ปกิณณกธรรม ตอนที่ 388
ตอนที่ ๓๘๘
สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่
พ.ศ. ๒๕๔๗
ท่านอาจารย์ ต้องรู้ว่า ต้องเป็นความเข้าใจของเราที่เกิดขึ้น ไม่ว่าเราจะเข้าโรงเรียน เราฟัง ถ้าเราไม่เข้าใจ สอบตกแน่เลย ไม่รู้อะไรเลย ใช่ไหม แต่ว่าการศึกษาธรรมไม่ใช่เพื่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ใช่เพื่อปริญญาบัตร ประกาศนียบัตร หรือคำชม หรือคำสรรเสริญทั้งหมด เพื่อเข้าใจถูก เพราะฉะนั้น ความเข้าใจถูกไม่ใช่ของคนอื่น แต่ต้องเป็นของเราเอง ไม่อย่างนั้น เราก็เหมือนกับว่า เขาเข้าใจแล้ว ทำไมเราไม่เข้าใจ ก็ต้องศึกษา ฟัง ไตร่ตรอง พิจารณาจนกระทั่งเป็นความเข้าใจของเราเอง นั่นคือเราได้รับประโยชน์จากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเราเข้าใจ ก็ต้องรู้ว่า ถ้าฟังแล้วไม่เข้าใจ มันก็ไม่เข้าใจไปเรื่อยๆ แต่ถ้าฟังแล้ว เริ่มเข้าใจขึ้น ไตร่ตรองขึ้น จะอ่าน จะค้น จะสนทนาอย่างไรก็ทำให้เข้าใจขึ้น นั่นคือประโยชน์โดยตรง
ผู้ฟัง อยากจะให้คุณประเชิญช่วยอธิบายนิดว่า สัมมัปปธาน ๔ มีลักษณะ ซึ่งไม่ใช่เราทำ แต่ว่าเป็นองค์ธรรมที่ทำให้การตรัสรู้ องค์ธรรม โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ไม่ทราบว่าลักษณะจะเป็นอย่างไร แล้วก็ในการปฏิบัติธรรมจะเกี่ยวข้องอย่างไรกับเรื่องสติปัฏฐาน
ประเชิญ สำหรับ สัมมัปปธานที่ท่านพลตรีศีลกันต์ได้กล่าวว่า เป็นธรรมที่อยู่ฝักฝ่ายการตรัสรู้ หรือเรียกว่า โพธิปักขิยธรรมๆ มี ๓๗ ประการ มีสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพธิฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ รวมสภาวธรรมแล้วมี ๓๗ ประการ ตัวสัมมัปปธาน ตัวสภาวธรรมของสัมมัปแธาน คือ วิริยะ วิริยเจตสิกที่เป็นฝ่ายของการตรัสรู้ ไม่ใช่วิริยะที่เป็นไปในทางอกุศล หรือวิริยะที่เป็นไปในเรื่องของทาน เรื่องของศีล เป็นวิริยะที่เป็นไปในเรื่องของสติปัฏฐาน ที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดตรัสรู้ธรรม โดยตรงจริงๆ ท่านอธิบายไว้ เป็นการกล่าวถึงสัมมัปปธานในโลกุตตระ โลกุตตรมรรค อันนั้นจะเป็นคำอธิบายที่ชัดเจนที่สุดว่า ในขณะที่มรรคจิตเกิดขึ้น สัมมัปปธานทั้ง ๔ ทำหน้าที่ หรือทำกิจพร้อมกันทั้ง ๔ ประการ คือ ๑ สังวรปธาน เพียรป้องกันอกุศลที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น อันนี้คือโดยสำนวน ปหานปธาน เพียรละอกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ให้เกิดขึ้น ภาวนาปธาน เพียรอบรมกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น และอันสุดท้ายคือ อนุรักขณาปธาน เป็นความเพียรที่จะรักษากุศลที่เกิดขึ้นไม่ให้เสื่อมถอยลง
ผู้ฟัง ที่ว่าเป็นองค์ธรรมของการตรัสรู้ที่ว่าอยู่ในอริยมรรค โลกุตตรมรรค ที่ว่า แล้วโลกียะไม่มีหรือครับ มีแล้วลักษณะจะเป็นอย่างไร
ประเชิญ ถ้าเป็นโลกียมรรคก็คือ วิริยะในสติปัฏฐาน นั่นเอง ในขณะที่สติปัฏฐาน เกิด ก็ขณะนั้น อกุศลก็ไม่เกิด ละอกุศลในตัว แล้วก็สังวร สังวรปธาน ป้องกันไม่ให้ อกุศลที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นไปได้ใช่ไหม ตรงมรรคที่เป็นสติปัฏฐาน เป็นภาวนาปธานด้วย แล้วก็อนุรักขณาปธาน แต่ว่าโดยต่างขณะจิต ใช่ไหม
ท่านอาจารย์ เรากำลังหาชื่อ ชื่อทั้งหมดที่พูดแล้วอยู่ที่ไหน ที่สำคัญที่สุดต้องเข้าใจ เราติดในชื่อ แต่ว่าสภาพธรรมเป็นสภาพที่เพียร มีไหม ลักษณะของเพียรมีไหม มี แต่ว่าเราจะรู้เมื่อไร เท่านั้นเอง ขณะที่สติสัมปชัญญะไม่เกิด เราก็ไปหาชื่อสัมมัปปธาน มีตั้ง ๔ ชื่อ ชื่ออย่างนั้นๆ ๆ ชื่ออย่างนั้นในภาษาบาลี แต่ว่า จริงๆ เมื่อลักษณะนั้นก็ไม่ได้เกิด ไม่ได้ปรากฏ เราก็เพียงหาชื่อว่า ชื่อนั้นหมายความว่าอย่างไร อยู่ที่ไหน แต่ว่าตามความเป็นจริงให้ทราบว่า ผู้ที่ได้ทรงแสดงธรรม แสดงความจริงตามลำดับขั้น อย่างขั้นที่กำลังฟังอยู่ขณะนี้ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป แล้วจิตเกิดขึ้นขณะหนึ่งจะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร เราเองเราไม่รู้หรอกว่า ขณะนี้หนึ่งขณะจิตมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเท่าไร แต่ที่ทรงแสดงไว้ตามความเป็นจริง เพื่อให้เราฟังก่อน แล้วก็คิดตามความเป็นจริงให้ถูกต้องว่า เป็นอย่างนั้นเพราะอะไร ทั้งๆ ที่เราก็ไม่สามารถที่จะไปรู้ลักษณะของเจตสิก เพียงแต่ฟังเรื่องของเจตสิก ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดที่เป็นสติปัฏฐาน สภาพธรรมใดๆ ก็ไม่ปรากฏตามความเป็นจริง เพราะอะไร เกิดแล้วดับแล้ว เอาอันไหนล่ะ ขณะนี้ ทันทีที่ระลึก ดับเลย แล้วถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิดรู้ต่อ สภาพธรรมก็เกิดดับไปโดยที่เราก็เพียงกล่าวถึงชื่อ หรือหาชื่อ
การศึกษาธรรม ไม่ใช่ให้เราไปติดที่ชื่อ หรือไปหาชื่ออะไรทั้งสิ้น แต่ให้เริ่มเข้าใจสิ่งที่มีตามที่สามารถจะเข้าใจได้ก่อน เช่นเข้าใจว่า เมื่อจิตเกิดต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แม้แต่เจตสิกเดียวจะมีชื่อต่างกันมากเลยตามลำดับขั้น อย่างความติดข้องหรือโลภะ มีนันทิ มีราคะ มีอภิชฌา ตามลำดับกำลังของโลภะนั้นๆ ซึ่งถ้าไม่พูดชื่อต่างๆ เราก็มี เช่นกำลังเห็นเดี๋ยวนี้ มีความไม่รู้หรือเปล่า มี อวิชชา ลำดับก็มีอีก แต่ว่าเราก็ไม่กล่าวถึงได้ ถ้าขณะใดที่เรากำลังพอใจ หรือว่าทันทีที่เห็นแล้ว ไม่รู้ตัวเลย โลภะเกิดแล้วก็ไม่รู้
โลภะระดับนั้น กับโลภะระดับที่เรากำลังพอใจสิ่งหนึ่งสิ่งใด ความต่างก็มี เพราะฉะนั้น จึงมีชื่อต่างตามกำลังของโลภะ ฉันใด สภาพของเจตสิกอื่นๆ เช่น วิริยเจตสิกก็มีกำลังเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะให้เข้าใจว่า ขณะนั้นไม่ใช่วิริยะอย่างเป็นขณะที่โลภะเกิด เพราะว่าอย่างเรานั่งขณะนี้ มีความพอใจรวดเร็วตามสิ่งที่ปรากฏ เห็นดอกไม้ก็ชอบ ถ้าขณะนั้นไม่เกิดความรู้สึกไม่สบายใจ ก็จะไม่ใช่โทสะ แต่จะเป็นความติดข้องที่พอใจในสิ่งที่เห็น ขณะนั้นเราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่ามีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย ไม่ต้องไปทำอะไร ไม่ต้องนั่ง หลังขดหลังแข็งเย็บเสื้อผ้า ทำอาหารหรืออะไรทั้งสิ้น เพียงแต่ชั่วขณะที่โลภะเกิด ขณะนั้นก็มีวิริยเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะฉะนั้น วิริยเจตสิกที่เกิดกับโลภะก็เป็นระดับหนึ่งจนกระทั่งว่ามีกำลังขึ้นเป็นไปในฝ่ายที่จะทำให้รู้แจ้งสภาพธรรม ก็แสดงว่า วิริยะนั้นก็ต้องไม่ใช่ระดับนี้
เพราะฉะนั้น ชื่อต่างๆ เหล่านั้นก็ทรงแสดงตามความเป็นจริง แต่ว่าที่จริงคือว่า เราต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่า เรากำลังศึกษาให้เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ตามกำลังสติปัญญาของเรา ที่สามารถที่จะรู้ได้ ทีละเล็กทีละน้อย กว่าจะค่อยๆ คลายความไม่รู้ มิฉะนั้นเราจะมีตำรา แล้วก็มีชื่อ ซึ่งเมื่อมันไม่เกิดกับเรา แล้วเราจะไปรู้ขณะนั้นได้อย่างไร ก็เพียงแต่จำชื่อ แต่ถ้าสภาพธรรมนั้นปรากฏ ชื่อต่างๆ ก็จะมีให้เรารู้ว่า นี่คือชื่อที่เราเคยผ่านมาแล้วนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นสัมมัปปธาน คือลักษณะของวิริยเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกับสติในขณะนั้น ซึ่งเขาไม่ได้เป็นวิริยะในทางอื่น ไม่เป็นวิริยะในทางวาดรูป ไม่เป็นวิริยะในการเล่นตนตรี แต่เป็นวิริยะในขณะที่กำลังค่อยๆ เข้าใจ ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏถูกต้องขึ้นทีละเล็กทีละน้อยว่า ลักษณะนั้นเป็นอะไร เป็นนามธรรม หรือเป็นรูปธรรม
เพราะฉะนั้น เราก็ต้องเข้าใจจริงๆ ว่า ชื่อต่างๆ แม้ว่าเป็นวิริยะ หรือเป็นโลภะ ก็เพราะเหตุว่ากำลังของสภาพธรรมนั้นไม่เท่ากัน แล้วก็เป็นไปในทางต่างกันด้วย แล้วเวลาที่สภาพนั้นเกิดขึ้นเมื่อไร สิ่งที่เราได้ยินได้ฟัง แม้เราไม่รู้จักชื่อ สัมมัปปธานเลย แต่วิริยะขณะนั้นก็ต่างกับวิริยะขณะอื่น เวลาที่วิริยะเกิดกับสติสัมปชัญญะ กำลังรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ วิริยะนั้นไม่ได้เป็นทางฝ่ายอกุศล แล้วก็กำลังค่อยๆ เข้าใจลักษณะนั้น ถ้าไม่มีวิริยะ ก็ไม่เข้าใจเลย หมดเลย แต่เพราะวิริยะนั่นเอง แม้ขณะที่ฟังก็ไม่ขาดวิริยะเลย กำลังมีวิริยะในการฟังให้เข้าใจ คือวิริยะเกิดแล้วกับจิต แล้วก็ทนฟังนานๆ หลายชั่วโมง ฟังแล้วฟังอีก พิจารณาแล้วพิจารณาอีก ก็เห็นลักษณะของวิริยะว่า ถ้าไม่มีวิริยะ เราจะเข้าใจไหม เพราะว่าวันก่อนเราก็ฟัง ๒ ชั่วโมง ตอนเช้า ๒ ชั่วโมง ตอนบ่าย วันหนึ่งแล้ว วันนี้ก็อีก ๒ ชั่วโมง ตอนเช้า อีก ๒ ชั่วโมง ตอนบ่าย เราจะเห็นลักษณะของวิริยะไหม ความเพียรที่จะเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏนั่นเอง
เพราะฉะนั้น ก็เพียรจากการได้ยินได้ฟัง แล้วก็ค่อยๆ พิจารณาจนเป็นความเข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย และต่อไปภายหลังก็จะรู้ลักษณะของวิริยะที่ต่างจากขณะนี้ ก็มี แล้วชื่อก็ต้องต่างกันไป แต่ว่าไม่ใช่ว่า สิ่งนั้นไม่ได้ปรากฏเลย เราก็ไปแสวงหาชื่อต่างๆ นี่อะไร นั่นอะไร แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร เพียงแต่ว่าฟังให้เข้าใจเท่านั้นเอง เป็นเพียงความเข้าใจ แต่ว่าความเข้าใจอย่างนั้นไม่ได้เข้าใจลักษณะจริงๆ ของสภาพนั้น จนกว่าสภาพนั้นเกิดขึ้นเมื่อไร ก็จะรู้ว่าลักษณะของสภาพนั้นคือสิ่งที่เราได้ฟังแล้วนั่นเอง
ผู้ฟัง คำถามที่ผมตั้งใจจะถามต่อไปนี้ เป็นเรื่องของสติปัฏฐาน ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นกับผม สติปัฏฐานยังไม่เกิด ทีนี้ว่า ก็เกิดตั้งคำถามกับตัวเองว่า ผู้ที่สติปัฏฐานเคยเกิดขึ้นกับตัวเขา ผมได้สนทนากับน้องๆ ที่อยู่ข้างนอกว่า เขาก็ถามผมว่า ผู้ที่สติปัฏฐานเกิดแล้ว เขาเห็น เขาจะเห็นเป็นแก้ว เห็นเป็นอะไรไหม ยกตัวอย่าง อย่างเห็นแก้วน้ำ หรืออะไร ผมก็อธิบายไป แต่ไม่ค่อยมั่นใจเท่าไรนัก ก็อยากจะกราบเรียนท่านอาจารย์ช่วยอธิบายให้เข้าใจนิดว่า สำหรับผู้ที่สติปัฏฐานเกิด ยกเว้นสิ่งที่ปรากฏทางตา ลักษณะที่ว่าหลังจากที่สติปัฏฐานเกิดแล้ว สิ่งที่ปรากฏทางตา เกิดการนึกคิดว่าเป็นแก้วหรือเป็นอะไร มันจะมีลักษณะเป็นอย่างไร
ท่านอาจารย์ ถ้าเป็นปัญญา จะรู้ผิดจากปกติหรือเปล่า
ผู้ฟัง ไม่ผิด
ท่านอาจารย์ ทุกอย่างกำลังเป็นปกติอย่างนี้ มีเห็น แล้วก็มีคิด ไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ มี เห็นเป็นธรรมหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็น
ท่านอาจารย์ คิดเป็นธรรมหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็น
ท่านอาจารย์ ถ้าขณะนั้นมีการเข้าใจถูกในลักษณะของเห็น พอไหม
ผู้ฟัง ไม่พอ
ท่านอาจารย์ แล้วถ้ามีความเข้าใจถูกในลักษณะของคิด
ผู้ฟัง ไม่พอ
ท่านอาจารย์ จนกว่าจะหมดความสงสัยเป็นปกติอย่างนี้เลย เพราะเป็นธรรมทั้งหมด อันไหนที่ไม่ใช่ธรรม ถ้าไม่รู้แล้วจะเป็นพระอริยบุคคลได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เป็นปกติไหม อกุศลเป็นปกติฉันใด แทนที่จะเป็นอกุศล ปัญญาก็เป็นปกติฉันนั้นแทนอกุศล ที่เราเห็นอย่างนี้ ชอบก็เป็นธรรมดา แต่แทนที่จะเป็นโลภะ ก็เป็นปัญญาที่สามารถเข้าใจถูก เห็นถูก ก็เป็นปกติจริงๆ ถ้าไม่เป็นปกติคือผิด
ผู้ฟัง เมื่อสติปัฏฐานเกิดแล้วเห็นตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะทางปัญจทวาร ทางใดทางหนึ่งก็แล้วแต่ เมื่อสติปัฏฐานเกิดระลึกขึ้น หลังจากที่สติปัฏฐานดับไปแล้ว ความเป็นจริงต่อไป มันจะเป็นลักษณะอย่างไร
ท่านอาจารย์ หลังจากที่สติปัฏฐานดับไปแล้ว ก็หลงลืมสติเท่านั้นเอง
ผู้ฟัง หลงลืมสติ
ท่านอาจารย์ มีอยู่ ๒ คำ หลงลืมสติกับมีสติ ไม่มีสติก็หลงลืมสติ ไม่หลงลืมสติก็มีสติ ก็เป็นปกติ
ผู้ฟัง แล้วการคิดจะเป็นการหลงลืมสติไหม
ท่านอาจารย์ การคิดว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง
ผู้ฟัง แต่ว่า
ท่านอาจารย์ ไม่ใช่เรา
ผู้ฟัง ไม่ใช่เรา
ท่านอาจารย์ แล้วจิตที่คิด มีไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ก็ธรรมดาเหมือนกับจิตที่เห็น มีไหม
ผู้ฟัง มี
ท่านอาจารย์ แทนที่จะเป็นจิตเห็นก็คือจิตคิด ก็ธรรมดา
ผู้ฟัง แล้วที่ว่าเมื่อสติปัฏฐานดับแล้ว จิตที่เกิดขึ้นก็หลงลืมสติ
ท่านอาจารย์ เมื่อกี้นี้เห็นดับแล้ว ได้ยินเกิด ก็เหมือนกัน เป็นปกติอย่างนี้
ผู้ฟัง แต่ที่ว่าเห็นความจริง หรือรู้ความจริง
ท่านอาจารย์ ก็ดับแล้ว แล้วสภาพธรรมอื่นที่มีปัจจัยก็เกิดต่อ เป็นปกติ
ผู้ฟัง แล้วที่สติปัฏฐานดับแล้ว คิด เขาจะคิดเรื่องอะไร จะคิดในลักษณะไหน ที่จะเกิดความคิดขึ้นมา สำหรับผู้ที่มีสติปัฏฐาน
ท่านอาจารย์ คำถามนี้ขอย้อนกลับว่า จะให้คิดอย่างไร
ผู้ฟัง มันคิดอย่างไรไม่ได้ มันเป็นอนัตตา คิดก็คิด ก็เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัย
ท่านอาจารย์ ก็อย่างนี้แหละ นี่คือคำตอบ ความจริงคือสิ่งที่พูด พูดตามความจริง แล้ว ความจริงก็คืออย่างนี้ สติปัฏฐานดับก็คิด แล้วแต่จะคิดอะไร ก็ตามเหตุตามปัจจัย
ผู้ฟัง คงจะเข้าใจขึ้น
ประเชิญ ขอทบทวนในคำตอบของท่านอาจารย์อีกครั้งหนึ่งที่ว่า หลังจากที่สติปัฏฐานเกิดแล้วก็สติปัฏฐานก็ต้องดับด้วย คือเป็นนามธรรมที่ต้องเกิดดับตลอด อยู่แล้ว คือหลังจากนั้นจะเป็นกุศล หรืออกุศล ซึ่งก็เป็นปกติ เหมือนกับที่ท่านอาจารย์ยกตัวอย่างที่ว่า หลังจากเห็น หลังจากได้ยิน ซึ่งก็เป็นชั่วขณะที่เล็กน้อยมาก ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด ผู้ที่อบรม คือ ยังไม่ประจักษ์แจ้ง ยังไม่เแจ่มแจ้ง ชั่วแค่นิดเดียวที่เริ่มที่จะรู้ในสภาพธรรม นิดเดียวเท่านั้น ก็ยังทำอะไรกิเลสเหล่านี้ไม่ได้ ขณะที่สติปัฏฐานดับไป กับภาวะปกติ คือเป็นกุศลบ้าง อกุศลแล้วแต่ แต่ละคนซึ่งคงจะไม่เหมือนกันทุกคน
ท่านอาจารย์ ถ้าจะกล่าวว่า ขณะนี้ได้ยินสลับกับเห็น เป็นปกติไหม เป็นปกติ เพราะฉะนั้น มีสติกับหลงลืมสติก็สลับกันเป็นปกติอย่างนี้ ไม่เห็นจะต่างอะไรเลย มีสตินิดหนึ่ง แล้วก็หลงลืมสติ แล้วก็มีสติอีก แล้วก็หลงลืมสติ ก็ธรรมดา เราไปทำความไม่เป็นธรรมดาในความคิดของเรา แต่ธรรมเป็นธรรมดา ขณะนี้มีได้ยินสลับเห็น ขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน ขณะที่ได้ยินดับแล้วขณะเห็นก็เกิดขึ้น เป็นปกติอย่างนี้ เพราะฉะนั้น สติจะระลึกลักษณะของสภาพธรรมใดแล้วก็ดับ แล้วจะระลึกอีกหรือไม่ระลึก คือรู้ว่าขณะนั้นหลงลืมสติ หรือสติเกิดต่อไป ไม่มีอะไรผิดปกติเลย
ผู้ฟัง ที่ว่าเมื่อสติปัฏฐานเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง ก็จะต้องมีครั้งที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ต่อไป
ท่านอาจารย์ ถ้ามีปัจจัย
ผู้ฟัง ถ้ามีปัจจัย
ท่านอาจารย์ เมื่อครั้งที่ ๑ มีปัจจัย
ผู้ฟัง มีปัจจัยครั้งที่ ๑
ท่านอาจารย์ ก็คงจะได้สะสมปัจจัยที่สติปัฏฐาน จะไปเกิดแค่ครั้งเดียวแล้วหายไปเลย แต่เราก็ไม่รู้ว่า ปัจจัยจะพร้อมให้สติสัมปชัญญะเกิดเมื่อไร ไม่ใช่ตัวเราจะเลือก จะคอย จะหวัง จะทำให้เกิด แต่เป็นปัญญาที่ค่อยๆ มั่นคงขึ้น
การที่จะรู้ว่าเรามีความมั่นคงในความเข้าใจว่า ธรรมเป็นธรรมไม่ใช่เราแค่ไหน สอบได้เลย พอสติสัมปชัญญะเกิด ดับไป หวั่นไหวไหม อะไรที่เกิดต่อ นึกว่าเป็นธรรมดา อะไรก็ได้ ก็มีปัจจัยเกิดก็เกิด เพราะสติจะเกิดอีกเมื่อไรก็คือธรรมดา แล้วจะหลงลืมสติก็คือธรรมดา นี่คือผู้ที่ไม่หวั่นไหว เพราะว่ารู้ลักษณะของสภาพธรรมด้วยความมั่นคงจริงๆ แต่ถ้าหวั่นไหว อยากให้สติเกิดอีก เมื่อไรสติจะเกิดอีก ทำอย่างไรสติจะเกิดอีก ตอนนี้ก็มาเป็นแถว กั้นทันที เครื่องกั้นมีมากมาย จากอวิชชา และความเป็นเรา ที่ยังมีอยู่มาก
ประเชิญ หลายครั้งจะเข้าใจว่า พอสติปัฏฐานเกิดแล้ว เหมือนกับเป็นคนละคน คือเหมือนกับผู้ที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม จากปุถุชนเป็นพระอริยบุคคล อันนี้คือขั้นโลกุตตระ แต่ว่าขั้นโลกียะที่กำลังอบรม ห่างไกลมาก คือ กำลังของปัญญาเล็กน้อย หรือว่าแทบจะไม่รู้สึกว่า เริ่มที่จะเข้าใจเท่านั้นเองในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ยังไม่ถ่ายถอนหรือยังไม่ละอะไรเลย แต่ว่าปัญญาเพิ่มขึ้นๆ แล้วก็ต้องเหมือนเดิม ถ้าไม่เหมือนเดิมนั้นแปลก คือไปเป็นคนละคน ไม่ใช่แล้ว จำอะไรไม่ได้ เห็นแก้วไม่เป็นแก้ว หรือเห็นพ่อแม่ ไม่เป็นพ่อแม่ อันนี้ไม่ดี แปลกแล้ว
ผู้ฟัง อันนี้เข้าใจ ผมก็พอเข้าใจ แต่จากการฟัง ทีนี้ผมว่าเรื่องสติปัฏฐาน มันไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้น คือ ความเข้าใจของผมว่า ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายที่จะเกิด ผมไม่ทราบว่ามีท่านผู้ใดจะเห็นตามนี้ หรือเปล่า หรือว่าจะขอคัดค้านก็เชิญ
ท่านอาจารย์ คือเราไม่เคยได้เข้าใจว่า เป็นธรรมดา พอได้ยินคำว่าสติปัฏฐาน ประการที่ ๑ คิดว่า ต้องไปทำให้ผิดปกติ ที่เคยเข้าใจเป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เวลามาฟังว่าเป็นปกติ เราคิดไม่ออก มันผิดจากที่เคยเข้าใจว่า ต้องไปทำให้ผิดปกติ เป็นปกติอย่างนี้ ขับรถยนต์ หรืออะไรๆ อย่างนี้ คนที่เข้าใจผิดจะบอกว่า สติปัฏฐานเกิดไม่ได้
เวลาที่เราฟังว่าสติปัฏฐานเป็นธรรมดา เหมือนได้ยินกับเห็นนั้นแหละมีปัจจัยก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิด ก็ระลึกตามปกติธรรมดา หมดก็หมดไป เกิดอีกเมื่อไรก็คือเหมือนกับเห็นกับได้ยิน สิ่งที่กำลังสลับกันเป็นปกติ ไม่ใช่เราไปทำ ก็เลยนึกไม่ออกเพราะว่าไปติดการที่เคยทำ แล้วคิดว่าต้องผิดปกติ ต้องไปทำขึ้น จนกว่าเมื่อไรได้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เมื่อนั้นก็จะรู้ว่า ไม่ใช่เรื่องทำ เป็นเรื่องอบรม ภาวนา คือ อบรมให้เข้าใจถูกด้วยสติสัมปชัญญะที่กำลังรู้ลักษณะแต่ละลักษณะตามปกติ
ผู้ฟัง จากการศึกษาเมื่อเวลาสติปัฏฐาน เกิดขึ้นก็จะมีลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรมหรือนามธรรมปรากฏตลอด ก็คือสติปัฏฐาน ในกรณีที่ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นรูปธรรม และนามธรรมไม่ปรากฏต่อสติปัฏฐาน ได้ไหมท่านอาจารย์
ท่านอาจารย์ สติไม่เกิด แล้วจะให้นามรูปปรากฏกับสติปัฏฐานได้ไหม ในเมื่อสติไม่เกิด
ผู้ฟัง ไม่ได้ แต่ในชีวิตประจำวันก็จะมีลักษณะของสภาพธรรมปรากฏอยู่ตลอดเวลา แต่เราไม่รู้
ท่านอาจารย์ ปรากฏกับอะไร ปรากฏกับไม่รู้ ไม่ปรากฏกับรู้
ผู้ฟัง ปรากฏต่อจิตที่กำลังรู้ว่ามี กำลังเห็น กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น มีสิ่งที่ถูกเห็น มันเหมือนกับรวมๆ กันอยู่ที่ปรากฏ จะกล่าวว่าสภาพธรรมก็ปรากฏ แต่ ไม่ได้ปรากฏต่อสติปัฏฐาน ได้ไหม
ท่านอาจารย์ แน่นอน ขณะนี้สภาพธรรมก็ปรากฏ สีสันวรรณะปรากฏกับจักขุวิญญาณ แข็งปรากฏกับกายวิญญาณ เสียงปรากฏกับโสตวิญญาณ ก็ปรากฏ
ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ความเข้าใจขั้นการฟังในชีวิตประจำวัน ก็จะมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เราก็สามรถรู้ได้ว่า สภาพธรรมปรากฏแต่ไม่รู้ แต่ว่าปรากฏเหมือนรวมๆ กันอยู่ ซึ่งความจริงก็เป็นอย่างนั้น จนกว่าวันใดวันหนึ่งสติปัฏฐานก็จะเริ่มรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นรูปธรรม และนามธรรมที่กำลังปรากฏ ขณะนี้เราก็รู้ได้ โดยการนึก หรือคาดคะเนเอาว่า ขณะนี้มีสภาพธรรมปรากฏ กับในขณะที่รู้ตรงลักษณะที่สภาพธรรมกำลังปรากฏ
ท่านอาจารย์ เราจะรู้ความต่างของขณะที่สติไม่เกิด ก็เห็นธรรมดา กับขณะที่สติเกิด กำลังค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ
ผู้ฟัง ถ้าหนูหลงลืมสติไปแว๊บเดียว คือใช้เหตุใช้ผลเข้ามาทันทีเลย พอรู้ว่าตัวเองหลงลืมสติไป จะใช้กับในชีวิตประจำวันมาตลอด อย่างนี้เป็นความคิดที่ถูกไหม
ท่านอาจารย์ จริงๆ แล้วไม่ว่าจะฟังอะไร เดี๋ยวนี้เข้าใจไหมว่า ธรรมคืออะไร
ผู้ฟัง ตอนนี้เข้าใจแล้วว่า ธรรม คือ สิ่งที่มีจริง
ท่านอาจารย์ แล้วก็ไม่ใช่เพียงเท่านั้น ใช่ไหม ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา สภาพธรรมที่มีจริงปรากฏ เมื่อเกิดขึ้น ถ้าไม่เกิดขึ้นก็จะไม่ปรากฏเลย แต่ระหว่างที่คิดอย่างนั้นเป็นเราอยู่ แน่นอน จะหยุดคิดก็เป็นเราหยุด จะคิดต่อไป ก็ยังคงเป็นเราอยู่ดี
เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า การฟังธรรม มีหลายขั้น ขั้นทาน เราก็เคยฟัง การที่จิตขณะนั้นเป็นไปในการที่จะไม่คิดถึงประโยชน์ของตนเอง แต่ว่าคิดถึงประโยชน์ของคนอื่น ต้องการให้คนอื่นมีความสุข พ้นจากทุกข์ต่างๆ เหล่านี้ ก็เป็นกุศลขั้นต่างๆ แต่ก็เป็นเรา
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 361
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 362
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 363
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 364
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 365
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 366
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 367
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 368
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 369
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 370
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 371
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 372
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 373
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 374
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 375
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 376
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 377
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 378
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 379
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 380
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 381
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 382
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 383
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 384
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 385
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 386
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 387
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 388
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 389
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 390
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 391
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 392
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 393
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 394
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 395
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 396
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 397
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 398
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 399
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 400
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 401
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 402
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 403
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 404
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 405
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 406
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 407
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 408
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 409
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 410
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 411
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 412
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 413
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 414
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 415
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 416
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 417
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 418
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 419
- ปกิณณกธรรม ตอนที่ 420