ปกิณณกธรรม ตอนที่ 375
ตอนที่ ๓๗๕
สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่
พ.ศ. ๒๕๔๑
ท่านอาจารย์ ต้องศึกษาด้วยเหตุผล ถ้าไม่เกิดปัญญาแล้วไม่ต้องทำอะไร เพราะว่าถ้าไม่มีปัญญาก็เจริญสมถภาวนาไม่ได้ สติปัฏฐานหรือวิปัสสนาภาวนาไม่ได้ ข้อความนี้มีในพระไตรปิฎก และเป็นความจริงด้วย เพราะเหตุว่าสมาธิ แม้ขณะที่ฟัง ก็เป็นสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิจะฟังรู้เรื่องไหม จะหยิบแก้วก็ต้องมีสมาธิ ไม่มีสมาธิ ก็หยิบไม่ถูกแก้ว ทำไม่ได้เหมือนกัน สมาธิ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตทุกขณะ ไม่ต้องห่วง แต่ว่าเป็นสัมมาสมาธิเมื่อเกิดกับกุศลจิต
ผู้ฟัง ต้องอาศัยการฝึกฝนหรือเปล่า สมาธินี้
ท่านอาจารย์ อยากจะเข้าใจ หรืออยากจะทำ
ผู้ฟัง อยากจะเข้าใจ
ท่านอาจารย์ เข้าใจ ฝึกฝนด้วยอะไร
ผู้ฟัง ด้วยการฟัง
ท่านอาจารย์ ก็เป็นคำตอบอยู่แล้ว ยังจะไปทำอย่างอื่นได้ไหม
ผู้ฟัง ฟังทั้งทฤษฎี และปฏิบัติ
ท่านอาจารย์ ปฏิบัติทำอย่างไร
ผู้ฟัง คือเอาจากทฤษฎีมา
ท่านอาจารย์ เข้าใจขึ้น เข้าใจขึ้น จนกระทั่งเป็นปัจจัยให้สติระลึก ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม
ผู้ฟัง อยากถามว่า ตอนนี้มันเป็นปัญจทวาร ใช่ไหม ทีนี้เราจะทราบได้อย่างไร เราจะมาทราบที่ใจ มันต้องสื่อกันแน่ แต่ว่าตรงไหน จุดตรงไหนที่ก่อนจะเป็นชวนจิต
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้ว ธรรมเป็นเรื่องที่ว่าถ้าเข้าใจตรง คำพูดเราจะตรงขึ้น เพราะว่าจิตเกิดขึ้น ๑ ขณะ แล้วแต่ว่าจะเป็นชาติอะไร แล้วก็จะทำกิจอะไร อย่างเวลาที่เป็นภวังคกิจ ใช้คำว่า เป็นภวังค์ เพราะเหตุว่าขณะนั้นไมใช่ปฏิสนธิจิต ไม่ใช่วิถีจิต แต่เป็นภวังคจิต เพราะว่าทำภวังคกิจ ดำรงภพชาติ ไม่ได้รับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเลย แต่มี ขณะนั้นมีจิต กำลังทำภวังคกิจ
นี่ก็ทำให้เราเก็บเล็กผสมน้อย กิจของจิต ๑๔ กิจ ง่ายๆ คือ ๕ กิจ ได้อยู่แล้ว กิจเห็น ทัศนกิจ กิจได้ยิน สวนกิจ กิจได้กลิ่น ฆายนกิจ กิจลิ้มรส สายนกิจ แล้วก็กิจรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส ผุสสนกิจ นี่ชื่อภาษาบาลี ยังไม่ได้ครบ ๕ ก็เอาแค่ ทัศนกิจ ง่ายจริง สวนกิจก็ง่าย ๒ กิจนี้ พอถึง ฆายนกิจ ก็กิจได้กลิ่น ที่เหลือ ที่เหลือ ถ้าจะยากก็ผุสสนกิจ ก็แปลกหน่อย ค่อยๆ เก็บเล็กผสมน้อย แต่อย่าไปจงใจ ตั้งใจท่องให้ปวดหัว เพราะว่าถ้าเป็นแบบนั้น จะเห็นว่า ธรรมเป็นเรื่องเหนื่อย เป็นเรื่องหนัก ไม่ใช่เป็นเรื่องเบา ไม่ใช่เรื่องสบาย ถ้าเราสามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรม ย่อมดีกว่าเราท่องชื่อ แต่เราไม่เข้าใจ
เพราะฉะนั้น ที่ฟังจริงๆ ให้เข้าใจฟังภาษาไทย แล้วก็รู้ภาษาบาลีกำกับไป จะช้าหรือจะเร็วนั่นอีกเรื่องหนึ่ง จะลืมไปบ้างก็ไม่เป็นไร แล้วภายหลังเราก็อาจจะดูซ้ำอีก ฟังซ้ำอีก แล้วก็นึกออกอีกก็ได้ คือจะไม่มีคำว่าใช้สติ จะไม่มีคำว่า ใช้ปัญญา เพราะเรารู้ว่า มีปัญญาที่ไหนจะใช้ ยังไม่มีเลย แล้วบอกใช้ปัญญา ถ้าใครใช้ปัญญา แปลว่าคนนั้นต้องมีปัญญามากๆ แล้วคิดว่าใช้ได้ด้วย ถูกหรือผิด เพราะว่าปัญญา เป็นสิ่งซึ่งค่อยๆ เกิด ค่อยๆ เจริญขึ้น เพิ่มขึ้น เกิดแล้วก็ดับด้วย ไม่ใช่ดำรงอยู่ตลอดไป
เพราะฉะนั้น จะตั้งสติ จะใช้สติ จะใช้ปัญญา เป็นสิ่งที่พูดโดยความที่ไม่เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งถ้าเราเข้าใจแล้วเราหยุดเลย ไม่ใช้คำนี้อีกต่อไป ใช้สติไม่ได้ ใช้ปัญญาไม่ได้ แต่ค่อยๆ เข้าใจได้
แม้แต่กุศลจิต อกุศลจิต บางคนบอกว่าได้บุญไหม แล้วบุญคืออะไรที่จะได้ ความสุขใจ ความสุขใจเป็นนามธรรมหรือรูปธรรม แล้วจะได้มาอย่างไร ได้คือขณะไหน ขณะเกิด ก็คือเกิดแล้วดับ แล้วได้ตรงไหน คือ เราใช้คำด้วยความเป็นตัวเราที่ต้องการ ได้บุญไหม อยากได้บุญ จึงถามว่าได้บุญไหม แต่ความจริง กุศลจิตเป็นสภาพที่เกิด ขณะที่เป็นกุศลไม่มีโลภะ ไม่มีโทสะ ไม่มีความหวังใดๆ ขณะที่เป็นสภาพที่เป็นกุศล ผ่องใสจริงๆ ประกอบด้วยศรัทธา สภาพที่ผ่องใส ประกอบด้วยเจตสิก ซึ่งสงบ ปัสสัทธิเจตสิก ไม่ใช่เราจะสงบ หรือจะทำสงบ แต่เจตสิกนั้นเป็นสภาพที่สงบกาย คือเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย และสงบจิตจากความฟุ้งซ่านที่เป็นอกุศล เพราะว่าเป็นลักษณะของเจตสิกนี้
แสดงให้เห็นว่า เวลาที่สภาพธรรมที่เป็นกุศลจิต หรือโสภณจิตเกิด ฝ่ายดี จะไม่มีการที่เราหวังที่จะได้ เพราะฉะนั้น ขณะใดที่หวังได้บุญไหม เป็นอกุศล หรือเป็นกุศล เป็นอกุศล เพราะฉะนั้น ต้องศึกษาโดยละเอียด แล้วต้องแยก เพราะว่าสภาพนี้เป็นสภาพจิต ถ้าเราไม่เข้าใจ เราก็ผิด คืออยากได้ ซึ่งต้องการ ซึ่งเป็นโลภะ ซึ่งไม่มีวันจบ แล้วซึ่งนำทุกข์มาให้ เพราะเราจะได้หรือไม่ได้ขึ้นอยู่กับเหตุ ถ้ากุศลจิตเกิด ดับจริง แต่ว่าสิ่งที่เกิดแล้วดับ แล้วก็ทำให้สิ่งคือสภาพของจิต เจตสิก ซึ่งเกิดต่อมีสิ่งที่เกิดแล้วดับ สะสมอยู่ในจิตขณะต่อไป
การฟังธรรมแล้วมีความเข้าใจ ซึ่งเป็นปัญญาเจตสิก ดับไหมคะ ดับ แต่ว่าเมื่อดับแล้วสภาพของจิตซึ่งเกิดสืบต่อ ก็จะมีปัญญาเจตสิกซึ่งเคยเกิดแล้วดับ สืบต่อในจิตขณะต่อไป เพราะฉะนั้น การฟังขณะต่อไปจึงทำให้มีความเข้าใจขึ้น
ถ้าถามเรื่องของขันธ์ ๕ เวลานี้ตอบได้ไหม ตอบได้ ซึ่งเข้าใจตอนที่กำลังฟัง แล้วก็ดับไปแล้ว แต่พอถามอีก ก็ยังตอบได้อีก เพราะว่าสืบต่อความเข้าใจนี้ก็เก็บสะสม สืบต่อ
เจตนาซึ่งเป็นกรรม ในบรรดาเจตสิกทั้งหมด ๕๒ ชนิด เจตนาเจตสิกเท่านั้นที่เป็นกัมมปัจจัย เป็นสภาพที่กระทำ เป็นสภาพที่ตั้งใจ จงใจ ที่จะกระทำให้สำเร็จ แม้ว่ากรรมได้กระทำไปแล้ว ขอกล่าวถึงอกุศลกรรม ซึ่งทุกคนเคยมี เคยทำ เคยฆ่าสัตว์ไหม เคย เป็นอกุศลกรรม มีเจตนาจงใจที่จะฆ่า ดับไปแล้ว ในความรู้สึกของเราก่อนที่จะศึกษาธรรม ก่อนที่จะเข้าใจธรรม มีเราฆ่าสัตว์ ถูกไหม แต่จริงๆ แล้วมีเจตนาเจตสิกซึ่งจงใจจะประทุษร้าย เป็นอกุศล ต้องการเบียดเบียน หรือ ทำร้าย สภาพของเจตนาอันนั้นเกิดแล้วดับไป เพราะฉะนั้น การสืบต่อของเจตนาที่จงใจเบียดเบียนทำร้าย เป็นปัจจัยให้เกิดวิบากจิตซึ่งเป็นผลถูกทำร้าย โดยการที่ว่าเป็นผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิดบ้าง หรืออะไรบ้าง ไม่ใช่คนอื่นทำ แต่เจตนาซึ่งเป็นกรรม ซึ่งสำเร็จ ซึ่งผ่านไป แล้วก็สืบทอดสะสม พร้อมที่จะทำให้วิบากจิตเกิดขึ้น วิบากจิตเกิดขึ้นเป็นผลของกรรม
เราจึงเรียนเรื่องกุศล อกุศล และวิบากซึ่งเป็นกุศลวิบาก และ อกุศลวิบากว่า กุศลวิบากที่กำลังเกิดในขณะนี้ ไม่ได้มีคนอื่นทำให้ นอกจากกุศลเจตนาในอดีต เป็นปัจจัยทำให้อกุศลวิบากในขณะนี้เกิด หรือถ้าเป็นอกุศลวิบาก เราหกล้มเจ็บ เจ็บทางกายเป็นอกุศลวิบาก เกิดจากอดีตอกุศลกรรม ซึ่งจงใจที่จะเบียดเบียน แม้ดับไปแล้วก็สะสมสืบต่อ ได้โอกาสที่จะทำให้วิบากจิตเกิดขณะใด ก็ทำให้วิบากจิตเกิดขึ้นในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ทุกขณะจิต ไม่ใช่คนอื่นทำ เป็นกุศลซึ่งเป็นเหตุทำให้เกิดกุศลวิบาก หรืออกุศลซึ่งเป็นเหตุทำให้เกิดอกุศลวิบาก
ผู้ฟัง ผมจะย้อนไปนิดในเรื่องของวิถีจิตที่ว่า ชวนจิตที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นปุถุชน แล้วมักจะเป็นอกุศลเสมอ ที่เกิดขึ้น วิถีจิตจะเกิดเป็นอกุศล ส่วนจะเป็นกุศลนั้นน้อยมาก ก็เพื่อให้เป็นกำลังใจสำหรับผู้ที่ศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า นอกจากศรัทธาแล้ว ความเข้าใจแล้ว เราจะศึกษาอย่างไร จึงจะช่วยในชาตินี้ เอาในเรื่องนี้ก่อน
ท่านอาจารย์ นี้เป็นปัญหาที่ดูเหมือนไม่สำคัญ แต่ความจริงสำคัญมาก เพราะว่าทุกอย่างต้องขึ้นอยู่กับจุดเริ่มต้น หรือการเริ่มต้น ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก แล้วก็ความละเอียดของธรรมก็เพราะว่าสภาพจิตของแต่ละคนเป็นสิ่งที่ละเอียด ต้องมีการพิจารณาไตร่ตรอง จึงสามารถที่จะรู้ได้แม้แต่จุดประสงค์ของการเรียน หรือการฟังธรรม ซึ่งบางคนอาจจะคิดว่า เมื่อมีที่ไหนสอน อยากรู้ก็ไปเรียน แล้วก็แล้วแต่ที่นั่นจะให้เรียนอย่างไร เราก็เรียนตามแต่ละสถานที่ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าในครั้งโน้น จากการที่ไม่รู้ธรรมเลย แต่เมื่อได้มีโอกาสไปเฝ้าไปฟังธรรม ก็สามารถที่จะเข้าใจธรรมได้ สมัยนั้นก็ไม่มีหนังสือตำรับตำราอย่างที่เรามีในสมัยนี้ แต่นี่ก็เป็นความต่างกัน ห่างไกลกันระหว่างยุคสมัย แต่ว่าจุดประสงค์จริงๆ ไม่ว่าในสมัยโน้น หรือในสมัยนี้ ก็ควรที่จะได้ทราบว่า การฟังธรรมเพื่อเข้าใจธรรม เพราะว่าธรรมไม่ใช่สิ่งที่จะเข้าใจได้โดยง่าย ถ้าเป็นสิ่งที่จะเข้าใจได้โดยง่าย พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงน้อมพระทัยที่จะไม่ทรงแสดง เมื่อได้ตรัสรู้ แสดงให้เห็นว่า ธรรมเป็นเรื่องละเอียด เป็นเรื่องลึกซึ้ง เป็นเรื่องที่ทวนกระแสจิตของคนที่ยังไม่เคยฟังธรรมเลย เพราะว่าคนที่ยังไม่เคยฟังธรรม วันหนึ่งๆ ก็มีแต่ต้องการ อยากจะได้ในชีวิต ตั้งแต่เด็กจนโตมาเรื่อยๆ ทุกวัน ก็มีแต่ความ ต้องการทั้งนั้น จะเอาอยู่ตลอด แต่ว่าธรรมเป็นเรื่องของการละ
ถ้าไม่ศึกษาธรรมเพื่อละจริงๆ เพื่อเข้าใจว่า ถ้ายังมีความไม่รู้อยู่ ไม่สามารถที่จะละความไม่รู้นั้นได้ หนทางเดียวที่จะละความไม่รู้ได้ ก็คือว่า มีความรู้จากผู้ที่รู้ คือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
การที่เราจะรู้จริงๆ ไม่ใช่การศึกษาจากนักปรัชญา หรือว่านักจิตวิทยา แต่ว่าต้องเป็นการศึกษาจากพระธรรมที่ได้ทรงแสดงไว้ โดยที่ว่ารู้จุดประสงค์ว่า ฟังเพื่อเข้าใจ บางคนอาจจะคิดว่า อยากจะถึงนิพพาน นิพพานเป็นอะไรก็ยังไม่ทราบ แต่ว่าได้ยินคำว่านิพพานก็อยาก อย่างนั้นไม่ใช่จุดประสงค์ ถ้าจะไปฟังเพื่ออยากจะถึงนิพพาน โดยที่ไม่เข้าใจอะไรเลย แต่ตรงกันข้าม ถ้าเป็นผู้ที่รู้จักตัวเองตามความเป็นจริงว่า พอที่จะถึงนิพพานได้ไหม ด้วยอะไร แต่ด้วยความอยากแล้วไม่มีทางที่จะถึง
การที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่ใช่เรา แต่ต้องเป็นปัญญาที่ค่อยๆ เกิดจากการที่ไม่มีเลย แล้วก็อบรมจนกระทั่งเจริญขึ้น จากโลกียปัญญา คือ ปัญญาที่สามารถรู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ นี่เป็นโลกียปัญญา ขณะใดที่ไม่ใช่ปัญญาที่รู้ลักษณะของนิพพาน ขณะนั้นเป็นโลกียปัญญา เพราะฉะนั้น กว่าจะถึงโลกุตตรปัญญา ถ้าไม่มีปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรม ในขณะนี้ ไม่ใช่ในขณะอื่น เพราะว่าขณะนี้ สั้นมาก ขณะที่ผ่านไปแล้วทั้งหมด กลับคืนมาไม่ได้เลย เมื่อกี้นี้ใครจะเดินมาจากทางไหน จะย้อนกลับไปเดินจากทางนั้นให้เข้ามานั่งอยู่ที่นี่ ก็ไม่ใช่เมื่อกี้นี้ ขณะก่อน คนละขณะเลย แม้ว่าสถานที่จะเหมือนที่เดิม ไม่ว่าจะเป็นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ เหมือนเดิม แต่ความจริงไม่ใช่เดิม เพราะเหตุว่าสภาพธรรมมีปัจจัยจึงเกิด เมื่อเกิดแล้วดับทันที เร็วมาก
เพราะฉะนั้น จึงเป็นการที่จะต้องอาศัยความศรัทธาเห็นประโยชน์ว่า เราเป็นคนที่ได้กระทำบุญมาแล้วในอดีต จึงได้มีโอกาสฟังพระธรรมซึ่งละเอียด เพราะฉะนั้น ต้องฟังด้วยความเคารพ แล้วก็ด้วยความละเอียดที่จะพิจารณา ให้ถูกต้อง เพื่อละความไม่รู้ เมื่อมีความรู้เกิดขึ้นแล้วก็ละความไม่รู้ ความรู้นั้นก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นตามควร โดยไม่ใช่ว่า ต้องไปหวังอยากจะถึงโน้นถึงนี่ หรือว่าอยากจะไม่มีกิเลสเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
บางคนที่ยังไม่ได้ศึกษาธรรมเลย เขาคิดเองว่า เขาควรจะไม่มีโลภะ โลภะนี่น่าเกลียด น่ารังเกียจ ดูแล้วก็ไม่ควรจะมี ก็พยายามที่จะละโลภะ แต่ไม่ได้คิดถึงเหตุให้เกิดโลภะ คือ โมหะ ถ้าไม่มีความรู้สภาพธรรม ขณะนั้นโลภะก็ต้องเกิด มีอะไรที่จะไม่ให้โลภะเกิด โลภะเกิดทั้งวันก็ไม่รู้ โลภะขนาดไหนก็ไม่รู้ ไปไหนด้วยโลภะ ด้วยความต้องการผล ก็ไม่รู้ นั่นเป็นสิ่งซึ่งไม่ใช่คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะไม่สอนอะไรที่ทำง่ายๆ แล้วก็ได้ผล โดยที่ปัญญาคนนั้นไม่ได้เกิดเลย แต่ว่าการฟังพระธรรม ผู้ฟังแล้วพิจารณา เริ่มจะรู้ว่า ตัวเอง จากที่ไม่เคยเข้าใจมาก่อน เริ่มเข้าใจว่า อะไรเป็นธรรม แล้วก็สามารถที่จะพิจารณา สภาพธรรมที่กำลังมีอยู่ โดยที่รู้ความจริงว่า พระธรรมที่ทรงแสดง เป็นการแสดงเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นขณะไหนก็ตาม ไม่มีการปราศจากธรรมเลยทั้งสิ้น ไม่ว่าจะที่นี่ ที่ไหน ที่นั่น ที่โน่น ก็มีธรรมทั้งนั้น
การศึกษาธรรมให้เข้าใจว่า ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องราวที่อยู่ในหนังสือ ในพระไตรปิฎก ในอรรถกถา แต่ว่าเป็นการที่จะพิจารณาว่า ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงๆ เพราะฉะนั้น ก็รู้จักตัวจริงของธรรมที่กำลังมี เช่นในขณะนี้ เห็น เป็นธรรมหรือเปล่า บางคนคิดว่าต้องไปหาธรรมที่อื่น ไปไกลๆ เคยมีคนหนึ่งเขาคิดว่า ธรรมที่เมืองไทย คงไม่พอ ต้องไปป่าหิมพานต์ หรือว่าที่ภูเขาหิมาลัย อันนี้เป็นเป็นเรื่องความคิดของคน ซึ่งจะคิดอย่างไรก็ได้ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าเข้าใจธรรม ก็จะรู้ได้ว่า สิ่งที่มีอยู่รอบตัวทั้งหมดเป็นของจริง แต่ทำไมใช้คำว่า “ธรรม” ทั้งๆ ที่เราเคยเรียกชื่อ ดอกกุหลาบบ้าง ถ้วยแก้วบ้าง โต๊ะบ้าง คนชื่อนั้นชื่อนี้บ้าง แต่สภาพจริงๆ ของสิ่งนั้นเป็นธรรม เพราะเหตุว่ามีสิ่งที่มีจริงปรากฏ เราจึงเรียกสิ่งนั้นได้ ถ้าไม่มีสิ่งนั้นเกิดขึ้นปรากฏให้เห็น หรือให้ได้ยิน หรือให้รู้ เราก็จะต้องไปเรียกสิ่งนั้นทำไม เช่น ในขณะนี้ที่ห้องนี้ เราจะเรียกสิ่งที่ไม่ปรากฏ ไม่มี ไหม มีประโยชน์อะไรที่จะทำอย่างนั้น แต่สิ่งใดก็ตามที่มี เราก็ใช้ชื่อสำหรับเรียกสิ่งนั้น จะเป็นคน จะเป็นถ้วยแก้ว จะเป็นพัดลม ก็เป็นสิ่งที่มีจริงๆ แต่นั่นเป็นชื่อ แต่ว่าสภาวะความจริงที่เป็นธรรม ไม่ใช่ชื่อ
เราก็จะทราบว่า ก่อนศึกษาธรรม เราอยู่ในโลกของสมมติสัจจะ สิ่งที่มีจริง แต่จริงในลักษณะที่สมมติทั้งนั้น ดอกกุหลาบก็จริง โต๊ะก็จริง แก้วน้ำก็จริง แต่ว่าถ้าศึกษาธรรมแล้ว ลักษณะที่แข็ง เวลาที่กระทบสัมผัส ไม่ต้องเรียกอะไรเลย ลักษณะที่แข็ง มี ปรากฏให้รู้ได้ ชาติหนึ่งภาษาหนึ่งอาจจะเรียกอย่างหนึ่ง อีกชาติหนึ่งอีกภาษาหนึ่ง อาจจะเรียกอีกอย่างหนึ่ง
เพราะฉะนั้น จึงมีภาษาสำหรับใช้เรียก แต่ว่าต้องมีสิ่งที่มีจริงๆ อย่างแข็ง ยกตัวอย่างง่ายๆ ซึ่งทุกคนก็สามารถที่จะกระทบสัมผัสได้ เราเรียกดอกกุหลาบ เวลากระทบสัมผัส เรียกโต๊ะ เรียกเก้าอี้ แต่เวลาที่กระทบสัมผัสโดยไม่ต้องเรียก ลักษณะปรากฏจริงๆ คือ แข็งหรืออ่อน เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว นี่เป็นสิ่งที่มีจริง แต่เพราะความไม่รู้ ก็ทำให้เราทรงจำในรูปร่างสัณฐาน แล้วก็มีความยึดมั่นในสิ่งที่ปรากฏว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่เที่ยง คงอยู่ ไม่เกิดไม่ดับ ซึ่งแม้ขณะนี้จากการตรัสรู้ทรงแสดงว่า สภาพธรรมทุกอย่างที่มีปัจจัยทำให้เกิดขึ้น เกิดแล้วก็ดับทันที เร็วมาก
นี่เป็นคำสอนจากผู้ที่ตรัสรู้ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องค่อยๆ พิจารณาว่า เป็นความจริงไหม จึงต้องเป็นการศึกษาอย่างละเอียดเสียก่อน แล้วก็ความรู้จึงจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับขั้น
ผู้ฟัง เข้าใจว่าการทำสมาธิ คือที่ว่ามิจฉาสมาธิ อาจจะมีเป้าหมาย คิดว่าจะต้องเห็นอะไร มีนิมิตอะไรๆ อย่างนี้ แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยคิดถึงอย่างนี้
ท่านอาจารย์ ที่ผ่านมาทำสมาธิแล้ว ใช่ไหม หรือยังไม่ได้ทำเลย
ผู้ฟัง ก็เคยฝึกบ้าง เป็นสัมมาสมาธิ ทำจิตให้ว่างให้นิ่งเฉยๆ
ท่านอาจารย์ สัมมาสมาธินี่เราเรียกเอง หรือว่าใครเป็นคนบอกเรา แล้วทำอย่างไร เราถึงจะรู้ตามความเป็นจริง เพราะว่าบางคนอาจจะเรียกเองก็ได้ เรียกว่าสัมมาสมาธิ คงไม่มีใครเรียกมิจฉาสมาธิ เวลาทำสมาธิ แต่ทีนี้เป็นคำที่เราใช้เรียกเอง อย่างสติ คนไทยก็ใช้ ถ้าเดินไปแล้วไม่หกล้ม ทำอะไรมีดไม่บาด ก็บอกว่ามีสติ แต่ความจริงไม่ใช่ สภาวะ สภาพธรรมที่เป็นสติเลย เพราะว่าสติเป็นสภาพธรรมฝ่ายดี เป็นโสภณธรรม ขณะใดที่เกิดขึ้น ขณะนั้นจิตดีงาม เป็นกุศล ขณะที่เรากำลังเขียนหนังสือ ทำกับข้าว ปลูกต้นไม้ ขณะนั้นจะมีสติเกิดร่วมด้วยไหม มีหรือไม่มี ถ้าเราทราบว่าสติเป็นธรรมฝ่ายดี ขณะนั้นจะเป็นสติไหม ที่กำลังทำกับข้าวอร่อยๆ ปลูกต้นไม้ได้
ผู้ฟัง ก็บางครั้งก็ไม่ใช่ เพราะคิดว่าโดยอัตโนมัติ
ท่านอาจารย์ ตอนไหนใช่ล่ะ
ผู้ฟัง ตอนใช่ก็ขณะที่ระลึกถึงอยู่ว่า กำลังทำ หรือตั้งใจลงไป
ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นคนที่ตั้งใจทำ ก็เป็นกุศล
ผู้ฟัง คิดว่า
ท่านอาจารย์ อันนี้คงจะไม่เป็นไปตามพระธรรม ที่ทรงแสดงโดยละเอียดมาก ซึ่งก่อนนี้เราจะไม่เคยทราบเลยว่า ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นกุศลเป็นกุศลจริงๆ แต่สภาพธรรมอื่นที่เป็นอกุศล ดูคล้ายกับไม่ใช่อกุศล เพราะเหตุว่าเราไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม แม้ว่าเรากำลังสบายใจ นั่งคนเดียวเงียบๆ ขณะนั้นดูเหมือนว่าเป็นกุศลอีก เพราะเหตุว่าสบายดี แต่ขณะนั้นก็ยังเป็นอกุศล
การศึกษาธรรมเท่านั้น ที่จะทำให้เราเริ่มเห็นความจริง จากผู้ที่ได้ตรัสรู้ ไม่ใช่จากการที่เราคิดเอง หรือคนหนึ่งคนใดเขียนตำราบอก หรือเราบังเอิญไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่งเล่มใด แล้วก็คิดว่าเป็นอย่างนั้น แต่หนังสือที่ควรจะอ่านมากคือ พระไตรปิฎก และอรรถกถา เพราะทุกคำเป็นคำจริง
เอกัคคตาเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ถ้าแปลโดยศัพท์ ท่านอาจารย์สมพรท่านเป็นผู้รู้ภาษาบาลี แต่ เอก ทุกคนก็ทราบว่า หนึ่งขณะใดที่จิตนี้ตั้งมั่นที่อารมณ์หนึ่ง ขณะนั้นเป็นลักษณะของเอกัคคตาเจตสิก ถ้าตั้งมั่นอยู่ที่อารมณ์นั้นนานๆ ก็เป็นลักษณะของสมาธิที่เพิ่มจากชั่วขณะสั้นๆ มาเป็นรู้อารมณ์นั้นบ่อยๆ จนกระทั่งลักษณะอาการของสมาธินั้นปรากฏ แต่ขณะใดที่ไม่เป็นไปในทาน ไม่มีการจะสละสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่บุคคลอื่น ขณะนั้นก็ไม่ใช่กุศล ถ้าไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในความสงบที่ประกอบด้วยปัญญา ไม่เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมด้วยความเข้าใจถูก ขณะนั้นต้องเป็นอกุศล
เรื่องของกุศล อกุศล ไม่ใช่เรื่องที่เราจะคิดแยกเอง อย่างขณะที่กำลังฟัง ถ้าพูดถึงเรื่องสมาธิ ได้แก่สภาพของธรรมที่เกิดกับจิตทุกขณะ ไม่ขาดเลย เอกัคคตาเจตสิกนี่ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ที่ใช้คำว่าเจตสิก เพราะเหตุว่าธรรมนี้ เป็นสภาพที่เกิดกับจิต แล้วก็เกิดในจิต จะไม่เกิดที่อื่นนอกจากจิตเลย
ขณะนี้ที่ทุกคนมีจิต ก็ต้องมีเจตสิก คืออยากให้ฟังลัดๆ เพราะว่าถ้าฟังละเอียดๆ ก็คงต้องฟังกันนาน แต่ว่าโดยย่อก็สามารถที่จะพอเข้าใจได้ ทุกคนถ้ารู้เรื่องจิต เข้าใจว่ามีจิต ก็รู้เพิ่มเติมว่า ไม่ใช่มีแต่เฉพาะจิต มีสภาพธรรมที่เป็นนามธรรมเหมือนจิต มองไม่เห็น ไม่มีรูปร่าง แต่ไม่ใช่จิต เกิดร่วมกัน สภาพธรรมนั้นเป็นเจตสิก
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 361
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 362
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 363
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 364
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 365
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 366
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 367
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 368
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 369
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 370
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 371
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 372
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 373
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 374
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 375
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 376
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 377
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 378
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 379
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 380
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 381
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 382
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 383
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 384
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 385
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 386
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 387
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 388
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 389
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 390
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 391
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 392
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 393
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 394
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 395
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 396
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 397
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 398
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 399
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 400
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 401
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 402
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 403
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 404
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 405
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 406
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 407
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 408
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 409
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 410
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 411
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 412
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 413
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 414
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 415
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 416
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 417
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 418
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 419
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 420