แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 5


ขอกล่าวถึงใน ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร มีข้อความว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังปาวาลเจดีย์ ครั้นแล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ท่านพระอานนท์ปูลาดถวาย ฝ่ายท่านพระอานนท์ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่งณที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งกับท่านพระอานนท์เรื่อง อิทธิบาท ๔ อันผู้ใดผู้หนึ่งเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว เมื่อจำนงอยู่ พึงดำรงอยู่ได้ตลอด (อายุ) กัปป์ หรือเกินกว่า (อายุ) กัปป์

อายุกัปป์ในสมัยนั้น คือ ๑๐๐ ปี ท่านพระอานนท์มิได้ทูลขอให้พระผู้มีพระภาคทรงดำรงพระชนม์อยู่ตลอดกัปป์ พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่งกับท่านพระอานนท์ว่า "เธอจงไปเถิดอานนท์ เธอรู้กาลอันควรในบัดนี้" ท่านพระอานนท์ทูลรับพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค กระทำปทักษิณ แล้วไปนั่ง ณ โคนไม้แห่งหนึ่ง ในที่ไม่ไกล ครั้งนั้น มารผู้มีบาป เมื่อท่านพระอานนท์หลีกไปแล้วไม่นาน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ได้กราบทูลว่า

" ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด ขอพระสุคตจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค ก็พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระวาจานี้ว่า ดูกร มารผู้มีบาป ภิกษุผู้เป็นสาวกของเราจักยังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว ยังบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำ ให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมปาฏิหาริย์ ข่มขี่ปรัปวาทะที่บังเกิดขึ้นให้เรียบร้อยโดยสหธรรมไม่ได้เพียงใด เราจักยังไม่ปรินิพพานเพียงนั้น

ก็บัดนี้ ภิกษุผู้เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลมแล้ว ได้รับแนะนำแล้ว แกล้วกล้า เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว บอกแสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนกกระทำ ให้ง่ายได้ แสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ ข่มขี่ปรัปวาทะที่บังเกิดขึ้นโดยเรียบร้อย โดยสหธรรมได้

ต่อจากนั้น มารก็ได้กล่าวถึงภิกษุณีสาวิกา อุบาสกที่เป็นสาวก อุบาสิกาผู้เป็นสาวก เป็นผู้เฉียบแหลมแล้ว และได้ขอให้พระผู้มีพระภาคจงปรินิพพานในบัดนี้เถิด บัดนี้เป็นเวลาปรินิพพานของพระผู้มีพระภาค เมื่อมารกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสตอบว่า ดูกร มารผู้มีบาป ท่านจงมีความขวนขวายน้อยเถิด ความปรินิพพานแห่งตถาคตจักมีไม่ช้า โดยล่วงไปอีก ๓ เดือน แต่นี้ ตถาคตก็จักปรินิพพาน ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงมีสติสัมปชัญญะ ทรงปลงอายุสังขาร ณ ปาวาลเจดีย์ พระผู้มีพระภาคมิได้ทรงเพียงให้ภิกษุผู้เป็นสาวกเป็นผู้เฉียบแหลมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภิกษุณีสาวิกา อุบาสกผู้เป็นสาวก อุบาสิกาผู้เป็นสาวกด้วยว่า ต้องเป็น ผู้เฉียบแหลม ได้รับแนะนำ แกล้วกล้า เป็นพหูสูต ทรงธรรม ปฏิบัติธรรมสม ควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบ ประพฤติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว บอกแสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก กระทำให้ง่ายได้

ฉะนั้น ก็เป็นหน้าที่ของอุบาสิกาด้วย ไม่ใช่ว่า จะมอบหมายภาระให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น เพราะว่าพุทธบริษัททั้งหมดจะต้องศึกษาธรรมและปฏิบัติตามธรรม ถ้าในครั้งนั้น ภิกษุเป็นผู้ที่เฉียบแหลมแล้ว แกล้วกล้าแล้ว แต่ภิกษุณีสาวิกา หรืออุบาสกผู้เป็นสาวก อุบาสิกาผู้เป็นสาวกนั้น ยังไม่เฉียบแหลม ยังไม่แกล้วกล้าแล้ว พระผู้มีพระภาคก็จักยังไม่ปรินิพพาน แต่เพราะว่าพรหมจรรย์ของพระองค์นั้นสมบูรณ์แล้ว เป็นประโยชน์แล้วแก่เทวดาและแก่มนุษย์ทั้งปวง ฉะนั้น ก็เป็นกาลสมัยที่พระผู้มีพระภาคจะปรินิพพาน

อีกสูตร ๑ ในทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ปาสาทิกสูตร กล่าวด้วยเรื่องพุทธบริษัท สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ปราสาทในสวนอัมพวันของเจ้าศากยะ มีนามว่า เวธัญญา ในแคว้นสักกะชนบท เมื่อนิครณฐ์นาฏบุตรสิ้นชีวิตแล้วไม่นาน พวกสาวกนิครณฐ์ก็แตกแยกกัน แม้สาวกที่เป็นคฤหัสถ์ก็เบื่อหน่าย ท้อถอยในความแตกแยกแก่งแย่งของพวกสาวกนิครณฐ์ เพราะว่าธรรมนั้นประกาศไว้ไม่ดีไม่ใช่ธรรมที่จะนำผู้ปฏิบัติให้ออกจากทุกข์ได้ ไม่ใช่ธรรมที่พระผู้มีพระภาคประกาศไว้ ครั้งนั้น สามเณรจุนทะ อยู่จำพรรษาในเมืองปาวา ได้เข้าไปหาท่านพระ อานนท์ซึ่งอยู่ในรามคาม กราบไหว้ท่านพระอานนท์ แล้วพูดเรื่องสาวกนิครณฐ์ที่แตกแยกกัน ท่านพระอานนท์ชวนสามเณรจุนทะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลเรื่องนี้ให้ทรงทราบ พระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านพระอานนท์และท่านสามเณรจุนทะว่า ข้อนี้ย่อมมีได้อย่างนั้น

ประการที่ ๑ เพราะว่าศาสดาไม่ใช่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ฉะนั้น ศาสดาก็ควรติ ธรรมก็ควรติ ใครชวนผู้ใดประพฤติปฏิบัติตาม ก็ประสบสิ่งที่ไม่ใช่บุญเป็น อันมาก เพราะเหตุว่าไม่ใช่ธรรมที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศ ฉะนั้น ทั้งศาสดาก็ควรติ ธรรมก็ควรติ สาวกผู้ประพฤติตามก็ควรติ แม้ผู้ที่สรรเสริญการปฏิบัติของสาวกนั้น ก็จะประสบสิ่งที่มิใช่บุญเป็นอันมาก (เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ธรรมใดไม่ตรงกับพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้แล้ว ธรรมนั้นควรติจริงๆ เพราะเหตุว่าไม่สมบูรณ์พร้อมด้วยพยัญชนะและอรรถ)

ประการที่ ๒ พระศาสดาเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกาศธรรมไว้ดีแล้ว แต่สาวกไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ศาสดาควรสรรเสริญ ธรรมควรสรรเสริญ สาวกควรติ ผู้ชักชวนให้ปฏิบัติธรรมจะประสบบุญเป็นอันมาก (สิ่งที่ควรสรรเสริญก็ยังควรแก่การสรรเสริญนั่นเอง คือศาสดาควรสรรเสริญ ธรรมควรสรรเสริญ แต่สาวกควรติ ส่วนผู้ชักชวนให้ปฏิบัติธรรมนั้นจะประสบบุญเป็นอันมาก เพราะเหตุว่า ธรรมนั้นเป็นธรรมที่ พระผู้มีพระภาคได้ประกาศไว้ดีแล้ว)

ประการที่ ๓ ศาสดาเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกาศธรรมไว้ดีแล้ว สาวกปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม และสรรเสริญการปฏิบัติเช่นนั้น ศาสดาก็ควรสรรเสริญ ธรรม สาวก และผู้ที่สรรเสริญธรรมนั้นก็ควรได้รับการสรรเสริญด้วย

ประการที่ ๔ ศาสดาเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกาศธรรมไว้ดีแล้ว สาวกไม่รู้แจ้งธรรม เมื่อศาสดาอันตรธานแล้ว สาวกย่อมเดือดร้อน

ประการที่ ๕ ศาสดาเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประกาศธรรมไว้ดีแล้ว สาวกรู้แจ้งธรรม เมื่อศาสดาอันตรธาน สาวกไม่เดือดร้อน

สมัยนี้สาวกจะเดือดร้อนหรือไม่เดือดร้อน พระศาสดาทรงปรินิพพานแล้ว เหลือพระธรรมวินัยเป็นศาสดาแทนพระองค์ ตราบใดที่พระธรรมวินัยยังไม่อันตรธาน ย่อมเป็นความอุ่นใจได้ สำหรับผู้ที่ศึกษาและเข้าใจ ประพฤติปฏิบัติตามโดยถูกต้อง ไม่ใช่ด้วยความประมาท

ประการที่ ๖ พรหมจรรย์บริบรูณ์ เพราะว่าศาสดาเป็นเถระ บวชนาน

ประการที่ ๗ พรหมจรรย์ไม่บริบรูณ์ เพราะเหตุว่าศาสดาเป็นเถระ แต่ ภิกษุไม่เป็นเถระ ไม่เชี่ยวชาญ

ประการที่ ๘ พรหมจรรย์บริบรูณ์ ศาสดาเป็นเถระ ภิกษุก็เป็นเถระ เชี่ยวชาญในพระธรรมวินัย ทั้งภิกษุเถระ ภิกษุปานกลาง ภิกษุใหม่ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งที่ครองเรือนและทั้งที่ไม่ครองเรือน และทั้งที่บริโภคกาม

นี่เป็นความบริบรูณ์ของพรหมจรรย์ พรหมจรรย์ใดไม่ประกอบด้วยบรรดาสาวกผู้เชี่ยวชาญ พรหมจรรย์นั้นก็ย่อมไม่บริบรูณ์ และสาวกผู้เชี่ยวชาญนั้น พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า ทั้งภิกษุเถระ ปานกลาง ใหม่ ภิกษุณีเถระ ปานกลาง ใหม่ อุบาสก อุบาสิกา ผู้ประพฤติพรหมจรรย์คือผู้ที่ไม่ครองเรือน และผู้บริโภคกามด้วย

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า เพราะเหตุดังนี้นั่นแหละ จุนทะ ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นใด อันเราแสดงแล้วด้วยปัญญาอันยิ่ง บริษัททั้งหมดเทียว พึงพร้อมเพรียงกันประชุม รวบรวมตรวจตราอรรถด้วยอรรถ พยัญชนะด้วยพยัญชนะ ในธรรมเหล่านั้น โดยวิธีที่พรหมจรรย์นี้จะพึงเป็นไปตลอดกาลนาน ตั้งมั่นอยู่สิ้นกาลนาน พรหมจรรย์นั้นจะพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ดูกร จุนทะ ก็ธรรมทั้งหลายเหล่านั้นอันเราแสดงแล้ว ด้วยความรู้ยิ่งเป็นไฉน ที่บริษัททั้งหมดเทียว พึงพร้อมเพรียงกันประชุม รวบรวมตรวจตราอรรถด้วยอรรถ พยัญชนะด้วยพยัญชนะในธรรมเหล่านั้น โดยวิธีที่พรหมจรรย์นี้ จะพึงเป็นไปตลอดกาลนาน ตั้งมั่นอยู่สิ้นกาลนาน พรหมจรรย์นั้นจะพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขแก่ชนเป็นอันมาก เพื่ออนุเคราะห์แก่ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ก็ธรรมทั้งหลายเหล่านั้น คืออะไรบ้าง คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรค มีองค์ ๘

ดูกร จุนทะ ธรรมทั้งหลายเหล่านี้แล อันเราแสดงแล้วด้วยความรู้ยิ่ง ซึ่งเป็นธรรมที่บริษัททั้งหมดเทียว พึงพร้อมเพียงกันประชุม รวบรวมตรวจตราอรรถ ด้วยอรรถ พยัญชนะด้วยพยัญชนะ ในธรรมเหล่านั้น (คือธรรมที่เป็นสติปัฏฐานซึ่งจะทำให้รู้แจ้งอริยสัจจธรรม)

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า ถ้าอรรถ พยัญชนะแตกแยกกัน ก็ไม่พึงยินดี ไม่พึงคัดค้าน พึงกล่าวอย่างนี้ว่า พยัญชนะเหล่านี้ หรือพยัญชนะเหล่านั้นของอรรถนี้ อย่างไหนจะสมควรกว่ากัน อรรถนี้หรืออรรถนั้นของพยัญชนะเหล่านี้อย่างไหนจะสมควรกว่ากัน ถ้ากล่าวอย่างนั้นแล้ว อรรถ พยัญชนะ ก็คงยังแตกกันอยู่ ก็ไม่พึงยินดี ไม่พึงรุกราน พึงให้รู้ด้วยดี เพื่อไตร่ตรองอรรถและพยัญชนะเหล่านั้น ถ้ากล่าวผิด ไม่พึงยกย่อง ไม่พึงรุกราน พึงให้รู้ด้วยดี เพื่อไตร่ ตรองอรรถและพยัญชนะเหล่านั้น ถ้ากล่าวชอบ พึงชื่นชม พึงอนุโมทนา

ใน อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต กถาวัตถุสูตร มีข้อความว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย จะพึงทราบบุคคลว่าควรพูดหรือไม่ควรพูด ก็ด้วยประชุมสนทนากัน ถ้าบุคคลถูกถามปัญหา พูดกลบเกลื่อน พูดนอกเรื่องนอกราว แสดงความโกรธ ความขัดเคืองและความเสียใจให้ปรากฏ เมื่อเป็นเช่นนี้บุคคล ผู้นี้ชื่อว่าเป็นบุคคลผู้ไม่ควรพูดสำหรับบุคคลที่ควรพูดนั้น ก็โดยนัยตรงกันข้าม พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า จะพึงทราบบุคคลว่าควรพูด หรือไม่ควรพูด ก็ด้วยประชุมสนทนากัน ถ้าบุคคลถูกถามปัญหา พูดฟุ้งเฟ้อ พูดวุ่นวาย หัวเราะเยาะ คอยจับผิด เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนี้ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ควรพูด

สำหรับบุคคลที่ควรพูดนั้น ก็โดยนัยตรงกันข้าม การพูดเป็นชีวิตประจำวัน บางท่านพิจารณาคำพูดของผู้อื่นแต่ไม่ได้พิจารณาคำพูดของตนเอง แต่พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงนั้น มีประโยชน์สำหรับผู้ที่พิจารณาแล้วน้อมประพฤติปฏิบัติตามธรรม ขัดเกลาตัวเองยิ่งขึ้นพระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย

พึงทราบว่าบุคคลมีอุปนิสัยหรือว่าไม่มีอุปนิสัย ก็ด้วยประชุมสนทนากัน ผู้ที่ไม่ได้เงี่ยโสตลงฟัง ชื่อว่าเป็นคนไม่มีอุปนิสัย ผู้ที่เงี่ยโสตลงฟัง ชื่อว่าเป็นคนมีอุปนิสัย เมื่อเขาเป็นผู้มีอุปนิสัย ย่อมจะรู้ด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมจะกำหนดรู้ธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมจะละธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมจะทำให้แจ้งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง เมื่อเขารู้ด้วยปัญญาอันยิ่งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง กำหนดรู้ธรรมอย่างหนึ่ง ละธรรมอย่างหนึ่ง ทำให้แจ้งซึ่งธรรมอย่างหนึ่ง ย่อมจะถูกต้องวิมุตติโดยชอบ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การสนทนามีข้อนี้เป็นประโยชน์ การปรึกษาหารือมีข้อนี้เป็นประโยชน์ อุปนิสัยมีข้อนี้เป็นประโยชน์ การเงี่ยโสตลงฟังมีข้อนี้เป็นประโยชน์ คือจิตหลุดพ้นเพราะไม่ถือมั่น

ชนเหล่าใดเป็นคนเจ้าโทสะ ฟุ้งซ่าน โอ้อวด เจรจา ชนเหล่านั้นมาถึงคุณที่มิใช่ของพระอริยเจ้า ต่างหาโทษของกันและกัน ชื่นชมคำทุพภาษิต ความพลาดพลั้ง ความหลงลืมและความปราชัยของกันและกัน ก็ถ้าบัณฑิตรู้จักกาลแล้วพึงประสงค์จะพูด ควรเป็นคนมีปัญญา ไม่ควรเป็นคนเจ้าโทสะ ไม่โอ้อวด มีใจไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ใจเบาหุนหันพลันแล่น ไม่เพ่งโทษ กล่าวถ้อยคำที่บุคคลผู้ตั้งอยู่ในธรรมพูดกัน

บุคคลควรอนุโมทนาคำที่เป็นสุภาษิต ไม่ควรรุกรานในถ้อยคำที่กล่าวชั่ว ไม่ควรศึกษาความแข่งดี และไม่ควรยึดถือความพลั้งพลาด ไม่ควรทับถม ไม่ควรข่มขี่ ไม่ควรพูดถ้อยคำเหลาะแหละ เพื่อรู้ เพื่อเลื่อมใส สัตบุรุษทั้งหลายจึงมีการปรึกษาหารือกัน พระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมปรึกษาหารือกัน เช่นนั้นแลนี้การปรึกษาหารือของพระอริยเจ้าทั้งหลาย เมธาวีบุคคลรู้เช่นนี้แล้ว ไม่ควรถือตัว ควรปรึกษาหารือกัน

ใน อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต อุตตรสูตร มีข้อความว่า สมัยหนึ่งท่านพระอุตตระอยู่ที่วิหารชื่อวัฏฏชาลิกา ใกล้ภูเขาสังเขยยกะ ณ มหิสพัสดุชนบท ท่านพระอุตตระกล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เป็นความดีแล้วที่ภิกษุพิจารณาเห็นความวิบัติของตนโดยกาลอันควร ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เป็นความดีแล้วที่ภิกษุพิจารณาเห็นความวิบัติของคนอื่นโดยกาลอันควร ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เป็นความดีแล้วที่ภิกษุพิจารณาเห็นสมบัติของตนโดยกาลอันควร ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย เป็นความดีแล้วที่ภิกษุพิจารณาเห็นสมบัติของผู้อื่นโดยกาลอันควร

เคยพิจารณาเห็นความวิบัติของตนเองบ้างไหม เช่นเคยเห็นผิด เคยเข้าใจผิด เคยประพฤติปฏิบัติผิด เป็นต้น


หมายเลข  5354
ปรับปรุง  25 เม.ย. 2565