ปกิณณกธรรม ตอนที่ 379


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๗๙

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ท่านอาจารย์ ขณะไหนดีก็รู้จริงๆ ว่าดี แสดงว่าเราเป็นคนตรง แล้วถ้ารู้ว่าไม่ดี ทั้งๆ ที่ความจริงก็ไม่ดี แต่ไม่ดีแล้วไม่รู้กับไม่ดีแล้วรู้ว่าไม่ดี ที่รู้ดีกว่า เพราะว่ารู้ตามความเป็นจริง ถ้าเรารู้ว่าไม่ดี เรายิ่งขวนขวาย แล้วจิตดีไม่ได้ให้ผลกับคนอื่นเลย ให้ผลกับสภาพจิตที่เป็นเหตุ แม้ว่าเราจะไปจุดธูปไหว้พระ ขอร้องอะไรก็ตามแต่ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นกับเรา ให้สิ่งที่ดีๆ เกิดขึ้นกับเรา แต่ถ้าสภาพจิตที่เป็นเหตุไม่ดี สิ่งที่ดีนั้นก็เกิดไม่ได้ เพราะอันนั้นเป็นผล เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีตนเป็นที่พึ่งจริงๆ ของตัวเอง แล้วตนที่เป็นที่พึ่งจริงๆ ก็ต้องเป็นกุศลด้วย เพราะพึ่งอกุศล พึ่งไม่ได้เลย นำแต่สิ่งที่ไม่ดีมาให้ มีข้อความในพระไตรปิฎกตอนหนึ่งที่บอกว่า อกุศลไม่ใช่ของเรา กุศลเป็นของเรา พูดแค่นี้ฟังดูเหมือนผิด ใช่ไหม จะเอาแต่ดี คือ อกุศลไม่ใช่ของเรา แต่กุศลเป็นของเรา แต่คำนั้นซ่อนความหมายไว้ว่า อกุศลไม่ใช่ของเราเพราะอะไร นำมาซึ่งความพินาศ อะไรๆ มีก็หมดไปเลย เพราะอกุศล อย่างสมมติว่า เราถูกไฟไหม้ น้ำท่วม ป่วยไข้ได้เจ็บ หรืออะไรก็แล้วแต่ มาจากอกุศลกรรม

    อกุศลมันไม่ใช่ของเรา มันพาสิ่งที่เป็นของเราออกไปหมด แต่กุศล เป็นของเรา เพราะว่าจะนำมาซึ่งสิ่งที่ใครก็เอาไปไม่ได้ เพราะว่าเป็นผลของกรรม เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด เป็นเรื่องที่แล้วแต่ว่าตรงนี้หมายความว่าอย่างไร ตรงนั้นหมายความว่าอย่างไร ต้องพิจารณาทั่ว เข้าใจให้ทั่ว แต่ความจริงก็เป็นความจริง ตั้งแต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราได้ยินได้ฟัง เราพิจารณาว่า เป็นความจริง แล้วเราก็ศึกษาให้รู้ความจริงนั้นละเอียดขึ้น ตอนนี้เราก็รู้แล้วว่า มีทั้งกุศลศีล และอกุศลศีล วันนี้มันเดย์ทำน้ำพริกอร่อยมาก ถ้าพูดอย่างนี้เป็นอะไร เป็นอกุศลศีลทางวาจา

    คนที่พูดมากๆ วันหนึ่งๆ ทีนี้เรารู้แล้ว ใช่ไหม ว่าใจอย่างไร วาจาก็เป็นอย่างนั้น คนทั่วๆ ไป เขาจะชอบอกุศล เขาจะต้องมีการชมกัน แล้วเราก็ติดในสิ่งที่มีจริง แต่ว่าเป็นสิ่งที่น่าพอใจ อย่างรูปทางตา ต้องสวย ตัวเราก็ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ผมเราจะหวีอย่างไร เสื้อจะใส่อย่างไร อกุศลใช่ไหม ไม่พอ บ้านจะปลูกอย่างไร ไฟจะติดอย่างไร ปลั๊กจะวางอย่างไร ทุกอย่างเป็นเรื่องของความติดในความงามหรือความสวย

    เราติดในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนว่าเป็นตัวตน ในสิ่งซึ่งความจริงว่างามแต่เห็นเป็นงาม แล้วก็ติดในความงาม เพราะฉะนั้น กว่าจะละอกุศล จะเห็นได้ว่า การที่จะเป็นพระอรหันต์ หรือว่าการที่จะเป็นพระอริยบุคคล หรือการที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเป็นด้วยปัญญาที่รู้ความจริง ไม่ใช่ไปนึกๆ เอาแล้วมาพูดแล้วก็มาสอนใคร ก็ไม่ได้ อันนั้นก็ผิดๆ ถูกๆ แต่ถ้าคนที่รู้ความจริง สอนไม่ผิด

    คำสอนในพระพุทธศาสนามีมาก แล้วก็เป็นชีวิตจริง แล้วก็เป็นตัวเราทุกขณะ ก็เป็นการดีที่เรามีโอกาสที่จะได้รู้จักสภาพธรรม ซึ่งเราไม่เคยรู้มาก่อน กุศลศีล หรือ อกุศลศีลทางกาย หรือทางวาจา สำหรับพระอรหันต์ไม่มีอกุศลจิตเลย ไม่มีกุศลจิตด้วย ถ้าท่านยังมีกุศลจิต ก็หมายความว่าท่านยังต้องเกิดอีก เพราะผลของกุศล เพราะกุศล เป็นเหตุ

    เพราะฉะนั้น ถ้าพูดถึงพระอรหันต์ท่านไม่มีกุศลจิต ไม่มีอกุศลจิต จิตของท่านเป็นอีกประเภทหนึ่ง ที่ใช้คำว่า กิริยาจิต หมายความว่าถ้าจิตใดที่เป็นกิริยา จิตนั้นไม่เป็นเหตุให้เกิดผล สำหรับคนธรรมดา ไม่มีกิริยาจิตอย่างพระอรหันต์ การเห็นมีทั้งกุศลวิบาก ผลของกุศล และอกุศลวิบาก ผลของอกุศล ถ้าเราเห็นสิ่งที่ดี ผ้าสวยๆ เสื้อสวยๆ ดอกไม้สวยๆ ขณะนั้นเป็นกุศลวิบาก คนนั้นต้องเคยทำกุศลไว้ในอดีต เพราะว่าทุกคนก็อยากจะเห็นแต่สิ่งที่น่าพอใจ แต่เลือกไม่ได้เลย บางครั้งก็ต้องเห็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเราก็ทราบได้ว่า ถ้ากล่าวถึงจิต ไม่มีชื่อเลย ไม่มีคุณเครือพันธ์ ไม่มีใคร แต่เป็นสภาพหรือธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีจริง และลักษณะของจิตน่าอัศจรรย์มาก ถ้าศึกษาเรื่องจิต จะรู้ว่า ไม่มีรูปร่างเลย แต่สามารถที่จะรู้ทุกอย่าง สามารถที่จะเห็น สามารถที่จะได้ยิน สามารถได้กลิ่น สามารถลิ้มรส สามารถคิดนึก ซึ่งคนตายไม่มีจิต เพราะฉะนั้น คิดไม่ได้ เห็นไม่ได้ เวลาที่เราพูดถึงเรื่องจิต เราต้องทราบว่ามี แต่เป็นสภาพที่ไม่ใช่รูปใดๆ ทั้งสิ้น แต่ว่าลักษณะของจิตมีหลายประเภทที่ทรงแสดงไว้ โดยส่วนรวมประเภทใหญ่ๆ ๘๙ หรือ ๑๒๑ ชนิด แต่ว่าเป็นสภาพที่มีในชีวิตประจำวันทั้งนั้น แต่เรามีไม่ครบ เพราะเราไม่ใช่พระอรหันต์ จิตทั้งหมดที่แสดงไว้ รวมจิตของพระอรหันต์ด้วย รวมจิตของรูปพรหมด้วย รวมจิตของอรูปพรหมด้วย รวมจิตทั้งหมดในสากลจักรวาล

    นี่พอพูดถึงเรื่องจิต คนที่ไม่รู้ว่ามีจิตมีไหม คนที่เข้าใจว่าไม่มีจิตมีไหม ไม่มี ต้องมีจิตสำหรับสัตว์บุคคล แต่ถ้าเป็นพวกโต๊ะ เก้าอี้ ไม่มี นี่เป็นรูป แต่ที่ตัว ไม่ได้มีแต่รูป มีจิตด้วย หรือจะกล่าวว่า ไม่ได้มีแต่จิต มีรูปด้วย เพราะอะไร ตรงนี้แข็ง ลักษณะที่แข็ง เป็นสภาพที่มีจริงๆ แต่รู้อะไรไม่ได้เลย นี่ก็แข็ง ก็เป็นสภาพที่มีจริง ที่รู้อะไรไม่ได้

    มีคำจำกัดความว่า สิ่งที่มี แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย เป็นธรรมที่เป็นรูปธรรม สมัยนี้ใช้คำว่า รูปธรรม ผิดจากพระไตรปิฎก เพราะเราไปคิดว่า อะไรก็ตามที่มันเป็นเพียงความคิด ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง เขาก็บอกว่าไม่เป็นรูปธรรม แต่ในพระพุทธศาสนา ไม่ว่าโลกนี้หรือโลกไหน ธรรมที่มีจริง มี ๒ อย่าง คืออย่างหนึ่ง มีจริง เกิดปรากฏให้เห็น ให้ได้ยิน แต่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้ เป็นรูปธรรม แต่มีธรรมอีกอย่างหนึ่งด้วย ที่น่าอัศจรรย์มาก เพราะว่าถ้ามีแต่เพียงรูปธรรม แต่ไม่มีสภาพที่ไปรู้ ไปเห็นไปได้ยินไปได้กลิ่น ไปลิ้มรส รูปต่างๆ เหล่านั้นไม่ปรากฏ อย่างของที่วางไว้ในตลาด ถ้าไม่มีใครเห็นก็อยู่อย่างนั้น แต่ขณะใดที่เห็นทางตา มีสีสันต่างๆ ปรากฏ ขณะนี้มีแสงสว่าง มีสีสันปรากฏทางตา ไม่ปรากฏทางหู เวลาที่เอามือกระทบสัมผัสก็ไม่ปรากฏ คนตาบอดเขามีประสาทที่จะสัมผัส แต่สีไม่ปรากฏเลย ต้องจักขุปสาท เป็นรูปพิเศษ รูปมีหลายชนิด ทั้งหมดมีถึง ๒๘ ชนิด เราพูดถึง เรื่องรูปตา เพราะเรามีทุกคน จะได้รู้ว่าตา เกิดจากกรรม ถ้าไม่มีกรรมเป็นปัจจัย รูปนี้ไม่เกิด

    รูปทั้งหมดที่เกิดจากกรรมก็มี ที่เกิดจากจิตก็มี ที่เกิดจากอุตุ ความเย็น ความร้อน ก็มี ที่เกิดจากอาหารที่บริโภค หรือรับประทานเข้าไปก็มี

    เพราะฉะนั้น ที่ตัวมีรูปครบ ถ้าสมมติว่าเรารับประทานอาหารไม่ดี เราก็ปวดท้อง เป็นโรคต่างๆ ถ้าอากาศไม่ดี ก็เป็นโรคได้หลายอย่าง เกี่ยวกับทางเดินลมหายใจ อะไรต่ออะไรพวกนั้น รูปที่เกิดจากกรรมใครก็ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น บางคนตาบอด กรรมไม่ทำให้จักขุปสาทรูปเกิด บางคนหูหนวก กรรมไม่ทำให้โสตปสาทรูปเกิด

    แม้แต่รูปที่เรา เราก็ต้องรู้ว่ารูปไหนเกิดจากกรรม รูปไหนเกิดจากจิต รูปไหนเกิดจากอุตุ รูปไหนเกิดจากอาหาร อย่างเวลาที่เรายิ้ม รูปยิ้มเกิดจากจิต เวลาที่เราร้องไห้ เสียใจ รูปนั้นก็เกิดจากจิต น้ำตาก็เกิดจากจิต น้ำตาเกิดจาก ๒ สมุฏฐาน เกิดจากจิตก็ได้ เกิดจากอุตุก็ได้ บางทีเราผ่านที่ไหน ที่มันมีควันมากๆ อันนั้นเป็นทางที่จะทำให้ตาเรามีน้ำตาออกมาได้ แต่ว่าไม่ใช่เกิดจากการเสียใจ

    เพราะฉะนั้น ทรงแสดงไว้ละเอียดมากในเรื่องของนามธรรมกับรูปธรรมซึ่งแสดงว่า เป็นธรรมที่มีจริง แต่ไม่ใช่เรา ไม่มีใครเป็นเจ้าของเลย เราอาจจะยึดถือตั้งแต่เกิดมา ด้วยความไม่รู้ว่าตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เป็นของเรา แต่ความจริงรูปนี้เกิดจากจิต ต่างหาก รูปนี้เกิดจากกรรมต่างหาก รูปนี้เกิดจากอุตุต่างหาก รูปนี้เกิดจากอาหารต่างหาก นี่เป็นประโยชน์ของการที่จะศึกษาความละเอียดให้เข้าใจสภาพธรรมที่มี ที่ตัวเอง และที่มีที่คนอื่นก็เหมือนกัน ตาเป็นชาติอะไรหรือเปล่า ชาติไทย แต่เป็นธรรม

    พระพุทธศาสนาเป็นสากล ตรัสรู้ในความเป็นธรรม ซึ่งแม้แต่พระองค์ก็ไม่ได้ทรงแสดงว่า พระองค์ทรงสร้างขึ้นมาได้ แต่เมื่อความจริงของสภาพธรรมนั้นเป็นอย่างไร ก็ทรงแสดงตามความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ ว่า สภาพธรรมที่มีจริงมีลักษณะที่ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ นามธรรมกับรูปธรรม รูปธรรมก็มีสี มีเสียง มีกลิ่น มีรส มีเย็น มีร้อน มีอ่อน มีแข็ง พวกนี้เป็นรูปธรรม ส่วนนามธรรมก็เป็นสภาพที่เห็น สภาพที่ได้ยินเสียง สภาพที่ได้กลิ่น สภาพที่ลิ้มรส สภาพที่รู้ว่าตรงนี้แข็ง ตรงนี้อ่อน สภาพที่จำได้ สภาพที่เป็นสุขเป็นทุกข์ สภาพที่คิดนึก ซึ่งถ้าเอารูปออกหมด ไม่มีรูปเลย จิตก็ยังคิดได้

    เพราะฉะนั้น เป็นลักษณะที่ต่างกันจริงๆ ถ้าเราจะแสวงหาความจริงของจักรวาลทั้งหมด ก็จะพบว่าก็เป็นนามธรรมอย่างหนึ่งกับรูปธรรมอย่างหนึ่ง ไม่เกินกว่านี้เลย แต่ว่าความหลากหลายมีมากเหลือเกิน รูปก็หลากหลาย เป็นรูปมนุษย์ รูปสัตว์เดรัจฉาน ต่างกันเพราะกรรม น่าวิจิตร เวลาที่เราดูทีวี หรือว่าอะไรที่มีเรื่องสัตว์ บนบกก็มี ในน้ำก็มี ผีเสื้อกว่าจะออกมาก็ต้องเป็นหนอน เป็นอะไร มีงูหลายชนิด มีปลา มีอะไร เพราะจิตวิจิตร ไม่มีใครทำได้ นอกจากกรรมซึ่งวิจิตรมาก ถ้าอ่านในพระไตรปิฎกคิดว่าจะเป็นไปได้เลย พระภิกษุที่ท่านมีความริษยาในพระภิกษุอื่น ถึงกับไม่อยากจะให้ไป บิณฑบาต พอโยมอุปัฏฐากฝากอาหารไปถวายพระรูปนั้น ก็ไม่อยากให้ฉัน แล้วก็คิดว่าจะเอาไปทิ้งที่ไหนดี ก็ยังหาที่ทิ้งอีกไม่ได้ จนกระทั่งความวิจิตรของท่าน ต้องไปขุดหลุมไปกลบไปทำลายอะไรต่างๆ แล้วคิดสิ อย่างนั้นจะมีได้ไหม แต่มี มีแล้ว

    ถ้าเราศึกษาในพระสูตร เป็นตัวอย่างความละเอียดของจิตที่แต่ละยุค แต่ละสมัย ซึ่งคนสมัยพระพุทธเจ้าก็ตายแล้วก็เกิด ตายแล้วก็เกิดจนถึงยุคนี้ จะอยู่ตรงไหนเราก็ไม่รู้ แต่ชาติหนึ่งเคยเป็นอย่างนั้น เคยได้เฝ้า เคยได้ฟังธรรม เคยได้มีชีวิตในพระไตรปิฎก

    เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ควรศึกษา ควรฟัง อย่างน้อยที่สุดก็ให้ทราบว่า ธรรมที่มีจริง ไม่มีใครเป็นเจ้าของ มีปัจจัยก็เกิด เกิดแล้วก็ดับ จากไม่มี แล้วก็มี แล้วก็หามีไม่ เมื่อกี้นี้ที่คุยกับคุณสมจิตรที่ว่า อย่างทุ่งนาที่เราเห็น มันก็ว่างเปล่า แต่ถ้าเราเอาอิฐ เอากระเบื้องออก เอาอะไรๆ ไปทำ มันก็มีบ้านหลังหนึ่งขึ้นมา เหมือนกัน ที่นี่ก็เป็นอากาศธาตุ อากาศคือช่องว่างแทรกอยู่ทั่วตัวเลย ละเอียดยิบ พร้อมที่จะแตกทำลายเป็นเศษเล็กเศษน้อยได้ ที่เราเห็นต่อกันอย่างนี้ ที่จริงแล้วมีอากาศธาตุแทรกคั่น เพราะว่ารูป เป็นอณูเล็กๆ กลุ่มเล็กๆ ซึ่งเกิดจากแต่ละสมุฏฐาน คือ รูปที่เกิดจากกรรมก็มี จิตก็มี มีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่

    เพราะฉะนั้น ที่ตา เป็นรูปที่สามารถรับกระทบสี ที่หูเป็นรูปที่สามารถรับกระทบเสียง ห่างไกลกันมาก แล้วก็มีช่องว่างแทรกคั่นอย่างละเอียดยิบ เราอยู่ตรงไหน ทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ นี่เป็นเหตุที่เราจะต้องศึกษาไปตลอดชีวิต กี่ชาติ ก็ตามเพื่อที่จะให้ ประจักษ์ความจริง ตามผู้ที่ประจักษ์แล้วได้ทรงแสดงไว้ แต่ของเราก็ฟังไปก่อน ค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า ธรรมที่เราได้ยินได้ฟังบ่อยๆ ว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ทรงแสดงก็คือ พูดเรื่องความจริงซึ่งมีจริงๆ ให้เราค่อยๆ เห็นถูก เข้าใจถูก โดยที่ว่าเคยเป็นเราก็คือเป็นธรรมแต่ละอย่าง ที่ในโต๊ะมีอากาศธาตุไหม ต้องมี ที่ไหนๆ ก็ต้องมี รูปที่รวมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน แท้จริงต้องมีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ ถ้าเรารู้อย่างนี้ มันก็เหมือนกับตัวเราซึ่งเคยเป็นเราทั้งตัว คือกองฝุ่น เล็กมาก ละเอียดมากของธาตุดิน เป็นกองฝุ่นจริงๆ ซึ่งมีอากาศธาตุแทรกคั่นอยู่ แล้วกองฝุ่นบางจุดก็มีจักขุปสาทสำหรับกระทบสี กองฝุ่นบางจุดก็มีโสตปสาทคือหู สำหรับกระทบเสียง ตรงนี้ก็มีจุดที่สามารถจะรู้กลิ่น ที่ลิ้นก็มีจุดที่สามารถจะลิ้มรส ที่กายทั่วทั้งตัวก็สามารถที่จะกระทบสภาพที่อ่อนหรือแข็ง เย็นหรือร้อน ตึงหรือไหว ชั่วขณะที่ปรากฏ ถ้าไม่ปรากฏก็คือดับ ตลอดทุกชาติ ก็เป็นเรื่องนามธรรมรูปธรรมที่ไม่ต้องไปจำ แต่เข้าใจ อย่างคำว่าธรรม เข้าใจ สิ่งที่มีจริง ไม่ใช่ของใคร จะใช้คำว่าธรรม หรือใช้ว่าธาตุก็ได้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม เราก็เคย ได้ยินตั้งแต่เด็ก แล้วก็ตรงนี้ก็อยู่ตรงนี้ ดิน น้ำ ไฟ ลมก็อยู่ตรงนี้ อยู่ตรงนี้ด้วย รูปที่จะขาดดิน น้ำ ไฟ ลม นี้ไม่มีเลย รูปทุกรูปจะต้องมีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เป็นใหญ่เป็นประธาน ค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจ แต่อย่าไปจำ หรือคิดว่าต้องจำ เรียนเรื่องอะไรก็ไม่พ้นจากจิต ไม่พ้นจากเจตสิก ไม่พ้นจากรูป เจตสิกก็เป็นสภาพนามธรรมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องเกิดกับจิต หรือเกิดในจิต เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต ที่ใดมีจิตที่นั่นก็มีเจตสิก

    ผู้ฟัง ฟังอาจารย์มาหลายปี ก็ไม่เข้าใจแบบนี้ ก็ฟังไปเรื่อยๆ คือหลายๆ ท่านก็อาจจะบอกว่า อาจารย์ก็พูดอยู่เรื่องเดียว ตาเห็นสี หูได้ยินเสียง พูดกันง่ายๆ อย่างนี้ ทำไมก็พูดอยู่แค่นี้ แค่นี้เราก็ยังไม่ค่อยจะรู้ว่ามันคืออะไร แต่พอเราตั้งใจฟังจริงๆ ก็มาได้ความรู้ ตรงนี้ พระภิกษุมีจิต ที่ท่านพูดไว้ มีจิตอิจฉา ไม่อยากให้พระภิกษุ เพื่อนด้วยกันไปบิณฑบาต แม้แต่โยมอุปัฏฐากฝากอาหารมาให้ ก็ยังเอาไปฝัง แม้แต่ไปนั่งคิด ต้องขุดหลุม หรือขุดอะไร แต่เมื่อก่อนเราจะมองเป็นพระ แต่แค่เมื่อกี้นี้ เรามองมันเป็นจิต อันนี้จิตจริงๆ ด้วย แต่เมื่อก่อนเราก็มองว่า เราจะมองไม่ออกตรงนี้เลย พอฟังอันนี้แล้ว ขึ้นมาเมื่อกี้นี้ ก็เกิดตรงนี้ขึ้นมา จริงด้วย มันเป็นจิตที่ทำอย่างนั้นจริงๆ ไม่ทราบว่าจะอธิบายให้เข้าใจอย่างไร คือสะสมมาอาจจะหลายปีเลย กว่าจะเข้าใจข้อความอันนี้ ด้วยความเข้าใจจริงๆ ว่า มันคือจิตอันวิจิตร มันทำให้เราทำได้ถึงขนาดนั้นเชียวหรือ ขอบพระคุณมาก

    ท่านอาจารย์ คนในโลกนี้จะมีกี่ล้าน กี่แสนพันล้านก็ตาม ความวิจิตรนี่เป็นแต่ละหนึ่งๆ ไม่ซ้ำกันเลย ไม่ว่าเราจะมีพี่มีน้อง มีเพื่อนมีฝูง ก็ต่างคนต่างใจ ต่างคนต่างการสะสม จากวันนี้สะสมมาคิดอย่างไร รุ่งขึ้นก็วิจิตรต่างไปอีก สะสมต่างออกไปอีก ไปเรื่อยๆ สะสมไปเรื่อยๆ ต่างไปเรื่อยๆ เราถึงได้หน้าตาก็ต่างกัน ความคิดก็ต่างกัน ทุกอย่างก็ต่างกัน

    ผู้ฟัง อาจารย์พูดถึงแต่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ บังเอิญดิฉันขอกราบเรียนผู้ฟังว่า ดิฉันไม่คิดว่าอาจารย์พูดซ้ำซาก ดิฉันคิดว่ามันต้องมีอะไรแน่ๆ ที่มันลึกซึ้ง แล้วต้องพิเศษที่สุดเลย แต่ว่าเราไม่รู้ ไม่อย่างนั้นอาจารย์จะพร่ำพูดถึงทำไม เพราะฉะนั้น ดิฉันก็ขอเรียนให้ท่านทั้งหลายกรุณาฟังๆ ๆ ไป แล้วจะเห็นสิ่งที่มหัศจรรย์ที่สุด แล้วก็จะประจักษ์กับตัวเอง

    ท่านอาจารย์ ขณะที่เห็น มีได้ยินไหม ถ้าเราไม่เรียน เราก็ไม่คิดเลยว่า ขณะที่เห็นจะไม่มีอย่างอื่นเลยทั้งสิ้น มีแต่เห็น เพราะว่าจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ จิตจะเกิดขึ้นซ้อนกัน ๒ ขณะ ๓ ขณะไม่ได้เลย แม้แต่ตัวจิตซึ่งมีอยู่ตรงนี้ เดี๋ยวนี้ เราก็ยังไม่ได้ศึกษาพอ ที่จะให้เข้าใจว่า เราคิดว่า เป็นเราที่เห็นพร้อมกันกับได้ยิน แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย แสดงความรวดเร็วของการเกิดดับ แสดงว่าสิ่งที่ไม่รู้ ทำให้เข้าใจอย่างนี้ แต่ผู้รู้แสดงต่างจากที่เราเคยคิดว่า พร้อมกัน คือไม่พร้อมกัน ก็ต้องถามคำถามเดิม ซึ่งบางคนก็บอกว่าเขาอาจจะชอบมาก มันเดย์มีฟันไหม มีหรือ เดี๋ยวนี้มีฟันไหม

    ผู้ฟัง ไม่มี

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไร ถึงว่าไม่มี

    ผู้ฟัง เพราะว่าเป็นสภาพที่มีเกิดขึ้นแล้วดับไป

    ท่านอาจารย์ หมายความว่า บางคนเขาจะบอกว่า เขามี ถ้าไม่ถามอย่างนี้ก็ยังมี แต่พอถาม คิดได้ แต่ถ้าไม่ถาม คุยกัน ก็คุยเรื่องมีฟัน มีอะไรๆ ต่างๆ แต่ความจริงทุกอย่างมีชั่วขณะที่ปรากฏ ขณะใดที่ไม่ปรากฏ ตับ ไต ไส้ พุง มีไหม ก็ไม่มี

    โลกซึ่งเราคิดว่าใหญ่ มีคนมากมาย แท้ที่จริงย่อมาถึงจิต ๑ ขณะ ซึ่งกำลังมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดเป็นอารมณ์ สิ่งอื่นไม่มี แต่เรายังหลงว่าเรามี เพราะว่ารูปเกิดดับเร็วมาก ถ้ารูปใดที่ไม่ปรากฏ รูปนั้นเกิดแล้วดับแล้ว แต่ความทรงจำของเราว่า มีตัวเรา เป็นอัตตสัญญาเหนียวแน่นมาก จนกว่าเราจะค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ รู้ แม้แต่ที่กำลังนั่ง กำลังเห็น ก็ไม่มีอะไรนอกจากสิ่งที่ปรากฏ แต่ทำไมมีคนนั้นอยู่ตรงนี้ คนนี้อยู่ตรงนั้น เอาคนออกไปจากสิ่งที่ปรากฏ หรือคิดว่ามีคนอยู่ในสิ่งที่ปรากฏ มีโต๊ะ มีเก้าอี้อยู่ในสิ่งที่ปรากฏ

    พระปัญญาจะแค่ไหนที่สามารถที่จะรู้ความจริงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ปรากฏเพราะกระทบ ตัวของมันเดย์ไม่ได้ มากระทบอะไรก็ไม่ได้มากระทบอะไร แต่สิ่งที่ปรากฏที่มากระทบตาได้ ก็คือธาตุชนิดหนึ่งซึ่งสามารถกระทบแล้วก็ปรากฏเป็นสิ่งที่ปรากฏ ฟังดูก็ยาก แต่ผู้ที่รู้ก็คือรู้ความจริงว่าเป็นอย่างนั้น เหมือนเราดูเงาในกระจก เราก็คิดว่ามีเราอยู่ในนั้น แต่ความจริงไม่มี เดี๋ยวนี้ก็เหมือนกัน คิดว่ามีคน มีสัตว์อยู่ในสิ่งที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะเข้าใจ แล้วค่อยๆ อบรมปัญญา ถอนความเป็นเราออกจากสิ่งที่ปรากฏ ต้องกินเวลานาน แต่ต้องเข้าใจไว้ก่อนว่า ความเข้าใจถูกคืออย่างไร ความเข้าใจผิดคืออย่างไร การที่ต้องอบรมปัญญารู้อะไร ก็ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เพราะว่านอกจากตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อะไรก็ไม่ปรากฏ สมมติว่ามีคนหนึ่งเกิดมาไม่มีตา เห็นไม่ได้ ไม่มีหู ได้ยินไม่ได้ ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ไม่สามารถกระทบสัมผัสเลย ถึงจะมีจิตก็เหมือนกับท่อนไม้ คือ ไม่มีการที่จะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสเลย แต่ว่าทุกคนจะต้องมีกรรมที่ทำให้มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย สำหรับที่จะเห็น ชาติก่อนก็เห็น แสนโกฏิกัปป์ก็เห็น ชาตินี้ก็ได้ยิน แสนโกฏิกัปป์ก็ได้ยิน ก็คือต้องเป็นอย่างนี้ พ้นจากนี้ไปไม่ได้ แต่ละชาติ ชาติแล้วชาติเล่า ทุกวันซ้ำกัน ทุกชาติซ้ำกัน น่าเบื่อไหม ควรจะเบื่อแต่ไม่เบื่อ เพราะว่าอะไร เพราะปัญญาไม่ถึงระดับที่ประจักษ์ความจริง ปัญญาเพียงเริ่มฟัง เริ่มคิด เริ่มค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วปัญญาที่จะรู้ความจริงอย่างนี้ ต่างหากที่สามารถที่จะหน่ายจากการที่เราเคยเห็น เคยได้ยิน เคยสุข เคยทุกข์มาชาติแล้วชาติเล่า ชาติหน้าจะเป็นอย่างไร ต่อไปก็ไม่รู้ ชาตินี้ก็เกิดมาดีที่เป็นคน แล้วก็เกิดมาดีที่เป็นคนที่สนใจพระธรรม ได้มีปัญญาต่อไปข้างหน้า ถึงจะน้อยจะมากก็ยังดีกว่าที่ไม่สนใจเลย ทีละเล็กทีละน้อย สะสมไป น้ำทีละหยดก็เต็มโอ่ง แต่ต้องมีความพากเพียร มีความอดทน เพราะว่าเป็นเรื่องจริง คนอื่นก็ทำให้ไม่ได้ ช่วยให้ไม่ได้ เงินก็ซื้อปัญญาไม่ได้ จะไปกราบไหว้พระพุทธเจ้า ขอปัญญาก็ไม่ได้ แต่ทรงแสดงธรรมไว้หมด ทุกอย่างตามความเป็นจริง ให้เราค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ เข้าใจขึ้น คนที่ศึกษาเข้าใจธรรมแล้ว เขาก็บอกว่า เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม จะให้กลับไปเป็นคนที่ไม่รู้อะไรเลย ก็ไม่เอา เพราะว่าทรัพย์สมบัติก็ยังหมดไปได้ แต่สิ่งที่จะติดตัวเราไปได้ อย่างความรู้ก็อยู่ที่ใจ ไม่ว่าเราจะตำน้ำพริกเก่ง อะไรๆ มันก็อยู่ที่ความรู้ ความเข้าใจทุกอย่าง เป็นเรื่องที่ละเอียด แล้วฟังตลอดชีวิต

    ผู้ฟัง สิ่งที่ยากยิ่ง แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่สามารถจะศึกษาได้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 99
    23 มี.ค. 2567