แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 16


สำหรับในเถรีคาถาที่จะยกมากล่าวถึงในที่นี้ คือ สุภากัมมารธีตาเถรีคาถา เป็นเรื่องของพระสุภาภิกษุณีซึ่งเป็นธิดาของนายช่างทอง เป็นผู้ที่พระอุบลวัณณา เถรีแนะนำแล้วได้บรรลุวิชชา ๓ ในวันที่ ๘ นับตั้งแต่วันที่บวช ซึ่งในขณะที่บรรลุนั้นก็ได้นั่งเข้าฌานอยู่ที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง แล้วพระผู้มีพระภาคก็ได้กล่าวสรรเสริญ สำหรับท่านพระสุภากัมมารธีตาเถรี ท่านก็ได้กล่าวกะญาติของท่านซึ่งชักชวนให้ท่านสึก มีข้อความว่า ท่านทั้งหลายเป็นญาติของเรา แต่ไฉนจึงมาทำเป็นเหมือนศัตรู ชักชวนเราในกามทั้งหลายเล่า คนที่เป็นญาติก็ต้องหวังดีต่อกัน ในเมื่อเป็นญาติก็ควรที่จะพอใจสนับสนุน ในเรื่องของความเจริญในทางธรรม ในเรื่องของการที่จะพ้นทุกข์ต่างๆ แต่ญาติเหล่านั้นมาชักชวนให้สึก เป็นญาติแต่กลับทำตนเหมือนกับศัตรู และท่านกล่าวต่อไปว่า

อาสวะทั้งหลายย่อมไม่สิ้นไปเพราะเงินและทอง และท่านกล่าวถึงเมื่อครั้งยังเป็นสาวนุ่งห่มผ้าสอาด ได้ฟังธรรมในสำนักของพระศาสดา แล้วท่านก็ได้รู้แจ้งอริยสัจจ์เป็นผู้ที่ไม่ประมาท เมื่อท่านรู้แจ้งอริยสัจจ์เป็นผู้ไม่ประมาทท่าน ก็ละความยินดีอันแรงกล้าในกามทั้งปวง เห็นภัยในกายของตน จึงปรารถนานิพพานเครื่องออกจากกิเลส จะเห็นได้ว่า ผู้ที่บรรลุธรรมเป็นฆราวาสบางคนก็ยังคงเป็นฆราวาสอยู่ แต่ว่าบางคนไม่มีอัธยาศัยที่จะเป็นฆราวาสต่อไป อย่างพระสุภาภิกษุณีนี้เป็นต้น เมื่อท่านบรรลุธรรมแล้ว ท่านก็ละความยินดีอันแรงกล้าในกามทั้งปวง เห็นภัยในกายของตนคือในอุปทานขันธ์ ๕ ปรารถนานิพพานเครื่องออกจากกิเลส ท่านละหมู่ญาติ ทาส กรรมกร บ้าน ไร่นาเป็นอันมาก อันเป็นเครื่องรื่นเริงบรรเทิงใจและทรัพย์สมบัติมิใช่น้อย ออกบวช ท่านกล่าวว่า ก็การที่เราออกบวชในพระสัทธรรม อันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศดีแล้วด้วยสัทธาอย่างนั้น จะกลับมาสู่กามทั้งหลายอันเราตัดได้แล้วนั้น ไม่สมควรเลย เพราะเราปรารถนาความเป็นผู้ไม่มีห่วงใย ผู้ใดละทองคำและเงินแล้วยังกลับมารับทองคำและเงินนั้นอีก ไฉนผู้นั้นจะเงยหน้าในระหว่างบัณฑิตทั้งหลายได้เล่า เพราะเงินและทองย่อมไม่มีเพื่อความสงบใจ แม้แก่บุคคลนั้น

เงินและทองคำนั้น เป็นของไม่สมควรแก่สมณะ ไม่เป็นอริยทรัพย์แท้จริง ทองคำและเงินนี้เป็นเหตุให้เกิดความโลภ นำมาซึ่งความมัวเมาให้เกิดความลุ่มหลง ความคับแค้นเป็นอันมาก ไม่มีความยั่งยืนมั่นคง ทำให้บาดหมางทะเลาะวิวาท ฆ่ากัน ถูกจำจอง ถูกลงโทษ ความเสื่อมเสียความโศกเศร้าย่อมปรากฏแก่บุคคล ผู้ติดอยู่ในกามทั้งหลาย อันนี้คือผู้ที่เจริญอินทรีย์แล้ว การเห็น การคิด การดำริ การตรึกในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ว่าจะอยู่ในที่ใดๆ ไม่ว่าคำพูดนั้นจะเป็นคำพูดที่ชักชวนอย่างไรก็ตาม ท่านก็มนสิการ แล้วก็สามารถที่จะภาษิตให้คนอื่นได้เห็นอัธยาศัยของท่าน ที่ท่านสะสมอบรมมา

อันนี้ก็เป็นเรื่องที่จะเห็นได้ว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้น จะต้องรู้สังขารใดๆ ในชีวิตประจำวัน มีอะไรบ้างไหมที่ไม่ใช่สังขารในชีวิตประจำวันนี้ เลือกได้ไหม เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยหรือว่าเกิดขึ้นเพราะตัวตนบังคับให้เกิด ถ้าใครคิดว่าบังคับก็หมายความว่าผู้นั้นไม่รู้เหตุปัจจัยของสังขารนั้น การคิดนึกก็ดี สติก็ดี โลภะ โทสะ โมหะก็ดี การจำก็ดี การรู้เรื่องของสิ่งต่างๆ ก็ดี เป็นอะไร? เป็นสิ่งที่เกิด ขึ้นแล้วก็ดับไป เป็นสิ่งที่จะต้องรู้ยิ่งจึงจะละจึงจะคลายได้ และเมื่อเจริญเหตุสมควรแก่ผลแล้ว ผลเกิดเมื่อไรบังคับได้ไหม? ก็ไม่ได้ เกิดในขณะไหนบังคับได้ไหม? จะให้เกิดเฉพาะในขณะที่ฟังธรรม ฟังอย่างอื่นแล้วไม่เกิดได้ไหม? ถ้าเจริญอินทรีย์มาสมบูรณ์แล้ว ก็เป็นอนัตตาทั้งหมด ฉะนั้นก็ไม่ควรที่จะละเลยสังขารใดๆ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม ก็ควรที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมนั้น เพื่อว่าไม่ว่าจะเห็นอะไร ได้ยินคำชักชวนอะไร ได้กลิ่น ลิ้มรส หรืออะไรก็ตาม ก็จะได้มนสิการในทางที่แยบคายเพื่อที่จะให้โทษของสังขารนั้นปรากฏ และความเบื่อหน่ายจะได้ตั้งมั่นแล้วก็จะได้หมดสิ้นกิเลส

ยากหรือไม่ยาก ถ้าเข้าใจแล้วความยากนี้ก็ลดลง เพราะว่าไม่มีอวิชชา ไม่มีตัณหาที่จะมาทำให้ไข้วเขวไป ในเรื่องของความต้องการของสิ่งที่ยังไม่ปรากฏบ้าง หรือว่าเข้าใจผิดว่าจะต้องเป็นเฉพาะนามนั้นบ้างรูปนี้บ้าง หรือเข้าใจผิดว่าจะต้องเป็นเฉพาะสถานที่นั้นบ้างสถานที่นี้บ้าง เพราะฉะนั้น การเจริญสติปัฏฐานจึงไม่สามารถที่จะวางระเบียบหรือว่ากำหนดกฏเกณฑ์ได้ นอกจากพระผู้มีพระภาคซึ่งเป็นผู้ที่รู้อัธยาศัยของสัตว์โลกโดยละเอียด ว่าท่านผู้นั้นได้รับธรรมเทศนาอย่างนี้แล้วสามารถที่จะเกิดความสลดหรือ สามารถละความยินดีในนามรูปในสิ่งที่กำลังปรากฏได้ ด้วยนัยของการเทศนาอย่างไร แต่ไม่ใช่วิสัยของบุคคลอื่นที่จะรู้ในอัธยาศัยของผู้อื่นอย่างละเอียดได้

ฉะนั้น จึงไม่สามารถตั้งให้เป็นกฏว่าในวันแรกให้นั่งหรือว่าให้นอน หรือ ให้ยืน หรือให้เดิน หรือว่าให้รู้ทางกายก่อนและให้รู้ทางตาทีหลัง หรือว่าให้รู้ทางหูก่อนและให้รู้ทางใจทีหลัง แต่เป็นเรื่องที่ว่าไม่ว่าในสมัยไหนก็ตาม ก็จะต้องฟังพระธรรมพิจารณาเหตุผลใคร่ครวญอย่างดี เพื่อที่จะอุปการะให้สติเกิด ขึ้น เพราะว่าสติก็เหมือนกับธรรมทั้งหลายที่เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้เลย เมื่อบังคับบัญชาไม่ได้ แล้วใครไปนั่งบังคับ คนนั้นก็ไม่สามารถจะรู้ว่าธรรมทั้งหลายนั้นเป็นอนัตตาได้เลย

นี่ก็เป็นเรื่องของความเข้าใจจริงๆ ซึ่งสำคัญที่สุด ถ้าเข้าใจไม่ถูกมีความเห็นไม่ถูกทุกอย่างก็ต้องผิดตามไปหมด ฉะนั้น สำหรับเรื่องของอัธยาศัยก็ใคร่จะให้ท่านผู้ฟังได้ศึกษาด้วยตัวของท่านเองจากพระไตรปิฏก แล้วจะเห็นแต่ละ ชีวิตในพระไตรปิฏกที่มีอัธยาศัยต่างกัน การเจริญสติปัฏฐานในเพศของบรรพชิตและฆราวาส แต่ละคนก็ต่างกัน ไม่ใช่ว่าทุกคนจะต้องเปลี่ยนไปทำสิ่งที่เหมือนกันทั้งหมด เพราะว่าบางทีบางท่านก็อาจจะเคยคิดเคยเข้าใจว่าสภาพของอกุศลนั้น ไม่สามารถที่จะเป็นอารมณ์ของการเจริญสติปัฏฐานได้ เพราะว่ากำลังมีความพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ ฟังเผินๆ ก็รู้สึกว่าจะมีความโน้มเอียงว่า อาจจะเป็นเช่นนั้น แต่ถ้าท่านเคยคิดอย่างนั้น ไม่ได้ศึกษา หรือยังไม่ได้ค้นคว้าพิจารณาเหตุผล ในมหาสติปัฏฐานสูตร โลภะ โทสะ เป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า เมื่อสิ่งนั้นอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้นแล้ว ทำไมสติจึงจะไม่สามารถรู้ลักษณะของสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยนั้น

สติย่อมสามารถจะรู้ลักษณะของๆ จริงที่กำลังปรากฏถ้าผู้นั้นเจริญสติ แต่ ถ้าผู้นั้นไม่เจริญสติก็ไม่สามารถที่จะรู้ลักษณะของนามรูปใดๆ ได้ ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นนามเป็นรูป เป็นโลภะ เป็นโทสะ เป็นเห็น เป็นได้ยิน เป็นคิดนึก เป็นสุข เป็นทุกข์ สบายต่างๆ เหล่านี้ ผู้เจริญสติรู้สภาพลักษณะของธรรมนั้นตาม ความเป็นจริงว่าลักษณะแต่ละชนิดต่างกัน ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ไม่พึงยึดถือว่าเป็นตัวตนเลย แล้วก็วางกฏเกณฑ์ให้ไม่ได้ด้วย ท่านผู้ฟังที่นี่มีหลายท่าน ทุกท่านจะใช้แบบเดียวกันก็ไม่ได้ จะบังคับให้สติเกิดขึ้นพร้อมๆ กันก็ไม่ได้ แล้วสติของแต่ละคนจะไม่เหมือนกันว่าในขณะนี้ให้มีสติรู้สภาพที่กำลังเห็น หรือว่าสภาพเย็น หรือสภาพที่ได้ยิน หรือสภาพเสียงที่ปรากฏให้รู้ได้ทางหู ก็เป็นสิ่งที่บังคับไม่ได้ ธรรมนี้เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาแล้วให้ตรงต่อเหตุผล เพราะว่าถ้าเหตุไม่ตรงผลก็เกิดขึ้นไม่ได้

ใน มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสถ์ จูฬโคสิงคสาลสูตร

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ที่พักซึ่งสร้างด้วยอิฐในนาทิกคาม ก็สมัยนั้นท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ ท่านพระกิมิละอยู่ที่ป่าโคสิงคสาลวัน ครั้งนั้นเวลาเย็นพระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่ประทับพักผ่อนแล้ว เสด็จเข้าไป ยังป่าโคสิงคสาลวัน นายทายบาล (ผู้รักษาป่า) ได้ห้ามพระผู้มีพระภาคว่า ท่าน อย่าเข้าไปยังป่านี้เลย ในที่นี้มีกุลบุตร ๓ ท่านซึ่งเป็นผู้ที่ใคร่ประโยชน์ตนเป็นสภาพอยู่ ท่านอย่าได้กระทำความไม่ผาสุกแก่ท่านทั้ง ๓ นั้นเลย

ท่านพระอนุรุทธะได้ยินนายทายบาลกล่าวห้ามพระผู้มีพระภาค ดังนั้น ก็บอกกับนายทายบาลว่า อย่าห้ามพระผู้มีพระภาคเลย เพราะพระผู้มีพระภาคผู้เป็นศาสดาของท่านเสด็จมาแล้ว แล้วท่านพระอนุรุทธะก็ไปหาท่านพระนันทิยะและท่านพระกิมิละถึงที่อยู่ บอกให้รีบไปต้อนรับพระผู้มีพระภาคองค์หนึ่งปูอาสนะ องค์หนึ่งตั้งน้ำล้างพระบาท พระผู้มีพระภาคทรงล้างพระบาท ประทับบนอาสนะที่ปูถวาย ท่านผู้มีอายุเหล่านั้นก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

พระผู้มีพระภาคตรัสถามถึงชีวิตในป่าว่า อดทนได้ไหม บิณฑบาตลำบากไหม แล้วต่อจากนั้นพระผู้มีพระภาคก็ตรัสถามต่อไปว่า ยังพร้อมเพรียงกันชื่นบานต่อกัน ไม่วิวาทกัน ยังเป็นเหมือนน้ำนมกับน้ำ แลดูกันและกันด้วยจักษุอันเป็นที่รักอยู่หรือ ต่างรูปต่างก็สรรเสริญกันแล้วก็กราบทูลว่า กายของพวกข้าพระองค์ต่างกันจริงแต่ว่าจิตดูเหมือนเป็นอันเดียวกัน อัธยาศัยอย่างเดียวกันถึงจะเข้ากันได้อย่างนี้เหมือนน้ำนมกับน้ำ ถ้าเกิดมีคนที่ช่างพูดช่างเจรจาแล้วไม่ชอบที่จะอยู่โดยการไม่พูดไม่คุยไม่สนทนา ก็คงจะไม่พร้อมเพรียงกันอย่างนี้

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า พวกเธอเป็นผู้ไม่ประมาทมีความเพียรส่งตนไปแล้วอยู่หรือ ท่านพระอนุรุทธะก็กราบทูลว่า ผู้ใดกลับจากบิณฑบาตแต่บ้าน ก่อน ผู้นั้นย่อมปูลาดอาสนะ ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้ ตั้งถาดสำรับไว้ ท่านผู้ใดกลับจากบิณฑบาตทีหลัง ถ้ามีบิณฑบาตที่เหลือจากฉันหากประสงค์ก็ฉัน ถ้าไม่ประสงค์ก็ทิ้งเสียในที่ปราศจากของเขียว หรือเทลงในน้ำที่ไม่มีตัวสัตว์ ท่านผู้นั้นก็เก็บอาสนะ เก็บน้ำใช้ เก็บถาดสำรับ กวาดโรงภัตร ท่านผู้ใดเห็นหม้อน้ำฉันน้ำใช้หรือหม้อชำระว่างเปล่า ท่านผู้นั้นก็เข้าไปตั้งไว้ ถ้าเหลือวิสัยของท่านก็กวักมือเรียกรูปที่สองแล้วช่วยกันยกเข้าไปตั้งไว้ พวกข้าพระองค์ไม่เปล่งวาจาเพราะข้อนั้นเป็นปัจจัย เรื่องอย่างนี้ไม่พูดก็ทำได้เลย ไม่จำเป็นจะต้องบ่นหรือว่าเดือดร้อนโวยวาย ฉะนั้น เรื่องของอัธยาศัยเรื่องของอินทรีย์จะเห็นได้ทีเดียวว่า พระผู้มีพระภาคขัดเกลามาก ขัดเกลาเพื่อให้วันหนึ่งพุทธบริษัททั้งหลายสามารถที่จะบรรลุคุณธรรมเป็นพระอรหันต์

และท่านพระอนุรุทธะก็ได้กราบทูลต่อไปว่า และทุกๆ วันที่ ๕ พวกข้าพระองค์นั่งสนทนาธรรมกถาตลอดคืนยังรุ่งพระพุทธเจ้าข้า พวกข้าพระองค์เป็น ผู้ไม่ประมาท มีความเพียรส่งตนไปแล้วอยู่ด้วยประการฉะนี้แล นี่คือท่านที่มีอัธยาศัยอย่างเดียวกัน แล้วถ้าใครยังไม่เป็นอย่างท่านพระอนุรุทธะ ท่านพระนันทิยะ ท่านพระกิมิละ แล้วก็เข้าใจผิดพยายามไม่พูดแทนที่จะเจริญสติรู้ลักษณะของนามและรูปมากขึ้น เวลาที่มีสติ วจีทุจริตไม่เกิด เกิดไม่ได้เพราะสติวิรัติ เพียงแค่ที่สติวิรัติทุจริตกรรมก็เป็นประโยชน์มากแล้วที่ทำให้ไม่กล่าววจีทุจริต แต่ในขณะที่วิรัตินั้นมีสติรู้ลักษณะของนามและรูปด้วย แม้แต่ขณะที่วิรัตินั้นก็เป็นสภาพของนามธรรมชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน ก็เป็นสิ่งที่จะต้องค่อยๆ เกิดขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าบังคับ เพราะว่าบางคนพอไปในที่จำกัดไม่พูดเลย กลับมาพูดใหญ่ทุกเรื่องเลย เรื่องที่ไม่ควรพูดก็พูด วาจาที่ไม่เหมาะสมก็พูด เรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ก็พูด

ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สักกสูตร ที่ ๒ สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่บนภูเขาคิชกูฏ เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นยักษ์มีชื่อว่า สักกะ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้วได้กราบทูลด้วยคาถาว่า การสั่งสอนคนอื่นนั้น ไม่เหมาะกับสมณะเช่นท่านผู้ละกิเลสได้ทั้งหมด ผู้พ้นจากไตรภพ นี่คือความเห็นของยักษ์ คนหมดกิเลสแล้วทำไมมานั่งสั่งสอนผู้อื่น ต้องสงบๆ ต้องไปอยู่โดยเดี่ยว นี่ก็เป็นความคิดของยักษ์คิดว่าเป็นพระอรหันต์เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ก็ไม่ควรที่จะมาทำกิจอย่างนี้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร สักกะ ธรรมเครื่องอยู่ร่วมกันย่อมเกิดด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง คนที่มีปัญญาไม่ควรจะไหวตามเหตุนั้นด้วยใจ ถ้าคนมีใจผ่องใสสั่งสอนคนอื่น บุคคลนั้น ย่อมไม่เป็นผู้พัวพันด้วยเหตุนั้น นอกจากจะอนุเคราะห์เอ็นดู ไม่ได้รู้เลยถึงพระผู้มีพระภาคผู้ทรงหมดกิเลสและรู้แจ้งทุกสิ่งทุกอย่าง ทรงเทศนาโปรดตามอัธยาศัยของผู้ฟังจนผู้ฟังสามารถจะรู้แจ้งสภาพธรรมต่างๆ ได้ แต่คนอื่นก็ยังมาเปรียบมาเทียบเอาตามความคิดเห็นว่า การสั่งสอนผู้อื่นนั้นไม่ควรกับผู้เป็นสมณะ

ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สูจิโลมสูตร ที่ ๓ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับบนเตียงชนิดมีเท้าตรึงติดกับแม่แคร่ อันเป็นที่ครอบครองของสูจิโลมยักษ์ เขตบ้านคยา สมัยนั้น ยักษ์ชื่อ ฆระ และยักษ์ชื่อ สูจิโลมะ เดินผ่านเข้าไปไม่ไกลพระผู้มีพระภาค ยักษ์ชื่อฆระได้พูดกับสูจิโลมยักษ์ว่า "นั่นสมณะ " สูจิโลมยักษ์ตอบว่า" นั่นไม่ใช่สมณะ เป็นสมณะน้อย แต่จะเป็นสมณะหรือสมณะน้อย เราพอจะรู้ได้ " แล้วสูจิโลมยักษ์ก็เข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาค ได้เข้าไปเหนี่ยวพระกายของพระองค์ พระผู้มีพระภาคทรงกระเถิบถอยพระกายไปเล็กน้อย สูจิโลมยักษ์ได้ถามพระผู้มีพระภาคว่า "ท่านกลัวเราไหม สมณะ" นี่คือคนที่ไม่รู้จักผู้ที่อบรมอัธยาศัย อินทรีย์ ปัญญา วิธีที่จะเจริญสติ ก็คาดคะเนปรากฏการณ์ภายนอกอากัปกิริยาอาการภายนอก ตามความคิดหรือความเข้าใจของตน ฉะนั้น สูจิโลมยักษ์ก็คิดว่าจะรู้ได้ว่า ผู้นี้เป็นสมณะหรือเป็นสมณะน้อยโดยวิธีที่ว่าเข้าไปใกล้แล้วก็เหนี่ยวพระวรกายของพระองค์

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "อาวุโส เราไม่กลัวท่านเลย แต่สัมผัสของท่านเลวทราม" ที่ถอยพระกายออกไปเล็กน้อยนั้น ไม่ใช่เพราะกลัว แต่เพราะว่าสัมผัสของสูจิโลมยักษ์เลวทราม สูจิโลมยักษ์ก็กล่าวว่า "สมณะ เราจะถามปัญหากะท่าน ถ้าท่านไม่กล่าวแก้กะเรา เราจะทำจิตของท่านให้พลุ่งพล่าน หรือจักฉีกหัวใจของท่าน หรือจักจับที่เท้าแล้วเหวี่ยงไปฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำคงคา" นี่ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นน้ำจิตน้ำใจของสูจิโลมยักษ์ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสว่า "เราไม่เห็นใครเลยในโลก ทั้งเทวดา มาร พรหม ในหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะ เทวดาและมนุษย์ที่จะพึงทำจิตของเราให้พลุ่งพล่าน หรือจักฉีกหัวใจของเราได้ หรือจักจับที่เท้าแล้วเหวี่ยงไปฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำคงคา"

ไม่มีผู้ใดสามารถจะทำอย่างนั้นกับพระผู้มีพระภาคได้เลยเป็นของที่แน่นอน ด้วยพระมหากรุณาพระผู้มีพระภาค ทั้งๆ ที่สูจิโลมยักษ์กระทำอย่างนั้นกล่าวอย่างนั้น แต่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า "อาวุโส เอาเถอะท่านจงถามตามที่ท่านจำนงเถิด" สูจิโลมยักษ์ถามว่า "ราคะและโทสะ มีอะไรเป็นเหตุ ความไม่ยินดี ความยินดี และความสยดสยองเกิดแต่อะไร ความตรึกแก่ในใจเกิดแต่อะไร แล้วดักจิตไว้ได้เหมือนพวกเด็กดักกา ฉะนั้น" ก็เป็นผู้ที่สนใจในเรื่องของธรรม เพราะว่าถามถึงเรื่องของความโกรธและความติดข้อง คือเรื่องของความไม่ยินดี และความยินดี พระผู้มีพระภาค ตรัสตอบว่า ราคะและโทสะมีอัตตภาพนี้เป็นเหตุ ความไม่ยินดี ความยินดีและความสยดสยองเกิดแต่อัตตภาพนี้ ความตรึกในใจเกิดแต่อัตตภาพนี้แล้ว ดักจิตไว้ได้เหมือนพวกเด็กดักกาฉะนั้น อกุศลวิตกเป็นอันมากเกิดจากความเยื่อใย คือ ตัณหาเกิดขึ้นในตน แล้วแผ่ซ่านไปในวัตถุกามทั้งหลาย เหมือนย่านไทรเกิดแต่ลำต้นไทร แล้วแผ่ซ่านไปในป่า ฉะนั้น ชนเหล่าใดย่อมรู้จักอัตตภาพนั้นว่าเกิดแต่สิ่งใด ชนเหล่านั้นย่อมบรรเทาเหตุเกิดนั้นเสียได้ ดูกร ยักษ์ ท่านจงฟังชนเหล่านั้น ย่อมข้ามห้วงกิเลสนี้ ซึ่งข้ามได้ยากและไม่เคยข้ามเพื่อความไม่มีภพอีกต่อไป


หมายเลข  5377
ปรับปรุง  17 พ.ค. 2565