ปกิณณกธรรม ตอนที่ 361


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๖๑

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๓๙


    ท่านอาจารย์ นี่เป็นการที่เราจะเริ่มเข้าใจว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมตามความเป็นจริง แล้วทรงแสดงธรรมละเอียดยิบมากเลย ถึงเหตุที่เกิด ถึงลักษณะที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น ขอตัวอย่างอื่นว่า นอกจากเสียง นอกจากเค็ม อะไรเป็นธรรมอีก

    ผู้ฟัง รูปร่าง

    ท่านอาจารย์ เรานึกหรือเราเห็น

    ผู้ฟัง ต้องเห็นด้วยสายตา

    ท่านอาจารย์ ลองจับรูปร่างหน่อยสิ

    ผู้ฟัง เช่นเราจับถ้วยกาแฟ

    ท่านอาจารย์ จับถ้วยกาแฟ ก่อนที่จะรู้ถ้วยกาแฟ กำลังจับ อะไรปรากฏที่ถ้วยกาแฟ

    ผู้ฟัง เป็นความแข็ง

    ท่านอาจารย์ ลักษณะแข็ง เพราะฉะนั้น ลักษณะแข็งมีทั่วไปหมด จับดินก็แจ็ง จับลิ้นจี่ก็แข็ง ขับถ้วยกาแฟก็แข็ง จับเก้าอี้ก็แข็ง ลักษณะแท้ๆ ถ้าเราเอารูปร่างออก สิ่งที่มีจริงคือแข็ง ทีนี้แข็งมีทั่วไป จึงใช้คำว่า มหาภูต สิ่งที่มีปรากฏทั่วไปหมด แต่ว่าต่างกันโดยรูปร่างสัณฐานที่ทำให้เราทรงจำไว้ว่า นั่นเป็นช้อน นั่นเป็นส้อม นั่นเป็นโต็ะ นั่นเป็นคน แต่ว่าการที่จะรู้แข็งได้โดยทางไหน

    ผู้ฟัง ด้วยการสัมผัส

    ท่านอาจารย์ ทางกายเท่านั้น เห็นแข็งได้ไหม

    ผู้ฟัง ใช้ความจำ ไม่ทราบแน่นอน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น จะทราบแน่นอนต่อเมื่อสัมผัส คนตาบอดสามารถรู้แข็งได้ไหม

    ผู้ฟัง ได้

    ท่านอาจารย์ แต่คนตาบอดไม่เห็น

    ผู้ฟัง ไม่เห็น ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เห็น ไม่ใช่เห็นแข็ง ถูกไหม

    ผู้ฟัง ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ เห็น เห็นอะไร กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ เห็นอะไร

    ผู้ฟัง เห็นรูปร่าง

    ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นสีขาวอย่างเดียวหมดเลย จะรู้ไหมว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร ขาวหมดเลยที่นี่

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วเราเห็นสีต่างๆ หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ถูกต้อง

    ท่านอาจารย์ แล้วความต่างกันของสี ทำให้สามารถที่จะมีความทรงจำได้ว่า สีนี้เป็นโต๊ะ หรือสีนี้เป็นผ้าสำหรับปู เป็นเสื่อ เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะรู้รูปร่างสัณฐาน เพียงแว็บเดียวต้องเป็นสีเท่านั้นที่ปรากฏ อย่างที่คนตาบอดนานๆ แล้วตอนหลังเขาเกิดรักษาตาหายได้ ลืมตาขึ้นมา เขาตกใจ ไม่เคยเห็นแสงอะไรที่มันสว่าง ที่มันปรากฏแบบนี้ เขายังไม่ได้รู้รูปร่างสัณฐานอะไรเลย บางทีเขาบอกว่า ไม่สามารถที่จะแยกว่าเขายืนอยู่ชั้นที่ ๑๗ แล้วข้างล่างต่ำลงไปลึก เพราะว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏเท่านั้นเอง

    จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่เด็กมา เด็ก ลืมตาขึ้นมาเห็น แต่ยังไม่มีความทรงจำใดๆ ทั้งสิ้น แล้วภายหลังค่อยๆ คุ้นกับมิติต่างๆ ก็สามารถที่จะรู้ว่า รูปร่างสัณฐานนั้นเป็นอะไร ก็เลยเริ่มที่จะจำได้

    เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้ว ตรงตามธรรม ซึ่งเป็น ธรรม สี เป็นสิ่งที่ปรากฏ รู้ได้ทางตา แต่หลังจากจิตเห็นแล้วจิตคิดนึก เริ่มนึกถึงรูปร่างสัณฐาน แล้วก็ทรงจำได้ว่า เป็นอะไร ทางหูก็เหมือนกัน คือได้ยินเสียง ยังไม่รู้ความหมายเลย เด็กๆ นี่เด็กคนนี้มีพ่อแม่เป็นฝรั่ง พูดภาษาอังกฤษ พูดภาษาฝรั่งเศส คนไทยก็พูดภาษาไทย คนจีนก็พูดภาษาจีน ตามแสียงสูงๆ ต่ำๆ ซึ่งเริ่มจำความหมาย แล้วก็รู้ว่า เสียงนั้นหมายความว่าอะไร

    เราตัดแต่ละทางออกไปตรงเลยว่า ทางตาเห็นสีเท่านั้น ส่วนทางใจคิดนึก ทางหูได้ยินเสียงเท่านั้นแต่ ทางใจจำได้ว่า นี่ความหมายว่าอะไร แล้วรู้ความหมาย เพราะฉะนั้น กระบวนการของจิตเกิดดับสืบต่อเร็วมาก จนกระทั่งทำให้คนที่ไม่ได้ฟังธรรมสับสน และทรงจำผิดที่ใช้คำว่า นิจจสัญญา จำว่าทุกอย่างเที่ยง ไม่มีอะไรเกิดดับเลย จำว่าเป็นอัตตสัญญา คือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว เรารู้ความหมายเท่านั้นเอง แต่สิ่งนั้นกำลังเกิดดับ อย่างรูปแข็งกำลังเกิดดับ แจกันแตกย่อยได้ไหม เพราะอะไร ทำไมแตกย่อยได้ อากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ แม้แต่โต๊ะ เราเห็นว่า หนาแน่นมาก หรือแผ่นเหล็ก เราดึงเท่าไรก็ไม่ออก แต่ตัดออกได้ เพราะอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ในแผ่นเหล็ก สิ่งใดก็ตามซึ่งประชุมรวมกันแล้วแตกย่อยได้ทั้งหมด เพราะเหตุว่ามีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ เวลาที่ปัญญารู้ความจริงก็รู้อย่างนี้ จึงละความเป็นตัวตนได้ ไม่อย่างนั้นก็จะทรงจำว่า เป็นคน เป็นสัตว์ เป็นวัตถุสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นอัตตสัญญา

    นี่คือการปฏิบัติธรรม แต่เรายังไม่ต้องไปถึงขั้นนั้น เข้าใจก่อน ต้องการอะไร เวลาดื่มน้ำ

    ผู้ฟัง มีความกระหาย

    ท่านอาจารย์ ถ้าต้องการน้ำหวาน ก็ต้องการรสหวาน เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า ขาดรูปไม่ได้เลย รูปเป็นสิ่งที่สำคัญ เป็นรูปขันธ์ แยกความสำคัญของสิ่งซึ่งมีจริง แล้วก็เป็นที่ต้องการอย่างยิ่ง ติดข้องอย่างยิ่ง ใช้คำว่า อุปาทานขันธ์ อุปาทาน มากกว่าตัณหา ความติดข้อง เพราะเหตุว่าเป็นความยึดมั่นในรูป ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า คือ ตัวคุณศีลกันต์กันแน่นอน นี่คือความยึดมั่นในรูปนี้ เสื้อตัวนี้เป็นของคุณศีลกันต์แน่นอน นี่คือความติดข้องในของเรา แม้ว่าเป็นรูป แต่ว่าเป็นความติดข้องว่าของเรา

    เพราะฉะนั้น มีความติดข้องว่าเป็นตัวเรา มีความติดข้องว่าเป็นของเรา แล้วยังมีอีกอย่างหนึ่ง ความติดข้องในความสำคัญตนว่า เป็นเรา ความติดข้องมากมายเหลือเกินทั้งในรูป ในนาม แล้วในเรามีถึง ๓ อย่าง ในความเป็นตัวเรา ด้วยความเห็นผิด ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ตัวเรา เป็นรูปธรรม เป็นนามธรรม เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เร็วที่สุดทุกอย่าง ก็ยังถือว่าเป็นตัวเรา แล้วนอกจากนั้นยังติดข้องด้วยตัณหา ความพอใจว่า นี่แหละของเรา ตานี้ก็ของเรา จมูก ปาก ลิ้น ทั้งหมด ทั้งกายนี้ของเราหมด แล้วยังยึดด้วยความสำคัญตนว่า มานะ คือเป็นเรา เราตัวนี้ใหญ่มาก เราตัวนี้เป็นธง จุดเด่นที่สุด ใครว่าอะไรไม่ได้ ใครพูดอะไรไม่ดี หรืออาจจะคิดว่าดูถูกดูหมิ่นก็ได้ ด้วยความสำคัญตน ในบรรดาทั้งหมดนี้ มานะหรือความสำคัญตนละได้ด้วยอรหัตตมรรค ต้องเป็นพระอรหันต์ถึงจะละได้ แต่ถ้าเป็นความเห็นผิดว่า เป็นเรา พระโสดาบันละได้

    นี่แสดงให้เห็นว่ามีความติดข้องในรูปอย่างมากๆ เพราะฉะนั้น รูปขันธ์เป็นรูปๆ หนึ่ง ซึ่งเป็นที่ตั้งของอุปาทานขันธ์ ความยึดถือ อุปาทาน ความยึดถือเป็นธรรม ใช่ไหม ดี หรือ ไม่ดี

    ผู้ฟัง ไม่ดี

    ท่านอาจารย์ เป็นฝ่ายอกุศล เพราะฉะนั้น ธรรมที่เป็นนามธรรมแยกออกได้เป็นที่ดีก็มี ที่ไม่ดีก็มี ที่เป็นกุศลก็มี ที่เป็นอกุศลก็มี จริงๆ แล้วแยกละเอียดกว่านี้อีก แต่เอาแค่ ๒ อย่างนี้ก่อน นอกจากคุณศีลกันต์ติดข้องในรูปทั้งหมด อยากจะได้แต่รูป วันนี้ถ้ามีคนเอารูปดีๆ มาให้ ดีใจไหม ถ้าเอาสิ่งที่ไม่ดีมาให้ เป็นกล้วยเน่าๆ รู้สึกอย่างไร ก็ไม่พอใจ

    นอกจากรูปขันธ์แล้ว ยังมีสิ่งที่สำคัญมาก คือ ความรู้สึก ซึ่งทุกคนมี ความรู้สึกมี ๕ อย่าง ความรู้สึกเฉยๆ ความรู้สึกสุขทางกาย ไม่ป่วยไม่ไข้ ความรู้สึกทุกข์ทางกาย เจ็บไข้ได้ป่วย ซึ่งใครก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อมีกายแล้วต้องมีทุกข์อย่างนี้ ความรู้สึกเป็นทุกข์ทางใจเรียกว่า โทมนัส และความรู้สึกเป็นสุขทางใจเรียกว่า โสมนัส

    นี่คือการแยกกายกับใจ เพราะว่าบางคนอย่างพระอรหันต์ ท่านไม่มีทุกข์ใจเลย ไม่มีกิเลสเลย แต่ท่านยังเจ็บป่วย แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ประชวรก่อนที่จะปรินิพพาน หรือแม้จะยังไม่ปรินิพพานก็มีการประชวรในระหว่างนั้น แสดงว่าใครมีกายก็ต้องมีทุกข์ แต่ว่าท่านไม่มีทุกข์ใจเลย เวลานี้คุณศีลกันต์มีความรู้สึกครบ ๕ อย่างไหม

    ผู้ฟัง มันจะเกิดขึ้นทีละขณะ

    ท่านอาจารย์ ทีละอย่าง แต่ ครบทั้ง ๕ ไหม

    ผู้ฟัง ครบ

    ท่านอาจารย์ เมื่อคืนนี้หนาวมากไหม

    ผู้ฟัง หนาวมาก

    ท่านอาจารย์ เป็นความรู้สึก ไม่ใช่คุณศีลกันต์ เกิดขึ้นเพราะประสบกับธาตุที่เย็น หรือรูปที่เย็น ทำให้ความรู้สึกนั้นเกิดปวด หรือเกิดเมื่อย ไม่สบายเกิดขึ้น นั่นก็เป็นความรู้สึก เพราะฉะนั้น ความรู้สึกของทุกคนที่มี เป็นขันธ์ๆ หนึ่ง คือ เป็นที่ยึดมั่นแสวงหาแต่ความรู้สึกที่เป็นสุข เมื่อกี้คุณศีลกันต์ถามว่าตื่นเช้ามาแสวงหาอะไร ตอบว่าความสงบ เพราะขณะนั้นใจสบาย ไม่เดือดร้อน

    นี่แสดงให้เห็นว่า เราถูกครอบงำเป็นธาตุของเวทนา ความรู้สึก ซึ่งเป็นธรรมชนิดหนึ่ง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความรู้สึกสบายไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา ความรู้สึกเป็นสุขไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา ความรู้สึกเป็นทุกข์ไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา นี่คือความหมายของอุปาทานขันธ์ที่ ๒ คือ เวทนาขันธ์ ภาษาบาลีใช้คำว่า เวทนา แปลว่าความรู้สึก ไม่ใช่แปลว่าสงสารมากๆ นี่เป็นขันธ์ที่ ๒

    ผู้ฟัง ผมคิดว่าที่ฟังขณะนี้ ที่อาจารย์ได้อธิบาย ผมว่าผมพอจะเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีเวทนาขันธ์ คือไม่มีความรู้สึก เป็นสุข หรือโสมนัส ไม่เดือดร้อน แต่เดือดร้อนเพราะเวทนาขันธ์ เป็นที่ตั้งของความรู้สึก

    ผู้ฟัง เรื่องของเวทนา ได้ทราบมาว่า มีเวทนา ๕ ความรู้สึก ๕ อย่าง ถ้าทางกายก็คือสุขเวทนา ทุกขเวทนา และอีก ๓ คือ โสมนัสเวทนา และโทมนัสเวทนา และอุเบกขาเวทนา ๓ อย่างนี้ โสมนัส โทมนัส อุเบกขา เป็นเฉพาะทาง หู ตา จมูก ลิ้น ๔ ทางเท่านั้น ทีนี้ที่เราข้องใจ ถ้าเผื่อว่าเป็นทางกาย พอสัมผัส ความรู้สึกจะต้องมีอย่างหนึ่งอย่างใดแน่นอน ไม่สุขก็ทุกข์ อันนั้นใช่เลย

    ท่านอาจารย์ ใช่

    ผู้ฟัง แต่ถ้าเผื่อว่าเป็นทางอุเบกขา จะเป็นเฉพาะทางใจ

    ท่านอาจารย์ ตา หู จมูก ลิ้น ใจ

    ผู้ฟัง ไปทาง ๔ เท่านั้นจะเป็นอุเบกขา คือ เฉยๆ เห็นแล้วในครั้งแรก จะไม่รู้สึกเหมือนกับทางกาย ที่จะต้องสุข หรือทุกข์เลย

    ท่านอาจารย์ ความรู้สึกมี ๕ อย่าง เฉพาะทางกายมี ๒ อย่าง นอกจากนั้นเป็นทางอื่นหมด ทางกายต้องเป็นสุขหรือทุกข์เท่านั้น จะเป็นโสมนัส โทมนัสไม่ได้

    ผู้ฟัง เมื่อท่านอาจารย์กล่าวถึงตรงนี้แล้ว แปลกใจนิดว่า ทางกาย พอสัมผัสไปเลยจะเป็นสุขหรือทุกข์อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเผื่อเป็นทาง หู ตา จมูก ลิ้น จะเป็นอุเบกขา ไม่มีสุข หรือทุกข์ ตรงนี้มันแปลกดีเหมือนกัน เพราะว่าทำไมเวลาทางตาเห็น มันน่าจะสุขหรือทุกข์เลย แต่เปล่า บอกว่าเป็นอุเบกขา แต่พอมาทางกาย

    ท่านอาจารย์ ถ้าเข้าใจคำว่า สุขกาย หรือทุกข์กาย จะเห็นได้ชัดว่าทุกข์กาย เจ็บ ปวด เมื่อย ที่เราเป็นไข้ จะใช้คัน หรืออะไรก็ตามแต่ทั้งหมดเป็นทุกขเวทนา แต่ถ้าไม่ใช่อาการเหล่านี้คือสุขเวทนา สบาย

    ผู้ฟัง ตอนนี้เรื่องที่ทำให้ที่ต้องทำให้มากราบเรียนถาม เพราะมีคำว่า อทุกขสุข พอบอก อทุกขมสุขก็เลยนึกไปว่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ทุกข์ ไม่สุข คืออุเบกขานั่นเอง จะใช้คำไหนก็ได้ ทีนี้ทางตาไม่สงสัยหรือว่า ทำไมไม่เป็นสุข เป็นทุกข์ เพราะว่ากระทบกายปสาท ถ้าอะไรเข้าตา เจ็บ ขณะนั้นต้องเป็นทุกข์ แต่เพียงเห็นเฉยๆ ไม่ได้เจ็บอย่างนั้น

    ผู้ฟัง เพราะว่าตรงจักขุปสาท นี่ ไม่ใช่กายปสาท

    ท่านอาจารย์ ใช่ จักขุปสาทเป็นปัจจัยให้เห็นเฉยๆ เท่านั้น ขณะเดียวเท่านั้น เพียงเห็น แต่ถ้ามีอะไรกระทบตรงตาที่เกิดความรู้สึกนั้น คือ กระทบกายปสาท เพราะเหตุว่ากายปสาทซึมซาบทั่วตัว ทั้งภายในภายนอก เหมือนอย่างเมื่อกี้เราพูดเรื่องหัวใจเต้น ที่รู้เพราะกระทบสิ่งที่ไหว จริงๆ แล้วอุเบกขามีถึง ๑๐ อย่าง แต่เพื่อที่จะเจาะจงให้รู้ว่าเป็นความรู้สึก จึงใช้คำว่า อทุกขมสุข ไม่ให้ไปปนกับอุเบกขาในความหมายอื่น

    ผู้ฟัง อทุกขมสุขเวทนา เข้าใจว่าอุเบกขา แต่ว่าพูดนี้ เพื่อที่จะให้หมายความถึง

    ท่านอาจารย์ เวทนา ความรู้สึก

    ผู้ฟัง เวทนาทางกาย

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ทางกาย

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ทางกาย

    ท่านอาจารย์ คือทางกายเป็นสุข ๑ เป็นทุกข์ ๑ เท่านั้น ไม่มีอทุกขมสุข เพราะเมื่อเป็น อทุกขมสุขแล้ว จึงไม่ใช่ทางกาย ทางกายต้องเป็น ๑ ใน ๒ คือสุข หรือทุกข์ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ไม่สุขหรือทุกข์ จึงไม่ใช่ทางกาย

    ผู้ฟัง อุเบกขาก็มีอยู่แล้ว

    ท่านอาจารย์ จะใช้คำนั้นก็ได้ แต่อุเบกขามี ๑๐ อย่าง

    ผู้ฟัง ที่ท่านใช้คำ อทุกขมสุขเวทนา เพื่อต้องการให้รู้ว่าเป็นเวทนา เพราะถ้าใช้คำว่า อุเบกขา ทุกแห่งไป มันก็จะไปตรงกับอุเบกขาตั้ง ๑๐ อย่าง มีมากมายเลย ไม่รู้ว่าอุเบกขาไหน

    ผู้ฟัง อันนั้นเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ เวทนาผ่านไปได้หรือยัง

    ผู้ฟัง ผมคิดว่าตอนนี้ พอผ่านไปก่อน พอจะเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ขันธ์ ๕ เริ่มจากรูปขันธ์ เข้าใจแล้ว แล้วก็เวทนาขันธ์ เป็นความสำคัญ เป็นความยึดมั่นของสัตว์โลกทุกคน หรือทุกบุคคล ปลาต้องการสุขเวทนาไหม ไม่วาจะเกิดเป็นอะไร ยุง ถ้าไม่ได้กินอาหารก็ต้องหิวโหย ก็เป็นทุกข์ เพราะว่ายุงมีกาย ก็ต้องมีทุกข์จากไม่ได้กินอาหาร เพราะฉะนั้น แม้ยุงก็ต้องการสุขเวทนา สัตว์โลกเหมือนกันหมด เมื่อมีความรู้สึกแล้ว สิ่งที่แสวงหาต้องการที่สุดคือสุขเวทนา หรือโสมนัสเวทนา ถ้าไม่ได้สุข ไม่ได้โสมนัส แม้อะไรก็ยังดี อุเบกขาก็ยังดี ขออย่างเดียว เพียงอย่าทุกข์ อย่าโทมนัสก็แล้วกัน เหมือนกันหมด

    ถ้าศึกษาธรรมแล้วเราจะเห็นได้ว่า เหมือนกับสภาพธรรมที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของเลย ไม่ว่าจะชาติไหน ภาษาไหน สุขเวทนาชาตินั้นกับชาตินี้ก็เหมือนกัน คือเป็นสภาพที่รู้สึกสุขทางกาย ทุกขเวทนาของชาติไหน ภาษาไหนก็เหมือนกัน คือเป็นทุกข์ทางกาย โสมนัสดีใจทางใจ ทุกชาติทุกภาษา เหมือนกันหมด

    เราก็จะมีความเห็นใจเข้าใจในสภาพของแต่ละชีวิต ซึ่งต่างก็แสดงหาความรู้สึกที่เป็นสุข หรือโสมนัส ทำให้เราอาจจะเป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีความกรุณา เมตตาเพิ่มขึ้น

    ทีนี้อะไรที่ทำให้เราไม่สามารถจะพ้นไปจากความติดข้อง ความยึดมั่นความต้องการ ในเวทนาต่างๆ เหล่านี้ได้ เพราะเหตุว่าเวทนาก็เกิดขึ้นแล้วดับไป ใครกำลังป่วยไข้เป็นทุกข์ เวลาหายทุกข์ ทุกขเวทนานั้นก็หมดแล้ว ไม่มีอีกแล้ว

    ความรู้สึกทุกชนิดเกิดดับ แต่อะไรที่ทำให้เรา ไม่หมดความติดข้อง ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นเกิดแล้วดับแล้ว ก็เพราะเหตุว่ามีสัญญาความจำ ในภาษาไทยเราใช้คำว่าสัญญา หมายความถึง สัญญาที่เราทำต่อกัน จะโดยคำพูดหรือโดยตัวหนังสือ หรือเขียนลงลายเซ็นเป็นหลักฐานก็ตามแต่ เพื่อให้คนนั้นจำ แต่ว่าสภาพที่จำจริงๆ มี เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เพราะเหตุว่ารูปจำอะไรไม่ได้ รูปไม่จำอะไรไม่มีความรู้สึกใดๆ ทั้งสิ้น รูปเป็นรูปธาตุ ไม่รู้อะไรเลย แต่เพราะนามธาตุมากมายมหาศาล รวมทั้งความจำก็เป็นสภาพนามธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ทำหน้าที่อื่นเลย นอกจากจำ อย่างเดียว พอเห็นทันทีรู้ว่าเป็นคุณศีลกันต์ ไม่ใช่ใครที่จำแต่เป็นสัญญาเจตสิก สภาพนามธรรมชนิดหนึ่งซึ่งเกิดกับจิตทุกๆ ขณะที่จิตเกิด จะต้องมีสภาพธรรมอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดกับจิต ไม่เกิดกับอย่างอื่นเลย จิตเกิดที่ไหนต้องมีสภาพธรรมเหล่านี้เกิดร่วมด้วย ชื่อว่า เจตสิก มีหลายประเภท มีถึง ๕๒ ชนิด และสัญญาก็เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง เวทนาความรู้สึกก็เป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง ขณะใดที่จิตขณะหนึ่งเกิดขึ้น จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยอย่างน้อยที่สุด ๗ ประเภท อย่างมากก็ถึง ๓๐ กว่าประเภท ตามระดับของจิตนั้นๆ

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ที่เราสุขขณะหนึ่ง แล้วก็ยังแสวงหาสุขขณะต่อไปอีก หรือโสมนัสดีใจตื่นเต้น ชอบใจเป็นสุขขณะใดเกิดขึ้น ก็ยังแสวงหาสิ่งนั้นอีก เพราะสัญญาเจตสิกเป็นสภาพที่จำทุกอย่าง เพราะเกิดกับจิตทุกขณะ ถ้าคุณศีลกันต์ ไม่เคยรับประทานนกชนิดหนึ่ง จะเกิดความพอใจติดข้องแสวงหานกชนิดนั้นก็ไม่ได้ แต่พอลิ้มรสนกซึ่งไม่เคยได้รับประทาน แล้วก็รู้สึกอร่อยมาก จำรสนั้นได้ สัญญา จำ ทำให้แสวงหารสนั้นอีก ต้องไปรับประทานนกชนิดนั้นอีก

    แม้ว่าเวทนาเจตสิกจะเกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยว่า ถ้าสิ่งที่ดีก็ทำให้โสมนัสเวทนาเกิด ถ้าสิ่งที่ไม่ดีก็ทำให้โทมนัสเวทนาเกิด แต่ก็ดับไป แต่ตัวสัญญาเป็นผู้ที่จำ เพราะฉะนั้น ก็ทำให้มีการแสวงหาสิ่งนั้นโดยไม่ลืม ซึ่งเป็นปัจจัยให้สังขารขันธ์ เจตสิกอีก ๕๐ ประเภทเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าเราจะแสวงหาอะไรอย่างวันนี้ คุณศีลกันต์ กำลังฟังธรรม กำลังเริ่มมีปัญญา ความเข้าใจถูกต้องเกิดขึ้น สัญญาจำ ทำให้มีการแสวงหาที่จะเข้าใจเพิ่มเติมอีกโดยการอ่าน โดยการฟัง โดยการสนทนา แต่ถ้าสัญญาไม่ได้จำแต่เฉพาะเรื่องนี้ ใช่ไหม เมื่อเช้าอาหารอร่อย รสไหน จำไว้ ผักชนิดนี้อร่อย ขอรับประทานอีกตอนกลางวัน หรือขอรับประทานอีกตอนเย็น เพราะสัญญาจำรสนั้น เพราะฉะนั้น สัญญาขันธ์เป็นสภาพธรรมที่ยึดมั่นอย่างหนึ่ง เพราะเหตุว่าพอสัญญาเกิดขึ้น กลายเป็นเราจำ พอความรู้สึกเกิดขึ้นเป็นสุข กลายเป็นเราสุข ความรู้สึกเป็นทุกข์เกิดขึ้น กลายเป็นเราทุกข์

    ความยึดมั่นอยู่ที่รูป อยู่ที่เวทนา แล้วก็อยู่ที่สัญญา ด้วยเหตุนี้จึงใช้คำว่า อุปทานขันธ์ ที่ตัวคุณศีลกันต์ มีอุปาทานขันธ์ไหม มี มีอะไรบ้าง

    ผู้ฟัง ก็มีรูป

    ท่านอาจารย์ รูปขันธ์ เป็นที่ยึดมั่น เป็นอุปาทานขันธ์

    ผู้ฟัง มีเวทนา

    ท่านอาจารย์ มีเวทนาขันธ์ เป็นเครื่องยึดมั่น

    ผู้ฟัง มีสัญญา

    ท่านอาจารย์ มีสัญญาขันธ์ แล้วก็เจตสิกอื่นที่เหลือทั้งหมด เป็นสังขารขันธ์ ความโกรธเป็นสังขารขันธ์ เพราะไม่ใช่เวทนาขันธ์ ไม่ใช่สัญญาขันธ์

    โทสะเกิดขึ้น จริง เป็นขันธ์ ๑ ใน ๕ ขันธ์ คือ สังขารขันธ์ เพราะไม่ใช่รูปขันธ์ ไม่ใช่เวทนาขันธ์ ไม่ใช่สัญญาขันธ์ เจตสิกอื่นที่เหลือทั้งหมดเป็นสังขารขันธ์ จิตทุกดวงเป็นวิญญาณขันธ์ รวมว่าครบ ๕ ขันธ์

    ผู้ฟัง จิตทุกดวง

    ท่านอาจารย์ เป็นวิญญาณขันธ์ เพราะคำว่าจิต กับคำว่าวิญญาณ จะใช้คำหนึ่งคำใดก็ได้ เหมือนสตรี นารี อีก เหมือนกัน เพราะว่าเป็นธาตุรู้ เป็นสภาพรู้

    ผู้ฟัง ที่อาจารย์บอกว่าเกิดอย่างน้อย ๗ ดวง อย่างมาก ๓๐ กว่าดวง

    ท่านอาจารย์ เจตสิก เพราะว่าปรมัตถธรรม มี ๔ ๑.จิต ๒.เจตสิก ๓.รูป ๔.นิพพาน

    ผู้ฟัง เราจะต้องศึกษา ไหม ๗ ดวงมีอะไรบ้าง

    ท่านอาจารย์ ทีหลังก็ได้ ทีละนิดทีละหน่อยไปเรื่อยๆ ข้อสำคัญที่สุดคือให้เข้าใจสภาพธรรมเดี๋ยวนี้จริงๆ ว่า สภาพธรรมใดเป็นรูปธรรม สภาพธรรมใดเป็นนามธรรมก่อน และนามธรรม คือ จิต และเจตสิก ซึ่งต่างกัน ให้เข้าใจจริงๆ แล้วก็จะค่อยๆ จำได้ อย่างเวทนาก็รู้ว่า เป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต ต่อไปเราก็อาจจะอธิบาย หรือบอกว่าความต่างกันของจิตกับเจตสิกนั้นคืออะไร แต่ก็เป็นสภาพธรรมที่มีในขณะนี้ ต้องเกิดพร้อมกัน ต้องดับพร้อมกัน

    ผู้ฟัง ที่ว่าเกิดจิต ไม่เกิดเจตสิกนี่

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเลย

    ผู้ฟัง แล้วถ้าเกิดเจตสิก ไม่เกิดจิต

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเลย เพราะเหตุว่าสภาพธรรมทุกอย่าง ต้องมีปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้น เกิดขึ้นเองลำพังไม่ได้ ไม่ว่านามธรรมหรือรูปธรรม จะต้องมีสิ่งซึ่งปรุงแต่ง อุปถัมภ์ช่วยกัน อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง คำว่าปรุงแต่ง หรือปัจจัยทำให้เกิดขึ้น คืออะไร

    ท่านอาจารย์ จิต เจตสิก รูป เป็นสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น ปัจจัยก็คือจิต เจตสิก รูป ต่างอาศัยกัน และกัน โดยปัจจัยต่างๆ นิพพานก็เป็นอารัมมณปัจจัย เพราะทำให้โลกุตตรจิตเกิด

    เพราะฉะนั้น ทั้งหมดที่เป็นปรมัตถธรรม คือ สิ่งที่มีจริง เราพูดถึงสิ่งที่มีจริง เพราะเหตุว่าสิ่งที่ไม่มี ไม่สามารถที่จะพูดถึงได้ แต่สิ่งที่มีจริงทั้งหมดสามารถที่จะรู้ความจริงของสิ่งต่างๆ เหล่านั้นได้ว่า แต่ละอย่างคืออะไร เป็นสัจธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ครบแล้ว ใช่ไหม ๕ ขันธ์ โดยย่อ

    ผู้ฟัง แล้วจิตกับเจตสิก ใครเป็นใหญ่ หรือว่าต่างคนต่างเกิดพร้อมกัน เกิดเพราะมีปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ต่างเป็นปัจจัยซึ่งกัน และกัน

    ผู้ฟัง ปัจจัยซึ่งกัน และกัน ระหว่าง จิต และเจตสิก

    ท่านอาจารย์ แน่นอน จิตจะเกิดโดยที่ไม่มีเจตสิกก็ไม่ได้ เจตสิกจะเกิดโดยไม่มีจิตก็ไม่ได้ เหมือนอย่างธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ขาดธาตุ ๑ ธาตุใดไม่ได้เลย

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 99
    23 มี.ค. 2567