ปกิณณกธรรม ตอนที่ 385
ตอนที่ ๓๘๕
สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่
พ.ศ. ๒๕๔๓
ท่านอาจารย์ เวลาที่ไม่เกิดขึ้น เราอยู่ที่ไหน ถ้าเราคิดว่า ทุกข์เป็นเรา ถ้าสุขเป็นเราเวลาที่สุขยังไม่เกิดขึ้น เราอยู่ที่ไหน ก็ยังไม่มีทั้งนั้น แต่พอเกิดขึ้นเมื่อไร เพราะความไม่รู้ก็ยึดถือว่าเป็นเราเมื่อนั้น
เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีความค่อยๆ เข้าใจถูกว่า ลักษณะนั้นก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งต่างจากสภาพธรรมอื่น ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นธรรมซึ่งมีลักษณะเฉพาะอย่างๆ ซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ใครก็บังคับให้เกิด หรือไม่ให้เกิดไม่ได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยก็เกิด เกิดแล้วก็ต้องเป็นอย่างที่มีปัจจัยปรุงแต่ง จะให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้
ผู้ฟัง ในขณะที่สติปัฏฐานยังไม่เกิด เมื่อเวทนาเขาเกิดขึ้นมาก็คิด ก็เป็นเราคิด
ท่านอาจารย์ ตลอดเวลาที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด
ผู้ฟัง ก็เป็นเราคิดอยู่ตลอดเวลา เมื่อฟังไปให้เกิดความเข้าใจขึ้นว่า มันเป็นเพียงสภาพธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้น
ท่านอาจารย์ กว่าจะเป็นเพียงสภาพธรรมเท่านั้น ก็รู้เลยว่า นานแค่ไหน ไม่ใช่ฟังปุ๊บ ไม่ใช่เราแล้ว เป็นแต่เพียงสภาพธรรมเท่านั้น เป็นไปไม่ได้ ต้องค่อยๆ อบรมจนกว่าจะรู้จริงๆ
ผู้ฟัง เวทนาจะเป็น ที่เราพูดว่าเป็นอารมณ์ได้ไหม เราชอบ ไม่ชอบ
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่า ภาษาไทยกับภาษาบาลีใช้คำเดียวกันแต่ความหมายต่างกัน อย่างคนไทยใช้คำว่า อารมณ์ อารมณ์ดี อารมณ์ไม่ดี เสียอารมณ์ จะใช้อะไรก็ใช้ตามความหมายของเรา แต่ว่านั่นภาษาไทย แต่พอเป็นภาษาบาลีที่ทรงใช้ในการทรงแสดงธรรม เป็นภาษามคธ คือ อารัมมณะ ต้องออกเสียงตัวสุดท้ายว่า สระข้างหลัง หมายความถึงสิ่งที่จิตกำลังรู้ เพราะเหตุว่าจิตเป็นสภาพรู้
ตามที่เราได้ทราบแล้วว่า ธรรมมีลักษณะที่ต่างกัน ๒ อย่าง สภาพหนึ่งก็มี ไม่ใช่ไม่มี แต่สภาพนั้นไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น จะให้กลับมาเป็นสภาพรู้ไม่ได้เลย ธรรมเป็นอย่างไรก็ต้องเป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้น สภาพธรรมใดไม่รู้อะไร สภาพธรรมนั้นเป็นรูปธรรม ทั้งหมดเลย ไม่ว่าเราจะมองเห็นหรือมองไม่เห็น แต่ถ้าสภาพนั้นไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย สภาพธรรม นั้นก็เป็นธรรม แต่เป็นรูปธรรม แต่ว่าในโลกนี้ไม่ได้มีแต่เฉพาะรูปธรรมอย่างเดียว ยังมีธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งน่าอัศจรรย์มาก เพราะเหตุว่าเป็นสภาพที่สามารถรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ได้ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ เช่น เสียง ถ้าไม่มีธาตุรู้หรือสภาพรู้ เสียงไม่ปรากฏ จะปรากฏไม่ได้เลย แต่ที่เสียงปรากฏ ก็เพราะว่ามีธาตุหรือสภาพธรรมชนิดหนึ่งที่กำลังได้ยินเสียง รู้เฉพาะเสียงที่กำลังปรากฏ
เพราะฉะนั้น ขณะนั้นเมื่อมีธาตุรู้หรือสภาพรู้ ก็ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้คู่กัน สภาพรู้หรือธาตุรู้ก็คือจิต เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการที่สามารถที่จะรู้ คือ เห็นสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา
เราไม่เคยรู้เลยว่าเรามีจิต แล้วเราก็ไม่เคยเข้าใจด้วยว่า จิตอยู่ที่ไหน จิตมีลักษณะอย่างไร ทั้งๆ ที่มี แต่พอได้ฟังพระธรรมแล้วเราจะรู้เลย จิตเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ไม่มีรูปร่างสัณฐานใดๆ เลยทั้งสิ้น ตัวจิตเองมืดสนิท ไม่มีสีสันวรรณะเลย แต่สามารถที่จะรู้ได้ทุกอย่าง เช่น ขณะนี้คนที่มีตา คือ จักขุปสาท ต้องมีรูปมากระทบตา เป็นปัจจัยให้จิตเกิดขึ้นรู้ว่า อะไรกำลังปรากฏตรงนี้ ตรงตามีอะไรกำลังปรากฏ ไม่ใช่ปรากฏตรงหู ไม่ได้ปรากฏข้างหลัง แต่ปรากฏตรงที่มีจักขุปสาท แล้วสิ่งที่ปรากฏก็เป็นสิ่งที่ธาตุรู้กำลังรู้สิ่งนั้น คือ เดี๋ยวนี้เอง คือ ให้เข้าใจสิ่งที่มีให้ถูกต้อง เราจะใช้ภาษาบาลีว่าอะไรก็ตามแต่ เมื่อกี้นี้เราได้ยินคำว่า โยนิโสมนสิการ ถ้าเราไปเพียงจำคำแปล เราจะเข้าใจไหมว่า ขณะนี้ ขณะที่กำลังเข้าใจ ไม่ใช่เรา แต่เป็นโยนิโสมนสิการะ โดยรูปศัพท์ มนสิการคือการพิจารณา โยนิโส แปลรวมก็โดยแยบคาย โดยความถูกต้อง ขณะที่กำลังฟังพิจารณา เป็นความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้อง ขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา เพื่อที่จะให้เห็นตรงตามที่ทรงแสดงไว้ว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่ของใคร เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ทุกอย่างที่เกิด มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ เป็นอนัตตา แม้นิพพานซึ่งไม่เกิดก็เป็นอนัตตาด้วย คือ ไม่ใช่ใครสักคนหนึ่ง แล้วก็ไม่ใช่ของใครด้วย
เราก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า จิตเป็นธาตุที่มี บังคับไม่ให้มีได้ไหม แข็งมี จะบังคับไม่ให้มีได้ไหม ฉันใด นามธรรมคือจิต ก็เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งมี บังคับไม่ให้มีไม่ได้ มีๆ เหตุปัจจัยก็เกิดขึ้น เป็นธาตุรู้ เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีสิ่งที่จิตนั้นกำลังรู้ สิ่งที่จิตกำลังรู้ ภาษาบาลีใช้คำว่า อารัมมณะ ทีนี้ภาษาไทยเรา ถ้าขณะใดที่เกิด มีจิตเกิด เป็นธาตุรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ ขณะใดก็ตามที่จิตเกิด จิตเป็นสภาพรู้ เป็นธาตุรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกจิตรู้ ไหม หรือไม่มีก็ได้ ไม่มีได้ไหม ไม่ได้
นี่คือความเข้าใจของเราเอง นี่คือโยนิโสมนสิการ ความเข้าใจถูกต้อง ตามความเป็นจริงของสิ่งที่มี ถ้ามีคนบอกว่าจิตของเขาไม่มีอารมณ์ เรารู้เลย เขาไม่รู้จักจิตว่า จิตคืออะไร แต่ถ้ารู้ว่าจิตเป็นสภาพรู้ หรือธาตุรู้ จะไม่มีสิ่งที่ถูกจิตรู้ ได้อย่างไร ใช่ไหม
ทุกอย่างที่เป็นความจริง ต้องมั่นคง ได้ฟังแล้วก็รู้ว่า ธรรมชนิดนั้น มีลักษณะอย่างนั้น เป็นอย่างนั้น เปลี่ยนแปลงไม่ได้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงแสดงว่า จิตเป็นสภาพรู้ แต่ไม่มีอารมณ์ ได้ไหม
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จะทรงแสดงว่า จิตเป็นสภาพรู้ แต่ไม่มีสิ่งที่ถูกรู้ ได้ไหม ไม่ได้
นี่คือความที่เป็นคนที่มั่นคง แล้วสิ่งที่ถูกต้องถูก เพราะฉะนั้น ไม่มีทางที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงแสดงผิด ทั้งหมดตรงตามความเป็นจริง
ถ้าเราเข้าใจคำว่า อารมณ์เป็นพื้นฐาน ได้ยินคำว่าอารมณ์เมื่อไร เราก็รู้เลยว่าหมายความถึงสิ่งที่จิตกำลังรู้ เสียง เวลาที่จิตได้ยินเสียง เสียงเป็นอะไร เสียงเป็นอามรมณ์ของจิตที่ได้ยิน ไม่ใช่เป็นอารมณ์ของเห็น แต่ต้องเป็นอารมณ์ของจิตที่ได้ยิน กำลังรู้สึกร้อนไหม รู้สึกว่าร้อนปรากฏ ร้อนเป็นอะไร เป็นอารมณ์ของจิตที่กำลังรู้ร้อน
เพราะฉะนั้น เราอยู่ที่ไหน ตั้งแต่ตื่นมา เห็น คือจิตที่สามารถเห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ได้ยินเสียงคือจิตที่กำลังได้ยินเฉพาะเสียงที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่เสียงอื่น พอกลิ่นปรากฏ ถ้าไม่มีจิต กลิ่นปรากฏไม่ได้เลย
จิตเป็นสภาพที่รู้กลิ่น กำลังลิ้มรสเมื่อเช้านี้ ก็คงหลายรส รับประทานมากมายเลย รู้ตามความเป็นจริง หรือว่าไม่รู้ตามความเป็นจริง เราก็สามารถที่จะเข้าใจตัวเราได้ เรามีความรู้แค่นี้ แล้วคนอื่นจะมาบอกว่า เราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หรือมากกว่านี้ ได้ไหม เขาพูดได้ แต่ความจริงก็คือความจริง เราก็รู้ว่าความจริงไม่ใช่อย่างที่เขาพูด ใครจะพูดว่าอย่างไรก้ได้ แต่ความจริงก็คือความจริง
เพราะฉะนั้น แต่ละคนก็เป็นผู้ตรง เริ่มหนทางด้วยความตรงที่จะรู้จักคือปัญญาของเราเองเกิดขึ้น ไม่ใช่อาศัยปัญญาของคนอื่น เราจะไปเอาปัญญาของคนอื่นมาเป็นของเราไม่ได้ ไม่มีทางเป็นไปได้เลย จะไปมอบให้ใครก็ไม่ได้ แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงแสดงพระธรรมที่ทรงตรัสรู้ให้คนอื่นได้ฟัง เพื่อที่จะได้พิจารณา เพื่อที่ได้ให้สัตว์โลกเกิดปัญญาของตัวเอง จนกระทั่งวันหนึ่งก็สามารถที่จะรู้ความจริงอย่างที่พระองค์ทรงตรัสรู้ นี่คือพระมหากรุณา จึงได้ทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา ตลอด วันหนึ่งๆ ก็มากหลายครั้ง
นี่คือประโยชน์ที่เราจะได้รับ ต้องเป็นปัญญาของเราเอง เพราะฉะนั้น เราจะไม่เชื่อเพราะคนนั้นบอก หรือว่าไม่เชื่อเพราะเราคิดเอง แต่สิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง มีสภาพธรรมปรากฏให้พิสูจน์ว่า เป็นจริงอย่างที่ได้ยินได้ฟังหรือเปล่า
เพราะฉะนั้น อารมณ์ ไม่สงสัยแล้ว ใช่ไหม เป็นสิ่งที่จิตรู้ ไม่ว่าอะไรทั้งหมดที่จิตกำลัง สิ่งที่จิตกำลังรู้เท่านั้นที่เป็นอารมณ์ เรื่องราวที่กำลังคิดนึกเป็นอะไร เป็นอารมณ์ เพราะจิตกำลังคิดแต่ละคำ แต่ละคำ กำลังรู้ความหมาย กำลังจำคำแต่ละคำนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้ไมมีทางที่จะผิดได้เลย ในพระไตรปิฎกทั้งหมด อารัมมณะ หรืออีกคำหนึ่งที่ใช้ อาลัมพนะ ความหมายเหมือนกัน คือสิ่งที่จิตรู้
ผู้ฟัง ตรงที่ว่ารู้ จิตรู้ จะมีความรู้สึกว่าชอบไม่ชอบปนอยู่ด้วยหรือเปล่า
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ธรรมที่เป็นสิ่งซึ่งมีจริงๆ ที่ใช้คำว่าปรมัตถธรรม หมายความว่า ธรรมที่ไม่มีใครสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้เลย มี ๔ อย่าง คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน เมื่อกี้นี้รู้ความหมายของจิตกับรูปแล้ว ใช่ไหม
เจตสิกเป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ สามารถที่จะรู้ด้วย แต่ต้องเกิดกับจิต เจตสิกจะไม่เกิดกับรูปเลย ความต่างของจิตกับเจตสิกก็คือ จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ คือในการรู้แจ้งอารมณ์นั่นเอง ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังปรากฏ สามารถที่จะรู้แจ้งในสีนี้ ในสีนั้น ในความต่างกัน แม้แต่ใบไม้ใบเดียว มีสีอ่อน สีแก่ จิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ แต่ในขณะใดที่จิตเกิดขึ้น จะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย เป็นนามธรรม ๕๒ ประเภท แต่ว่าไม่ได้เกิดพร้อมกันทั้ง ๕๒ ประเภท
อย่างความโกรธ ไม่ใช่จิต แต่เกิดกับจิต ขณะนั้นเป็นจิตที่มีความโกรธเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น ความโกรธเกิดบ้าง ไม่เกิดบ้าง บางขณะก็เกิด บางขณะก็ไม่เกิด แล้วแต่ว่าจะเกิดกับจิตไหน จิตประเภทนั้นก็มีเจตสิกนั้นๆ เกิดร่วมด้วย จึงจำแนกจิตเป็น ๘๙ ประเภท เรามีไม่ครบ สิ่งที่ไม่ดี เรามีครบ แต่สิ่งที่ดี เรามีไม่ครบ โลกุตตรจิตรู้แจ้งนิพพาน หรือว่าฌานจิต ความสงบขั้นที่สามารถจะถึงระดับอัปปนาสมาธิเหล่านี้
เพราะฉะนั้น จิตทั้งหมดที่ทรงแสดง ไม่ใช่เฉพาะโลกนี้ ในจักรวาลทั้งหมดทุกโลก ถ้าเรามองดูบนฟ้า มีดาวมากมาย กว้างไกล ไม่ว่าจะเป็นจักรวาลไหนก็ตาม ไม่มีเลย ที่จะไม่เป็นอย่างที่ได้ทรงตรัสรู้ คือ รูปก็เป็นรูป ส่วนสภาพรู้ไม่ใช่รูป คือ จิต และเจตสิก ที่มีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้น สำหรับนิพพานมีจริงๆ ไม่ใช่รูป และไม่ใช่จิต เจตสิก เมื่อไม่ใช่รูป ก็เป็นสภาพของนามธรรม เพราะว่าไม่มีลักษณะของรูปเจือปนเลย
เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่มีจริง ๔ อย่าง คือจิต เจตสิก รูป นิพพาน แล้วแต่ละอย่างก็แตกต่างกันมาก อย่างวันนี้ก็ต่างไปแล้ว รสที่ทุกคนรับประทาน เหมือนกันหรือเปล่า บางคนเติมอันนี้เข้าไป คนนี้เติมน้ำปลา คนนั้นเติมเกลือ รสก็เปลี่ยนไปแล้ว ทุกอย่างที่เกิดวิจิตรต่างๆ กันมาก เกิดแล้วก็ดับแล้ว ไม่เหลือเลย
ข้อสำคัญที่สุดที่เราไม่รู้ คือไม่มีอะไรเหลือเลย เกิดแล้วดับไปอย่างเร็วมาก แต่ความทรงจำมี เป็นจิต หรือเป็นเจตสิก เป็นเจตสิก จิตเขาเป็นใหญ่เป็นประธาน ในการเห็นแจ้งลักษณะของอารมณ์เท่านั้นเอง อย่างเดียว เป็นหน้าที่ของจิต เป็นประธานในการรู้แจ้งเจตสิกอื่นๆ ก็ปรุงแต่ง ให้จิตเป็นสภาพต่างๆ กันไป
เพราะฉะนั้น ก็ครบ ใช่ไหม มีจิต ไม่มีเจตสิกได้ไหม ไม่ได้ มีเจตสิกไม่มีจิตได้ไหม ไม่ได้ ใครเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ จิต แต่ว่าสภาพของความเป็นใหญ่ก็จะมี ไม่ใช่เฉพาะจิตอย่างเดียว สภาพอื่นก็เป็นใหญ่โดยฐานะของสภาพนั้นๆ ตามสภาพนั้นๆ แต่ว่าเรายังไม่กล่าวถึง แต่ถ้าจะพูดถึงความรู้สึก ทำไมบางวันเป็นทุกข์ เวลาทุกข์เกิดขึ้นต่างกับสุขโดยสิ้นเชิง แล้วจิตใจเป็นอย่างไร เจตสิกทั้งหลายที่เกิดร่วมด้วย เจตสิกนี้เบิกบาน เจตสิกนั้นเป็นทุกข์ได้ไหม ไม่ได้เลย เพราะทุกขเวทนาเป็นอินทรีย์ เป็นใหญ่ในความรู้สึกที่ครอบงำสภาพธรรมที่เกิดร่วมด้วยให้เป็นอย่างนั้น ถ้าสุขเวทนาเกิดขึ้นก็เปลี่ยนสภาพเลย เขาเป็นใหญ่ในความเบิกบาน ในความสุข ในความแช่มชื่น ถ้าศึกษาธรรม จะศึกษาเข้าใจทุกอย่าง ที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน ละเอียดถูกต้องเมื่อไร โยนิโสมนสิการ ไม่ต้องมานั่งแปล ไม่ต้องมานั่งจำ ได้ยินคำนี้เมื่อไร เข้าใจ ใครจะแปลว่าอย่างไรก็ตามแต่ แต่เราสามารถที่จะรู้ได้ว่า ขณะไหนเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง ขณะนั้นก็ต้องมีเจตสิก คือ มนสิการเจตสิกเป็นสภาพที่ใส่ใจในอารมณ์ เพราะฉะนั้น มี ๒ อย่าง ใส่ใจโดยความเป็นอกุศล ไม่ถูกต้อง หรือว่าใส่ใจโดยความถูกต้อง แต่จะไม่รู้ความเป็นอนัตตา
ผู้ฟัง ท่านอาจารย์พูดถึง สุขกับทุกข์ที่เกิดขึ้นทางจิต ผมอยากเรียนถามว่า
ท่านอาจารย์ เจตสิกที่เกิดกับจิต
ผู้ฟัง ใช่ ลักษณะอย่างนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร อีกอันหนึ่งคือ เคยได้ยินท่านอาจารย์พูดถึงเรื่องชาติของจิตซึ่งมีอยู่ ๔ ชาติ อย่างจะขออธิบายว่า ชาติทั้ง ๔ เกี่ยวกับสุขกับทุกข์ที่เกิดขึ้นไหม
ท่านอาจารย์ อันนี้แสดงให้เห็นว่า การศึกษาของเรา ถ้าไม่ตามลำดับ แค่นี้เราสงสัยแล้ว พอได้ยินอะไรก็สงสัยหมด แต่ถ้าเราศึกษาเข้าใจตามลำดับ ความสงสัยของเราจะลดน้อยลงไป เวลาที่เราได้ยินชื่อที่เราไม่คุ้นหู ต่อไปนี้ชื่อใดๆ ก็ตามต้องเป็นปรมัตถ์หนึ่งปรมัตถ์ใด ถ้ามีลักษณะจริงๆ ปรากฏ เช่น ความรู้สึก มีจริงๆ เมื่อไร หาได้เลย จิต หรือเจตสิก หรือรูป หรือนิพพาน อันนี้ก่อน ต้องค่อยๆ เป็นไปตามลำดับ ไม่อย่างนั้นเราก็ไม่สามารถที่จะไปถึงจุดนั้นได้ ที่สงสัย สงสัยตรงไหน
ผู้ฟัง สงสัยเรื่องชาติของจิตมีอยู่ ๔ ชาติ คือ กุศลกับอกุศล ซึ่งเป็นเหตุ วิบากก็ได้แก่กุศลวิบากกับ อกุศลวิบากเป็นผล แล้วก็กิริยา ก็มีกุศลกับอกุศล แล้วก็วิบาก แล้วก็กิริยา ซึ่งผมเข้าใจว่า บางครั้งความสุขเกิดขึ้นในจิตใจ เราสามารถรับรู้ได้ หรือแม้กระทั่งความทุกข์ แต่ทีนี้ ผมมานั่งคิดว่า เหตุแห่งทุกข์มาจากอะไร ก็เลยนึกถึงเรื่องชาติที่อาจารย์เคยพูดว่า ทุกคนจะมีเหตุ และปัจจัย ถ้าไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย จะไม่มีทางเกิดขึ้น ผมก็เลยคิดว่า มาจากกุศล อกุศล เพราะอาจารย์พูดว่า กุศล อกุศลที่เราเคยสร้างมาหลายแสนโกฏิกัปป์ในอดีตชาติมากมายจะส่งผลถึงปัจจุบัน แม้กระทั่งตาไปเห็นรูป รูปที่สวยงาม ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นกุศลที่ให้ผล แต่ถ้าตาไปเกิดเห็นรูปที่ไม่ถูกใจ ไม่สวยงาม เช่นไปเห็นคราบเลือดเปรอะเปื้อน อันนี้น่าจะมีผลมาจากอกุศลที่ให้ผล ซึ่งมันก็จะตรงมาถึงสุข ทุกข์ในอารมณ์ของจิตที่เรารับรู้ ก็เลยอยากจะหาที่มาตรงนี้
ท่านอาจารย์ ก็ดี แต่ว่าเมื่อกี้นี้ เราเพิ่งพูดถึงเวทนา ๒ อย่าง คือ สุขกับทุกข์ ความจริงก็มีอีกเวทนา ๑ ซึ่ง ไม่ใช่ทั้งสุข และไม่ใช่ทุกข์ด้วย คือ อทุกขมสุข ที่เราจะได้ยินบ่อยๆ คือ อุเปกขาเวทนา ภาษาไทยเราจะใช้ บ. ใบไม้แทน ป.ปลา เราก็พูดว่า อุเบกขา แต่ถ้าเป็นบาลีก็เป็น อุเปก ป.ปลา อุเปกขา ไม่สุขไม่ทุกข์ วันหนึ่งๆ มีไหม มีมาก หรือมีบ่อยกว่าความรู้สึกอื่นไหม มีมากกว่า นานๆ ก็จะสุขหน่อยหนึ่ง นานๆ ก็จะทุกข์หน่อยหนึ่ง แต่อุเบกขาก็เป็นพื้นอยู่เป็นประจำ เป็นอินทรีย์หรือเปล่า เป็น
เวทนาทั้ง ๕ เป็นอินทรีย์หมด เพราะว่าครอบงำสภาวธรรมที่เกิดร่วมด้วย ให้เป็นไปตามเวทนานั้นๆ เฉยๆ จะให้เป็นสุขก็ไม่ได้ เจตสิกอื่นทั้งหมดก็เป็นไปตามเวทนานั้นๆ
เวทนาก็มีสุขทุกข์ ทางกาย ถ้าแยกทางกายกับใจ แล้วก็สุขทางใจใช้คำว่าโสมนัส ถ้าทุกข์ทางใจก็ใช้คำว่าโทมนัส ส่วนอุเบกขาก็ไม่สุขไม่ทุกข์อยู่แล้ว เพราะว่าบางครั้งไม่มีอะไรที่เราปวดเจ็บตรงไหนสักนิดหนึ่งก็ไม่มี ใช่ไหม แต่ใจเป็นทุกข์ ขณะนั้นใช้เรียกรวมว่าทุกข์ ถ้าแยกโดย ๓ เป็น สุข ทุกข์ อุเบกขา ถ้าแยกโดย ๕ เป็น สุข ทุกข์ อุเบกขา โสมนัส โทมนัส เพราะฉะนั้น ที่แยกเพราะเหตุว่า แม้กายไม่เป็นทุกข์เลย ใจเป็นทุกข์ได้ บางคนก็อย่างพระอรหันต์ ท่านก็ป่วยไข้ได้เจ็บ แต่ท่านไม่มีโทมนัสเวทนา ไม่มีความเสียใจ ไม่มีความไม่สบายใจเลย เพราะว่าขณะใดที่มีความโทมนัส ความเสียใจ ไม่สบายใจ เป็นอกุศล
นี่เรากำลังจะไปถึงชาติ แต่ว่าจะให้ถึงโดยลักษณะของเวทนา เพราะว่าเกี่ยวเนื่องกัน เวทนาเป็นสิ่งที่มีจริงๆ เพราะฉะนั้น สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมที่เกิดขึ้นคือ จิต และเจตสิก จะแบ่งออกเป็น ๔ ชาติ ต้องเป็นชาติหนึ่งชาติใด จิตเกิดขึ้นเป็นกุศล อย่างหนึ่ง จิตเกิดขึ้นเป็น อกุศลอย่างหนึ่ง ทั้ง ๒ อย่างเป็นเหตุ ไม่ใช่ผล แต่เมื่อกุศล และอกุศลดับไป สะสมทำให้เกิดการกระทำเป็นกรรมที่เป็นกุศลกรรม อกุศลกรรม ดับ ไปแล้วก็จริง แต่สะสมสืบต่อในจิตซึ่งเกิดสืบต่อ จนกระทั่งถึงกาลที่พร้อมที่จะให้ผลเมื่อไร กรรมนั้นแหละก็ทำให้จิตประเภทที่เป็นวิบากเกิดขึ้น เป็นผลของกรรม
สำหรับกิริยาจิต เป็นจิตซึ่งไม่ใช่เหตุที่จะให้เกิดวิบาก และก็ไม่ใช่วิบากซึ่งเกิดเพราะเหตุด้วย แต่เกิดขึ้นโดยปัจจัยที่จะทำให้ทำกิจหน้าที่นั้นๆ สำเร็จ เป็นสภาพของจิตที่เกิดขึ้นเป็นกิริยา
ถ้าจิตเป็นกุศล เจตสิกทั้งหมดที่เกิดร่วมด้วยเป็นกุศล ไม่ใช่ว่าจิตเป็นกุศล แล้วเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย เจตสิกนี้เป็นกุศล เจตสิกนั้นเป็นอกุศล ไม่ได้เลย ถ้าจิตเป็นกุศลเกิดขึ้น เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยทั้งหมดเป็นกุศล ถ้าจิตเป็นอกุศล เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยทั้งหมด ไม่เว้นเลยเป็นอะไร เป็นอกุศล ถ้าจิตที่เป็นวิบากเกิดขึ้น เจตสิกทุกเจตสิกที่เกิดกับวิบากจิตนั้น เป็นอะไร เป็นวิบาก ถ้าจิตเกิดขึ้นเป็นกิริยา เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยทั้งหมดเป็นกิริยา เพราะว่าจิตกับเจตสิก เป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ไม่ใช่รูป ลองคิดถึงความเป็นนามธรรมซึ่งเกิดด้วยกัน จะกล่าวว่าเจตสิกเกิดในจิตก็ได้ แต่ความจริงไม่มีที่เหมือนอย่างเป็นรูปเลย แต่หมายความว่าเกิดด้วยกัน เกิดพร้อมกัน แล้วก็ดับพร้อมกัน แล้วก็รู้อารมณ์เดียวกัน แยกกันไม่ได้เลย จิตกับเจตสิก ถ้าโดยปัจจัย ถ้าเราไปฟังสวดพระอภิธรรม จะได้ยินคำว่า สัมปยุตตปัจจัย ถ้าได้ยินคำว่า สัมปยุตตปัจจัยเมื่อไร ให้เข้าใจว่าหมายความถึงจิต และเจตสิกเท่านั้นที่เกิดร่วมกัน แล้วก็ดับพร้อมกัน
นี่เราก็ค่อยๆ เข้าใจธรรม แม้แต่พระอภิธรรมที่สวด จากไม่เคยรู้เลยว่าหมายความถึงอะไร ก็ค่อยๆ เข้าใจขึ้นว่า คือสวดให้เราเข้าใจธรรมที่มี ที่ได้ทรงแสดงไว้ โดยการตรัสรู้ สืบทอดมาเพื่อเตือนให้เราได้เข้าใจ อย่าเพียงแค่ฟัง เพราะว่าถ้าเรายังไม่เข้าใจตราบใด เราก็แค่ฟังพระอภิธรรม แต่ไม่เข้าใจพระอภิธรรม
ผู้ฟัง ถามอาจารย์ ว่า เวทนาทั้ง ๕ เป็นได้ทั้งกุศล และอกุศล ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ พร้อมกันไม่ได้เลย
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 361
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 362
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 363
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 364
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 365
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 366
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 367
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 368
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 369
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 370
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 371
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 372
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 373
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 374
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 375
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 376
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 377
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 378
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 379
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 380
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 381
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 382
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 383
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 384
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 385
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 386
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 387
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 388
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 389
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 390
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 391
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 392
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 393
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 394
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 395
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 396
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 397
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 398
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 399
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 400
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 401
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 402
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 403
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 404
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 405
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 406
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 407
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 408
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 409
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 410
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 411
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 412
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 413
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 414
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 415
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 416
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 417
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 418
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 419
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 420