฐาน สภาพธรรมตามความเป็นจริงที่กำลังปรากฏ อาจารย์จะมีทางแนะอย่างไรที่จะให้ผู้ฟังสามารถที่จะมาสนใจ และเข้าใจในเรื่องสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ท่านอาจารย์ ก็ต้องเป็นเรื่องของการอบรม ไม่ใช่ว่าเรื่องเราฟังแล้วเราจะรู้ได้ทันที อย่างขณะนี้ หรือว่าจะฟังมา ๑๐ ปี ๒๐ ปีก็จะเป็นข้อความที่ว่า สภาพธรรมที่มีจริง มีลักษณะ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลย สามารถจะปรากฏ เป็นสีสันวัณณะต่างๆ ทางตา ในขณะนี้ที่กำลังเห็น เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ส่วนถ้าไม่มีนามธรรมหรือสภาพรู้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ปรากฏไม่ได้
นี่คือฟังให้เข้าใจ จนกระทั่งไม่ว่าเมื่อไรก็ไม่ลืมที่จะรู้ว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องการที่ เราจะพยายามไปหาทางที่จะให้ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม แต่ว่าสภาพธรรม ในขณะนี้ มี แล้วก็อบรมปัญญาให้เห็นถูก ให้เข้าใจถูกในสภาพธรรมที่ปรากฏ เพราะว่าการที่เรามีกิเลสสะสมมานานแสนนาน แล้วก็อีกเดือนหนึ่งให้ไม่มีกิเลสเลย ก็คงจะเป็นไปไม่ได้ หรือว่าอีกปีหนึ่งให้ไม่มีกิเลสเลย หรืออีกชาติหนึ่งหรือชาตินี้ ที่จะให้ไม่มีกิเลสเลย ก็เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แต่ว่าเป็นผู้ที่รู้ตามความเป็นจริงว่า ปัญญาต่างกับความไม่รู้
เพราะฉะนั้น ก็ค่อยๆ รู้ว่าเมื่อไรที่มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ เมื่อนั้นก็คือปัญญาที่จะต้องอบรมไป จนกว่าจะรู้จริงๆ ประจักษ์แจ้งจริงๆ โดยการศึกษาคงไม่มีใครไม่ทราบว่า ขณะนี้ ทุกสิ่งเกิดแล้วก็ดับอย่างรวดเร็ว นี่การศึกษา
เวลาที่จะเข้าใจสภาพธรรมถูกต้องตามความเป็นจริง คือสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้เกิด จึงได้ปรากฏ แล้วดับเร็วมาก นี่คือสิ่งซึ่งจะต้องเห็นตามความเป็นจริงว่า ลักษณะใดเป็นรูปธรรม ลักษณะใดเป็นนามธรรมก่อน จนกว่ามีการรู้มากขึ้น แล้วก็คลายความไม่รู้ คลายความสงสัยในสิ่งซึ่งกำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และเป็นการที่จะค่อยๆ รู้เพิ่มขึ้น ก็เป็นเรื่องของการอบรมจริงๆ แล้วก็เรื่องที่จะรู้ จริงๆ แล้วกว้างขวางมาก เพราะเหตุว่าสิ่งที่ปรากฏเหมือนไม่มีอะไร แต่ความจริงแล้ว สิ่งใดที่เกิด สิ่งนั้นต้องมีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น ถ้าไม่รู้ความเป็นปัจจัย ก็ไม่สามารถที่จะละความเป็นตัวตนได้ เพราะว่าก็ยังคงเป็นเรา หรือว่าถึงแม้ว่า รู้ปัจจัยที่เกิด แต่ว่าไม่ประจักษ์การเกิด และดับ ก็ยังไม่สามารถที่จะถอนความสำคัญผิด ความเข้าใจผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตนได้
การอบรมเจริญปัญญาก็เป็นเรื่องของความรู้จริง ความเข้าใจจริง แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา หู จมูก ลิ้น กาย แม้ใจทุกขณะ ใจของทุกคน เปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่ว่าส่วนใหญ่ก็คือ โลภะบ้าง โทสะบ้าง เรื่องราวต่างๆ ทั้งนั้นเลย ตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้ แล้วไม่ว่าสภาพธรรมนั้นจะเป็นอะไร ปัญญาสามารถที่จะค่อยๆ ระลึกแล้วก็รู้ว่า ลักษณะนั้นเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ทั้งหมดจนกว่าจะไม่สงสัย
อ. สมพร ผมขอทวนศัพท์นิดหนึ่ง ปุถุปัญโญ คำว่า ปุถุ แปลว่ากว้างขวาง แต่ว่าไม่ได้แปลอย่างนี้อย่างเดียว ถ้าประกอบกับศัพท์อื่น แปลว่า หนา ก็ได้ ปุถุปัญโญ แปลว่ามีปัญญากว้างขวาง หรือว่ามีปัญญาหนา แต่ถ้าเป็นเกี่ยวกับกิเลส ปุถุชน ผู้มีกิเลสหนา ปุถุ อันเดียวกัน
ธรรมของพระพุทธเจ้า พยัญชนะมีอรรถลึกซึ้งมาก เราจะต้องศึกษา ศึกษาพระอภิธรรม จะทำให้เราแตกฉาน ศึกษาพระอภิธรรมเกี่ยวกับเรื่องจิต เจตสิก รูป ที่อาจารย์บรรยายอยู่ตลอดเวลา จะทำให้เรามีปัญญากว้างขวาง แต่ตอนแรก เรายังไม่มีปัญญากว้างขวาง ครั้งแรกอาจจะมีปัญญาเหมือนหม้อคว่ำก็ได้ เมื่อเจริญขึ้น เป็นผู้ฉลาดขึ้น ก็มีปัญญาเหมือนหน้าตัก ที่เรานั่งขัดสมาธิ เขาเรียกว่าหน้าตัก เมื่อเราศึกษามากเข้าๆ ก็อาจจะมีปัญญากว้างขวาง เรียกว่าดีกว่าปัญญาหน้าตัก ซึ่งเรียกว่า ปุถุปัญโญ
ผู้ฟัง ตามที่ในพระสูตรที่พระพุทธเจ้าสอนมา ใช้พูดกันง่ายๆ ผมไม่เก่งบาลี แต่ผมอาศัยคำสอนของท่านอาจารย์สุจินต์ที่ว่า ไม่ต้องจำ แต่ขอให้เข้าใจ นี้เป็นสำคัญ ทีนี้คนที่ฟังแล้วจะเข้าใจความหมายตรงนี้ไหมว่า เข้าใจแต่ไม่ต้องจำสำคัญตรงนี้
ทีนี้ที่พูดกันเมื่อกี้ที่ว่า คำว่าปัญญา รู้จักตัวปัญญาหรือยัง เพราะปัญญาเป็นชื่อไม่ใช่ตัวจริง นี้ผมเข้าใจของผม เหมือนอย่างว่าโลภะ นี้ชื่อมัน แต่ตัวจริง รู้หรือเปล่า พระพุทธเจ้าพูดไว้ ๓ ข้อ เป็นข้ออุปมา ใช่ไหม อย่างนี้
ท่านอาจารย์ เป็นคำอุปมา ที่จริง สภาพธรรมมีเรื่องมาก เพราะเหตุว่าสภาพธรรมก็ละเอียด ความคิดของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ทรงแสดงพยัญชนะที่จะทำให้เข้าใจในสภาพธรรมของแต่ละคนในขณะที่ฟังพระธรรม ตั้งแต่ฟังแล้วไม่เข้าใจ ก็คงจะมี เพราะว่าบางคนเคยฟังเรื่องชาดกบ้าง หรือเรื่องศีลธรรมบ้าง ก็เข้าใจได้ แต่พอถึงปรมัตถธรรม บอกไม่เข้าใจ เพราะว่าเป็นสิ่งที่ใหม่ แต่ว่าปรมัตถธรรมก็เป็นสิ่งที่มีจริง ถ้ามีความสนใจในขณะที่ฟัง แล้วก็เข้าใจสิ่งที่ได้ฟัง คือ ไม่คิดเรื่องอื่นจากสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง พยายามให้มีความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แล้วก็ฟังเพิ่มขึ้น ความเข้าใจก็มากขึ้นด้วย
ผู้ฟัง ทีนี้ผมจะถามอาจารย์อีกข้อหนึ่งที่ผมมีความสงสัยอยู่ คือ ฟังแล้วผมก็เข้าใจ ทีนี้ผมก็อยากจะมาถามอาจารย์ ให้มั่นใจว่าที่ผมเข้าใจนี้ถูกหรือเปล่า อย่างจักขุที่ทำหน้าที่กระทบกับรูป คือ รูปารมณ์ คือ สี แล้วเกิดการเห็นขึ้นมา ก็ต้องอาศัยผัสสะ ตามเหตุผลก็คือ จักขุปสาทกระทบกับรูปารมณ์ แล้วจักขุวิญญาณเกิดขึ้น ผมถามว่า การที่มันกระทบกันระหว่างรูปกับปสาท กระทบกันหรือว่า รูปที่มากระทบกับจิต อันนี้ผมสงสัย
ท่านอาจารย์ ผัสสะ เป็นเจตสิก เป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น มีกิจของผัสสะ คือกระทบอารมณ์
ผู้ฟัง กระทบอารมณ์ แล้วทำให้จิตรู้ อย่างนั้นใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เกิดพร้อมกันกับจิต
ผู้ฟัง พร้อมกัน แต่ถ้าเกิดรูปกระทบกับรูป อย่างเช่นว่า สีกระทบกับตา อันนี้ไม่รู้อะไรเลย
ท่านอาจารย์ ถ้ารูปกระทบรูป ไม่ใช่ผัสสเจตสิก
ผู้ฟัง อันนี้ผมก็เข้าใจแล้ว ขอบคุณมาก
ท่านอาจารย์ อันนี้ก็ไม่ใช่หม้อคว่ำ แล้วก็ถ้าใครเป็นหม้อคว่ำ ก็จะรู้ว่า ทรงพระมหากรุณาแสดงเป็นการเตือน อย่างที่ท่านอาจารย์สมพรท่านกล่าวเมื่อกี้นี้ คือเวลาที่ฟังธรรมแล้วไม่เข้าใจ ก็ไม่ควรที่จะไม่เห็นประโยชน์ แต่รู้ว่าพระปัญญาคุณมากมายที่ทรงแสดง เท่าที่เราสามารถจะเข้าใจได้ เพราะว่าเป็นเรื่องของสิ่งที่มีจริง เป็นสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
ในครั้งแรกที่ได้ยินได้ฟัง ก็จะรู้สึกว่าไม่เข้าใจ หรืออาจจะเข้าใจบ้าง แต่เวลาที่ยิ่งฟัง ความเข้าใจก็เพิ่มขึ้น ก็จะเป็นบุคคลที่เพิ่มจากการที่เป็นหม้อคว่ำ มาเป็นหน้าตัก แล้วก็มีความเข้าใจต่อไปก็จะเป็นปัญญาที่กว้างขวาง
เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นพระมหากรุณาว่า แม้เรื่องหม้อ แม้เรื่องหน้าตัก แม้เรื่องปัญญากว้างขวาง ก็ทรงแสดงเตือนตามความเป็นจริง ให้ผู้ที่ฟังได้รู้ความจริงของตัวเอง แล้วก็ค่อยๆ อบรมให้มากขึ้น
ก็คงจะไม่ข้ามพยัญชนะ ที่ว่า เพื่อฟังธรรม และ ผู้นั้นคือภิกษุย่อมแสดงธรรม อันนี้คือสิ่งที่ควรจะต้องพิจารณาตั้งแต่ต้นว่า ธรรมคืออะไรที่จะแสดง คือสิ่งที่มีจริง แล้วก็ตามเหตุตามผลด้วย อันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ถ้าคนที่ฟังธรรม แล้วเข้าใจ ศีลจะดีขึ้นไหม เพราะเหตุว่า ธรรมดาไม่ใช่เรามุ่งไปหาการที่จะอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม โดยไม่มีปัญญาขั้นต้น หรือว่าไม่มีความรู้ความเข้าใจเลย แต่ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ ว่า ที่เคยเป็นเรา แล้วมีความสำคัญมาก แล้วก็มีความสำคัญตนด้วย แต่ว่าจริงๆ คือสภาพธรรมที่น่ารังเกียจ เพราะอกุศลธรรมทั้งหมดเป็นสิ่งที่ควรละ เพราะฉะนั้น เมื่อทุกคนมีกาย มีวาจา แล้วก็ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจธรรมจริงๆ ลองพิจารณาดูว่า กายวาจาของเรา เริ่มงามขึ้นบ้างไหม ถ้าเป็นคนที่กาย วาจา แต่ก่อนนี้เคยไม่ดี เคยพูดคำที่ทำให้คนอื่นระคายหู ไม่สบายใจ เราอาจจะเป็นคนที่มีอำนาจ สามารถที่จะสั่งการ บอกอะไรก็ได้ แต่ว่าไม่คิดถึงใจของคนฟัง แล้วก็อาจจะใช้คำซึ่ง ถ้าเราเป็นผู้ที่รับฟังคำนั้น เราจะรู้สึกอย่างไร
การเข้าใจธรรมว่า ธรรมมี ๒ อย่าง ธรรมฝ่ายดี กับธรรมฝ่ายไม่ดี เพราะฉะนั้น ธรรมฝ่ายดี ทรงแสดงตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง ที่สุด เมื่อมีความเข้าใจธรรม ทุกคนเสมอกัน มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ มีความรู้สึก รักสุข เกลียดทุกข์เหมือนกัน ถ้ามีความเข้าใจจริงๆ จะเห็นใจคนอื่นไหม กายวาจาของเราจะดีขึ้นไหมด้วย การอบรมเจริญปัญญาเพื่อขัดเกลากิเลสที่จะถึงการดับกิเลส แต่ถ้าไม่มีการขัดเกลาเลย แล้วเราจะดับกิเลสได้อย่างไร
แต่ละคน ก็จะรู้ว่า เมื่อมีกาย แล้วก็มีวาจา แล้วก็มีความเข้าใจธรรมขณะใด ขณะนั้นกายงาม วาจางามด้วย แต่ถ้าในขณะนั้นเป็นอกุศล กายวาจาก็ไม่งาม การกระทำทางกายก็อาจจะกระทบกระเทือนคนอื่น วาจาก็ทำให้คนอื่นเดือดร้อนได้ เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับปัญญาความเข้าใจ ต้องเข้าใจด้วยว่า ปัญญาทำให้ทุกอย่างที่เป็นอกุศลค่อยๆ ลดลง
นั่นคือประโยชน์ของการฟังพระธรรมจริงๆ เพื่อการที่จะได้เข้าใจ แล้วปัญญาก็จะทำหน้าที่ของปัญญา อย่าไปคิดว่า กายอย่างนี้แหละ วาจาอย่างนี้แหละร้ายๆ อย่างนี้แหละ แล้วก็จะไปรู้แจ้งอริยสัจธรรม แล้วจะไปดับกิเลสอะไร จริงๆ แล้วผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลขั้นต้น คือ พระโสดาบัน ท่านละความเห็นผิด ไม่มีความเห็นผิดใดๆ เลย สักกายทิฏฐิ ที่จะเห็นว่า เป็นตัวเราจริงๆ เที่ยง อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาจะไม่มีเลย เพราะว่าเมื่อเริ่มเรียนรู้เรื่องสภาพธรรม ก็จะเข้าใจความหมายของธรรมว่า เป็นธาตุหรือธรรมซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ แล้วก็ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครด้วย
สภาพธรรมใดที่เกิดกับแต่ละคน ก็จะมีเหตุปัจจัยที่แต่ละคนได้สะสมมา ไม่ว่าจะคิด จะทำ จะพูดอย่างไรก็ตาม ก็เป็นเรื่องของการสะสมที่ละเอียดมาก ซับซ้อนมาก ทั้งฝ่ายกุศล ทั้งฝ่ายอกุศล
ด้วยเหตุนี้ผู้ที่ศึกษาธรรมก็มีอัธยาศัยต่างกัน ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาก็มีกายวาจาที่ต่างกัน แต่ว่าแต่ละคนก็จะได้รับประโยชน์จากธรรม โดยที่ว่า เข้าใจจริงๆ ว่า อกุศลทั้งหมดต้องดับได้ ถ้ามีการอบรม แต่ถ้าไม่อบรม ก็จะเป็นอย่างนี้ เหมือนที่เคยเป็นมาแล้ว แล้วก็จะเป็นต่อไปอีก ก็ไม่มีอะไรที่จะละคลายไป แต่ว่าเมื่อมีการเห็นประโยชน์ของพระธรรม ก็อาศัยพระธรรมเกื้อกูลที่จะไม่ละเลย ไม่ว่าจะเป็นโอกาสของทาน หรือว่าเป็นโอกาสของศีล
แต่ว่าข้อความในอรรถกถาที่นี่กล่าวถึง ในส่วนศาสนธรรม ศีลเป็นเบื้องต้น เพราะทุกคนมีกาย มีวาจา สมาธิเป็นท่ามกลาง วิปัสสนาเป็นที่สุด
เวลาที่มีกุศลจิตเกิดขึ้น ขณะนั้นจิตสงบ ที่ใช้คำว่าสมาธิที่นี่ หมายความถึงเป็นกุศล เป็นความสงบ ไม่ใช่เป็นมิจฉาสมาธิ คือ มีความต้องการที่จะเพ่งจ้องที่หนึ่งที่ใด ไม่มีปัญญา ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมในขณะนั้น แต่มีความต้องการที่จะให้จิตอยู่ที่หนึ่งที่ใดแล้วก็เข้าใจว่า นั่นเป็นสัมมาสมาธิ แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะเหตุว่าขณะใดที่กุศลจิตเกิด ขณะนั้นสงบ สมาธิ ที่นี่หมายความถึงสงบ แล้วก็วิปัสสนาเป็นที่สุดเพราะเหตุว่าจะต้องอบรมไปเพื่ออะไร ถ้าไม่ใช่เพื่อรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ
แต่ว่าข้อความต่อไป ต่อจากนั้น คือ ต่อจากศีล ก็เป็นสมาธิ เป็นเบื้องต้น วิปัสสนาเป็นท่ามกลาง มรรคเป็นที่สุด คือไม่มีการหยุดที่จะอบรมเจริญเลย ถ้าเข้าใจเรื่องของสภาพธรรม ก็อบรมเจริญต่อไป
อีกอย่างหนึ่ง วิปัสสนาเป็นเบื้องต้น มรรคเป็นท่ามกลาง ผลเป็นที่สุดอีกอย่างหนึ่งคือ มรรคเป็นเบื้องต้น ผลเป็นท่ามกลาง นิพพานเป็นที่สุด
นี่คือการที่จะอบรมจนถึงการดับกิเลสหมดเป็นสมุจเฉท
ผู้ฟัง พอดีเมื่อครู่ท่านอาจารย์ก็กล่าว บอกว่า สมาธิ ไม่ใช่ว่าจะมาเพ่งอะไรอย่างหนึ่งอย่างใด ถ้าเผื่อน้อมมาถึงการพิจารณา ที่ท่านอาจารย์ได้แสดงเกี่ยวกับการเจริญวิปัสสนา ตรงนี้ก็เหมือนกัน ใช่ไหม ที่ไม่ใช่ว่า จะมาคอยจ้องเพ่งที่ว่าอะไรจะเกิด เดี๋ยวจะได้ยิน เดี๋ยวจะแข็ง อะไรตรงนี้ก็ผิดเหมือนกัน ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ปัญญาเป็นความเห็นถูกซึ่งทำหน้าที่ละความเห็นผิด ละความติดข้อง ละอกุศล
ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้น ถ้าเผื่อสติไม่ได้เกิดระลึกถึงสภาพอะไรเลย ก็ไม่ได้มีการปฏิบัติเกิดขึ้น
ท่านอาจารย์ ปฏิบัติอย่างไร ปฏิบัติที่นี้คืออะไร ไม่มีการปฏิบัติหมายความว่าอย่างไร มรรคมีองค์ ๘ เป็นใครจะปฏิบัติ หรือว่าเป็นหน้าที่ของมรรคแต่ละองค์ที่เกิดขึ้น ทำหน้าที่ของมรรคนั้นๆ
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 301
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 302
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 303
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 304
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 305
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 306
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 307
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 308
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 309
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 310
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 311
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 312
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 313
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 314
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 315
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 316
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 317
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 318
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 319
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 320
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 321
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 322
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 323
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 324
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 325
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 326
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 327
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 328
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 329
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 330
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 331
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 332
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 333
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 334
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 335
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 336 ***
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 337
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 338
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 339
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 340
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 341
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 342
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 343
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 344
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 345
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 346
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 347
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 348
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 349
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 350
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 351
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 352
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 353
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 354
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 355
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 356
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 357
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 358
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 359
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 360