ปกิณณกธรรม ตอนที่ 390


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๙๐

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๔๗


    ผู้ฟัง สติรู้ตัวทั่วพร้อม เกิดดับ คืออะไรต่างๆ จะมาช่วยอย่างไร ให้ดีขึ้น

    ท่านอาจารย์ อะไรดี

    ผู้ฟัง ปัญญา

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง ตรงนั้นเราก็คิดว่า น่าจะเป็น สรุปแล้ว ถ้าฟังอย่างนี้ ปัญญาจะต้องเกิดขึ้นพร้อมในทุกอย่าง

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ หมายความว่า เข้าใจถูกว่า ปัญญาเกิดหรือไม่เกิด

    ผู้ฟัง ปัญญาจะต้องเกิดขึ้น

    ท่านอาจารย์ เกิดหรือไม่เกิดบังคับไม่ได้

    ผู้ฟัง บังคับไม่ได้ แต่จะต้องเกิดถึงจะดี ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ปัญญาดีหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ปัญญาเป็นสิ่งที่ดี

    ท่านอาจารย์ ปัญญาดีเป็นสิ่งที่ดี แต่จะเกิดหรือไม่เกิด บังคับไม่ได้

    ผู้ฟัง ในเหตุการณ์นั้น ที่เหยียบพลาดบันไดไป หรือว่าได้ยินเสียงโทรศัพท์

    ท่านอาจารย์ ได้ยินเสียงโทรศัพท์ ปัญญาเกิดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ปัญญาหมายความว่า

    ท่านอาจารย์ ความเห็นถูก

    ผู้ฟัง ความคิด

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ พูดถึงสติปัฏฐาน สติสัมปชัญญะ เป็นความเห็นถูกในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นสภาพที่เป็นนามธรรมหรือรูปธรรม จึงไม่ใช่เรา ถ้าปัญญาก็เห็นถูก

    ผู้ฟัง ความเห็นถูกต้อง ด้วยเหตุผลเหมือนอย่าง

    ท่านอาจารย์ อย่าเอาอันนั้นมาเป็นสติสัมปชัญญะ รู้ตัวทั่วพร้อมเลย ไม่ได้

    ผู้ฟัง ความเห็นถูกต้องในทางธรรม

    ท่านอาจารย์ ความเห็นถูกเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นเจตสิก จะไปเหมาอื่นมาเป็นปัญญาไม่ได้ ปัญญาต้องเป็นปัญญา อย่างอื่นจะมาเป็นปัญญาไม่ได้

    ประเชิญ ขอกล่าวถึงปัญญา ศัพท์จริงๆ แล้ว เดิมภาษาที่เขาบัญญัติขึ้นมา เป็นภาษาที่ชัดเจน ที่ว่าปัญญา รากศัพท์ที่จริงๆ มาจาก ญา ธาตุ ญ.หญิง สระ อา คือรากศัพท์ของภาษา ที่เป็นธาตุ ญา ธาตุที่แปลว่า เป็นความรู้ แล้วก็ เพิ่มบทหน้า คือ ปะ บทหน้า แปลว่า ทั่ว ความรู้ทั่ว นั่นคือปัญญา ถามว่ารู้ทั่วในอะไร คือความรู้ทั่วในอริยสัจ นี่คือข้อความที่ท่านกล่าวไว้ชัดเจนในอรรถกถาทั้งหลาย ความหมายของคำว่าปัญญา ซึ่งท่านก็กล่าวสูงสุด คือ ปัญญาคือความรู้ในอริยสัจ รู้ทั่วในอริยสัจเป็นปัญญา แต่ก็ในระดับก่อนที่จะถึง ความรู้ทั่วในตรงนั้น ก็ต้องมีความรู้ในเบื้องต้นที่ท่านอาจารย์กล่าวว่า ความรู้เป็นเหตุเป็นผลในเรื่องของการให้ทาน มีผล เรื่องของกรรม เรื่องของวิบาก เรื่องของบาปบุญคุณโทษทั้งหลาย ซึ่งเป็นความเห็นที่ถูกต้อง ที่ใช้แทนคำว่าปัญญา หลายศัพท์ทีเดียว อย่างเช่นคำว่า สัมมาทิฏฐิ อันนี้ก็เป็นชื่อหนึ่งของปัญญา สัมปชัญญะ วิชชา เป็นต้น ซึ่งก็มีมากกว่านี้ เป็นชื่อของปัญญาทั้งนั้น ซึ่งโดยความหมายแล้วก็เป็นสภาพธรรมที่รู้ความจริง เข้าใจความจริงนั่นเอง เป็นปัญญา

    ท่านอาจารย์ ความคิดมีหลายอย่าง ลองคิด เวลาที่ความโกรธเกิดขึ้น เกิดแล้ว ไม่ใช่เราไปบอกไม่ให้เกิด บังคับไม่ได้ เมื่อเกิดแล้ว มีปัจจัยเกิดแล้ว ถ้าปัญญาสามารถเข้าใจว่าขณะนั้นไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง บังคับบัญชาไม่ได้ เมื่อมีปัจจัย โกรธก็เกิด เพราะเกิดแล้ว แสดงให้เห็นว่า ใครก็บังคับโกรธไม่ได้ กับการที่อยากไม่โกรธ พยายามหาทางที่จะไม่โกรธ ความคิด ๒ อย่าง คิดว่าอันไหนจะถูกต้อง หรือเป็นประโยชน์กว่ากัน

    ผู้ฟัง ถูกในแง่ไหน นี่กำลังคิดในแง่ของป้องกันว่า

    ท่านอาจารย์ ความจริง

    ผู้ฟัง ในแง่ของความจริง

    ท่านอาจารย์ เวลาเกิดแล้ว แสดงความเป็นสภาพธรรมที่ไม่ใช่ธรรมอื่น เปลี่ยนแปลง ไม่ได้ บังคับไม่ได้ ถ้ามีปัจจัยเกิดแล้ว ถ้ารู้ความจริงว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เราอีกต่อไปเลย เป็นลักษณะของธรรมชนิดหนึ่ง นี่เป็นความคิดอย่างหนึ่ง อีกความคิดหนึ่งก็คือ พอเกิดโกรธ ก็พยายามจะไม่ให้โกรธ

    ผู้ฟัง ในใจยังรู้สึกว่าชอบที่รู้ว่า อันนั้นคือธรรม คือยังชอบว่า

    ท่านอาจารย์ มี ๒ อัน

    ผู้ฟัง อันแรก เมื่อเรารู้ว่าเป็นธรรม เราก็สบายใจ

    ท่านอาจารย์ อันนี้คือการที่เราอบรมเจริญปัญญาเพื่อที่จะรู้ความจริง แทนที่จะไปไม่อยากโกรธ

    ผู้ฟัง ทีนี้เราก็อยากจะบอกคนอื่นต่อไปว่า อยากจะให้เป็นอย่างอันที่ ๒ คือหมายความว่า

    ท่านอาจารย์ อย่างที่ ๑ ถูก แต่อยากให้เป็นอย่างที่ ๒ หรือ

    ผู้ฟัง อยากให้เป็นอย่างอันที่ ๑

    ท่านอาจารย์ นี่คือจุดประสงค์ที่ทรงแสดงพระธรรม ให้เห็นจริงๆ ว่า ไม่ใช่เรา แต่กว่าจะเห็นได้ว่า ไม่ใช่แต่เฉพาะความโกรธ ทุกอย่างที่กำลังมีในขณะนี้เกิดแล้วทั้งนั้นเลย บังคับก็ไม่ได้ เพราะเกิดแล้ว มีปัจจัยก็เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนั้นที่คำถามแรก ที่ถามว่า ถ้าคือความคิดอันที่ ๑ เป็นธรรม คือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้น จริงๆ

    ท่านอาจารย์ ความจริง ความคิดอันที่ ๒ เป็นตัวตน

    ผู้ฟัง พอเป็นการรู้ความจริงแล้ว เมื่อละความเป็นตัวตนได้แล้ว จะได้หรือไม่ได้ก็ไม่รู้ แต่ถ้าได้แล้ว ความรู้สึกโกรธน่าจะน้อยลง

    ท่านอาจารย์ ละได้จริงๆ คือเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสกทาคามี เป็นพระอนาคามี เป็นพระอรหันต์ คือ ดับเชื้อนั้น ไม่มีการที่จะเกิดอีกเลย แต่ต้องด้วยปัญญาที่ไม่ใช่ระดับนี้ ปัญญาระดับนี้ยังไม่ถึงระดับนั้น ความห่างไกลของผู้ที่รู้แล้ว กับผู้ที่เริ่มอบรมที่จะรู้ ก็ต้องเป็นความจริงว่า ต้องค่อยๆ เกิดขึ้น

    ผู้ฟัง ปัญหาของผมนี้ ผมก็ได้ฟังอาจารย์มาได้ประมาณสักปีหนึ่ง ผมก็คิดว่า ที่อาจารย์ว่า การรู้จักสภาพธรรม หรือมีสติปัฏฐาน ผมก็มาไม่เข้าใจอีก ต้องมาเพ่งคอยดูว่า เมื่อไรธรรมจะเกิด เมื่อไรสภาพธรรมจะได้ยิน แล้วก็มีคนมาถาม อาจารย์ก็ว่าไม่ใช่ ไม่ต้องไปรอสภาพธรรม ไม่ต้องรอว่า ข้างหน้าอะไรจะเกิดหรือไม่เกิด ไม่ต้องไปรอ ถ้ามันเกิดก็รู้เอง แล้วผมก็มาพิจารณาว่า สภาพธรรมที่เราจะประจักษ์จริงๆ นั้นคงจะประจักษ์จากความรู้สึก จิตใจในเวทนาของเรานี้เป็นแน่แท้ ถ้าเรามีเวทนาอะไรแรงกล้าในความรู้สึกของเรา นั่นก็คือ เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง อย่างนี้ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เป็นตัวตนที่หาธรรม

    ผู้ฟัง ยังไม่เข้าใจดี ก็คงจะเป็นตัวตน

    ท่านอาจารย์ เพราะอย่างไรๆ ก็ยังมีความเป็นเราอยู่ แล้วเวลาที่ได้ยินได้ฟัง ธรรมก็เป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง แม้ว่ามี แต่ว่าก่อนที่จะได้ฟังมี แต่ไม่รู้ว่าเป็นธรรม และไม่รู้ความจริงของธรรมนั้นด้วย แต่เวลาฟังแล้ว คือ ไม่ต้องไปหาหรือว่าไม่ต้องรอเลย โดยที่ทราบว่าขณะนี้มีธรรมซึ่งเป็นนามธรรม และรูปธรรมอย่างหนึ่งอย่างใด ลักษณะที่เป็นรูปไม่ใช่สภาพรู้ ก็ต้องเป็นรูปธรรม ลักษณะที่เป็นสภาพรู้ ก็จะเป็นรูปธรรมไม่ได้

    ทีนี้สามารถที่จะเข้าใจ สิ่งที่กำลังปรากฏเดี๋ยวนี้ว่า ลักษณะที่เป็นรูป ในสิ่งที่กำลังปรากฏขณะนี้เป็นอย่างไร แล้วก็ลักษณะที่เป็นนามในขณะนี้เป็นอย่างไร เพราะจากการฟัง เราทราบว่า ธรรมทั้งหมดมีลักษณะที่ต่างกัน ๒ อย่าง รูปไม่สามารถจะรู้อะไรได้เลยทั้งสิ้น ส่วนสภาพรู้ที่กำลังเห็น คือ สามารถเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ ขณะนั้นก็ไม่ใช่เรา แต่เป็นนามธรรม

    เพราะฉะนั้น ในขณะนี้สามารถที่จะเข้าใจสิ่งที่มี ไม่ใช่ไปพยายามทำ หรือไม่ใช่หา แต่สิ่งนี้กำลังเผชิญหน้า หรือกำลังมี ให้ค่อยๆ เข้าใจว่า เป็นความจริงอย่างนี้ไหม เช่น ทางตาในขณะนี้มี สิ่งที่ปรากฏทางตา เคยเข้าใจความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏว่า เป็นสิ่งที่มีลักษณะนี้เท่านั้นไม่เป็นอื่น เพียงแค่ปรากฏทางตา ความจริงของสภาพธรรม นี้คือเพียงแค่ปรากฏทางตา ไม่ปรากฏทางอื่นเลย กำลังเห็นอย่างนี้ เข้าใจอย่างนี้ ไหม

    ผู้ฟัง ถ้าหากว่าจะรู้จะรู้ว่าสภาพธรรมเกิด ก็คงจะรู้จากสภาพจิตใจ ความรู้สึก ใช่ไหม ที่ว่าสภาพธรรมเกิดขึ้นแล้ว

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่าง ไม่ใช่เฉพาะความรู้สึก

    ผู้ฟัง มาจากทวารทั้ง ๖ เข้าใจว่าอย่างนั้น จะถูกหรือไม่ถูก ก็ยังไม่ทราบขอให้อาจารย์ได้ขยายความให้กระจ่างกว่านี้ คือผมเข้าใจอย่างนี้ ผมถามว่าถูกหรือผิด

    ท่านอาจารย์ ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ธรรมมี ธรรมกำลังปรากฏ แต่ไม่รู้ความจริงของธรรมนั้น และไม่รู้ว่า เป็นธรรมด้วย โดยไม่เลือกเลย ตลอดชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายคือธรรมนั่นเอง มีทั้งนามธรรม และรูปธรรมเกิดดับ นี่คือสิ่งที่ได้ยินได้ฟัง แล้วก็ต้องเข้าใจจริงๆ ว่า เมื่อได้ยินอย่างนี้ ไม่มีขณะไหนเลยที่ไม่ใช่ธรรม ที่กำลังปรากฏเป็นธรรมทั้งหมด

    ขณะที่กำลังเห็นขณะนี้เป็นธรรม ถูกต้องไหม แต่ว่าขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตา เพราะมีสภาพรู้คือเห็นกำลังเห็นสิ่งนี้ เพราะฉะนั้น ขณะนี้ที่กำลังเห็น เป็นธรรม แต่เราต้องรู้ด้วยความเข้าใจของเราเองว่า เป็นธรรมอะไร อย่างนี้ เห็น เราก็เห็นกันมา แล้วก็เห็นกันแล้วบ่อยๆ แล้วก็จะเห็นกันต่อไปอีก แต่ความรู้ที่เกิดรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ที่เราจะไม่ผ่านไป หมายความว่าที่ได้ยินได้ฟังเป็นเรื่องราว แต่ขณะนี้กำลังจะพิจารณาให้เข้าใจ ให้เป็นความรู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา เพราะว่าความรู้ต้องไม่ใช่รู้อื่น แต่ต้องรู้สิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าจะเป็นอะไรทั้งหมด ขณะนี้ที่ทุกคนมีคือกำลังเห็น แล้วเราก็คงจะต้องพูดเรื่องเห็นอีกนานไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิต เพราะมีการเห็นตลอดชีวิต มีได้ยินตลอดชีวิต จนกว่าเราจะเข้าใจขึ้น จนกระทั่งสามารถที่จะเห็นว่า เป็นธรรม นั้นๆ เช่น ทางตา สิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ มี เริ่มที่จะเข้าใจ ใช้คำว่าเริ่มที่จะเข้าใจถูก แม้เพียงเล็กน้อย นิดหน่อย แต่ก็กำลังเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ข้อสำคัญที่สุดคือไม่ได้ไปคิดเรื่องอื่น กำลังมีสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็ไม่ต้องเปลี่ยนสิ่งที่กำลังปรากฏให้เป็นอย่างอื่นด้วย สิ่งที่กำลังปรากฏอย่างนี้แหละ เริ่มเข้าใจถูกว่า เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง มีจริงๆ คือ ลักษณะนี้ปรากฏได้เฉพาะทางตา นี่เป็นเรื่องยาวก็จริง แต่ลักษณะจริงๆ ของสภาพนี้คือเป็นสภาพที่ปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง อาจารย์บรรยายก็พอที่จะเข้าใจอยู่ แต่ว่าส่วนมากจะเป็นการหลงลืมสติ เป็นส่วนมาก เวลาสภาพธรรมเกิดขึ้น ไม่รู้สึกตัวเลย คิดถึงเรื่องบัญญัติไปเสียทั้งหมดพอได้สติมา อ้อ นี่ก็เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ที่อาจารย์เคยสอนว่าเป็น ปรมัตถ์ อย่างนี้ที่ได้นิดๆ หน่อยๆ เดี๋ยวก็หลงลืมสติ ก็คิดไปเป็นบัญญัติอีกแล้ว อย่างนี้ แต่ส่วนมากเป็นเสียอย่างนั้น

    ท่านอาจารย์ เป็นธรรมดา ไม่ได้ผิดปกติเลย เป็นธรรมดาที่ต้องเป็นอย่างนี้ แต่ข้อสำคัญคือว่า ขณะนี้มีสิ่งที่กำลังพิสูจน์ตัวเราว่า การฟัง และการอบรมความรู้ของเรา ในสิ่งที่มีจริงๆ แค่ไหน แค่ทางตาแค่นี้เป็นเครื่องวัด หรือเป็นเครื่องสอบความรู้ความเข้าใจของเราขั้นฟัง กับตัวจริงๆ ของธรรมที่กำลังปรากฏ เพียงแต่รู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา คำนี้ แล้วก็ถ้าค่อยๆ รู้ในความหมายจริงๆ ของสิ่งที่ปรากฏทางตา เราก็จะเข้าใจพยัญชนะในพระไตรปิฎกที่ว่า ไม่ติดข้องในนิมิตอนุพยัญชนะ ขณะที่กำลังรู้ว่า เป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา อดไม่ได้ที่จะรู้ต่อไปว่า เป็นอะไร

    นี่แสดงถึงความรวดเร็วว่า ไม่มีใครสามารถที่จะยับยั้งได้ แต่แม้กระนั้นความรู้จริง ค่อยๆ รู้ขึ้นในสิ่งที่กำลังปรากฏ ก็ค่อยๆ แยกว่า สิ่งที่ปรากฏทางตาชั่วขณะเห็น สั้นนิดเดียว คือ เมื่อไรก็เมื่อนั้น ระลึกขึ้นได้ว่า ชั่วขณะเห็น สิ่งนี้ปรากฏได้ชั่วขณะเห็น เราก็จะไม่สนใจในเรื่องราว ในนิมิตอนุพยัญชนะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เหมือนที่ไม่เคยคิดอย่างนี้ ไม่เคยระลึกได้อย่างนี้ ไม่เคยเข้าใจอย่างนี้

    เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า กว่าความรู้ของเราจะมั่นคงในสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาว่าเป็นอย่างนี้ แค่นี้เอง แค่เห็น ต้องอบรมนาน แต่ก็เป็นความรู้ที่เราทำให้เราค่อยๆ รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ แล้วก็กำลังปรากฏทางหนึ่ง คือ ทางตา มิฉะนั้นเราก็ข้ามทางตาไป จะไปรู้เวทนา หรือว่าจะไปรู้โลภะ หรือว่าจะไปรู้โทสะ แต่ความจริงจะข้ามไปไหน จะข้ามไปอย่างไร ในเมื่อมีสิ่งที่ปรากฏ แล้วก็ยังไม่รู้อยู่ ก็จะเป็นสิ่งที่เป็นปัจจัยปรุงแต่งให้มีการระลึกได้ เพราะรู้ว่ายังไม่รู้ในสิ่งที่ปรากฏทางตา

    ผู้ฟัง ในขณะที่เราศึกษา ฟังเรื่องราวของสภาพธรรม และขณะเดียวกันที่อาจารย์ได้กล่าวว่า เราต้องศึกษาสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ อันนี้คงจะเป็นการศึกษาที่เข้าถึงลักษณะของสภาพธรรม ในขณะที่สติปัฏฐานยังไม่เกิด และก็ในขณะที่กำลังศึกษากำลังฟัง ฟังเรื่องราวว่า สิ่งที่ปรากฏเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้นก็มีการเห็นด้วย

    ท่านอาจารย์ ขอโทษนิดหนึ่ง คือขณะที่กำลังฟัง มีสิ่งที่กำลังปรากฏ เราจะไม่ไปคิดเรื่องอื่นเลย รู้ตรงสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะที่กำลังฟังเรื่องสิ่งที่กำลังปรากฏ จนกว่าจะค่อยๆ ชินขึ้น

    ผู้ฟัง เมื่อฟังเรื่องนี้แล้ว มันก็จะเกิดความคิด ความคิดต่อไป พูดง่ายๆ ว่า หลงลืมสติ ในการศึกษาเพื่อให้เข้าถึงลักษณะสภาพธรรมที่ว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา ขณะที่กำลังฟังอยู่ขณะนี้มีสิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดขึ้นตลอดเวลา เกิดดับๆ ตลอดเวลา สลับไปทางทวารต่างๆ แต่ผมยกตัวอย่างเพียงว่า สิ่งที่ปรากฏทางตา เมื่อเราฟังเรื่องนี้แล้ว และมีสิ่งที่ปรากฏทางตาจริงๆ ขณะนั้นก็จะเป็นการคิดต่อไป อันนี้จะถือว่าเป็นการศึกษาให้เข้าใจเรื่องของความจริงของสภาพธรรม ได้ไหม เมื่อคิดต่อว่า มันเป็นแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏทางตาเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ คงไม่มีการอนุญาต ได้หรือไม่ได้ แต่ว่าสิ่งนั้นเกิดแล้ว คือคิดต่อ ทำให้เข้าใจความต่างว่า ขณะที่คิดไม่ใช่ขณะที่เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ ขณะที่กำลังเข้าใจสิ่งที่ปรากฏ จะไม่มีอื่น แต่มีลักษณะนี้ปรากฏให้เข้าใจ แล้วค่อยๆ เข้าใจขึ้นทีละเล็กทีละน้อย นี่คือสติเริ่มเกิด ปัญญาเริ่มเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมนั้น

    ผู้ฟัง ถ้าสมมติว่าสิ่งที่ปรากฏทางตา แล้วมโนทวารวิถีสามารถรับรู้ว่ามันคืออะไร แล้วเราคิดต่อ ขณะที่คิดจะเป็นสติปัฏฐานไหม ที่คุยกันเมื่อวานนี้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต้องมีความเข้าใจว่า สติปัฏฐานมีลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วเข้าใจลักษณะนั้น ไม่ใช่คิด ถ้าคิดขณะนั้นไม่ได้เข้าใจลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ กำลังมีคำ มีเรื่อง เปลี่ยนแล้วจากสิ่งที่ปรากฏ แต่ความรวดเร็วจะเห็นได้ว่า แม้ขณะกำลังคิด สิ่งนั้นก็ปรากฏ แต่ไม่มีความเข้าใจในสิ่งที่ปรากฏ เพราะว่ากำลังคิดเรื่องสิ่งที่ปรากฏ ไม่มีการที่จะอบรมความเข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจขึ้นในสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ จนกว่าจะเพิ่มขึ้น

    ผู้ฟัง สมมติว่า อย่างผ้าเช็ดหน้าที่วางอยู่บนโต๊ะ พอเห็น เราคิดว่าเป็นสภาพธรรมที่ปรากฏทางตา เสร็จแล้วตัวมโนทวารวิถีก็บอกว่ามันคือ ผ้าเช็ดหน้า เป็นสัญญาที่จำได้ว่า คือผ้าเช็ดหน้า แล้วคิดอีกนิด คือจะถามว่าตรงนี้ ที่คิดบอกว่า มันคือผ้าเช็ดหน้า เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป คืออย่างนี้เป็นคิด ไม่ใช่สติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ นี่ก็คือปัญญาที่เริ่มเห็นความต่าง เข้าใจความต่างของขณะที่คิดว่า ไม่ใช่ปัญญาที่เป็นขณะที่สติสัมปชัญญะมีลักษณะจริงๆ โดยไม่ได้คิด กำลังค่อยๆ เข้าใจลักษณะนั้น

    ผู้ฟัง แล้วลักษณะของสติปัฏฐาน ที่อาจารย์ว่า มันไม่ใช่การคิด ผมก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่า มันเป็นอย่างไรกันแน่

    ท่านอาจารย์ เพราะว่าเราไม่คุ้นเคยกับการที่จะมีความรู้ โดยไม่คิด แต่เวลาที่เราตื่นนอนมา เราเห็น เราต้องคิดไหมว่า ดอกไม้ พอเห็นก็ดอกไม้หรือ

    ผู้ฟัง ไม่ใช่ คือเห็นแล้วก็คือสิ่งที่ปรากฏ ก็จำได้ว่ามันคือดอกไม้

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น เราจำดอกไม้ แต่เวลาที่เราฟังว่า ขณะนี้มีสภาพธรรมที่ปรากฏ ไม่เคยรู้เลยว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏ นี่ต่างกันแล้ว ไม่เคยรู้เลยว่า เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา เพียงแค่เริ่มเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏทางตาว่า เป็นอย่างนี้ เพียงปรากฏ

    ผู้ฟัง เข้าใจว่าเพียงปรากฏทางตา

    ท่านอาจารย์ จนกว่าเมื่อไรก็รู้ได้ว่า ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏก็นี่แหละ ก็เพียงปรากฏทางตา ถึงจะค่อยๆ ไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะได้ แต่ถ้าไม่มีปัญญา แล้วเราจะพยายามไม่ติดในนิมิตอนุพยัญชนะ เราหลอกตัวเอง เราเอาชื่อมาใส่ เราพยายามทำว่า ขณะนั้นเราไม่ในนิมิตอนุพยัญชนะ เห็นก็ทำเป็นไม่รู้ ทำเป็น แต่ไม่ใช่ความรู้ แต่ความรู้จริงๆ ก็คือสิ่งที่ปรากฏ เราจะเคยคิดไหมว่า ไม่ใช่คน ไม่ใช่อะไรเลยทั้งสิ้น สภาพที่แท้จริงก็คือเพียงปรากฏ ถ้าขณะนั้นเข้าใจ คิดแล้วก็เข้าใจ ยับยั้งไม่ได้ที่จะให้คิดด้วย แต่รู้ว่าขณะที่คิดไม่ใช่ขณะที่กำลังเข้าใจลักษณะนั้น หลังจากที่คิดแล้วก็มีการค่อยๆ เข้าใจลักษณะนั้นตามที่คิด จนกว่าจะรู้ชัด

    ผู้ฟัง ถ้าหลังจากที่คิดแล้ว ค่อยๆ เข้าใจ ตรงนั้นจะเป็นสติปัฏฐาน

    ท่านอาจารย์ ขณะที่ กำลังค่อยๆ เข้าใจลักษณะ

    ผู้ฟัง ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ

    ท่านอาจารย์ ไม่มีคำ นั่นคือสติปัฏฐาน

    ผู้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู หรือทางทวารทั้งหมด ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ อย่างขณะที่เห็น ก็มีลักษณะที่แข็งปรากฏด้วย รู้ลักษณะที่แข็งหรือเปล่า ขณะที่เห็น

    ผู้ฟัง ขณะที่เห็นจะไม่รู้ลักษณะที่แข็ง

    ท่านอาจารย์ แต่เหมือนกับว่ามีทั้งเห็น มีทั้งแข็ง มีทั้งคิด มีทุกอย่าง เพราะฉะนั้น สติสัมปชัญญะก็จะเกิดรู้ลักษณะไหนก็ได้ ไม่ใช่ว่ากำลังเห็นแล้วมีแข็ง แล้วเราจะต้องมารู้ที่เฉพาะเห็นไม่รู้แข็ง แล้วแต่สติสัมปชัญญะจะระลึกอะไร เพราะสั้นมาก เร็วมาก เป็นปกติ เพราะฉะนั้น ก็จะรู้ได้ว่า การหลงลืมสติ คือ ไม่รู้อะไรเลย เหมือนเดิมทุกอย่าง ตื่นขึ้นมาก็เป็นดอกไม้ เป็นคน เป็นเรื่อง เป็นราว จากสิ่งที่เพียงปรากฏทางตา เรื่องหมดเลย เรื่องดอกไม้ก็มาก อยู่ที่ไหน ปลูกตรงไหน ใครเอามา วางไว้ตรงนี้ ยาวหมดเลย สิ่งที่ปรากฏ

    นี่คือการสืบต่อของสังสารวัฏฏ์จากอายตนะคือเพียงปรากฏทางตา เรื่องก็มากมาย ทางหูอีก ก็ได้ยินอยู่ เรื่อยๆ ใช่ไหม ไม่ใช่เพียงแค่เสียงหมด แล้วก็มีสภาพที่คิดแล้วก็ดับ แต่ว่าเรื่อง จะมีจิตที่จำเรื่องเป็นอัตตสัญญายาวมากทั้งวัน จนถึงหลับ บางคนตลอดชาติก็ เป็นทั้งสิ่งที่ปรากฏทางตา ทะเลภาพ ทะเลชื่อ ตลอด ไม่มีสักขณะเดียวที่จะรู้ความจริงว่า ขณะนั้นแท้จริงเป็นลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง ถ้าไม่มีลักษณะของสภาพธรรมแต่ละอย่าง เรื่องอะไรก็ไม่มี แต่แทนที่จะเข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏจริงๆ กับไปจำเรื่องของสภาพธรรมนั้นๆ ตลอด

    เพราะฉะนั้น จึงต้องอบรมความรู้ถูก ความเห็นถูกในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล มีเหตุปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ

    ผู้ฟัง ขอให้ท่านอาจารย์ได้ช่วยกรุณาอธิบาย เพื่อเกิดความเข้าใจเพิ่มขึ้นไปอีก ที่เรายกตัวอย่างในตอนต้นชั่วโมง สิ่งที่ปรากฏทางตา เพื่อให้เราได้เข้าใจสภาพธรรมที่ปรากฏให้ทั่วทางปัญจทวาร ผมอยากจะกราบเรียนท่านอาจารย์ เรื่องทางหู

    ท่านอาจารย์ ไม่ว่าจะเป็นทางไหน ลักษณะที่มีจริงๆ คือ สภาพรู้ คือ นามธรรมกับรูปธรรม แต่ว่าลักษณะของแต่ละทางจะต่างกัน แต่ก็ต้องเป็นนามธรรมหรือรูปธรรมนั่นเอง การที่เราจะฟัง และรู้ว่าขณะนี้สิ่งที่กำลังปรากฏเป็นธรรม ฟังให้เข้าถึงความเป็นธรรมของสิ่งที่ปรากฏ เพราะว่าปกติจะเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่เสมอ อย่างเสียงกำลังปรากฏ เรารู้โดยการที่ฟังมาว่า ที่เสียงจะปรากฏได้ ก็เพราะเหตุว่ามีสภาพได้ยินเสียง

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 99
    23 มี.ค. 2567