ปกิณณกธรรม ตอนที่ 364


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๓๖๔

    สนทนาธรรม ที่ จ.เชียงใหม่

    พ.ศ. ๒๕๔๐


    ท่านอาจารย์ ไปจำว่าเห็นเป็นจิต หรือว่ามีเจตสิกประกอบเท่าไร แต่ที่ฟังมาแล้วทั้งหมด ทำให้มีการระลึกรู้ว่า สภาพธรรมที่กำลังปรากฏขณะนี้ทางตาไม่ใช่สภาพรู้ แต่มีสภาพรู้ เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจอย่างนี้ เราจะไม่สนใจเรื่องชื่อว่า นี่เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หรือว่าเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะสิ่งนั้นมีจริง เมื่อมีจริง เป็นธรรมแล้ว แท้ที่จริงแล้วเป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งนั้น แต่ทีนี้ที่เราเรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะว่าสภาพธรรมนั้นเกิดที่กาย แล้วเคยยึดถือกายนี้ว่า เป็นเรา ตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า ไม่เคยอยากให้อะไรเกิดกับกายนี้เลย เจ็บไข้ได้ป่วยนี้ไม่อยากเลย หรือว่าจะสูญเสียไปก็ไม่อยาก หรือจะไม่สวยไม่งามก็ไม่อยาก จะต้องทำให้เรียบร้อยตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า

    นี่ก็แสดงให้เห็นว่า เรามีความยึดมั่นในกาย ซึ่งก็เป็นธรรม กายก็เป็นธรรมด้วย เพราะฉะนั้น ขณะใดที่สติระลึกที่ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ไม่ใส่ชื่อ แล้วก็จะต้องเป็น บรรพหนึ่งบรรพใดใน ๔ บรรพ

    เราก็ไม่จำต้องไปคิดถึงว่ามาอธิบายจิตตอนหนึ่ง มาอธิบายเวทนาตอนหนึ่ง หรือมาอธิบายธรรมตอนหนึ่ง แต่เมื่อเข้าใจแล้วว่า ทุกอย่างเป็นธรรม แล้วเมื่อสติระลึกก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น แล้วก็ไม่ต้องไปบอกว่า ขณะนั้นเป็นบรรพไหน เพราะว่านั่นเพียงชื่อ ถ้าระลึกที่กาย คือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน จะเรียกหรือไม่เรียกก็คือสภาพธรรมนั้นกำลังระลึกรู้ลักษณะที่กาย ถ้าระลึกลักษณะของจิต ก็คือจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่ขณะนี้เราฟังเรื่องจิต แต่สภาพของจิตยังไม่ปรากฏ เพราะฉะนั้น จะเป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าเป็นเพียงชื่อ แต่ว่าถ้าสภาพของจิตปรากฏเมื่อไร เมื่อนั้นจะมีการระลึกลักษณะของจิตต่างๆ เพิ่มขึ้น เพราะว่ารู้แล้วว่า นั่นคือลักษณะของจิต

    เราศึกษาธรรม เรารู้เรื่องธรรม เรารู้ชื่อธรรม แต่ว่าเรายังไม่รู้แจ่มแจ้งในลักษณะแท้ๆ ของธรรมที่เรากำลังเริ่มจะเข้าใจ ต้องอาศัยการอบรมเจริญปัญญาเรื่อยๆ ค่อยๆ เข้าใจขึ้นๆ เพราะว่าความเข้าใจถูกคือตัวปัญญา ไม่ใช่ว่ายิ่งเรียนยิ่งไม่รู้หรือว่ายิ่งสงสัย ถ้าเรียนจริงๆ เข้าใจจริงๆ จะรู้จริงๆ ว่า ขณะนี้เป็นธรรม แล้วไม่ต้องไปแสวงหาธรรมที่ไหน เพียงแต่เรารู้กำลังของอวิชชาของเราว่า มากแค่ไหน ที่ฟังแล้วก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่สภาพธรรมกำลังปรากฏไม่ได้รู้อย่างที่ฟัง

    ต้องรู้ว่า นี่เป็นระดับขั้นศึกษาขั้นปริยัติ จนกว่าจะถึงแม้ขณะนี้ก็สามารถที่สติเกิดแล้วรู้ความจริงตรงตามที่ได้ฟัง นั่นก็คือการอบรมเจริญขึ้นของปัญญา ซึ่งไม่ต้องไปทำอย่างอื่นเลย เข้าใจขึ้นๆ เพราะเหตุว่าความเข้าใจถูกเป็นปัญญา ถ้าไม่มีความเข้าใจถูก แล้วปัญญาจะเกิดได้อย่างไร ปัญญาจะเจริญได้อย่าไร แล้วก็การอบรมเจริญปัญญา เริ่มด้วยมรรคองค์ที่ ๑ คือ สัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นปัญญา ตั้งแต่ขั้นฟัง เพราะฉะนั้น ขณะนี้ทุกคนกำลังอบรมเพื่อจะถึงจุดนั้น คือให้เข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่มีที่กำลังปรากฏ

    ผู้ฟัง ในเรื่องของสติ เราจะต้องมีการศึกษาให้เกิดความเข้าใจก่อน สติจึงจะทำหน้าที่ของเขา ใช่ไหม

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่าง สติเป็นปรมัตถ์อะไร

    ผู้ฟัง เป็นเจตสิก

    ท่านอาจารย์ เป็นเจตสิก นี่เรียกชื่อคล่อง แต่ว่าเจตสิกมี ๕๒ เพราะฉะนั้น เจตสิกที่เป็นสติ คือ สภาพที่ระลึกเป็นไปในกุศล ซึ่งมีหลายขั้น สติที่เป็นไปในทานก็มี ขณะที่มีการระลึกที่จะให้สิ่งที่เป็นประโยชน์กับคนอื่น สติที่จะวิรัติทุจริตก็มี สติที่เคยฟัง เข้าใจธรรม แล้วระลึกลักษณะของธรรมก็เป็นอีกขั้นหนึ่ง ที่จะรู้ความจริง เพราะว่าขณะนี้รู้เรื่องความจริง แต่ยังไม่ได้รู้ตัวจริงของสภาพธรรมที่มีมีจริงๆ คุณศีลกันต์อยากมีสติเร็วๆ ไหม

    ผู้ฟัง ตอนแรกก็คิดว่าอยาก หลังจากที่ได้ศึกษาแล้ว ได้ทราบว่า ถ้าเราอยากก็เป็นโลภะ

    ท่านอาจารย์ แน่นอน แล้วสติจะไม่ได้เกิดเพราะความอยากเลย แต่เมื่อมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น นั่นต่างหากที่จะเป็นเหตุที่แท้จริง ที่จะทำให้สติปัฏฐานเกิดได้ และเป็นหนทางที่จะละความอยากด้วย อันนี้คนไม่รู้ ก็จะไปส่งเสริมความอยากกัน จริงๆ แล้วเป็นการที่จะต้องละความอยากซึ่งคนกำลังอยาก คือ เช่นอยากจะปฏิบัติ อยากได้อะไร อยากปฏิบัติอะไร รู้อะไร อยากแล้ว แต่ว่าวิธีที่จะเข้าใจทำให้ละความอยากที่จะไปทำ หรือจะไปปฏิบัติ เพราะเหตุว่าขณะนี้สภาพธรรมกำลังปรากฏ ถ้าจะไปปฏิบัติ หมายความว่า ไม่รู้ว่า ต้องรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏแล้วเดี๋ยวนี้

    นี่เป็นหนทางละสมุทัย คือ โลภะ เพราะว่าในอริยสัจ มี ๒ อย่าง ทุกขอริยสัจจะ สภาพธรรมที่กำลังเกิดดับในขณะนี้ที่จะต้องประจักษ์แจ้ง แล้วในขณะเดียวกันก็ต้องละสมุทยสัจจะ คือ ความอยาก หรือความต้องการ แม้แต่ความต้องการที่จะให้สติเกิด ไม่รู้ว่าขณะนั้นเป็นโลภะแล้ว เห็นไหมว่า โลภะซ่อนเก่ง อยู่ตรงไหนหาไม่ค่อยเจอ ความจริงมีอยู่ตลอดเวลา ถ้าปัญญาไม่เกิด

    ผู้ฟัง ดิฉันเอง รู้ เป็นชาวพุทธ รู้ อยากจะทำดี ไม่อยากทำชั่ว และไม่เจตนาที่จะทำบาป ไม่ใช่ทีเดียว อาจจะมีบ้าง แต่ว่าไม่เคยสนใจที่จะไปฟัง ไปอะไร ที่ไหน ไม่ค่อยจะสนใจอะไรเลย จนกระทั่งมาเจออาจารย์ แล้วฟังอาจารย์นี้แหละ เกิดความสนใจ แล้วกำลังติดตามอยู่ อันนี้จะเป็นโลภหรือเปล่า หรือจะเป็นอะไร

    ท่านอาจารย์ ไม่ได้อยากนี่ สนใจที่จะฟังพระธรรม

    ผู้ฟัง แสดงว่าไม่ใช่โลภ

    ท่านอาจารย์ ไม่ โลภเป็นฝ่ายอกุศล ติดข้อง

    ผู้ฟัง สำหรับผมมีปัญหาอยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ เกี่ยวกับเรื่องของกรรม ยังสับสนอยู่ ตัวผมเองเกี่ยวกับเรื่องของกรรม คือ เป็นเจตนาเจตสิก ที่เราพูดกันว่า เป็นกรรม ทีนี้ยังไม่เข้าใจคำว่า กรรมกับวิบากจิต หรือผลของกรรมมันเป็นอย่างไร เอาทางตาก่อน เอาเฉพาะทางทวารเดียวก่อน

    ท่านอาจารย์ เลือกเอาอย่างนี้ไม่ได้ คือหมายความว่าเราต้องเข้าใจจริงๆ ในเรื่องของกรรมกับวิบาก คือ ผลของกรรมเสียก่อน ในปรมัตถธรรม ๔ อะไรเป็นกรรม ที่เราเรียกว่ากรรม กรรมได้แก่ปรมัตถธรรมอะไร

    ผู้ฟัง เจตสิก

    ท่านอาจารย์ เจตสิก มี ๕๒ สภาพธรรมที่เป็นกรรมได้แก่เจตสิกอะไร

    ผู้ฟัง เป็นเจตนาเจตสิก

    ท่านอาจารย์ ได้แก่เจตนาเจตสิก สัญญาเป็นกรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ ผัสสะเป็นกรรมหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่เป็น

    ท่านอาจารย์ แต่ถ้ากล่าวรวม เจตสิกเกิดกับจิต เพราะฉะนั้น บางคนก็ใช้คำว่า จิต รวมเจตสิกอื่นๆ ด้วย เพราะว่าเขาเกิดร่วมกันในขณะนั้น แต่ถ้ากล่าวโดยเจาะจง หมายความถึงเฉพาะ เจตนาเจตสิก

    ทีนี้ทำไมเจตนาเจตสิกจึงเป็นกรรม เพราะว่าเป็นสภาพที่จงใจกระทำ อย่างเรามีของในครัวมากเลย หลายๆ อย่าง คนโน้นอาจจะทำอย่างนี้ คนนี้อาจจะทำอย่างนั้น แต่คนที่กระทำจริงๆ ต้องมี หรือว่าการจะสร้างบ้านสักหลังหนึ่ง ก็ต้องมีแบบแปลน มีคนเขียน มีอิฐ แต่ต้องมีคนกระทำ สภาพที่จงใจกระทำ คือ ลักษณะของเจตนา จริงๆ แล้วถ้าไม่เปรียบกับอะไรเลย เป็นสภาพที่ขวนขวาย อย่างผัสสะก็กระทบเฉยๆ สัญญาก็จำ แต่เจตนาเป็นสภาพที่จงใจกระตุ้นขวนขวายเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดร่วมกันให้กระทำกิจการงาน นั่นคือหน้าที่ของเจตนาเจตสิก

    ถ้าศึกษาโดยละเอียด เจตนาเกิดกับจิตทุกประเภท แม้แต่กำลังเห็นขณะนี้ก็มีเจตนาเจตสิก ทั้งๆ ที่เราทุกคนก็ไม่ได้บอกเลยว่า เราจงใจจะเห็น แต่ก็มีเจตนาเจตสิกเกิดทำหน้าที่ของเขาเสร็จเรียบร้อยแล้ว หมายความว่า เจตสิกทุกดวงซึ่งเกิดกับจิต ทำหน้าที่เฉพาะของเจตสิกนั้นๆ สำเร็จพร้อมกับหน้าที่ของจิต ไม่ใช่ว่าจิตเกิดทำหน้าที่ แล้วเจตสิกอื่นๆ ที่เกิดไม่ได้ทำหน้าที่ หรือทำหน้าที่ไม่ครบไม่ได้ สภาพธรรม ทุกอย่างเกิด เพื่อทำกิจหน้าที่เฉพาะของตนแล้วดับ ซึ่งเจตสิก ๕๒ ชนิด ก็ทำหน้าที่เฉพาะของเขาจริงๆ แต่ละอย่าง สลับกันไม่ได้ สัญญาเจตสิกจำเท่านั้น จะไปจงใจขวนขวายอะไรก็ไม่ได้เลยสักอย่างเดียว ผัสสเจตสิกก็กระทบ เจตสิกอื่นๆ ก็แล้วแต่หน้าที่เฉพาะของเขาที่เกิดขึ้น

    ในขณะจิตหนึ่งจะต้องมีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ทีนี้ถ้ากล่าวโดยประเภทของจิต แบ่งโดยเหตุกับผล จิตที่เป็นเหตุ คือ กุศลจิต หรืออกุศลจิต เพราะประกอบด้วยเจตสิกที่เป็นเหตุ ถ้าเป็นอกุศลจิตก็ประกอบด้วยโมหเจตสิกแน่นอน แล้วแต่ว่าจิตนั้นจะมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย หรือว่าไม่มีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็เป็นโมหเจตสิกเท่านั้น ไม่มีโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย หรือว่าอกุศลจิตบางประเภท นอกจากมีโมหเจตสิกแล้ว ก็ยังมีโลภเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็เป็นจิตประเภทโลภมูลจิต เพราะว่ามีจิตที่มีโลภะเป็นเหตุหรือเป็นมูลเกิดร่วมด้วย แล้วอีกประเภทหนึ่งก็คือ เป็นอกุศลจิตที่มีโมหเจตสิกเกิดร่วมด้วยกับโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย นี่คือจิตที่เป็นเหตุ ที่เป็นอกุศล ถ้าใช้ภาษาบาลีใช้คำว่า สเหตุกะ หมายความว่าเป็นจิตประเภทที่มีเหตุเจตสิกเกิดร่วมด้วย ฝ่ายอกุศล ถ้าเป็นฝ่ายกุศลก็ต้องมีอโลภเจตสิก อโทสเจตสิกเกิดร่วมด้วย แล้วแต่ว่า ขณะนั้นจะมีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วยหรือไม่ ถ้าไม่มีปัญญาเจตสิกเกิดร่วมด้วย ก็มีแค่ ๒ เหตุ

    นี่แสดงว่า จิตที่เป็นเหตุ มีอกุศลเหตุเกิดร่วมด้วย หรือโสภณเหตุเกิดร่วมด้วย ไม่ใช่จิตที่เป็นผล

    เพราะฉะนั้น ต้องแยกจิตที่เป็นเหตุกับจิตที่เป็นผล เพราะว่าจิตขณะหนึ่งจะเป็นทั้งเหตุทั้งผลไม่ได้ เมื่อจิตที่เป็นเหตุดับ มีแล้ว เหตุ เป็นปัจจัยที่จะให้ผลข้างหน้าเกิด เพราะเหตุมี แต่จะเกิดเร็วเกิดช้า เลือกไม่ได้เลย บางคนก็บอกว่า ทำบุญแล้วไม่เห็นได้ผลเลย ทำไมล่ะ รู้ได้อย่างไร เป็นผู้ตรัสรู้ว่า บุญนี้ให้ผลเมื่อไร หรืออย่างไร ในเมื่อต้นไม้แต่ละชนิดก็ยังต้องอาศัยกาลเวลาที่ต่างกัน พืชแต่ละอย่าง บางอย่างก็ให้ผลเร็ว บางอย่างก็ให้ผลช้า เพราะฉะนั้น กรรมที่แต่ละคนทำ เราบอกได้หรือว่า กรรมนี้จะให้ผลเมื่อไร เป็นเรื่องของกรรม เป็นเรื่องของเจตนา ความจงใจ แล้วยังเป็นเรื่องของปัจจัยอีกหลายปัจจัยทำให้ผลเกิดขึ้น แต่ผลนั้นก็ต้องเป็นจิต และเจตสิก เพราะว่าจิต และเจตสิกเป็นเหตุ จะไปให้อย่างอื่นเป็นผล หรือรับผลไม่ได้ อย่างรูปเขาไม่ใช่สภาพรู้ ถึงรูปจะสวยหรือไม่สวย รูปเป็นรูปที่เกิดจากรรมเป็นปัจจัยได้ แต่เพราะรูปไม่รู้อะไร เพราะฉะนั้น รูปจึงไม่ใช่วิบาก ไม่ใช่สภาพธรรมที่เป็นการรับผลโดยรู้อารมณ์ เพราะว่าการรับผลโดยรู้อารมณ์ ต้องเป็นจิตกับเจตสิกเท่านั้น ซึ่งเป็นวิบากจิต

    เหตุคือกุศลจิต อกุศลจิตเป็นเหตุ ทำให้เกิดกุศลวิบากจิต หรืออกุศลวิบากจิตซึ่งเป็นผลพร้อมกับเจตสิกซึ่งเกิดร่วมกัน

    เพราะฉะนั้น ให้ทราบว่า เหตุ ผลก็คือ จิต เจตสิก รูปเป็นผลของกรรมจริง แต่เพราะรูปไม่รู้อะไร เราจะกล่าวว่ารูปเป็นผู้รับผลโดยตรง อย่างจิต เจตสิกไม่ได้เลย เพราะว่ารูปไม่รู้ รูปเกิดเพราะจิตเป็นปัจจัย รูปเกิดเพราะกรรมเป็นปัจจัย แต่อย่างไรรูปก็ไม่รู้อะไรเลยทั้งสิ้น เพียงแต่เกิดเพราะสมุฏฐานเหล่านั้นเท่านั้น

    พอจะเห็นได้ว่า เมื่อเหตุมี ผลต้องมี เพราะฉะนั้น ผลคือจิตเจตสิกประเภทที่เป็นวิบาก แล้วก็ใช้คำว่า กุศลวิบาก เมื่อเป็นผลของกุศล อกุศลวิบาก เมื่อเป็นผลของอกุศล แล้ววิบากขณะแรกที่สุดของชาตินี้คือขณะปฏิสนธิขณะแรก เป็นผลของกรรม เป็นวิบากจิต เราเลือกไม่ได้เลย ที่เราเกิดมาชาตินี้ เราเลือกให้กรรมไหนให้ผลหรือเปล่า ที่จะมาเกิดเป็นเราคนนี้ ชาตินี้ ไม่ได้เลือก เพราะไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เราทำกรรมตั้งมาก ชาตินี้ก็มาก ชาติก่อนก็มาก แล้วไม่ใช่เฉพาะชาตินี้กับชาติก่อน ในสังสารวัฏฏ์ฏที่ยาวนาน แล้วแต่กรรมใดพร้อมด้วยปัจจัยที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตชาติหน้าเกิด กรรมนั้นต่างหาก ที่จะทำให้ก่อนจะจุติหรือใกล้จะตาย จะเป็นจิตที่เป็นกุศล เศร้าหมอง หรือเป็นจิตที่ผ่องใส แล้วแต่กรรมจะทำให้อารมณ์ใดปรากฏ

    นี่ก็เป็นเรื่องที่เห็นความเป็นอนัตตาว่า ชาติหน้าเราก็ไม่รู้ว่า เราจะไปเกิดที่ไหนอย่างไร เหมือนกับชาตินี้ เรามาจากไหน ด้วยกรรมอะไร เราก็ไม่ทราบ เพราะฉะนั้น อย่างที่เมื่อวานนี้ที่เราบอกว่า เรื่องของกรรมเป็นเรื่องที่ปกปิด เพราะกำลังทำกรรมอยู่แท้ๆ อย่างเดี๋ยวนี้กำลังเป็นกุศลกรรม การฟังธรรม การศึกษาให้เข้าใจธรรม เรายังไม่สามารถจะรู้ได้เลยว่า กรรมนี้จะให้ผลเมื่อไร ชาติหน้าหรือชาติโน้นก็ไม่สามารถที่จะรู้ได้ แต่เหตุมี เพราะฉะนั้น ผลต้องมีในชาติหนึ่งชาติใด โดยที่ว่าไม่มีใครรู้จริงๆ จึงปกปิด ขณะที่กำลังทำกรรมก็ไม่รู้ว่า กรรมนี้จะให้ผลเมื่อไร เวลาวิบากจิตซึ่งเป็นผลของกรรมเกิด ก็ยังบอกไม่ได้อีกว่า นี่เป็นผลของกรรมชาติไหน อย่างกำลังเห็นเดี๋ยวนี้ โดยตำราทุกคนรู้ เป็นวิบากจิต เป็นผลของกรรมที่ทำให้จักขุปสาทรูปเกิด แล้วก็มีสิ่งที่ปรากฏ แล้วจิตเห็นก็เป็นผลของกรรม แต่ว่าผลของกรรมอะไร ใครบอกได้ เมื่อบอกไม่ได้ จึงเป็นสิ่งที่ปกปิด

    เพราะฉะนั้น มีจริง แต่ไม่ใช่ว่าเป็นวิสัยของเราที่จะตรัสรู้ว่า ขณะนี้เป็นผลของกรรมอะไร แต่เมื่อเหตุมี ผลต้องมี หรือผลที่มีก็ต้องเกิดจากเหตุ เพราะฉะนั้น ตัวเจตนาเป็นตัวกรรม ขณะใดที่เกิดกับกุศลจิต เจตนานั้นเป็นกุศลกรรม ขณะใดที่เกิดกับอกุศลจิต เจตนานั้นก็เป็นอกุศลกรรม เวลาที่เกิดกับวิบากจิต เช่น จักขุวิญญาณ มีเจตนาเจตสิกเกิดร่วมด้วย เพราะต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ๗ ดวง เจตนาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตเห็นต้องเป็นวิบาก เพราะว่าจิตเป็นวิบาก เจตสิกอื่นทั้งหมดต้องเป็นวิบาก

    เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าไม่ใช่ลักษณะของความจงใจแบบตั้งใจขวนขวาย ที่เราพอจะมองเห็น อย่างตั้งใจจะใส่บาตร จงใจที่จะทำอย่างหนึ่งอย่างใด หรือว่าจะมาฟังธรรม เป็นเรื่องของเจตนาทั้งนั้น แต่ว่าเมื่อเป็นกุศลเจตนา หรืออกุศลเจตนา เราพอจะทราบ เพราะเห็นลักษณะที่ขวนขวาย จงใจ ตั้งใจ แต่เวลาที่เป็นวิบาก ไม่มีทางรู้เลย แต่มีเจตนาเจตสิกเกิดแล้ว

    ในบรรดาเจตสิกทั้งหมด ๕๒ ประเภท ตัวเจตนาเป็นตัวกระทำ ไม่ว่าจะเกิดกับกุศลจิต หรืออกุศลจิต หรือวิบากจิต หรือกิริยาจิตก็ตาม เพราะว่าเป็นหน้าที่ของเจตนาเจตสิก แต่ว่าเมื่อสภาพจิตเป็นวิบาก เจตนานั้นก็ฐานะเป็นเพียงวิบาก ที่ขวนขวายกระทำกิจของการเห็น กระตุ้นสหชาตธรรมที่เกิดร่วมด้วยให้กระทำกิจ เหมือนหัวหน้านักเรียน หัวหน้าชั้น ถ้าไม่เตือนก็ไม่ทำ เป็นคนบอก เป็นคนสั่งให้ยืน ให้นั่ง ให้เคารพ ให้อะไรก็แล้วแต่

    ขอถามคุณชมเฉย อารมณ์คืออะไร ขณะนี้คุณชมเฉยมีอารมณ์ไหม

    ผู้ฟัง อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้มีอารมณ์ไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ อะไรบ้าง ที่กำลังเป็นอารมณ์

    ผู้ฟัง สิ่งที่ตาเห็น

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ตาเห็นเป็นอารมณ์ของอะไร

    ผู้ฟัง เป็นอารมณ์ของตา

    ท่านอาจารย์ ตัวตาเห็นได้ไหม

    ผู้ฟัง เป็นอารมณ์ของจักขุวิญญาณ

    ท่านอาจารย์ เป็นภาษาบาลี ถ้าพูดถึงตัวเห็นจริงๆ ถ้าไม่ใช้ภาษาบาลี เป็นปรมัตถธรรมอะไร ที่เห็นนี่ แล้วเสียงเป็นอารมณ์ของอะไร

    ผู้ฟัง เป็นอารมณ์ของจิตที่ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ จิตได้ยิน เวลานี้เสียงในป่า เป็นอารมณ์ของอะไร

    ผู้ฟัง ไม่เป็นอารมณ์ของอะไร ถ้าเผื่อไม่ได้ยิน

    ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีจิตได้ยิน เราจะใช้คำว่าอารมณ์ต่อเมื่อเป็นสิ่งที่จิตรู้ แข็งที่ไหนก็ตามแต่ แม้แต่ที่โต๊ะ ถ้าไม่กระทบสัมผัสเมื่อไร ไม่ใช่อารมณ์ของจิต เพราะว่าจิตไม่ได้กำลังรู้ลักษณะที่แข็ง เพราะฉะนั้น เพียง ๒ อย่าง อย่าสับสน อย่างที่เอาภาษาไทยมาใส่ว่า อารมณ์ร้าย อารมณ์ดี อารมณ์โกรธ อารมณ์แค้นอะไรทั้งหมดไม่ได้เลย ถ้าพูดตามธรรม จริงๆ ในคำสอน จะต้องเป็นสิ่งที่จิตรู้อย่างเดียว อารมณ์หมายความถึงสิ่งที่จิตกำลังรู้ด้วย จิตเกิดดับไหม

    ผู้ฟัง จิตเกิดดับ

    ท่านอาจารย์ อารมณ์เกิดดับไหม

    ผู้ฟัง อารมณ์เกิดดับ

    ท่านอาจารย์ อารมณ์ทุกชนิด เกิดดับไหม

    ผู้ฟัง เกิดดับ

    ท่านอาจารย์ ทุกชนิด

    ผู้ฟัง ทุกชนิด

    ท่านอาจารย์ อารมณ์ที่ไม่เกิดดับมีไหม จิตต้องเกิดดับแน่นอน จิตที่ไม่เกิดดับไม่มี แต่อารมณ์เกิดดับทุกชนิดหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เกิดดับทุกชนิด

    ท่านอาจารย์ ปรมัตถธรรมมีเท่าไร ต้องกลับมาที่ปรมัตถธรรม เพื่อเราจะไม่สับสน ปรมัตถธรรม มี ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน

    ผู้ฟัง รูปเกิดดับ จิตเกิดดับ เจตสิกเกิดดับ นิพพานไม่เกิดไม่ดับแล้ว

    ท่านอาจารย์ จิตรู้นิพพานได้ไหม นิพพานเป็นสิ่งที่จิตสามารถจะรู้ได้ไหม

    ผู้ฟัง จิตรู้นิพพานได้

    ท่านอาจารย์ จิตรู้นิพพานได้ เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เป็นอารมณ์ของจิต

    ท่านอาจารย์ จิตรู้นิพพานได้ ใช่ไหม เพราะอะไร

    ผู้ฟัง เพราะนิพพานเป็นอารมณ์ของจิต

    ท่านอาจารย์ แน่นอน

    ผู้ฟัง เพราะจิตเป็นผู้รู้

    ท่านอาจารย์ เพราะจิตเป็นสภาพรู้ที่รู้ได้ทุกอย่าง ไม่เว้นเลย จิตรู้จิตได้ไหม

    ผู้ฟัง จิตรู้จิตได้

    ท่านอาจารย์ จิตรู้เจตสิกได้ไหม

    ผู้ฟัง รู้ได้

    ท่านอาจารย์ จิตรู้รูปได้ไหม

    ผู้ฟัง รู้ได้

    ท่านอาจารย์ จิตรู้นิพพานได้ไหม

    ผู้ฟัง รู้ได้

    ท่านอาจารย์ นอกจากนั้นจิตยังรู้อะไรได้ด้วย เพราะจิตรู้ได้ทุกอย่าง มีอะไรอีกที่จิตรู้ได้ด้วย ในเมื่อปรมัตถธรรม มี ๔ จิต เจตสิก รูป นิพพาน แล้วจิตสามารถจะรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง ใช้คำว่าทุกอย่าง เพราะฉะนั้น จิตรู้นิพพานได้ เพราะจิตรู้อารมณ์ได้ทุกอย่างหมด คำถามก็คือจิตรู้จิตได้ไหม

    ผู้ฟัง จิตรู้จิตได้

    ท่านอาจารย์ จิตรู้เจตสิกได้ไหม

    ผู้ฟัง จิตรู้ได้

    ท่านอาจารย์ จิตรู้รูปได้ไหม

    ผู้ฟัง จิตรู้รูปได้

    ท่านอาจารย์ จิตรู้นิพพานได้ไหม

    ผู้ฟัง จิตรู้ได้

    ท่านอาจารย์ นอกจากนั้นยังสามารถจะรู้อะไรได้ด้วย

    ผู้ฟัง รู้บัญญัติ

    ท่านอาจารย์ ใช่ เพราะฉะนั้น จิตรู้อารมณ์ได้ทุกอย่าง ไม่มีอะไรเลยซึ่งจิตจะรู้ไม่ได้ เจตสิก รู้อารมณ์ได้ทุกอย่างหรือเปล่า

    ผู้ฟัง เจตสิกรู้ได้

    ท่านอาจารย์ ทุกอย่างหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ทุกอย่าง

    ท่านอาจารย์ อะไรบ้างทุกอย่าง

    ผู้ฟัง รู้รูป รู้จิต รู้เจตสิก รู้นิพพาน แล้วรู้บัญญัติ

    . ต้องมั่นคง ต้องแน่นอน ต้องมั่นใจ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย ถ้าเข้าใจคือเข้าใจ เข้าใจแล้วก็ไม่ลืมด้วย

    ผู้ฟัง ดิฉันขอกราบเรียนถามอาจารย์สมพร ที่ว่าจิตอยู่ที่ไหน จิตไม่มีที่อยู่ ใช่ไหม

    สมพร. ถ้าว่าโดยสภาวะแล้ว จิตไม่มีที่อยู่ เกิดขึ้นเพราะมีปัจจัย แล้วก็ดับไป แต่มันอาศัยได้ อาศัยปัจจัยเกิด อาศัย เช่น จิตเห็น อาศัยเหตุ ๔ อย่าง เหตุที่สำคัญก็คือ ตาไม่บอด มีสีมากระทบตา ตาไม่บอด มีแสงสว่างที่ทำให้เราเห็นได้ แล้วมีมนสิการ นี่ปัจจัย เมื่อมีปัจจัย ๔ อย่าง การเห็นก็เกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้วก็ดับไป จิตไม่มีที่อยู่ มีแต่ที่อาศัยเกิด ที่อยู่จริงๆ ไม่มี มีที่อาศัยเกิดก็ดับไป เพราะมีปัจจัย

    ท่านอาจารย์ แต่ละคำ ถ้าเราใช้ตรง เราจะไม่เข้าใจคลาดเคลื่อนเลย อย่างคำถามของคุณชมเชยว่า จิตอยู่ที่ไหน อาจารย์ท่านตอบว่าไม่มีที่อยู่ แล้วเราก็เรียนเรื่องหทยวัตถุ เป็นที่เกิด ไม่ใช่มีอยู่

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 99
    23 มี.ค. 2567