ปกิณณกธรรม ตอนที่ 377


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๗๗

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๔๑


    ท่านอาจารย์ เราสามารถที่จะเข้าถึงลักษณะที่เป็นธาตุ ที่ไม่ใช่เรา ซึ่งเป็นสภาพรู้ ประจักษ์แจ้งชัดว่า ลักษณะนั้นไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น

    นี่คือการที่ศึกษา ต้องศึกษาตั้งต้นจากตรงนี้ แล้วเวลาที่อมรมเจริญปัญญาก็รู้เหมือนอย่างนี้ คือรู้ว่าลักษณะของสภาพธรรมเป็นอย่างนี้ เป็นธรรม แทนที่จะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ค่อยๆ เข้าใจขึ้นในลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ไม่ใช่เพียงเรื่องราว ขณะนี้สภาพธรรม คือ จิต เจตสิก เกิดขึ้นทำกิจการงาน ที่เห็นก็เป็นธรรม เป็นจิต เป็นเจตสิกที่เกิดดับ ที่ได้ยินก็เป็นธรรม

    การที่เราจะเข้าใจ คือเข้าใจสภาพที่ไม่ใช่ตัวตน โดยรู้ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรมก่อน ก่อนอย่างอื่น เพราะรู้หรือยัง ถ้ายังไม่รู้ก็อบรมให้รู้ รู้จากการฟังไม่พอ ต้องรู้จากการประจักษ์ซึ่งจะต้องอบรมให้รู้อย่างนี้

    ผู้ฟัง แต่ว่าเวลาตอนที่เราศึกษา จะได้ศึกษาเรื่องของปัจจัยอะไรด้วย ควรหรือเปล่าที่ว่าเราจะได้น้อมไปพิจาณาในเรื่องของปัจจัยด้วย

    ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วขณะที่ฟังขณะนี้ ไม่มีเรา ใช่ไหม เป็นจิต เป็นเจตสิก ขณะที่กำลังพิจารณา หรือกำลังเข้าใจ เป็นเราหรือเปล่า หรือเป็นสภาพธรรม เพราะฉะนั้น สภาพธรรมแม้ขณะที่คิด ก็ต้องรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรม อย่างหนึ่ง ขณะนั้นจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไรในขณะที่เป็นกุศล ในขณะที่เป็นอกุศล จะไม่ขาดเจตสิกที่ทรงแสดงไว้โดยละเอียด แต่ไม่ใช่ว่า เจตสิกนั้นเป็นเรา หรือว่าเราพยายามจะไปทำให้เจตสิกนั้นๆ เกิดขึ้น ไม่มีเรา ยิ่งเรียน ยิ่งเข้าใจ ก็ยิ่งรู้ว่า เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย การเรียนเรื่องปัจจัยไม่ใช่เป็นเราทำ แต่เป็นการที่ว่ายิ่งเข้าใจ ยิ่งรู้ว่า ขณะจิตหนึ่งที่จะเกิด ไม่มีใครสามารถทำอะไรได้เลย แล้วจิตก็เกิดขึ้นทีละหนึ่ง ขณะ แต่ละหนึ่งขณะไม่มีใครสามารถทำอะไรได้

    นี่คือปัญญาที่มั่นคงขึ้น ที่จะรู้ว่าการเรียนปัจจัยก็เพื่อให้เข้าใจถึงปัจจัย ที่ทำให้สภาพธรรมเกิดแต่ละอย่าง ไม่มีเรา

    ไม่ใช่ เรียนมากพอสมควร หรือเรียนน้อย หรือฟังมากี่ชาติก็ตาม ถ้าตราบใดที่ไม่รู้ลักษณะของธรรม คือ ตัวธรรมเดี๋ยวนี้ เพียงแต่รู้เรื่องราว ได้ยินได้ฟังเรื่องราว แต่ตัวจริงๆ ของธรรม คือ นามธรรม และรูปธรรม คือ จิต และเจตสิกซึ่งกำลังเกิด กำลังคิด กำลังเห็น กำลังได้ยิน พวกนี้ ก็คือไม่ได้รู้จักธรรม ไม่รู้จักตัวจริงของธรรม เพียงแต่รู้เรื่องของธรรมไปตลอดทุกชาติ

    เวลาที่เราฟังอะไร เคยคิดไหมว่า เราฟังทำไม หรือว่าทำไมเราถึงฟัง มิได้ ฟังทุกคนฟังเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่ได้ยิน กำลังได้ยินอะไรก็พิจารณาให้เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง ถ้าในขณะนี้ เรากำลังพูดเรื่องธรรมแม้แต่คำเดียว ขอให้เราเข้าใจสิ่งนั้น จรดถึงกระดูก ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่ลืม เพื่อที่จะได้เกื้อกูลถึงต่อๆ ไปอีก ลักษณะของนามธรรมเป็นอย่างไร ลักษณะของรูปธรรมเป็นอย่างไร ไม่ลืม เพื่อว่าจะช่วยทำให้เรา ไม่หลงยึดถือว่ามีเราที่สามารถจะทำได้ ยิ่งเรียนก็ยิ่งเข้าใจในความเป็นอนัตตาของสภาพธรรมยิ่งขึ้น

    ไม่ ไม่ใช่เลย การศึกษาธรรมไม่ใช่ให้ใครตัดสิน ผู้นั้นเป็นผู้รู้ว่า ฟังสิ่งนี้แล้ว เข้าใจอย่างไร เข้าใจตรงตามที่ได้ยินไหมว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แค่นี้ เข้าใจอย่างนี้หรือเปล่า แต่ไม่ประจักษ์ เพราะฉะนั้น ต้องทำอะไร ก็ต้องฟังให้เข้าใจยิ่งขึ้น อบรมเจริญหนทางที่จะทำให้รู้แจ้งจนประจักษ์ได้ เพราะว่าการศึกษาธรรมจะมี ๓ ขั้น ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ พระองค์ไม่ได้ทรงสอนเรื่องราวของธรรมให้เราเข้าใจเท่านั้น แต่ทรงสอนด้วยว่า การที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้จริงๆ เมื่อขณะนี้มีสภาพธรรมที่เกิดดับ กำลังเกิดดับอยู่ จะรู้ได้อย่างไร เพราะเร็วมาก ทรงแสดงหนทางไว้ด้วย

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องศึกษาให้ละเอียด เพราะว่าสำหรับอริยสัจ ๔ ทุกคนก็คงจะอ่านพบข้อความที่ว่า ๒ อริยสัจแรก คือ ทุกขอริยสัจจะกับสมุทยสัจจะลึกซึ้งจึงเห็นยาก เราเข้าใจสภาพธรรมเกิดดับ ใครก็พูดได้ แต่ความลึกซึ้งของลักษณะที่กำลังเกิดดับ เห็นยาก ไม่ใช่เห็นง่าย ไม่ใช่เพียงบอกก็รู้แล้วว่า เกิดดับ ประจักษ์แล้วว่าเกิดดับ ไม่ใช่เลย แต่ ๒ อริยสัจจะหลัง เห็นยากเพราะลึกซึ้ง ๒ อริยสัจจะหลัง คือ นิโรธสัจจะ นิพพาน กับมรรคสัจจะ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ง่ายใครฟังแล้วเข้าใจได้เลย เห็นยากเพราะลึกซึ้งจริงๆ เพราะว่าลึกซึ้งโดยการที่ว่า แม้ขณะฟัง เพียงในขณะฟัง ปัญญาที่เกิด เกิดพร้อมการละ เวลาที่สติปัฏฐานเกิด การที่จะอบรมเจริญให้รู้ลักษณะของสภาพธรรม พร้อมกับการละ จะต้องมีเรื่องของการละไปโดยตลอด มิฉะนั้นจะละสมุทัยไม่ได้เลย เมื่อละสมุทัยไม่ได้ ไม่มีทางที่จะรู้แจ้งนิพพาน

    มรรคสัจจะเห็นยากว่า นี่เป็นหนทาง เพราะว่าเป็นเรื่องของการอบรมเจริญปัญญาเป็นลำดับ ต้องเป็นปัญญาจริงๆ แล้วผู้นั้นก็ต้องสามารถที่จะเข้าใจได้ว่า ปัญญามีหลายขั้น ปัญญาขั้นฟังทำอะไรกิเลสไม่ได้เลย รู้ก็รู้ไป อริสัจ ๔ มีอะไรบ้างก็รู้ แต่ว่าไม่สามารถที่จะละกิเลสได้ ต้องเป็นปัญญาขั้นต่อไป ซึ่งก็ทรงแสดงไว้ด้วยว่า ปัญญาขั้นต่อไป คือ มรรคมีองค์ ๘ แล้วใช้คำว่าสติปัฏฐาน ในพระไตรปิฎก มีข้อความว่า ไม่ใช่เจตนาปัฏฐาน ไม่ใช่ผัสสปัฏฐาน ไม่ใช่อื่นๆ ปัฏฐานเลย แต่สติปัฏฐาน เพราะว่าสติเป็นสภาพที่ระลึกลักษณะของธรรมที่ขณะนี้กำลังมี กำลังเกิดขึ้น กำลังทำกิจหน้าที่ของสภาพธรรมนั้นๆ

    นี่คือตัวจริงของธรรม ไม่ใช่เพียงเรื่องราวของธรรม เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีหนทาง ที่จะรู้จักธรรมจนกระทั่งประจักษ์แจ้ง เป็นปฏิเวธว่าเป็นความจริงอย่างนั้น แต่ต้องอดทน ต้องรู้ว่ายาก ไม่ใช่ง่าย

    จริงๆ แล้ว กี่ชาติด้วยซ้ำไป ไม่ใช่กี่ปี หรือว่ากี่กัป

    เรื่องการรู้การเข้าใจสภาพธรรมในขณะนี้ ที่กำลังปรากฏ เพราะว่าถ้าปัญญาไม่รู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ ลองหาดูว่า แล้วปัญญาจะรู้อะไรนอกจากนี้ นอกจากรู้ความจริง รู้ลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่รู้อย่างนี้ปัญญาจะรู้อะไร ลองหาอะไรให้ปัญญารู้สิ ปัญญาจะรู้อะไร ระลึกอะไร ก็ต้องขณะที่สภาพธรรมนั้นๆ กำลังปรากฏให้ค่อยๆ ศึกษาให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น

    ผู้ฟัง ในการที่สติปัฏฐานเกิดขึ้นระลึกตรงสภาพ หรือพิจารณาใคร่ครวญธรรมที่เป็นเรื่องราว กับการที่บอกว่าเป็นเรา ตรงนี้จะมีความต่างกันตรงไหน ที่จะอธิบายได้ชัดเจนมากขึ้น

    ท่านอาจารย์ ถ้ายังไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมว่าเป็นธรรม เป็นเราที่เห็นหรือเปล่า

    ผู้ฟัง การที่สติเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการระลึกตรงสภาพธรรม หรือว่าการพิจารณาใคร่ครวญพระสูตร หรือพุทธพจน์ต่างๆ ถ้าคนนั้นไม่ได้เข้าใจผิดความเป็นสติ ความเป็นสภาพธรรม ก็เป็นปกติของการเจริญ ตรงนั้นถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ให้ทาน มีสติไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ ขณะที่วิรัติทุจริต มีสติไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ แต่ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ฟัง บางครั้งก็ระลึกได้

    ท่านอาจารย์ ถ้าระลึกได้คือไม่ใช่เรา แต่สติเกิดจึงระลึก เพราะฉะนั้น จึงเข้าใจคำว่าสติว่า มีหลายขั้น สติขั้นทานไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรม สติที่ขั้นวิรัติทุจริตก็ไม่ได้ระลึกลักษณะของสภาพธรรม แม้ขณะที่จิตสงบ ที่เป็นการอบรมเจริญสมถภาวนา สมถะคือสงบจากอกุศล เพราะฉะนั้น ขณะนั้นต้องเป็นปัญญาที่สามารถจะรู้สภาพจิตที่เป็นอกุศล และกุศลที่ต่างกัน จึงสามารถที่จะละนิวรณ์ได้ เมื่อนิวรณ์เกิด ปัญญาก็รู้ว่าขณะนั้นไม่ได้ตรึกระลึกถึงสิ่งที่ทำให้จิตสงบ แม้ขณะนั้นก็ไม่ได้รู้ลักษณะที่ไม่ใช่ตัวตน ของสภาพธรรม ยังมีความเป็นเรา จนกว่าจะถึงการอบรมเจริญวิปัสสนาภาวนา คำว่า วิปัสสนา คือ เห็นแจ้งลักษณะของสภาพธรรมขณะที่สภาพธรรมนั้นปรากฏ เป็นการประจักษ์แจ้งด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น กว่าจะถึงขณะนั้น ก็ต้องมีการฟังให้เข้าใจในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะเป็นสังขารขันธ์ปรุงแต่งให้มีการระลึกลักษณะของธรรม ซึ่งขณะนี้ลักษณะของรูปแต่ละรูปก็มีกำลังปรากฏ ลักษณะของนามก็มีกำลังเกิดขึ้นทำกิจการงาน แต่ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิดก็ไม่รู้ เพียงแต่เข้าใจเรื่องราวเท่านั้น

    ผู้ฟัง ทุกวันนี้เท่าที่ฟังเทป มันก็ยังเป็นเราอยู่ อันนี้ประการที่ ๑ มักจะหลงลืม

    ท่านอาจารย์ ขอประทานโทษ ผู้ที่ไม่เป็นเรา คือพระโสดาบัน เรื่องนี้เกือบไม่ต้องพูดเลย ตราบใดที่ไม่ใช่พระอริยบุคคลก็จะต้องเป็นเราอยู่

    ผู้ฟัง ฟังเรื่องราวของธรรม ทุกวันนี้เป็นการฟังเรื่องราว เพราะเรายังไม่ประจักษ์ ไม่ได้รู้ความจริงของสภาพธรรมเลย อันนี้ก็คือพูดง่ายๆ ไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ที่ผมเรียนถามไม่ได้หมายความว่าจะใจร้อน แต่ว่าทุกวันนี้ ถ้าฟัง มันก็เป็นเรื่องราวของสภาพธรรม แต่ยังไม่เคยปรากฏเลย ทางตา หูจมูก ลิ้น กาย ใจ

    ท่านอาจารย์ ถ้ารู้อย่างนี้ดีไหม รู้ตามความเป็นจริงอย่างนี้ดีไหม หรือว่าหลอกตัวเอง

    ผู้ฟัง ดี

    ท่านอาจารย์ ตามความเป็นจริงอย่างไร ก็คืออย่างนั้น

    ผู้ฟัง ก็จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

    ท่านอาจารย์ คุณศีลกันต์เคยจับด้ามมีดไหม

    ผู้ฟัง เคย

    ท่านอาจารย์ เมื่อไรจะสึก

    ผู้ฟัง ที่เรียนถามก็ไม่ได้ว่าจะท้อแท้ แต่ว่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ท้อแท้ ก็ต้องทราบว่าความจริงคือกว่าจะรู้ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่เร็ว ผู้นั้นจะเป็นผู้ที่ตรง คือรู้อย่างไร รู้เพียงขั้นเข้าใจเรื่องราว หรือว่ามีสติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ซึ่งเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ธรรมเป็นปกติ ทุกขณะที่เกิด ยิ่งรู้ ยิ่งทราบว่า ไม่มีใครสามารถที่จะบันดาลหรือสร้างได้เลย มีปัจจัยที่ทำให้เกิดขึ้น อย่างขณะนี้ทางกาย ทุกคนรู้ลักษณะที่แข็ง แข็งมีจริง ขณะที่รู้นั้นเป็นกายวิญญาณ เด็กก็รู้ สัตว์ก็รู้ ใครก็รู้ลักษณะที่แข็ง ไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจว่า เป็นธรรมเลย แล้วก็จะไปบอกว่า ให้ระลึก ให้รู้ก็ไม่ได้ ในเมื่อไม่มีพื้นความรู้เลย

    การที่สัมมาสติจะเกิด ด้วยปัญญาคือสัมมาทิฏฐิ สัมมาสติจะต้องเกิดพร้อมสัมมาทิฏฐิ จะต้องมีความรู้ มีความเข้าใจที่ถูกต้อง แล้วจึงมีการระลึกที่ถูก พร้อมด้วยปัญญาได้ มิฉะนั้นแล้วก็ไปคิดว่า เรากำลังนั่ง กำลังปฏิบัติ กำลังพยายามที่จะรู้ลักษณะที่แข็ง แต่นั่นไม่มีความรู้ว่า เป็นธรรม ไม่มีความรู้เรื่องนามธรรมรูปธรรมใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นตัวตนที่พยายามจะทำเพื่อที่จะรู้ ไม่มีทางที่จะละ เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่เห็นโลภะ ซึ่งเป็นสมุทัยซึ่งจะต้องละ

    ทางของธรรมเป็นทางละโดยตลอด แม้แต่ขั้นการฟัง ก็ฟังไม่ใช่เพื่อหวังว่าสติจะเกิด หรือว่าฟังอย่างที่คุณศีลกันต์บอกว่า ฟังมานานก็ยังเหมือนเดิมเท่าเดิม ไม่เห็นมีอะไรก้าวหน้า ใช้คำว่า ก้าวหน้า จะก้าวไปไหน ในเมื่อสภาพธรรมกำลังปรากฏ ปัญญารู้แค่ไหน รู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏแค่ไหน จะก้าวไป ไปไหน ไปรู้อะไร

    ผู้ฟัง ที่ว่าก้าว คือ มีความต้องการว่า เราฟังแค่ไหนจึงจะรู้ความจริงของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ไม่มีเครื่องวัด พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผ่านพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้ามากี่พระองค์ แล้วผู้ที่เกิดพร้อมพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในสมัยของพระองค์ แล้วก็ไม่รู้ธรรมมีกี่คน ยังต้องอาศัยพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไปอีกกี่องค์ ใครบอกได้ นอกจากตัวเองที่ฟังธรรมด้วยความแยบคาย คือไม่ใช่ด้วยเรา แต่ด้วยการสะสม ที่เมื่อฟังแล้วแต่ละคนจะมีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ถ้ามีปัญญาที่อบรมมาแล้ว ไม่สงสัยเลยว่า ขณะนี้เป็นสภาพธรรม พอได้ยินคำว่า ธาตุหรือธรรม ก็รู้ว่าหมายความถึงสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ แล้วยังสามารถที่จะประจักษ์การเกิดดับด้วย เพราะเหตุว่าแม้ในขณะนี้เองที่แข็งปรากฏ แข็งเกิดหรือเปล่า ถ้าไม่เกิด จะปรากฏไหม ไม่ปรากฏ เกิดแล้วดับไหม แล้วรู้ไหม การเกิดดับ เมื่อไม่รู้ก็คือไม่รู้ เพราะเหตุว่ายังไม่รู้ แต่จากการฟังมีความเชื่อมั่นคงว่า แข็งนี้ต้องเกิด เมื่อเกิดแล้วต้องดับเร็วมาก เพราะเหตุว่ารูปมีอายุเท่ากับจิตเกิดดับ ๑๗ ขณะเท่านั้นเอง รูปใดที่ไม่ปรากฏ รูปนั้นเกิดแล้วดับแล้ว รูปในป่า จะมีหรือไม่มี เป็นปัจจัยให้เสียงเกิดขึ้น เมื่อไม่ปรากฏเสียงนั้นก็ดับแล้ว

    เพราะฉะนั้น มีก็เหมือนไม่มี เมื่อไม่ปรากฏทุกอย่าง ขณะที่แข็งกำลังปรากฏ คือ เกิดแล้วดับ ก็ไม่รู้ ตามความเป็นจริง แต่ผู้ที่ประจักษ์ตามความเป็นจริงทรงแสดงว่าแข็งเกิด

    ปัญญาที่อบรมเจริญสามารถที่จะรู้ความเกิด และดับของแข็ง เพราะฉะนั้น อดีต ปัจจุบัน อนาคต คือขณะนี้ เดี๋ยวนี้ มีทั้งอดีต มีทั้งปัจจุบัน มีทั้งอนาคต เพราะว่าขณะนี้ ขณะใดที่รูปดับหรือนามดับ ภังคขณะดับ นั่นคืออดีต แล้วสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นปัจจุบัน แล้วก็ดับ สิ่งที่จะเกิดต่อก็คืออนาคตซึ่งเกิดแน่นอน ขณะนี้กำลังสืบต่ออยู่

    การที่จะประจักษ์การเกิดดับของนามธรรม และรูปธรรม เป็นวิปัสสนาญาณ เป็นปัญญาที่อบรมจึงสามารถที่จะประจักษ์ได้ แล้วรู้ด้วยว่า คำว่า อดีตปัจจุบัน อนาคต หมายความถึงอะไร ฟังให้เข้าใจขึ้น เข้าใจอีก จนประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม ความจริงเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ก็เป็นผู้ที่ตรงที่จะรู้ว่า ปัญญาขั้นนั้นเป็นวิปัสสนาญาณขั้นไหน ไม่ใช่ขั้นแรก คือไม่ใช่นามรูปปริจเฉทญาณ

    เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นการประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมต้องตรงตามที่ศึกษา ขั้นแรกเรายังไม่รู้อะไร แล้วก็รู้ว่าเป็นธรรม แล้วก็รู้ว่าธรรมที่มีลักษณะต่างกัน คือนามธรรมกับรูปธรรมจริงๆ แค่นี้ ขั้นฟัง ยิ่งฟังมากเท่าไร ก็ยังไม่ได้ประจักษ์ แต่เมื่อประจักษ์ก็ประจักษ์เหมือนขั้นต้นที่ได้ฟัง คือ ประจักษ์ลักษณะของนามธรรมกับรูปธรรม ซึ่งแยกขาดจากกัน นี่คือขั้นที่ ๑ ที่เป็นวิปัสสนาญาณ

    ก็ต้องฟังไปอีก ให้ค่อยๆ เข้าใจธรรม ซึ่งไม่ใช่เรา ไม่ใช่คนตาย แต่เป็นธาตุแต่ละธาตุ ซึ่งมีจริงๆ ฟังต่อไป ฟังศึกษาให้เข้าใจขึ้น ที่อยากนั้นคืออะไร เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ปัญญา ต้องรู้ความต่างของโลภะกับปัญญา ที่ไหนมีปัญญาที่นั่นไม่มีโลภะ ที่ไหนมีโลภะ ที่นั่นไม่มีปัญญา เพราะฉะนั้น ถ้ายังเป็นโลภะอยู่ ตรงนั้นก็ไม่ใช่ปัญญา ฟังพระธรรม อ่านพระธรรม พิจารณาพระธรรม เข้าใจพระธรรม ให้เป็นเดี๋ยวนี้ คือฟังไปเรื่อยๆ

    ผู้ฟัง เมื่อกี้ฟังก็บอกว่าอยากจะ ก็เลยไปคิดมาว่า ยิ่งจิตที่มันคิดอยากแต่จะเอา แทนที่เป็นการจะให้ๆ แล้วอยากที่จะเอา เหตุมันจะสมควรกับผลไหม เพราะว่าเหตุไม่สมควรกับผล เนื่องจากว่าอยากมันเป็นกิเลส แล้วเราต้องการผล ผลที่ต้องการก็คือความเข้าใจธรรม เหตุมันไม่สมควรกับผลแล้ว มันจะสามารถจะ

    ท่านอาจารย์ อยากเท่าไรแต่ไม่เข้าใจก็ได้ เพราะอยาก แต่ว่าเวลาที่ฟังแล้วพิจารณาแล้วเข้าใจ ขณะนั้นไม่ใช่อยาก เพราะว่าเข้าใจ ขณะที่เข้าใจ ไม่ใช่ขณะที่อยาก

    ผู้ฟัง ขณะที่เข้าใจ เป็นลักษณะของจิตที่จะให้หรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ เป็นสภาพนามธรรมชนิดหนึ่ง ที่ไม่ใช่เรา ขั้นต้น คือให้รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมกับรูปธรรม อย่าเพิ่งต่อไปถึงอะไรเลย เพราะเหตุว่าเวลาที่ศึกษาปริยัติ มีทั้งพระอภิธรรมก็มี เป็นปริจเฉทต่างๆ เป็นเรื่องจิต เป็นเรื่องเจตสิก ศึกษาพระสูตรก็มีข้อความที่ทรงแสดง พระอภิธรรมกับบุคคลต่างๆ ที่ไปเฝ้าคือเป็นเรื่องธรรม ศึกษาพระวินัยก็ธรรมที่ขจัดหรือกำจัดกิเลส

    แสดงให้เห็นว่าเราศึกษาธรรม เราก็รู้ว่าเพราะมีกิเลส การที่จะละคลายได้ต้องเป็นปัญญาที่เกิดจากการเข้าใจธรรม แล้วก็ควรที่จะศึกษาทั้ง ๓ ปิฎก พร้อมอรรถกถา ฎีกา แต่ว่าต้องเป็นเรื่องที่ละเอียดรอบคอบ คงจะไม่มีใครกล้าที่จะบอกเข้าใจ พระไตรปิฎก และอรรถกถาทั้งหมด ครบถ้วน แต่ว่าเป็นผู้ที่คนนี้ศึกษาตรงนั้น คนนั้นศึกษาตรงนี้ แล้วก็มีความเข้าใจมากน้อยต่างกัน ซึ่งก็เป็นการดี และเป็นประโยชน์ที่จะร่วมกันปรึกษาหารือ ให้เข้าใจธรรมให้กระจ่างยิ่งขึ้น

    ผู้ฟัง แล้วก็เมื่อกี้นี้ก็ รู้สึกอย่างที่อาจารย์บอกว่า ธรรมเป็นของลึกซึ้ง เป็นของละเอียด จากที่พี่พันธ์เครือบอกเมื่อกี่นี้ว่า เมื่อเข้านี้ที่ผม หลังจากฟังอาจารย์เสร็จ ก็ยกส้มมา เอามาให้อาจารย์ พี่เมื่อกี้เขาก็บอกว่า มันจะเป็นความเป็นตัวตนไปไหม

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่ใช่พระโสดาบันยังดับตัวตนไม่ได้เลย นี่เป็นเหตุที่เราจะไม่ประมาท คือเป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเองว่า ความรู้ของเราเริ่มเข้าใจ ก็คือเริ่มเข้าใจ ฟังแล้วเข้าใจขึ้นก็คือเข้าใจขึ้น สิ่งที่ยังไม่รู้ แล้วเราสามารถจะรู้ได้ระดับไหน ไม่ใช่ว่าเราไม่สามารถจะรู้ระดับนั้น แล้วเราพยายามไปสงสัยว่าจะรู้ได้อย่างไร ระดับนั้น เพราะเหตุว่าเป็นปัญญาของผู้ที่จะอบรมแล้ว แล้วผู้ที่อบรมแล้วก็มีหลายบุคคลมาก มีทั้งผู้ที่เป็นเอตทัคคะ และไม่ใช่เอตทัคคะ เป็นทั้งผู้ที่เป็นมหาสาวก และเป็นผู้ที่เป็นมหาสาวกขั้นต่างๆ กัน

    ปัญญามีจริง ปัญญามีหลายระดับ ซึ่งแต่ละคนก็เป็นผู้ที่ตรงต่อตัวเอง เพราะพระธรรมที่ทรงแสดงเป็นพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทุกคนคงไม่ลืม พระปัญญากว้างขวางมากมายสักแค่ไหนใน ๔๕ พรรษา ทั้งพระสูตร พระวินัย พระอภิธรรม

    ผู้ที่เริ่มที่จะศึกษา เริ่มที่จะเข้าใจ ยิ่งเห็นความห่างไกลของปัญญาของผู้ที่เริ่มฟัง เริ่มศึกษากับปัญญาที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ที่เป็นพระธรรมที่ทรงแสดงไว้

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเราจะไปรู้หมดทั่วถึงทั้งหมดที่ทรงแสดงไว้ แต่เป็นผู้ที่ตรงว่าขณะนี้รู้อะไร รู้ขั้นไหน เข้าใจขั้นฟัง หรือว่าสติปัฏฐานเกิดระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็ค่อยๆ ศึกษา เป็นอธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา จนกว่าสภาพธรรมจะปรากฏกับปัญญาที่เป็นวิปัสสนาญาณ ต้องเป็นการอบรมไปเป็นลำดับ

    ผู้ฟัง อย่างการรู้จักกาลเทศะ ยิ่งศึกษามากยิ่งลึกซึ้ง ยิ่งสามารถเข้าใจ ยิ่งสามารถปฏิบัติได้ ทั้งๆ ที่เมื่อกี้นี้ ผมก็ไม่ได้คิดอะไร ไม่ได้ฉุกคิดอะไรมาก่อน แต่ว่าหลังจากฟังคนอื่นเขาวิพากวิจารณ์ เราก็เลยคิดว่ามัน

    ท่านอาจารย์ จิตซึ่งเป็นนามธรรม ไม่มีรูป ไม่มีวาจาใดๆ จะรู้ไหมว่า จิตขณะนั้นเป็นอกุศลระดับไหน เพราะไม่มีการแสดงออกเลย อกุศลมีหลายระดับมาก เพราะมีกาย วาจาเป็นทางออก เป็นทวารของจิต เพราะฉะนั้น จะรู้ได้จากผู้ที่ศึกษา แล้วก็ทรงแสดงไว้เพื่อให้ผู้นั้นพิจารณาเห็นกิเลสของตนเอง นี่ประโยชน์ที่สุด

    เรื่องไม่ทราบก็ปล่อยไป ให้รู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมกับรูปธรรม ก่อนอื่นต้องรู้ลักษณะที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรมก่อน

    ผู้ฟัง อย่างนี้ที่เรียกว่าเพราะฟังอย่างเดียวหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ฟังแล้วก็พิจารณา

    ผู้ฟัง ฟังแล้วก็พิจารณา แต่ว่าอย่างไรก็ละกิเลสยังไม่ได้

    ท่านอาจารย์ ปัญญาขั้นฟังละกิเลสไม่ได้เลย

    ผู้ฟัง เพราะว่าอะไรๆ เราก็เข้าใจว่า อันนี้ไม่ดี อันนี้ไม่ดี แต่ว่าก็ยังทำ

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตรงตามที่ได้ฟัง จะช่วยอธิบายความหมายของกุศลไหม

    ผู้ฟัง กุศลหมายถึงขณะจิตที่มีโสภณเจตสิกร่วมด้วย

    ท่านอาจารย์ นั่นกว้าง กุศล จริงๆ หมายความถึงสภาพจิตที่ดีงาม ที่เป็นเหตุให้เกิดผล คือวิบาก

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 99
    23 มี.ค. 2567