ปกิณณกธรรม ตอนที่ 372


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๗๒

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๔๑


    ผู้ฟัง เมื่อพูดถึงเรื่องการฟัง ส่วนมากก็ฟังจากเทป บางท่านอาจจะอ่านหนังสือ ฟังอย่างไรจึงจะทำให้เกิดความเข้าใจดีขึ้น

    ท่านอาจารย์ ไม่ผ่านข้อความใดๆ ที่มีอยู่ในที่นั้น อย่างหนังสือปรมัตถธรรมสังเขป ซึ่งหลายท่านคงจะมีแล้ว แม้แต่ที่กรุงเทพเอง บางคนไม่อ่าน เสียดาย อยากจะขอคืน คนที่ไม่อ่าน เพราะจะเก็บไว้สำหรับคนที่อ่านข้างหน้า คนที่ไม่อ่าน เขามีหลายอย่าง บางทีถ้าเขาสงสัยอะไร เขารีบเปิด ถ้าเขาอยากรู้เรื่องสมถะ เขาจะอ่านเรื่องสมถะ แต่เขาลืมว่า ธรรมต้องตามลำดับ ข้ามขั้นไม่ได้ เราจะจับเด็กไปเรียนวิชาแพทย์ โดยที่ไม่มีพื้นความรู้อะไรเลย เป็นไปได้ไหม เขาอาจจะทำได้ แต่เขาไม่รู้ ไม่เข้าใจ เพียงแต่ทำได้ แต่ไม่เข้าใจ ไม่รู้อะไรเลย พระธรรมเป็นการที่จะเจริญอบรมสิ่งที่ไม่มีให้เกิดให้มีขึ้น สิ่งที่มีน้อยให้เพิ่มขึ้น ให้มากขึ้น สิ่งนั้นคือปัญญา ความเข้าใจถูก ซึ่งใครก็ไม่สามารถจะเข้าใจสภาพธรรมได้ถูกต้อง ถ้าไม่มีการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เป็นใคร บำเพ็ญพระบารมีนานเท่าไร แสนโกฏิกัปป์ก็ยังน้อยไป สี่อสงไขยแสนกัป หลังจากที่ได้รับคำพยากรณ์ ไม่นับก่อนนั้น แล้วก็สี่อสงไขยแสนกัปทรงบำเพ็ญพระบารมี ทรงตรัสรู้ ทรงแสดงธรรมโดยละเอียดสำหรับใคร ท่านพระสารีบุตรไม่ต้องฟังถึง ๔๕ ปี เพราะเหตุว่าท่านอบรมเจริญปัญญามาแล้ว ในสมัยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้ ระหว่างที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีก็ได้เฝ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าถึง ๒๔ พระองค์ แล้วเราปัญญาอยู่ตรงไหน ไม่รู้จักแม้แต่ความหมายลักษณะของปัญญา แต่ต้องการปัญญา แล้วก็อยากให้มีปัญญามากๆ

    ต้องเป็นผู้ที่ละเอียดจริงๆ ถ้ายังไม่เข้าใจคำแรก แล้วจะไปเข้าใจคำหลังๆ ได้อย่างไร อย่างสติปัฏฐาน ถ้าไม่รู้ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แล้วจะเข้าใจสติได้อย่างไร สติก็เป็นธรรมเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ธรรมจะข้ามไม่ได้เลย ต้องเป็นลำดับขั้นจริงๆ สิ่งใดก็ตามที่ผ่านตา ถ้ายังไม่เข้าใจกลับไปตั้งต้นใหม่ หน้า ๑ ยังไม่เข้าใจ อย่าเพิ่งไปถึงหน้าที่ ๘๐ ๙๐ อย่าเพิ่งไปข้าม อ่านเรื่องสมถะ อ่านเรื่องวิปัสสนา หรือเรื่องอะไร เพราะว่าขั้นต้นยังไม่เข้าใจเลย

    เพราะฉะนั้น ก็ขอเตือนอีกครั้งหนึ่ง จะใช้คำว่าเตือน หรือขอร้องหรือจะอะไรก็แล้วแต่ ที่จะถูกใจก็แล้วกันว่าอย่าข้าม แล้วก็อย่าคิดว่าจะเข้าใจพระธรรมโดยง่าย หรือว่าเข้าใจแล้ว ก็จะรีบต่อๆ ไป ไม่ใช่อย่างนั้นเลย เข้าใจจริงๆ คือ สามารถจะเข้าใจตัวธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ เพราะกำลังพูดเรื่องของธรรม ซึ่งกำลังเกิดดับ

    เพราะฉะนั้น กว่าจะเข้าใจลักษณะของสภาพนามธรรม กำลังอยู่ตรงนี้ เดี๋ยวนี้ที่นี่ รูปธรรมกำลังมีจริงๆ เดี๋ยวนี้ ตรงนี้ ถ้าเข้าใจสิ่งนี้ได้ นั่นคือประโยชน์ของการศึกษา ประโยชน์ของการฟังพระธรรม

    เพราะฉะนั้น ก็ไมใช่เรื่องรีบร้อน จะไปรู้แจ้งอริยสัจ หรือจะให้สติปัฏฐานเกิดมากๆ หรือจะให้เป็นสติปัฏฐาน แต่เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าใจสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟังก่อน แล้วก็จะเพิ่มความเข้าใจขึ้นเรื่อยๆ เมื่อฟังต่อๆ ไป ถ้าไม่เข้าใจตอนนี้ ก็อย่างเพิ่งไปต่อตอนไหน

    ผู้ฟัง หมายความว่าให้เข้าใจสิ่งที่เรากำลังได้ยินได้ฟังก่อน ก่อนที่เราจะเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก่อนที่เรากำลังคิดว่า โน่นก็ยังไม่เข้าใจ นี่จะต้องทำอย่างไรถึงจะเข้าใจ หรือเมื่อไรถึงจะไม่มีโลภะ หรืออะไรอย่างนี้ เช่น คำว่า ธรรม คำเดียว เข้าใจโดยฟัง แล้วเดี๋ยวนี้ กำลังเห็นเป็นธรรม สิ่งที่ปรากฏก็เป็นธรรม เสียงก็เป็นธรรม ได้ยินก็เป็นธรรม รู้เลยว่า ยังไม่ได้รู้จักตัวธรรม เพียงแต่ฟังเรื่องธรรม เพราะฉะนั้น นี่เป็นสัจจญาณ ที่จะต้องมั่นคงว่า ปัญญาจะต้องเข้าใจสิ่งนี้ รู้ความจริงของสิ่งนี้ เพราะฉะนั้น ก็ฟังให้มากๆ เข้าใจขึ้นจนกว่าจะรู้จักตัวธรรมจริงๆ

    ผู้ฟัง หมายถึงว่า เราเพียงเข้าใจเรื่องราวของสภาพธรรม อันนี้ยังไม่มีปัญญา ยังไม่เป็นปัญญา ใช่ไหมครับ

    ท่านอาจารย์ ขั้นฟัง ปัญญามีหลายขั้น เข้าใจนั้นคือปัญญา

    ผู้ฟัง เข้าใจคือปัญญา

    ท่านอาจารย์ ตัวเข้าใจ นั่นคือตัวปัญญา ใช้ภาษาไทยกับภาษาบาลี

    ผู้ฟัง คือขณะนี้ กำลังศึกษากันอยู่ ก็เพียงแต่เข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ขณะใดเข้าใจ ขณะนั้นเป็นปัญญาขั้นเข้าใจสิ่งที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง หรือไม่เคยเข้าใจมาก่อน คือ เข้าใจเรื่อง ตราบใดที่ยังไม่รู้จักตัวธรรม ซึ่งก็เป็นเรื่องเดียวกัน เราพูดเรื่องตัวธรรม ซึ่งกำลังเป็นธรรมในขณะนี้ กำลังเกิด กำลังดับ กำลังทำหน้าที่ต่างๆ ทั้งจิต ทั้งเจตสิก ทั้งรูป ถ้าเรียนต่อไปเราก็ไม่ได้เรียนเรื่องอื่น ก็เรียนสภาพธรรม ในขณะนี้ สภาพใดเป็นจิต สภาพใดเป็นเจตสิก สภาพใดเป็นรูป จิตในขณะนี้เป็นจิตประเภทไหน เพราะว่าจิตมีหลายประเภท คือเรียนเรื่องสภาพธรรม ให้เข้าใจตัวจริงของธรรม เพื่อจะได้เห็นความเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ขอบคุณมาก

    ท่านอาจารย์ เวลานี้มีโลภะไหม ลองดูดอกไม้นี่

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดสวยก็คิดว่าน่าจะเป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ ยังไม่ต้องไปคิดว่าสวย เพียงเห็น มีโลภะไหม

    ผู้ฟัง โลภะคืออะไร

    ท่านอาจารย์ ความติดข้อง ความต้องการ ความพอใจ

    ผู้ฟัง พอใจ ก็คงจะมีโลภะ

    ท่านอาจารย์ มีแน่นอน เพราะว่าขณะใดก็ตามที่ไม่ใช่กุศลจิต ขณะนั้นต้องเป็นอกุศลจิต ถ้าเราไม่กล่าวถึงวิบากจิตกับกิริยาจิต วิบากคร่าวๆ คือ เห็นได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส นี่คือผลของกรรม เพราะว่ากรรมไม่ได้ทำให้เพียงเกิด ไม่ใช่เพียงทำให้หลับสนิท แต่ทำให้ตื่นขึ้นรับผลของกรรม คือเห็น หรือได้ยิน หรือได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส นี่รับผลของกรรมตลอด

    เพราะฉะนั้น บางคนเวลาตกทุกข์ได้ยาก ก็บอกว่ารับผลของกรรม เวลาป่วยไข้ได้เจ็บก็บอกว่าผลของกรรม แล้วเวลาเห็น เขาไม่รู้เลยว่า เป็นผลของกรรม เวลาได้ยิน ชั่วขณะ เสียงนิดเดียว ก็เป็นผลของกรรมแล้ว ทำให้มีจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท ถ้าบอกว่าไม่รู้บาลี เดาได้ จักขุ รู้ไหมว่าอะไร

    ผู้ฟัง จักขุหรือ

    ท่านอาจารย์ รู้ไหมว่าอะไร

    ผู้ฟัง ตา

    ท่านอาจารย์ โสต

    ผู้ฟัง โสต หู

    ท่านอาจารย์ ฆาน

    ผู้ฟัง ฆาน จมูก

    ท่านอาจารย์ ชิวหา

    ผู้ฟัง ลิ้น

    ท่านอาจารย์ กาย

    ผู้ฟัง กาย

    ท่านอาจารย์ ได้แล้วภาษาบาลี ก็อยู่ที่ตัวนี่แหละ จะใช้ภาษาอะไรก็ได้ เราใช้ภาษาไทยง่ายๆ แต่ว่าในขณะเดียวกัน ถ้าเรารู้ภาษาบาลีเพิ่มขึ้นก็ดี ใช่ไหม รู้ไว้ใช่ว่า ยิ่งเป็นภาษาที่มีในพระไตรปิฎกที่จะไม่ให้คลาดเคลื่อนในความหมาย เราก็ควรจะรู้

    นี่ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า ถ้าเราไม่กล่าวถึงวิบากจิต กิริยาจิต จิตเกิดขึ้นแล้วต้องเป็นกุศลหรืออกุศล เพราะฉะนั้น เราจะบอกว่า เป็นกุศล เรารู้ได้อย่างไร ในเมื่อปกติเป็นอกุศลโดยตลอด

    ผู้ฟัง แสดงว่าแม้แต่การนั่งสมาธิก็ตาม ไม่สามารถจะเกิดกุศลได้เลย

    ท่านอาจารย์ มิจฉาสมาธิเป็นกุศล หรืออกุศล

    ผู้ฟัง เป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีปัญญาแล้วเป็นมิจฉาสมาธิ หรือสัมมาสมาธิ

    ผู้ฟัง เป็นมิจฉาสมาธิ

    ท่านอาจารย์ ก็ตอบได้ แล้วจะทำไหม อกุศล

    ผู้ฟัง แสดงว่า อกุศลนั้นก็สามารถทำให้จิตสงบนิ่งจาก

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้สงบ อย่าใช้คำว่า สงบ สงบต้องสงบจากอกุศล แล้วที่จะรู้ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล ต้องประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ

    นี่แม้แต่คำ เราคิดว่าเป็นคำยาก แต่ความจริง เราเข้าใจความหมายถูกต้องหรือเปล่า แล้วสิ่งนั้นจะยากหรือง่าย ขึ้นอยู่กับว่าขณะนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล และเป็นกุศลระดับใด

    นี่เป็นเรื่องสภาพธรรมที่ละเอียดยิบในชีวิตประจำวัน บางคนก็บอกว่า ทรงแสดงจิตไว้มากเหลือเกิน เจตสิกก็ตั้งมากมาย ความจริงมากกว่านั้น ละเอียดกว่านั้น แสดงไว้โดยประเภทใหญ่ๆ เท่านั้นเอง เพราะว่าจิตของคนกี่คนในโลก ไม่นับเฉพาะประเทศไทย เป็นจิตทั้งนั้น กี่ประเทศก็เป็นจิต การสะสมต่างกันแค่ไหน แต่ละคน เอาเฉพาะในบ้านหนึ่ง ครอบครัวหนึ่งก็ต่างกันแล้ว แล้วขยายไปออกไปถึงประเทศ แล้วขยายออกไปถึงโลก ความต่างจะมากสักแค่ไหน

    ทรงประมวลประเภทของจิต อุปมาเหมือนดาวบนท้องฟ้า ซึ่งเหลือที่จะนับ แต่ว่าจัดแบ่งเป็นประเภทๆ ได้ เป็น ๘๙ ประเภท หรือ ๑๒๑ ประเภท ซึ่งความหลากหลายนั้นมีมากกว่านั้น เพราะฉะนั้น ถ้าจะบอกว่ามาก ตัวจริงมากกกว่านั้นอีกมาก จิตคืออะไร

    ผู้ฟัง จิตคือนามชนิดหนึ่ง

    ท่านอาจารย์ นามคืออะไร

    ผู้ฟัง ก็คือ ที่ไม่มีตัวตน

    ท่านอาจารย์ ไม่มีตัวตนแล้วจะว่าเป็นจิตได้อย่างไร

    ผู้ฟัง แต่มันเกิดดับ

    ท่านอาจารย์ อะไรล่ะที่เกิดดับ ที่ว่าจิต มีลักษณะอย่างไรที่บอกว่าเป็นจิต ถ้าเราไม่รู้อะไร แล้วเราก็ไปทำสิ่งที่เราไม่รู้เลย หรือเราไปหาสิ่งซึ่งเราไม่รู้เลย เราจะหาเจอไหม จิตคืออะไรก็ไม่รู้ แล้วเราไปหาจิต เราจะหาจิตเจอไหม ในเมื่อจิตเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นคืออะไร นี่คือจุดตั้งต้นของความรู้ ถ้าพูดถึงจิต จิตคืออะไร ก่อนที่จะไปตั้งไว้ที่ท้อง จิตคืออะไร

    ผู้ฟัง สิ่งที่รู้

    ท่านอาจารย์ เป็นธาตุรู้ หรือสภาพรู้ ไม่มีรูปร่างสัณฐานใดๆ ทั้งสิ้น เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่แล้วดับทันที เร็วมาก แล้วใครจะเอาจิตไปตั้งไว้ตรงท้องได้ จิตจะยอมให้ไปตั้งอยู่ตรงนั้นหรือ

    ผู้ฟัง อย่างนั้นคงจะเป็น คำว่า สติมากกว่า

    ท่านอาจารย์ สติเป็นโสภณธรรม เกิดเฉพาะกับโสภณจิต ไม่เกิดกับอกุศลเลย

    ผู้ฟัง อย่างนั้นการที่ร่างกายปรากฏอาการ อย่างหายใจค่อนข้างแผ่วเบาขึ้นๆ นี่ไม่ใช่เป็นอาการที่เรียกว่า มีสติ หรือจิตสงบเลย

    ท่านอาจารย์ ไม่เกี่ยว คนจะตาย หายใจเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ช้าลง

    ท่านอาจารย์ แล้วแผ่วเบาไหม หรือแม้แต่คนที่จะเป็นลม เป็นอย่างไร ลมหายใจเป็นอย่างไร ไม่เกี่ยวกับสภาพจิต เรื่องของรูปธรรมคือรูปธรรม สิ่งที่จะต้องรู้ชัดคือ รูปธรรมไม่ใช่นามธรรมโดยเด็ดขาด โดยสิ้นเชิง สิ่งที่แข็งที่เราสมมติเรียกว่าโต๊ะ เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม

    ผู้ฟัง เป็นรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะเราสัมผัสได้ถึงความแข็ง

    ท่านอาจารย์ เพราะแข็งไม่รู้อะไร นามธรรมมีลักษณะรู้ แข็งไม่รู้อะไร แข็งเป็นแต่เพียงสภาพแข็ง ไม่ใช่สภาพรู้ หวานมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ มองเห็นไหม

    ผู้ฟัง ไม่เห็น

    ท่านอาจารย์ แต่มีใช่ไหม หวานเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม

    ผู้ฟัง เป็นรูปธรรม

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะว่า หวานมันไม่สามารถรู้ว่ามันหวานได้

    ท่านอาจารย์ หวานไม่รู้อะไร แต่หวานเป็นสภาพที่หวาน ที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น สิ่งที่เป็นรูป ไม่ว่าจะอยู่ภายในตัว ที่ตัว หรือนอกตัว ลักษณะแท้จริง คือ เป็นรูปธรรม รูปธรรมเป็นรูปธรรม จะเป็นอื่นไปไม่ได้ จะเป็นเรา หรือจะเป็นเขา หรือจะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้เลย รูปธรรมเป็นรูปธรรมเท่านั้น แต่รูปธรรมที่นี่ ด้วยความไม่รู้ว่า เป็นรูปธรรม จึงมีการยึดถือว่าเรา ตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าเป็นเราหมด แต่จริงๆ รูปจะเป็นเราไม่ได้ รูปเป็นรูป อยู่ที่ไหนก็เป็นรูป นี่คือปัญญาที่สามารถจะรู้ความต่างกันของรูปธรรมกับนามธรรม ถ้าไม่รู้อย่างนี้ก็ยังมีความเป็นเราอยู่ ทั้งนามทั้งรูปเป็นเราหมด

    เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจจริงๆ ว่า จิตไม่ใช่รูป ไม่ใช่หัวใจ หรือหายใจแผ่วๆ ไม่เกี่ยว จิตเป็นแต่เพียงธาตุรู้ หรือสภาพรู้ ซึ่งไม่มีรูปร่างสัณฐานใดๆ ทั้งสิ้น เกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดแล้วดับทันที ไม่มีใครสามารถเอาจิตไปตั้งตรงนั้นตรงนี้ ไปวางตรงนั้นตรงนี้ ใช้จิตอย่างนั้น ใช้จิตอย่างนี้ ไม่ได้ สภาพธรรมเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น จากการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ได้เปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมหนึ่ง สภาพธรรมใดเลย ทรงแสดงธรรม พระธรรม เป็นเรื่องของธรรมทั้งหมด ตามความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ

    ผู้ที่ฟัง ไม่ใช่เป็นผู้ทำ แต่เป็นผู้ศึกษา เป็นผู้ฟัง เป็นผู้พิจารณา ให้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงของธรรม จุดประสงค์ของการทรงแสดงพระธรรม เพื่อให้เกิดปัญญารู้ความจริงของธรรม ไม่ใช่ให้ไปทำ นี่จะไปทำธรรม ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ถ้าเกิดที่บอกว่า เป็นการไปเพื่อสั่งสมบุญบารมี ถือว่าไม่ใช่โดยสิ้นเชิงเลย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ต้องตั้งต้นว่าบารมีคืออะไร ใครจะบอกอะไรก็ตามแต่ ฟังได้ มีสิทธิฟัง แต่เราก็มีสิทธิคิด แล้วก็มีสิทธิพิจารณาด้วยว่า คำนั้นถูกหรือผิด ใครจะบอกให้เราเชื่อ เราไม่เชื่อได้ เป็นสิทธิส่วนตัวที่จะไม่เชื่อ ที่จะซัก ที่จะถาม ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจของเราก่อน เราจะไม่ทำอะไรโดยไม่เข้าใจ บอกไปเลย ให้เข้าใจก่อน ถามก่อน ซักก่อน จนกว่าจะได้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งจะมีไม่ได้เลย ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่มีเครื่องเทียบเคียง ไม่มีใครมาบอกถึงเรื่องของสภาพธรรม ตามความเป็นจริง ต่อเมื่อไรที่เราศึกษา เรามีความเข้าใจถูก เรามีเครื่องวัด เรามีปัญญา เราสามารถที่จะสอบถามผู้ที่บอกเราได้ ให้เขารู้ ให้เขาเข้าใจว่า เขาเข้าใจถูกหรือเข้าใจผิด ถ้ามาบอกว่าให้ตั้งจิตไว้ที่ท้อง เราก็บอกว่า จิตเป็นสภาพรู้ เกิดแล้วดับ ใครไปตั้งจิตได้

    ผู้ฟัง วิปัสสนา เอาสติไปรู้ที่เกิดการเคลื่อนไหว เห็นกายในกาย เห็นจิตในจิต เห็นธรรมในธรรม เป็นลักษณะเช่นไร

    ท่านอาจารย์ วิปัสสนาคืออะไร ถ้าใครไม่ตอบไม่ต้องสนใจเลย เพราะว่าเราไม่เกิดความเข้าใจ ต้องตอบมาให้ได้ว่า วิปัสสนาคืออะไร

    ผู้ฟัง สภาพการรู้ว่า ขณะนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ ขณะเดิน ก้าวแต่ละก้าว รู้ว่า ขณะก้าวที่เดิน เรายก เราเคลื่อน เราไหว เช่นไร

    ท่านอาจารย์ แล้วเราอยู่ตรงไหน เรา

    ผู้ฟัง คือไม่มีเรา แต่ว่า คือเอาสภาพตรงนี้ว่ารู้

    ท่านอาจารย์ รู้อะไร

    ผู้ฟัง เวลารู้กระทบพื้น รู้ว่าพื้นแข็ง

    ท่านอาจารย์ รู้ว่าพื้นแข็ง ยังเป็นพื้น

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ แล้วรู้ว่าอะไรถูก ก็พื้นแข็ง มีใครบ้างที่ไม่รู้

    ผู้ฟัง แต่เป็นการฝึกนี่

    ท่านอาจารย์ พื้นแข็ง ใครบ้างไม่รู้

    ผู้ฟัง ไม่มีสติระลึกรู้ตรงนั้น

    ท่านอาจารย์ สติคืออะไร

    ผู้ฟัง คือการระลึกรู้

    ท่านอาจารย์ ระลึกรู้อะไร

    ผู้ฟัง ความแข็ง

    ท่านอาจารย์ ความแข็ง ก็รู้ว่าแข็งเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นรูป

    ท่านอาจารย์ รู้ว่าแข็งเป็นรูปชนิดหนึ่ง แล้วสติเกิดเพราะเหตุปัจจัย หรือว่าเราทำสติ ได้ยินเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย หรือว่าเราทำได้ยิน

    ผู้ฟัง เพราะเหตุปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีหู คือ โสตปสาท ได้ยินได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีหู แต่เสียงไม่กระทบ ได้ยินได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีหู มีเสียง แต่นอนหลับสนิท ได้ยินได้ไหม

    ผู้ฟัง ก็ไม่ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ แม้ได้ยินก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ถ้าไม่มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องนามธรรม และรูปธรรม สัมมาสติจะระลึกอะไร จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น บอกให้ทำสติรู้แข็ง ได้อย่างไร ไม่รู้ว่าสติเป็นอย่างไร

    ผู้ฟัง ก็รู้ว่าขณะนั้น อะไรคือแข็ง

    ท่านอาจารย์ ก็ทำไมจะไม่รู้ ก็รู้อยู่แล้วว่าแข็ง แข็งนี่ก็รู้อยู่แล้ว แล้วจะเป็นสติได้อย่างไร

    ผู้ฟัง สติของอาจารย์คืออะไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ของดิฉัน สติเป็นโสภณเจตสิก เกิดกับกุศลจิต และโสภณจิตทุกชนิด มีหลายขั้น สติขั้นทาน ขณะที่กำลังให้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อประโยชน์สุขแก่บุคคลอื่น ก่อนศึกษาธรรมเป็นเรา แต่เมื่อเข้าใจแล้วว่าไม่มีเรา ก็เป็นจิตกับเจตสิกฝ่ายดี ซึ่งประกอบด้วยโสภณเจตสิกอย่างน้อยที่สุด ๑๙ ชนิด จิตที่เป็นโสภณ หรือเป็นกุศลจึงจะเกิดได้ ต้องมีทั้งศรัทธา มีสติ มีหิริ มีโอตตัปปะ มีอโทสะ มีอโลภะ มีตัตรมัชฌัตตตา หลายอย่างในขณะนั้น ไม่ใช่เราเลย แต่กว่ากุศลจิตจะเกิดขึ้นแต่ละขณะ เปลี่ยนจากลักษณะที่เป็นอกุศลเป็นกุศล ต้องประกอบด้วยโสภณเจตสิก ซึ่งไม่ใช่เราเลยสักอย่าง ศรัทธาก็ไม่ใช่เรา สติก็ไม่ใช่เรา หิริ โอตตัปปะก็ไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่าง ซึ่งสติจะถึงเฉพาะลักษณะซึ่งเป็นสภาพธรรมนั้น จึงปฏิบัติ เพื่อที่จะได้รู้แจ้งสภาพธรรม ไม่ใช่ไปนั่งหรือไปเดิน นั่งเท่าไร เดินเท่าไร ปัญญาก็ไม่รู้ความจริง เพราะว่าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง นอกจากนั้นก็ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติที่ถูก หรือว่าเป็นการสั่งสมบารมีอย่างที่เคยกล่าวมาแล้วเช่นกัน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก็ไม่เข้าใจ แล้วจะเป็นบารมีได้อย่างไร จะเป็นการอบรมเจริญปัญญาได้อย่างไร จะเป็นกุศลได้อย่างไร ในเมื่อไม่เข้าใจ

    ผู้ฟัง สิ่งนั้นก็ถือว่าเป็น

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ถือ ถ้าถือหมายความว่า เราคิดเอาเอง แต่นั่นเป็นความจริง เป็นสัจธรรม สิ่งที่เป็นกุศลเป็นกุศล สิ่งที่เป็นอกุศลเป็นอกุศล ใครจะรู้หรือไม่รู้ ใครจะถืออกุศล เป็นกุศล ก็เรื่องของความไม่รู้ แต่สภาพธรรมที่เป็นอกุศลก็เป็นอกุศล ใครจะรู้หรือไม่รู้ ใครจะถือกุศลเป็นอกุศล ก็เรื่องของความไม่รู้ แต่สภาพธรรมที่เป็นอกุศลก็เป็นอกุศล ถ้ารู้ตามความจริงอย่างนี้ ถึงจะรู้ว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของกุศลให้เป็นอกุศล ไม่มีใครไปเปลี่ยนแปลงลักษณะของอกุศลให้เป็นกุศลได้

    ผู้ฟัง ทุกวันนี้ ผู้ที่จะมีสติได้ คือ เป็นผู้ที่ฝืนต่อสภาพของโลก อย่างมากเลย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทำไม

    ผู้ฟัง เพราะที่อาจารย์บอกว่า มันต้องประกอบด้วยโสภณจิตเท่านี้ๆ ดวง

    ท่านอาจารย์ เคยให้ทานไหม

    ผู้ฟัง เคยให้

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นมีสติเกิดที่ระลึกเป็นไปในทาน จึงให้ เพราะว่าส่วนใหญ่แล้ว วันหนึ่งๆ เราให้ทานกี่ครั้ง แต่เราต้องการกี่ครั้ง เมื่อกี้นี้ต้องการอะไรบ้าง ที่โต๊ะอาหาร มากกว่าหนึ่งก่อนนั้นมีความต้องการอะไรอีก ในชีวิตประจำวัน

    เพราะฉะนั้น เวลาที่จะมีการให้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่น ขณะนั้น เป็นโสภณเจตสิก เป็นโสภณจิต เป็นธรรมฝ่ายดี ซึ่งต้องมีสติ จึงระลึกเป็นไปที่จะให้ แม้ในขั้นศีล ระลึกเป็นไปที่จะวิรัติทุจริต แม้ในขั้นการฟังธรรม ระลึกเป็นไปเพื่อที่จะเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ต้องเจตนาที่ต้องระลึกหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ มิได้ เจตนาเจตสิกเป็นสัพพจิตสาธารณเจตสิก เกิดกับจิตทุกขณะ

    ผู้ฟัง ขณะที่ให้ทานไป การระลึก คำว่าระลึกของอาจารย์ที่ว่า คือ

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เราไประลึก แต่ขณะใดที่คิดให้ทาน ขณะนั้นสติระลึกเป็นไปในทาน จึงคิดอย่างนั้นในขณะนั้น เป็นสติที่คิดเป็นไปในทาน จะใช้คำว่าระลึก เพราะเหตุว่าจะปนกับวิตก ถ้าใช้คำว่าคิด ระลึกได้ที่จะให้ แทนที่จะเอาอยู่ตลอด หรือจะต้องการอยู่ทั้งวัน แต่เกิดระลึกที่จะให้ เป็นไปในการที่จะให้ สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่น

    ผู้ฟัง จิตที่สงบขณะกำลังให้ เราเอามาระลึกรู้ตอนนั่งสมาธิ

    ท่านอาจารย์ ทำไมใช้คำว่าสงบล่ะ

    ผู้ฟัง ก็เพราะมันไม่มีความโลภ ไม่มีความโกรธ

    ท่านอาจารย์ รู้ได้อย่างไร ก็ในเมื่อลืมตาขึ้นมาก็มีโลภะแล้ว แล้วตอนไหนที่จะไม่ใช่โลภะ

    ผู้ฟัง ขณะที่ให้

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ให้ ไม่ใช่ ถูกต้อง ขณะไหนอีก

    ผู้ฟัง ก็ผมบอกขณะตอนนั่งสมาธิ อาจารย์ก็บอกไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ สมาธิมี ๒ อย่าง มิจฉาสมาธิ ก็ต้องเป็นโลภะ ถึงได้ทำ ถ้าไม่มี โลภะ จะทำทำไม มีความติดข้องต้องการที่จะทำ จึงทำ เหมือนกับจะเดินไป ก็ต้องมีความต้องการจะเดิน เมื่อจะนั่งก็มีความต้องการจะนั่ง จะให้จิตตั้งอยู่ที่เดียวก็มีความต้องการจะให้จิตตั้งอยู่ที่เดียว แต่ไม่มีปัญญา

    ข้อความในพระไตรปิฎกมีว่า ผู้ที่จะอบรมเจริญสมถภาวนา หรือสติปัฏฐานวิปัสสนาภาวนา ถ้าขาดสติสัมปชัญญะ เจริญไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะต้องรู้ลักษณะของสติสัมปชัญญะด้วย ไม่ใช่ว่าคิดเอาเองว่า เราสงบ โดยที่ไม่รู้ลักษณะของสติสัมปชัญญะ

    ผู้ฟัง จากคำที่อาจารย์กล่าวมา คือว่า ถ้าเกิดไม่ฟังแล้ว ให้เข้าใจก่อน ทำไปก็ไร้สาระ

    ท่านอาจารย์ ถูกหรือเปล่า ถ้าพูดอย่างนี้

    ผู้ฟัง คิดว่าถูก เพราะฉะนั้น ก่อนที่ใครจะไปปฏิบัติอะไร หากไม่ฟังหรือเข้าใจ แต่ตรงที่ฟังแล้วเข้าใจนั้น ใครจะสามารถให้ความกระจ่างได้ว่า เข้าใจมากน้อยสักเพียงไหน ถึงจะสามารถไปปฏิบัติได้ โดยที่ไม่ให้มันไร้สาระ

    ท่านอาจารย์ เวลานี้เข้าใจแล้วใช่ไหม ที่บอกว่าถูกๆ แปลว่าเข้าใจแล้ว

    ผู้ฟัง เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง

    ท่านอาจารย์ ตอนที่บอกว่าถูก หมายความว่าเข้าใจ ใช่ไหม

    ผู้ฟัง ใช่

    ท่านอาจารย์ เข้าใจแค่นี้ไม่ต้องไปปฏิบัติ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 99
    23 มี.ค. 2567