ปกิณณกธรรม ตอนที่ 383
ตอนที่ ๓๘๓
สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่
พ.ศ. ๒๕๔๓
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราจะรู้ได้ ก่อนอื่นที่เราชอบพูดว่า ผลของกรรม ผลของกรรม แล้วมันเมื่อไร ถ้าเราเข้าใจจริงๆ ว่า ผลของกรรมขณะแรกคือปฏิสนธิโดยกรรม ให้ผลแล้วก็ดับไป แล้วก็จิตขณะต่อไปไม่ใช่ปฏิสนธิแล้ว เพราะไม่ใช่ขณะแรก แต่เป็นขณะที่ดำรงภพชาติสืบต่อจนกว่าจะตาย เพราะฉะนั้น ทำภวังคกิจ ที่เราใช้คำว่า ภวังค์ หมายความว่า ขณะที่ไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ลิ้มรส ไม่คิดนึก เช่นขณะที่นอนหลับสนิท ไม่ใช่คนตาย เพราะว่าจิตยังเกิดดับดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนั้น ยังไม่ให้เปลี่ยนเป็นบุคคลอื่น
กรรมทำให้ปฏิสนธิจิต เกิดแล้วดับ แล้วทำให้ภวังคจิตเกิดสืบต่อ จนกว่าจะเห็นเป็นผลของกรรมอีกทางหนึ่ง คือ เห็นดี หรือเห็นไม่ดี จนกว่าจะได้ยิน ก็เป็นผลของกรรม ที่ทำให้ได้ยินดี หรือไม่ดี จนกว่าจะได้กลิ่น ก็เป็นผลของกรรม เวลาลิ้มรส อร่อย ไม่อร่อย ดีไม่ดี ก็เป็นผลของกรรม เวลากระทบสัมผัสกาย เกิดสุข เกิดทุกข์ ก็เป็นผลของกรรม
เรารู้ว่า การให้ผลของกรรมคือ ขณะแรกที่เกิด แล้วก็ดำรงอยู่ แล้วก็ยังให้ผลทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเลือกไม่ได้เลย ใครจะเห็นเพชรนิลจินดา ใครจะเห็นเม็ดกรวดเม็ดทราย ก็แล้วแต่กรรมที่จะเป็นปัจจัยให้เห็นอย่างนั้น แต่หลังจากนั้นไม่ใช่กรรม พอเห็นแล้วชอบ เป็นโลภะ พอเห็นแล้วไม่ชอบ เป็นโทสะ พอเห็นแล้วเข้าใจถูกเป็นปัญญา
นี่ถึงได้ตางกัน จากอกุศลจิตซึ่งไม่รู้อะไรเลยในชีวิต เป็นค่อยๆ ฟัง แล้วก็เกิดกุศล ที่ประกอบด้วยปัญญา ซึ่งยากนานๆ ที่จะเกิดมาก แล้วจนกระทั่งไม่มีอกุศล ไม่มีทั้งกุศล เป็นพระอรหันต์ เป็นกิริยาจิต
กิริยาจิตคือจิตที่ดีงาม แต่ไม่เป็นเหตุให้เกิดผล เหมือนดอกไม้ลม หรือดอกไม้บางชนิด ไม่เป็นเหตุให้เกิดผลแม้มี สภาพจิตที่ดีงาม ท่านก็มีเมตตา ท่านก็มีกรุณา ท่านมีการสั่งสอน ท่านมีการช่วยเหลือพระภิกษุไข้ เป็นจิตที่ดีงาม แต่กรรมนั้นๆ หลังจากเป็นพระอรหันต์แล้วไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบากจิต
พระอรหันต์เท่านั้นที่ไม่ต้องเกิดอีก พอจุติจิตของพระอรหันต์ดับ ไม่เป็นอนันตรปัจจัย คือ จิตนั้นแหละไม่เป็นปัจจัยให้จิตต่อไปเกิดขึ้นได้ แปลว่าจบจากหน้าที่ซึ่งต้องเกิด ต้องเห็น ต้องได้ยิน ชาติแล้ว ชาติเล่า ต้องสุข ต้องทุกข์ ต้องทุกอย่างมาหมด ต้องติดข้อง ไม่มีวันจบ จนถึงจบคือจุติจิตของพระอรหันต์
ผู้ฟัง ชีวิตของเราในชาตินี้ หมายความว่าเราต้องอยู่จากกรรมเก่าหรือ
ท่านอาจารย์ ขณะที่เกิดเป็นผลของกรรมที่เสร็จไปแล้วไม่รู้ว่ากี่ภพ กี่ชาติ แล้วก็ระหว่างที่ดำรงชีวิตอยู่ ยังไม่ตาย ก็เพราะกรรมยังให้เป็นบุคคลนี้อยู่ กรรมนั้นแหละยังทำให้ภวังคจิตสืบต่อดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ แล้วกรรมนั้นแหละก็ยังทำให้ต้องเห็น ต้องได้ยิน ต้องได้กลิ่น ต้องลิ้มรส ๕ ทางเป็นทางรับผลของกรรม หลังจากเห็น หลังจากได้ยิน ไม่ใช่ผลของกรรมแล้ว เริ่มเป็นกิเลส หรือเป็นกรรมใหม่ ที่จะทำให้เกิดผลข้างหน้า นี่คือชีวิต ชาติแล้วชาติเล่า คือ จิต เจตสิก รูป
ผู้ฟัง นี่คือกุศลกรรม หรืออกุศลกรรมที่เราประพฤติปฏิบัติในชาตินี้ มันจะไม่ได้อยู่ในชาตินี้หรือ
ท่านอาจารย์ อย่างคำว่า บุญหรือบาป บางคนถามว่าได้บุญไหม แต่ความจริง บุญ คือ สภาพจิตที่ประกอบด้วยเจตสิกฝ่ายดี ที่บาปก็คือจิตที่ประกอบด้วยเจตสิกฝ่ายไม่ดี เพราะฉะนั้น ต้องทราบว่าบุญ บาป เป็นนามธรรม เป็นลักษณะของจิต เพราะจิตที่เกิดมาเขาจะมีชาติหนึ่ง ชาติใด ชา-ติ แปลว่าเกิด เพราะฉะนั้น จิตที่ทรงแสดงไว้ มี ๔ ชาติ แต่ไม่ได้หมายความว่าจิต ๑ ขณะ เป็น ๔ ชาติ แต่หมายความว่าจิต ๑ ขณะ จะเป็นชาติหนึ่งชาติใดใน ๔ ชาติ ชาติหนึ่งก็คือกุศล พอเกิดเป็นกุศลแล้วดับ เพราะฉะนั้น จะเปลี่ยนเป็นอกุศลไม่ได้ เปลี่ยนเป็นอะไรไม่ได้ เป็นกุศลก็คือเป็นกุศล ๑ ชาติ เป็นอกุศลคือจิตที่ไม่ดีงาม อย่างโกรธเกิดขึ้น โกรธแล้ว เกิดแล้วดับแล้ว จะให้ไปเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะฉะนั้น มีกุศล ๑ อกุศล ๑ เป็นเหตุ ทำให้เกิดวิบาก
วิบากนี่ก็ต้องเป็นจิตที่เป็นผล วิบากหมายความถึงจิตประเภทที่เป็นผลของกรรม ก็มีกุศลวิบากกับอกุศลวิบาก
กิริยาจิต คือไม่ใช่เหตุ ไม่ใช่ผล คือ ไม่ใช่ทั้งกุศล อกุศล และวิบาก แต่จิตประเภทนี้เราก็ยังไม่ต้องกล่าวถึง เรากล่าวเฉพาะกุศล อกุศล เป็นปัจจัยให้เกิดวิบาก แต่ละขณะเราต้องทราบให้ชัดๆ เลยว่า ขณะไหนเป็นอะไร อย่างขณะเกิดขณะแรก ไม่ได้ให้ทาน ไม่ได้รักษาศีล ไม่ได้ทำบุญทำกรรม แต่กรรมทำแล้วเป็นปัจจัยให้วิบากจิตเกิด
เพราะฉะนั้น วิบากที่เกิด ถ้าเป็นอกุศลวิบาก เกิดในนรก เกิดเป็นเปรต เกิดเป็นอสุรกาย เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เราเห็นนก เห็นช้าง เห็นปู ปลา รู้เลย ชาติก่อนทำอกุศลกรรมอะไรมา ถึงได้เกิดเป็นอย่างนี้ เรามีสุนัขที่น่ารัก บางทีเราก็บอกว่า นี่ชาติก่อนทำอะไรถึงได้มาเกิดเป็นสุนัขชาตินี้ แต่พอเห็นคน ไม่ว่าจะเป็นคนฐานะอย่างไร รูปร่างอย่างไร เป็นผลของกุศลกรรม แต่กุศลเขาต่างกันมาก ประณีตต่างกัน เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นกุศลอย่างอ่อนๆ ก็มีอกุศลกรรมมาเบียดเบียน ทำให้เขาเป็นคนพิการตั้งแต่กำเนิด ตั้งแต่กำเนิดหมายความว่า ไม่ใช่ว่าพอคลอดออกมาแล้วพิการ แต่กำเนิด คือ โดยกรรมนั้นกั้นไม่ให้จักขุปสาทรูปเกิด เป็นคนตาบอด ไม่ให้โสตปสาทรูปเกิด เป็นคนหูหนวก เมื่อถึงเวลาที่จะมีตา มีหู เพราะว่าเกิดมาใหม่ๆ ไม่มีตา มีหู แต่ว่าถ้าคนปกติจะมีตามีหู แต่คนที่พิการตั้งแต่กำเนิด เพราะว่ากุศลของเขาอ่อนมาก ไม่มีกำลังแล้วก็ยังพ้นจากอบายมาหน่อยหนึ่ง เรียกว่าพ้นจากอบาย แต่ว่าเป็นผู้ที่พิการตั้งแต่กำเนิด หรือว่าปัญญาอ่อนก็ได้ ไม่เหมือนคนปกติ นี่ก็เป็นผลของกุศลอย่างอ่อน ถ้าเป็นผลของกุศลอย่างประณีตขึ้นมา เวลากระทำก็มีเจตนาที่ผ่องใสโสมนัส ไม่เสียดาย หรืออะไรอย่างนี้ เวลาที่เกิด เขาจะเกิดประณีตมาก เพราะฉะนั้น จึงมีกษัตริย์มหาศาล คหบดีมหาศาล เป็นกษัตริย์ด้วยกันแต่ก็มีประเทศเล็ก ประเทศใหญ่ เป็นเศรษฐีด้วยกันก็ยังมีเงินมาก เงินน้อยต่างกันไปอีก แล้วก็เป็นคหบดี ไม่ได้ตำแหน่งเศรษฐี แต่ก็เป็นคหบดีต่างกันไปอีก
เพราะฉะนั้น ระดับของจิต ไม่ว่าจะมีในโลกนี้มากมายสักเท่าไร คนนับไม่ถ้วนเลย แล้วจิตก็ต่างๆ ๆ ๆ กันออกไป แม้แต่ทำกรรมเดียวกัน จิตที่ทำยังต่างกัน บางคนทำ แต่คนนี้โสมนัสมาก อีกคนหนึ่งเฉยๆ เพราะฉะนั้น ผลของกรรมก็ต้องต่างกัน นี่ก็เป็นผลของกรรมที่ผ่องใส ทำให้เขาได้รับ เป็นกษัตริย์มหาศาล เป็นคหบดีมหาศาล ได้รูป ได้เสียง ได้กลิ่น ได้รส ได้สัมผัสที่ประณีตเป็นผลของกรรมดี แต่ไม่ประกอบด้วยปัญญา
เราจะเห็นได้ว่าคนที่มีทุกอย่างพร้อม แต่ไม่มีปัญญาก็มี แต่มีกุศลอีกประเภทหนึ่งซึ่งประกอบด้วยปัญญา อย่างการฟังธรรม เป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา ในขณะที่ให้ทาน ไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา รักษาศีลก็ไม่ประกอบด้วยปัญญา แต่การฟังพระธรรม เริ่มเห็นพระปัญญาคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มีนักปราชญ์ หรือนักวิทยาศาสตร์คนไหนที่จะบอกเราว่า จิตเป็นสภาพหรือธาตุชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ของใคร แต่ธาตุชนิดนี้ เป็นนามธาตุในขณะที่ธาตุทางวิทยาศาสตร์เราก็รู้ ธาตุไฟ หรือธาตุออกซิเจน ในโตรเจนอะไร ก็ไม่ใช่ของใครเลย สาธารณะฉันใด นามธาตุก็ไม่ใช่ของใครฉันนั้น แต่ว่ามีความวิจิตรมากกว่ารูปธาตุ อย่างรูปธาตุที่เราเห็นเป็นต้นไม้ ใบไม้ เป็นทุเรียน เป็นเงาะ พวกนี้ ก็มีเพียงดิน น้ำ ไฟ ลม มีสี มีกลิ่น มีรส มีโอชา ทำไม ถึงต่างกันเป็นขนุน เป็นทุเรียน ดอกไม้ก็เป็นดอกกุหลาบ ดอกสารภี ดอกเล็กดอกใหญ่ เพียงส่วนผสมของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ที่ต่างกันอย่างละเอียดยิบ แม้รสก็ต่างกัน แม้กลิ่นก็ต่างกัน แม้รูปร่างก็ต่างกัน นี่เพียงรูปธาตุ แต่ถ้านามธาตุ คือ จิตจะวิจิตรสักแค่ไหน จิตประเภทนี้ประกอบด้วยเจตสิกอะไรบ้าง โดยฐานะที่เป็นปัจจัยชนิดไหน ปัจจัยที่จะทำให้เกิดยังต่างกันออกไปอีกหลายๆ อย่าง อย่างเราเห็นแกง น้ำแกง มีทั้งกะปิ หอม กระเทียม พริก ข่า ตะไคร้ พอตำละเอียดละลายไปแล้ว เราบอกได้ไหมในช้อนหนึ่ง ส่วนไหนเป็นพริก ส่วนไหนเป็นกะปิ ส่วนไหนเป็นน้ำตาล น้ำปลา นั่นรูป ลองคิดถึงนามธาตุ ไม่มีรูปใดๆ เจอปนเลย แต่ธาตุชนิดนี้มี แล้วผู้ที่ตรัสรู้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด ถึงเหตุที่จะให้เกิด และผลของเหตุนั้นๆ ด้วย
ชีวิตประจำวัน ถ้าเราจะศึกษาธรรม เราจะเข้าใจชัดกระจ่าง เราจะไม่พูดแบบคร่าวๆ กรรม กิเลส วิบาก แต่มันตรงไหน ขณะไหน แต่ถ้าเราเรียนแล้วเรารู้เลย ต้องเป็นจิต เจตสิก ขณะไหน ขณะที่ปฏิสนธิ คือ ขณะแรกนำมา กรรมที่เขาทำให้จิตประเภทนั้นเกิด จิตขณะนั้นเกิดจะนำมาซึ่งผลที่สมควรแก่ชาตินั้น เพราะเหตุว่าเป็นผลของกรรมชนิดที่ประณีตหรือไม่ประณีต เพราะฉะนั้น เขาจะได้รับเกินกว่านั้นไม่ได้ ในชีวิตของเขา นอกจากจะมีกรรมอื่นซึ่งแรง และสามารถที่จะเกิดได้ เปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่
กรรมทรงแสดงโดยนัยของกิจด้วยว่า กิจทำให้เกิด แล้วก็อุปถัมภ์ แล้วก็เบียดเบียน แล้วก็ตัดรอน เพราะฉะนั้น เราจะเห็นชีวิตซึ่งบางคนเกิดมาในตระกูลที่ดี มีทรัพย์สมบัติตลอดไป การเห็นของเขา การได้ยินของเขาเป็นผลสืบเนื่องมาจากกรรมนั้นที่ทำให้เห็นดี ได้ยินดี พวกนี้ แต่พอถึงเวลาที่เขาจะพลัดพราก จากกษัตริย์ ถูกโค่นล้มราชบัลลังค์ กลายเป็นคนที่ไม่มีอำนาจ หรือว่าไม่มีสมบัติอย่างเดิมถูกยึดไปหมด ไม่ว่าจะประเทศอียิปต์ หรืออะไรๆ ก็ตาม กรรมตัดรอน ซึ่งเราไม่รู้เลย กรรมไหนอุปถัมภ์ กรรมไหนเบียดเบียน กรรมไหนตัดรอน แต่นี่คือชีวิตประจำวัน ไม่มีใครทำให้เลย นอกจากจิตหนึ่งขณะที่เกิดเป็นอกุศล สะสมสืบต่อไป คอยเวลาที่จะทำให้จิตที่เป็นวิบาก คือ ผลเกิดขึ้น ถ้าจิตเป็นอกุศล สะสมสืบต่อไป แล้วแต่กาลเวลาจะทำให้ผลที่เป็นอกุศลวิบากขนาดไหนเกิดขึ้น
ทุกคนที่ศึกษาธรรมแล้ว เขาจะไม่โกรธคนอื่นเลย มีพระสูตรสูตรหนึ่ง ซึ่งทรงสอนภิกษุว่า ถ้าใครจะมาเลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ ถ้ามีจิตโกรธเคืองบุคคลนั้นไม่ใช่สาวกของพระพุทธเจ้า สาวกคือผู้ฟัง ผู้ฟังคือผู้ฟังด้วยความเข้าใจว่า ธรรมเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา มีกรรมของตนเองเป็นเผ่าพันธุ์ เป็นที่พึ่ง เพราะฉะนั้น เวลาที่มีอะไรเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าเขาไม่ทำ เจ็บได้ไหม คนที่เป็นมะเร็ง มะเร็งกระดูก เหมือนถูกเชือดถูกเฉือนถูกแทงสารพัด จะโกรธใคร ไม่มีโจรสักคนซึ่งมาเลื่อยแขน ขา อวัยวะ หรือเราเอง อย่างบางคนเขาหกล้มต้องตัดขา ก็ไม่มีใครมาทำให้ แต่พอมีคนทำ โกรธคนนั้นได้อย่างไร ไม่มีทางเลย ถ้าไม่ใช่กรรมของเรา เขาไม่มีทางจะมาทำกับเราได้เลย
ถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงในกรรมแล้วไม่ประมาท ไม่เป็นช่องทางที่จะให้กรรมให้ผล เราก็รักษาตัวของเรา แต่ถ้าอะไรเกิดขึ้นก็คือว่า นั่นคือกรรมของเราที่ได้ทำไม่ใช่คนอื่น ความโทมนัส ความเสียใจ ความโกรธขุ่นเคืองคนอื่น จะไม่มีเลย เพราะว่าเป็นผู้ที่มั่นคงในกรรม ในผลของกรรม
เวลานี้ถ้าใครจะถามเราว่า กรรมคืออะไร เราก็ว่าจิตที่ดี เป็นกุศลกรรม จิตที่ไม่ดีเป็นอกุศลกรรม ผลของกรรมก็คือขณะเห็น ขณะได้ยิน สิ่งที่ดีเป็นผลของกรรมชื่อว่า กุศลวิบาก เห็นดีเป็นกุศลวิบาก ได้ยินดีเป็นกุศลวิบาก เป็นจิตแต่ละขณะ แต่ละกาล ถึงเวลาที่กุศลวิบากจะให้ผลก็ทำให้เกิดจิตเห็นดีแล้วดับ แล้วแต่กรรมจะให้ผลดีจะมากหรือจะน้อย ถึงอกุศลกรรมก็เหมือนกัน ถ้าอย่างป่วยไข้ คือผลของอกุศลกรรมทำให้กายเป็นทุกข์เดือดร้อน ต้องไปหาหมอรักษาต่างๆ แล้วเมื่อไรที่จะหาย คือหมดกรรมนั้นที่จะให้เป็นอย่างนั้นต่อไป
เป็นเรื่องของกรรมโดยตลอด พุทธศาสนาอีกอย่างหนึ่งคือ กรรมนิยาม ถือว่าเป็นเรื่องของกรรม คือ เหตุ และผล แสดงถึงความเป็นอนัตตาทั้งนั้นเลย พุทธศาสนาจะเป็นอย่างไรๆ ละเอียดแค่ไหนคือ อนัตตาทั้งหมด คือ ไม่อยู่ในอำนาจ ถ้าอยู่ในอำนาจก็สบาย อย่างที่ว่า ก่อนจะตายก็ทำให้กุศลจิตเกิด เป็นไปไม่ได้ ยังไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไร แล้วจะไปทำตอนไหน ถ้าทำได้จริง ทำเดี๋ยวนี้ ไม่ต้องไปคอยเวลานั้น ทำเดี๋ยวนี้ไปทุกขณะ ก็ไม่ได้ แล้วแต่ปัจจัย ยิ่งศึกษายิ่งเห็นความเป็นอนัตตา นี่คือเห็นถูก
ผู้ฟัง ... แต่ว่าทำให้กุศลจิตเกิด
ท่านอาจารย์ ก็ต้องถอยๆ มา กุศลมี ๒ ประเภท กุศลที่ประกอบด้วยปัญญา กับกุศลที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา เพราะฉะนั้น การฟังธรรมซึ่งไม่ใช่ว่าเราจะมีโอกาสได้ฟัง ต้องเป็นกรรมดีในอดีตที่สั่งสมมาแล้ว เป็นปัจจัยผัน หรือหมุน หรือทำให้มีโอกาสได้ยินเสียงซึ่งสามารถจะทำให้เข้าใจธรรมได้ เพราะเสียง ใครที่มีโสตปสาท ไม่ใช่คนหูหนวกก็ได้ยิน เสียงเพลง เสียงตนตรี เสียงอะไรก็ได้ยิน แต่เสียงนั้นทำให้เข้าใจอะไรหรือเปล่า เพราะฉะนั้น ต้องเป็นคนที่สะสมบุญในปางก่อนที่สะสมมาที่จะได้ยินสิ่งที่ถูกต้องที่เป็นพระธรรมที่ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก จากพระไตรปิฎก ไม่ใช่เกิดจากความคิดของคนหนึ่งคนใด
การศึกษาพระปัญญาคุณ ต้องละเอียดต้องรอบคอบ ต้องประกอบกันหมด ถ้าบอกว่าธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา แล้วบอกว่าให้ทำให้ได้ เป็นไปไม่ได้ นี่คือไม่เข้าใจคำว่า อนัตตา แต่ว่าสามารถจะอบรมความรู้ความเข้าใจขึ้นโดยการฟัง และโดยการพิจารณา แล้วสภาพธรรมก็มีให้พิสูจน์ ขณะนี้เห็นก็มี เลือกได้ไหม ถ้าเราเกิดนอนหลับสนิท แล้วมีเสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า อกุศลวิบากทางหูเราไม่เกิด เราก็หลับต่อไป คนที่เขามีอกุศลวิบากทางหู ก็เกิดตื่นขึ้นมาได้ยินเสียงแล้วก็ดับ ชีวิตสั้นมาก ชั่วขณะจิตหนึ่ง ชั่วขณะจิตหนึ่ง ท่านเรียกว่า ขณิกมรณะ มาจากคำว่า ขณะ ความตายทุกขณะเพราะว่าจิตที่เป็นกุศลดับ จิตที่เป็นวิบากเกิด จิตที่เป็นอกุศลเกิด พวกนี้เขาจะทีละขณะ สืบต่อกันไป ทั้งหมดคือ ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรม คือ จิต เจตสิก รูป
ถ้าเราศึกษาพระไตรปิฎก หรือจะเข้าถึงพระธรรมคำสอน ให้เข้าใจความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เราต้องศึกษาพระอภิธรรม ขณะนี้เป็นพระอภิธรรมหมด ถ้าเป็นธรรม คือเป็นปรมัตถธรรม เป็นพระอภิธรรม ถ้ามีใครบอกว่า รู้ธรรม แต่ไม่รู้จักปรมัตถธรรมก็ไม่ได้ เพราะว่าธรรมเป็นปรมัตถธรรม คือ ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพนั้นๆ ได้เลย นี่คือปรมัตถ์ยิ่งใหญ่ เป็นอภิธรรม เพราะฉะนั้น คนที่รู้จักธรรมก็รู้จักปรมัตถ์ รู้จักอภิธรรม จะบอกว่ารู้จักธรรม แต่ไม่รู้จักปรมัตถ์ ไม่ได้ เรียกว่ายังไม่รู้จักธรรม ได้ยินแต่ชื่อธรรม ต้องศึกษาอันนี้ ถึงจะเห็นพระปัญญาคุณ ใน ๓ ปิฎก เป็นเรื่องของสภาพธรรม ที่ทรงเกื้อกูลพุทธบริษัท อย่างพระวินัยปิฎก ถ้าจะลองอ่านแต่ละเล่ม ละเอียดมาก เกี่ยวกับกายวาจาที่เหมาะที่ควร เพราะว่าเรามีจิตจริง เป็นนามธรรม ถ้าไม่มีร่างกาย มันไม่มีทางแสดงออกว่าจิตนั้นเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล แต่พอเกิดโทสะแล้ว ตีเขา กายเป็นทางออกของโทสะที่จะประทุษร้ายคนนั้น อาจจะเบียดเบียนถึงตายก็ได้
เราจะรู้ว่าจิตเป็นกุศล หรืออกุศล จากกาย และวาจา เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่ศึกษาพระวินัย เราไม่เห็นว่า กายที่งามที่ดี วาจาที่งามที่ดี เป็นอย่างไร แค่ไหน แต่พอศึกษาแล้วเรารู้เลยว่า ตัวของเราเองมีอกุศลจิตทางไหน ทางกายแค่ไหน ทางวาจาแค่ไหน พอรู้เราก็ค่อยๆ สะสมกุศล แล้วก็ลดอกุศลได้ อย่างเมื่อวานนี้ คุยกับคนหนึ่ง เขาบอกว่า ตอนที่เขาไปฟังธรรมใหม่ๆ เขาไม่กล้าไหว้ใคร คือมีความรู้สึกเหมือนกับอะไร อาจจะเป็นความสำคัญตนก็ได้ ความสำคัญตนมีหลายระดับ สำคัญว่าเราสูงกว่าก็ได้ สำคัญว่าเราต่ำกว่าก็ได้ สำคัญว่าเสมอกันก็ได้ คือ อกุศลเขาละเอียดจนกระทั่ง ไม่มีทางให้เราเล็ดลอดไปเลย ถ้าไม่มีการศึกษาธรรม เพราะว่าทรงประจักษ์ ทุกอย่างที่ละเอียด จนกระทั่งสามารถจะดับแม้อกุศลอย่างละเอียดได้ นั่นก็เป็นความจริง แล้วภายหลังเขาก็มาคิดได้ ทำไม เราถึงจะไม่กล้าที่จะไหว้ใคร ก็แสดงความเป็นไมตรี ทักทาย ด้วยกุศลจิตเกิด แล้วเขาก็ทำไมเราไม่กล้าไปนั่งข้างหน้า ทำไมเราจะไม่กล้าถาม เขาก็ค่อยๆ พิจารณาจนกระทั่งเขาสามารถที่จะรู้ว่า ขณะไหนเป็นอกุศล แล้วขณะไหนเป็นกุศลได้ ก็เกิดจากการศึกษา พระวินัยด้วย พระสูตร พระอภิธรรม
อย่างพระวินัยละเอียดมาก มีทั้งกุศลศีล อกุศลศีล อัพพยากตศีล เพราะศีลเป็นเรื่องของกายวาจา ถ้าขณะใดจิตเป็นอกุศล กายไหวไปด้วยอกุศลจิต จึงเป็นอกุศลศีลทางกาย วาจาที่เกิดจากอกุศลจิต ก็เป็นอกุศลศีลทางวาจา แล้วถ้าเราไม่รู้อย่างนี้ เราก็คิดว่าไม่เป็นไร วันหนึ่งๆ โอ้โฮ ดอกไม้นี้สวยจัง จิตเป็นอะไร อกุศล ถึงกับเปล่งวาจาด้วยอกุศลจิต เป็นอกุศลศีล แต่ไม่ใช่กรรม พูดอย่างนี้ไม่ใช่อกุศลกรรม ไม่ได้เบียดเบียนใคร อกุศลกรรมต้องเป็นทางที่จะให้เกิดผล ได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐ ทางกาย ๓ ทางวาจา ๔ ทางใจ ๓
ผู้ฟัง ทำไมเป็นอกุศล
ท่านอาจารย์ อกุศลจิต ติดข้อง บางมาก อกุศลมีตั้งแต่ระดับที่เห็นหยาบๆ ไปจนกระทั่งถึงกลางๆ แต่ด้วยความติดข้อง อย่างอกุศลอย่างหยาบ เราเห็น ล่วงออกไปเป็นทุจริตทางกาย ทางวาจา ประทุษร้าย เบียดเบียน นี่อย่างหยาบ แต่อกุศลอย่างกลางเกิด แต่ไม่ได้ประทุษร้าย เบียดเบียนใคร อย่างกลางเกิดให้เรารู้แล้ว เราจะขุ่นใจ เราจะหมกมุ่นในเรื่องหนึ่ง เรื่องใด เราจะคิดด้วยความติดข้อง ชอบสิ่งนี้ อยากได้สิ่งนั้น จะซื้อสิ่งโน้น พวกนี้ ก็เป็นความกลุ้มรุมของอกุศล แต่ตอนหลับสนิท อกุศลอย่างละเอียดยังมีเชื้ออยู่ ยังไม่ได้ดับไป เป็นอนุสัยอยู่ในจิต พร้อมที่ทันทีตื่นก็เกิดเลย เป็นอกุศลเลยทันที แต่ตอนหลับเหมือนกันหมดเลย พระอรหันต์ หรือโจร ไม่มีใครรู้ ไม่มีอาการใดๆ ที่จะแสดงออก แต่พอตื่น อกุศลซึ่งหลับก็ตื่นด้วย ทางตาเห็นก็ชอบ ไม่ชอบ ทางหูได้ยินก็ชอบไม่ชอบ ก็เป็นเรื่องอกุศลไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีปัญญา
ผู้ฟัง ความเฉยอย่างหนึ่ง
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ ความเฉยเป็นอกุศลอย่างหนึ่ง อกุศลมี ๓ ประเภท โลภะ ติดข้อง ต้องการ สนุกสนาน เพลิดเพลิน ทุกอย่างเป็นโลภะที่ติด แม้แต่เพียงความหวัง ภาษาบาลี หวังนี่ อาสา เป็นภาษาบาลี ภาษาไทยคือหวัง เย็นนี้จะรับประทานอาหารอะไร เป็นอะไร กุศลหรืออกุศล ถ้าขณะใดที่ไม่เป็นไปในทาน ไม่เป็นไปในศีล ไม่เป็นไปในความสงบของจิต ไม่เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาจากการฟัง จนกระทั่งการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมจนประจักษ์แจ้ง ขณะนั้นๆ ที่ไม่ใช่บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ต้องเป็นอกุศล
ผู้ฟัง จนหากุศลไม่เจอแล้ว ลองยกกุศลให้ดู
ท่านอาจารย์ ขณะนี้ไง ขณะนี้มีกุศลสลับกับอกุศล แล้วสลับกับวิบาก วิบากคือเห็นได้ยิน แล้วก็เกิดกุศล ขณะที่มีความเข้าใจ มีการตั้งใจฟัง เพื่อที่จะเข้าใจ ขณะที่เป็นอกุศล คือ เผลอไปแล้ว ไม่ได้ฟังแล้วตอนนี้ ก็เป็นเรื่องที่เป็นความจริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งเราไม่เคยรู้ แล้วเราค่อยๆ รู้ขึ้น ต้องฟังให้เข้าใจ การเข้าใจต้องเกิดจากการฟัง หรืออ่านก็ได้ เรื่องราวของพระธรรมทั้งหมดแล้วไตร่ตรอง จนกระทั่งเป็นความเข้าใจ ทีนี้ยังมีความเป็นตัวเราอยู่ เพราะฉะนั้น เพราะถ้ามีความเข้าใจในสภาพธรรม มันจะค่อยๆ คลายความเป็นตัวเรา แล้วความกระจ่างของสภาพธรรมจะค่อยๆ มีเพิ่มขึ้นมากเลย จากการศึกษารู้ว่า ไม่ใช่เรา นี่ถ้ายังมีเราอยู่ ตรงกันข้ามกับความจริง จะไปทำอะไรสักเท่าไร มันก็เป็นไปไม่ได้ ไม่ได้อย่างใจ แต่พอเข้าใจธรรม ทุกอย่างจะเบาลง จะเย็นลง จะรู้ว่า แล้วแต่ปัจจัยจริงๆ ไม่ว่าอะไรจะเกิด จะดีแสนดี มันก็ชั่วขณะ แล้วมันก็หมด เท่านั้นเอง มันก็ไม่มีการยึดติดมั่นอย่างเหนียวแน่นเหมือนเก่า ไม่ว่าจะสุข จะทุกข์ใดๆ ก็เพราะสิ่งที่มีปัจจัยเกิด แล้วธรรมเขาจะกระจ่างไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเขาเปิดเผยลักษณะที่เป็นอนัตตาในแต่ละสภาพธรรมได้ว่า เป็นอย่างนั้นจริงๆ ตรงตามที่ทรงแสดงทุกอย่าง
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 361
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 362
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 363
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 364
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 365
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 366
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 367
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 368
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 369
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 370
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 371
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 372
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 373
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 374
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 375
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 376
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 377
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 378
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 379
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 380
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 381
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 382
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 383
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 384
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 385
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 386
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 387
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 388
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 389
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 390
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 391
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 392
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 393
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 394
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 395
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 396
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 397
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 398
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 399
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 400
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 401
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 402
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 403
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 404
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 405
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 406
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 407
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 408
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 409
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 410
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 411
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 412
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 413
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 414
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 415
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 416
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 417
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 418
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 419
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 420