ปกิณณกธรรม ตอนที่ 370
ตอนที่ ๓๗๐
สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่
พ.ศ. ๒๕๔๐
ท่านอาจารย์ ปฏิบัติของเขาคือทำ ไม่ใช่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้สภาพธรรมที่เกิดแล้วปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริงว่า ไม่มีใครทำ มรรคมีองค์ ๘ ปกติคือมรรคมีองค์ ๕ เพราะสติเกิดจึงระลึก แต่ถ้าไม่มีปัญญาไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจเลย สัมมาสติเกิดไม่ได้ เขาเรียกสมาธินั้นว่าสติเท่านั้นเอง แต่ว่าเขาจะไม่มีวันที่จะรู้จักลักษณะของสัมมาสติ เพราะเหตุว่าต้องมีสัมมาทิฏฐิจึงจะเป็น สัมมาสติได้ แต่ถ้าไม่มีความเห็นถูก จะเป็นสัมมาสติได้อย่างไร ในเมื่อมรรคก็แสดงไว้แล้วว่า เริ่มต้นจากสัมมาทิฏฐิ
เพราะฉะนั้น ต้องไม่ลืมว่า ทุกคนที่จะเข้าถึงพระธรรมได้จริงๆ ที่จะเห็นความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ก็ต่อเมื่อเป็นผู้ที่ละ ไม่ใช่เป็นผู้ที่ต้องการ แม้แต่ขณะที่ฟัง ฟังเพื่อเข้าใจในขณะที่กำลังฟัง ไม่ได้หวังว่า แล้วต่อไปสติจะได้เกิด นั่นคือหวังอีกแล้ว ต้องรู้เท่าทันโลภะ หรือความติดข้องว่า เป็นเครื่องเนิ่นช้า ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะทำให้ปัญญาเจริญ แต่ว่ากลับเป็นเครื่องเนิ่นช้า แต่ตรงกันข้ามถ้ารู้ว่าธรรมเป็นสิ่งที่ละเอียดมาก แล้วมีปรากฏในชีวิตประจำวัน แล้วปัญญาที่ถูกต้องจริงๆ คือการที่สามารถเข้าใจถูกต้อง เห็นถูกต้องในความเป็นธรรมของสิ่งที่กำลังปรากฏ เราก็ศึกษาด้วยความเบา ด้วยความสบาย แล้วก็รู้ตามความเป็นจริงว่า ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วก็จะรู้ว่า ขณะที่สติเกิดต่างกับขณะที่หลงลืมสติ แล้วก็ไม่ได้มีความกระวนกระวายต้องการที่จะให้สติเกิดมากๆ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นก็คือ โลภะ มาอีกแล้ว ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็ไม่ได้ละสมุทัย เพราะหนทางนี้ที่จะถึงธาตุซึ่งเป็นธาตุที่ดับกิเลสได้ ต้องเป็นโดยการละโดยตลอดที่จะไม่ติดข้อง ที่จะไม่มีอะไรมาบัง ที่จะไม่มีอะไรชวนให้ไปสู่ทางซึ่งไม่ทำให้สามารถที่จะละคลายได้ เพราะเหตุว่าแม้การละ ต่อไปก็จะรู้ว่าละคลายความไม่รู้ ในสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ ไม่ใช่ละอย่างอื่น แล้วจะไปทำอะไรกัน นอกจากทำความไม่รู้ หรือว่าทำเพราะไม่รู้ว่า ขณะนี้เป็นธรรมแล้ว เป็นสิ่งที่ปัญญาสามารถที่จะเข้าใจได้ ค่อยๆ อบรมไปเรื่อยๆ
ไม่ทราบว่า ฟังธรรมถึงตอนที่พูดเรื่องสัจจญาณหรือยัง เพราะเหตุว่าอริยสัจ ๔ มี ๓ รอบ ข้อความนี้อยู่ในพระไตรปิฎก รอบที่ ๑. คือ สัจจญาณ รอบที่ ๒. คือ กิจจญาณ รอบที่ ๓. คือ กตญาณ
นี่เป็นความละเอียดของพระธรรมที่ทรงแสดงไว้มากมาย เพื่อไม่ให้เราหลงผิดเข้าใจผิด เพราะเหตุว่าความหลงผิดไม่ยาก เพราะเหตุว่ามีโลภะ ความติดข้องเมื่อไร ก็สามารถที่จะทำให้เกิดความเห็นผิด ต้องการผลอย่างรวดเร็วเมื่อนั้น
เพราะฉะนั้น ก็จะต้องศึกษาโดยละเอียดจริงๆ ว่า ทำไมทรงแสดงอริยสัจ ๔ ถึง ๓ รอบ แล้วรอบที่ ๑ คือ สัจจญาณ เป็นปัญญาที่เข้าใจจริงๆ ในอริยสัจ ๔ เข้าใจจริงๆ ว่า ขณะนี้ เป็นธรรม ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เข้าใจจริงๆ ว่า ทุกข์ไม่ใช่อย่างอื่นเลย นอกจากสิ่งนี้ที่เกิด ดับ ขณะนี้เอง ทุกอย่างที่กำลังปรากฏ เกิดดับเร็วมาก นี่คือสภาพที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สภาพความไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนเลย ความไม่ยั่งยืน ไม่ใช่นานแสนนาน พอเกิดมาแล้วก็ค่อยๆ แก่ ค่อยๆ เจ็บ ค่อยๆ ตาย นั่นไม่นานอย่างนั้นเลย ความไม่ยั่งยืนเร็วที่สุด เร็วแสนเร็วจนไม่ปรากฏ
นี่คือทุกขอริยสัจ ซึ่งปัญญาสามารถที่จะประจักษ์แจ้งได้ ถ้าไม่มีการประจักษ์แจ้ง พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ไม่อาจจะประจักษ์แจ้งได้ เพราะมีการประจักษ์แจ้ง จึงทรงแสดงหนทางที่จะทำให้บุคคลอื่นสามารถที่จะประจักษ์แจ้งด้วย แล้วคนในอดีตกาลก็ประจักษ์แจ้งความจริงอย่างนี้มาก เพราะฉะนั้น คนยุคนี้ ถ้าจะมีปัญญาเท่าคนยุคนั้น ซึ่งได้สะสมบารมีมานานแสนนาน แสนกัป ก็มี แล้วเราจะต้องการผลเร็วๆ เป็นได้อย่างไร เพียงแต่ว่าเมื่อเราเกิดมา มีโอกาสได้ฟังพระธรรม ก็ให้ฟังด้วยความละเอียด แล้วก็เพื่อที่จะใด้ให้สัจจญาณของเรามีความมั่นคงว่า ทุกขอริยสัจ ไม่ใช่อื่น ไม่ใช่ต้องไปทำ แต่เป็นการอบรมเจริญความรู้เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ จนกว่าจะถึงวันที่ประจักษ์ การเกิดขึ้น และดับไปของสภาพธรรม ตามปกติอย่างนี้ จนกว่าจะถึงวันที่ประจักษ์การเกิดขึ้น และดับไป ของสภาพธรรม ตามปกติอย่างนี้ ซึ่งคนในครั้งโน้นท่านประจักษ์ตามปกติอย่างนี้ ขณะที่กำลังฟังธรรม บางท่านก็ได้เป็นพระโสดาบัน วิสาขานิคารมาตา อายุ ๗ ขวบไปรับเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ฟังธรรมเป็นพระโสดาบัน ปกติธรรมดาเราก็เห็น เราก็ได้ยิน เหมือนคนในอดีต แต่ว่าอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานที่จะอบรมปัญญาโดยไม่หวั่นไหว ไม่ทำอย่างอื่น แต่มีความมั่นคงในสัจจญาณ ที่จะรู้ความจริงว่า ใครบอกว่าต้องทำอย่างอื่น แต่เรารู้ว่า ปัญญาสามารถที่จะรู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ แล้วจะให้ทำอะไร นอกจากฟัง เข้าใจเพิ่มขึ้น พิจารณาเพิ่มขึ้น รู้ความต่างกันของขณะที่สติเกิดกับขณะที่หลงลืมสติ ค่อยๆ อบรมไป ค่อยๆ เข้าใจไป จนกว่าวันหนึ่งวันใดก็ได้ ชาติไหนก็ได้ ที่เราจะไม่เปลี่ยนไปด้วยความเห็นผิดว่า ต้องไปทำอย่างอื่น ซึ่งไม่ใช่หนทางที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏ
ถ้าจะมีการทำเมื่อไร แสดงว่าคนนั้นไม่เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเลย แม้แต่ว่าธรรม คือทุกสิ่งทุกอย่างในขณะนี้ เป็นสิ่งที่มีจริง ก็ไม่เข้าใจ ถ้าเข้าใจแล้ว จะไปทำอย่างอื่นได้อย่างไร ในเมื่อมีสิ่งที่กำลังปรากฏให้เข้าใจ โดยขั้นการฟังก่อน แล้วค่อยพิจารณา ค่อยๆ อบรมไป
เพราะฉะนั้น จึงเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง ผู้ที่เป็นพระโสดาบัน พระอริยบุคคลขั้นต้น อุชุปฏิบันโน เป็นผู้ปฏิบัติตรง ตรงต่อหนทางที่จะรู้แจ้งธรรมซึ่งกำลังปรากฏตรงตามความเป็นจริง ธรรมทั้งหลายในขณะนี้จะเป็นกุศล หรือจะเป็นอกุศล จะเป็นวิบาก จะเป็นกิริยา ตามที่ได้ศึกษามาก็ตาม คือ ธรรม เท่านั้นเอง เป็นสิ่งที่มีจริงๆ
เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นยังไม่ต้องไปถึงสติปัฏฐาน หรือสติจะระลึกบ้างก็เป็นเรื่องที่ว่าเป็นปกติ ให้เห็นความเป็นปกติซึ่งไม่ต้องตื่นเต้น รู้ว่าเป็นของธรรมดาซึ่งเป็นธรรม ถ้ารู้ว่าเป็นธรรม มีความมั่นคง เข้าใจขึ้นว่าเป็นธรรมเท่านั้น จะตื่นเต้นไหม ก็เห็นก็เป็นธรรม สติก็เป็นธรรม หลงลืมสติก็เป็นธรรม
เพราะฉะนั้น หนทางนี้เป็นทนทางที่จะละความตื่นเต้น หรือว่าละความต้องการ หรือว่าละความหวัง แต่ว่าเป็นการที่จะรู้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรมจริงๆ
สิ่งที่น่ากลัวมาก คือความติดข้องต้องการซึ่งเป็นโลภะ ซึ่งเป็นผู้สร้างสังสารวัฏฏ์ หลังจากที่ตรัสรู้แล้ว ที่ทรงอุทานก็คือว่า ได้พบนายช่างเรือน คือโลภะ ซึ่งสร้างบ้านเหมือนกับสร้างสังสารวัฏฏ์ทุกชาติไป มีที่อยู่ ที่อาศัย ภพนี้ก็เป็นที่อยู่อาศัยของบุคคลนี้ ตัวตนนี้ จนกว่าจะเลิกสร้างบ้านสร้างภพเมื่อไร เมื่อนั้นถึงจะดับหมดสิ้นจริงๆ แต่ให้ทราบว่า ธรรมเป็นธรรม เอาชื่อของคนนั้นออก เอาทุกอย่างออกก็คือเห็นตัวโลภะชัดเจนว่า อย่างไรๆ ก็มีกำลัง จะเรียนไปเท่าไร จะเรื่องปัจจัยก็เรียน เรื่องอะไรก็เรียน ถามว่าให้ถึงนิพพานโดยความไม่รู้ เอาไหม เอา ถามอีกก็คงบอกว่าเอาอีก ก็คงจะต้องถามกันต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะตอบว่า ค่อยๆ มีปัญญาดีกว่า เพราะว่าถ้าไม่มีปัญญาอย่างไรๆ ถึงนิพพานไม่ได้ ไม่สามารถจะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นนิพพานธาตุได้เลย
ผู้ฟัง ที่ดิฉันได้มาถึงเวลานี้ ก็ฟังจากที่หลายๆ คนพูด พูดผิดบ้างถูกบ้าง อะไรที่เราเข้าใจอยู่ สิ่งนั้นมันก็มากระตุ้นให้ดิฉันได้อะไรขึ้นมามากมาย ก็เลยคิดว่า เราก็ควรที่จะมีอะไรก็พูดออกไป ตามความรู้สึกที่เรากำลังคิด เรานึกอยู่ ถูกผิดอย่างไร ก็ถือว่าเป็นธรรมอย่างหนึ่งที่จะเกื้อกูลคนอื่นหรือไม่ อันนั้นดิฉันก็ไม่ทราบ
ท่านอาจารย์ ขอให้ทราบว่าทุกครั้งที่พบกัน ก็จะพยายามให้ละ เพราะรู้ว่าโลภะ มากมายมหาศาล แล้วก็มีกำลังมากอยู่ ถ้าปัญญายังไม่ค่อยๆ เกิดขึ้น ไม่มีทางที่จะไปลดลาวาศอกกับโลภะเลย ไม่ทางหนึ่งก็ต้องทางใดจนได้
ทุกครั้งที่ฟัง ขอให้ทุกคนทราบจุดประสงค์ เพื่อละจริงๆ ละสิ่งที่ไม่ดีทั้งหมด ไม่ใช่ว่าละสิ่งที่ดี ละความไม่รู้ ละความติดข้อง ละทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งเราเคยสำคัญตน ว่าเราคงจะรู้อย่างนี้บ้าง รู้อย่างนี้บ้าง เพราะว่าถ้าเป็นความรู้จริงๆ ท่านพระสารีบุตร ท่านมีความประพฤติจากใจจริงของท่าน ซึ่งเป็นพระอัครสาวก เหมือนลูกคนจัณฑาล ไม่ว่าท่านจะไปที่ไหน นี่คือผู้ที่มีปัญญาจริงๆ เพราะเหตุว่าท่านละกิเลสหมด
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องละที่เราไม่มีความติดข้อง แล้วก็ทุกอย่าง แม้แต่ในเรื่องของการฟัง การที่จะเราเก่ง หรือว่าเราอยากจะมีปัญญา คนโน้นคงรู้มาก เรายังรู้น้อยไป พวกนี้จะไม่มีเลย เป็นเรื่องของความที่ว่า ตรงว่า รู้ หรือไม่รู้เท่านั้นเอง แต่ก่อนไม่รู้ เดี๋ยวนี้รู้ขึ้นนิดหนึ่ง ก็ละความไม่รู้ไปนิดหนึ่ง พอฟังมากขึ้นรู้ขึ้นอีก ก็ละความไม่รู้ขึ้นอีก พออกุศลใดๆ เกิด เราก็รู้มีเหตุปัจจัยที่อกุศลประเภทนั้นยังไม่ดับ จึงเกิดขึ้นให้เห็นตามความเป็นจริงว่า เป็นอย่างนี้
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องของความตรง แล้วเป็นเรื่องของความรู้ และเป็นเรื่องของการละด้วย แล้วจะสนับสนุนให้ได้โน่นได้นี่ ก็เป็นเรื่องของโลภะทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องของปัญญา ปัญญาเป็นสภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับโลภะ โลภะเป็นสภาพที่ติดข้อง ปัญญาเป็นสภาพที่ละความติดข้อง ละตลอดจริงๆ ถึงจะถึงได้ของความเป็นคนดีขึ้นดีขึ้นโดยสมบูรณ์
ผู้ฟัง ที่อาจารย์เขียนว่า วิปัสสนูปกิเลส ก็ยังไม่เข้าใจดี ก็ว่าจะโทรมาถาม ก็ อย่าถามดีกว่า มันไม่ทราบว่าจะอธิบายจุดนี้ได้อย่างไร เราสบายใจเหมือนกันว่า มองอะไรไปเหมือนกับว่ามันสบาย มันพอถึงจุดนี้ ไปอ่านเจอ เราก็หลงตรงนี้อีกแล้ว
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วสบายใจนั้นเป็นอะไร
ผู้ฟัง ก็เป็นกิเลส
ท่านอาจารย์ โลภะ ติดเลย
ผู้ฟัง ติดอยู่จริงๆ อันนี้ยอมรับว่า พอปฏิบัติไปถึง ต้องขอใช้คำว่าติดปฏิบัติ
ท่านอาจารย์ แต่หมายความว่าให้เข้าใจจริงๆ
ผู้ฟัง เข้าใจ
ท่านอาจารย์ พอใจจะปฏิบัติไหม หรือว่าสติเกิดกับหลงลืมสติเป็นของธรรมดา ให้เห็นเป็นของธรรมดา ถ้าเรายังคงจะปฏิบัติ ถูกหรือผิด เพราะถ้าใครก็ตามบอก คนนี้ เป็นนักปฏิบัติ ถูกหรือผิด คนนั้นเป็นนักปฏิบัติอย่างโชกโชนเราจะเป็นอย่างไร รู้สึกว่าน่าตื่นเต้นไหม หรือว่าทำไมเขาไปปฏิบัติอย่างโชกโชน อะไรทำให้เขาไปปฏบัติแบบไหน ถึงได้โชกโชน ในเมื่อสภาพธรรมขณะนี้เกิดเป็นปกติ ตามธรรมดา สัจจญาณอยู่ที่ไหน เขารู้หรือเปล่า มีความมั่นคงปัญญาที่รู้สัจจะทั้ง ๔ ตามความเป็นจริงว่า คือสภาพธรรมในขณะนี้ตามปกติ เขารู้หรือเปล่า ถ้ารู้แล้วไปปฏิบัติอะไรโชกโชน แล้วโชกโชนเป็นอย่างไร นั่ง ๑๐ วัน หรือว่าทำอะไรโชกโชน ก็ไม่ทราบ
ผู้ฟัง อยากจะให้อาจารย์สอนเรื่องสัจจญาณ กิจจญาณ กตญาณ ให้ชัดเจน พอจะรู้เรื่องบ้าง แต่เท่าไรก็พูดเองไม่ได้
ท่านอาจารย์ สัจจญาณคือมีความมั่นคงจริงๆ ที่จะรู้ว่า ปัญญารู้สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งเป็นสัจจะ เป็นของจริงแท้ ไม่มีใครปฏิเสธเลยว่า ขณะนี้เห็นจริง ได้ยินจริง คิดนึกจริง สภาพธรรมใดๆ ที่เกิดจริงทั้งหมด เพราะฉะนั้น ปัญญาที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมไม่ใช่รู้อื่น ต้องรู้สิ่งที่ปรากฏ เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าสภาพธรรมเกิดแล้วดับเร็วมาก ถ้าสติไม่ระลึก ดับแล้ว ตั้งแต่มานั่งอยู่ที่นี่ นามธรรม รูปธรรม จิต เจตสิก รูป ดับไปมากมายมหาศาล ด้วยการไม่รู้ ถ้าสติไม่ระลึก
สัจจญาณไม่ใช่รู้อื่น รู้สิ่งที่ปรากฏ แล้วไม่ต้องห่วงว่า ดับไปแล้ว สิ่งใดก็ตามที่ปรากฏ ระลึก แล้วค่อยๆ เข้าใจ ตามปกติ นั่นคือมีความมั่นคงที่จะรู้ว่าปัญญาไม่ใช่รู้อื่น แต่รู้ธรรมที่ปรากฏเพราะเกิดแล้วดับ
ไม่มีการไปนั่งทำอะไร เพราะว่าขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏแล้ว นี่คือสัจจญาณ ญาณที่รู้ความจริงอย่างถูกต้องในอริยสัจทั้ง ๔ เรียกว่าสัจจญาณ เพราะว่าเราศึกษาธรรมเพื่ออะไร เพื่อรู้ความจริง ความจริงคืออะไร ทุกขอริยสัจจะ สิ่งที่เกิดในขณะนี้ดับ ศึกษาเพื่อให้เข้าใจจริงๆ อย่างนี้ ถ้าสติระลึกได้ หลังจากที่เราฟังมานาน ถ้าเราเกิดจิตใจไม่แช่มชื่น ก็รู้ได้ว่าเป็นสภาพธรรมซึ่งอาศัยเหตุปัจจัยเกิดแล้วก็ดับด้วย เพราะเหตุว่าได้ยินไม่ใช่โทสะ ธรรมคนละอย่าง
ปฏิปัตติ คือถึงเฉพาะด้วยปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมแต่ละอย่าง นั่นคือปฏิบัติ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ถึงเฉพาะสภาพธรรมตามความเป็นจริงแต่ละอย่าง จะชื่อว่าปฏิบัติไม่ได้เลย เราเรียกเองในภาษาไทยว่า ปฏิบัติ แม้แต่นักปฏิบัติ เราก็ไปเรียกกันเอง แต่ว่าถ้าจะใช้ปฏิบัติให้ตรงความหมาย คือถึงเฉพาะสภาพธรรมแต่ละอย่างด้วยปัญญา
ผู้ฟัง ที่อาจารย์พูด เมื่อกี้นี้ว่า ถึงเฉพาะ ตรงสภาพธรรมแต่ละอย่างที่กำลังปรากฏ ตรงนี้เป็นสิ่งที่
ท่านอาจารย์ มีสภาพธรรมกำลังปรากฏ เห็นก็ไม่ใช่ได้ยิน ต่างกันแต่ละอย่าง เพราะฉะนั้น จะถึงได้ด้วยสติที่ระลึก แล้วค่อยๆ รู้ด้วยปัญญา นี่คือปฏิบัติ
ผู้ฟัง ให้สติกำหนด เกิดตรงนี้ เป็นสิ่งที่
ท่านอาจารย์ ไม่มีใครให้สติเกิดระลึกตรงไหนเลย
ผู้ฟัง มันเกิดได้ยากมาก ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ ยาก ก็เพราะเหตุว่าปัญญาไม่พร้อม ต้องมีสัจจญาณก่อน ถึงจะมีกิจจญาณได้ เรามีความมั่นคงหรือเปล่า หรือว่าเราคิดว่าทำอย่างนี้สติไม่เกิด เลยไปทำอย่างอื่น นั่นคือเราไม่มีสัจจญาณ
ผู้ฟัง ความมั่นคงก็มี แต่สมมติว่ามันยังไม่เกิด
ท่านอาจารย์ ถ้าเราทำอย่างอื่นเมื่อไร ขณะนั้นไม่มั่นคง ใครผู้ใดก็ตามที่ทำอย่างอื่นเมื่อไร ขณะนั้นไม่ใช่สัจจญาณ เพราะฉะนั้น ในชาติหนึ่งๆ ฟังธรรมเพื่อมีความมั่นคงของสัจจญาณ แล้วไม่ต้องห่วงเรื่องกิจจญาณ ถ้ามีความมั่นคงจริงๆ สติก็มีการระลึกได้ที่ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แล้วถ้าสติระลึกบ่อยๆ ไปเรื่อยๆ กี่ภพกี่ชาติก็ตาม ก็จะต้องถึงกตญาณได้ แต่ไม่ใช่อย่างที่โลภะ ต้องการว่า วันนี้ เดือนนี้ ชาตินี้ นั่นคือโลภะต้องการ ไม่ใช่รู้ความจริงว่าปัญญาจะต้องอบรมเป็นจิรกาลภาวนา นี่เรื่องละแล้ว ใช่ไหม ไม่ต้องไปหวัง ไม่ต้องไปรอ ไม่ต้องไปติด แบบอบรมไปเรื่อยๆ เมื่อเหตุมีผลก็ต้องมี นี่ก็ละโลภะไปแล้ว แต่ถ้าจะทำอย่างอื่นก็คือ โลภะมาไหม่ มาอีกแล้ว
ผู้ฟัง มันจะมีมาเรื่อยๆ
ท่านอาจารย์ ต้องอาศัยปัญญาที่ฟังแล้วก็มั่นคงขึ้น มั่นคงชึ้น เพราะไม่มีเรา มีแต่สภาพธรรมที่สะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น ที่จะคิดอย่างนั้น ที่จะทำอย่างนั้น
จากทุกข์ ก็ไปถึงสมุทัย ไปถึงนิโรธ ถึงมรรค ปัญญาก็จะต้องค่อยๆ เข้าใจไป ตามลำดับ
เกี่ยวเนื่องกัน อย่างถ้าเรารู้จริงๆ ว่า ขณะนี้สภาพธรรมเป็นสัจจะ ปัญญารู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนี้ จึงเป็นสัจจญาณ ถ้ารู้อย่างนี้ก็ละสมุทัย ละความติดข้องต้องการที่จะทำอย่างอื่น ถ้าละความติดข้องต้องการ หนทางนี้ก็เป็นทางที่จะทำให้ประจักษ์แจ้งลักษณะของนิพพาน เราก็มีความมั่นคง ไม่ใช่อย่างที่คุณเครือพันธ์ สงสัย แล้วใครนะจะรู้ แล้วเราไม่รู้ เราไปทำอย่างอื่น เพื่อจะเร็วขึ้น อันนั้นคือไม่ใช่สัจจญาณ ถ้ารู้ว่าปัญญารู้ความจริงที่กำลังเกิดดับของสภาพธรรม ขณะนั้นละสมุทัย ละความติดข้องต้องการ เพราะว่าเมื่อความจริงเป็นอย่างนี้แล้วไม่รู้ ก็จะต้องอบรมเจริญหนทาง นี่ก็คือสามารถที่จะรู้มรรค แล้วรู้ว่าหนทางนี้เป็นทางที่จะประจักษ์แจ้งนิพพานธาตุ ก็มีสัจจญาณทั้ง ๔ ในอริยสัจทั้ง ๔ เพราะว่าเป็นทางเดียวกัน หนทางที่จะไปถึงไม่ได้แยกจากกันเลย ไม่มีเราพยายาม
พยายามได้ไหม ไหนลองพยายามสิ พยายามอย่างไร แล้วพยายามอย่างไร นี่ไม่ใช่เรื่องการรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังเกิดดับ มองไม่เห็นสักที เพราะว่าไม่ใช่ปัญญาจะเห็นได้อย่างไร ต้องรู้ว่าปัญญากับอวิชชานี่ต่างกัน ไม่ใช่ว่าฟังแค่นี้มีปัญญาแล้ว จะทำแล้ว จะละแล้ว เห็นทุกข์แล้ว ไม่ใช่เลย ต้องฟังด้วยดีอย่างละเอียดที่จะรู้ว่า ปัญญาหมายความว่าเข้าใจสิ่งที่กำลังฟังในขณะนี้เป็นขั้นต้น
ถ้าเผื่อ ไม่มี ไม่มีถ้าเผื่อ ไม่มีประโยชน์ถ้าจะพูดถึงสิ่งซึ่งไม่จริง ธรรมเป็นเรื่องจริง เข้าใจคือเข้าใจ ยังไม่เข้าใจคือฟังต่อไป ถ้าไม่เข้าใจก็ฟังอีก มีหนทางเดียว พอจะทราบก็ต้องฟังอีก ไม่จำเป็นต้องอธิบาย ถ้าเราเข้าใจแล้วเราจำเป็นที่จะต้องอธิบายหรือเปล่า หรือต้องมาสอบซ้อมว่า ถ้าเราเข้าใจแล้วเราต้องอธิบายได้ ไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่เครื่องเปรียบเทียบ เครื่องเปรียบเทียบก่อนอื่นคือขณะที่กำลังฟังเข้าใจหรือเปล่า
ผู้ฟัง พอเราหลงไปแล้ว แล้วเราก็นึกขึ้นมาได้ว่า วันนี้เราเข้ามาในห้างเราเจริญสติไม่ได้เลย อันนี้ก็ยังไม่ใช่หนทางที่ถูกต้องหรือ
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ เป็นขั้นคิดนึกไง นึกขึ้นมาได้ว่า หลงลืมสติ
ผู้ฟัง แล้วเราก็เจริญสติต่อ อันนี้ก็ไม่ใช่
ท่านอาจารย์ ถ้าเราเจริญสติ ตรงนี้ผิด ถ้าเราเจริญตรงนี้ไม่ใช่แน่นอน เพราะว่าจริงๆ แล้ว สติไม่มีใครบังคับ ไม่มีใครตั้งไว้ ไม่มีใครใช้
ผู้ฟัง ในขณะที่ระลึกได้ อันนั้นไม่ใช่
ท่านอาจารย์ ดับแล้ว เพียงนึกก็ดับแล้ว เพราะฉะนั้น ถ้าสติจะเกิดเพราะมีเหตุปัจจัย การรู้ว่า สติเกิดเพราะเหตุปัจจัยจะทำให้ละความเป็นเรา ซึ่งละแสนยากความเป็นเรา ความเป็นตัวตนซึ่งทำได้ จะเกิดความดีใจ จะเกิดความขวนขวายที่จะทำอีก เพราะคิดว่าเราทำได้ ไม่ใช่เรื่องละเลย
เราต้องเตือนตัวเองบ่อยมาก จะต้องยึดหนทางที่ถูกต้อง ไม่ตกไปสู่หนทางที่ผิด ต้องมีสัจจญาณจริงๆ ว่า เรื่องของการศึกษาธรรม หรือการเข้าใจธรรม เป็นเรื่องละโดยตลอด ถ้าพลาด เกิดความต้องการขึ้น สติเกิดจะระลึกได้ว่า นี่ไม่ใช่หนทาง เพราะว่าเป็นเรื่องของความต้องการ เราถูกครอบงำด้วยโลภะ เงยหน้าไม่ขึ้น ไม่ว่าจะไปทางไหนมีแต่โลภะ ครอบงำไว้สนิท กว่าเราจะพ้นจากความครอบงำของโลภะได้ ก็ด้วยปัญญา จริงๆ ที่รู้เท่าทันโลภะทุกอย่าง ถ้ามิฉะนั้นแล้วเราก็ตกเป็นธาตุของเขาว่าดี สติเกิดมากๆ ดี เราทำได้มาก นี่เราดี จะไม่พ้นจากความเป็นเรา
หนทางที่ว่ายาก คือยากตอนที่ไม่มีเรา ต้องอาจหาญร่าเริงที่จะละทิ้งทุกอย่าง แม้แต่เราดี เรามีสติมากๆ ก็จะต้องไม่มีเรา จริงๆ แล้วไม่มีเรา ถึงจะละได้
ผู้ฟัง ถ้าในกรณีนี้ อย่างสมมติว่า ไม่ใช่เรื่องสมมติ เรื่องจริง อย่างเรากำลังล้างจาน แล้วมีความรู้สึกแข็ง รู้สึกอะไร อันนี้เป็น โดยที่มันรู้สึกขึ้นมาเองโดยสัมผัสไป อันนี้เป็นสติ หรือว่ายังอยู่ในระหว่างที่เรายังมีเราอยู่ อันนี้คืออะไร
ท่านอาจารย์ ความเป็นเรายังหมดไม่ได้เลย แล้วก็จิตเกิดดับเร็วมาก เพราะฉะนั้น ชั่วขณะเล็กน้อยที่สติเกิด ขณะต่อไปก็จะมีความเป็นตัวตนเกิดขึ้นได้ แต่ข้อสำคัญที่สุดที่จะต้องรู้แน่ก็คือว่า ขณะใดมีสติ ขณะใดหลงลืมสติ เพราะเหตุว่าสภาพของกายวิญญาณ ธาตุรู้แข็ง เย็น ร้อน ตึง ไหว เป็นของปกติ สำหรับคนที่มีกายปสาท กายปสาท ซึมซาบอยู่ทั่วตัว บางครั้งรู้สึกปวดท้อง เจ็บตรงนั้น หรือว่าปวดศีรษะก็ตามแต่ ขณะนั้น มีกายปสาทที่จะรู้รูปซึ่งอาจจะร้อนไป เย็นไป แต่ว่ารูปซึ่งเป็นสมุฏฐานให้ความรู้สึกเป็นทุกข์กายเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ปรากฏ ปรากฏแต่ลักษณะที่เจ็บซึ่งเป็นนามธรรม หรือลักษณะที่ปวดซึ่งเป็นนามธรรม แต่รูปธรรมซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดทุกขเวทนาไม่ปรากฏ เพราะว่าจะปรากฏทีละอย่าง นี่คือความรวดเร็ว
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 361
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 362
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 363
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 364
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 365
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 366
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 367
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 368
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 369
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 370
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 371
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 372
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 373
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 374
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 375
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 376
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 377
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 378
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 379
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 380
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 381
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 382
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 383
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 384
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 385
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 386
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 387
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 388
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 389
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 390
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 391
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 392
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 393
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 394
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 395
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 396
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 397
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 398
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 399
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 400
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 401
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 402
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 403
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 404
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 405
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 406
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 407
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 408
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 409
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 410
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 411
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 412
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 413
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 414
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 415
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 416
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 417
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 418
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 419
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 420