ปกิณณกธรรม ตอนที่ 389


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๘๙

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ แต่ว่าคิดถึงประโยชน์ของคนอื่น ต้องการให้คนอื่นมีความสุข พ้นจากทุกข์ต่างๆ เหล่านี้ ก็เป็นกุศลขั้นต่างๆ แต่ก็เป็นเรา เพราะฉะนั้น ยังไม่ถึงคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เราเคยได้ยินคำนี้แน่นอน แต่ว่าเราถึงความจริงว่า ขณะนี้ที่กำลังเห็นเป็นอนัตตา หรือเป็นเรา หรือขณะที่คิดเป็นอนัตตาหรือเป็นเรา ขณะที่หยุดคิดเป็นอนัตตาหรือเป็นเรา เป็นคำของผู้ตรัสรู้ ผู้ทรงแสดง และผู้ที่ประจักษ์ความจริง

    เพราะฉะนั้น ผู้ที่เริ่มฟังจะเทียบไม่ได้เลยกับผู้ที่ได้ประจักษ์ความจริงแล้ว ในธรรมแต่ละอย่างซึ่งมีลักษณะเฉพาะแต่ละอย่าง บางลักษณะก็เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ บางลักษณะก็เป็นรูปธรรม ไม่ใช่สภาพรู้ บางครั้งก็เป็นอกุศล เช่น นึกติเตียนเขา บางครั้งก็เป็นกุศล ไปติเตียนเขาทำไม ขณะนั้นจิตเราก็เป็นอกุศลไปด้วย แต่ขณะนั้นก็ยังไม่ได้เข้าใจว่า ขณะนั้นไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้น ขณะที่เป็นอย่างนั้น ไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้จริงๆ ว่า ขณะนั้นไม่ใช่เราเลย ขณะไหนๆ ก็ไม่ใช่เรา ขณะเห็นก็ไม่ใช่เรา ขณะได้ยินก็ไม่ใช่เรา จะขับรถหรือไม่ขับรถ จะเห็นคนนุ่งกระโปงสั้นหรือไม่สั้นก็ไม่ใช่เราหมด จึงจะเป็นปัญญาที่ถูกต้อง ที่ไม่เลือกว่า เมื่อไร เพราะว่าจริงๆ แล้วตลอดชีวิต วันหนึ่งๆ จะพ้นเห็นได้ไหม จะพ้นได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก นี่เป็นชีวิตประจำวัน ซึ่งเราไม่เคยรู้เลยว่า เป็นธรรมทีละขณะ ที่เป็นสภาพรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วก็ดับไป

    เพราะฉะนั้น จะคิดอย่างนี้ไปตลอด ก็ยังไม่ถึงความเป็นอนัตตา จนกว่าจะฟังแล้วก็เริ่มเข้าใจจริงๆ โดยการพิจารณาว่า ขณะนี้ที่ว่าเป็นอนัตตา ก็เพราะเหตุว่าสภาพเห็นเกิดแล้วจึงเห็น แล้วก็ดับไป มิฉะนั้นได้ยินจะมีไม่ได้เลย ถ้ายังเห็นอยู่โดยที่เห็นไม่ดับ ได้ยินเกิดขึ้นไม่ได้ คิดนึกเกิดขึ้นไม่ได้

    เพราะฉะนั้น ธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียด ลึกซึ้ง สิ่งที่เรามองดูว่า เป็นธรรมดาในชีวิตประจำวัน มีกับเราตั้งแต่เด็กจนโต เป็นธรรมดา ชินมาก แต่ว่าสิ่งที่เหมือนไม่มีอะไรแท้ที่จริงแล้วทรงตรัสรู้ความจริงของสภาพธรรมแต่ละลักษณะโดยละเอียด ถ่องแท้ จนปรากฏความไม่ใช่เราเลย สักอย่างเดียว

    เพราะฉะนั้น เพียงขั้นฟัง ยังไม่ถึงการประจักษ์ความถ่องแท้ของสิ่งที่ปรากฏเหมือนไม่มีอะไร ไม่ว่าจะได้ยินอะไรในพระไตรปิฎก อายตนะ หรือธาตุ หรือขันธ์ ทั้งหมดคือคำที่ทรงแสดงให้รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มี จริงๆ

    เวลารับประทานอาหารมีหลายรส มีหลายรส ขณะนั้นรสเป็นรูปหรือเป็นนาม เป็นรูป ถ้าเราเพียงท่องหรือเราจำมา ได้ยินมาว่า มีนามกับรูป แล้วอาจจะได้ยิน แต่ว่าเราอาจจะสับสน เพราะไม่เข้าใจว่า ทุกสิ่งที่ไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลย มี แล้วเราจะสื่อความหมายว่า เราหมายความถึงสภาพนั้น เราก็ใช้คำว่า รูป รู-ปะ แปลว่ารูปธรรม ให้รู้ว่าสิ่งนั้นมีจริง แต่ไม่ใช่สภาพรู้ แต่สภาพรู้ ไม่ใช่รูปใดรูปหนึ่งเลย แต่ว่าเกิดขึ้นเป็นธาตุชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถที่จะเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ สามารถได้ยินเสียงในขณะนี้ ทีละเสียงด้วย เห็นไหม

    นี่คือความสามารถของธาตุรู้เสียงที่สามารถได้ยินเสียงแจ่มแจ้งแต่ละเสียง ไม่ใช่เรา นี่คือจะต้องอบรมเจริญปัญญาจากฟัง ให้ค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วไม่ต้องห่วงเรื่องปฏิบัติเลย มิฉะนั้นก็เป็นเราที่ปฏิบัติ ตามๆ กันโดยไม่เข้าใจอะไรเลยทั้งสิ้น ไม่เข้าใจว่าปฏิบัติไม่ใช่เรา แต่เป็นเจตสิก ซึ่งใช้คำว่าเป็นมรรค คือ หนทางที่จะทำให้ปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น ได้แก่อะไรบ้าง เจตสิกมีหลายชนิด แต่เจตสิกที่เป็นหนทางที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้นได้แก่เจตสิกอะไร หรือสภาพธรรมอะไร ใช้คำว่าสติปัญญา หมายความถึงความฉลาด แต่ไม่ใช่ตัวสติเจตสิก ซึ่งต้องเป็นโสภณ คือ เจตสิกฝ่ายดี จะไม่เกิดกับอกุศลเลย ขณะที่ให้ทาน ไม่ใช่เรา

    เพราะฉะนั้น เป็นอะไร เป็นสติที่เกิดขึ้นระลึกเป็นไปในการให้ เพราะวันหนึ่งๆ เราทั้งนั้นเลย ตื่นขึ้นมาก็มีแต่ต้องการเพื่อตัวเรา ไม่ว่าจะทำอะไร เอื้อมมือไปหยิบน้ำ ก็เพื่อตัวเรา ทุกอย่าง เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ไม่มีปัจจัยที่จะทำให้สละสิ่งที่มีประโยชน์แก่คนอื่น เพราะว่าบังคับบัญชาไม่ได้ ต้องสติเกิดขึ้นเมื่อไร แล้วสตินั้นเป็นไปในการให้ การให้จึงจะมีได้

    เราค่อยๆ เข้าใจว่า ไม่มีเรา แล้วมีอะไร ก็มีจิตกับเจตสิก รูป จิตเจตสิกก็เป็นนามธรรม รูปก็เป็นรูปธรรม เราไม่ต้องไปกังวลว่า เราจะปฏิบัติ หรือจะปฏิบัติเมื่อไร มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นๆ ก็จะมีปัจจัยที่จะทำให้สติสัมปชัญญะเกิดระลึกลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เราปฏิบัติ แต่สติเกิดขึ้นปฏิบัติกิจของสติ ปัญญาเกิดขึ้นปฏิบัติกิจของปัญญา เจตสิกอื่นๆ ก็มีเฉพาะกิจของเจตสิกนั้นๆ ซึ่งสับสนไม่ได้ เจตสิกนี้จะไปทำกิจของเจตสิกนั้นก็ไม่ได้ นี่คือการที่ค่อยๆ เข้าใจว่าไม่มีเราตั้งแต่ขั้นฟังที่มั่นคงขึ้น

    ประเชิญ หลังจากที่มาฟังท่านอาจารย์แล้วก็จะทราบว่า การอบรมปัญญา อบรมสติปัฏฐาน วิปัสสนา เป็นเรื่องเบาสบาย เป็นเรื่องรู้แล้วก็ละ นั่นคือการอบรมจากการที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังเลย ก็เริ่มที่จะได้ยินได้ฟัง แล้วก็เข้าใจมากขึ้นๆ ในสิ่งที่กำลังปรากฏที่พระพุทธองค์ท่านแสดงไว้ พระธรรมคำสอนนั้นก็เป็นสิ่งที่แสดงไว้ชัดเจนว่า สอนเพื่อที่จะให้ละ ไม่ใช่สอนให้ติด

    ผู้ฟัง กำลังพูดถึงเรื่องสติ ในชีวิตประจำวันเราก็ขับรถ แล้วคนเขาก็บอกขับหนอ หน้าหนอ เหยียดหนอ หักหนอ ซ้ายหนอ จะต้องหยุดรถ ไม่ใช่อยู่ที่ความคิดอื่น ตรงนี้คือสติไหม ตรงนี้ถูกต้องไหมในที่ขณะที่เรากำลังศึกษาความจริง อันนี้คือคำถามแรก คำถามที่ ๒ คือ เมื้อกี้ท่านอาจารย์บอกว่า วิริยเจตสิกอันนี้ไม่ค่อยเข้าใจ

    ท่านอาจารย์ คำว่ารู้ตัวที่นี่ ไม่ได้หมายความว่าเพียงรู้ว่ากำลังนั่ง ถ้ารู้ตัวที่เป็นสติสัมปชัญญะ หมายความว่าต้องมีปัญญาเกิดร่วมด้วย คำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่มีที่จะขาดปัญญา ไม่ใช่สอนให้เราไม่รู้ ไม่เข้าใจ แต่สอนให้รู้สภาพธรรมทุกขณะ ขณะที่มีความติดข้อง ควรรู้ไหมว่า ขณะนั้นก็มีจริงๆ ไม่ใช่เราเลย เป็นลักษณะของความพอใจ ความติดข้อง ขณะนั้นควรรู้ไหม หรือว่าติดข้องขณะนี้ก็รู้ตัวว่ากำลังติดข้อง เป็นเราติดข้อง เรากำลังชอบดอกไม้ เรารู้ว่าเรากำลังชอบ ไม่ใช่ความเห็นถูก

    เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนาไม่ได้สอนอย่างนี้ว่า ขณะที่เรารู้ว่าเรากำลังชอบ เป็นการรู้ที่ถูกต้อง ที่เป็นกุศล ที่จะดับการเห็นผิด และยึดถือสภาพธรรมว่า เป็นตัวตน เพราะใครๆ ก็รู้ เวลาโกรธเกิดขึ้นก็รู้ว่าโกรธ อย่างนั้นหรือคะที่ชื่อว่ารู้ตัว เราใช้คำว่ารู้ตัวเวลาที่เราไม่ได้เป็นคนเมา หรือว่าไม่ได้ขาดสติ ที่ใช้กันในภาษาไทยว่าขาดสติสัมปชัญญะ แต่เราใช้คำไม่ถูกต้อง เพราะว่าถ้าพูดถึงสติ แม้แต่คำนี้ บ่งถึงสภาวธรรมที่เป็นโสภณ ฝ่ายดีเท่านั้น สติจะเกิดเมื่อระลึกเป็นไปในกุศล เช่นทาน ศีล สมถะ คือ ความสงบของจิต หรือการฟังธรรม การเข้าใจธรรม การอบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม นั่นจึงจะเป็นสติ สัมปชัญญะ คือ ขณะที่กำลังฟัง เรากำลังฟังเรื่องจิต แล้วจิตก็กำลังมี กำลังฟังเรื่องเจตสิก เจตสิกก็มี ฟังเรื่องรูป รูปก็มี แต่ไม่ได้รู้ตรงลักษณะของจิต ไม่ได้รู้ตรงลักษณะของเจตสิก ไม่ได้รู้ตรงลักษณะของรูปทีละลักษณะ ขณะนั้นจึงไม่ใช่สติสัมปชัญญะที่ว่า รู้ตัวทั่วพร้อม หรือว่า รู้ตัวในทางธรรมต้องประกอบด้วยปัญญา ความต่างอยู่ตรงนี้ ในภาษาไทยเราบอกว่าเรารู้ตัว แต่ว่าไม่ได้ประกอบด้วยปัญญา แต่ว่าทางธรรม ถ้าเป็นสติสัมปชัญญะ คือการรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่รู้ตัวต้องเป็นปัญญาที่เข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถ้าไม่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย เราจะมีความคิดเรื่องเรากำลังขับรถไหม ไม่มี

    เวลาที่เรากำลังคิดว่า เรากำลังขับรถหรือว่า เรากำลังนั่งอยู่ในห้องนี้ ความจริงต้องแยกออกเป็นแต่ละทาง เพราะว่าจะเกิดรู้พร้อมกันทีเดียว ๖ ทางไม่ได้ ต้องทีละทาง ทางตาขณะที่กำลังเห็น แค่เห็น มีสติสัมปชัญญะหรือเปล่า หรือว่าเห็นเป็นธรรมดาที่ต้องเห็น เพราะมีปัจจัยให้เห็น แต่เห็นด้วยความไม่เข้าใจในเห็น และในสิ่งที่เห็น จึงยึดถือว่าเป็นเรา เป็นคนนั้น เป็นคนนี้ แต่ว่าความจริงต้องเริ่มเข้าใจจริงๆ ตั้งแต่ขั้นฟังว่า เห็น สามารถจะเห็นเฉพาะสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นเอง มีแต่สิ่งที่ปรากฏทางตา แต่ว่าสามารถที่จะทำให้คิด ต่างๆ ตามความทรงจำ ฉันใด ขณะที่อยู่ต่างนี้ แม้ว่าไม่ใช่โทรทัศน์ก็ตามแต่ เห็นแล้วก็มีการทรงจำว่าสิ่งที่เห็นเป็นอะไร แต่ต้องทราบว่าต่างขณะ เพราะว่าต้องรู้เลยว่า โลกทางตาอย่างหนึ่ง โลกทางตาจะไม่มีอะไรเลย นอกจากสิ่งที่ปรากฏทางตา โลกทางหู ก็ไม่มีอะไรเลย นอกจากเสียงกับสภาพที่ได้ยิน โลกทางจมูกขณะนั้นก็ไม่มีเราหรือไม่มีใครเลย มีกลิ่นปรากฏกับสภาพที่กำลังรู้กลิ่น โลกทางลิ้นก็เช่นเดียวกัน ขณะที่ลิ้มรสปรากฏ ก็จะมีการรู้รส แล้วก็รสเท่านั้นที่ปรากฏ แล้วขณะที่กระทบสัมผัสพวกมาลัยเหมือนกับสัมผัสแข็ง อ่อน เย็น ร้อนที่อื่นไหมคะ ก็เหมือนกัน แต่ว่าทรงจำในลักษณะนั้นว่า เป็นพวงมาลัย ทรงจำในลักษณะแข็งนี้ว่าเป็นโต๊ะ หรือทรงจำในลักษณะแข็งอื่นๆ ตามการคิดนึก แต่ลักษณะที่จะปรากฏแข็ง ต้องทางกายเท่านั้น

    เพราะฉะนั้น ทางใจรับรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยความทรงจำว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด จึงมีคำว่า อัตตสัญญา ตรงกันข้ามกับอนัตตสัญญา เราจะมีอัตตสัญญา เพราะว่าความรวดเร็วของสิ่งที่เกิดดับสืบต่อกัน อย่างเห็นแล้วที่จะไม่เห็นว่าเป็นใคร เป็นไปไม่ได้ เพราะว่ามีใครไปหยุดยั้งจิตว่าเห็น แล้วไม่ให้คิด ไม่ให้รู้ เพราะว่าหลังจากเห็นแล้ว เพราะการเห็นนั้นเป็นปัจจัยให้จิตทางใจเกิดขึ้นรับรู้สิ่งที่เห็น พร้อมทั้งการคิดนึก เรื่องราวของสิ่งที่เห็นหลายวาระ เราเห็น แล้วเราก็คิดเรื่องที่เห็นมาก แล้วก็เห็นอีก แล้วก็คิดเรื่องที่เห็นมากอีก วันหนึ่งๆ สังสารวัฏฏ์ไม่หมดสิ้นจากเห็น เพราะเห็นแล้วก็คิดไปได้ไกลมาก นี่คือไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า เป็นแต่ละขณะซึ่งเกิดดับสืบต่อจนรวมเห็นสิ่งหนึ่งให้เราเข้าใจว่า สิ่งนั้นเที่ยง ถ้ารวมอยู่ตรงนี้ก็ เข้าใจว่า สิ่งที่รวมอยู่ตรงนี้เป็นสิ่งหนึ่งคือเป็นตัวตน

    เราไม่รู้จักโลกตามความเป็นจริงเลยว่า แท้ที่จริงคือธรรมแต่ละขณะที่เกิดขึ้น แล้วเราต้องเข้าใจทุกคำที่ได้ยินด้วย เราจะกล่าวว่า ขณะที่เรารู้ว่ากำลังนั่ง กำลังเห็นเป็นสติ เป็นรู้ตัวไม่ได้ เราใช้ภาษาไทยได้ แต่ขณะนั้นจะต้องบอกว่า ถ้าเป็นสติสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อม ต้องมีปัญญาคือความเห็นถูก ความเข้าใจถูกในสิ่งที่เห็นด้วย

    นี่คือเราจะต้องละเอียดรอบคอบในการใช้คำตามที่เป็นจริง มิฉะนั้นเราเอาความเข้าใจของเราเองไปสับสน เราก็เลยไม่มีวันจะเข้าใจสักทีหนึ่ง เราก็รู้ว่า เราเห็นอะไร แต่นั่นไม่ใช่สติสัมปชัญญะ นั่นเป็นแต่เพียงขณะที่มีสภาพธรรมปรากฏ แต่ว่าไม่ใช่มีปัญญา ถ้ามีปัญญาด้วยจึงจะรู้ได้ว่า ขณะนั้นเป็นสติปัฏฐาน แล้วก็เป็นสติสัมปชัญญะ

    เพราะฉะนั้น ความต่างอยู่ตรงนี้ ผู้ที่เป็นพระอรหันต์ท่านเห็นเหมือนเราหรือเปล่า พระพุทธเจ้าท่านเห็นพระสารีบุตรไหม เหมือนเราไหม ถ้าเราจะเกิดในยุคนั้น สมัยนั้น เราก็เห็นท่านพระสารีบุตร เห็นท่านพระมหาโมคคัลลานะ เห็นพระวิหารเชตวัน เห็นเหมือนกันเลย แต่ความต่างคือว่า เมื่อพระอรหันต์ทั้งหลายเห็นแล้ว ไม่มีกุศลจิต หรืออกุศลจิตเลย ดับหมด เพราะรู้ความจริงของเห็น และธรรมที่มีจริง จนกระทั่งดับกิเลสได้หมดสิ้น

    เพราะฉะนั้น ก็มีความต่างกันว่า ผู้ที่เป็นปุถุชนเห็นแล้วไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม ถ้าไม่มีโอกาสได้ฟังพระธรรมเลย เหมือนคนตาบอด ไม่รู้เลยว่า ความจริง จริงๆ คืออะไร ไม่ใช่ตาบอดเปล่าๆ ตกลงไปในเหวของสังสารวัฏฏ์ด้วย จะขึ้นมาจากเหวของสังสารวัฏฏ์ขึ้นมาได้อย่างไร ตาก็บอด ความรู้อะไรก็ไม่มี มืดสนิทอีกต่างหาก แต่พอได้ฟังธรรม มีความเข้าใจแม้เพียงเล็กน้อย ก็ยังเข้าใจความหมายของคำว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เริ่มเห็นพระองค์ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ มิฉะนั้นเราจะไม่มีโอกาสได้ยินได้ฟังคำเหล่านี้เลย คำเหล่านี้ทรงแสดงไว้ ณ. สถานที่ต่างๆ ในอดีต พระวิหารเชตวัน พระวิหารเวฬุวัน ผ่านไปแล้วก็จริง เรายังมีโอกาสได้ฟังซ้ำอีก ได้พิจารณา ได้เข้าใจอีก

    นี่ก็เป็นลาภที่ประเสริฐที่สุดยิ่งกว่าลาภอื่น เพราะว่าลาภอื่น ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม ได้มาแล้วแล้วหมดไป ยังไงหมดแน่ จากไปแน่นอน ไม่เป็นของเราอย่างแท้จริง แต่ปัญญาใครเอาไปไม่ได้เลย เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็สะสมสืบต่อ ทำให้ผู้ที่ได้สะสมมาแล้ว สามารถที่จะฟังพระธรรม รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะฉะนั้น อยู่ที่ปัญญา

    ผู้ฟัง อาจารย์ได้พูดถึงสติปัฏฐาน อยากจะถามเพื่อความเข้าใจอีกครั้งหนึ่งว่า ลักษณะของสติปัฏฐานที่เกิด สำหรับผมไม่เคยเกิด อยากจะถามเพื่ออย่างน้อยในวันข้างหน้า ถ้าเกิดว่า เรามีลักษณะอย่างนี้ เราเคยฟัง จะได้จำได้ คือ อาจารย์บอกว่า มีความเห็นถูก และเข้าใจถูกในสภาพธรรมนั้นๆ ที่กำลังปรากฏ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า สติเป็นเจตสิกที่เป็นไปทางฝ่ายดี ใช้คำว่า โสภณ เพราะจริงๆ แล้วเกิดกับกุศลก็ได้ วิบากก็ได้ กิริยาก็ได้ ปัฏฐานคือที่ตั้งของสติ เมื่อสติเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ จิตเป็นสภาพรู้ต้องมีอารมณ์ คือสิ่งที่จิตรู้ เพราะฉะนั้น เวลาที่สติปัฏฐานเกิดกับจิตใด จะต้องมีอารมณ์เดียวกับจิตนั้น อารมณ์คือสิ่งที่จิตกำลังรู้ ขณะนี้ทางตา อะไรเป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง กำลังเห็น

    ท่านอาจารย์ อันนั้นเป็นอารมณ์ของจิต เพราะฉะนั้น เวลาที่สติปัฏฐานเกิดกับจิต สติปัฏฐานต้องเกิดกับจิตแน่นอน เพราะเป็นเจตสิก จะไม่เกิดกับจิตไม่ได้เลย เวลาที่สติปัฏฐานเกิดกับจิต จิตกำลังรู้อารมณ์อะไรสติปัฏฐานก็ระลึก คือรู้ตรงอารมณ์นั้น

    ผู้ฟัง รู้อารมณ์ เดียวกัน

    ท่านอาจารย์ แน่นอน กับจิตนั้น แต่ว่าหน้าที่ระลึกไม่ใช่หน้าที่ของจิต เป็นหน้าที่ของสติที่ระลึกตรงอารมณ์นั้น

    ผู้ฟัง อย่างสมมติว่า ตอนนี้เห็นกระดาษทิชชูสีขาว สิ่งที่ปรากฏทางตาคือสีขาว แล้วตัวจิตอีกอันหนึ่งที่เรียก สัญญาเดิม ที่บอกว่ามันคือทิชชู แล้วสติปัฏฐานจะอยู่ตรงไหน

    ท่านอาจารย์ ขณะที่คิด ขณะนั้นไม่มีลักษณะของสภาพธรรมซึ่งเป็นที่ตั้งของสติ แต่ว่าถ้าสามารถเข้าใจถูกว่า จิตเป็นสภาพคิด จิตเป็นสภาพรู้ ถ้าเข้าใจในขณะที่คิดได้ว่า ขณะนั้นก็เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่งที่กำลังคิด กำลังรู้คำ รู้เรื่อง ขณะนั้นถูกไหม

    เพราะฉะนั้น จิตเป็นอารมณ์ของสติปัฏฐาน หมายความว่าจิตที่กำลังคิดเป็นปัฏฐานเป็นที่ตั้ง ให้สติรู้ว่า ขณะนั้นไม่ใช่เรา เป็นสภาพที่กำลังคิด

    ผู้ฟัง ขณะนั้นไม่ใช่เราเห็น

    ท่านอาจารย์ เห็นมี

    ผู้ฟัง มีๆ

    ท่านอาจารย์ เห็น จริงๆ แล้วไม่ใช่กุศลจิตเลย เป็นวิบากจิต กรรมทำให้จิตเกิดขึ้นเห็น ต้องแยกชัดโดยชาติ ถ้าไม่มีกรรมที่ได้กระทำแล้ว เวลาที่เป็นพระอรหันต์ปรินิพพานแล้ว จิตเห็นก็ไม่เกิด แต่ว่าตราบใดก็ตามที่ยังมีปัจจัยที่จะให้วิบากเกิด เราต้องรู้ว่า เราเกิดมาขณะไหนเป็นวิบาก ขณะไหนไม่ใช่วิบาก ขณะที่เกิดเป็นวิบาก เป็นผลของกรรม แล้วก็ขณะที่ยังไม่ตาย ก็มีจิตที่ดำรงภพชาติ ทำกิจภวังค์ ดำรงภพชาติ ไม่เห็น ไม่ได้ยินเพื่อที่จะมีจิตที่เป็นผลของกรรมเกิดขึ้นโดยเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส อันนี้เป็นวิบากจิตทั้งหมด

    เพราะฉะนั้น วิบากจิตเหล่านี้ไม่มีสติเจตสิกเกิดร่วมด้วย แต่จิตที่เกิดภายหลัง สามารถที่จะระลึกได้ว่า เห็นเป็นสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ เพราะฉะนั้น อะไรก็ตามที่สติกำลังระลึกรู้ตรงนั้น นั่นเป็นปัฏฐาน เป็นที่ตั้งหรือเป็นอารมณ์ของสตินั่นเอง อย่างแข็ง ปรากฏกับกายวิญญาณ แข็งไม่ได้เปลี่ยนเลย เพราะฉะนั้น เวลาที่สติเกิดภายหลังต่อ สืบต่อทันทีแข็งยังมีอยู่ สติก็ระลึกตรงแข็ง ลักษณะนั้นเป็นปัฏฐาน เป็นที่ตั้งของสติ เพราะว่าสติกำลังรู้ลักษณะที่แข็ง หรือว่าจะรู้ลักษณะที่กำลังรู้แข็งก็ได้ สภาพรู้นี่มีอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้น แล้วแต่ว่าจะรู้ลักษณะที่แข็งหรือจะรู้ลักษณะซึ่งเป็นสภาพที่กำลังรู้แข็ง เพื่อที่จะได้รู้ว่า ไม่มีเราเลย มีแต่สภาพรู้ซึ่งเป็นนามธรรมกับรูปธรรม

    ผู้ฟัง ท่านอาจารย์ได้กล่าวถึงสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ช่วยกรุณาขยายความละเอียดของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้ไหม

    ท่านอาจารย์ เวลานี้ทุกคนเห็นทั้งนั้นเลย อะไรปรากฏ

    ผู้ฟัง ถ้าพูดถึงเห็น ก็จะมีสิ่งที่ถูกเห็น สภาพเห็น

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ถูกเห็น ขณะนี้ มีจริงๆ

    ผู้ฟัง มีจริงๆ แต่ความเข้าใจในขั้นการศึกษา สิ่งที่ถูกเห็นจะต้องเกิดแล้ว ดับแล้ว จึงปรากฏ

    ท่านอาจารย์ สำหรับผู้ที่ประจักษ์แจ้ง แต่ขณะนี้สิ่งที่ปรากฏทางตาดับหรือยัง

    ผู้ฟัง เหมือนไม่ดับ

    ท่านอาจารย์ เหมือนไม่ดับ เพราะไม่รู้ไง

    ผู้ฟัง ถ้าหากว่า สติในขั้นสมถภาวนา หรือวิปัสสนาภาวนา ถ้าหากว่าสภาพธรรมนั้นไม่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ คนละอย่าง สมถภาวนากับสติปัฏฐาน คนละอย่าง

    ผู้ฟัง คนละอย่าง ถ้าหากว่าสภาพธรรมนั้นไม่ปรากฏ สติปัฏฐานจะระลึกรู้สิ่งที่ไม่ปรากฏได้ไหม

    ท่านอาจารย์ เมื่อวานนี้ ยังมีเหลือไหม

    ผู้ฟัง ไม่เหลือ

    ท่านอาจารย์ เมื่อกี้นี้ยังมีเหลือไหม

    ผู้ฟัง ไม่เหลือ

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีอะไรปรากฏ

    ผู้ฟัง ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ ยังมีอยู่ให้รู้ได้ สิ่งที่มีอยู่ ปรากฏอยู่ให้รู้ได้ ให้เข้าใจได้

    ผู้ฟัง ถ้าหากว่าสติปัฏฐานไม่ระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ก็เป็นการหลงลืมสติไป ทั้งๆ ที่สิ่งนั้นกำลังปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ก็มีลักษณะ ๒ อย่างในชีวิตประจำวัน

    ท่านอาจารย์ เมื่อระลึกแล้วคือการค่อยๆ รู้ลักษณะนั้น

    ผู้ฟัง ในกรณีที่เป็นสมถภาวนา ถ้าไม่มีสิ่งที่ปรากฏจะระลึกรู้ได้ไหม

    ท่านอาจารย์ สมถะ คืออะไร

    ผู้ฟัง สมถะ คือความสงบของจิต ความสงบมีจริง แต่ยึดถือความสงบนั้นว่าเป็นเราสงบ

    ท่านอาจารย์ ยึดถือหมดเลย

    ผู้ฟัง ยึดถือหมดเลย แต่ความสงบนั้นก็เป็นธรรมที่มีจริง

    ท่านอาจารย์ เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม

    ผู้ฟัง ความสงบเป็นนามธรรม ความเข้าใจตรงนี้ ผู้ที่เข้าใจธรรมก็จะเริ่มแยกออกได้ว่า ในขณะที่เป็นสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนา แล้วก็จะเริ่มมีความต่างกันในชีวิตประจำวัน ถ้าผู้นั้นสติเริ่มเกิด ผมเข้าใจว่าอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ แต่ต้องแยกกัน สมถภาวนา ทำให้จิตสงบมั่นคงจนกระทั่งสงบถึงขั้นฌานจิต นั่นคือภาวนาอบรมให้มั่นคง ให้เจริญขึ้น

    ผู้ฟัง สติรู้ตัวทั่วพร้อม เกิดดับ คืออะไรต่างๆ จะมาช่วยอย่างไรให้ดีขึ้น

    ท่านอาจารย์ อะไรดี

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 99
    23 มี.ค. 2567