ปกิณณกธรรม ตอนที่ 371


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๗๑

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๔๑


    ท่านอาจารย์ แต่ว่ารูปซึ่งเป็นสมุฏฐานให้ความรู้สึกเป็นทุกข์กายเกิดขึ้น ขณะนั้นไม่ปรากฏ ปรากฏแต่ลักษณะที่เจ็บซึ่งเป็นนามธรรม หรือลักษณะที่ปวดซึ่งเป็นนามธรรม แต่รูปธรรมซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดทุกขเวทนาไม่ปรากฏ เพราะว่าจะปรากฏทีละอย่าง

    นี่คือความรวดเร็ว เพราะฉะนั้น เราต้องรู้ว่า วันหนึ่งๆ เรามีกายปสาทตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า แม้ขณะนี้ทุกคนก็กระทบแข็ง ปลายเท้ามีไหม แข็ง ที่ข้อมือ ถ้ากระทบสัมผัส จับ ก็ปรากฏ ข้อศอก หรือแขน หรือตรงหนึ่งตรงใดก็ได้ ด้วยกายวิญญาณ ซึ่งเป็นของธรรมดา ไม่ใช่ขณะนั้นปรากฏกับสติ แต่เวลาที่สติเกิดระลึก ก็ไม่ต่าง เพราะเหตุว่าแข็งนั้นก็ปรากฏ ไม่ใช่กับเฉพาะกายวิญญาณ แต่ปรากฏกับสติที่กำลังระลึกด้วย แต่สั้นมาก

    เพราะฉะนั้น คนนั้นจะรู้ได้ว่า วันหนึ่งสติระลึกที่ไหน จะระลึกที่เสียง หรือจะระลึกที่สภาพแข็ง หรือว่าจะระลึกที่กลิ่น หรือว่าจะระลึกที่รส ก็แล้วแต่ แต่ให้ทราบว่าขณะใดซึ่งมีสภาพปรมัตถธรรม คือ มีลักษณะจริงๆ ปรากฏ แล้วไม่ใช่ปรากฏอย่างปกติธรรมดา ที่ปรากฏกับกายวิญญาณบ้าง จักขุวิญญาณบ้าง โสตวิญญาณบ้าง ฆานวิญญาณบ้าง ชิวหาวิญญาณบ้าง แต่ยังปรากฏกับสติที่ระลึกที่ลักษณะนั้น เพื่อที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้นั้นก็รู้ว่า ขณะนั้นสติเกิดเป็นปกติ ไม่ต้องตื่นเต้น ไม่ต้องปลาบปลื้มมากมาย แต่รู้ว่าเหตุนั้นมีเหตุปัจจัยที่สติจะเกิด เกิดแล้วดับ เป็นของธรรมดา แล้วเมื่อไรสติเกิดอีกก็รู้ว่า ขณะนั้นก็สติเกิด แล้วจะรู้ว่า การที่ปัญญาจะเจริญ ก็เจริญในขณะที่สติเกิดเท่านั้น เพราะเหตุว่าแข็งเป็นปกติ แต่พอสติเกิดระลึกตรงนั้น ชั่วขณะนั้นสามารถจะถึงความเป็นพระอรหันต์ หรือเป็นพระโสดาบัน หรือวิปัสสนาญาณเกิด หรือความรู้ระดับใดเกิดก็ได้ แต่ว่าต้องเจริญขึ้นตามลำดับ ขั้นต้น คือรู้ว่าขณะนั้นสติเกิด ไม่ใช่เราพยายามจะทำให้มีสติ ถ้าอย่างนั้นเป็นอันว่าไม่ใช่ของใคร เพราะขณะนั้นก็เป็นเราทำ ไม่ใช่เป็นการรู้ความจริงว่า เพราะสติเกิดจึงระลึก ไม่ใช่เรา ต้องเป็นหนทางที่ค่อยๆ ล้าง ชำระ ขัดเกลาความติดข้อง ความต้องการ โดยตลอด ตั้งแต่ในขั้นต้น

    ผู้ฟัง แล้วอย่างที่ได้ยินเสียง ก็รู้ เดินมาก็รู้ อันนี้ถือว่าเป็นสติขั้นธรรมดา ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ถึงเฉพาะ อย่าลืม ถึงเฉพาะเสียง ขณะนั้นรู้ว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ถึงเฉพาะได้ยิน สภาพที่กำลังได้ยิน สภาพรู้ ขณะนั้นถึงเฉพาะสภาพธรรม อย่างหนึ่งคือได้ยิน เพราะขณะนี้เป็นสภาพธรรมแต่ละหนึ่ง แต่ละอย่างจริงๆ ถึงเฉพาะอย่างๆ ด้วยปัญญา พร้อมสติจึงจะเป็นความรู้ชัดขึ้น ค่อยๆ เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นความหมายของภาวนา

    ผู้ฟัง ตรงนี้ยังไม่ค่อยเข้าใจลึกซึ้ง

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ค่อยเข้าใจ อย่าไปทำเป็นอันขาด อย่าไปตั้งสติ หรืออย่าไปให้มีสติ หรืออะไร เพราะว่าเป็นเรื่องของตัวตน ไม่ใช่เรื่องของปัญญา แต่เรื่องของปัญญานี้ตามลำดับขั้น เพื่อละคลายความไม่รู้ และความต้องการ อันนี้เป็นจุดที่สำคัญที่สุด เป็นกิจหน้าที่ของปัญญาโดยตรง ถ้าไม่มีอันนี้คือปัญญาไม่มีทางเจริญแน่ ไปเข้าใจว่าเป็นปัญญาก็ไม่ใช่ปัญญา เข้าใจว่ารู้แต่ก็ไม่รู้ เพราะว่าถ้าไม่ใช่ปัญญาแล้วจะรู้ไม่ได้

    ผู้ฟัง ฟังอาจารย์แล้ว รู้สึกว่า ยังไม่เข้าใจอะไรเลย

    ท่านอาจารย์ ก็ตั้งต้นต่อไปอีก

    ผู้ฟัง มีความรู้สึกว่า เราเห็น เราก็มีสติ รู้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น

    ท่านอาจารย์ นั่นเป็นเรื่องของการข้ามขั้น และการคร่าวมากที่ไปเข้าใจเอาเอง

    ผู้ฟัง มันเป็นอยางนั้น คือในเวลานี้ก็ไปคิดว่า อันนี้คือเราเจริญสติ เวลานี้แม้แต่เราจะกวาดบ้าน เราก็รู้สึกว่า

    ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่ของการเผิน หรือว่าการศึกษาธรรมโดยไม่ละเอียดคือ เข้าใจว่า มาเจริญสติกันเถิด หรือว่ามาปฏิบัติธรรมกันเถิด มาภาวนากันเถิด โดยที่ไม่มีความรู้อะไรทั้งสิ้น อย่างนี้จะถูกหรือจะผิด เพราะว่าเวลานี้เข้าใจว่า ปฏิบัติแล้ว ทำอะไรก็มีสติหมด แต่ไม่มีความรู้อะไรทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น จะชื่อว่าปฏิบัติไหม นอกจากว่าเราไม่เข้าใจอะไรเลย แต่เราหลงคิดว่าเราเข้าใจ หรือว่าเราทำแล้ว อย่างความหมายของคำว่า ปฏิปัตติ ถึงเฉพาะ แม้แต่อย่างนี้เราก็ไม่เข้าใจ ถึงเฉพาะอะไร ลักษณะของนามเป็นอย่างไร ลักษณะของรูปเป็นอย่างไร เราก็ไม่เข้าใจ แต่เราเข้าใจว่า เรากำลังปฏิบัติ มีสติแล้ว กำลังกวาดบ้านก็มีสติแล้ว ซึ่งถ้าเราไม่มีความรู้จริงๆ จะเป็นสัมมาสติไม่ได้

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่าเรารู้มาว่า เวลานี้กำลังพูดกับอาจารย์ อันนี้ก็ยังไม่ ใช่สติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่สติปัฏฐาน เลย ไม่มีความรู้อะไรทั้งสิ้น

    ผู้ฟัง เมื่อกี้อาจารย์บอกว่า คือว่า ดิฉันไม่มีสติเลย

    ท่านอาจารย์ เพียงแต่นึกว่ามีสติ

    ผู้ฟัง เพียงแต่นึกว่ามีสติ

    ท่านอาจารย์ ใช่

    ผู้ฟัง ยากมาก

    ท่านอาจารย์ ยาก ธรรมเป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องยาก อย่าประมาทพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะฉะนั้น เราถึงต้องศึกษาตามลำดับขั้นว่า เริ่มจากธรรมว่า เราเข้าใจแค่ไหน ถ้าเราเข้าใจว่า แข็งเป็นธรรม เห็นเป็นธรรม เสียงเป็นธรรม ได้ยินเป็นธรรม ถ้าเข้าใจอย่างนี้จริงๆ เราถึงจะรู้ว่า สติเกิดหรือหลงลืมสติ

    ผู้ฟัง เข้าใจจริงๆ ของคำของอาจารย์

    ท่านอาจารย์ เข้าใจโดยฟัง

    ผู้ฟัง เข้าใจโดยฟังจากคำพูดของอาจารย์

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราก็รู้ว่าปัญญารู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ถ้าเป็นปัญญาเจริญแล้ว ต้องรู้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จึงจะเป็นปัญญา ก่อนที่ปัญญาจะเกิด ก็ต้องมีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่เราฟังแล้วเข้าใจว่า แข็งเป็นธรรม เราเข้าใจว่าแข็งเป็น ธรรม แต่ถ้าสติไม่ระลึกที่แข็ง เราจะรู้ไม่ได้เลยว่า แข็งนั้นเป็นธรรม

    ผู้ฟัง จะระลึกอย่างไร

    ท่านอาจารย์ แข็งมี เรากระทบแข็งตั้งแต่เช้าหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่

    ท่านอาจารย์ อะไร ไม่ได้จับอะไรเลย แปรงสีฟันไม่ได้จับ

    ผู้ฟัง จับ แต่ว่า

    ท่านอาจารย์ แข็งหรือเปล่า

    ผู้ฟัง รู้บ้างไม่รู้บ้าง บางครั้ง

    ท่านอาจารย์ นั่นสิ ถึงได้บอกว่า มีธรรมตลอด มีการรู้แข็งตั้งแต่เช้าจนถึงเดี๋ยวนี้ แต่สติไม่ได้ระลึกที่แข็ง

    ผู้ฟัง แต่สติไม่ได้ระลึกที่แข็ง

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ถึงรู้ความต่างกันว่า ทั้งๆ ที่แข็งก็มี แต่ว่าสติไม่ได้ระลึกที่แข็ง เราถึงจะรู้ความต่างกันว่า ขณะไหนสติเกิด ขณะไหนหลงลืมสติ เพียงแต่รู้แข็ง ไม่ได้หมายความว่ามีสติ

    ผู้ฟัง เพียงแต่รู้แข็งยังถือว่าไม่มีสติ

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้หมายความว่ามีสติ เพียงแต่รู้แข็ง ใครๆ ก็รู้แข็ง ถามดูทุกคนก็รู้แข็ง

    ผู้ฟัง แต่เมื่อก่อนรู้โดยที่ว่า เราไม่รู้เลย

    ท่านอาจารย์ ถูก เพราะฉะนั้น เราเอาความคิดขั้นฟังมารวม มานึกเอาว่าเรารู้ เราถึงจะรู้ได้ว่า ขณะไหนเป็นสติ ขณะไหนหลงลืมสติ แล้วเวลาใครพูดเรารู้เลยว่า คนนั้นเข้าใจสติหรือเปล่า มีสติจริงหรือเปล่า หรือไม่มีสติ ก็เข้าใจว่าตัวเองมีสติ เพราะเขาไม่รู้เรื่องสติ แต่เขาบอกว่าเขามีสติ อย่างนั้นจะเป็นสติหรือเปล่า คนที่รู้ก็รู้ว่าไม่ใช่สติ แต่คนที่ไม่รู้ก็เชื่อว่า นั่นเป็นสติ

    เพราะฉะนั้น ต้องละเอียด ผู้ที่จะรู้จักพระธรรมหรือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยแท้จริงต้องเป็นผู้ละเอียด แล้วไม่ประมาทพระปัญญาคุณ ไม่ใช่สิ่งที่เราจะเผินได้เลย ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ ต้องรู้ว่ากำลังพูดเรื่องธรรม หรือกำลังเข้าใจเรื่อง หรือกำลังระลึกที่ตัวธรรม สภาพธรรมจริงๆ ไม่ใช่เอาชื่อไปใช้ คนนั้นก็ภาวนา คนนี้ก็ปฏิบัติ คนโน้นก็เจริญสติปัฏฐาน แต่ไม่มีความรู้อะไรเลย นั่นคือการใช้ชื่อ

    เราต้องเป็นผู้ตรง ตรงจริงๆ เราจะไม่ใช้ชื่อ แต่เราจะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจธรรมขึ้นตามลำดับ ไม่ต้องไปห่วงเรื่องสติปัฏฐาน หรือหลงลืมสติ แต่เป็นผู้ที่เข้าใจ แล้วรู้ว่าหนทางจริงๆ เป็นหนทางละ สติไม่เกิดก็ไม่เกิด แต่เมื่อมีความเข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น พอแล้วที่จะเป็นสัจจญาณ จนกว่าสติปัฏฐานจะเกิด ก็เป็นผู้ที่มั่นคง

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณ

    ผู้ฟัง ขออนุญาต คือทุกวันนี้มันอาจจะคิดว่าเป็นความนึกคิด มีอยู่ตลอดเวลา ความนึกคิดๆ ผมอยากจะเรียนถามว่า สภาพธรรมอะไรที่เป็นปัจจัยให้ความนึกคิด เมื่อเกิดขึ้นแล้วเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ ตามการสะสม

    ผู้ฟัง เมื่อพูดถึงเรื่องตามการสะสมแล้ว จะมีความเกี่ยวพันอะไรกับตัววิบากจิต หมายความว่า เป็นสภาพธรรมคนละอย่าง แต่ความคิดของผมว่า วิบากเป็นผลของกรรม คือเป็นผลของเจตนาเจตสิก คือ ของจิตนั่นเอง เป็นวิบาก จะเกี่ยวพันในเรื่องของการสะสม จะมีความเกี่ยวพันกันอย่างไร สภาพธรรม ๒ ชนิดนี้

    ท่านอาจารย์ ก่อนที่จะรู้เรื่องวิบาก หรือเรื่องกุศลจิต อกุศลจิต เราก็จะต้องทราบว่าจิตของแต่ละคน เกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ หนึ่งขณะเท่านั้นจริงๆ ทั้งๆ ที่เกิดดับแสนเร็ว แต่ว่าจิตก็เกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ แล้วในหนึ่งขณะมีอะไรบ้าง มหาศาล ถ้าเป็นรูปธรรม เราก็ยังมองเห็นความกว้างใหญ่ไพศาลได้ แต่นึกถึง และเข้าใจให้ถูกต้องว่า เป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่างใดๆ เลยทั้งสิ้น แต่ว่าสามารถที่จะบรรจุทุกสิ่งทุกอย่าง มีทุกสิ่งทุกอย่างมหาศาล โลภะก็มี โทสะก็มี เมตตาก็มี กรุณาก็มี ทุกอย่างที่ผ่านไปในชีวิต แต่ละขณะหนึ่งขณะใน สังสารวัฏฏ์ ไม่ได้สูญหายไปเลย สืบต่อจากขณะหนึ่งสู่อีกขณะหนึ่ง

    คนเราเกิดมาจึงไม่เหมือนกัน อัธยาศัยไม่เหมือนกัน พอเด็กเกิดมาเจริญเติบโตขึ้น เราเห็นความต่างกันในทางความคิด ในทางการสะสม ในความดีความชั่ว แล้วยังแต่ละขณะในชีวิตประจำวันซึ่งเพิ่มสะสมขึ้นอีก

    ถ้าเราไม่มีปัญญา แล้วก็ไม่เห็นโทษของอกุศล เราก็จะเป็นคนที่สามารถที่จะมีอกุศลได้อย่างมาก เพราะว่าไม่เห็นว่าเป็นโทษ แต่ถ้าเราเริ่มเห็นโทษ อย่างที่เราได้รับการสั่งสอนจากโรงเรียน ครูบาอาจารย์ก็บอกเรา พ่อแม่ก็สอนเรา อะไรดี เมตตากรุณาดี โทสะ โลภะ อิสสา ริษยา ไม่ดี พวกนี้ ถ้าเราเป็นคนที่ไตร่ตรอง แล้วก็พิจารณา ก็สามารถที่จะเข้าใจแล้วก็สะสมสิ่งที่ดีได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องแล้วแต่ สิ่งที่มีอยู่ในจิตแต่ละขณะ เพราะว่าจิตบางขณะก็จะเปรียบเหมือนกับหินแข็งที่เป็นดาน ไม่ว่าเราจะเอาพืชอย่างดีไปเพาะไปปลูกก็ไม่งอกงาม อาจจะไม่เจริญขึ้นมาเลย แต่ถ้าจิตนั้นเป็นสภาพที่เหมือนดินที่มีปุ๋ยดี ไม่ว่าเราจะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร ใดๆ ก็ให้ผลที่ดี เพราะฉะนั้น สภาพจิตของเราก็คืออย่างนั้น เราจะเห็นได้ ทำไมบางคนฟังธรรม แล้วก็ยังคงเป็นคนที่ไม่เชื่อ เห็นผิด หรือว่ายังเห็นผิดเป็นชอบ เห็นชั่วเป็นดี ซึ่งบางคนพอฟังแล้วก็มีจิตที่อ่อนโยน สามารถที่จะน้อมนำมาค่อยๆ ประพฤติปฏิบัติขัดเกลาตัวเองได้

    นี่ก็เป็นเรื่องของแต่ละคนซึ่งสะสมมา เอาชื่อออกให้หมด ไม่มีใครเลยทั้งสิ้น นอกจากสภาพธรรมซึ่งเป็นจิตใจซึ่งสะสมมา แล้วก็เกิดดับสืบต่อไป เพราะฉะนั้น การที่เราได้มีโอกาสฟังธรรมในแต่ละชาติ ซึ่งเราก็ไม่ทราบว่า ชาติก่อนๆ จะเคยฟังมาหรือเปล่า แต่รู้ได้จากชาตินี้ที่ฟัง ว่าฟังแล้วเราเห็นถูก หรือว่าเราเห็นผิด เรามีความอดทนที่จะประพฤติปฏิบัติสิ่งที่แสนยาก เหมือนกับผู้ที่ท่านอดทนมาแล้ว อย่างโอวาทปาติโมกข์ ก็เริ่มด้วย ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง ตบะ คือ การเผาอกุศลด้วยความอดทน การที่จะทำความดี ต้องอดทน ความชั่ว ไม่ต้องอดทนเลย เพราะว่าเป็นอยู่แล้วเรื่อยๆ โลภะบ้าง โทสะบ้าง ในวันหนึ่งๆ แต่การที่จะไม่มีความติดข้อง หรือว่าไม่มีการที่จะพยาบาท โกรธเคืองคนอื่น ผูกโกรธ แสนยาก แล้วก็การที่จะดับได้หมด ต้องยาก แต่ว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ว่าหนทางนั้นไม่ใช่ว่าทำได้ เจริญได้ด้วยความเป็นตัวตน แต่ด้วยการเข้าใจธรรม จากผู้ที่ได้ตรัสรู้ และทรงแสดง ถ้าไม่มีการแสดงธรรม ไม่มีใครสามารถที่จะรู้ว่า มีแต่จิต เจตสิก รูป ก็ยังคงเป็นเรา ถ้าไม่มีการทรงแสดงธรรมโดยละเอียด ก็ไม่มีการที่จะอบรมปัญญาที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม ซึ่งเป็นการขัดเกลาความไม่รู้ จนกว่าจะรู้ตัวเองว่า มีการละคลาย เพราะว่าความรู้เพิ่มขึ้น แต่ถ้าตราบใดที่ความรู้ยังไม่เพิ่มขึ้น ไม่มีการละคลาย ก็ไม่มีการที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ ไม่ใช่ว่าด้วยความคิดว่า เราทำได้ โดยที่ปัญญาไม่มี

    อดทนพอหรือเปล่า นี่คือคำถาม อดทนที่จะฟัง อดทนที่จะละ อดทนที่จะอบรมเจริญความรู้ขึ้น เพราะฉะนั้น ภาวนาคืออะไร

    ผู้ฟัง อย่างที่ผมพูดว่า คำพูดต่างๆ บางทีคือผมอาจจะไม่เข้าใจความหมาย

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราไม่เข้าใจความหมาย เราอย่าใช้คำนั้น คำใดก็ตามที่เราจะใช้ แต่ก่อนนี้อาจจะใช้ตามๆ กัน แต่ถ้าเรามีโอกาสจะเข้าใจความหมายนั้น ขอให้เราได้เข้าใจด้วย ไม่ใช่ว่าเราจะใช้ตามไปโดยไม่เข้าใจความหมาย ภาวนา เป็นภาษาบาลี ไม่ใช่ภาษาไทย ถูกไหม

    ผู้ฟัง ผมอาจจะพูดอะไรไม่ค่อยเป็น คือจากการที่ว่าปฏิบัติบ้าง อะไรบ้าง ก็เข้าใจตามนั้น แต่ในการที่ผมจะปฏิบัตินี้ ผมก็พยายามศึกษา แล้วค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ไป สิ่งที่ทำ หรือสิ่งที่อะไรก็ตาม ผมจะไม่ค่อยสนใจเกี่ยวกับเรื่องคำศัพท์ คำอะไรมากนัก เพราะว่ามีครั้งหนึ่งที่พระองค์หนึ่งที่เคยบวชในสมัยพระพุทธกาล แล้วปรากฏว่าอาจารย์ที่บวชพยายามให้ทำโน่น ทำนี่อะไรต่ออะไร จนกระทั่งไปพบพุทธองค์ บอกว่า จะขอลาสิกขา เนื่องจากว่า ไม่สามารถที่จะทำอย่างนั้นได้ มากมายเกินไป พระพุทธเจ้าบอกว่า ทำไม เขาบอกว่า อะไรสารพัดอย่าง ยากมากๆ เลย พระพุทธองค์บอกว่า ถ้าอย่างนั้นท่านรักษาไว้อย่างเดียวได้ไหม พระรูปนั้นบอกว่าได้ ถ้าอย่างนั้นท่านรักษาจิตไว้ ผมก็เลยยึดตัวนี้มาอย่างเดียวว่า รักษาจิตไว้ อะไรก็ตามที่เราจะพูดไป มันเป็นกุศลหรือเป็นอกุศล แล้วเราติดในสิ่งเหล่านั้นไหม ถ้าเราไม่ติด เราค่อยพูด ถ้าเราทำอะไรไป เราติดในตัวนั้นไหม ถ้าไม่ ติดเราค่อยพูด หลังจากพูดแล้ว เราดูภายในใจเราว่า ตอนนี้เรามีความรู้สึกอย่างไร ถ้ารู้สึกเป็นกุศล เราก็ทิ้งมันไปเสีย เพราะมันเป็นอย่างนี้ ถ้าเป็นอกุศล เป็นสิ่งที่ไม่ดี ก็รีบขจัดมันออกไป สิ่งนี้อย่าให้มันเกิดขึ้นกับเรา

    ท่านอาจารย์ พระพุทธเจ้าสอนให้รักษาจิตด้วยคิดเท่านั้นหรือ ทั้งหมดนี้คือคิด ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ขอโทษ คือตัวนี้ พระพุทธเจ้าคงไม่ได้สอนแค่นั้น แต่ว่าในนั้นพูดไว้แค่นี้ เสร็จแล้วก็ต้องศึกษาจากตัวอื่นมาประกอบกัน

    ท่านอาจารย์ แล้วรักษาจิต รักษาอย่างไร

    ผู้ฟัง อย่างที่ผมเรียนเมื่อกี้ว่า ลักษณะที่กำลังพูดอยู่นี้ มีอะไรเกิดขึ้นกับจิตเราบ้าง เรารู้สึกอย่างไร ถ้ารู้สึกพอใจ

    ท่านอาจารย์ อันนี้ไม่ใช่คำสอน เพราะว่าไม่ใช่ให้รักษาจิตโดยคิดเอา แต่ให้รู้สัจธรรมความจริงของจิตว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง ผมคิดไว้ตลอดเวลาว่า ไม่มีตัวตน เพราะทุกครั้งที่เห็นอะไร สัมผัสอะไร คิดไว้ตลอดเวลาว่า สิ่งที่สัมผัสไม่เที่ยง

    ท่านอาจารย์ นี่คือคิด นี่คือคิด ระดับคิด ขั้นคิด

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณมาก เพราะว่าทุกๆ ครั้งจะใช้วิธีนี้ ถ้าหากว่ามันไม่ถูกต้อง ผมก็จะต้องค่อยๆ

    ท่านอาจารย์ ปัญญาในพระพุทธศาสนาไม่ใช่มีเฉพาะขั้นคิด ยังมีสูงขึ้นไปอีก จนสามารถที่จะประจักษ์แจ้งสภาพธรรมที่ไม่ใช่ขั้นคิด

    ผู้ฟัง ผมอยากจะเรียนถามว่า สาเหตุที่หลงลืมสติ หรือว่าสาเหตุที่ทำให้มีสติ มีปัจจัยอะไรบ้าง ทำให้เกิด ๒ คำนี้ ที่ผมได้ถามตอนต้น

    ท่านอาจารย์ คงไม่ใช่ ๒ คำ แต่ว่าตามความเป็นจริง ใช่ไหม ไม่ใช่เรื่องคำ แต่เรื่องความจริงว่า เป็นผู้ที่ปกติหลงลืมสติ หรือว่าปกติมีสติ ถ้าเป็นผู้ที่หลงลืมสติ เป็นปกติหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เป็นปกติ

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง ก็เป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นปกติ

    ท่านอาจารย์ เพราะเหตุว่ามีเหตุที่จะให้หลงลืมสติมากมายในสังสารวัฏฏ์ เราเกิดมาแล้วมากกว่าแสนโกฏิกัปป์ แล้วเราได้ฟังธรรมนานเท่าไร เรามีความเข้าใจธรรมที่ได้ฟังมากน้อยเท่าใด แล้วจะทำให้เราเป็นผู้ที่หลงลืมสติมาก หรือว่ามีสติมาก เพราะฉะนั้น คนที่มีสติน้อยเป็นปกติ ถ้าใครเกิดมีสติมากๆ จะปกติไหม

    ผู้ฟัง ถ้ามีสติมากๆ ก็หมายถึงว่าเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในสภาพธรรม มาก ถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ ในแสนโกฏิกัปป์มาแล้วที่หลงลืมสติ แล้วก็ในเวลาไม่นานที่ได้ฟังพระธรรม ถ้าใครเกิดเป็นผู้ที่มีสติมากๆ จะเป็นปกติหรือไม่ปกติ

    ผู้ฟัง ไม่ปกติ

    ท่านอาจารย์ ไม่ปกติ เพราะฉะนั้น ถ้าใครเป็นผู้ที่หลงลืมสติมาก ก็รู้ตามความเป็นจริงว่า เราได้มีความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรมมามากมายเหลือเกิน มีเหตุปัจจัยที่จะทำให้หลงลืมสติมาก รู้ถึงความเป็นปัจจัยจริงๆ รู้ถึงความเป็นจริงว่า ต้องเป็นอย่างนี้เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่หลงลืมสติมาแล้วในสังสารวัฏฏ์มาก

    เพราะฉะนั้น ก็ไม่เดือดร้อน แต่ตรงกันข้าม ถ้าเป็นผู้ที่หลงลืมสติมากแล้วเดือดร้อน ทำอย่างไรจะมีสติมากๆ ผิดปกติไหม จะเอาเหตุปัจจัยที่ทำให้หลงลืมสติไปทิ้งไว้ที่ไหน ในเมื่อสะสมมาในแสนโกฏิกัปป์มากมายมหาศาล แล้วจะเอาเหตุปัจจัยที่จะให้หลงลืมสติออกให้หมด แล้วจะให้มีสติมากๆ เป็นไปได้ไหม

    เพราะฉะนั้น ทุกอย่างก็จะทำให้เห็นตามความเป็นจริงว่า แล้วแต่เหตุปัจจัย ถ้าใครมีเหตุปัจจัยที่สติจะเกิด สติก็เกิด ใครไม่มีเหตุปัจจัยที่สติจะเกิด ไปนั่งคิด นั่งอยากสักเท่าไร ก็ไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้สติเกิด แต่อาศัยความเข้าใจที่มั่นคงขึ้น แม้ว่าสติจะเกิดน้อย ก็มีความมั่นคงว่า การที่สติเกิดน้อยเป็นของธรรมดา เพราะเหตุว่าเมื่อมีเหตุปัจจัยที่จะให้หลงลืมสติมาก หลงลืมสติก็ต้องเกิด แต่ถ้าเราเป็นผู้ที่ใส่ใจ เห็นประโยชน์ ของการฟังพระธรรม ตรึกถึงพระธรรม พิจารณาพระธรรม อ่านพระธรรม ขวนขวายในการสนทนาธรรม มีเหตุปัจจัยให้สติเกิด แต่ถึงอย่างนั้นถ้าสติไม่เกิด ก็เป็นของธรรมดาอีก นี่คือหนทางละ ไม่ใช่หนทางที่จะต้องการ หรือไปทำให้ผิดปกติขึ้น ต้องเป็นผู้ที่ไม่ลืม ต้องเตือนตัวเองเสมอว่า หนทางละเป็นอย่างไร มิฉะนั้นก็จะมีความต้องการดึงไปทันที จากการไม่ละ ไปสู่การที่จะเอา ด้วยความเป็นตัวตน

    ผู้ฟัง ขณะนี้เรายังไม่มีปัญญาก็เลยต้องยึดมันว่า เป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคลต่างๆ ผมอยากจะเรียนถามสาเหตุที่สำคัญที่เป็นปัจจัยขึ้นมาจากอะไร ที่ยึดมั่นเป็นตัวตน

    ท่านอาจารย์ เรื่องเดิมกับหลงลืมสติ

    ผู้ฟัง ก็เหมือนเดิม

    ท่านอาจารย์ เหมือนเดิม เรายึดมั่นมาแล้วแสนโกฏิกัปป์ แล้วอยู่ดีๆ จะไม่ให้มีปัจจัยที่จะยึดมั่น เป็นไปได้อย่างไร

    ผู้ฟัง แล้วที่จะละคลายคืออะไร

    ท่านอาจารย์ เข้าใจเพิ่มขึ้น ไม่ต้องคำนึงถึงการที่จะไปถึงนิพพาน ไม่ต้องคำนึงถึงการที่จะละกิเลส ถ้าปัญญาไม่มีแล้ว อย่าไปทำอะไรทั้งสิ้น แล้วถ้าไม่มีการฟัง ไม่มีการเข้าใจสิ่งที่ฟัง ปัญญาจะมาจากไหน ปัญญาเป็นภาษาบาลี ภาษาบาลีไม่มีคำว่าเข้าใจ แต่ภาษาไทยมีคำว่าเข้าใจ ซึ่งหมายความถึงปัญญานั่นเอง แต่เป็นปัญญาระดับต้นที่จะเข้าใจถูกตามความเป็นจริง สัมมาทิฏฐิ คือความเข้าใจถูก ความเห็นถูกเพิ่มขึ้น นั่นคือตัวปัญญาที่เจริญขึ้น

    ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจ ขณะนั้นก็ไม่ใช่ปัญญา แล้วก็จะไปทำอย่างอื่นให้ปัญญาเกิดก็ไม่ได้ นอกจากฟังแล้วเข้าใจขึ้น ทุกคนเป็นสาวก คือผู้ฟัง ฟังพระธรรม ไม่ใช่ไปคิดเอง หรือว่าไปตั้งกฎระเบียบทางลัดขึ้นมาเองว่า ทำอย่างนี้แล้วจะทำให้ปัญญาเจริญขึ้น เพราะว่าปัญญาคือความเข้าใจ จะมีวิธีไหน ถ้าไม่ฟัง ไม่อ่าน ไม่ไตร่ตรอง ไม่พิจารณา ไม่มีหนทางเลย

    ต้องรู้จักปัญญาจริงๆ ว่าคือความเข้าใจถูก ตรงกันข้ามกับความเข้าใจผิด ความเห็นถูกตรงกันข้ามกับความเห็นผิด ปัญญาตรงกันข้ามกับอวิชชา ปัญญารู้ แต่อวิชชาไม่รู้

    ผู้ฟัง เมื่อพูดถึงเรื่องการฟัง ส่วนมากก็ฟังจากเทป บางท่านอาจจะอ่านจากหนังสือ ฟังอย่างไรจึงจะทำให้เกิดความเข้าใจดีขึ้น

    ท่านอาจารย์ ไม่ผ่านข้อความใดๆ ที่มีอยู่ในที่นั้น

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 99
    23 มี.ค. 2567