ปกิณณกธรรม ตอนที่ 386


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๘๖

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๔๗


    ผู้ฟัง เวทนาทั้ง ๕ เป็นได้ทั้งกุศล และอกุศล ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ พร้อมกันไม่ได้เลย ขณะไหนจิตเกิดขึ้นเป็นกุศล ในขณะนั้นเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยทั้งหมดก็เป็นกุศล แม้เวทนาก็เป็นกุศล

    ผู้ฟัง รวมทั้งอทุกขมสุขด้วยหรือ

    ท่านอาจารย์ ทั้งหมดถ้าใช้คำว่า จิตประเภทไหนเกิดขึ้น เจตสิกทั้งหมดไม่เว้นเลย ถ้าจิตเป็นกุศล เจตสิกทั้งหมดที่เกิดร่วมด้วย ไม่เว้นแม้เวทนาก็เป็นกุศล ถ้าจิตเป็นอกุศล เวทนา และเจตสิกอื่นๆ ทั้งหมดก็เป็นอกุศล สลับกันไม่ได้

    ผู้ฟัง เวทนารวมทั้ง ๕ เลย ถ้าจะพิจารณาโดยละเอียด อย่างเช่นถ้าเป็นสุขเวทนาที่เกิดทางกาย หรือว่าทุกขเวทนาที่เกิดทางกาย จะเกิดกับจิตชาติวิบากเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ ทีละ ๑ ขณะ แล้วแต่ว่าจิตขณะนั้นเป็นอะไร เวทนาที่เกิดร่วมด้วย และเจตสิกอื่นต้องเป็นประเภทนั้น ถ้าจิตเป็นกุศล เวทนาทั้งหมดที่เกิดร่วมด้วยเป็นอะไร เป็นกุศล ถ้าจิตเป็นอกุศล

    ผู้ฟัง เวทนาก็เป็นอกุศล

    ท่านอาจารย์ ถ้าจิตเป็นวิบาก

    ผู้ฟัง เวทนาก็เป็นวิบากด้วย

    ท่านอาจารย์ ถ้าจิตเป็นกิริยา

    ผู้ฟัง ก็เป็นกิริยาด้วยทั้งหมด

    ผู้ฟัง เติมเรื่องเวทนา เมื่อกี้ผู้ถามๆ ในเรื่องของเวทนา ที่ว่าไม่ว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ที่ท่านอาจารย์กล่าวไปแล้วก็นัยหนึ่ง ซึ่งก็มีหลายนัย เวทนาที่เกิดขึ้น เช่น สุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา ที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวเมื่อสักครู่นี้ โดยนัยของวิบาก เกิดขึ้นเพราะกรรม แต่โดยนัยอื่น อย่างเช่นโดย นัยปัจจัยอื่น เช่น อัญญมัญญปัจจัย ที่พระท่านสวดพระอภิธรรม เวทนาจะเกิดขึ้นได้เพราะมีจิต ถ้ามีจิตเมื่อไร เวทนาต้องมีเมื่อนั้น ซึ่งเป็นความแน่นอน หรือเป็นธรรมดาของเจตสิกทั้งหลายว่า จะต้องอาศัยจิตเกิดเสมอ โดยนัยกลับกัน จิตจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีเวทนา คือต่างอาศัยซึ่งกัน และกัน เหมือนกับไม้ ๓ อันที่ทรงอยู่ได้ ไม่ล้ม อาศัยซึ่งกัน และกัน ใช้คำว่า อัญญมัญญปัจจัย

    ถ้าไม่มีเจตสิก จิตเกิดไม่ได้ ในขณะเดียวกัน จิตถ้าไม่มีเจตสิก อย่างเช่นเวทนาเป็นต้น จิตก็เกิดไม่ได้ ต่างอาศัยซึ่งกัน และกัน เพราะฉะนั้น ถ้าจะกล่าวโดยตรงนี้ว่า เวทนาเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็เพราะมีจิตนั่นเอง เวทนาจึงเกิดขึ้น หรือนัยพระสูตร มีปริพาชกไปถามท่านพระสารีบุตรว่า สุขทุกข์ทั้งหลายที่มีสุขมีทุกข์ในวันๆ เพราะคนอื่นทำ หรือว่าตัวเราเองทำ หรือว่าไม่ใช่ทั้งคนอื่นทั้งเราทำ แต่ท่านพระสารีบุตรตอบว่า เวทนาที่เป็นสุข ที่เป็นทุกข์เกิดขึ้นได้ เพราะมีผัสสะ ผัสสะก็เป็นเจตสิกดวงหนึ่ง ถ้ามีการกระทบสัมผัสกับอารมณ์ ก็ทำให้เกิดเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นสุขเป็นทุกข์ เป็นอุเบกขา หรือทางใจก็เป็นโสมนัส โทมนัส เพราะว่าจะตามมาเหมือนกัน

    เพราะฉะนั้น สามารถจะกล่าวได้หลายนัยว่า เวทนาเกิดขึ้นได้อย่างไร ก็โดยทั้งนัยพระสูตร และพระอภิธรรม แม้แต่พระอภิธรรมก็กล่าวหลายนัยด้วย

    ท่านอาจารย์ ถ้าเราจะค่อยๆ พิจารณาถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ก็พอจะเข้าใจได้ อย่างทางกาย ถ้าไม่มีกายปสาทส่วนหนึ่งส่วนใด จะรู้สึกไหม ไม่รู้สึก เพราะฉะนั้น เวลาที่มีสิ่งใดกระทบกาย จริงๆ แล้วถ้าในลักษณะที่เป็นทุกข์มากๆ ปรากฏ เราบอกได้ เรารู้ได้เลย แต่ถ้าน้อยนิดเดียว เราจะรู้สึกไหม อย่างเส้นผมที่ปรกมาที่หน้าผากนิดหนึ่ง รู้สึกไหมว่าเป็นทุกข์ อย่างมากเราจะรู้สึกว่า รำคาญ ขณะที่รำคาญ เราไม่ได้รู้เลยว่า ขณะนั้นเป็นความไม่พอใจเล็กๆ ที่เกิดแล้ว แต่น้อยจนกระทั่งเราไม่สนใจ ต่อเมื่อใดที่เป็นความรู้สึกเจ็บมาก รู้สึกได้เลย ขณะนั้นความรู้สึกนั้นไม่เรียกว่าทุกขเวทนาได้ไหม ไม่เรียกเลยได้ แต่ว่าเปลี่ยนลักษณะของทุกข์ ไม่ได้เลย จะใช้ภาษาอะไรได้หมด แต่เปลี่ยนลักษณะของทุกข์นั้นไม่ได้

    นี่คือความหมายของปรมัตถธรรม ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริง ซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น จะศึกษาธรรมให้เข้าใจ ก็เมื่อสิ่งนั้นมีกับเราชัดเจนที่จะทำให้เรารู้ได้ว่ามี แต่เราไม่เคยรู้เลย ถ้าเราไปศึกษาเป็นเรื่อง เป็นราว เป็นชื่อ ไม่มีทางเลยที่เราจะเข้าใจสภาพธรรมนั้นได้ว่า เป็นธรรมที่เราได้ยินได้ฟังนั่นแหละ แต่ว่าถ้าเราไม่รู้ ขณะนั้นก็เป็นสิ่งที่มีในชีวิตประจำวัน เราก็ไปคิดว่า ธรรมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง มีชื่อมากมาย แต่ลักษณะที่มีจริงๆ คืออย่างไร

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ อย่างทุกขเวทนา ถ้าไม่มีกายปสาท ทุกขเวทนานั้นเกิดไม่ได้ หรือสุขเวทนาก็เกิดไม่ได้เลย นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าอยากจะรู้ว่า เกิดเพราะอะไรที่พอจะเข้าใจได้ แต่ความจริงปัจจัยมีมากกว่านั้นอีก ทรงแสดงไว้โดยละเอียด แต่ว่าที่เราจะค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจ คือสิ่งที่เราค่อยๆ พิจารณาว่า ลักษณะนั้นเป็นจริง ถ้าไม่มีกายปสาท สุขหรือทุกข์ก็เกิดไม่ได้ แต่สำหรับทางใจ ถ้าเราเห็นสิ่งที่น่าพอใจ เป็นไง บอกให้เป็นทุกข์ เสียใจ ได้ไหม ก็ไม่ได้ เฉพาะนั้นสิ่งใดซึ่งเป็นที่พอใจ ก็เป็นปัจจัยให้ความรู้สึกขณะนั้น แค่เห็นก็เบิกบานแล้ว ดีใจแล้วเป็นโสมนัสแล้ว แต่ตรงกันข้ามถ้าเห็นสิ่งซึ่งไม่น่าพอใจเลย จะไปบังคับให้เป็นสุขโสมนัสก็ไม่ได้ เพราะว่าสภาพธรรมก็เป็นอย่างนั้น แต่ทำไมบางคนเฉยๆ ก็มีอีกหนึ่ง เฉยมาก แม้แต่สัตว์เลี้ยงบางตัว จะมีลักษณะที่ต่างกว่า ถ้ามี ๒-๓ ตัวเป็นการเปรียบเทียบ จะเห็นได้ว่าบางตัวก็สนุกสนานร่าเริง ช่างเล่น แต่บางตัวก็เฉยสนิท ไม่มีอารมณ์ใดๆ ปรากฏเลย จะเอามือไปแตะ จะไปพูดด้วยก็เฉย เฉยยังกับหิน ก็มี

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่าแต่ละอย่าง เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ตามการสะสม บางคนก็สดชื่นรื่นเริง ฟังเรื่องอะไรก็หัวเราะ บางคนก็ไม่หัวเราะ ก็เฉยๆ ก็เป็นแบบที่ตามการสะสมด้วย เพราะฉะนั้น จึงมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้สภาพธรรมแต่ละอย่างเกิดขึ้น แต่รวมความก็คือ ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของด้วย มีปัจจัยที่จะเกิดขึ้นเป็นธรรมประเภทใด ประเภทนั้นก็เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้น เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ชั่วขณะที่เกิดแล้วดับ เร็วมาก แต่เพราะความไม่รู้ ก็ทำให้มีสัญญา ความทรงจำว่า เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด รวมแล้วที่ตัวก็เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ยึดถือว่าเป็นเรา

    นี่ก็คือการได้ฟังพระธรรมเท่านั้นที่จะทำให้มีความเห็นถูกต้องในสิ่งที่ปรากฏได้ ขอทบทวนที่คุณเผชิญพูดถึงว่า จิตต้องอาศัยเจตสิก ถ้าไม่มีเจตสิก จิตก็เกิดไม่ได้ฉันใด เจตสิกก็อาศัยจิต ถ้าไม่มีจิต เจตสิกก็เกิดไม่ได้ เพราะฉะนั้น ทั้งจิต และเจตสิกต่างก็ต้องอาศัยกัน และกันเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง อาศัยซึ่งกัน และกัน หมายความว่า มีอยู่แล้ว แล้วไปอาศัยกัน ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น ไม่ใช่หมายความว่า มีอยู่แล้ว

    ผู้ฟัง ทีนี่ถ้าเผื่อไม่มีอยู่ จิตถ้าเผื่อมันไม่มีอยู่ คือฟังดูแล้วเหมือนมีจิตอยู่ทั่วไปในโลกนี้ แม้กระทั่งตัวเราหรือไปที่ไหนก็มีจิต ถ้ามันไม่มี มันก็เหมือนกับไม่เกิดเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ถ้าจิตไม่เกิดขึ้น จะมีอะไรไหม ทุกอย่างเลย

    ผู้ฟัง ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย

    ท่านอาจารย์ แต่เพราะเกิดขึ้นแล้ว จึงปรากฏว่ามี เพราะฉะนั้น จิตก็ต้องเกิดขึ้น เจตสิกก็ต้องเกิดขึ้น

    ผู้ฟัง จะไม่เป็นเพราะว่าจิตมีอยู่แล้ว แล้วมีอะไรไปชน หรืออะไรไปกระทบ ก็เกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ ส่วนใหญ่จะเข้าใจอย่างนี้ก่อนการได้ฟังพระธรรม ถึงได้มีความคิดหลากหลาย เจ้าลัทธิต่างๆ ก็มีความคิดอย่างนี้ว่า จิตเที่ยง ไม่เกิดดับ อย่างเราอาจจะคิดว่า เกิดตอนขณะแรก แล้วก็ตาย ก่อนนั้นไม่ได้เคยเกิดดับเลย จิตไม่ได้เกิดดับเลย จะเข้าใจอย่างนั้นก็ได้ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม

    ผู้ฟัง จริงๆ แล้วจิตอยู่ที่ไหน อยู่ในตัวเราทั้งหมด ได้ไหม แล้วมันอยู่ทั่วๆ ไปได้ไหม หรือจะไปอยู่ในชีวิตโลกหน้าได้ไหม คือ ของเรา ไม่ใช่ของเรา สมมติว่าเป็นของเรา ก็ขณะนี้ก็เป็นเราอยู่ อยากจะรู้ว่า คำว่าจิต มันก็ไม่ใช่จิตใจ มันไม่ใช่จิตทั่วไปอย่างที่เราเข้าใจ จิตที่กำลังเรียนรู้จากท่านอาจารย์ จะเป็นจิตที่อยู่ในตัวของเราทั้งหมดหรือเปล่า พอเรามีอะไรมากระทบ เราก็จะสะท้อนกลับออกไป เป็นความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ

    ท่านอาจารย์ เพราะไม่รู้ความจริงว่า สภาพธรรมทุกอย่างเกิดดับเร็วมาก แต่สัญญาเจตสิกเป็นสภาพที่จำไว้หมดเลย แล้วก็รวมไว้ด้วย จึงเป็นเราทั้งตัวตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ก็ถามคำถามเก่าดีกว่า มีฟันไหม

    ผู้ฟัง ถ้าจะให้บอก ก็เป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย

    ท่านอาจารย์ เมื่อไรที่ว่ามี

    ผู้ฟัง เมื่อเราเคี้ยวอาหาร

    ท่านอาจารย์ ตอนนี้ล่ะ

    ผู้ฟัง ตอนนี้ ก็เห็น สัมผัสของคนอื่น ก็มีฟัน เห็นภาพฟันของแต่ละคน

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น นี่คือสิ่งที่เราไม่เคยรู้เลยว่า ถ้าพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงบำเพ็ญพระบารมีถึงสี่อสงไขยแสนกัป ความจริงแท้ๆ จะไม่ปรากฏเลยว่า สิ่งที่เราเคยยึดถือรวมกันหมดเลยทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แท้ที่จริงเป็นสภาพธรรมที่เกิด แล้วก็ปรากฏกับจิต เมื่อจิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ ขณะที่เห็น จะไม่มีเสียงใดๆ ปรากฏอยู่ในสีสันวรรณะที่กำลังปรากฏเลย เสียงจะปรากฏด้วยไม่ได้ ในขณะที่เสียงกำลังปรากฏ สีสันวรรณะต่างๆ ก็จะปรากฏอยู่ในเสียงที่กำลังปรากฏไม่ได้เลย

    จิต ส่วนใหญ่จะไม่รู้เลยว่า จิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ หนึ่งขณะสั้นแค่ไหน รวดเร็วแค่ไหน แต่จิตเป็นสภาพที่เป็นธาตุรู้ เมื่อเกิดขึ้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด คืออารมณ์ของจิตที่จิตกำลังรู้สิ่งนั้นอยู่ จะไม่รู้ไม่ได้

    แม้แต่ที่กำลังเห็น เราก็เผลอจำอย่างรวดเร็วว่า เห็นคน เห็นดอกไม้ แต่จริงๆ แล้ว สิ่งที่ปรากฏทางตาเป็นรูปที่มีจริงๆ จะปรากฏเมื่อกระทบจักขุปสาทด้วย ถ้าอยู่ข้างหลัง จะเอามือไปสัมผัส รูปนี้ก็ไม่ปรากฏ แต่ต้องกระทบกับรูปที่สามารถกระทบกับสีสันวรรณะ แล้วจิตเกิดขึ้นเห็น ไม่ใช่ตา ตาไม่เห็นเลย แต่ที่ตัวจะมีรูปที่สามารถกระทบกับสีสันวรรณะอยู่กลางตา มีรูปที่สามารถกระทบเสียงอยู่กลางหู มีรูปที่สามารถกระทบกลิ่น กลางจมูก รูปที่สามารถกระทบลิ้นอยู่กลางลิ้น แล้วก็โยงใยออกมาด้วย แล้วก็รูปที่สามารถกระทบกับสิ่งที่กระทบกายได้ เย็นร้อน อ่อนแข็ง ซึมซาบอยู่ทั่วตัว ทั้งภายใน และภายนอก แค่นี้เราก็ไม่รู้แล้วว่า แท้ที่จริงทุกอย่างถ้าเป็นรูปก็มีสมุฏฐานที่ทำให้รูปนั้นก่อตั้งขึ้น รูปที่เกิดจากกรรมเป็นสมุฏฐานก็มี รูปที่เกิดจากจิตเป็นสมุฏฐานก็มี รูปที่เกิดจากอุตุ ความเย็นความร้อนเป็นสมุฏฐานก็มี รูปที่เกิดจากอาหารเป็นสมุฏฐานก็มี รวมความแล้วเราไม่รู้เลยเรื่องรูปตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า หรือเรื่องจิตที่เกิดดับสืบต่อทีละขณะอย่างเร็ว จนกระทั่งเป็นเราหมดเลย จำเอาไว้ ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งถึงเดี๋ยวนี้

    ถ้าจะเข้าใจความหมายของอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ของใคร คือต้องเข้าใจลักษณะของจิต ตอนนี้ต้องทราบเลย จะไปหาจิตอย่างหารูป หาไม่เจอเพราะว่าจิตไม่ใช่รูป แต่จิตเป็นธาตุชนิดหนึ่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องรู้ เป็นธาตุรู้ เช่น กำลังเห็น คนตายไม่เห็นเลย คนตายไม่มีจิตเห็น คนตายไม่ได้ยิน เพราะฉะนั้น ขณะใดที่เห็น เป็นจิต เป็นธาตุที่มืดสนิท ไม่มีรูปร่างใดๆ เลย แต่สามารถที่จะเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ได้ว่า สิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้ เป็นอย่างนี้ นี่คือจิตชนิด หนึ่ง เวลาที่เสียงปรากฏ ไม่ใช่จิตประเภทนี้แล้ว เป็นจิตอีกประเภทหนึ่งซึ่งกำลังได้ยินเสียง ถ้าจิตที่เห็นยังไม่ดับ จิตได้ยินเกิดไม่ได้ แล้วถ้าจิตได้ยินยังไม่ดับ จิตเห็นก็เกิดไม่ได้ นี่คือความรวดเร็ว ไม่มีอะไรเหลือเลยสักขณะเดียว เป็นแต่เพียงธาตุซึ่งมีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับสืบต่อ

    เพราะฉะนั้น จะทำให้เราสามารถที่จะเข้าใจจิตได้ว่า เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ไม่มีรูปร่างลักษณะ ถ้าเห็นละครโทรทัศน์เรื่องวิญญาณต่างๆ ออกจากร่าง ตอนนี้เรารู้แล้ว ใช่ไหม เข้าใจหรือไม่เข้าใจที่พูดอย่างนั้น วิญญาณไม่มีแขน มีขา ไม่มีอะไรเลย ออกอย่างไรได้ แค่เกิดแล้วก็ดับ เกิดแล้วก็ดับ แต่ไม่ได้เกิดเปล่าๆ เกิดแล้วรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด เฉพาะอย่างๆ เฉพาะขณะหนึ่งๆ แล้วก็ดับ

    นี่คือการหลงยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นเรา ด้วยความไม่รู้ ถ้ายังคงไม่รู้อย่างนี้ ก็ต้องเป็นเรา ต่อเมื่อไรได้รู้ความจริง ก็จะค่อยๆ ละคลายความเป็นเราได้

    พอจะรู้ว่าจิตคืออะไร จิตอยู่ที่ไหน หรือยัง มีปัจจัยก็เกิด ในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตจะเกิดนอกรูปไม่ได้เลย ไม่ต้องไปหาจิตแถวโต๊ะ แถวแก้วน้ำ แถวอะไร ไม่มี เราพอที่จะเข้าใจได้ไหมว่า สิ่งที่มีจริงๆ แยกประเภทใหญ่เป็นนามธรรมกับรูปธรรม เพราะเหตุว่ารูปธรรมหมายความถึงสิ่งที่มีเกิดขึ้น แต่ไม่ใช่สภาพรู้ ส่วนนามธรรมก็เป็นสิ่งที่มี เกิดขึ้น แต่เป็นสภาพรู้ ๒ อย่างนี้เราพอที่จะรับได้ไหมว่า ความจริงเป็นอย่างนี้หรือเปล่า ถ้ารับได้ คือรูปทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นรูปอะไร ไม่ใช่สภาพรู้ รูปคือเป็นรูป แล้วที่ทางแพทย์ใช้คำว่า ประสาท มันคือรูปอะไร

    ผู้ฟัง มหาภูตรูป ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ รู้ได้เมื่อไรว่าเป็นมหาภูตรูป

    ผู้ฟัง เพราะว่าจับดูมันก็แข็ง

    ท่านอาจารย์ อย่างนั้นถูกต้อง หมายความว่าสิ่งใดก็ตามที่กระทบกาย ลักษณะที่อ่อนหรือแข็งเป็นธาตุดิน ลักษณะที่เย็นหรือร้อนเป็นธาตุไฟ ลักษณะที่ตึงหรือไหวเป็นธาตุลม เพราะฉะนั้น ประสาทเป็นอะไร เราคิดนึกได้ถึงเรื่องราวต่างๆ แต่ว่าตัวรูปแท้ๆ จริงๆ ที่จะปรากฏในชีวิตประจำวันจริงๆ จะมี ๗ รูป คือ สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ปฏิเสธไม่ได้เลย เพียงแต่เราไม่รู้ว่า เป็นรูป เราคิดว่าเป็นคน แต่ว่าลักษณะแท้ๆ ที่ปรากฏต้องเป็นสีสันเท่านั้น เราก็มานึกว่า สิ่งต่างๆ อย่างนี้ สีอย่างนี้ทรงจำไว้ว่าเป็นอะไร แต่ว่าสิ่งที่กำลังจะปรากฏได้ก็คือ สีสันวรรณะเท่านั้น ๑ รูป ทางหู เสียงเท่านั้นที่จะปรากฏได้ ต้องเป็นเสียงปรากฏ ๑ รูป ทางจมูกต้องเป็นกลิ่นเท่านั้นที่ปรากฏได้ จะเป็นกลิ่นสมอง กลิ่นอะไรก็ตามแต่ กลิ่นเนื้อเยื่อ กลิ่นอะไรก็แล้วแต่ กลิ่นจะปรากฏได้เมื่อกระทบกับฆานปสาท เพราะฉะนั้น กลิ่นอีก ๑ รูปเป็น ๓ รสอีก ๑ รูป ปรากฏเมื่อกระทบลิ้น คือ ชิวหาปสาทรูป ถ้าไม่กระทบสิ้น จะไปกระทบกายส่วนหนึ่งส่วนใด ส่วนอื่น ไม่สามารถที่จะปรากฏ แล้วจิตเป็นสภาพที่ลิ้มรส ตัวลิ้นก็ไม่สามารถรู้รสนั้นได้ เพราะว่าลิ้นไม่ใช่สภาพรู้ แต่เป็นสภาพที่สามารถกระทบกับรส ๔ รูปแล้ว ใช่ไหม สิ่งที่ปรากฏทางตา ๑ หู ๑ จมูก ๑ ลิ้น ๑ สำหรับทางกาย มี ๓ รูปที่จะปรากฏได้ เมื่อกระทบ คือ อ่อนหรือแข็งธาตุดิน เย็นหรือร้อนธาตุไฟ ตึงหรือไหวธาตุลม รวม ๗ รูปที่ปรากฏในชีวิตประจำวัน รูปอื่นไม่ได้ปรากฏเลย แต่เรื่องราวของรูปมาจากการคิดนึก แล้วก็เรียกรูปต่างๆ เป็นวิชาการต่างๆ ทั้งหมด แต่นั่นเป็นความคิด ในขณะที่รูปนั้นก็เกิดดับอยู่ตลอดเวลา รูปใดที่เกิดแล้วดับไม่กลับมาอีกเลย เช่นเดียวกับนามธรรมใดก็ตามที่เกิดแล้วดับไป ไม่เหลือเลย ทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น ถ้าจะศึกษาธรรมก็ต้องตรงว่า รูปอะไร ถ้าใช้คำว่า ปสาท เห็นได้หรือเปล่า ถ้าเป็นปสาทรูปจริงๆ เห็นได้หรือเปล่า ไม่ได้ เห็นได้เฉพาะสีสันวรรณะเท่านั้นเอง อย่างนี้เราจะสงสัยไหม แม้ว่าแพทย์จะเรียกอะไร วิทยาศาสตร์จะเรียกอะไร แล้วแต่จะนึกคิดเรื่องนั้น แต่ตัวจริงๆ ก็คือสามารถจะปรากฏได้ ๗ รูป ในชีวิตประจำวัน

    ผู้ฟัง สายการแพทย์ที่ว่าเป็นเส้นประสาท หรืออะไรต่างๆ เป็นเรื่องของความนึกคิด ถูกต้องไหม

    ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรม เรื่องราวทางไหนก็ไม่มีทั้งสิ้น ไม่ว่าจะวิชาแพทย์ หรือวิชาอะไรก็ไม่มี แต่ต้องมีปรมัตถธรรม ซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้

    ผู้ฟัง ถ้ามาศึกษาธรรมแล้ว ก็จะเริ่มซาบซึ้งในพระกรุณาคุณของพระพุทธเจ้า เพราะท่านแสดงธรรมละเอียดลึกซึ้งกว่าวิทยาการทางโลกที่เราสามารถจะศึกษาได้ คือตรงนี้ แล้วเราก็เริ่มที่จะศึกษา และเข้าใจความจริง ที่จะสามารถที่จะเข้าใจได้ ต่อไปเราก็จะไม่สงสัยอีก

    ผู้ฟัง มีผู้ถามเรื่องของจิต จิตอยู่ที่ไหน ผมก็มาพิจารณาตามที่เขาถาม ก็จากการฟังเหมือนกัน จากการศึกษาว่า ในขณะที่เป็นปฏิสนธิจิต หรือว่าภวังคจิต หรือจุติจิต ตามความเข้าใจของผมขณะนี้ว่า เกิดที่หทยวัตถุ ไม่ทราบอันนี้จะถูกต้องหรือเปล่า แต่ว่าที่ว่า จักขุวิญญาณเกิดที่จักขุปสาทรูป อันนี้ผมเข้าใจ ทางปัญจทวาร ทีนี้ว่า ความนึกคิด จิตที่เกิดขึ้นทางมโนทวาร ไม่ทราบว่าเกิดทางหทัยวัตถุหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ อีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องที่เกิดของจิต ก็น่าสนใจ เพราะเหตุว่าในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตต้องเกิดที่รูปภายใน คือ ที่ตัว ที่ร่างกาย จะเกิดนอกรูปไม่ได้เลย ตามโต๊ะ ตามเก้าอี้ ไม่ต้องไปหา ไม่มีทาง แล้วก็ที่เกิดของจิตซึ่งเป็นรูป เวลาพูดถึงที่เกิดของจิต เราหมายความในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จิตจะเกิดต้องอาศัยรูปเป็นที่เกิด ที่เกิดของจิตมี ๖ ใช้คำว่า วัตถุ ๖ ถ้าได้ยินคำว่า วัตถุ ๖ หมายความถึง ที่เกิดของจิต วัตถุ ๖ ก็จักขุปสาทรูป ๑ รูป เป็นที่เกิดของวิญญาณ จิตเห็น ที่เป็นกุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ จักขุวิญญาณเกิดที่อื่นไม่ได้เลย ต้องเกิดที่เป็นจักขุปสาทรูปซึ่งเป็นที่เกิด จึงเป็นจักขุวัตถุ ถ้าใช้คำว่า วัตถุก็หมายความถึงที่เกิดของจิต โสตวิญญาณ จิตได้ยิน จะเกิดที่ไหน ถ้ารู้อย่างนี้แล้ว ที่โสตปสาทรูป ไม่ใช่ใบหูทั้งหมด แต่ต้องตรงเฉพาะโสตปสาทรูป เป็นที่เกิดของโสตวิญญาณ ๒ คือ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ โสตวิญญาณจะเกิดที่อื่นไม่ได้เลย ถ้าอยากจะรู้ว่า เกิดที่ไหน แต่เกิดแล้วดับแล้ว ทั้งรูป ทั้งจิต ฆานวิญญาณ จิตได้กลิ่น จะเกิดที่ไหน กำลังได้กลิ่นที่กำลังกระทบ จะเกิดที่ไหน ฆานปสาทรูป เป็นที่เกิดของฆานวิญญาณ ๑ หรือ ๒ ๒ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ ทีนี้รับประทานอาหาร รสปรากฏแน่นอน ต้องมีชิวหาปสาทรูป กระทบสัมผัส แล้วก็จิตลิ้มรสก็เกิดขึ้นที่ชิวหาปสาทรูป ไม่เกิดที่อื่นเลย ชิวหาวิญญาณกี่ดวง ๒ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ เป็นผลของกรรม ถ้าเป็นกุศลวิบากก็เป็นผลของกุศลกรรม ถ้าเป็นผลของอกุศลวิบากก็เป็นผลของอกุศลกรรม กายวิญญาณทั่วตัวที่ว่าซึมซาบอยู่ภายในภายนอก เว้นที่รูปไม่สามารถจะปรากฏแข็ง อ่อน เย็น ร้อน พวกนั้น กายปสาทเป็นที่เกิดของกายวิญญาณจิต รู้ตรงไหน จิตเกิดขึ้นรู้ตรงนั้น แล้วก็ดับตรงนั้นด้วย กายวิญญาณมีเท่าไร ๒ กุศลวิบาก ๑ อกุศลวิบาก ๑ ๕ แล้วใช่ไหม จักขุวัตถุ ๑ โสตวัตถุ ๑ ฆานวัตถุ ๑ ชิวหาวัตถุ ๑ กายวัตถุ ๑ จิตที่เหลือในภูมิที่มีขันธ์ ๕ จะเกิดที่หทัยวัตถุซึ่งเป็นรูป เป็นที่เกิดของจิตอื่นทั้งหมด

    ผู้ฟัง ปสาทรูป ปสาท แปลว่าอะไร

    ท่านอาจารย์ ผ่องใส หรือใส ก็ได้ พิเศษสามารถกระทบได้ ในเมื่อมหาภูตรูปไม่สามารถจะกระทบกับรูปอะไร ต้องเป็นกายปสาทรูป ไมใช่มหาภูตรูปที่สามารถจะกระทบกับเย็นหรือร้อน อ่อนหรือแข็ง ตึงหรือไหว ทั้งๆ ที่มหาภูตรูป เป็นใหญ่เป็นประธาน แต่ไม่ใช่ปสาทรูป

    ผู้ฟัง ใส ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงใส อย่างที่เรา

    ท่านอาจารย์ ใส คือ ภาวะที่สามารถกระทบ ผ่านกระจกเงาเห็นอะไร เวลาผ่านที่ไม่ใช่กระจกเห็นอะไรไหม เพราะไม่สามารถจะกระทบกับรูปนั้นได้

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 99
    23 มี.ค. 2567