ปกิณณกธรรม ตอนที่ 392


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๙๒

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๔๗


    ท่านอาจารย์ แต่เราไม่จำเป็นที่จะต้องย้อนไปถึงอดีตเลย ว่าเราเคยได้เฝ้า และได้ฟัง พระธรรมมาบ้างแล้ว มากน้อยแค่ไหน แต่ขณะนี้ พิสูจน์ได้เลย ได้ยินคำว่า ธรรม เรามีความเข้าใจแค่ไหน เข้าใจเพียงเรื่องว่าเป็นธรรม หรือรู้จริงๆ ว่าขณะนี้เป็นธรรมแน่นอน แต่ว่ายังไม่ถึงขั้นที่ประจักษ์ หรือว่ารู้ความต่างกันของขณะที่หลงลืมสติ กับขณะที่สติเกิด ที่เป็น ปฏิปัตติ ปฏิ-ปัต-ติ ในภาษาบาลี และเป็นภาษาไทย เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรมต้องเป็นเรื่องละเอียด เพราะว่าผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประจักษ์แจ้ง ความจริง ซึ่งขณะนี้เป็นอย่างนั้น แต่คนอื่นไม่สามารถจะรู้ได้เลย ถ้าไม่ได้ฟัง และไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ไม่ใช่ว่าเพียงเราเป็นชาวพุทธ นับถือ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วก็สวดมนต์ไหว้พระ แต่ว่าไม่เข้าถึงพระพุทธคุณ เพราะว่าถ้าไม่มีการศึกษาพระธรรม จะไม่มีการรู้จักพระพุทธเจ้า เลยเห็นพระพุทธรูปแต่ไม่ใช่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่เหมือน ไม่มีช่างคนไหนที่ทำให้เหมือนได้เลย อย่างไรๆ ก็ไม่เหมือนแน่นอน โดยเฉพาะพระคุณ คือพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ ไม่ใช่เพียงกราบไหว้แล้วจะรู้ เป็นไปไม่ได้เลย ต้องศึกษา แล้วก็เข้าใจ จริงๆ ว่าพระปัญญาคุณ ทรงตรัสรู้อะไร แล้วทรงแสดงธรรมเพื่อให้คนอื่นเกิดความรู้ของตัวเองด้วย มรดกจริงๆ ที่ได้รับจากการกราบไหว้ บูชา คือ เข้าใจพระธรรมที่ทรงแสดง แต่ไม่ใช่จากการคิดเอาเอง ประมาณ เอาเอง นั่นเป็นการประมาท พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าเราเองก็สามารถจะไม่เรียน แต่ก็เข้าใจได้ นั่นผิด ต้องศึกษาจริงๆ แล้วก็ต้องเป็นผู้ไม่ประมาทด้วย แล้วก็ต้องรู้ด้วยตัวเอง เพราะว่าธรรมมีให้พิสูจน์ว่า คำสอนนั้นเป็นจริง สอนเรื่องจิต จิตมีจริง สอนเรื่องเจตสิก เจตสิกก็มีจริง มีจริงทั้งนามธรรม และรูปธรรม แม้ความเห็นผิดก็มีจริง การยึดถือสภาพธรรม ติดข้องในสภาพธรรม ก็มีจริง ทุกอย่างก็มีจริง เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ศึกษา ด้วยความละเอียด ด้วยการที่ รู้จักตนเองว่า มีความเข้าใจจากการได้ยินได้ฟัง แค่ไหน แล้วก็ต้องเป็นผู้ที่ตรง เพราะเหตุว่ามีสภาพธรรม ปรากฏสอบความรู้ความเข้าใจ ว่ามีความเข้าใจในสิ่งที่กำลังปรากฏ แค่ไหน ไม่ต้องถามใครเลย ฟังแล้วถามคนอื่นได้ไหมว่า รู้แค่ไหนคนฟัง ตัวเอง รู้แค่ไหน ถามคนอื่นไม่ได้เลย เพราะคนอื่นก็ต้องตอบไม่ได้

    ผู้ฟัง ที่บอกว่า ไม่มีตัวเรา ไม่มีตัวตน สมมติอย่างง่ายๆ อย่างหนูเกิดมาคือ จิตหนึ่งดวง ปฏิสนธิจิต เกิดขึ้นมา คือจิต หนึ่งดวง ใช่ไหม ทีพอโตขึ้นมา จิตนี้ก็อาจจะเป็นกุศล อกุศล อะไรอย่างนี้ ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ และจิตหนึ่งดวง ไปไหน พูดถึงจิตหนึ่งดวงแล้วก็มาโตเลย จิตหนึ่งดวงเกิดขึ้นแล้วอย่างไร

    ผู้ฟัง เกิดขึ้น จุติจิตดับ ปฏิสนธิจิตเกิด

    ท่านอาจารย์ จุติจิต เกิดเมื่อไร

    ผู้ฟัง ชาติที่แล้ว

    ท่านอาจารย์ ชาติก่อน จุติ จิต คือจิตขณะสุดท้ายของชาติก่อน ดับ

    ผู้ฟัง แล้วก็เป็น ปฏิสนธิจิต เลย ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เกิดสืบต่อทันที ไม่มีอะไรขั้นเลย

    ผู้ฟัง แล้วก็มี ภวังคจิตขั้น แล้วก็มี จิตอะไรอีก มากมาย

    ท่านอาจารย์ ถ้าอย่างนั้นก็ขอถาม สิ่งที่ได้พูดไปแล้ว ปฏิสนธิจิตคืออะไร

    ผู้ฟัง ปฏิสนธิ จิต คือการเกิดของชีวิตหนึ่ง หนูก็ยังไม่ค่อยเข้าใจมาก

    ท่านอาจารย์ จริงๆ คือสิ่งซึ่งเราเพิ่งกล่าวถึงนั่นเอง เพียงแต่ย้ำว่าปฏิสนธิจิตก็คือ จิต ขณะแรกของชาตินี้ ซึ่งเกิดสืบต่อจากจิตขณะสุดท้ายของชาติก่อน เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิต สืบต่อ ทำกิจสืบต่อจากจิตสุดท้ายของชาติก่อน ตอนนี้เข้าใจ มีกี่ขณะ ปฏิสนธิจิต เมื่อกี้บอก ว่าจิตขณะแรก ใช้คำว่า จิตขณะแรก แล้วทีนี้ถาม ว่ามีกี่ขณะ ปฏิสนธิ

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ เคยอ่านแล้ว จำไม่ได้ เคยอ่านของอาจารย์

    ท่านอาจารย์ คิด คือเราไม่ไปจำ เราไม่ไปจำเลย แต่คำถามมีว่า ปฏิสนธิจิต คือจิตขณะแรกที่เกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน ก็ดูเหมือนเข้าใจแล้ว ก็ถามว่าปฏิสนธิจิตมีกี่ขณะ

    ผู้ฟัง น่าจะเป็น หนึ่ง

    ท่านอาจารย์ ไม่มีน่าจะจริงๆ ก็ใช่ ถ้าใช้ขณะแรกคือ หนึ่งขณะ เพราะฉะนั้น ทุกคนจะมีปฏิสนธิจิต หนึ่งขณะ แล้วก็มีจุติจิต คือ ขณะสุดท้าย หนึ่งขณะ เพราะฉะนั้น พูดถึง ขณะแรก กับขณะสุดท้ายก็คนละขณะ ขณะแรกหนึ่งขณะ ขณะสุดท้าย หนึ่งขณะ ขณะแรกคือ เกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน สิ้นสุดความเป็นบุคคลในชาติก่อนโดยสิ้นเชิง ถ้าจุติจิตเกิด และดับไปขณะใด จะเป็นบุคคลนั้นต่อไปอีกไม่ได้เลย แต่เมื่อปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อน คือเป็นบุคคลใหม่ ในชาตินั้นไม่เกี่ยวข้องกับบุคคลก่อน ไม่ใช่คนก่อน แต่ว่ามีกรรมที่ได้สะสมสืบต่อ เมื่อสิ้นสุดความเป็นบุคคลก่อนก็ เกิดเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ แต่ละชาติไป แล้วก็จะสิ้นสุด ในขณะสุดท้าย แต่ระหว่างที่ ไม่ใช่จุติจิต คือขณะสุดท้าย และไม่ใช่ขณะแรก จิตเป็นอะไร

    ผู้ฟัง เป็นประเภทต่างๆ แต่ก็ คือดวงเดียว

    ท่านอาจารย์ ดวงเดียวกันหรือว่า เป็นคนละดวง

    ผู้ฟัง จิต หนึ่งคนก็คือ หนึ่งดวง

    ท่านอาจารย์ หนึ่งขณะ

    ผู้ฟัง แต่มีประเภทต่างๆ

    ท่านอาจารย์ แล้วเป็นจิตดวงก่อนหรือเปล่า

    ผู้ฟัง สืบต่อจากจิตดวงก่อน

    ท่านอาจารย์ เป็นจิตดวงก่อนหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่แน่นอน เกิดแล้วดับไปไม่กลับมาอีกเลย สิ่งที่เกิดแล้วดับไปไม่กลับมาอีกเลย เป็นของใคร ที่จะเข้าใจอนัตตา ไม่ใช่อัตตาก็เพราะเหตุว่า มีความเข้าใจถูกต้อง ในสิ่งที่มีปัจจัย เกิดแล้วดับ โดยที่ใครก็บังคับไม่ได้ นี่คือความหมายของ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ของเราด้วย เพราะว่าเกิดแล้วดับไปหมดแล้ว จะเป็นของเราได้อย่างไร เพราะว่าจากการเข้าใจเพียงสภาพของจิตนี้ ก็จะทำให้เข้าใจความเป็นอนัตตาของ ธรรมอื่นๆ ด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าจะพูดถึงอะไรก็ขอให้เข้าใจสิ่งนั้น เพราะว่าแม้แต่ปฏิสนธิจิต ขณะเดียว พูดได้โดยหลาย นัย เป็นจิตขณะแรกที่ทำกิจ สืบต่อจากจุติจิตของชาติก่อนแล้วก็ดับไปไม่กลับมาอีกเลย ของใคร ไม่มีเจ้าของ

    ผู้ฟัง อย่างบางคน เขาจะบอกว่า ไม่มีตัวตนอะไรอย่างนี้ ก็ทำอะไรก็ได้ ไม่มีก็ได้

    ท่านอาจารย์ ตัวตนอยู่ที่ไหนถ้าไม่มีตัวตนกับมีตัวตน ถ้ามีตัวตน ตัวตนอยู่ไหน และอะไรเป็นตัวตน

    ผู้ฟัง ตัวตนคือจิต

    ท่านอาจารย์ เกิดแล้วดับ แล้วจะเป็นตัวตนได้อย่าไร อะไรอีกที่ว่าเป็นตัวตน

    ผู้ฟัง พอดับปุ๊บ ผลของเหตุปัจจัยของจิตที่ดับก็ทำให้ เกิดจิตต่อมาว่าจะดีหรือไม่ดี อะไรทำนองนี้ ที่เขาบอกว่ากรรม กรรมเป็นของตน กรรมเป็นอะไรอย่างนี้ อย่างกรรมของลูกก็ของลูกไม่เกี่ยวกับแม่ หรือฝาแฝด คนโตกรรมอย่างไรก็ไม่เกี่ยวกับแฝดคนน้อง อะไรอย่างนี้ ที่หนูว่าตัวตนคือ เหมือนกับว่า ตัวกรรมที่มันมีอยู่ พอดับไปก็ เป็นเหตุปัจจัยให้จิตใหม่เกิดขึ้น ซึ่งจะดีไม่ดี

    ท่านอาจารย์ จิตเกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะ ถ้าเราเข้าใจจิตทีละหนึ่งขณะ เราก็จะรู้ว่า ไม่ใช่ตัวตน แต่ถ้าเรารวมจิตหลายๆ ขณะ เราก็เข้าใจว่า มีตัวตน แต่ถ้าเราสามารถเข้าใจจิตหนึ่งขณะ ในความไม่ใช่ตัวตน อีกหนึ่งขณะในความไม่ใช่ตัวตน จิตทั้งหมดก็ไม่ใช่ตัวตน

    ผู้ฟัง จิตที่เกิดขึ้นเป็นเหตุ และปัจจัย ทำให้เกิดจิตอีกอันหนึ่ง อันนี้ไม่เข้าใจ แล้วมันเป็นอย่างนั้นจริง หรือเปล่าเพราะมันคิดอย่างนั้นแล้วอดคิดไม่ได้ว่ามันมีตัวตน เพราะมันเป็นหนึ่งเดียว สืบทอดกันมาตลอด

    ท่านอาจารย์ มีขณะไหนบางไหม ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงขณะนี้ที่ไม่มีจิต

    ผู้ฟัง แต่ที่ไม่เข้าใจ คือเป็นจิตอันเดียวกันหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ จิต ๑ ขณะ จะมีอนุขณะ ขณะย่อยๆ คือขณะที่เกิด ไม่ใช่ขณะที่ดับ ระหว่างที่ยังไม่ดับ เกิดแล้วยังไม่ดับ ก็อีก ๑ ขณะ คือ ขณะที่เกิดแล้ว แต่ว่ายังไม่ดับ เพราะฉะนั้น จะมีอนุขณะ ๓ คือ อุปาทขณะภาษาบาลี หมายความถึงขณะเกิด ภังคขณะ หมายความถึงขณะดับ และขณะที่ยังไม่ดับคือ ฐีติขณะ ไม่ว่าจะเป็นจิตเกิดที่ไหน พรหมโลก มนุษยโลก จิตของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือจิตของใครก็ตามแต่ จิตเป็นจิต ไม่มีใครเปลี่ยนแปลงลักษณะของสภาพธรรมได้เลย นี้คือความหมายของธรรม คือ เป็นสิ่งที่จะต้องเป็นอย่างนั้น ตามลักษณะของสภาพธรรมนั้นๆ ซึ่งใครก็เปลี่ยนแปลง หรือว่าบังคับบัญชา ไม่ได้ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ธรรม ตามความเป็นจริงของธรรมนั้นๆ ไม่ได้เปลี่ยนเลย จิตหนึ่งขณะที่นับว่า หนึ่งขณะ คือ อุปาทขณะ ฐีติขณะ ภังคขณะ เมื่อเกิดแล้วดับไป หมดไป คือ หนึ่งขณะ เพราะฉะนั้น ปฏิสนธิจิต มีกี่อนุขณะ

    ผู้ฟัง

    ท่านอาจารย์ ปฏิสนธิจิตมีกี่ขณะ หนึ่งขณะ แต่ปฏิสนธิจิต ๑ ขณะนั้นมี ๓ อนุขณะ ดับแล้ว แล้วก็เป็นปัจจัย การดับไปของจิตขณะก่อน ก็เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น ความจริงจิตที่เกิดขึ้นแต่ละขณะไม่ได้มีปัจจัยเดียวเลย มีหลายปัจจัย อย่างที่กล่าวว่าเวลาที่จิตขณะหนึ่งดับไป จิตขณะนั้นแหละเป็น อนันตรปัจจัย สืบต่อ ทำให้จิตขณะต่อไปเกิดขึ้น นอกจากจุติจิตของพระอรหันต์ ซึ่งเมื่อดับแล้ว ไม่เป็น อนัตตรปัจจัย ที่จะให้จิตเจตสิกเกิดอีกเลย เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า เรามีอายุเท่าไร

    ผู้ฟัง หมายถึงว่า เป็นจิตดวงเดียวกันตลอดมา

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่ดวงเดียว ดวงเดียวไม่ได้ เพราะ จิต ๑ ดวงต้องมี ๓ อนุขณะแล้ว

    ก็ดับ ดับแล้วก็จะเป็นจิตดวงก่อนไม่ได้เลย เกิดใหม่ จิตใหม่ดับไป เกิดใหม่ดับไป เกิดใหม่ ไม่ใช่จิตนั้นกลับมาเกิดด้วย ดับแล้วดับเลย นี้คืออนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา บังคับบัญชาไม่ได้ จะให้กลับมาอีกไม่ได้เลย ถ้าเราเข้าใจความหมายของอนัตตาจริงๆ ก็จะเห็นได้ว่าไม่มีตัวตน จะเอาอะไรเป็นตัวตนละ มีแต่สภาพธรรมที่มีปัจจัยเกิดแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น เรามีอายุเท่าไร

    ผู้ฟัง แว็บเดียว

    ท่านอาจารย์ หรือว่า นานแสนนาน นับไม่ถูก เพราะว่าจิตเกิดแล้วก็ดับ สืบต่อมากี่ภพกี่ชาติ ใครรู้ ก็เป็นลักษณะนี้แหละ สืบต่อกันอย่างนี้

    ผู้ฟัง เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของใคร

    ท่านอาจารย์ บังคับให้เกิดได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ท่านอาจารย์ บังคับให้ไม่ดับได้ไหม

    ผู้ฟัง ไม่ได้

    ผู้ฟัง ถ้าเขาเกิดทำกรรมหนักที่เขาคิดว่าไม่มีชาติหน้า ตัวกรรมนั้นก็จะเป็นเหตุปัจจัยให้

    ท่านอาจารย์ เรากำลังพูดถึงจิต ก็ต้องเข้าใจว่า มีจิตหลายประเภท แล้วก็มีจิตทีละหนึ่ง ขณะสืบต่อ นานแสนนานแล้วต่อไปอีก นับไม่ถ้วนแต่เราจะเข้าใจ ทีละหนึ่งขณะ เช่น ปฏิสนธิจิตหนึ่งขณะ ถ้าจะศึกษาต่อไป จะทราบว่าจิต ไม่ว่าจะเป็น ประเภทไหนก็ตามแต่ เมื่อเกิดแล้ว จะต้องเป็นชาติ ๑ ชาติใดใน ๔ ชาติ ชา-ติ หมายความถึง การเกิดขึ้น เมื่อจิตเกิด เราก็ควรจะรู้ว่าจิตเกิดเป็นอะไร ใน ๔ อย่าง ต้องเป็น ๑ ใน ๔ คือเป็นกุศล อย่างหนึ่งเป็นอกุศลอย่างหนึ่ง นี่เป็นเหตุที่จะให้เกิดผล และจิตที่เป็นผลเป็นวิบาก และจิตที่ไม่ใช่กุศล อกุศล ไม่ใช่วิบาก เป็นกิริยาจิต นี่คือหมายความว่า ถ้าจะศึกษาธรรมให้เข้าใจอะไร ก็เข้าใจสิ่งนั้น แม้แต่เรื่องชาติของจิต เราก็จะต้องทราบว่า ขณะนี้เรารู้เพิ่มขึ้นมาอีกแล้ว ว่าจิตที่เกิด มีชาติด้วยนะ ต้องเป็นชาติ ๑ ชาติใด ถ้ารู้ จริงๆ ก็ต้องรู้ได้ว่าเป็นชาติอะไรใน ๔ ชาติ เกิดเป็นกุศล หรือเกิดเป็นอกุศล หรือเกิดเป็นวิบาก หรือเกิดเป็นกิริยา วิบากคือผล ของกุศล และอกุศล เพราะฉะนั้น จึงมีกุศลวิบาก และอกุศลวิบาก ศึกษาเพื่อที่จะให้เข้าใจถ่องแท้ว่า เป็นอนัตตาจริงๆ หรือเปล่า เพราะว่าบางครั้ง ฟังไปก็ เข้าใจนิดหนึ่งแล้วก็กลับมาเป็น อัตตาอีกแล้วเดี๋ยวก็เป็นอนัตตา เดี๋ยวก็เป็นอัตตาอีก เพราะฉะนั้น ศึกษามากยิ่งขึ้นเพื่อให้เห็น มากขึ้นว่าเป็นอนัตตา เพราะว่า ถึงแม้ว่าเราจะเข้าใจ โดยขั้นการฟังว่าเป็นอนัตตา แต่ลักษณะที่เป็นอนัตตา ยังไม่ได้ปรากฏ ก็จะต้องมีความรู้อีกระดับหนึ่ง ให้ถึงระดับนั้น

    เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าการศึกษา จะจบได้ไหม ถ้ายังไม่ถึงความเป็นพระอรหันต์ จบไม่ได้เลย ไม่ใจร้อนเลย ค่อยเข้าใจ ค่อยๆ ฟัง แล้วก็คิด ไตร่ตรอง ในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังว่าเป็นความจริงหรือเปล่า แล้วก็เข้าใจในสิ่งนั้นยิ่งขึ้น

    ถ้าถามว่าจิตที่เกิดต้องเป็นชาติ ๑ ชาติใด ใน ๔ ชาติ ลองคิดสิว่า ปฏิสนธิจิต จะเป็น จิตชาติอะไร จิตที่เกิด เกิดเป็นกุศล หรือว่าเป็นอกุศล หรือว่าเป็นวิบาก หรือว่าเป็นกิริยา เป็นวิบาก เพราะอะไร กุศลจะเป็นวิบากไม่ได้ อกุศลก็เป็นวิบากไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผลของกรรม ผลของกุศล อกุศลมี โดยเจตนาเป็น กัมมปัจจัย ถ้าเราศึกษาเรื่องของเจตสิกโดยละเอียด เราจะทราบว่าเจตสิกไหนเป็นกรรม และเป็นกัมมปัจจัย สิ่งที่ได้กระทำด้วยความจงใจ ไม่ใช่ว่าจะไมมีผล สภาพของเจตสิกที่จงใจที่จะทำกุศล จะเป็นปัจจัยให้จิตประเภทที่เป็นกุศลวิบากเกิด แล้วสภาพของเจตนาที่ จงใจที่จะทำอกุศล อย่างจะให้เขาตาบอด เจตนานั้นต้องการไม่ให้มีตา ใช่ไหม ก็ให้เขาตาบอด คิดว่าให้คนอื่นตาบอด เจตนาที่จะให้ไม่มีจักขุปสาท แล้วก็เข้าใจว่าเป็นเขาด้วย แต่ความจริง เขาก็ไม่มี ใครก็ไม่มี แต่มีเจตนาที่เกิดขึ้นแล้ว เพราะฉะนั้น ผลก็คือว่าคนนั้นก็จะตาบอด เพราะว่าเจตนานั้น กรรมเป็นสิ่งที่มีกำลังแรงจริงๆ แรงอะไรก็คงจะไม่สู่แรงกรรม ถ้าเป็นกุศลกรรมระดับขั้นที่จะทำให้เกิดในพรหมโลก เกิดได้ ไม่ใช่เกิดในโลกมนุษย์ แล้วเวลาที่เราเห็นผลของอกุศลกรรม ในชาตินี้ก็เห็นบ่อยๆ มีดบาดหรือว่าอะไรก็ตามแต่ มากมายที่ไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ กรรมก็ทำให้ผู้นั้น ได้รับผล ในขณะนั้น เวลานั้น ที่จะเป็นอย่างอื่น ไปไม่ได้ แล้วกรรมนี้แม้ว่าจะได้ทำนานแสนนานมาแล้ว แต่ก็สามารถที่จะเป็น กัมมปัจจัย ให้ผลเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ขณะที่กำลังเกิดขณะแรก ไม่ได้ทำกุศลกรรม และอกุศลกรรม แต่ต้องเป็นผลของ กุศลกรรมหรืออกุศลกรรม ถ้าเป็นผลของกรรมดี ก็เกิดในภพภูมิที่ใช้คำว่าสุขคติ มนุษย์ หรือเทวดา ตามกำลัง ถ้าเป็นผลของกุศลขั้นที่สงบมาก ถึงระดับขั้นฌานต่างๆ แล้วไม่เสื่อม ก็เกิดในพรหมโลกได้ ไม่มีใครไปบังคับ ไม่มีใครไปเลือก ถ้าเลือกได้ ทุกคนก็คงจะเลือก กรรมที่ดี ที่สุดให้ผล

    ผู้ฟัง ถ้าอย่างนี้ก็แสดงว่า สิ่งที่ทำที่เป็นกุศลกรรม ก็จะเป็นกัมมปัจจัย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้องให้วิบากจิต พร้อมเจตสิกเกิด

    ผู้ฟัง แต่บอกไม่ได้ว่าจะให้ผลเมื่อไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้เลย พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น ที่ทรงทราบ

    ผู้ฟัง ขอบพระคุณ

    ผู้ฟัง อาจารย์บอกว่าทันทีที่จุติจิตดับ ปฏิสนธิ จะเกิดขึ้นทันทีเลย

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง จุติจิตดับไป อันนี้ตรงที่สุด

    ผู้ฟัง เดี๋ยวนี้การแพทย์เจริญ ซึ่งคุณหมอสามารถที่จะบอกได้ว่า อาจจะไม่พ้นวันนี้ หรือ ๒ ชั่วโมง ก็จะมีญาติมานั่งเฝ้า แล้วก็ถอดเครื่องหายใจ อะไรอย่างนี้ แล้วก็พอจุติจิตดับบุ๊ป ในขณะที่คนอื่นก็ฟูมฟายอยู่ที่บนเตียง คือจิตดวงนั้นก็ไปปฏิสนธิทันที

    ท่านอาจารย์ ไม่ใช่จิตดวงนั้นไป จิตใดก็ตาม ที่เกิด มีปัจจัยเกิดแล้วดับ แต่ไม่ได้ไปไหนเลย ไปอีกไม่ได้แล้ว ดับแล้ว ไม่กลับมาอีกด้วย ไม่ไปไหนด้วย แต่เป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิดสืบต่อ ทันที

    ผู้ฟัง ปฏิสนธิทันทีเลย

    ท่านอาจารย์ ทันที

    ผู้ฟัง ในภพภูมิใด ภพภูมิ ๑

    ท่านอาจารย์ ถูกต้อง

    ผู้ฟัง เพราะฉะนั้น ที่คนบอกว่าญาติเสียชีวิตไปแล้ว ตอนนี้ยังไม่ไปเกิด อันนี้คือไม่ใช่

    ท่านอาจารย์ ทันที พอจุติ แล้วก็ปฏิสนธิ ตายแล้วเกิดทันที

    ผู้ฟัง แต่ภพภูมิใด เราก็ไม่รู้

    ท่านอาจารย์ ไม่ทราบ ทุกคนที่นี่มาจากไหน ทราบไหม

    ผู้ฟัง ไม่ทราบ คือไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นภพภูมิมนุษย์ ไม่จำเป็น ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ เคยรู้จักกันมาก่อน หรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่รู้จัก

    ท่านอาจารย์ ชาติก่อนเป็นใครคุ้นเคยกันระดับไหม เป็นญาติพี่น้องเคยไปท่องเที่ยวที่โน่น ที่นี่ด้วยกันหรือเปล่า ก็ไม่รู้เลย แต่สิ่งหนึ่ง ซึ่งเราคงจะไม่ลืม คือเราจะรู้จักกันอีกไม่นาน

    ผู้ฟัง พอพูดถึงเรื่องจิต ก็เรียกว่ามี เจตสิก เกิดร่วมด้วยทุกครั้ง

    ท่านอาจารย์ เกิดรวมด้วย เวลาที่เรากล่าวถึงจิต เราละเจตสิกไว้ในที่เข้าใจ เวลาที่เราพูดถึงเจตสิก เราก็ละจิตไว้ในที่เข้าใจ หมายความว่าต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วก็มีจิตเกิดร่วมด้วย เจตสิก ๑ จะเกิดกับจิต ๑ ไม่ได้ ต้องมีหลายเจตสิก และเจตสิกหนึ่ง จะไม่มีเจตสิกเลยเกิดร่วมด้วยไม่ได้เลย อย่างน้อยที่สุด จิตต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ประเภท อย่างน้อยที่สุด อย่างน้อยที่สุด ๗

    ผู้ฟัง เช่นอะไร

    ท่านอาจารย์ จิตเห็น จิตได้ยิน เป็นพวกวิบากจิต

    ผู้ฟัง อันนี้ผมอยากจะขอให้คุณประเชิญ ช่วยกรุณาให้รายละเอียดเพิ่มเติม

    วิทยากร. จิตเป็นสิ่งที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม แต่เป็นปรมัตถธรรม ที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้อารมณ์ เรียกว่าโดยความเป็นอินทรีย์ จิตเป็น มนินทรีย์ ซึ่งสภาพรู้มี ๒ อย่างคือ จิตกับเจตสิก จิตจะเป็นใหญ่เป็นหัวหน้า บางระยะใช้คำว่าถึงก่อน ประเสริฐ ซึ่งในที่นั้น หมายถึง เป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้อารมณ์ ซึ่งทุกครั้งที่มีจิตเกิดขึ้น ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง และจิตนั้นก็จะมีชาติที่แตกต่างออกไป ตามสัมปยุตธรรมคือเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย จิตรู้อย่างเดียว จะแตกต่างจากเจตสิกคือ จิตนั้นรู้อย่างเดียว แต่เจตสิกนั้นรู้โดยความเป็นสภาพที่จำบ้าง เช่น สัญญาเจตสิก รู้โดยความเป็นสภาพที่รู้สึก เช่น เวทนา รู้โดยการติดข้องในอารมณ์ คือโลภะติด หรือประทุษร้ายในอารมณ์ อันนั้นคือโทสะ

    ความแตกต่างระหว่างจิตกับเจตสิก จะต่างกันอย่างที่เรียนแล้ว คือ จิตนั้นจะเป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้ เจตสิกก็เกิดร่วมแต่ว่าทำการรู้ที่แตกต่างกัน ซึ่งทั้งหมดมีชื่อ ซึ่งบางท่านอาจจะไม่ค่อยจะคุ้นเคย มีชื่อ ที่เป็นภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาของพระพุทธเจ้า แต่จริงๆ แล้วก็เป็นสิ่งที่มีจริงเกิดกับเราในชีวิตประจำวัน ในขณะที่มีการรู้อารมณ์ทุกครั้ง เจตสิกเหล่านี้ก็จะเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง แต่ก็จะเกิดตามฐานะของเจตสิกนั้นๆ เช่น ถ้าเป็นกุศลก็จะไม่มีอกุศลร่วมด้วย ในกุศลจิตนั้น ขณะที่เป็นกุศลจิตเกิดขึ้น ก็จะมีธรรมที่เรียกว่าธรรมฝ่ายดีงาม เรียกว่า โสภณธรรม เกิดร่วมด้วยกับจิตนั้นๆ ทำหน้าที่ต่างกัน เช่น สติก็เป็นเจตสิกอย่างหนึ่ง ทำหน้าที่ในการระลึกรู้ ศรัทธาเป็นธรรมอย่างหนึ่ง เป็นธรรมชาติที่ผ่องใส เลื่อมใสในกุศลเป็นเจตสิกอย่างหนึ่ง

    ซึ่งทั้งหมดเป็น การจำแนกแยกแยะ โดยผู้ที่ รู้จริงๆ คือพระพุทธเจ้า ท่านทรงรู้ และทรงแสดงให้รู้ตามว่า สิ่งเหล่านี้มีจริงในชีวิตประจำวัน เป็นเพียงจิต เป็นเพียงเจตสิก เป็นเพียงรูป เกิดขึ้น ทำกิจของตนเท่านั้นเอง ถ้าเราแยกแยะโดยแต่ละสภาพธรรม เราก็จะเห็นว่าที่จริงแล้ว ตัวเราไม่มี มีแต่จิต และเจตสิก และรูป ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน เท่านั้นเอง จะค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็จะค่อยๆ ไถ่ถอนที่เคยทรงจำว่าเป็นเรา เป็นตัวตนของเรา

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 99
    23 มี.ค. 2567