ปกิณณกธรรม ตอนที่ 378
ตอนที่ ๓๗๘
สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่
พ.ศ. ๒๕๔๑
ท่านอาจารย์ กุศลจริงๆ หมายความถึงสภาพจิตที่ดีงาม ที่เป็นเหตุให้เกิดผล คือ วิบาก เพราะว่าเจตสิกที่ดีงามจะเกิดกับวิบากก็ได้ กิริยาก็ได้ เพราะฉะนั้น การศึกษาพระธรรมโดยละเอียดขึ้นก็จะทำให้เราจำกัดข้อความได้โดยที่ว่าชัดเจนขึ้น เพราะว่าโสภณเจตสิกจะเกิดกับโสภณจิต จิตที่เป็นวิบากก็มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมได้ จิตที่เป็นกิริยาก็มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยได้ ไม่ใช่เฉพาะแต่กุศลจิต แต่กุศลจิตก็มีโสภณเจตสิกเกิดร่วมด้วยแต่ต้องเป็นจิตที่เป็นเหตุ
ผู้ฟัง ตามที่เราศึกษาเราเข้าใจว่า ขณะจิตที่มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ นอกจากปัญจทวารวิถีจิตกับสติปัฏฐานเท่านั้นที่มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ แต่โดยปกติแล้ว
ท่านอาจารย์ มโนทวารวิถีก็มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ ได้
ผู้ฟัง แต่โดยปกติแล้วเราก็มีบัญญัติเป็นอารมณ์โดยตลอด
ท่านอาจารย์ หลังจากที่เห็นแล้วได้ยินแล้ว
ผู้ฟัง หลังจากที่เห็นแล้วได้ยินแล้ว
ท่านอาจารย์ หลังจากปัญจทวารวิถี
ผู้ฟัง ส่วนมากก็มีบัญญัติ การศึกษาก็เข้าใจว่า ทาง ๖ ทาง การระลึกลักษณะของสภาพธรรม ทาง ๖ ทาง ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะระลึกบ่อยๆ ก็จะเป็นปัจจัยให้มีปรมัตถ์เป็นอารมณ์ในโอกาสที่ว่าปัจจัยพร้อม แต่ว่าในขณะที่เราศึกษาบัญญัติก็เป็นอารมณ์ เป็นเรื่องราวตลอด จะอนุเคราะห์ได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ หมายความว่าอย่างไร อนุเคราะห์
ผู้ฟัง หมายความว่า เราฟัง เหมือนกับว่าเรามีโลภะ มีความตั้งใจ อยากจะเข้าใจลักษณะของปรมัตถ์ แต่ว่าเราศึกษา ฟังเหมือนกับสิ่งที่ปรากฏทางตา เห็น ก็เห็นเป็นคน เป็นบัญญัติตลอด
ท่านอาจารย์ เป็นของธรรมดา เพราะว่าหลังจากจักขุทวารวิถี ภวังคจิตเกิดคั่น มโนทวารวิถีวาระหลังๆ ก็สามารถที่จะรู้ว่า สิ่งนั้นเป็นอะไร แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอริยบุคคล เป็นวิถีจิต ซึ่งต่างกัน ทางตา ถ้ามีความรู้ความเข้าใจจริงๆ ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏได้เมื่อกระทบกับจักขุปสาท ค่อยๆ พิจารณา ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ ทั้งๆ ที่ เราเคยคิด เอาคน เอาสิ่งของวัตถุต่างๆ ออกมาจากสิ่งที่ปรากฏทางตา หรือคิดว่ามีคนมีสัตว์ มีวัตถุสิ่งของในสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะว่าสักกายทิฏฐิ คงเคยทราบว่า ๒๐ แล้วทุกคนก็สงสัยว่า มีเราในรูป เป็นอย่างไร แต่ว่าเป็นชีวิตประจำวันหรือเปล่า ทางตาคือสิ่งที่ปรากฏเป็นรูปชนิดหนึ่งแท้ๆ แต่ก็ยังมีเราในรูปที่กำลังปรากฏ เพราะความไม่รู้ตามความเป็นจริงว่า รูปารมณ์ หรือสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ เป็นเพียงสภาพธรรม หรือธาตุอย่างหนึ่ง ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคลในนั้นเลย ถ้าไม่มีการตรึกหรือนึกถึง แล้วยังมีความยึดมั่นในสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นเรา ขณะนี้เป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ผู้ที่ไม่ได้ฟังธรรม ก็จะมีเราแน่นอน มีคนนั้นคนนี้ในสิ่งที่กำลังปรากฏ
การที่เริ่มจะเข้าใจธรรมจึงได้รู้ว่าลึกซึ้งอย่างไร ยังไม่ได้ประจักษ์การเกิดดับของสภาพธรรม ถ้ายังไม่สามารถรู้ทั่วในลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ในชีวิตประจำวันจริงๆ เพราะเหตุว่าลักษณะของธรรมที่เป็นกามาวจรสั้นมาก นามธรรมกับรูปธรรมเกิดดับเร็วมาก ชั่วขณะที่เกิดแล้วดับไปเร็วแค่ไหน เพราะฉะนั้น เวลาที่กระทบแข็ง หลงลืมสติ คือ ไม่มีการระลึกลักษณะที่แข็งเพื่อที่จะศึกษาให้เข้าใจว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แล้วก็มีสภาพที่กำลังรู้ด้วย ลักษณะนั้นเป็นนามธรรม ขณะนั้นก็คือหลงลืมสติ แล้วก็เป็นเรื่องราวทั้งหมด
สภาพธรรมจริงๆ ปรากฏสั้น แต่ว่าจิตคิดนึกเรื่องของสภาพธรรมนั้นยาว ตลอดทั้งวัน ทั้งๆ ที่สภาพธรรมเกิดดับเร็ว ชั่วสั้นแสนสั้น ไม่ใช่เราไม่เห็น เห็น ไม่ใช่เราไม่ได้ยิน ได้ยิน แต่ทั้งๆ ที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส สั้นๆ แต่การคิดนึกทรงจำเป็นเรื่องราวยาวมาก เหมือนกับสิ่งนั้นมีจริงๆ แล้วก็ยังไม่ดับไปด้วย แต่ความจริงสภาพธรรมเกิดดับเร็วมาก
การฟัง อย่าไปมุ่งหวัง ว่าเราฟังเพื่อว่าจะให้สติปัฏฐานเกิด เพื่อที่จะให้ปัญญารู้แจ้ง เมื่อไรนะ ช้าจริง หรืออะไรอย่างนั้น ไม่ใช่ แต่ฟังให้เข้าใจสิ่งที่กำลังฟัง เข้าใจขึ้นอีกเมื่อได้ฟังมากขึ้นอีก ศึกษาขึ้นอีก อ่านอีก พิจารณาอีกก็ให้เข้าใจ ธาตุจริงๆ ลักษณะแท้ๆ ของสภาพนั้นตามความเป็นจริงยิ่งขึ้น
ผู้ฟัง อย่างแข็ง อย่างนี้ จิตรู้แข็งกับปัญญารู้แข็ง ต่างกันอย่างไร
ท่านอาจารย์ ต่างกันแน่นอน เด็กเล็กๆ ถามเขาว่าแข็งไหม เขาจะตอบได้ ใช่ไหมว่าแข็งหรือไม่แข็ง นั่นคือกายวิญญาณที่รู้แข็ง ขณะนั้นไม่ใช่สติปัฏฐานเลย
ผู้ฟัง ปัญญาที่เข้าใจขณะที่แข็งเกิด
ท่านอาจารย์ พร้อมสติที่ระลึกลักษณะที่แข็ง เพราะฉะนั้น ต่อไปข้างหน้าถ้ามีความเข้าใจเรื่องลักษณะของสภาพธรรมเพิ่มขึ้น ไม่ใช่เราที่พยายามจงใจจะไปทำ ไปตั้งใจให้รู้ เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าเจตนา ไม่ใช่มรรคมีองค์ ๘ ทรงแสดงไว้เลยว่า เจตสิกที่เป็นมรรคมีองค์ ๘ ได้แก่อะไรบ้าง ไม่มีเจตนาเจตสิก
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เข้าใจคำว่าสังขารขันธ์อย่างไร รูปขันธ์ รูปทุกรูป เวทนาขันธ์ เวทนาไม่ว่าจะสุข จะทุกข์ อย่างไร ในอดีต ในปัจจุบัน อนาคต ก็อยู่ในประเภทของเวทนา เพราะฉะนั้น จึงเป็นสภาพธรรมที่เป็นประเภทของขันธ์ที่เป็นเวทนาขันธ์ สัญญาความจำ ก็เป็นสัญญาที่จำ ในอดีตก็จำ ปัจจุบันก็จำ อนาคตก็จำ แต่พอถึงเจตสิกอื่นอีก ๕๐ เป็นสังขารขันธ์ สติเป็นสังขารขันธ์ ปัญญาเป็นสังขารขันธ์ ศรัทธาเป็นสังขารขันธ์ เจตสิกทั้งหมด เว้น ๒ ดวงเป็นสังขารขันธ์ เราจึงสามารถที่จะเข้าใจได้ ในความหมายของสังขารขันธ์ว่า ไม่ใช่เรา แต่ว่าเป็นสภาพธรรมที่ปรุงแต่ง เมื่อเกิดแล้วก็ดับไป แล้วก็สืบต่อในจิตขณะต่อๆ ไป
การที่จะฟังธรรม อย่าใจร้อน แล้วต้องรู้ว่า เป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่ยาก แต่เป็นเรื่องจริง เป็นเรื่องที่สามารถจะเข้าใจได้ เพราะฉะนั้น ขณะนี้กำลังฟังเรื่องนี้ อย่าคิดถึงเรื่องอื่นเลย ถ้าขณะที่กำลังฟังเรื่องนี้แล้วคิดถึงเรื่องอื่น เรื่องนี้จะเข้าใจไหม จะเข้าใจลึกลงไปไหมว่า ธาตุ ธา-ตุ คืออย่างไร ลักษณะจริงๆ คืออย่างไร ธรรมคืออย่างไร
ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่าเราฟังแล้ว เริ่มที่จะเข้าใจว่ามีสภาพที่ต่างกัน ๒ อย่าง คือ นามธรรมกับรูปธรรม แล้วการที่จะน้อมไปที่จะศึกษาในลักษณะของนามกับรูปนั้นจะเป็นตัวตน หรือว่าจะเป็นปโยคะ
ท่านอาจารย์ เราต้องไม่ลืม ไม่ลืมตั้งแต่คำแรก ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่มีเราเลย แต่ยังมีความเห็นผิด ยึดถือสภาพหนึ่งสภาพใดว่าเป็นเรา ขณะที่ไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น ก็ยังคงมีเราอยู่ เพราะฉะนั้น ต้องทราบตั้งแต่ต้น ทิ้งไม่ได้เลย คำใดที่ได้ยินตอนต้น คำนั้นจะเป็นความจริงไปตลอดหมดจนจบ จนถึงการประจักษ์แจ้ง จนที่สุด จะไม่ได้สลับไปสลับมาตรงนี้เป็นธรรม ตรงนั้นไม่ใช่ธรรม ทุกอย่างเป็นธรรมแต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม
แม้แต่ขณะที่กำลังฟังขณะนี้ ทราบไหมว่า ขณะนี้กำลังน้อมไป ถ้ามีความเห็นถูก ความเห็นถูกนั้นก็เป็นสังขารขันธ์ที่จะน้อมไม่ใช่เรา เราไม่มี แต่มีจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจในความหมายของคำว่าจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ ถ้าศึกษาขณะจิตหนึ่งมีความเข้าใจในเรื่องของปัจจัย มีความเข้าใจ หรือมีการระลึกลักษณะของสภาพธรรม จะเห็นได้ว่า ไม่มีการที่ใครจะทำได้เลยเลยทั้งสิ้น แต่จะเข้าใจสภาพที่เป็นปัจจัยละเอียดขึ้น และก็ละคลายความเป็นเราที่จะทำ เพราะเหตุว่าเข้าใจถูกในความเป็นปัจจัยของสภาพธรรมนั้นๆ อย่างเห็นอย่างนี้ ทำไมรู้ว่าเป็นวิบาก ก่อนที่จะรู้ว่าเป็นวิบาก ต้องรู้ว่าเป็น นามธรรมก่อน ถ้าไม่รู้ว่าเป็นนามธรรม ที่จะไปรู้ว่าเป็นวิบาก เป็นไปไม่ได้ แต่นามธรรมช่างหลากหลาย ในวันหนึ่งๆ ที่สติเกิดแล้วระลึก ถ้าจะมีการระลึกทางตาที่เห็นไม่เหมือนขณะที่เป็นธาตุรู้ที่กำลังได้ยินเสียง
นี่คือความต่างกันของนามธรรม เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นเห็น หรือได้ยิน ใครสร้าง ใครจงใจ ใครตั้งใจ รวดเร็วเหลือเกิน มีปัจจัยพร้อมที่จะเกิดเห็นแล้วดับ เกินว่าที่ใครจะเป็นเราที่จะพยายามเห็น หรือไม่เห็น แต่ว่ามีปัจจัยจึงเกิด ถ้าเกิดตาบอดทันที กรรมไม่เป็นปัจจัยที่จะให้จักขุปสาทรูปเกิด เราไม่ต้องตั้งใจ หรือจงใจเลย ก็ไม่เห็น
แม้แต่การเห็นก็ต้องทราบว่า แม้แต่จักขุปสาทรูปก็เป็นกัมมชรูป ไม่มีใครไปสร้างไปทำอะไรได้ และการที่จะเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็แล้วแต่ว่าขณะนั้นพร้อมด้วยปัจจัยที่จะให้วิบากชนิดใดเกิด
เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นความต่างกันของนามธรรมที่เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้ลิ่น ที่ลิ้มรส ที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส กับความชอบไม่ชอบซึ่งเกิดภายหลัง ว่านั่นเป็นธาตุแต่ละอย่าง ซึ่งต่างกันแล้ว เป็นนามธาตุเหมือนกัน แต่เป็นนามธาตุต่างชนิด
ธรรมที่ศึกษาไม่ได้อยู่ในตำรา แต่ว่าเป็นความจริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งเมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อมหรือพอที่จะให้สติจึงเกิดระลึก สติจึงเกิดได้ ระลึกได้ แล้วค่อยๆ อบรมความรู้ความเข้าใจซึ่งตรงกับธรรมที่ได้เรียนทุกอย่าง แต่ไม่ใช่มีความเป็นเราที่จะทำ ถ้ามีความเป็นเราที่จะทำ จะเอาเราออกไม่ได้ เพราะว่าไม่เข้าใจตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
ผู้ฟัง ได้มาเรียน รับรู้ ความรู้ธรรมอะไรต่างๆ นานา ที่ไม่เคยได้ยินได้ฟัง
ท่านอาจารย์ ขออนุโมทนาในกุศล คือ จิตใจที่ดีงาม เมื่อมีโอกาสที่จิตใจที่ดีงามจะเกิดเมื่อไร เป็นสิ่งที่หายาก เพราะวันหนึ่งๆ ในชีวิตของเรา เราก็มักจะคิดเรื่องของความต้องการ เราต้องการอะไรบ้าง ถ้าทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ขณะนั้นก็เป็นกุศล แต่กุศลสำหรับตัวเราที่จะทำให้มีความรู้ความเข้าใจในพระธรรมเกิดขึ้นก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งถ้าเราเพียงแต่ช่วยคนอื่นไปตลอดชีวิต แต่ว่าเราไม่ได้ศึกษา หรือว่าไม่ได้เข้าใจพระธรรม ประโยชน์ของเราส่วนตัวจริงๆ ก็ได้เฉพาะในขั้นทานคือการให้ เพราะว่ากุศลนี้มีหลายประเภท กุศลที่เป็นไปในการสละวัตถุเพื่อประโยชน์สุขแก่คนอื่นก็ขั้นหนึ่ง กุศลขั้นศีลที่มีวิรัติการทุจริต การเบียดเบียนคนอื่นให้เดือดร้อนขณะนั้นก็เป็นกุศลอีกขั้นหนึ่ง แล้วกุศลอีกขั้นหนึ่งก็คือ เวลาที่จิตใจของเราเป็นทุกข์เดือดร้อน โดยที่ว่าเราไม่รู้ว่า เป็นสภาพซึ่งไม่ควรจะสะสมให้มีในใจ เพราะว่าบางคนไม่รู้ว่า อะไรที่ไม่ดี เขาอาจจะคิดว่าสิ่งนั้นดี อย่างการร้องไห้เวลาที่มีคนจากไป ตายไป เขาคิดว่าต้องร้อง แต่พระพุทธเจ้า ไม่เคยแสดงให้ใครเกิดความทุกข์ แม้แต่การร้องไห้ แต่เราก็ห้ามไม่ได้
กุศลก็มีหลายระดับซึ่งวันนี้ก็คงจะขอพูดเพียงเรื่องของศีล เพราะว่าเรื่องของทานก็เป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งไม่ทราบว่ามีใครที่คิดว่า ควรจะต้องพูดถึงเรื่องทานบ้าง เพระว่าชีวิตของชาวไทยเราก็เป็นเรื่องของทานเป็นส่วนใหญ่ โดยมากก็ให้ทาน อย่างการที่เราถวายอาหารพระ จริงๆ แล้วเป็นทานมัย คือ มย แปลว่าสำเร็จ เป็นกุศลที่สำเร็จจากการให้ ให้อาหาร ซึ่งสำหรับพระภิกษุแล้วท่านก็จะได้มีชีวิตต่อไป เพื่อที่จะได้ศึกษาพระธรรม หรือคนที่ไม่ใช่พระภิกษุ แต่เขาก็ควรจะมีชีวิตต่อไป เพื่อที่วันหนึ่งข้างหน้า เขาอาจจะเป็นคนที่มีโอกาสเป็นประโยชน์ หรือว่าศึกษาธรรมก็ได้ เพราะฉะนั้น การให้ทุกอย่างด้วยการที่ไม่หวังสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นการตอบแทน อันนั้นแสดงว่าเป็นการให้จริงๆ เพราะว่าบางคนเขาให้คล้ายๆ กับแลกเปลี่ยน ให้โดยหวังว่าเขาจะได้รับในวันข้างหน้า นี่ก็ต้องแยกกัน เพราะว่ากุศลขณะนั้นจิตใจที่หวัง ไม่ใช่จิตใจที่บริสุทธิ์ แต่จิตใจที่ช่วยคนอื่นเพื่อที่จะให้เขาพ้นจากความเดือดร้อน เป็นจิตที่เป็นกุศล อย่างบางคนเขาบอกว่า เขาให้อาหารมด เพราะเขาคิดว่าเขาทำกรรมมา หรือว่าทำกรรมในอดีตมามาก เพราะฉะนั้น ถ้าเขามีทางสักหน่อยก็คงจะไปแก้กรรมเก่าของเขาได้ แต่ความจริงกรรมคือการกระทำ ซึ่งถ้าเสร็จลงไปแล้ว เราจะแก้อย่างไร มันจบไปแล้ว เพียงแต่ว่ากรรมใหม่ที่เราทำ ก็จะทำให้เกิดผลของกรรมนั้นๆ เช่น ถ้าเป็นกรรมที่ดี ก็ได้สิ่งที่ดีในชีวิต นั่นเป็นผลของกรรม ถ้าเป็นผลของกรรมที่ไม่ดีที่ทำมาแล้ว ก็ทำให้เราได้รับสิ่งที่ไม่ดีในชีวิต เป็นกรรมของเราเอง เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เป็นญาติ เป็นมิตร ถ้าเป็นกรรมที่ดี นี่ก็เป็นเรื่องของทานขั้นหนึ่ง
แต่ถ้าจะพูดถึงกุศลอีกระดับหนึ่ง คือ ศีล เป็นเรื่องของตัวเรา ซึ่งจิตใจที่ดีมีทั้งที่จะออกมาทางกาย หรือทางวาจา เพราะว่าถ้าทุกคนมีแต่จิต จิตนี้เรามองไม่เห็นเลย เวลานี้ทุกคนรู้ว่ามีจิต แต่มองไม่เห็น อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ ถ้าไม่มีรูปร่างกายของเรา ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เราจะรู้ได้อย่างไรว่า จิตขณะนั้นดีหรือไม่ดีอย่างไร
การที่มีกาย มีวาจา เป็นทาง หรือเป็นทวารของจิต ที่จะให้รู้ว่า จิต ขณะนั้นเป็นจิตที่ดี หรือจิตที่ไม่ดี ทั้งกาย ทั้งวาจา ในทางพระพุทธศาสนา ถ้าศึกษาละเอียด จะมีคำว่า กุศลศีลกับอกุศลศีลด้วย เพราะว่าศีลเป็นเรื่องของกายวาจา เพราะฉะนั้น เวลาที่เกิดอกุศลจิต จิตที่ไม่ดี กายไม่ดีเกิดขึ้นทุบตีต่อยเตะ พวกนี้ หรือว่าวาจาที่ไม่ดีเกิดขึ้น ขณะนั้นก็เป็นอกุศลศีลทางกาย หรือว่าอกุศลศีลทางวาจา แต่เวลาที่เราอ่านตำราธรรม อย่างวิสุทธิมรรค ตำราอื่นก็ตาม หรือข้อความในพระไตรปิฎก เราจะคิดถึงศีลเฉพาะสิ่งที่ดี เพราะว่าเขาจะพูดถึงหนทางที่จะพ้นจากทุกข์ เพราะฉะนั้น หนทางที่จะพ้นจากทุกข์ ไม่ใช่ว่าไปมีอกุศลมากๆ แล้วก็จะพ้นทุกข์ไปได้ เป็นไปไม่ได้เลย จิตที่ไม่ดี ไม่เป็นเหตุที่จะให้เกิดผลที่ดี เพราะฉะนั้น ถ้าจะพ้นทุกข์จริงๆ ก็ต้องอาศัยการที่จิตดีเกิดขึ้นบ่อยๆ เราไม่เบียดเบียนใคร แล้วก็จิตใจที่ดีงามเป็นลำดับขั้น ก็จะทำให้เราไม่เดือดร้อน
เราต้องคำนึงถึงตัวเรา เห็นไหม พอศึกษาธรรม เราจะไม่คิดถึงเรื่องอื่นข้างนอก แต่ว่าควรจะพิจารณาที่ตัวเอง อย่างถ้าพูดถึงอกุศลศีล วันนี้เราเข้าใจเพียงเท่าที่ว่า ขณะใดที่จิตไม่ดีเกิด กายไม่ดี วาจาไม่ดี เป็นอกุศลศีล ตัวอย่างที่มันเดย์ ธารน้ำเมื่อกี้นี้ กายเคลื่อนไหวไปแล้ว ใช่ไหม ด้วยจิตอะไร นี่เป็นเรื่องที่เราจะพิจารณาสภาพจิตละเอียดมาก เพราะว่าส่วนใหญ่ในวันหนึ่งๆ เราไม่เคยคิดถึงจิตของเราเลย และจิตของเราก็มีหลายประเภทเกิดดับสืบต่อสลับกันตั้งแต่เกิดจนตาย ไม่รู้ว่าจำนวนเท่าไรแล้ว ประเภทเท่าไรแล้ว
ถ้าเรากำลังพูดเรื่องอะไร แล้วเราพยายามเข้าใจสิ่งนั้น อย่างเมื่อกี้นี้ ที่เอื้อมมือไปจับแก้วน้ำ แล้วก็ดื่มน้ำ เป็นศีลหรือเปล่า เป็นศีลเพราะเป็นการกระทำทางกาย ทางวาจา เป็นศีลอะไร เพราะกายวาจาเป็นทางแสดงออกของจิต ถ้าเรานับถือพระ เคารพแล้วไหว้พระ ต้องอาศัยกาย อาศัยมือ จิตในขณะนั้นเป็นกุศล ทำให้เราเกิดการแสดงกิริยาที่นอบน้อม แม้ความนอบน้อมแค่นี้ เป็นกุศลแล้ว เป็นกุศลกรรมให้ผล ถ้าดูในพระไตรปิฎก ไม่ใช่เราหวัง แต่เรารู้ว่า จิตที่ดีงาม ที่อ่อนน้อม เป็นเหตุที่จะทำให้เกิดผล เพราะฉะนั้น ขณะนี้เราไม่ได้เอื้อมมือไปที่จะไหว้พระ แต่เราเอื้อมมือไปหยิบแก้วน้ำดื่ม เพราะฉะนั้น ขณะนั้นจิตเป็นอะไร
ผู้ฟัง ที่เห็นชัดๆ คือรู้ว่าจิตตรงนี้เป็น อันหนึ่งคือไม่ค่อยจะรู้ตัว อันหนึ่งคงจะต้องมีโมหะ เป็นโมหจิตด้วย แล้วก็คงจะอีกอันหนึ่งที่บอกว่า ทำไมจึงยกน้ำดื่ม ก็รู้ว่าคงต้องเป็นความอยากของเรา พอความอยาก ก็รู้ว่ามีโลภเจตสิกเกิดขึ้นร่วม ตอนนี้พยายามแจกรายละเอียดอะไรให้ฟุ้งซ่านก่อน ถึงจะว่าเราจะเข้าใจถูกหรือเปล่า อะไรอย่างนี้ คือเลยดูว่า อันนี้ก็เป็นความอยาก เป็นอะไรซึ่งขณะจิตนี้คงเป็นอกุศล จิต ๑ ใน ๑๒ ดวงแน่นอน อะไรอย่างนี้
ท่านอาจารย์ แต่ทีนี้ถ้าพูดถึงว่า เวลานี้สมมติว่าเราเป็นคนใหม่ ไม่ว่าเราไปฟังอะไร เราจะไปฟังที่ไหนอะไรก็ตามแต่ เราทิ้งเรื่องเก่าๆ ฟังสิ่งที่เราได้ยินเพื่อที่ได้เข้าใจสิ่งนั้น ตอนอื่นก็ยังไม่เข้ามา เอาแต่เพียงว่าทุกคนมีจิต แล้วจิตก็มีหลายประเภท เอาประเภทใหญ่ๆ คือ จิตที่เป็นเหตุ ก็ได้แก่กุศลจิต จิตที่ดีงามที่เป็นเหตุ หรืออกุศลจิต คือจิตที่ไม่ดีงามเป็นเหตุ ทั้ง ๒ จิตเกิดแล้วก็ดับ แต่ว่าสะสมสืบต่อในแต่ละขณะ จนถึงเวลาที่ทำให้จิตที่เป็นผลเกิดขึ้น
เราก็แยกทราบว่าจิตที่เป็นเหตุคือจิตประเภทหนึ่ง แล้วจิตที่ผลอีกประเภทหนึ่ง ทีนี้เราไม่ได้มีแต่จิต เรามีรูปร่างกายด้วย เพราะฉะนั้น รูปร่างกายเป็นทางแสดงออกของจิตที่ดี หรือจิตที่ไม่ดี ถ้าจิตดี กายของเราก็อ่อนน้อม อย่างไหว้พระ หรือว่าทำการช่วยเหลือคนอื่น ขณะนั้นกุศลจิตเกิด แล้วก็ไม่เกิดแต่เฉพาะกุศล ยังมีความเคลื่อนไหวกายวาจาที่เป็นศีล ถ้าไม่มีรูปร่างกาย ศีลไม่ปรากฏให้เห็น แต่เพราะรูปร่างกายเป็นทางที่จะทำให้เห็นว่า ขณะนั้นกิริยาเป็นอะไร เกิดจากอะไร เพราะฉะนั้น ศีลเป็นเรื่องของกายวาจา เราจำตอนนี้ก่อน จิตส่วนหนึ่ง แล้วก็มีรูปร่างกาย
เรื่องของศีลเป็นเรื่องร่างกาย ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าที่จะเคลื่อนไหวไปรวมทั้งวาจาด้วย การพูดก็มาจากใจ ถ้าใจดี คำพูดก็ดี ใจไม่ดี คำพูดก็ไม่ดี เพราะฉะนั้น ถ้าจิตที่เป็นกุศลเป็นอย่างหนึ่ง ดีงาม กายวาจาก็ทำสิ่งที่ดี ที่จิตที่เป็นอกุศล ไม่ดี กายวาจาก็ไม่ดี
เราละเอียดมาถึงว่า ชีวิตวันหนึ่งของเรา เรายังไม่ต้องไปฆ่าสัตว์ เรายังไม่ต้องไปลักทรัพย์ หรือทำอะไร แต่จิตเขาละเอียดมาก เพียงคิด คิดไม่ดีก็ได้ ยังไม่ทันพูด คิดดีก็ได้ แต่เวลาที่พูดก็ต้องพูดตามจิต ถ้าจิตดี คำพูดก็ดี ถ้าจิตไม่ดี คำพูดก็ไม่ดี เพราะฉะนั้น ยกตัวอย่างเมื่อกี้นี้ ที่กำลังเอื้อมมือไปรับประทานน้ำ ดื่มน้ำ ขณะนั้นเป็นจิตดี หรือจิตไม่ได้
ผู้ฟัง ถ้าจะพูดตอนนี้ ก็คงจะเป็นจิตไม่ค่อยดี เพราะว่าไม่ค่อยรู้สภาวะอะไรเลย
ท่านอาจารย์ เราเอาเป็น ๒ อย่าง จิตดีกับจิตไม่ดี แยกขาดจากกันเลย ดีก็ดี ไม่ดีก็ไม่ดี เป็นไปในทาน ในศีล อันนั้นจิตดี ทีนี้ถ้าจิตที่ไม่ดี ถ้าไม่ใช่ในทาน ในศีลก็เป็นจิตที่ไม่ดี เพราะว่าเราเกิดมามีแต่ความต้องการตลอด สำหรับตัวเอง รักตัวมาก ทุกอย่างที่คิด เพื่อตัวเอง
ผู้ฟัง ถ้าจะมองในลักษณะอย่างนี้ คงจะเป็นจิตที่ไม่ดี เพราะว่าก็เหมือนกับความอยากของเรา
ท่านอาจารย์ ถ้าเราเอา คง ออกได้ไหม หมายความว่า จิต เขาเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดแน่นอนเป็น ดีก็ดี ไม่ดีก็ไม่ดี ถ. ไม่ดีแน่นอน
ท่านอาจารย์ แน่นอน เกิดมาสั้นมาก เกิดมาแล้วก็ดับไปแล้ว เพราะฉะนั้น ขณะนั้น เป็นจิตดีหรือไม่ดี
ผู้ฟัง ที่ไม่ดี
ท่านอาจารย์ ที่ไม่ดี เพราะฉะนั้น เป็นอกุศลศีล คำว่าศีล ไม่ต้องไปถึงฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ถ้าเป็นทางแสดงของจิตทางกาย หรือทางวาจา มันก็ละเอียดขึ้นมาว่า วันนี้ อกุศลศีลของเรามากไหม ดีไหม ถ้ารู้ว่าจิตของเรามีอกุศลมากๆ
ผู้ฟัง ก็ดี แล้วเราก็พยายามลดลง
ท่านอาจารย์ ที่ว่าดีเพราะอะไร
ผู้ฟัง เมื่อเรารู้ว่าไม่ดีแล้ว นี่คือกุศลเราเกิดแล้ว
ท่านอาจารย์ เพราะว่าเรารู้ความจริง สิ่งที่จริงเป็นอย่างไร แล้วเราสามารถที่จะรู้จริง อย่างนั้น คือความถูกต้อง เพราะฉะนั้น จริงๆ แล้วมันก็ไม่ใช่จิตของเรา เพราะว่าเกิดแล้วดับแล้ว หมดเลย แต่ว่าสามารถที่จะรู้ว่าการสะสมของสภาพที่เป็นจิต ก็จะสืบต่อ ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ มีจิตดีบ้าง ไม่ดีบ้าง เพราะฉะนั้น ควรจะรู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะไหนไม่ดีก็คือรู้จริงๆ ว่าไม่ดี ขณะไหนดีก็รู้จริงๆ ว่าดี แสดงว่าเราเป็นคนตรง แล้วถ้ารู้ว่าไม่ดี ทั้งๆ ที่ความจริงก็ไม่ดี แต่ไม่ดีแล้วไม่รู้ กับไม่ดีแล้วรู้ว่าไม่ดี
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 361
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 362
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 363
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 364
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 365
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 366
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 367
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 368
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 369
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 370
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 371
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 372
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 373
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 374
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 375
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 376
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 377
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 378
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 379
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 380
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 381
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 382
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 383
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 384
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 385
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 386
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 387
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 388
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 389
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 390
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 391
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 392
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 393
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 394
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 395
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 396
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 397
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 398
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 399
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 400
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 401
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 402
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 403
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 404
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 405
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 406
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 407
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 408
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 409
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 410
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 411
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 412
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 413
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 414
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 415
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 416
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 417
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 418
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 419
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 420