ปกิณณกธรรม ตอนที่ 418


    ข้อความนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบแก้ไข

    ตอนที่ ๔๑๘

    สนทนาธรรม ระหว่างเดินทางไปนมัสการสังเวชนียสถาน ประเทศอินเดีย

    พ.ศ. ๒๕๔๒


    ท่านอาจารย์ เวลานี้ ถ้าสติไม่เกิดก็ไม่รู้ว่าหลายประเภทนั้น ตรงไหน มีลักษณะอย่างไร แต่เวลาที่ปัญญาเจริญขึ้น หลายประเภทคือขณะนี้ เป็นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อสติระลึกลักษณะของสภาพธรรม ก็รู้ตามความเป็นจริงว่า นี่คือจิตนั้น นั่นคือจิตนี้ อย่างวิบากจิตก็รู้ว่า นี่คือสภาพธรรม ซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยซึ่งไม่มีใครจะไปทำอะไรได้เลย แต่ไม่ใช่ขณะที่เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล

    เมื่อรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็สามารถที่จะเข้าใจว่า ข้อความเรื่องสภาพธรรม นั้นหมายความถึง ตัวธรรมจริงๆ ที่ปัญญา กำลังประจักษ์แจ้ง การที่จะรู้ลักษณะของธาตุรู้ หรือสภาพรู้ ซึ่งไม่มีสิ่งใดเจือปนเลย จะรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กายไม่ได้ ต้องขณะนั้นจะปรากฏทางมโนทวาร ในลักษณะอาการ ซึ่งเป็นใหญ่ในการรู้จริงๆ ขณะนั้นจะไม่มีอะไรเลยทั้งสิ้น แต่ปัญญายังเป็นใหญ่ คือสามารถที่จะรู้สภาพธรรม ในขณะนั้นได้ ขณะนั้นยังไม่พอที่จะสละความเป็นตัวตน เพราะความเหนียวแน่น เพราะฉะนั้น จึงต้องศึกษาตามลำดับจริงๆ แม้แต่ปัญญาที่จะเกิดรู้ลักษณะของสภาพธรรม ก็ต้องตามลำดับ เพราะเหตุใด เพราะว่าขณะนี้ นามธรรม และรูปธรรมไม่ได้ปรากฏตามความเป็นจริงของนามธรรม และรูปธรรมนั้น แต่ปรากฏเป็นเรื่องราวเป็นสัตว์ บุคคลต่างๆ ก็ต้องอบรมเจริญปัญญาขั้น แรกที่จะประจักษ์แจ้งคือไม่มีคน ไม่มีสัตว์ไม่มีอะไรเลย แต่มีธาตุรู้ ซึ่งขณะนั้นเป็นสภาพธรรม ซึ่งไม่ใช่ใคร แต่ว่าเป็นธาตุรู้ซึ่งกำลังเป็นใหญ่ ในการรู้ลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ แล้ว ลักษณะของรูปก็คือรูป แต่ว่าจะเป็นรูปที่มีสภาวะลักษณะ ที่ตามความเป็นจริงคือสั้นมาก ละเอียดมาก และก็เป็นแต่ละรูป แต่ละ ทวาร แต่นี่ไม่ใช่การประจักษ์แจ้งด้วยวิปัสสนาญาณขั้นสูงขึ้น ซึ่งจะต้องอบรมต่อไป เพราะคนนั้น รู้ว่าเพียงแค่นี้ไม่ได้ดับความสงสัยในสภาพธรรมอื่น แล้วก็จะต้องอบรมเจริญปัญญาขั้นต่อไปอีก จะไม่มีการหลงเข้าใจผิดเลย จะรู้ว่าขณะนั้น ไม่ใช่พอแล้ว

    เมื่อรู้ลักษณะของนามธรรม รูปธรรมมากขึ้นทำไมจะไม่รู้ว่านี่ คืออะไร พระไตรปิฎกว่าอย่างไร แต่ว่าเวลาไม่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม ก็พูดเรื่องกรรม จะต้องรู้อย่างนั้นรู้อย่างนี้ ว่ามีมารดาบิดาพระคุณอะไรๆ ต่างๆ นั่นคือเรื่องราว แต่ว่าไม่สามารถที่จะรู้ว่าขณะกำลังเป็นนามธรรม ชนิดไหน แต่เวลาที่เป็นวิปัสสนาญาณ ชื่อไม่มี แต่ ลักษณะของสภาพธรรม มี ให้รู้ อย่างจิตที่เป็นกุศล ก็ต่างกับจิตที่เป็นอกุศล ธรรมทุกอย่าง มีหลายระดับขั้น อวิชชามืดสนิท บอด กับเวลาที่ค่อยๆ รู้ค่อยๆ เข้าใจธรรมขึ้น ความต่างของอวิชชา จะเบา บางขึ้นบ้างไหม ลดลงไปบ้างไหม หรือว่าปัญญาก็ตาม ปัญญาที่เกิดจากการฟัง เพียงฟังเข้าใจ กับปัญญาที่สามารถประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมก็ผิดกัน เพราะฉะนั้น อย่าได้เอาอย่างหนึ่งอย่างใดมา บอกว่าเป็นอย่างเดียวกัน แม้แต่ปัญญาก็มีหลายระดับ ปัญญาขั้นฟังมีไหม ปัญญาขั้นคิดพิจารณามีไหม เป็นความเห็นถูกหรือเปล่า ถ้าเป็นความเห็นถูก จะไม่ใช่ปัญญาหรือ แต่เป็นปัญญาระดับไหน

    ผู้ฟัง ในการฟังธรรม เรื่องการเจริญสติปัฏฐานนี้ การฟังเพื่อเข้าใจอารมณ์ของสติ ที่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัย มีในชีวิตประจำวัน แล้วก็ศึกษาเรื่องลักษณะของสติ พระพุทธเจ้า ก็ทรงแสดงเรื่อง ธัมมาเป็นกุศลก็ธัมมา หรืออกุศลก็ธัมมา หรืออพยากตาก็ธัมมา ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน แล้วก็การระลึก การศึกษาธรรมอย่างนี้ ก็ไม่มีอะไรเป็นตัวตนเลย ในชีวิตประจำวัน นี้ มีวิญญาณที่รู้อารมณ์ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้นทางกาย ทางใจ พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ถ้าวิญญาณปราศไป ก็ไม่รู้สึกว่า เป็นเรา เป็นตัวตนอยู่ใน ซากศพ เป็นรูปขันธ์นี้ รูปขันธ์ล้วนๆ เป็นซากศพ ไม่มีความรู้สึกว่า เป็นเราเลย ถ้าวิญญาณปราศไปแล้ว เพราะฉะนั้น การที่พระพุทธเจ้า ทรงแสดงธรรม นี้ เพื่อคนเป็นอยู่ฟัง ไม่ใช่คนตายฟัง เพื่อคนเป็นอยู่นี้ก็ อาจจะมีปัญญารู้ว่า การที่รู้อารมณ์ทุกอย่างนี้ ไม่ใช่เรารู้ เป็นแต่เพียงวิญญาณรู้เท่านั้น แล้วก็อาจจะเป็น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้ แล้วก็อาจจะละคลายทีละเล็กทีละน้อย ในการยึดถือว่ามีตัวตนจะรู้อารมณ์ ทางตา ทางหูนี้ มีแต่วิญญาณที่รู้เท่านั้น ถ้าปัญญาปราศไปแล้ว ดับไปแล้ว ก็ไม่มีการรู้สึกว่า เป็นตัวตนอยู่ในซากศพอีกเลย ในเรื่องนี้ก็ผมไม่มีอะไรจะถามต่อไป เป็นแต่เพียงทบทวนการเข้าใจของผมเท่านั้น

    ท่านอาจารย์ จริง อย่างที่คุณบุตร สาวงษ์ ว่า ผู้ที่เข้าใจเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน จะไม่มีการเว้น จะไม่มีการคิดว่าจะต้องไปทำอย่างนั้น หรือจะต้องไปทำอย่างนี้ เพราะแม้ขณะที่จะทำ ก็คือ นามธรรม และรูปธรรม ซึ่งเป็นเรา เป็นสักกายทิฏฐิ ตราบใดที่ยังไม่มีความรู้ว่าลักษณะนั้นก็ ไม่ใช่ตัวตน เพราะฉะนั้น เรื่องของการที่จะศึกษา และอบรม เจริญปัญญาให้เข้าใจธรรม ต้องตรง คือตามที่พูดว่าทุกอย่างเป็นธรรม ก็ต้องทุกอย่าง เพราะฉะนั้น สติก็ระลึกได้ทุกอย่าง ไม่ว่าขณะนั้นเป็นสภาพธรรมใดๆ แม้แต่ความคิดที่ว่าจะต้องไปทำอย่างนั้นเสียก่อน จะต้องไปทำอย่างนี้เสียก่อน ก็เป็นความคิดตามอัธยาศัย เพราะฉะนั้น คนที่คิดอย่างนั้น สะสมมาอย่างนั้น ที่จะคิดอย่างนั้น ก็ คิดอย่างนั้น ที่จะสงสัยเรื่องการอบรมเจริญปัญญาก็สงสัย เพราะเหตุว่าสะสมมาที่จะเป็นอย่างนั้น แต่ความจริงก็คือว่าต้องเข้าใจให้ถูกต้องว่าทุกอย่างเป็น ธรรม

    ที่จะให้เข้าใจเรื่องของศีล เราก็พูดกันแล้วว่าต้องพูดถึง ปรมัตถธรรม โดยเริ่มต้น คำถามว่า รูปเป็นศีลได้ไหม ทุกคนก็รู้ว่าเป็นไม่ได้ ต้องเป็นนามธรรม เพราะฉะนั้น นามธรรมก็มีทั้งกุศล และอกุศล ขณะใดเป็นศีลประเภทใด ถ้าอกุศลจิตเกิด แล้วก็มีการกระทำตั้งแต่เช้ามา ด้วยอกุศลจิต กายวาจาก็เป็นอกุศลศีลทางกาย คือว่าปกติ ของอกุศลจิต ที่จะเป็นเหตุให้กายไหวไป กระทำกิจต่างๆ ตามอกุศลศีลนั้น ถ้าเป็นฝ่ายกุศล เราก็เห็นได้ มีการช่วยเหลือกัน มีการทำสิ่งที่ดี มีการแสดงความเคารพ ความอ่อนน้อมต่อบุคคลที่ควรเคารพ ควรอ่อนน้อม ขณะนั้นเพราะกุศลจิตเกิด รูปก็ต้องเป็นไปตามจิตเป็นปกติ ขณะนั้นก็เป็น กุศลศีลแต่ว่า ไม่ใช่อพยากตศีลแน่ เพราะเหตุว่าไม่ใช่พระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ถ้าเราจะพูดเรื่องศีล ต้องไม่ลืมปรมัตถธรรมด้วย ต้องให้ชัดเจนว่าคืออะไร แม้แต่จะเรื่องของสติ แม้แต่ในเรื่องของเจตนา ในเรื่องของกรรม ทุกอย่างก็ต้องให้มีความชัดเจน เราถึงจะเข้าใจธรรมได้ โดยไม่สับสน ถ้าเข้าใจเรื่องของอกุศลศีล กุศลศีล อพยากตศีล ต่อไปเราก็พูดกันแล้วว่าคนที่นั่งเฉยๆ มีศีลหรือเปล่า จะรู้ได้ต่อเมื่อสามารถจะรู้ สภาพของจิต ขณะนั้นว่าเป็นกุศล หรือเป็นอกุศล เพราะว่านั่งเฉยๆ เป็นอินทรียสังรศีลก็ได้ เป็นสติปัฏฐาน เป็นอธิศีลก็ได้ ไม่ใช่ว่าไม่ได้พูดถึงเรื่อง ของศีลเลย แต่พูดตามลำดับสภาพของจิตซึ่งมีต่างๆ กัน เวลาที่เป็นกุศลก็จะต้องมีกุศลที่เป็นไปใน ทาน เป็นไปในศีล เป็นไปในความสงบของจิต ซึ่งเป็นสมถภาวนา แล้วก็เป็นไปในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ถ้าพระผู้มีพระภาค ไม่ทรงตรัสรู้ ไม่ทรงแสด ง คนที่มีครูบาอาจารย์ ก็จะสามารถสอนได้ เพียงขั้นศีล และขั้นสมถะ คือความสงบของจิต แต่เมื่อเราเกิดมาในยุคที่มีคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วทุกคนที่นี่ก็คงจะไม่เคยเพิ่งมาฟังธรรมในชาตินี้เป็นชาติแรก แต่ว่าถ้าเทียบส่วนดู คนที่จะสนใจธรรมถึงกับศึกษา ด้วยความจริงใจ ด้วยความตรงต่อธรรมที่จะเข้าใจธรรมให้ถูกต้อง ไม่ใช่เพื่อเหตุอื่น ก็จะต้องเป็นผู้ที่เคย ได้ยินได้ฟังธรรมมา แต่ว่าการสะสมหลากหลาย

    จริงๆ เพราะฉะนั้น ในบรรดา ผู้ที่สนใจธรรม เราก็จะเห็นอัธยาศัยต่างๆ ซึ่งโดยการศีกษาธรรม แม้แต่ผู้นั้นเองก็เริ่มรู้จักตัวเองขึ้น ตามความเป็นจริงที่ตรงว่าขณะไหน เป็นกุศล ขณะไหนเป็นอกุศล นี่คือประโยชน์ สูงสุดที่พระผู้มีพระภาค ทรงอนุเคราะห์สัตว์โลกโดยการที่ให้เกิดปัญญาของบุคคลที่ได้ฟัง ธรรม ที่สามารถที่จะมีปัญญา เข้าใจสภาพธรรม ได้ จนกระทั้งสามารถที่จะรู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ เพราะฉะนั้น เราก็ศึกษา และเมื่อมีการศึกษาเพิ่มขึ้น การศึกษาไม่ใช่ ศึกษาเรื่องสติปัฏฐาน เรื่องเดียว เรื่องศีลก็ศึกษา ศีล ๕ ศีลอุโบสถ เรื่องสมาธิ เรื่องการอบรมเจริญสมถภาวนาก็ศึกษา แต่ว่าประโยชน์สูงสุดก็คือว่า ไม่ใช่ไปกังวล เรื่องที่จะหาปัจจัยทำอย่างไร สติปัฏฐานจะเกิด ก็ทราบว่า ถ้าไม่มีความเข้าใจธรรม ถึงมีศีลสติก็ไม่เกิด ถ้าไม่มีความเข้าใจธรรมถึงจิตจะสงบ ก็ไม่ใช่การสงบ พร้อมด้วยปัญญา และสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม

    เราจะเสียเวลาทำอะไร ในเมื่อถ้าเรามีความเข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน เปิดโอกาสเต็มที่ ให้สติเกิดโดยที่ว่าไม่เอาอย่างอื่นมาเป็นเครื่องกั้น ว่าต้องอย่างนี้ หรือต้องอย่างนั้น ซึ่งเป็นการเสียเวลา แล้วจะทำอย่างไร ถ้ามีความเข้าใจผิดว่าต้องมีศีลเสียก่อนให้สมบูรณ์ทั้งๆ ที่แม้แต่ ผู้ที่เป็นพระภิกษุ ศีลมากกว่าเรา ก็ยังเป็นปาริสุทธิศีลได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง อธิโมกข์ หรือว่าในเรื่องของอาชีวะ หรือว่าในเรื่องของอินทรียสังวร หรือปัจจยสันนิสิต บางคนบอกว่าไม่ชินกับภาษาบาลี ฟังบ่อยๆ เหมือนกับชื่อของเรา คนไทย หรือว่าอาทิตย์ ๑ ก็มี ๗ วัน จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ เสาร์ ค่อยๆ จำไป วันละชื่อ ก็ไม่ยากอะไร โดยเฉพาะ ถ้าเราเข้าใจความหมาย แล้วก็ ไม่ลำบากเลย เพียง แต่เราอย่าไปต่อต้านติดว่าเป็นภาษาอื่นซึ่งยาก แต่ภาษาอื่น ถ้าแปลได้ จะทำให้เราเข้าใจความหมายของภาษานั้น เช่น คำว่า ปฏิบัติ คนที่ไม่ได้ฟังธรรมเลย คนไทย ก็จะคิดว่าปฏิบัติ คือทำ ยังไม่ปฏิบัติหน้าที่ หรือจะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ก็คิดว่าจะต้องเป็นการทำ แต่ตามภาษาบาลีที่ท่านผู้รู้ อย่างท่านอาจารย์สมพร ท่านก็ให้ความหมายไว้ ซึ่งตรงกับผู้รู้อื่นๆ ทุกท่านที่มีความรู้ภาษาบาลี ความหมายเหมือนกัน คือ ปฏิ แปลว่า เฉพาะ ปัตติ แปลว่า ถึง ขณะนี้เป็นนามธรรม เป็นรูปธรรม ฟังเรื่องนามธรรม และรูปธรรม ถึงลักษณะเฉพาะอย่าง ของนามธรรมแต่ละอย่าง รูปธรรมแต่ละอย่าง ที่จะรู้ชัดตามความเป็นจริง ว่าไม่ใช่ตัวตนหรือยัง เพราะฉะนั้น คนนั้นก็จะมีความเข้าใจแล้วก็ รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ขณะไหนที่หลงลืมสติ ขณะไหนที่สติเกิด ผู้นั้นก็สามารถที่จะรู้ได้ อบรมได้ มาจนถึงการศึกษาธรรม แล้วก็การที่จะอบรมเจริญปัญญาต่อไป แล้วทำไมจะต้องไปกังวลเรื่องอื่น ในเมื่อจิตก็เกิดขึ้นทีละหนึ่งขณะจริงๆ แล้วก็หลากหลายมาก ถ้าสติปัฏฐาน เกิดก็ค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ ศึกษา เพราะว่าที่ใช้คำว่า สติปัฏฐาน หมายความถึง ขณะที่ระลึกรู้ ลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ถ้าไม่เคยได้ยินเรื่องปรมัตถธรรม ก็ไม่รู้ว่าจะระลึกอะไร แต่เมื่อเข้าใจแล้วว่า ขณะนี้ปรมัตถธรรม ก็มี ภาวะลักษณะที่ปรากฏ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทางตากำลังเห็นอย่างนี้เแหละไม่เปลี่ยน รู้อะไร ถ้าเป็นปัญญาก็ รู้ความจริง ของสภาพธรรม ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ที่กำลังทำกิจเห็น สิ่งต่างๆ จึงกำลังปรากฏ ในขณะนี้ได้ เพราะมีธาตุชนิด ๑ ซึ่งเกิดขึ้นเห็น ฟังไปจนกระทั่งมีความเข้าใจ แล้ววันหนึ่งก็คงจะมีการะลึกได้ ว่าแท้ที่จริง ขณะนี้ก็เป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏทางตา ค่อยๆ คุ้นกับความคิดอย่างนี้ ไม่ใช่ฮวบฮาบไปแล้วพยายามจะไม่ให้เห็นเป็นคน ไม่ให้เห็นเป็นอะไรเลย นั่นคือตัวตนซึ่งพยายาม หรือจงใจที่จะเปลี่ยนความจริงซึ่งความจริง หลังจากเห็นแล้วก็รู้ว่า สิ่งที่เห็นเป็นอะไร เพราะฉะนั้น เวลาที่จะระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่ขณะที่นึก เข้าใจ ว่าสิ่งนั้นเป็นอะไร แต่ต้องศึกษาลักษณะของสภาพธรรมที่เพียงปรากฏทางตาว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น การฟังเรื่องของธรรม เรื่องของการอบรมเจริญปัญญา ก็ต้องฟังนาน แล้วก็มีความรู้ว่าเราเข้าใจตรงไหนขึ้น แล้วก็ค่อยๆ อบรมเจริญปัญญาไป เพราะฉะนั้น ก็ต้อง เข้าใจตามลำดับ ว่า ไม่ใช่มีแต่ปาริสุทธิศีล แต่ต้องมี วิสุทธิ ๗ เริ่มด้วยศีลวิสุทธิ

    ผู้ฟัง อาจารย์กรุณา ช่วย บอกในการอบรมเจริญสติปัฏฐาน ของพระภิกษุสงฆ์ ต้องมีการปฏิบัติในปาฏิโมกข์ และมีการศึกษาจากพระไตรปิฎก และอรรถกถามากมาย แต่ว่าการตั้งสติปัฏฐาน อาจารย์บุตร สาวงษ์ ก็จะต้องมีเวลานิดหน่อย เพราะฉะนั้น การภาวนา กับพระภิกษุสงฆ์นี่ พระภิกษุสงฆ์จะต้องมีการสนใจในการอบรมสติปัฏฐานได้ แต่ว่าถ้าเป็นพระภิกษุอย่างนี้ ปฏิบัติปาฏิโมกข์อย่างนี้ ปฏิบัติสติปัฏฐานเป็นอย่างไร

    ท่านอาจารย์ สติเจตสิก ของคฤหัสถ์ กับ สติเจตสิกของบรรพชิตต่างกัน หรือเหมือนกัน ถ้าเราศึกษาถึงปรมัตถธรรม แล้วก็จะตอบคำถามได้ทุกอย่าง ไม่มีข้อสงสัยเลย ปัญญาของคฤหัสถ์กับปัญญาของบรรพชิตเหมือนกัน หรือต่างกัน

    ผู้ฟัง เหมือนกัน

    ท่านอาจารย์ สิ่งที่ต่างกันคือ ภาวะ ที่สะสมมา ที่จะอบรมเจริญปัญญาในเพศบรรพชิด หรือว่าในเพศคฤหัสถ์ บรรพชิตที่ไม่รู้แจ้งอริยสัจธรรมมีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ คฤหัสถ์ที่รู้แจ้ง อริยสัจธรรม มีไหม

    ผู้ฟัง มี

    ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น ต่างกันแต่เพียง เพศ บรรพชิต หรือคฤหัสถ์ เท่านั้น

    ผู้ฟัง ในนี้ผมก็เข้าใจว่า ถ้าในเพศบรรพชิตก็ มีศีลเป็นเสิศ มีศีลมากกว่า เป็นมหาศีล แล้วก็คฤหัสถ์ ฆราวาส อุบาสก อุบสาสิกา ก็มี ศีล ๕ แล้วก็ศีล ๘ อะไรก็ตาม ก็แล้วแต่ศรัทธา แต่ในการเจริญสติปัฏฐาน นี้ ถึงเป็นโลกุตตระแล้ว ไม่ว่าบรรพชิต หรือก็คฤหัสถ์ ในมรรคมีองค์ ๘ ก็มีศีลเหมือนกัน ไม่ต่างกันว่า มรรคมีองค์ ๘ อยู่ในบรรพชิตก็มีศีล ต่างจากมรรคมีองค์ ๘ ของคฤหัสถ์ก็เป็นศีลเหมือนกัน องค์มรรคก็เหมือนกัน ก็ควรจะเข้าใจในการเจริญสติปัฏฐาน ไม่จำเป็นอะไร ที่ ...

    ท่านอาจารย์ อีกอย่างหนึ่งสภาพธรรม ก็กำลังปรากฏ แล้วอย่างไร จะไม่ระลึก พยายาม ที่จะทำอย่างโน้น อย่างนี้เพื่อที่จะไม่ระลึก หรือว่าฟังธรรมให้เข้าใจขึ้น จนกระทั่งมีปัจจัยที่จะทำให้มีการระลึก ไม่ต้องไปเสียเวลา แต่ไม่ใช่ไปเร่งรีบด้วยความเป็นตัวตน ทั้งไม่พัก และไม่เพียร เป็นทางสายกลางจริงๆ เพราะฉะนั้น ก็จะทำให้รู้จักตัวเองตามควมเป็นจริง ว่าบางครั้งสติเกิด แต่ไม่ใช่สติปัฏฐาน บางครั้งสติปัฏฐานก็เกิด แล้วก็ดับไป ก็เป็นเรื่องของสภาพธรรม ไม่ใช่เป็นเรื่องกระวนกระวายด้วยความอยาก ไม่ว่าด้วยความต้องการว่า ทำอย่างไรสติจะเกิดบ่อยๆ หรือว่าอยากจะให้สติเกิดมากๆ ก็เคยพูดเปรียบเทียบเรื่องเด็กเล็กๆ แล้วก็จะให้เป็นนายแพทย์ หรือว่าให้ทำงานอย่างผู้ใหญ่ได้ไหม แต่ถ้าเขาเจริญเติบโตขึ้น เขาก็มีความสามารถที่จะทำได้ เพราะฉะนั้น ถ้าปัญญาเพิ่งเริ่มที่จะเข้าใจสภาพธรรม แล้วไปคิดว่าทำอย่างไรสติปัฏฐานจะเกิด ทำอย่างไรก็ไม่เกิด เพราะเหตุว่าปัญญายังไม่พอ ที่จะเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐานเกิดได้ ก็เป็นเรื่องที่ค่อยๆ พิจารณา แล้วก็รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง ข้อสำคัญที่สุด คือ ต้องเห็นโลภะ เพราะเหตุว่า โลภะ ทำให้อยู่ในสังสารวัฏฏ์ฏ แล้วก็อยู่ด้วยกันมาตลอด โดยไม่เคยเห็น ความละเอียดของโลภะเลย ว่าขนาดไหน ที่ใดก็ตามที่มีปัญญา ที่นั่นจะไม่มีโลภะ เพราะฉะนั้น ก็เลือกเพื่อนโดยการเข้าใจให้ถูกต้อง ว่าจะยังให้โลภะชักนำไปอีก หรือว่าถ้ามีปัจจัยที่จะระลึกลักษณะของสภาพธรรม สติก็ระลึก ไม่ใช่ไปปิดกั้นว่า ระลึกไม่ได้ ต้องให้เป็นอย่างนั้นเสียก่อน หรือว่าต้องให้เป็นอย่างนี้ก่อน

    ขณะนี้สภาพธรรม ไม่ได้เปลี่ยน มีเหตุปัจจัยที่จะให้สิ่งนี้กำลังปรากฏ มีเหตุปัจจัยที่จะให้เสียงนี้ปรากฏ มีเหตุปัจจัยที่จะให้จิตแต่ละขณะเกิดขึ้น แล้วแต่ว่าจะเป็นจิตประเภทใด เพราะฉะนั้น ขึ้นอยู่กับปัญญาอย่างเดียว ที่ว่าปัญญาระดับฟังอย่างนี้ ยังไม่สามารถที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพนามธรรม และรูปธรรม ยังไม่ประจักษ์อย่างที่พระอริยบุคคลท่านประจักษ์ว่า สภาพนามธรรม และรูปธรรมเกิดแล้วดับ แต่ว่าสามารถที่จะประจักษ์กับปัญญาที่ได้อบรมแล้ว เพราะอะไร เพราะว่าสภาพธรรมเป็นอย่างนี้ แต่ว่าสติปัฏฐานเกิดแล้วก็ระลึกลักษณะที่เป็นปรมัตถธรรม ไม่ใช่ตามเรื่องอย่างที่เราเคยตามเรื่อง คือเห็น แล้วก็เป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ทันที

    ปัญญาเริ่มแรก คือรู้ว่าขณะนั้นเป็นขณะที่จะอบรมเจริญปัญญา ที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรม เมื่อปัญญาอบรม สภาพธรรมก็ปรากฏได้ ตามความเป็นจริง เป็นวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ พร้อมกับการที่ค่อยๆ หน่าย ค่อยๆ คลาย ความติดหรือความต้องการ ที่จะให้หวังรอว่าเมื่อไร วิปัสสนาญาณนั้นจะเกิด วิปัสสนาญาณนี้จะเกิด หวังรอสภาพธรรม จะไม่มีวันปรากฏ ต่อเมื่อใดมีความรู้ว่า ที่ค่อยๆ คลายความไม่รู้ในลักษณะของสภาพธรรม เพราะอะไร เพราะสติระลึก ถ้าสติไม่ระลึก ขณะนี้ก็จะยังคงเห็น เป็นบุคคลนั้น บุคคลนี้ โดยที่ไม่มีความคุ้นเคย ความชินกับลักษณะของรูปธรรม ซึ่งเป็นเพียงสิ่งที่กำลังปรากฏจริงๆ เป็นธรรมชนิดหนึ่ง มีลักษณะที่ปรากฏทางตา ให้เห็นได้ นี่คือความจริงเท่านั้นเอง แต่หลังจากนั้นก็คือว่า อยู่ในโลกของความคิดนึก เพราะว่าโลกของแต่ละคน คือจิตแต่ละขณะ ถ้าจิตไม่เกิด โลกนี้ไม่มีเลย ต้นไม้ใบหญ้าไม่รู้อะไรเลย แต่ที่รู้ว่ามีโลก หรือเป็นโลก หรือว่าเป็นเรา หรือเป็นเขา ก็เพราะว่าจิตเกิดขึ้น เมื่อจิตขณะหนึ่งเกิดขึ้น จิตนั้นต้องรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด

    เวลาที่จิตเกิดขึ้น เห็น สิ่งที่ปรากฏทางตาดับ การเห็นวาระนั้นดับ ก็เป็นจิตที่เกิดสืบต่อขณะอื่น โลกอื่นก็เกิดสืบต่อ ก็เป็นโลกเห็นทางตา โลกได้ยินเสียงทางหู แล้วหลังจากที่โลกทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาดับ ก็สืบทอดไปถึงมโนทวารวิถีจิต เพราะฉะนั้น ทางใจจะเก็บสะสม เรื่องราว ทุกสิ่งทุกอย่างไว้ แสดงให้เห็นว่าการที่จะรู้สภาพธรรม ก็ต้องรู้ ตามความเป็นจริงอย่างนี้ ไม่ใช่ไปพยายามไม่คิด ไม่รู้ แล้วก็จ้องแต่หวังคอยว่าเมื่อไรปัญญา จะเกิด แต่ต้องรู้ว่าปัญญาแต่ละขั้น จะเกิดเพราะเหตุใด จะไม่พ้นจากการที่สติเกิด แล้วก็ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม

    ผู้ที่ได้อบรม ปัญญา แล้วสติ จนกระทั่งรู้หนทางว่า ปัญญาจะเกิดก็ต่อเมื่อสติระลึก ผู้นั้นก็มีการละการคลาย คือมีความอาจหาญร่าเริง ที่จะไม่หวังรออีกต่อไป แต่มีความกล้า ที่เมื่อไรที่ สติระลึก ปัญญาระดับไหนรู้ ปัญญาของพระโสดาบันก็ไม่ใช่ปัญญาของผู้ที่กำลังอบรมเจริญวิปัสสนา ซึ่งจะยังคงมีความข้องใจบ้าง สงสัยบ้าง หวังรอบ้าง จนกว่าจะถึงระดับที่ละคลายความติดข้อง ความปรารถนา แล้วบุคคลนั้นก็ จะรู้ว่ายิ่งละ ยิ่งคลาย ปัญญาก็จะยิ่งสามารถรู้กว้างขวางขึ้น ปกติขึ้น ชัดเจนขึ้น เพราะเหตุว่าไม่มีตัวเราบางๆ ไปคอยกำกับ ว่าจะพยายามเป็นอย่างนี้นิดหนึ่ง พยายามจะเป็นอย่างนั้นหน่อยหนึ่ง ตั้งเอาไว้นานๆ หน่อยหนึ่ง หรืออะไรอย่างนั้น จะไม่มีเลย เพราะทั้งหมดนั้น เป็นสีลพพัตตปรามาส ผู้ที่เข้าใจหนทางแล้ว ไม่หวั่นไหวเลย ว่าจะรู้แจ้งอริยสัจธรรมเมื่อไร ขณะไหน

    ฟังธรรมจากหัวข้อย่อย

    หมายเลข 99
    23 มี.ค. 2567

    ซีดีแนะนำ