ปกิณณกธรรม ตอนที่ 410


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๑๐

    สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย

    พ.ศ. ๒๕๔๒


    ท่านอาจารย์ เมื่อวานนี้ตอนค่ำ จากสนามบินไปที่โรงแรม แล้วก็ตอนเช้าจากโรงแรมมาที่นี่ ก็ได้ฟังหลายคนบอกว่าน่าสงสาร เห็นสภาพของคนอินเดีย ขณะนี้ แต่ทำไมไม่คิดถึง สุปปพุทธกุฏฐิ ซึ่งยิ่งกว่านี้มาก คือเป็นขอทานโรคเรื้อน ถ้าเขาอยู่ในระหว่างสมัยโน้น คือคิดถึงชาติว่า ที่เราเห็นขณะนี้ แล้วเป็นในสมัยโน้นก็มีขอทาน คนหนึ่งซึ่งเป็นโรคเรื้อนด้วย ยากจนมากหิวโหย แต่สามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรม คนที่มีทุกสิ่งทุกอย่างแต่ว่าไม่มีปัญญา ไม่มีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟังธรรมเลย ใครน่าสงสารสุปปพุทธกุฏฐิ หรือว่าคนที่มีทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ว่าไม่ได้ฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น ไม่ว่าเราจะเห็นอะไร ก็อาจจะทำให้เราคิดนึกในหลายแง่ หลายด้านได้ ไม่ใช่เพียงด้านเดียวว่า เขาน่าสงสาร แต่จริงๆ แล้ว ใครควรน่าสงสาร เขาหรือเรา ใครก็ตามไม่ว่าจะเป็นคนขอทาน หรือว่าเป็นโรคเรื้อนหรืออะไร แต่เขามีปัญญา กับเราซึ่งยังไม่เป็น แต่ว่าถ้าไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ไม่ได้ฟังพระธรรม ก็คงจะน่าสงสารกว่า

    ชาตินี้ นี่ก็เป็นที่พักอาศัยเพียงชั่วคราว จากโรงแรมหนึ่งก็ไปอีกโรงแรมหนึ่งปุ๊บปั๊บ แล้วเราก็ต้องย้ายไป ย้ายไปเรื่อยๆ ชั่วคราวจริงๆ เพราะฉะนั้น เราจะอยู่ในโลกนี้ก็ไม่ทราบว่า เราจะอยู่ได้อีกนานเท่าไรก็เป็น ที่พักชั่วคราว ซึ่งถ้าเป็นชีวิตนี้ มีโอกาสที่จะได้เข้าใจพระธรรมมากขึ้น นั่นประเสริฐที่สุด เพราะว่าข้างหน้ามืดสนิท ไม่มีใครสามารถที่จะรู้เลย หนังสือเดินทางของใครจะหาย หรือไม่หาย ก็ไม่รู้ เพราะว่าพอไปถึงที่นั่น ข่าวแรกคือว่าหนังสือเดินทางหาย แล้วพอมาถึงที่นี่ หนังสือเดินทางก็ไม่หาย เพราะฉะนั้น ข่าวต่อมาคือกระเป๋าหาย ก็ไม่ทราบ ว่ามืดสนิทจริงๆ แล้วหายหรือเปล่า

    ถ้าศึกษาพระธรรมจะมีความเข้าใจ มีความมั่นใจ ยิ่งมีการได้พิจารณาสภาพธรรม ยิ่งทำให้รู้ได้เลยว่า ความหมายของอนัตตา สมบูรณ์ที่สุด คือจากการตรัสรู้ การศึกษาธรรมจะสังเกตได้ว่า ในหนังสือ ปรมัตถธรรมสังเขป จะอ้างอยู่ ๒ อย่างคือพระไตรปิฎก และอรรถกถา แต่ถ้านอกเหนือจากพระไตรปิฎก และ อรรถกถา ตัดทิ้งหมด ในเมื่อตำราอื่นมี เพราะว่าเราจะต้องพิจารณาด้วยว่า ถ้าเราสามารถที่จะให้ความกระจ่างกับคนได้ เราก็ควรจะแสดงไว้ แต่ว่าถ้าเราไม่สามารถจะให้ความกระจ่าง เพียงแต่ว่าตามๆ กันมา ว่าเป็นอย่างนี้ แล้วเราก็ไม่สามารถจะให้ความกระจ่างได้ ก็ตัดออกหมด เพราะฉะนั้น ถ้าคุณแจ็คจะอ่านอีกที จะมีคำว่า หลังจากที่ปัญจทวารวิถีดับ ภวังคจิตเกิดคั่น แล้วก็มโนทวาราวัชชนจิตวาระแรก ใช้คำว่า วาระแรก จะมีอารมณ์เหมือนกับปัญจวิถีทางหนึ่งทางใด ต่อกันเลย แล้ววาระหลังๆ จะไม่ใส่จำนวนชุดเท่าไรมีกี่ชุด อะไรๆ เลย เพราะว่าจะมีปัญหาได้ เรานับชุดได้ไหม ว่ากี่ชุด ขณะนี้ที่กำลังเห็นทางตา เราจะไปนับชุดได้ไหม ปัญญาของเราสามารถจะรู้ลักษณะได้ขนาดไหน เพราะฉะนั้น โดยมาก ถ้าศึกษาตามตัวหนังสือซึ่งมีมากมายเลย ทั้งอรรถกถา ทั้งฎีกา เวลานี้คนอาจจะเพ่งเล็งไปที่ต้องการความหมายของแต่ละคำ แต่ว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้น สามารถที่จะทำให้เข้าใจสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏในขณะนี้ได้ไหม เพราะว่าจุดประสงค์ของการศึกษาก็คือว่า ไม่ให้เป็นโมฆะ คือว่า ไม่ใช่เราเรียนเยอะเลย แต่ไม่สามารถที่จะเข้าใจสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำ ที่ศึกษามาทั้งหมด ก็คือ เพื่อให้เข้าใจสภาพธรรม เดี๋ยวนี้ ตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น เวลาที่เขาเรียน เขาเรียนเป็นตำราหมด เวลาปฏิบัติ เขาก็ปฏิบัติไปตามคำที่เขาเรียนมา แต่ว่าเขาไม่รู้ว่า เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ไม่สอดคล้องกันเลย เช่น ธรรม หมายความถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง อันนี้ทุกคนก็ยอมรับว่า บางคนที่เพิ่งฟัง บอกไม่เคยรู้มาก่อน คิดแต่ว่าธรรมเป็นคุณธรรม หรืออะไรๆ ธรรมเทศนา แต่ถ้าหมายความถึง ธรรมคือทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง สอดคล้องกันหมด กุศลธรรมก็มี อกุศลธรรมก็มี ธรรมที่ไม่ใช่กุศล ไม่ใช่อกุศลก็มี เพราะฉะนั้น อะไรก็ตามที่จะทำให้ปัญญาระดับเรา สามารถที่จะเข้าใจธรรมได้ ไม่สงสัย ไม่กังขา ไม่จำตำรา แต่ว่าพอที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรม อธิบายได้ว่า วาระแรกแน่นอน เพราะเหตุว่า มโนทวารเวลาที่ปรากฏจะมีอารมณ์เดียวกับปัญญจทวารซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าปัญจทวารสั้นมาก เวลานี้สำหรับผู้ที่ไม่ประจักษ์สภาพธรรม ตามความเป็นจริง ปัญจทวารนี้ยาว ทางตาไม่ปรากฏว่าดับเลย ไม่มีมโนทวารมาคั่นเลย สักวาระเดียวก็ไม่มี แต่ว่าตามความเป็นจริง เมื่อมโนทวารปรากฏ จะไม่มีการนับเป็นชุด หรือว่านับเป็นอะไรๆ เลย แต่ว่าสิ่งใดที่ปรากฏทางปัญจทวาร สิ่งนั้นจะปรากฏทางมโนทวาร จึงเห็นความต่างกันของปัญจทวาร และมโนทวาร ซึ่งก่อนนั้น สิ่งนี้ปรากฏเฉพาะทางปัญจทวาร แต่ทางมโนทวารไม่ปรากฏเลย เพราะฉะนั้น เราก็คงจะไม่จริงจังหนักหนากับเรื่องชุด เรื่องอะไรต่ออะไร แต่ว่า หมายความว่าศึกษาให้เข้าใจจริงๆ เมื่อไรจะทำให้เราสามารถที่จะไม่เป็นโมฆะ คือไม่ใช่เพียงฟัง เพราะเหตุว่าตำราจะคงอยู่ แต่ความเข้าใจหนทางปฏิบัติ ที่จะดับหรือที่จะละ เป็นสิ่งที่ลึกซึ้ง ยากที่จะเห็นได้ นี่คือหนทาง เพราะว่าเป็นเรื่องละ ส่วนใหญ่เราจะเห็นว่าเป็นเรื่องได้ทั้งหมด ทำบุญได้อะไร ได้บุญ ก็จะได้บุญกันทั้งนั้นแหละ

    เพราะฉะนั้น ไม่มีใครคิดว่าเรียน เพื่อละความไม่รู้ ไม่ได้ต้องการอะไร บางคนก็ถามถึงสติปัฏฐานเลย ก็บอกยังไม่ต้อง ยังไม่ต้องถึงสติปัฏฐาน บอกมาก่อนว่าสติ คืออะไร ถ้ายังบอกไม่ได้แล้วจะไปสติปัฏฐาน ทำไม มันก็ไม่ใช่สติปัฏฐานอยู่ดี ใช่ไหม เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องละเอียดซึ่งเราค่อยๆ เข้าใจ ถ้าเรามีความเข้าใจถูก เป็นคนตรงต่อสภาพธรรม ต่อเหตุผล ต่อสิ่งที่สามารถที่จะเข้าใจได้ ปัญญานี้จะนำเราไปไหน นอกจากความเห็นถูกยิ่งขึ้น เข้าใจยิ่งขึ้น และในที่สุดก็คือ ถึงซึ่งการออกจากสังสารวัฏฏ์ได้ แม้ว่าเราจะต้องการหรือไม่ต้องการก็ตามแต่

    ถ้าเป็นปัญญาแล้ว เขาจะไม่พาเราไปสู่ความเห็นผิด หรือว่าหนทางผิด เพราะฉะนั้น เรื่องปัญญาเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก และต้องเข้าใจจริงๆ ว่าปัญญารู้อะไร สามารถจะรู้อะไรได้ แค่ไหน แต่ถ้าเรายังไม่คิดว่าเราจะรู้สภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ เราเรียนทำไม เรียนเพื่ออะไร ต้องการอะไร ก็ต้องตอบได้ ว่าเรียนเพื่อเข้าใจสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏให้ถูกต้อง เพราะว่าการยึดถือ ก็ยึดถือสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ความไม่รู้ก็คือ ไม่รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏ

    อย่าง ๒,๕๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา คิดถึงแต่ละวัน จนถึงเดี๋ยวนี้กิเลสเราสะสมมากหรือว่าปัญญาเราสะสมมาก ตั้ง ๒,๕๐๐ กว่าปี หลังจากที่อาจจะได้ฟังบ้างได้ยินบ้าง ได้อยู่ที่นี่บ้าง ได้คุยกับชาวสาวัตถีบ้าง ชาวเวสาลีบ้าง แต่ว่ากิเลสของเราเพิ่มขึ้น หรือว่าปัญญาเราเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่มีจริง เป็นอนุสสติ เตือนให้เราระลึกได้ ว่าเรามีความเข้าใจธรรม ตัวธรรมจริงๆ โดยอาศัยข้อความที่มีในพระไตรปิฎก ทำให้เราเข้าใจสภาพธรรม หรือว่าเราอยากจะรู้อะไรๆ ซึ่งไม่ทำให้เราเข้าใจสภาพธรรมเลย ไม่มีคำตอบ เพราะว่า ปัญญาของเราไม่สามารถที่จะไปรู้อย่างนั้นได้ แต่สิ่งใดที่สามารถจะทำให้เรารู้ เข้าใจสภาพธรรม เราจะเสียเวลาไปอีก ๒,๕๐๐ กว่าปี หรือว่านานกว่านั้นไปอีกทีละ ๒,๕๐๐ กว่าปี ก็เป็นเรื่องซึ่งเรามองเห็นอยู่ว่า ควรจะเข้าใจสภาพธรรม ไม่ใช่ว่า เรียนไปโดยไม่รู้ว่าธรรม ก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏให้เข้าใจ ถ้าเข้าใจ

    ผู้ฟัง ทีนี้ผมก็ไม่เคยอ่านพระไตรปิฎก มาก่อน แต่ก็มีความตั้งใจว่า จะศึกษาหนังสือปรมัตถธรรม ต่อให้แน่นแฟ้นมากขึ้น แล้วก็จุดต่อไปก็อยากจะอ่านพระไตรปิฎก อยากจะศึกษาพระไตรปิฎก ตามที่ท่านอาจารย์ ได้แนะนำไว้ อันนี้ในฐานะที่ไม่ได้ศึกษามาก่อน และก็ไม่ทราบด้วย แบบตามหนังสือมา ก็จำได้ว่า พระไตรปิฎก มีการรจนากันตอนหลัง แล้วก็เป็นการจดจำ โดยมุขปาฐะ อยากจะถามท่านอาจารย์ว่า ที่ทำการรจนากันมาตอนหลัง พันปีต่อมา คือ ๕๐๐ ปีต่อมาก็ไม่ทราบ มีท่านผู้หนึ่งถามใน ห้องเรียนธรรมของเราที่โน่น ก็ถามมาว่า แล้วจะมีการผิดแปลงบ้างหรือเปล่า จะพลาดบ้างหรือเปล่า เพราะว่าการจดจำมาโดย มุขปาฐะ รจนากันมาหลังๆ แล้วก็จะเปลี่ยนแปลงจากคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บ้างหรือเปล่า

    ท่านอาจารย์ ต้องมีแน่โดย อัคระ เสียงสั้นเสียงยาวก็มีแล้ว ศต ๑๐๐ กับ สต เจ็ด เพราะฉะนั้น ในที่บางแห่ง จะบอกว่าเหมือนกับว่า แบ่งออกเป็น ๗ ส่วน บางแห่งจะบอกว่าเหมือนแบ่งออกเป็น ร้อยส่วน เพราะฉะนั้น เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เรื่องสำคัญก็คือว่า เราสามารถที่จะเข้าใจธรรม ตัวธรรมแท้ๆ ไม่ว่าคำนั้นจะผิดจะถูกอย่างไร เสียงสั้นเสียงยาวอย่างไรแต่เราก็สามารถ มันหมายความถึงอะไร อันนี้สำคัญที่สุด เพราะฉะนั้น เวลาที่เราฟังธรรม เราจะรู้เลยว่า คนนี้พูดจากจำตัวหนังสือ หรือพูดจากเข้าใจธรรม ไม่เหมือนกันเลย ต่างกันมาก ถ้าพูดตามธรรม อย่างจิตมีเท่าไร ๘๙ เจตสิกมีเท่าไร ๕๒ ขันธ์มีเท่าไร ๕ ปรมัตถธรรมอะไรเป็นขันธ์ ตอบได้ บางคนตอบผิด บางคนยังพยายามพูดให้เขาตอบถูก แต่นั่นไม่ใช่ความถูกต้อง ไม่ใช่พูดให้เขาตอบถูก แต่ต้องพูดให้เขาคิด ให้เขาเข้าใจถูก คือใช่คำถามแทนที่จะให้เขาตอบได้ ซึ่งไม่ใช่จุดประสงค์ให้ตอบได้ จุดประสงค์คือให้เขาเข้าใจ เรื่องที่เขาจะตอบ ไม่ทราบคุณบุตร สาวงษ์ มีความเห็นอย่างไรเรื่อง พระไตรปิฎก ที่เดี๋ยวนี้ ๒,๕๐๐ กว่าปีแล้ว มีอะไรผิดถูกอย่างไรบ้างหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ผมเคยคิดว่าพระพุทธวจนะ ที่ออกจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้าบริสุทธิ์จริงๆ ผมก็คิดว่า เหมือนฝนตกมา บนภูเขา แล้วก็น้ำก็ไหลลงจาก ภูเขามา ก็ต้องมีอะไรๆ ที่ไหลมากับน้ำคงไม่เป็นน้ำล้วน การที่บอกธรรมตลอดมานี้ ก็อาจจะจะมี ขณะที่ในหนังสือต่างๆ ก็จะมีจากพระไตรปิฎก แต่เฉพาะอยู่ในพระไตรปิฎก นั้นผมเคยอ่านอยู่ในภาษาเขมรกับภาษาไทยนี้ ก็มีการแปล อาจจะต่างกัน ฉะนั้นผม ที่ศึกษาในภาษาเขมรนี่ก็ต้องศึกษาภาษาไทยด้วย ทีนี้ถ้ามีหนังสือเป็นภาษาเขมร ดูแล้วก็มาดูภาษาไทยอีก แล้วนี้มีอรรถกถา ถ้าดูแต่พระไตรปิฎก ก็ไม่จบ ก็ต้องดูอรรถกถาด้วย ถ้าไม่มีอรรถกถา ก็มีการดูแต่พระไตรปิฎกเท่านั้น แต่เดี๋ยวนี้มีอรรถกถาก็ต้องดูอรรถกถาอีก แล้วก็อยู่ในอรรถกถานี้ เป็นภาษาไทยเท่านั้น ภาษาเขมรก็ไม่มี แต่ก็มีการแปลอะไรจากภาษาบาลีนี้ก็ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ก็ต้องดูทั้งภาษาเขมร และภาษาไทยด้วย ในเรื่องพระไตรปิฎกนี้ ถ้าเป็นภาษาบาลี ผมก็อาจจะแน่ใจว่า ที่ทำต่อมา แต่ภาษาแปลนี้ก็อาจจะผิดได้ ภาษาแปลเป็นภาษาเขมรตอนนี้ ก็อาจจะผิดได้

    ท่านอาจารย์ นี้เป็นเหตุที่เราทิ้งภาษาบาลีไม่ได้ ต้องมีผู้รู้ ภาษาบาลีเป็นที่ปรึกษาที่จะให้ ความกระจ่างของศัพท์

    ผู้ฟัง ลักษณะที่เราอยู่ในเรื่องของวิถีจิต นี้ก็จะพูดถึงเรื่องจิตที่ทำชวนกิจซึ่งเป็น โลภะ แล้วก็โทสะ โมหะ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เริ่มจากอุศลจิต ๑๒ ดวงนี้ก่อน อย่างโลภมูลจิต ๘ ดวง เกิดขึ้นมาก็มี โสมนัสสสหคตัง แล้วก็ญาณสัมปยุต มี ทิฏฐิสัมปยุต และอสังขาริกัง แล้วก็ยังมีต่ออีก ๗ ดวงต่อมา อยากให้ท่านอาจารย์อธิบายถึงสภาพของโลภมูลจิตนี้ แต่ละดวง แต่ละดวง คือว่าเราอ่านกันมา เราตีความเข้าใจของเราเองแต่เราอาจจะเข้าใจไม่ถูกต้องพอก็ได้ คือเริ่มจาก โสมนัสสสหคตัง ทิฏฐิคตสัมปยุตตัง อสังขาริกัง ต่อมาจนถึงดวงที่ ๘

    ท่านอาจารย์ เวลาที่พูดกันถึงเรื่อง ทิฏฐิคตสัมปยุต แล้วคุณแจ็คก็บอกว่าไม่มี เพราะว่าเราศึกษาแล้ว อันนี้จะถูกหรือเปล่า

    ผู้ฟัง ไม่ถูก

    ท่านอาจารย์ เพราะอะไรหรือ

    ผู้ฟัง เพราะว่า ทิฏฐิคตสัมปยุตนี้จะต้อง เป็นการเห็นผิดเสมอ

    ท่านอาจารย์ ต้องเข้าใจตัวธรรม ว่าลักษณะของเขาไม่เปลี่ยน ถ้าเขาเป็นสภาพธรรม ที่มีความต้องการ ติดข้องเขาจะเป็นอื่นไปไม่ได้เลย นอกจากโลภะเกิดเมื่อไร ต้องการ ติดข้องทันทีนั่นเป็นหน้าที่ของเขา เป็นลักษณะของเขา เวลาที่เราเห็นอะไร แล้วเราติดข้อง แต่ไม่มีความเห็นผิด ไม่ใช่เฉพาะคนที่ศึกษาหรือไม่ได้ศึกษา ธรรมต้องเป็นธรรม เป็นจริงอย่างนั้น ไม่ได้หมายความว่า คนที่ศึกษาแล้ว ก็จะไม่มีเลย เพราะฉะนั้น คนที่ศึกษาธรรมแล้ว รู้ว่าขณะที่กำลังสวยบ้าง อร่อยบ้าง หรืออะไรบ้าง ก็เป็นโลภะ แต่ความเห็นผิดของเขาหมดไหม เขาจะย้ายความเห็นผิด จากเห็นเป็นอย่างอื่น ไปไหว้เทวดา หรือทำอะไรๆ ก็แล้วแต่ แต่เขาจะเห็นผิดในเรื่องการอบรมเจริญปัญญา นี่ เพราะฉะนั้น ความเห็นผิด มีหลายระดับ อย่างระดับที่เราเห็นชัดๆ ก็คือ ประพฤติอย่างโค ทำอะไรอย่างนั้น ที่เขาทำแล้ว จะดี เป็นพระอรหันต์บ้าง หรือเป็นอะไรบ้าง ไม่ใช่เลย เป็นความเห็นผิด เพราะไม่ประกอบด้วยปัญญา นั้นเห็นชัด แต่ในระหว่างคนที่มีความเข้าใจธรรมขั้นฟัง จะมีความเห็นผิดในการอบรมเจริญปัญญาไหม นี่เป็นอีกขั้นหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องละเอียดมาก เรื่องความเห็นผิด ซึ่งชัดๆ ก็มี แล้วก็เป็นโลภะซึ่งไม่มีความเห็นผิดก็มี แล้วแม้ขณะนั้นไม่มีความเห็นผิดจากการศึกษา เรื่องจิต เรื่องเจตสิก เรื่องรูป แต่มีความเห็นผิดในลักษณะของสภาพธรรม แล้วก็ไม่เข้าใจหนทาง ที่จะละความเห็นผิดนั้นด้วย เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก พระธรรม ศึกษาต้องศึกษาให้ละเอียด ให้รอบครอบ ให้รู้จริงๆ ว่าหมายความถึงอย่างไร เป็นการศึกษาลักษณะของธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งเกิดดับเร็วมาก เร็วขนาดที่ว่า ทันทีที่สติเกิด ดับแล้ว ทั้ง ๒ อย่าง ทั้งสิ่งที่ปรากฏให้ สติระลึก และสติที่ระลึก แต่ว่าถ้ามีปัญญาจริงๆ เราเริ่มจะเข้าใจแล้วว่า จะไม่มีคำถามว่าแล้วเมื่อไรสติปัฏฐานจะเกิด แล้วเมื่อไรสติปัฏฐาน จะเกิดบ่อยๆ นั่นคือโลภะ อะไรทำให้พูดอย่างนี้ เพราะเหตุว่าการฟัง ในขณะนี้ ทุกครั้งที่ฟังไม่ว่าจะฟังอะไรที่ไหน ฟังให้เข้าใจสิ่งที่ได้ยินได้ฟังให้ชัดเจน ให้ถูกต้อง ให้ครบในความหมายนั้นๆ เราถึงจะเรียกว่า เราฟัง แล้วเรา เข้าใจ

    ถ้าใครพูดเรื่องสติปัฏฐาน แล้วก็จะทำสติปัฏฐาน แล้วฟังอย่างไร พูดเรื่องสติปัฏฐาน แล้วจะทำสติปัฏฐาน เข้าใจคำว่า สติ หรือเปล่า สติเป็นอนัตตาหรือเปล่า สอดคล้องกับการที่ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ธรรมจะเป็นอัตตาไม่ได้เลย ธรรมทั้งหมดเป็นอนัตตา เป็นสภาวธรรม คือเป็นธรรมที่มีภาวะลักษณะของเขาเฉพาะแต่ละอย่าง แม้แต่คำว่า ปฏิบัติ ที่อาจารย์สมพรท่านให้ความหมายว่า ปฏิ แปลว่า เฉพาะ ปัตติ แปลว่า ถึง ขณะนี้เราเรียนเรื่องจิต จิต มี เกิดดับตลอดเวลา ถึง ลักษณะของจิต ขณะไหนหรือยัง เป็นแต่เรื่องราวทั้งหมดเลย เจตสิก ๗ ดวง เกิดกับจิตเห็น จิตได้ยิน หลังจากนั้นมีเจตสิกอีกเท่าไร ถึงลักษณะที่เป็นเจตสิก ซึ่งไม่ใช่จิตหรือเปล่า เพราะฉะนั้น เราจะไม่มีการเผิน ว่ามี ๔ อย่าง คือปรมัตถธรรม คือ จิต เจตสิก รูป นิพพาน แต่สามารถที่จะเข้าใจความต่างของจิต และเจตสิก โดยสติปัฏฐานเกิดเท่านั้น ถ้าสติปัฏฐานไม่เกิด ปัญญาไม่เจริญ ไม่สามารถที่จะเห็นความต่างของนามธรรม ๒ อย่าง คือ จิต และเจตสิกได้ เพราะเหตุว่าจิตเป็นธาตุรู้ ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏเท่านั้นเอง จิตจะไม่ทำหน้าที่อื่นทั้งสิ้น ไม่จำ ไม่ใช่สติ ไม่ใช่อิสสา ไม่ใช่อะไรทั้งหมด หน้าที่เดียวของจิต ซึ่งต่างจากนามธรรม คือเจตสิกอื่นอีก ๕๒ ชนิด เพราะว่าเจตสิกอื่นอีก ๕๒ ชนิดเขามีลักษณะเฉพาะของเขาแต่ละอย่าง ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของจิตเลย แล้วจิตก็มีลักษณะของจิต ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของเจตสิกหนึ่ง เจตสิกใดทั้งสิ้น ในเจตสิกทั้งหมด นี่คือการที่เราจะเข้าใจความหมาย ของคำว่า มนินทรีย์ หรือแม้แต่ สุขินทรีย์ อุเบกขินทรีย์ พวกนี้ เราก็จะเข้าใจความหมายว่า ทำไมธรรม เหล่านี้เป็นอินทรีย์ นี่ค่อยๆ เรียน สภาพธรรมจากชีวิตจริงๆ แล้วก็เข้าใจว่า เพราะเหตุใดจึงใช้คำนั้นกับสิ่งนี้หรืออะไรอย่างนี้ แทนที่เราจะไปเพียงจำ จำนวนได้ รับรองได้ว่าลืม นอกจากทบทวนบ่อยๆ ว่ามีเจตสิก อะไร เกิดกับจิตอะไร เพราะอะไร แต่ว่าถ้าขณะนั้น สภาพนั้นๆ ไม่ปรากฏ จะไม่เห็นความต่าง เพราะเหตุว่า ธรรมเราต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นเข้าใจ ทุกอย่างเป็น ธรรม นี่แน่นอนอยู่แล้ว แต่ว่าเมื่อทุกอย่างเป็น ธรรม ธรรมนี่หลากหลายเหลือเกิน หลากหลายอย่างไรก็ตาม ต่างกันเป็น ๒ ประเภท คือ นามธรรมกับรูปธรรม เพราะฉะนั้น ปัญญาของการศึกษา แม้แต่ในการอบรมจริงๆ ต้อง ตามลำดับด้วย เพราะขณะนี้ เป็นธรรม แล้วการที่สติปัฏฐาน จะเกิดก็คือ มีสัญญาความจำที่มั่นคง ว่าเป็นธรรม ขณะนี้มีจริงๆ กำลังปรากฏ นี่คือการเตือนแล้ว ใช่ไหม ว่าความรู้ของเรา เรื่องธรรมที่ได้ฟังมาทั้งหมด แค่ไหน ในเมื่อสภาพธรรม กำลังเผชิญหน้า แต่ว่าไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้นเลย ซึ่งเป็นนามธรรม กับเป็นรูปธรรม

    การฟังของเรา เราต้องมีจุดประสงค์ เราฟังทำไม แล้วในการฟังคือ เวลานี้เราไม่ไปคิดถึงว่าเจตสิกกี่ดวง แต่เราฟังให้เข้าใจ สิ่งที่เรากำลังได้ยินได้ฟังเพิ่มขึ้น ให้มากขึ้น ให้ชัดเจนขึ้น ให้ถูกต้องขึ้น ให้ตรงขึ้น แต่เวลาที่เราจะศึกษา หรือฟังเรื่องไหน ก็คือ ให้เข้าใจเรื่องนั้น เราถึงจะมีความรู้ที่สะสม แล้วก็เอามาประมวล มาประกอบกันได้ แล้วไม่ค้านกันด้วย เพราะเหตุว่าทุกอย่างเป็นธรรมจริง แต่ธรรมต่างกัน เป็น ๒ อย่าง ขณะนี้เอง ไม่ใช่ขณะไหน สิ่งที่ปรากฏทางตามีจริงๆ ไม่เคยสนใจเลย ว่าเป็นธรรม แต่พอเริ่มฟัง แน่ละ เป็นธรรม เพราะอะไร เพราะมีจริง มีจริงเมื่อไร กำลังปรากฏให้เห็น ปฏิเสธไม่ได้เลย ว่าเห็นอะไร เห็นสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ ให้เห็น

    แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ศึกษาธรรม ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ไม่ได้เป็นผู้ที่รู้แจ้งอริยสัจธรรม ไม่สามารถที่จะรู้ได้เลยว่า แม้ในชั่วขณะหนึ่ง ที่สภาพธรรมปรากฏ จะมีการระลึกได้เกิดขึ้น นี่คือขั้นต้น เพราะฉะนั้น หนทางต้องเป็นไปตามลำดับด้วย ไม่ใช่ให้ใครก็ได้ มาทำสติปัฏฐาน แล้วก็ท่องเอา หรือว่าให้ไปคิด หรือว่าให้เข้าใจเพียงว่า เห็นเป็นนาม สิ่งที่ปรากฏเป็นรูป แล้วก็ได้ยินเป็นนาม เสียงเป็นรูปเท่านี้ คนนั้นไม่ได้มีปัญญาอะไรเลย ไม่ได้เข้าใจอะไรเลย แต่จำได้ เพราะฉะนั้น เราไม่ได้ศึกษาให้จำได้ สำคัญที่สุด ที่จะต้องรู้ว่า เราไม่ได้ศึกษาให้จำได้ แต่เราศึกษาให้เข้าใจสภาพธรรมให้ถูกต้อง ตามลำดับว่า ขั้นฟังคือฟัง นี่แหละฟัง เข้าใจไหม ถ้าเข้าใจ จะต้องไปเป็นห่วงสติปัฏฐานอะไร ไม่ต้องไปคิดถึงด้วยซ้ำไป เพราะเหตุว่าสภาพธรรม มีจริงๆ แต่ว่าปัญญาจะเจริญตามลำดับขั้น ข้ามขั้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ขณะนี้ ซึ่งไม่เคยระลึกมาก่อนเลย ว่ามีสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 99
    23 มี.ค. 2567