ปกิณณกธรรม ตอนที่ 380


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๘๐

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๔๓


    ผู้ฟัง เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่สามารถที่จะศึกษาได้

    ท่านอาจารย์ พอบอกว่า เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง คุณเครืออาจจะไม่ทราบว่าขณะนั้นคุณเครือกำลังสรรเสริญพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าบอกว่าง่ายซิ พระพุทธเจ้าท่านรู้แค่นี่เอง ท่านรู้อย่างนี้ ทำไมมันง่ายอย่างนี้ แต่พอบอกว่าเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง กำลังสรรเสริญพระปัญญาคุณ

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ได้พูด แล้วทำไมเราไม่เข้าใจ ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย ฟังไปเรื่อยๆ ก่อน แล้วก็วันหนึ่งหมือนอย่างที่เล่าให้ฟังเมื่อกี้นี้ ข้อความอันนั้นเราฟังเมื่อสัก ๓ ปี ๕ ปีที่แล้ว คงไม่เข้าใจหรอก แต่การเข้าใจนี้มันไม่ใช่เข้าใจทางหู ไม่ทราบจะอธิบาย มันเป็นการเข้าใจเกิดขึ้นในความรู้สึก ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ จิตได้ยินเขาเข้าใจไม่ได้ จิตได้ยินก็เพียงได้ยินเสียง แต่หลังจากที่เสียงหมดไปแล้ว มีการตรึกตรอง คิดถึงความหมาย แล้วก็เวลาที่ตรึกตรองคิดถึงความหมาย ถ้าสะสมปัญญามาก็เข้าใจได้เลย แต่ถ้ายังไม่ได้สะสมาปัญญามาพอ ก็ฟังแล้วฟังอีก พิจารณาแล้วพิจารณาอีกทีละเล็กทีละน้อย แล้วก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้น เหมือนอย่างผู้ที่ได้ฟังพระธรรมแล้ว ท่านก็มีการรับประทานอาหาร มือท่านก็เอื้อมไปตักอาหาร เหมือนอย่างปกติธรรมดา แต่หลังจากที่ฟังแล้ว อบรมแล้ว เข้าใจแล้ว แทนที่จะเป็นอกุศลศีล ของท่านเป็นกุศลศีลได้ เพราะว่าสติปัญญาของท่านสามารถเกิดในขณะที่กำลังมีสภาพธรรมหนึ่งสภาพธรรมใดเป็นอารมณ์

    เราถึงรู้ความต่าง ชีวิตประจำวันของคนที่ไม่ได้ฟังพระธรรมเลย ส่วนใหญ่ก็เป็นอกุศล กายวาจาก็เป็นอกุศล การรับประทานอาหารทุกอย่างเป็นอกุศล แต่ขณะใดที่มีปัญญาเกิด ขณะใดที่เป็นกุศล กิริยาอาการเหมือนเดิม จะต่างกันไม่ได้เลย ไม่ใช่ต้องไปนั่งนิ่งๆ คนนั่งนิ่งๆ ได้อย่างไร ต้องเดิน ต้องบริโภคอาหาร อย่างพระภิกษุท่านก็มีกิจ ซักจีวร หรือว่าสนทนาธรรม ขณะนั้นกายวาจาก็เคลื่อนไหวไป แต่ด้วยกุศลจิตก็เป็นกุศลศีล

    เพราะฉะนั้น เหมือนเดิม ความประพฤติเหมือนเดิมจากอกุศลจิต เปลี่ยนเป็นกุศลจิต พอถึงความเป็นพระอรหันต์ก็เป็นกิริยาจิต ไม่เป็นปัจจัยให้ผลเกิด

    เรื่องตัวเองทั้งนั้นเลย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เห็นแล้วเป็นกุศลก็ได้ เห็นแล้วเป็นอกุศลก็ได้

    ผู้ฟัง กายวาจาเป็นทางกุศล และอกุศล การพูด การทักทายหรือสรรเสริญคนที่ควรสรรเสริญ หรือเราพูดทักทายกับบุคคลทั่วๆ ไป ดูไม่ออกว่า เป็นกุศล อกุศล

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่จิต ถ้าเรามีเมตตาถามถึงทุกข์สุข ขณะนั้นต้องเป็นกุศลจิต เพราะมีเมตตา เมตตาคือความเป็นเพื่อน มีไมตรีพร้อมที่จะเกื้อกูล เพราะฉะนั้น ถ้าเราทักทายกันอย่างรื่นเริง ขณะนั้นก็เป็นอกุศลศีล แต่ถ้าเรามีความห่วงใยในสุข ในทุกข์ ในความป่วยไข้ พวกนี้ เรารู้สภาพจิตว่า ขณะนั้นเป็นเมตตาหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้น ธรรมจึงเป็นเรื่องละเอียดคำพูดอย่างเดียวกัน แต่พูดด้วยจิตอะไร เวลาที่พระอานนท์ท่านไปบิณฑบาตตอนเช้า ท่านก็เห็นโจรถูกพันธนาการ เขาพาไปจะลงโทษ หลังจากกลับจากบิณฑบาตก็ไปเฝ้ากราบทูลให้ทรงทราบ ท่านพระอานนท์ ท่านเป็นพระโสดาบันบุคคล ท่านเพิ่งจะเป็นพระอรหันต์ตอนที่พระผู้มีพระภาค ปรินิพพานแล้ว ก่อนสังคายนา เพราะฉะนั้น ระหว่างนั้นจิตของท่านก็ต้องมีทั้งกุศล และอกุศล ถ้าเป็นท่านพระโมคคัลลานะ เป็นท่านพระสารีบุตร ท่านเป็นพระอรหันต์ ถ้าท่านเห็นอย่างพระอานนท์ แล้วเล่าให้พระพุทธเจ้าฟัง จิตของท่านพระโมคคัลานะกับทานพระสารีบุตรเป็นกิริยาจิต แม้ว่าคำที่พูดเป็นคำเดียวกัน เรื่องที่พูดก็เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่อยู่ที่คำ หรืออยู่ที่เรื่อง แต่อยู่ที่สภาพของจิต จากอกุศล ค่อยๆ เป็นกุศลก็ยังดี แต่ว่าที่จากกุศลจะไปถึงกิริยา ต้องถึงระดับขั้นเป็นพระอรหันต์

    ผู้ฟัง การฟังพระธรรมเพื่อเข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้ว การละจะเป็นไปโดย

    ท่านอาจารย์ ถ้ามีความเข้าใจเกิดขึ้น ที่เราใช้คำว่าปัญญาในภาษาบาลี หมายความถึงสภาพที่เข้าใจถูก เห็นถูก เมื่อเข้าใจถูกเห็นถูกก็ละเข้าใจผิดเห็นผิดไปในตัว

    ผู้ฟัง ในวันหนึ่งตื่นขึ้นมา ลืมตาขึ้นมาก็เป็นหนังสือแล้ว มีการสำนึกว่า อันนี้น่าจะเป็นที่ท่านอาจารย์บอกว่า ตาเห็นสี บ่ได้อู้ไป คิดไว้ในใจ แต่พอมาฟังเทปของท่านอาจารย์ ก็ฮู้ว่า บ่ใช่

    ท่านอาจารย์ ความจริงเราไปติดที่คำ ขณะใดที่เห็น ไม่ว่าเมื่อไร เดี๋ยวนี้ เห็นก็คือมีสิ่งที่ปรากฏให้เห็น เพราะฉะนั้น เราจะรู้ตามความเป็นจริงว่า ตามความเป็นจริงไม่ใช่สภาพธรรมที่แปลกหรือพิเศษ แต่เป็นสิ่งที่มีจริง แต่เราไม่เคยรู้ว่า ไม่ใช่เราเห็น แล้วก็ไม่เคยรู้ว่า เป็นนามธรรม หรือนามธาตุที่เห็น เพราะถ้าจะรู้ว่าไม่ใช่เรา แล้วเป็นอะไร ก็ต้องเป็นสิ่งที่มีจริง ที่ไม่มีรูปร่างลักษณะเลย แต่ว่าเป็นสิ่งที่สามารถจะเห็น คือถ้าภาษาบาลีก็ใช้คำว่า จักขุวิญญาณ คือจิตที่สามารถเห็น ถ้าโสตวิญญาณ เป็นจิตแต่ไม่สามารถเห็น แต่สามารถได้ยิน

    การศึกษาธรรมเพื่อละความสงสัยในขณะนี้ที่เป็นกำลังเห็น คือค่อยๆ เข้าใจขึ้น ไม่ใช่เพื่อไปหวังอะไรทั้งสิ้น แต่ละความไม่รู้ ละความที่เคยเป็นเราที่เห็น จนรู้ว่าเห็นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ได้ยินก็เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง คิดนึกก็เป็นสภาพธรรมอีกอย่างหนึ่ง ทั้งหมดเป็นธรรม ไม่มี แล้วก็มี แล้วก็หามีไม่ ขณะที่ไม่คิด แล้วก็เกิดคิด แล้วก็หมด ไม่ได้คิดต่อไป ขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน คนละอย่าง ต้องเป็นชีวิตปกติประจำวัน ปัญญาต้องสามารถรู้ธรรม ความจริงของสิ่งที่มีในชีวิตประจำวัน จะเห็นสีส้ม หรือเห็นอะไรก็เหมือนเห็นเดี๋ยวนี้ ให้เหมือนกันเสมอกันหมด ไม่ว่าเห็นในอดีต เห็นวันนี้ เห็นต่อไป ก็คือสภาพธรรมอย่างนี้แหละ แค่เห็นนี้แหละ

    ฟังธรรมแล้วต้องปฏิบัติอะไรไหม ไหว้พระ จริงๆ แล้วปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา ไม่ต้องไปปฏิบัติอีกเลย ให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปฏิบัติว่าไม่ใช่เรา อย่างเห็นเขาทำหน้าที่เห็น ได้ยินทำหน้าที่ได้ยิน คิดนึกทำหน้าที่คิดนึก โลภะทำหน้าที่ติดข้อง โทสะก็มีลักษณะที่ขุ่นเคือง เขาเป็นอย่างนั้นตามความเป็นจริง ให้รู้ตามความเป็นจริงว่า ขณะนั้นเป็นธรรมแต่ละอย่าง มีลักษณะแต่ละอย่าง จะได้เห็นว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ตรงกับที่เราพูดไว้ตอนแรกว่า ทุกอย่างที่มีจริงเป็นธรรม

    ผู้ฟัง ดิฉันเคยเห็นอาจารย์วรรณี รู้จักท่านหลายปีแล้ว เห็นท่านกราบอาจารย์สุจินต์เมื่อกี้ ดิฉันรู้สึก โอ้โห คือเราพอเห็นปั้บ ขณะนั้นเราไม่เคยเลย ไม่ว่าพระหรือว่าอะไร เราไม่เคย พอเห็นกิริยา รู้สึกอายเหมือนกัน เรายังไม่เคยทำเลย แต่ทำไมท่านอายุมาก ท่านยังทำได้ อันนี้เป็นจิตที่ดีงาม

    ท่านอาจารย์ ขณะที่แสดงความอ่อนน้อม ไม่ว่าต่อใครที่ควร ขณะนั้นเป็นกุศลจิต เพราะว่าเราไม่ค่อยทราบถึงจิตที่หยาบกระด้าง มีมานะ หรือมีความสำคัญตน มันเกิดเองตามปัจจัย ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ จะมีมานะ แต่ว่ามานะของคนธรรมดา ที่ไม่ใช่พระอรหันต์ ยังหยาบกว่าผู้ที่เป็นพระอริยบุคคลแล้ว ท่านยังไม่หมดมานะ แต่มานะของท่านละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น เพราะฉะนั้น เราก็เห็นมานะอย่างหยาบก่อน

    ผู้ฟัง แล้วที่เราทำไม่ได้ เพราะเรามีตัวตนหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ตัวตนที่เป็นความสำคัญตน มันจะเป็นลักษณะที่กระด้าง หรือหยาบกระด้าง ถ้าเราไปที่ไหนสักแห่งหนึ่ง แล้วก็เกิดสภาพจิตที่หยาบกระด้าง บางทีเราไหว้ไม่ได้ กับคนที่แม้ว่าสมควรจะไหว้ หรือกิริยาอาการของเราก็อาจจะไม่นอบน้อม แล้วก็เป็นไปด้วยที่เราคิดว่า มารยาท ต้องไหว้เท่านั้น ไม่ใช่เรื่องของสภาพของจิตที่อ่อนน้อมจริงๆ

    การไหว้มีลักษณะหลายอย่าง ไหว้เพราะกลัวก็มี อย่างแม่ค้าถูกตำรวจจับ ไหว้แน่ๆ แต่ไม่ได้เคารพหรือนอบน้อมในตำรวจที่มาจับเลย ไม่ได้นอบน้อมแต่กลัว ไหว้เพราะกลัว ต่างกันกับขณะที่จิตใจนอบน้อม อย่างเราไหว้ญาติผู้ใหญ่ หรืออะไรอย่างนี้ หรือผู้ที่อาวุโส หรือผู้ที่มีคุณความดี ขณะนั้นจิตของเรานึกถึงคุณความดี เราจึงมีจิตที่อ่อนโยน แต่ถ้าเวลาที่เราจิตหยาบกระด้าง เกิดขึ้นไม่รู้เนื้อรู้ตัวเหมือนกัน แล้วก็อาจจะแสดงกิริรยาอาการที่เป็นอกุศลศีล

    ผู้ฟัง อยากจะเรียนถามคุณป้าที่ฟังมาว่า เราพูด เราก็รู้จักอกุศลเกิดขึ้น จิตที่เป็นกุศลเกิดขึ้น แต่โดยทั้งวัน ถ้าเรามาทบทวนดู แทบจะ ๙๙ เปอร์เซนต์ เป็นอกุศลหมด ตรงนี้เราจะมีแนวทางอย่างไร เพื่อที่เราจะทำให้เกิดกุศลมากขึ้นๆ ในแต่ละวัน ซึ่งต่อไปวันข้างหน้า อะไรอย่างนี้

    ท่านอาจารย์ การเข้าใจธรรม เขาจะค่อยๆ ปรับปรุง ที่เราได้ยินคำว่า สังขารขันธ์ ขันธ์ ๕ เคยได้ยินกันบ่อย รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ไม่มีตัวเราเลย มีแต่ขันธ์ ๕ หรือจิต เจตสิก รูป

    รูปทุกชนิดเลย ไม่ว่ารูปเมื่อไร เขาจะเป็นนามธรรมไม่ได้ รูปหยาบ รูปละเอียด รูปเลว รูปประณีต รูปในอดีต กี่ชาติมาแล้ว แสนโกฏิกัปป์ รูปอนาคตข้างหน้า ก็ยังคงเป็นรูป กองของรูปหรือประเภทรูปก็คือรูปขันธ์ ส่วนนามขันธ์ก็ได้แก่จิต เจตสิกเท่านั้น ที่เป็นนามขันธ์ เพราะว่าเกิดดับ นิพพานเป็นนาม แต่ไม่ใช่นามขันธ์ เพราะฉะนั้น จิต เจตสิก รูป ก็คือขันธ์ ๕ รูปทั้งหมดเป็นรูปขันธ์ เวทนาความรู้สึกทุกคนมี แล้วทุกคนเกิดมาชาติหนึ่งอะไรสำคัญ ความรู้สึก เป็นสุขชอบ โสมนัสชอบ โทมนัสไม่ชอบ ทุกข์ไม่ชอบ อุเบกขาก็ใช้ได้ ถือว่าไม่ถึงกับทุกข์ ไม่ถึงกับโทมนัส

    เราติดในความรู้สึก เราไม่รู้เลยว่า แท้ที่จริงความรู้สึกต้องตามเหตุตามปัจจัย ถ้าเห็นสิ่งที่ดีทั้งวัน ใจเราสบาย เห็นสิ่งที่สวย ได้ยินเสียงที่เพราะ ได้กลิ่นดีๆ เวทนาเป็นสุข หรือสบายใจทั้งวัน แต่ถ้าวันไหนเห็นไม่ดี ได้ยินไม่ดี ได้กลิ่นไม่ดี ลิ้มรสไม่ดี กระทบสัมผัสไม่ดี คิดนึกไม่ดี เป็นเรื่องของทุกข์ เป็นเรื่องของความยุ่งยาก เป็นเรื่องของความลำบากหมด ก็เป็นเรื่องของความรู้สึกที่ไม่ชอบ

    ตลอดชีวิตเราแสวงหาสุขเวทนาหรือโสมนัสเวทนา เป็นความสำคัญยิ่งของชีวิต เราไม่ได้ต้องการอะไรเลย ทุกวันเราต้องการแต่ความรู้สึกที่น่าสบาย เพราะฉะนั้น จึงเป็นขันธ์ ๑ แสดงให้เห็นว่า เป็นอุปาทาน เป็นความยึดมั่นของเราในความรู้สึกแค่ไหน ทุกชีวิต เด็กหรือผู้ใหญ่ สำคัญที่สุดคือความรู้สึกที่เป็นสุข ที่โสมนัส ที่น่าพอใจ สภาพนี้จึงยกเป็นเวทนาขันธ์ เวทนูปาทานขันธ์ ยึดมั่นในเวทนาความรู้สึก

    ทีนี้ลองคิดดูถึงเจตสิกอื่น เหลืออีก ๕๑ ชนิด เว้นเวทนา มีอีกเจตสิก ๑ คือ สัญญาความจำ เป็นสภาพที่ช่วยเจตสิกซึ่งเป็นสังขารขันธ์ เพราะเราจำได้ว่าความรู้สึกที่ สบายๆ ที่เราชอบ มันมาจากไหน มันเกิดจากอะไร เวลาที่เราชอบสิ่งหนึ่งสิ่งใด เราอยากให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นอีก ถ้าอาหารนี้ไม่อร่อย วันหลังเอาอีกไหม จะไม่ไปทานอาหารที่ไม่อร่อย จะไปทานอาหารที่เราชอบซ้ำอีก เพราะว่าเราชอบ เพราะสัญญาจำได้ว่า รสอย่างนี้ ถูกใจ ทำให้เกิดโสมนัสเวทนา สัญญาตัวความจำ จะเป็นผู้ที่ช่วยปรุงแต่งสังขารขันธ์ คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราขวนขวาย เจตสิกอื่นทั้งหมดเป็นสังขารขันธ์ และจิตทุกประเภทก็เป็นวิญญาณขันธ์ ความรู้สึกทั้งนั้นเลยเกิดทุกขณะ แล้วก็พอใจทุกขณะ อยากได้ทุกขณะ ชีวิตของเราเป็นไปตามความยึดมั่น ความพอใจใน รูป ในเสียง ในกลิ่น ในอะไร

    ผู้ฟัง ขออาจารย์พูดอธิบายตรงความจำ ที่ปรุงแต่งสังขารขันธ์

    ท่านอาจารย์ ที่เราจำได้ว่า อะไรอร่อย เราก็ทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นอีก

    ผู้ฟัง ความจำมาจากที่เราสะสมเอาไว้ ไม่ใช่เรา

    ท่านอาจารย์ แล้วแต่ว่าจะจำอะไรก็แล้วแต่ ไม่ลืม แล้วก็เป็นเครื่องประกอบ เครื่องปรุง เพราะเวทนา ความรู้สึกของเราเกิดจากอะไร เราไม่ลืม สิ่งที่เราไม่ชอบเราอาจจะลืม แต่สิ่งที่เราอยากได้ เราลืมไหม ยังอยากได้อยู่ เพราะเรารู้ว่าเราได้มาแล้ว เรามีความสุขกับสิ่งนั้น แต่โลภะ น่าที่จะเห็นความจริง เราอยากได้ เราพยายามหา พอยื่นมือไปรับมา อีกมือหนึ่งเอื้อมไปใหม่แล้ว ไม่มีหยุดเลย สิ่งที่เราอยากได้หาเพื่อที่จะได้ พอได้มา รับไว้ อีกมือหนึ่งยื่นไปแล้ว สิ่งใหม่ ต้องการสิ่งใหม่อีกแล้ว ไม่จบ

    ผู้ฟัง มันมีอันหนึ่งเขาบอกว่า อาหารสัปปายะ สานิสัปปายะ ทำให้เพื่อการเริ่มต้นเจริญกุศลธรรม อยากให้อธิบายว่ามี จากที่ว่าเมื่อกี้ว่า แสวงหาโลภะ

    ท่านอาจารย์ ที่จริงเรารับประทานอาหาร ทุกคนทุกวัน แต่ว่าอาหารที่เรารับประทานถูกปากหรือเปล่า หรือไม่ถูกปาก ถ้าอาหารไม่ถูกปาก จิตของเราเป็นอย่างไร กระสับกระส่าย กระวนกระวาย เดือดร้อนไหม หรือเฉยๆ ไม่ถูกปากก็ไม่เป็นไร เพื่อมีชีวิตอยู่ ถ้าอย่างนั้นจะเป็นคนที่เลี้ยงง่ายมากเลย

    ผู้ฟัง เดี๋ยวขอถามบางทีฟังแล้วไม่ได้ตั้งใจท่องจำ แล้วขณะฟัง เราก็ว่าเราเข้าใจ แต่ว่าความพยายามพากเพียรที่จะมานั่งศึกษาจริงจัง อย่างบางคนที่เขาศึกษาพระอภิธรรม เราก็ไม่มี บางคนที่เขาทำงาน เขาก็ไม่มี หรือคนที่อายุมาก ไม่มีความมานะพยายามขณะนั้น ทีนี้ถ้าจะฟังไปเรื่อยๆ อย่างที่ฟังเทปอาจารย์สุจินต์ หรืออย่างที่น้องสาว ทำงานอาทิตย์ละ ๖ วันแล้วทำจนดึก แต่เวลารถติด หรือเวลาเขานั่งรอคนไข้ เขาก็จะเปิดเทปอาจารย์สุจินต์ฟัง อย่างนี้ คือฟังไปเรื่อยๆ ให้ผ่านหูไปเรื่อยๆ อย่างนี้ มันจะได้ประโยชน์

    ท่านอาจารย์ ไม่ว่าจะเรียนหรือจะฟังที่ไหน คือเข้าใจสิ่งที่ได้ฟังให้ถูกต้องกับสภาพธรรมที่มีจริงๆ อย่างถ้าจะพูดเรื่องจิต จิตมีแต่ความเข้าใจเรื่องจิตของเราน้อย หรือมากแค่ไหน ลึกซึ้งจริงๆ หรือเปล่า แล้วเราก็ต้องไตร่ตรอง แยกลักษณะที่เป็นนามธรรมกับรูปธรรมออกจากกัน ให้เห็นความต่างกันโดยสิ้นเชิง อย่างรูป เราพอจะรู้ได้ ปรากฏทางตาขณะนี้ เสียง กลิ่น รส เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เรารู้ แต่สภาพหรือธาตุที่กำลังเห็น เดี๋ยวนี้มีหรือเปล่า มีจริงๆ ไหม มี

    เมื่อมีจริงก็คือธาตุชนิดหนึ่ง เราใช้คำว่าธาตุ หรือธรรม แสดงว่าไม่มีใครเป็นเจ้าของ ข้อสำคัญคือว่าเมื่อได้ฟังคำไหนต้องเข้าใจคำนั้นแล้วไม่ลืม อย่างธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ธรรมสิ่งที่มีจริง แล้วยังทั้งหลาย คือทั้งหมด ไม่เว้นเลย เป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวตน ไม่เป็นของใคร บังคับบัญชาไม่ได้ ต้องไม่ลืม แม้ว่าจะศึกษาเรื่องสติ เรื่องการอบรมเจริญปัญญาก็ต้องรู้ว่า ไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรม แล้วสภาพธรรมฝ่ายไม่ดี ไม่ต้องไปอบรมเจริญ แต่ฝ่ายดีที่เป็นการรู้ถูก ความเห็นถูก ถ้าไม่อบรมก็เจริญไม่ได้ ก็เข้าใจในความเป็นธรรม

    ผู้ฟัง มันก็ไม่มีตัวตน

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง การฟัง เข้าใจ อบรมอยู่ในตัว ไม่ใช่มีเราไปทำเป็นตัวมาอบรมอีกต่างหาก

    ผู้ฟัง การอ่านจากพระไตรปิฎก แล้วเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ ขณะนั้นก็ไม่มีตัว แต่ว่ามีสภาพของจิตที่เป็นภวังคจิต หรือว่า ไม่ใช่วิถีจิต แล้วก็เป็นวิถีจิต เป็นภวังคจิต ไม่ใช่วิถีจิต แล้วเป็นวิถีจิต

    ผู้ฟัง วิถีจิตเกิดขึ้นมารับรู้จากเรื่องราวที่ทรงกล่าวไว้ในนั้น

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เรากำลังพูดเรื่องนามธรรม ได้ยินเสียงแล้วก็มีการค่อยๆ เข้าใจความหมาย แล้วก็รู้ว่า ลักษณะของจิตเป็นอย่างไร ขณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่เรากำลังพิจารณา แต่ธรรมจะต้องเกิดขึ้นตามวิถีจิต ซึ่งสลับกับจิตที่ไม่ใช่วิถีจิต ประโยชน์ของการฟังคือเข้าใจ สิ่งที่พูด พูดเรื่องอะไร เรื่องสิ่งที่มีจริง สิ่งที่มีจริงทางไหน เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม สิ่งที่มีจริงเป็นจิตหรือเจตสิก เมื่อเป็นสิ่งที่มีจริงก็ฟัง ก็เข้าใจในสิ่งที่ฟังตรงกับสภาพธรรมที่มี

    ถ้าเป็นเพื่อการเข้าใจสภาพธรรม ที่กำลังได้ยินได้ฟังก็ไม่มีปัญหาอะไรเลย ไม่ว่าจะฟังอะไร

    จริงๆ แล้วเราเกิดมา เราก็ได้ฟังคำว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วเราก็มีความเลื่อมใสนับถืออย่างมาก โดยที่ว่าจริงๆ แล้วเราถูกสอนมา แม้แต่หลานของดิฉันเองก็สอนให้ไหว้พระ โดยที่เขายังไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่อย่างน้อยที่สุดเวลาที่เขาแสดงความนอบน้อมต่อคนที่ควรนอบน้อม ก็เป็นสิ่งที่ดี ที่เราจะฝึกหัด จนกระทั่งเราโตมา ก็อย่างพวกที่เรียนโรงเรียนฝรั่ง ก็คงจะไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังพระธรรม หรือว่าผู้ที่ไม่ได้ไปวัด ก็คงเพียงแต่รู้ว่า มีคำว่าพระรัตนตรัย ได้แก่พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วเราก็มีคำสวดมนต์จากครอบครัว พ่อแม่ ก็สอนให้เรามีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ คือเป็นที่พึ่ง แต่จริงๆ แล้ว เป็นสิ่งซึ่งเป็นบุญมหาศาล สำหรับคนที่เกิดในประเทศที่มีคำสอน คือ พระไตรปิฎก แล้วยังรู้ว่า บุคคลที่ประเสริฐสุดในโลกยิ่งกว่านักปราชญ์ หรือว่านักวิทยาศาสตร์ หรือว่านักวิชาการทั้งหลาย ไม่ว่ากี่พันปี ก็คือพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เราทราบเพียงเท่านี้ แต่เรายังไม่รู้เลยว่า สอนอะไรบ้าง

    การฟังพระธรรม คือการศึกษาพระปัญญาคุณ ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงถึง ๔๕ พรรษา ตั้งแต่ตรัสรู้ สมัยที่ตรัสรู้จนกระทั่งใกล้จะปรินิพพาน แล้วก็ยังจดจำสืบต่อจนถึงยุคนี้สมัยนี้ ซึ่งเราสามารถที่จะศึกษาได้ ฟังได้สอบทานได้ แล้วก็ไม่ทราบว่า จะต่อไปได้อีกนานเท่าไร แต่ต้องตราบเท่าที่มีผู้ศึกษา

    ทีนี้ คำหนึ่งซึ่งต้องคู่กับกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คือว่าธรรม เพราะว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม แล้วก็ตรัสรู้ธรรม คำนี้ก็คงจะเป็นที่น่าคิดว่าธรรมอยู่ที่ไหน ธรรมคืออะไร แต่จากการตรัสรู้ พอใช้คำว่าตรัสรู้ หมายความว่าเป็นผู้ที่รู้ความจริงทั้งหมดไม่มีเหลือเลย เพราะฉะนั้น ความจริงที่ทรงแสดง ที่ทรงตรัสรู้ ต้องเป็นสิ่งซึ่งทุกคนสามารถที่จะฟัง เข้าใจ พิจารณา อบรมเจริญปัญญาจนรู้ตามได้ เพราะว่าธรรมคือทุกสิ่งที่มีจริง

    คำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งซึ่งเมื่อเกิดจากการตรัสรู้ เปลี่ยนไม่ได้เลย ตรัสคำไหนเป็นคำนั้น เป็นจริงอย่างนั้น เพราะว่าตรัสรู้ความจริงของสิ่งนั้น แต่ข้อความในพระไตรปิฎก จะใช้คำว่า คำของพระองค์เป็น ๑ ไม่เป็น ๒ หมายควมว่าเมื่อตรัสว่าสิ่งนั้นเป็นอย่างไร ก็ไม่มีใครไปเปลี่ยนลักษณะของสภาพธรรมนั้นได้ คือ ไม่เป็น ๒ คือไม่เป็นอย่างอื่น

    ถ้ากล่าวว่าธรรม หมายความถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง ไม่เว้นเลยทั้งสิ้น ทุกอย่างเป็นธรรม เราเกิดมาตั้งแต่เกิดจนตาย ในชีวิตประจำวันของเราทั้งหมด เป็นธรรมซึ่งเราไม่เคยรู้ว่า เป็นธรรม จนกว่าจะศึกษาพระธรรม ถึงจะรู้ว่า ทรงแสดงเรื่องสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวันของแต่ละคน เป็นธรรมทั้งนั้น เพราะฉะนั้น ถ้าขณะนี้จะถามว่า นี่สิ่งที่ปรากฏทางตา กระทบสัมผัสก็ตาม หรือได้กลิ่นก็ตาม ลิ้มรสก็ตาม พวกนี้ เป็นธรรมหรือเปล่า จากคำที่ว่า ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่เว้นเลย

    นี่เป็นสิ่งซึ่งเราจะต้องค่อยๆ คิดเป็นปัญญาของเราที่จะรู้จักธรรม เราอาจจะเคยได้ยินธรรมเทศนาแสดงเรื่องนั้น เรื่องนี้ แต่ว่าธรรมจริงๆ ในความหมายแรกที่สุดคือสิ่งที่มีจริงทั้งหมดเป็นธรรม ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏมีจริงๆ ไหม คุณศีลกันต์

    ผู้ฟัง สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นสิ่งที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ มีจริงๆ เพราะว่ามีตาก็เห็นมีสิ่งหนึ่งกำลังปรากฏทางตา สิ่งที่ปรากฏเป็นธรรม

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 99
    23 มี.ค. 2567