แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 1


ไม่ทราบว่าท่านเคยน้อมระลึกถึงพระพุทธคุณบ้างไหม และระลึกถึงในลักษณะใด เพราะการที่จะน้อมระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น สามารถที่จะน้อมระลึกได้ทุกเหตุการณ์ คือเมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว จะน้อมระลึกถึงพระกรุณาคุณ ตั้งแต่พระองค์ได้ทรงแสดงปฐมเทศนาตลอดมา จนถึงใกล้จะปรินิพพานก็จะเห็นพระกรุณาคุณได้ หรือว่าจะน้อมระลึกถึงพระคุณก่อนที่พระองค์ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ คือระลึกถึงเมื่อครั้งพระองค์บำเพ็ญพระบารมี ๔ อสงขัยแสนกัปป์ ก็ย่อมจะเห็นความพากเพียรและพระมหากรุณา ที่ทรงปรารถนาที่จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อที่จะเกื้อกูลแก่สัตว์โลก ขณะนั้นก็ระลึกถึงพระคุณได้ หรือเมื่อระลึกถึงการดำเนินชีวิตของพระองค์ในพระชาติสุดท้ายก่อนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะเห็นพระคุณได้

เพราะว่าข้อความในพระไตรปิฏก แสดงไว้ทั้งหมดโดยครบถ้วน ซึ่งผู้ที่มีสัทธา มีวิริยะ ก็จะศึกษาฟังหรืออ่านด้วยความปิติโสมนัสที่ได้รู้เรื่องของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อที่จะให้ทุกท่านที่อ่าน หรือได้ฟัง ได้พิจารณา ก็เกิดสัทธา เกิดหิริ เกิดโอตตัปปะ เกิดวิริยะ เกิดสติ เมื่อเวลาที่ได้เข้าใจพระธรรมแล้ว จิตปิติโสมนัส ซาบซึ้ง อ่อนโยนควรแก่การที่จะอบรมเจริญกุศล หรืออาจจะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ แม้ในขณะที่กำลังอ่านหรือกำลังฟังนั้นเอง

ชีวิตของพระผู้มีพระภาคในพระชาติสุดท้ายก่อนที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พิเศษวิจิตรน่าอัศจรรย์ต่างจากบุคคลอื่น เพราะถ้าได้เห็นชีวิตที่แตกต่างกันไปของแต่ละบุคคลมากเพียงใด ก็ยิ่งเห็นกรรม ซึ่งจำแนกกำเนิด จำแนกตระกูล จำแนกลาภ ยศ สติปัญญาต่างๆ กันออกไป แต่สำหรับผู้ที่อบรมบารมี ๔ อสงขัยแสนกัปป์เพื่อที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น แม้การบังเกิดของพระองค์ก็ต้องพิเศษกว่าบุคคลธรรมดา

ขอย้อนไปถึงก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะเสด็จบังเกิดในโลกนี้ ตามข้อความใน มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ซึ่งมีข้อความว่า

ก่อนนั้น เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงบำเพ็ญทานบารมีในพระชาติที่เป็นพระเวสสันดร จุติแล้วก็ปฏิสนธิในสวรรค์ชั้นดุสิต เทพทั้งหลายพากันไปทูลว่าถึงเวลาที่ควรประสูติเพื่อตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยพระบารมีที่ได้ทรงบำเพ็ญแล้ว พระโพธิสัตว์ทรงพิจารณามหาวิโลกนะ (ความเหมาะสม) ๕ คือ กาล ๑ ทวีป ๑ ประเทศ (คือสถานที่ที่จะประสูติ) ๑ ตระกูล ๑ กำหนดพระชนมายุพระชนนี ๑

บรรดามหาวิโลกนะ ๕ นั้น พระโพธิสัตว์ทรงพิจารณากาลเป็นอันดับแรกว่าเป็นกาลสมควรหรือยัง คือถึงแม้ว่าจะได้ทรงบำเพ็ญบารมีพร้อมแล้ว แต่ถ้าไม่ใช่กาลที่สมควรบังเกิดก็จะไม่เป็นประโยชน์เลย เมื่อสัตว์โลกในกาลนั้นไม่พร้อมหรือไม่สมควรแก่การที่จะได้รับฟังพระธรรมเทศนา เพราะถ้าเป็นกาลที่คนอายุเกินแสนปี ก็ไม่ใช่กาลที่สมควร เพราะ ชาติ ชรา มรณะจะไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลาย พระธรรมเทศนาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ไม่พ้นไปจากไตรลักษณ์ คือ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา

ฉะนั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา สัตว์ทั้งหลายย่อมไม่สำคัญพระพุทธดำรัสที่ควรฟัง ที่ควรเชื่อ แต่นั้น อภิสมัยคือการตรัสรู้ของสัตว์ทั้งหลายก็จะไม่มี เมื่ออภิสมัยไม่มี คำสอนก็จะไม่นำสัตว์ออกจากทุกข์ กาลนั้นจึงไม่ใช่กาลที่สมควร แม้ในกาลที่อายุคนต่ำกว่า ๑๐๐ ปี ก็ยังไม่ใช่กาลที่สมควร เพราะว่าในกาลนั้นสัตว์ทั้งหลายมีกิเลสหนาแน่น และโอวาทที่ประทานแก่สัตว์ที่มีกิเลสหนาแน่น ก็จะไม่คงอยู่ในฐานะควรเป็นโอวาท จะขาดหายไปเร็วเหมือนรอยไม้ที่ขีดในน้ำ ฉะนั้นจึงไม่ใช่กาลที่สมควร

ถอยหลังไป ๒๕๐๐ กว่าปีเป็นกาลที่สมควรที่พระโพธิสัตว์จะพึงบังเกิดใน มนุษย์โลกนี้ กาลนั้น ที่พระโพธิสัตว์ทรงพิจารณา เป็นกาลที่คนมีอายุ ๑๐๐ ปี ดังนั้นพระโพธิสัตว์จึงทรงเห็นว่าเป็นกาล ที่ควรบังเกิด ลองคิดดูหลายท่านได้ฟังธรรมแล้วไม่สนใจเลยหรืออาจไม่เห็นคุณค่าเลย แม้จะเป็นพระโอวาทที่กว่าจะได้ตรัสรู้และทรงแสดง โดยบำเพ็ญพระบารมีถึง ๔ อสงขัยแสนกัปป์ แต่ว่าสัตว์ที่มีกิเลสหนาแน่นจะไม่สำคัญในโอวาทนั้น แม้ว่าฟังแล้วก็ไม่สนใจ จะขาดหายไปเร็วเหมือนรอยไม้ที่ขีดในน้ำ การที่แต่ละคนไม่มีความสนใจในพระธรรมก็ฉันนั้น ฉะนั้นก่อนที่จะถึงกาลอันตรธาน ควรที่พุทธบริษัทในครั้งนี้มีความรู้สึกเหมือนว่าฟังธรรมแล้ว จะขาดหายไปเร็วเหมือนรอยไม้ที่ขีดในน้ำไหม

จากนั้น เมื่อทรงพิจารณาถึงทวีปที่จะทรงบังเกิด ก็ทรงเห็นว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทรงบังเกิดในทวีปทั้ง ๓ ทรงบังเกิดแต่ในชมพูทวีปเท่านั้น โลกนี้ก็คือชมพูทวีป โลกอื่นก็มี แต่พระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทรงบังเกิดในทวีปอื่นคือโลกอื่น นอกจากชมพูทวีปนี้ เพราะฉะนั้น ผู้ที่เกิดในชมพูทวีปนี้ก็เป็นผู้ที่ได้สะสมบุญในอดีตมา โดยเฉพาะที่จะได้เกิดในกาลที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงแสดงธรรม หรือ ในกาลที่แม้จะทรงปรินิพพานไปแล้ว แต่พระธรรมก็ยังมีอยู่ ที่จะให้ได้ฟังได้พิจารณาได้เข้าใจ

แม้แต่ทวีปที่พระโพธิสัตว์จะทรงบังเกิด ก็เพื่อประโยชน์ของสัตว์โลก จึงต้องทรงพิจารณาว่าควรจะบังเกิดที่ทวีปไหน สำหรับโลกมนุษย์นั้น มี ๔ โลก (ทวีป) คือปุพวิเทหทวีป อยู่ทิศตะวันออกของเขาสิเนรุ อปรโคยานทวีปอยู่ทิศตะวันตกของเขาสิเนรุ ชมพูทวีปอยู่ทิศใต้ของเขาสิเนรุ อุตตรกุรุทวีปอยู่ทิศเหนือของเขาสิเนรุ

(มองไม่เห็นเขาสิเนรุ มองออกไปไกลเท่าไรก็เห็นแต่อากาศ ท้องฟ้า ดวงดาว จักรวาล ถ้ามีโลกได้ จะมีเขาสิเนรุได้ไหม โลกมนุษย์ไม่มีรูปร่างสัณฐานอย่างภูเขา แต่จะมีสถานที่อย่างโลกนี้ แต่สัณฐานเป็นภูเขาได้ไหม ซึ่งเมื่อกล่าวถึงทวีป (โลก) ทั้ง ๔ ก็พอที่จะกล่าวได้ว่า แต่ละทวีป (โลก) นั้นอยู่ทางทิศไหนของภูเขาสิเนรุนั้น

เรื่องของคนที่ไม่เห็นก็มี ๒ พวก คือพวกหนึ่งไม่เห็นและไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ แต่อีกพวกหนึ่งเมื่อไม่เห็นแล้วจะไม่เชื่อเพราะตนเองไม่เห็นเท่านั้นหรือ หรือว่ามีบุคคลอื่นซึ่งสามารถจะเห็นได้ เหมือนคนตาบอดไม่เห็น แต่คนตาดีเห็น ที่คนตาบอดบอกว่าทุกอย่างมืดไม่มีอะไรเลยนั้น ถูกต้องไหม ในเมื่อคนตาดีเห็น สีสัน วรรณต่างๆ ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น

ฉะนั้น แม้จะไม่เห็นเขาสิเนรุ ไม่เห็นโลกอื่น ไม่เห็นจักรวาลทั้งหลาย แต่บุคคลที่เห็นได้รู้ได้ จะมีไหม เมื่อเปรียบกับบุคคลที่มีคุณธรรมต่างกัน คือบุคคลที่เป็นปุถุชน บุคคลที่เป็นพระอริยบุคคล จนกระทั่งถึงบุคคลที่เป็นถึงพระอรหันต์ แล้วเหนือจากนั้นอีกคือบุคคลที่เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า ปัญญาไม่เท่ากัน

ฉะนั้น จึงไม่ใช่ว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใดจะคิดเรื่องโลกขึ้นมาเองได้ แต่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงเรื่องของ "โอกาสโลก" คือโลกตลอดทุกจักรวาลไว้โดยละเอียด

ผู้ที่ไม่เห็นก็ควรที่จะพิจารณาว่า จะรับฟังและรู้ว่าตัวเองไม่สามารถที่จะเห็นได้ แต่ว่ามีบุคคลอื่นที่จะรู้จะเห็นได้ไหม โดยเฉพาะเมื่อบุคคลนั้นเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

จากนั้น พระโพธิสัตว์ เมื่อทรงสำรวจดูโอกาสคือประเทศหรือสถานที่ที่จะทรงบังเกิด ก็ทรงดำริว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงบังเกิดที่มัชฌิมประเทศ จึงตกลงพระหฤทัยว่า จะพึงบังเกิด ณ นคร กบิลพัสดุ์

จากนั้น เมื่อทรงพิจารณาดูตระกูล ก็ทรงเห็นว่าธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่ทรงบังเกิดในตระกูลแพศย์หรือตระกูลศูทร แต่ทรงบังเกิดในตระกูลกษัตริย์หรือตระกูลพราหมณ์ ที่โลกสมมติ คือแล้วแต่ว่า ในกาลนั้นจะสมมติว่ากษัตริย์เป็นใหญ่กว่าพราหมณ์ หรือว่าพราหมณ์เป็นใหญ่กว่ากษัตริย์ ซึ่งในกาลนั้นตระกูลกษัตริย์ โลกสมมติคือเป็นใหญ่ พระโพธิสัตว์จึงตกลงพระหฤทัยว่า จะทรงบังเกิดในตระกูลที่พระเจ้าสุทโธทนะจักเป็นพระชนกของพระองค์

จากนั้น เมื่อทรงพิจารณาดูพระชนนี ก็ทรงเห็นว่า ธรรมดาพระพุทธมารดา มิใช่เป็นสตรีโลเล นักเลงสุรา แต่บำเพ็ญบารมีแสนกัปป์ มีศีลไม่ขาดมาแต่เกิด ก็พระเทวีพระนามว่าพระนางมหามายา พระองค์นี้เป็นเช่นนี้ พระนางจักเป็นชนนีของพระองค์ และพระชนมายุของพระนางจะดำรงอยู่อีก ๑๐ เดือน กับ ๗ วัน

พระมหาสัตว์ทรงจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต และทรงปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางมหามายา โดยดาวนักกษัตรอุตตราสาธ บางแห่งก็เป็น อุตตรสาฬหะ

การประทับในครรภ์พระมารดาของพระโพธิสัตว์ ก็ย่อมต่างกับบุคคลทั่วไป คือมีเทพอารักขาเพื่อป้องกันภัยแก่พระโพธิสัตว์และพระชนนี ความพึงพอใจด้วยอำนาจกิเลสในบุรุษทั้งหลายไม่มีแก่พระมารดาของพระโพธิสัตว์ พระชนนีทรงประสบลาภอย่างเลิศ ยศอย่างเลิศ มีสุข พระวรกายไม่ลำบาก พระชนนีแลเห็นพระโพธิสัตว์ซึ่งอยู่ในพระครรภ์ของพระนางเอง เหมือนด้ายขาวร้อยแก้วมณีอันใสฉะนั้น และเพราะเหตุที่พระครรภ์ที่พระโพธิสัตว์อยู่ ก็เป็นเสมือนห้องพระเจดีย์ สัตว์อื่นไม่อาจอยู่และใช้สอยได้ ฉะนั้น พระมารดาของพระโพธิสัตว์ เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติได้ ๗ วัน จึงทรงทำกาละ คือสิ้นพระชนม์ บังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต ก็สตรีอื่นๆ ถึง ๑๐ เดือนก็มี เกินก็มี นั่งคลอดบ้าง นอนคลอดบ้าง ฉันใด พระมารดาของพระโพธิสัตว์หาเป็นฉันนั้นไม่ แต่พระมารดาของพระโพธิสัตว์บริหารพระโพธิสัตว์ด้วยพระครรภ์ ๑๐ เดือนแล้ว ทรงยืนประสูติ นี่เป็นธรรมดาของพระมารดาของพระโพธิสัตว์

ที่กล่าวถึงพระผู้มีพระภาคตั้งแต่ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ ก็เพื่อจะให้เห็นว่าผู้ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีมา ๔ อสงขัยแสนกัปป์ ย่อมเป็นผู้ที่เป็นเลิศกว่าบุคคลทั้งปวง ผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชนที่เคารพเลื่อมใสในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ควรที่จะได้รู้เหตุที่ทำให้พระองค์เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งประเสริฐเลิศกว่าบุรุษทั้งหลายโดยทุกสถาน แม้ในกาลที่ประสูติจากพระครรภ์

ข้อความต่อไปมีว่า เมื่อพระนางมหามายาเทวีทรงบริหารพระโพธิสัตว์ด้วยพระครรภ์ ๑๐ เดือนแล้ว มีพระครรภ์บริบูรณ์ มีพระประสงค์จะเสด็จไปเรือนพระญาติ

จึงกราบทูลแด่พระเจ้าสุทโธทนะมหาราช พระราชาทรงอนุญาต แล้วโปรดให้ทรงทำทางตั้งแต่กรุงกบิลพัสดุ์จนถึงเทวทหนครให้เรียบ และให้ประดับด้วยธงผ้าเป็นต้น ทรงโปรดให้พระนางประทับนั่งในวอทองใหม่ เสด็จไปด้วยสิริยศและบริพารกลุ่มใหญ่ ระหว่างพระนครทั้งสองมีมงคลสาลวัน ชื่อลุมพินี ที่ควรใช้สอยของชาวนครทั้งสอง มงคลสาลวันนั้น

สมัยนั้นออกดอกบานสะพรั่งไปหมด ตั้งแต่โคนไปถึงยอด เพราะทรงเห็นป่างามเหมือนสวนนันทวันอันเป็นที่สำราญแห่งเทพ พระนางจึงคิดจะเที่ยวชมสวนสาลวันนั้น พระนางเสด็จเข้าไปยังลุมพินีวัน แล้วเสด็จไปยังโคนต้นมงคลสาละ มีพระประสงค์จะจับกิ่งใดของมงคลสาละนั้นซึ่งมีลำต้นกลมเรียบและตรง ประดับด้วยดอกผลและใบอ่อน กิ่งมงคลสาละนั้นก็น้อมลงเองถึงฝ่าพระกรของพระนาง ลำดับนั้น พระนางก็ทรงจับกิ่งสาละนั้นด้วยพระกรขวาซึ่งประดับด้วยกำไลพระกรทองใหม่ในทันทีนั้นเอง เมื่อทรงมีพระอาการจะประสูติ ข้าราชบริพารก็กั้นผ้าม่านเป็นกำแพงแล้วหลีกไป พระนางเมื่อประทับยืนจับกิ่งสาละอยู่นั้นเอง พระโพธิสัตว์ก็ประสูติจากพระครรภ์ของพระนางนั้น

ในทันใดนั้นเอง ท้าวมหาพรหมผู้มีจิตบริสุทธิ์ ๔ พระองค์ ก็ถือข่ายทองมารองรับพระโพธิสัตว์ ด้วยข่ายทองนั้น วางไว้เบื้องพระพักตร์พระชนนี ตรัสว่า ดูกร พระเทวี ขอจงทรงดีพระทัยเถิด พระโอรสของพระองค์มีศักดิ์มาก ประสูติแล้ว ก็สัตว์อื่นๆ เมื่อออกจากครรภ์มารดา ก็เปรอะเปื้อนด้วยของปฏิกูลไม่สะอาดออกไป ฉันใด พระโพธิสัตว์หาเป็นฉันนั้นไม่ พระโพธิสัตว์ทรงเหยียดพระหัตถ์ทั้งสอง พระบาททั้งสองยืน ไม่เปรอะเปื้อนด้วยของไม่สะอาดไรๆ จากสมภพในพระครรภ์ของพระชนนี หมดจดสดใส รุ่งเรืองเหมือนมณีรัตนะอันเขาวางไว้บนผ้ากาสี ออกจากพระครรภ์พระชนนี เพื่อสักการะแด่พระโพธิสัตว์และพระชนนีของพระโพธิสัตว์ ท่อธารน้ำสองท่อก็ออกมาจากอากาศ โสรจสรงที่พระสรีระของพระโพธิสัตว์ และพระชนนีของพระโพธิสัตว์

แม้ในยุคนี้สมัยนี้ ก็มีบางสิ่งซึ่งอัศจรรย์เกิดขึ้น แต่สิ่งที่น่าอัศจรรย์ที่เกิดกับคนในสมัยนี้ เมื่อเทียบกับสิ่งอัศจรรย์ต่างๆ ที่เกิดกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็จะเห็นได้ว่าเปรียบกันไม่ได้เลย เช่นเดียวกับสติปัญญาของบุคคลใดๆ ก็ย่อมเปรียบไม่ได้เลยกับพระปัญญาของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนั้น สิ่งอัศจรรย์ที่เกิดกับพระโพธิสัตว์ในพระชาติสุดท้าย ที่จะตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่บางท่านอาจจะคิดว่าเป็นไปไม่ได้นั้น ก็ควรพิจารณาว่า เมื่อปัญญาและบารมีทั้งหลายซึ่งได้สะสมอบรมสมบรูณ์ถึงขั้นที่จะตรัสรู้ธรรมบรรลุความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แล้ว สิ่งอัศจรรย์ต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ไหม

ลำดับนั้น ท้าวมหาราชทั้ง ๔ พระองค์ก็เอาผ้าขนสัตว์ที่มีสัมผัสอันสบายซึ่ง สมมติกันว่าเป็นมงคล รับจากพระหัตถ์ของท้าวมหาพรหมซึ่งยืนรับพระโพธิสัตว์นั้นไว้ด้วยข่ายทอง พวกมนุษย์ก็เอาเบาะผ้าเนื้อดีรับจากพระหัตถ์ของท้าวมหาราชทั้ง ๔ นั้น พระโพธิสัตว์พ้นจากมือมนุษย์ ก็ยืนที่แผ่นดิน มองดูทิศบูรพา เทวดาและมนุษย์ในที่นั้นก็ทูลว่า ข้าแต่มหาบุรุษ ผู้ที่เสมือนกับพระองค์ในที่นี้ไม่มี ผู้ที่จะยิ่งกว่าจะมีแต่ที่ไหน พระโพธิสัตว์ทรงเหลียวดูทิศทั้ง ๑๐ ทิศ ไม่เห็นผู้ที่เสมือนกับพระองค์ จึงบ่ายพระพักตร์สู่ทิศอุดร ทรงดำเนินไป ๗ ก้าว และเมื่อดำเนินไป ก็ดำเนินไปบนแผ่นดินนั่นแหละ มิใช่ดำเนินไปในอากาศ (ข้อความในอรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ วงศ์พระโคตมพุทธเจ้า มีว่า) แต่ปรากฏแก่มหาชนเหมือนดำเนินไปทางอากาศ เหมือนประดับตกแต่งพระองค์ และเหมือนมีอายุ ๑๖ ขวบ แต่นั้นย่างก้าวที่ ๗ ก็ทรงหยุด เมื่อทรงเปล่งอาสภิวาจาว่า อคฺโคหมสฺมิ โลกสฺส ดังนี้เป็นต้นทรงเปล่งสีหนาท

ในสมัยที่พระโพธิสัตว์ประสูติ ณ ลุมพินีวันนั้น พระเทวีมารดาพระราหุล คือ พระนางยโสธราพิมพา ท่านพระอานนท์ ท่านพระฉันนะ ท่านกาฬุทายีอำมาตย์ พระยาม้ากัณฐกะ ต้นมหาโพธิพฤกษ์ และหม้อขุมทรัพย์ทั้ง ๔ ก็เกิด เหล่านี้ชื่อว่า สหชาติทั้ง ๗

ครั้งนั้น ในวันที่ ๕ พระประยูรญาติจึงเฉลิมพระนามพระโพธิสัตว์ว่า "สิทธัตถะ" เพราะทรงทำความสำเร็จประโยชน์แก่โลกทั้งปวง พระราชาพระราชทานพระพี่เลี้ยงนางนม ๖๔ นาง ซึ่งปราศจากโรคทุกอย่าง ถึงพร้อมด้วยรูปสมบัติอย่างยิ่งแด่พระมหาบุรุษ พระโพธิสัตว์ทรงเจริญวัยด้วยบริวารไม่มีที่สุด ด้วยพระสริยยศใหญ่ยิ่งต่อมา ครั้งนั้นพระมหาบุรุษทรงมีพระชันษา ๑๖ พรรษา พระราชาโปรดให้สร้างปราสาท ๓ หลัง ชื่อ รัมมะ สุรัมมะ และ สุภะ ๙ ชั้นหลังหนึ่ง ๗ ชั้นหลังหนึ่ง ๕ ชั้นหลังหนึ่ง อันเหมาะแก่ ๓ ฤดูแก่พระโพธิสัตว์ ปราสาทแม้ทั้ง ๓ หลัง ส่วนสูงมีขนาดเท่ากัน แต่ชั้นต่างกัน (ตามความเหมาะสมของฤดูกาล ปราสาทสำหรับฤดูร้อนชั้นก็น้อย แต่ส่วนสูงมีเท่ากับปราสาทหลังอื่น)

เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงเจริญวัยสมควรที่จะอภิเษก พระราชาทรงดำริให้พระโพธิสัตว์แสดงศิลปะ ความสามารถให้ปรากฏแก่เจ้าศากยะทั้งหลาย เพราะเหตุว่า พวกเจ้าศากยะคิดว่า พระโพธิสัตว์นั้นไร้ความสามารถ คือมีชีวิตที่สุขสำราญทุกประการ จึงไม่มีใครเห็นความสามารถของพระโพธิสัตว์ ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าสุทโธทนะจึงให้พระโพธิสัตว์แสดงความสามารถให้ปรากฏแก่เจ้าศากยะ โดยโปรดให้นำธนูมาพระราชทาน ธนูนี้พิเศษ คือ บุรุษพันหนึ่งยกธนูนั้นขึ้น ถ้าน้อยกว่านั้นยกไม่ขึ้น บุรุษพันหนึ่งยกลง พระมหาบุรุษให้นำธนูนั้นมา แล้วประทับนั่งขัดสมาธิ ทรงคล้องหัวสายธนูที่นิ้วแม่พระบาท โน้มขึ้นธนูด้วยนิ้วแม่พระบาทนั่นแหละ ทรงถือธนูด้วยพระหัตถ์ซ้าย แล้วขึ้นสายธนูด้วยพระหัตถ์ขวา เสียงกึกก้องไปทั่วพระนคร เจ้าศากยะทั้งหลายต่างก็พากันมีจิตโสมนัสยินดี

ลำดับนั้น พระมหาบุรุษตรัสว่า ควรทำอะไรต่อไป


หมายเลข  5350
ปรับปรุง  24 เม.ย. 2565


วีดีโอแนะนำ