แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 6


เคยพิจารณาเห็นความวิบัติของตนเองบ้างไหม เช่นเคยเห็นผิด เคยเข้าใจผิด เคยประพฤติปฏิบัติผิด เป็นต้น

ข้อความในพระสูตรมีต่อไปว่า

สมัยนั้น ท้าวเวสสวัณมหาราช ออกจากทิศเหนือ ผ่านไปทางทิศใต้ด้วยกรณีกิจบางอย่าง ได้ฟังท่านพระอุตตระแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย ก็ไปปรากฏในชั้นดาวดึงส์ ไปกราบทูลท้าวสักกะ ท้าวสักกะก็ไปปรากฏต่อหน้าท่านพระอุตตระ แล้วถามว่า "เป็นจริงหรือที่แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย เช่นนั้น "ท่านพระอุตตระก็กล่าวว่า" จริง " ท้าวสักกะก็ถามว่า "คำนี้เป็นปฏิภาณของพระคุณเจ้าเอง หรือเป็นของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า" ท่านพระอุตตระก็อุปมา เพราะเหตุว่า บางคนก็เข้าใจถ้อยคำอุปมา

ท่านอุปมาว่า "เปรียบเหมือนข้าวเปลือกกองใหญ่ ซึ่งมีอยู่ไม่ไกลบ้านหรือ คมนัก ชนหมู่มากขนข้าวเปลือกออกจากกองนั้นด้วยกระเช้าบ้าง ด้วยตระกร้าบ้าง ด้วยห่อพกบ้าง ด้วยกอบมือบ้าง บุคคลผู้หนึ่งเข้าไปถามชนหมู่ใหญ่นั้นว่า เอาข้าวเปลือกนี้มาจากไหน ชนเหล่านั้นจะตอบอย่างไร จึงจะตอบได้อย่างถูกต้อง ซึ่งท้าวสักกะก็ตอบว่า "ขนมาจากกองข้าวเปลือกกองใหญ่โน้นจึงจะถูก"ท่านพระอุตตระก็กล่าวว่า "คำอันเป็นสุภาษิตทั้งหมด ล้วนเป็นพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค ท้าวสักกะก็อนุโมทนาแล้วกล่าวว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับ ณ ภูเขาคิชกูฏ ใกล้เมืองราชคฤห์ เมื่อ พระเทวทัตหลีกไปแล้วไม่นาน พระผู้มีพระภาคทรงปรารภพระเทวทัต ตรัสกับ ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เป็นความดีแล้วที่ภิกษุพิจารณาเห็นความวิบัติของตน โดยกาลอันควรฯ ลฯ (ข้อความต่อไปเหมือนที่ท่านพระอุตตระ แสดงแล้ว) เทวทัตมีจิตอันอสัทธรรม ๘ ประการครอบงำแล้ว ต้องไปเกิดในอบาย ในนรกชั่วกัปป์ แก้ไขไม่ได้

อสัทธรรม ๘ ประการเป็นไฉน คือ ลาภและความเสื่อมลาภ ยศและความเสื่อมยศ สักการะและความเสื่อมสักการะ ความเป็นผู้ปรารถนาลามกและความเป็นผู้มีมิตรชั่ว

เป็นความดีแล้วที่ภิกษุ ครอบงำย่ำยี ลาภที่เกิดขึ้นแล้ว (ครอบงำย่ำยี คือ ไม่หวั่นไหว)

เป็นความดีแล้วที่ภิกษุ ครอบงำย่ำยี ความเสื่อมลาภ (แม้ความเสื่อมลาภมีก็ไม่หวั่นไหว)

เป็นความดีแล้วที่ภิกษุ ครอบงำย่ำยียศ (ถึงมียศก็ไม่หวั่นไหว)

เป็นความดีแล้วที่ภิกษุ ครอบงำย่ำยี ความเสื่อมยศ (เมื่อมียศแล้วเสื่อมยศก็ไม่หวั่นไหว)

เป็นความดีแล้วที่ภิกษุ พึงครอบงำย่ำยีสักการะ (ถึงมีสักการะ ก็ไม่หวั่นไหว)

เป็นการดีแล้วที่ภิกษุ พึงครอบงำย่ำยีความเสื่อมสักการะ (ขณะใดที่เสื่อมสักการะ ก็รู้ว่าเป็นโลกธรรม เป็นอนิจจัง แม้ในขณะนั้นก็ไม่หวั่นไหว)

เป็นการดีแล้วที่ภิกษุ พึงครอบงำย่ำยี ความเป็นผู้ปรารถนาลามก (ความเป็นผู้ปรารถนาลามก มีคำอธิบายว่า เป็นผู้มีความประพฤติชั่ว แต่ไม่ปรารถนาให้คนอื่นรู้ จึงเป็นผู้ที่มีความปรารถนาลามก ที่จะปกปิดความประพฤติชั่วนั้น ต้องการให้คนอื่นเห็นว่าตนเป็นผู้ประพฤติดี)

เป็นความดีแล้วที่ภิกษุ พึงครอบงำย่ำยี ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว (ถ้าเป็นมิตรก็ยากที่จะเลิกคบกันได้ และถ้ามิตรนั้นเป็นมิตร ชั่ว จะเลิกง่ายหรือ เลิกยากก็อยู่ที่แต่ละท่าน)

ข้อความในพระสูตรนี้ ไม่ใช่สำหรับภิกษุเท่านั้น อุบาสก อุบาสิกา ก็เช่นเดียวกัน ถ้ามีความคุ้นเคยสนิทสนมกับมิตรชั่วแล้ว ก็จะเห็นได้ว่ายากหรือง่ายที่จะครอบงำความเป็นผู้มีมิตรชั่ว คือไม่เป็นไปกับผู้ที่เป็นมิตรชั่วนั้น การคบมิตรชั่วนั้น มีแต่จะนำทุกข์โทษมาให้ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงประโยชน์ว่า เมื่อครอบงำธรรม ๘ ประการนั้นได้แล้ว อาสวะก็ไม่เกิด เพราะฉะนั้น ภิกษุทั้งหลายพึงศึกษาว่าจะครอบงำ ลาภ ความเสื่อมลาภ ยศ ความเสื่อมยศ สักการะ ความเสื่อมสักการะ ความเป็นผู้ปรารถนาลามก และ ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว

ท้าวสักกะก็ได้กล่าวต่อไปว่า ข้าแต่ท่านพระอุตตระผู้เจริญ ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้ ในหมู่มนุษย์มีบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ธรรมบรรยายนี้ ก็หาได้ตั้งอยู่ในบริษัทหมู่ไหนไม่ ท่านผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้าอุตตระจงเล่าเรียนธรรมบรรยายนี้ จงทรงจำธรรมบรรยายนี้ไว้ ด้วยว่าธรรมบรรยายนี้ประกอบด้วยประโยชน์เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์

แม้ท้าวสักกะก็ได้กล่าวว่า ในหมู่มนุษย์มีบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ธรรมบรรยายนี้ก็หาได้ตั้งอยู่ในบริษัทไหนไม่ ฉะนั้น ไม่ว่าใครจะกล่าวธรรม ก็ล้วนเอามาจากข้าวเปลือกกองใหญ่นั้นทั้งนั้น แล้วแต่จะเอามาด้วยตระกร้า ด้วยกอบมือ หรือว่าด้วยภาชนะใด

ตอบปัญหาที่สำนักงานพลังงานปรมาณู

ผู้ดำเนินรายการ วันนี้ท่านอาจารย์จะไม่บรรยาย แต่จะตอบปัญหา กรุณาถาม ซักไซร้ไล่เลียงได้ เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ให้เกิดปัญญา ฉะนั้น วันนี้ไม่เหมือนกับวันก่อนๆ ซึ่งฟังอย่างเดียว แล้วไปถามตอนท้าย วันนี้กรุณาถามให้มาก มีปัญหาสงสัยอะไรเกี่ยวกับพุทธศาสนา ถามได้ทันที แม้แต่เรื่องทำบุญ ทำทาน ใส่บาตร หรือเรื่องในพระไตรปิฏก อันใดที่สงสัยเก็บไว้ในใจตั้งนาน วันนี้กรุณาถามเลย ถามตรงไหนก็ได้ ขอเชิญเลยครับ

สุ. ถ้ามีอะไรสงสัย ก็ควรพิจารณากันให้ถูกต้องว่า ความจริงควรเป็นอย่างไร ธรรมมีมาก และบางท่านก็เข้าใจว่า ธรรมแยกออกจากชีวิตประจำวัน แต่เมื่อศึกษาพระธรรมแล้วจะรู้ได้ว่า ธรรมก็คือชีวิตประจำวันนั่นเอง พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่อง โลภะ ความติดข้องต้องการซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่อง โทสะ ความขุ่นเคือง ความไม่พอใจ ซึ่งเป็นชีวิตประจำวัน พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่อง เมตตากรุณา การเห็น การได้ยิน ความสุข ความทุกข์ต่างๆ พระธรรมที่ทรงแสดงเป็นชีวิตประจำวัน พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ตั้งแต่เกิดจนตายเป็นธรรมทั้งหมด

เพราะฉะนั้นจะไม่มีเลยที่คนที่ศึกษาพระธรรมจนเข้าใจแล้วจะบอกว่า ธรรมแยกจากชีวิตประจำวัน ถ้าคนไม่รู้จะพูดอย่างนั้น แต่ถ้าคนที่รู้ว่าธรรมคืออะไรจะพูดอย่างนี้ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าขณะนี้ก็เป็นธรรม กำลังเห็น เคยเข้าใจว่าเป็นเราเป็นตัวตน เป็นคนนั้น คนนี้ แต่ความจริงแล้ว เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่งซึ่งมีจริง สิ่งที่มีจริงนั้นไม่ต้องเรียกชื่อก็ได้ อย่างเห็น ภาษาไทยจะเรียกว่าเห็น ภาษาอังกฤษ ภาษาแขก ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน ภาษามอญ พม่า ก็เปลี่ยนชื่อไปต่างๆ กัน แต่เห็นก็ยังเป็นสภาพธรรมที่มีจริง และสภาพธรรมที่มีจริงนั้นเรียกอีกชื่อหนึ่ง ก็คือสัจจธรรม เป็นธรรมที่พิสูจน์ได้

พระผู้มีพระภาคทรงแสดงความละเอียดของธรรมทุกอย่าง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง จนกระทั่งความเข้าใจนั้นเพิ่มขึ้น เป็นปัญญาแต่ละขั้น แต่ถ้าไม่ฟังพระธรรมก็อาจจะคิดว่า รู้จักคนอื่นและตัวเองพอสมควร แต่เมื่อศึกษาพระธรรมแล้ว ก็จะรู้ว่าสิ่งที่เคยคิดเคยเข้าใจนั้นยังไม่ถูกต้องทั้งหมด และสิ่งที่เราคิดว่าเข้าใจแล้ว ยังไม่ตรงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้

เช่นที่เข้าใจว่ากำลังเห็นขณะนี้เป็นเรา บางคนอาจจะกำลังคิดนึก ไม่มีใครห้ามความคิดนึก ทุกคนคิดนึกตลอด เรากำลังคิดนึก ถึงใคร ถึงเรื่องนั้นถึงเรื่องนี้ อาจเป็นเรื่องที่อ่านในหนังสือพิมพ์ วารสาร ดูทีวี ก็คิดไปได้ต่างๆ หรือแม้แต่ในขณะนี้ทุกคนก็คิด ขณะนี้เป็นเรา ก่อนที่จะได้ฟังพระธรรมก็เป็นเราทั้งหมดที่เห็นและคิดด้วย แต่ถ้ารู้ว่าธรรมะคือ ทุกสิ่งที่มีจริงก็เริ่มเข้าใจว่า แม้ความคิดก็เป็นธรรมชนิดหนึ่ง การเห็นเป็นธรรมชนิดหนึ่งไม่ใช่เรา

ขณะที่กำลังได้ยินขณะนี้ ยากที่จะคล้อยตามพระธรรมว่า ไม่ใช่เรา เป็นสภาพธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง ยากแสนยาก ที่จะเห็นถูกต้องอย่างนั้นได้ แต่เมื่อพิจารณาว่า ถ้าไม่มีเสียงกระทบหู จะได้ยินไหม ทำอย่างไรจึงจะให้ได้ยินเกิดขึ้นได้ไหมถ้าเสียงไม่กระทบหู ฉะนั้น เสียงเป็นธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งกระทบอื่นไม่ได้เลย นอกจากโสตปสาท ซึ่งเป็นรูปชนิดหนึ่ง เป็นรูปซึ่งมีลักษณะพิเศษในร่างกาย ที่สามารถจะกระทบเฉพาะเสียง รูปอื่นซึ่งไม่ใช่โสตปสาท กระทบเสียงไม่ได้เลย

ค่อยๆ เห็นขึ้นเข้าใจขึ้นทีละน้อยว่า เสียงก็เป็นธรรมอย่างหนึ่งมีจริงๆ โสตปสาท ก็เป็นรูป เป็นธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งมีจริงๆ ฉะนั้น ได้ยินในขณะนี้มีแน่ๆ แต่ว่าเคยคิดเคยเข้าใจว่าเป็นเราได้ยิน ลองคิดดูซิว่า เมื่อเสียงหมดไปแล้วได้ยินจะเกิดขึ้นได้ยินอีกต่อไปไม่ได้ เสียงเมื่อกี้นี้ใครจะเก็บห่อเอาไว้เอากลับมาได้ยินอีกก็ไม่ได้ จิตที่ได้ยินเสียงเกิดขึ้นได้ยินเสียงแล้วก็ดับไป สิ่งที่เกิดแล้วดับแล้ว จะเป็นของของเราได้ไหม จะเป็นตัวตนได้ไหม

นี่คือพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสวงหา ๔ อสงขัยแสนกัปป์ ระหว่างที่เป็นพระโพธิสัตว์ กว่าจะได้ประจักษ์แจ้งจริงๆ ว่าเป็นสภาพธรรมซึ่งไม่ใช่ตัวตนทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ดับหมดไปอย่างรวดเร็ว เสียงดับแล้ว ได้ยินดับแล้ว คิดนึกทีละคำ ทีละขณะ ก็ดับหมดแล้ว รูปตั้งแต่เกิดมาตอนเป็นเด็กก็ดับหมดแล้ว สุขทุกข์ ป่วยไข้ ความเสียใจ ความดีใจ ตอนเป็นเด็กก็ดับหมด แล้ว หรือแม้แต่เมื่อวานนี้เองก็ไม่เหลือแล้ว หรือเมื่อชั่วครู่เพียงขณะเมื่อกี้นี้เองก็ ดับหมดแล้ว หรือแม้แต่เมื่อวานนี้เองก็ไม่มีเหลือแล้ว หรือเมื่อชั่วครู่ เพียงขณะเมื่อกี้นี้เองก็ดับหมดแล้ว

นี่แสดงให้เห็นว่าเราไม่เข้าใจธรรมตรงตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง จนกว่าจะได้ศึกษาพระธรรมจริงๆ และเมื่อศึกษาพระธรรมแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่เห็นประโยชน์ของการที่จะรู้สภาพธรรมตามความจริงด้วย มิฉะนั้นแล้วก็จะมีชีวิตอยู่โดยไม่รู้ว่าเกิดมาได้อย่างไร ตายไปแล้วจะเป็นอย่างไร เต็มไปด้วยความไม่รู้โดยตลอด

แต่ก่อนที่พระโพธิสัตว์จะได้ตรัสรู้อริยสัจจธรรมเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ชีวิตของพระโพธิสัตว์ก็เป็นชีวิตของผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลส ผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลสนั้นย่อมมีกิเลสมากทั้ง โลภะ โทสะ ริษยา ความสำคัญตน ความถือตน ความลบหลู่ และกิเลสอื่นๆ นานาประการ แต่ทำไมพระองค์จึงเป็นพระ โพธิสัตว์ ในเมื่อคนอื่นไม่เป็น เพราะพระองค์พิจารณาสิ่งที่มีในขณะนั้นด้วยความแยบคายว่า คืออะไร มาจากไหนและเกิดขึ้นได้อย่างไร

เมื่อเกิดมาก็ยึดถือร่างกายตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้า เสมือนกับเป็นสมบัติของตนซึ่งได้มาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย แต่พระโพธิสัตว์คิด พิจารณาสภาพธรรมเหล่านี้ว่า เกิดขึ้นมาได้อย่างไร แล้วก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ไม่เที่ยง คือทุกคนที่เกิดมาแล้วก็แก่ เจ็บ ตาย สุขบ้าง ทุกข์บ้าง เป็นธรรมดา และก็จะต้องมีเหตุปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น

นี่คือผู้ที่เป็นพระโพธิสัตว์ผู้พิจารณาค้นคว้าสัจจธรรม ซึ่งกว่าที่จะได้ตรัสรู้ ประจักษ์แจ้งลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมเกิดขึ้นแล้วดับไปอย่างรวดเร็วที่สุด ก็ต้องอาศัยการบำเพ็ญพระบารมีจนครบถ้วนถึง ๔ อสงขัยแสนกัปป์ สำหรับผู้ที่ยิ่งด้วยปัญญา แต่ถ้าเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ยิ่งด้วยศรัทธาก็ต้องบำเพ็ญบารมีถึง ๘ อสงขัยแสนกัปป์ ถ้าเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ยิ่งด้วยวิริยะก็ต้องบำเพ็ญบารมีถึง ๑๖ อสงขัยแสนกัปป์

ชาวพุทธที่เกิดในสมัยที่พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่เสื่อม ยังไม่ลบเลือน ยังไม่สูญไปนั้น แม้ว่ายังมีพระไตรปิฏกและอรรถกถาครบบริบรูณ์ แต่ถ้าไม่ศึกษาพระไตรปิฏกและอรรถกถา ก็จะไม่เข้าใจพระธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฏกได้เลย

ฉะนั้น เมื่อยังมีพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคครบถ้วนสมบรูณ์ พุทธบริษัทก็ควรที่จะศึกษาให้เข้าใจว่า พระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ตลอด ๔๕ พรรษานั้น มีอะไรบ้าง พระธรรมที่ทรงแสดงไว้มี ๓ ปิฏก คือ

พระวินัยปิฏก

พระสุตตันตปิฏก

พระอภิธรรมปิฏก

พระวินัยปิฏก ส่วนใหญ่เกี่ยวกับข้อประพฤติปฏิบัติ ที่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิต เพราะอัธยาศัยของคนในโลกนี้ต่างกัน พุทธบริษัทจึงมี ๒ พวก คือบรรพชิต พวก ๑ และ คฤหัสถ์ พวก ๑ บรรพชิตเป็นผู้ที่สะสมอุปนิสัยที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมตามแบบอย่างของพระผู้มีพระภาค คืออบรมเจริญ ปัญญาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมโดยละอาคารบ้านเรือน แต่ผู้ที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาที่สะสมอุปนิสัยเป็นผู้ครองเรือน ก็อบรมเจริญปัญญาเพื่อรู้แจ้งอริยสัจจธรรมในเพศคฤหัสถ์ เช่น ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีและนางวิสาขามิคารมารดา นี่ก็แสดงให้เห็นว่าแต่ละคนต่างอัธยาศัยจริงๆ

พระวินัยส่วนใหญ่จึงเกี่ยวกับข้อประพฤติปฏิบัติของบรรพชิต แต่คฤหัสถ์ก็ควรศึกษาเพื่อให้รู้ว่าควรปฏิบัติต่อบรรพชิตอย่างไร จึงจะอนุเคราะห์แก่บรรพชิตได้ถูกต้องตามพระวินัย ซึ่งจะเป็นการดำรงพระพุทธศาสนาด้วย เมื่อรู้ว่าการประพฤติอย่างไรเป็นบรรพชิต ประพฤติอย่างไรไม่ใช่บรรพชิต ก็จะรู้ว่ามีกิจของภิกษุในพระพุทธศาสนาต่างกับกิจของคฤหัสถ์อย่างไร

แต่ถ้าไม่รู้เรื่องพระวินัย คฤหัสถ์บางคนอาจจะมีความเลื่อมใสในภิกษุ ซึ่งไม่ได้ทำกิจของพระภิกษุตามพระวินัย นอกจากนั้น คฤหัสถ์ที่รู้พระวินัยก็ยังประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์เพิ่มขึ้นด้วย เช่น กิริยาอาการของกาย วาจา ที่เหมาะควรแก่เพศบรรพชิตอย่างไร คฤหัสถ์ก็กระทำตามได้แม้ว่าจะไม่ใช่เพศบรรพชิต เพราะเป็นมารยาทที่ดีงามของสังคมทั่วๆ ไป มารยาทที่เหมาะที่ควรนั้นไม่จำกัดเชื้อชาติ สิ่งใดที่ดีก็ควรจะประพฤติปฏิบัติตามได้ ซึ่งในพระไตรปิฏกนั้น พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติความประ พฤติทางกายทางวาจาที่เหมาะที่ควรไว้

สำหรับ พระสุตตันตปิฏก บางท่านก็อาจเคยฟังมาบ้างจากรายการธรรมต่างๆ ที่วัดวาอารามหรือสถานีวิทยุ ซึ่งเป็นพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงที่พระวิหารเชตวัน พระวิหารเวฬุวัน พระวิหารนิโครธาราม เป็นต้น และเมื่อเสด็จไปสู่ที่ต่างๆ สนทนาธรรมกับบุคคลต่างๆ ตามอุปนิสัยของผู้ฟัง


หมายเลข  5357
ปรับปรุง  27 เม.ย. 2565