แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 33


จะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงพระมหากรุณาแยกให้เห็นถึงปฏิปักษ์ของแต่ละสิ่ง เพราะเหตุว่าเสียงนั้นเป็นปฏิปักษ์ต่อปฐมฌาน วิตก วิจาร เป็นปฏิปักษ์ต่อทุติยฌาน ปีติ เป็นปฏิปักษ์ต่อตติยฌาน ลมอัสสาสะ ปัสสาสะ เป็นปฏิปักษ์ต่อจตุตถฌาน คือ ถ้าเป็นทุติยฌานจะมีวิตก วิจารไม่ได้ หรือว่าผู้ที่กำลังเจริญทุติยฌานมีความชำนาญแคล่วคล่องในปฐมฌาน ก็จะต้องทราบว่าอะไรเป็น ปฏิปักษ์ของทุติยฌาน ถ้าไม่ทราบก็คงได้แต่เพียงปฐมฌาน เพราะเหตุว่าไม่ได้ละวิตก วิจาร แต่ถ้าทราบว่า การที่จิตสงบเพียงขั้นปฐมฌานนั้น ถ้าจะให้สงบระงับมากกว่านั้นก็ต้องละวิตก หรือโดยจตุตถนัยก็ต้องละวิตก วิจารทั้งสอง จิตจึงจะสงบยิ่งขึ้นถึงขั้นทุติยฌานได้ เพราะฉะนั้น เมื่อทราบว่าอะไรเป็นปฏิปักษ์ก็ละปฏิปักษ์ได้

สำหรับปีตินั้นก็เป็นปฏิปักษ์ของตติยฌาน ลมหายใจเข้าออก คือ ลมอัสสาสะ ปัสสาสะนั้นเป็นปฏิปักษ์ของจตุตถฌาน ส่วนสัญญาและเวทนานั้นเป็นปฏิปักษ์ของสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ราคะเป็นปฏิปักษ์ไม่ได้กล่าวจำกัดว่าของอะไร โทสะเป็นปฏิปักษ์แน่นอน ไม่ได้กล่าวจำกัดลงไปว่าของอะไรด้วย พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่มีปฏิปักษ์อยู่เถิด เธอทั้งหลายจงเป็นผู้หมดปฏิปักษ์อยู่เถิด

นี่ก็เป็นพระมหากรุณาที่แสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ไม่ดีที่เป็นศัตรูนั้นควรละ และควรให้หมดสิ้นจริงๆ ราคะก็ดี โทสะก็ดี โมหะก็ดี กิเลสทั้งหลายควรหมดสิ้นไปเป็นสมุจเฉท ไม่ใช่เพียงแต่ระงับไว้ชั่วคราวเท่านั้น

ข้อต่อไป กล่าวถึงวิหารที่ไม่สมควรแก่การเจริญสมาธิ

ประการที่ ๗ คือ วิหารที่มีดอกไม้ วิหารที่มีกอดอกไม้หลายอย่างบานสะพรั่งอยู่ ก็ย่อมเป็นวิหารที่ไม่ควรแก่การเจริญสมถภาวนา โดยนัยเดียวกับวิหารที่มีผักที่ใช้บริโภค เพราะเหตุว่าผู้คนที่ต้องการดอกไม้นั้น ก็จะทำความวุ่นวาย เก็บดอกไม้ ร้องเพลง ซึ่งทำให้ไม่สงบ เป็นปฏิปักษ์ต่อการเจริญสมาธิ

ประการที่ ๘ วิหารมีผลไม้ เช่น มะม่วง ชมพู่ ขนุน เวลาที่ออกผล ผู้คนก็ย่อมมาขอ ซึ่งถ้าไม่ให้ คนเหล่านั้นก็โกรธ หรือว่านอกจากโกรธแล้ว ก็ยังถือเอาไปโดยพลการ ถ้ามีพระภิกษุถามหรือทักท้วง คนเหล่านั้นก็ย่อมจะโกรธ ตัดพ้อต่อว่า หรือว่าพยายามหาทางที่จะไม่ให้ภิกษุอยู่ในวิหารนั้นต่อไป เพราะเหตุว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน

ประการที่ ๙ วิหารที่มีชื่อเสียง ในวิสุทธิมรรคยกตัวอย่าง ทักขิณาคีรีวิหาร หัตถิกุจฉิวิหาร เจตียคิรีวิหาร และจิตตบรรพตวิหารว่า เป็นวิหารที่มีชื่อเสียง เพราะเหตุว่าย่อมมีผู้คนมานมัสการยกย่องว่า ท่านผู้นั้นผู้นี้เป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น ถ้ามีคนมามากตลอดเวลา ก็ย่อมเป็นสถานที่ที่วุ่นวายไม่สงบ

แต่ก็มีข้อแม้ว่า แต่ถ้าวิหารนั้น เป็นที่สะดวกสบายแก่ท่าน ก็พึงอยู่เฉพาะในเวลากลางคืน ส่วนกลางวันนั้นให้ไปที่อื่น

ประการที่ ๑๐ วิหารใกล้เมือง สำหรับวิหารใกล้เมืองนั้น ก็ย่อมจะเป็นอุปสรรคไม่สมควรแก่การเจริญสมถะ เพราะเหตุว่าภิกษุย่อมประสบกับเพศตรงข้ามเนืองๆ หรือถึงแม้ว่าท่านจะเดินบิณฑบาต เมื่อมีคนมากเพราะว่าเป็นวิหารใกล้เมือง นางกุมภทาสีอาจจะชน อาจจะเดินเฉียด หรือว่าไม่หลีกทางให้ การได้พบกิริยามารยาทต่างๆ ที่ไม่น่าพอใจ ย่อมจะทำให้จิตไม่สงบได้

ประการที่ ๑๑ วิหารใกล้ป่า ไม่สมควรแก่การเจริญสมถะ เพราะเหตุว่าย่อมมีผู้คนพากันมาเก็บฟืน หรือว่าตัดต้นไม้ไปทำบ้านเรือนซึ่งทำความวุ่นวายให้

ประการที่ ๑๒ วิหารใกล้นา ไม่สมควรแก่การเจริญสมถภาวนา เพราะเหตุว่าพวกมนุษย์ก็ย่อมจะทำลานนวดข้าว ตากข้าวในบริเวณวิหาร ส่วนฝูงโคเดินกันวุ่นวาย และอาจจะต้องมีคดีไปถึงพระราชาหรือมหาอำมาตย์ของพระราชา ซึ่งไม่ความสงบทำให้กัมมัฏฐานเสื่อมไป

ประการที่ ๑๓ วิหารมีคนไม่ถูกกัน แม้แต่ภิกษุก็มีอัธยาศัยต่างกัน เพราะฉะนั้น ในวิหารใดก็ตามซึ่งมีคนไม่ถูกกัน มีคนผูกเวรกัน หรือว่าพูดแก่งแย่งกันนั้น ไม่สามารถเจริญสมถภาวนาให้จิตใจสงบระงับได้

ประการที่ ๑๔ วิหารใกล้ท่าน้ำ ไม่สมควรแก่การเจริญสมถภาวนา เพราะว่าเป็นที่ๆ ใกล้ท่าน้ำ คนที่มาก็อาจจะมาขอน้ำดื่มหรือขอเกลือ ก็แล้วแต่ อัธยาศัยของชาวบ้านซึ่งวุ่นวายอยู่เสมอ หรือมีเรื่องต้องติดต่อ มีเรื่องต้องขอความช่วยเหลืออุปการะ ซึ่งก็ทำให้วิหารที่ใกล้ท่าน้ำนั้นไม่เป็นวิหารที่สงบ

ประการที่ ๑๕ วิหารสุดแดน ย่อมมีภัย เพราะเหตุว่าผู้คนไม่เลื่อมใสในพระรัตนตรัย อาจจะทำร้าย ไม่เป็นที่สมควรแก่การเจริญสมถภาวนา

ประการที่ ๑๖ วิหารอยู่ระหว่างพรมแดน ไม่เหมาะอีกเหมือนกัน เพราะเหตุว่าถ้ามีสงคราม พระราชาประเทศนี้รบกับประเทศโน้น พระภิกษุท่านเที่ยวไปในแคว้นของพระราชาองค์นี้บ้าง องค์โน้นบ้าง ก็ย่อมจะถูกกล่าวหาว่าเป็นจารบุรุษ ซึ่งขัดขวางแก่การเจริญสมถะ

ประการที่ ๑๗ คือ วิหารไม่สบาย ไม่สะดวก ข้อนี้ท่านกล่าวว่ามีหญิงหรือว่ามีอมนุษย์ เป็นวิหารซึ่งทำให้จิตใจไม่ระงับจากโลภะ โทสะ โมหะ

ประการที่ ๑๘ วิหารที่ไม่ได้กัลยาณมิตร ไม่มีเพื่อนที่ดี ท่านกล่าวว่าเป็นโทษอย่างใหญ่ เพราะเหตุว่าไม่ทำให้สมณธรรมเจริญ ทั้งความสงบและปัญญา

ส่วนวิหารที่ควรแก่การที่จะอยู่เจริญสมณธรรมนั้น ก็ได้แก่ อนุรูปวิหาร ๕ ซึ่งในข้อนี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย ก็เสนาสนะเป็นเสนาสนะประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นไฉน

๑. ไม่ใกล้นัก ไม่ไกลนัก มีทางไปมาสะดวก

๒. กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนก็เงียบเสียง ไม่อึกทึก

๓. มีสัมผัสเกิดแต่เหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานเบาบาง

๔. เมื่อภิกษุอยู่ในเสนาสนะเช่นนั้น จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เครื่องค้ำจุน คือ ยาแก้ไข้ ย่อมไม่ฝืดเคือง

๕. และในเสนาสนะนั้น มีภิกษุผู้เป็นเถระ เป็นพหูสูต เป็นผู้แตกฉานในปริยัติ เป็นผู้ทรงธรรม ทรงวินัย เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งมาติกา คือ หัวข้อแห่งพระธรรมวินัยพำนักอยู่ด้วย ท่านย่อมเข้าไปหาตามกาลอันควร ไถ่ถามสอบสวนอรรถ ท่านเหล่านั้นก็จะเปิดเผยข้อที่ไม่กระจ่างให้กระจ่าง บรรเทาความสงสัยในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัย

ภิกษุทั้งหลาย เสนาสนะอย่างนี้แล เป็นเสนาสนะที่ประกอบด้วยองค์ ๕

แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะต้องการผลอย่างไร ก็ต้องทราบเหตุปัจจัยที่จะให้เกิดผลอย่างนั้น

ถ้าต้องการเจริญความสงบ คือ สมถภาวนา ก็จะต้องทราบว่า อยู่ในสถานที่ใดความสงบจึงเกิดขึ้นได้ หรือว่าอยู่ ณ สถานที่ใดความสงบไม่เกิด ซึ่งนอกจากวิหารที่เป็นที่อยู่จะเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าท่านได้อยู่ในวิหารที่เหมาะควรแล้ว ผู้ที่จะเจริญสมถภาวนานั้นก็ยังต้องตัดปลิโพธเล็กน้อย เช่น ตัดเล็บ หรือตัดผม ถ้าจีวรเก่าจีวรขาด ก็ต้องชุนก็ต้องย้อมให้เรียบร้อย หรือว่าถ้าบาตรแตกก็ต้องระบมบาตร หรือว่าทำความสะอาด ชำระเตียงตั่ง

นี่ก็แสดงให้เห็นว่า ท่านต้องพร้อมที่จะตัดปลิโพธ เครื่องกังวลต่างๆ เพื่อให้จิตดำเนินไปในความสงบ ถ้าไม่อย่างนั้นแล้วก็เจริญสมถกัมมัฏฐานไม่ได้

ที่ยกตัวอย่างเหล่านี้แทรกเข้ามาในเรื่องของการเจริญวิปัสสนานั้น ก็เพื่อที่จะให้ทราบความต่างกันระหว่างการเจริญสมถภาวนากับการเจริญวิปัสสนา ถ้าท่านพบเรื่องวิหารที่ไม่สมควรแก่การเจริญสมถะ ๑๘ ประการนี้ ท่านก็จะได้ทราบว่า ใน ๑๘ ประการซึ่งเป็นวิหารที่ไม่สมควรนั้น เป็นปลิโพธของการเจริญสมถะ แต่ว่าไม่ใช่เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนา มิฉะนั้นแล้วบางท่านอาจจะคิดว่าถ้าไม่กล่าวไว้ในที่นี้เลย แล้วไปพบที่อื่น ก็อาจจะเข้าใจเองว่า คงจะเป็นเครื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนาด้วย แต่ความจริงไม่ใช่

. ที่ได้กล่าวถึงเรื่องของสมถภาวนาเมื่อครู่นี้ ดูคล้ายๆ กับว่า จิตเป็นสภาพที่บังคับได้ ทำให้สงบระงับได้

สุ. แต่ความจริงถึงแม้การเจริญสมถภาวนาให้จิตสงบนั้น ก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยด้วย ถ้าไม่เข้าใจ ไม่มีความรู้เรื่องการเจริญสมถภาวนาที่จะให้ฌานจิตเกิดนั้นเป็นไปไม่ได้เลย แม้แต่ในเรื่องของที่อยู่ ก็ยังจะต้องรู้ลักษณะว่า อาวาสหรือวิหารใดเป็นที่สมควรแก่การเจริญสมถะ อาวาสหรือวิหารใดไม่สมควรแก่การเจริญสมถะ

แสดงให้เห็นความเป็นอนัตตาว่า แม้แต่การเจริญสมถภาวนาให้จิตสงบก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัย เพราะเหตุว่าไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ ซึ่งความจริงการเจริญสติปัฏฐานขึ้นอยู่กับความเข้าใจถูก แต่ถ้าความเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือผิดไป วาจาที่กล่าวเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานก็ผิด ความดำริในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐานก็ผิด การงานการกระทำต่างๆ ก็ผิด ความเพียรก็ผิด ถ้าเข้าใจแล้วก็มีหน้าที่ประการเดียว คือ ระลึกได้เนืองๆ บ่อยๆ

ขออ่านจดหมายจากท่านผู้ฟัง บ้านเลขที่ ๗๔๐/๒ ซอยเกศจำเริญ วัดท่าพระ บางกอกใหญ่ ธนบุรี

สำหรับข้อความในจดหมายนี้มีว่า ไม่ได้มาฟังบรรยายเสียนานเพราะป่วยด้วยวิงเวียนศีรษะ อาจเป็นเพราะตรากตรำเรียนพระอภิธรรมในรอบค่ำ และใกล้สอบด้วย ประกอบกับร่างกายไม่ค่อยแข็งแรงจึงป่วย แล้วพลอยทำให้พลาดหลายอย่าง ทั้งในเรื่องการเรียน การสอบและการฟังธรรม เพราะรู้สึกว่าร่างกายอยากจะพักหมดทุกอย่าง แต่ก็ยังเคราะห์ดีที่ไม่เสียเวลาไปหมด ในระหว่างที่พักอยู่นั้นยังมีเวลาที่สติจะเกิดขึ้นบ้าง

ต่อจากนี้ก็จะขออ่านจดหมายของท่านผู้ฟัง ที่เป็นข้อความโดยตรงมีว่า

... แต่สติที่ดิฉันว่านี้ คงไม่ใช่สติตามความหมายของอาจารย์ อาจจะเป็นเพียงการรู้สึกตัวขั้นหนึ่งกระมัง อย่างเช่น ตอนป่วยนี้ด้วยความเสียใจเลยลาหยุดงานและได้ไปต่างจังหวัด พอดีที่ข้างบ้านเขาแก้บนละครชาตรี ก็เลยประชดวิบากของตัวด้วยการดูละคร ดูไปๆ พอรู้สึกตัวก็ใจหาย เคยท่องพระอภิธรรมอยู่หยกๆ กลับต้องมานั่งดูละคร

สุ. ชีวิตจริงๆ เป็นอย่างนี้ ขณะที่คิดจะประชดก็เป็นชีวิตจริงๆ เป็นนาม เป็นความรู้สึกชนิดหนึ่ง เป็นความรู้สึกจริงๆ ในขณะนั้นอาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ไม่ว่าใครจะคิดอะไร ไม่ว่าจะคิดประชด ไม่ประชดอย่างไรก็ตาม ให้ทราบว่าเป็นสภาพตัวของท่านจริงๆ เป็นนามเป็นรูปที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น ทำไมบางวันไม่ประชด แต่ว่าบางวันประชด บังคับให้ประชดทุกๆ วันได้ไหม หรือว่าไม่ให้ประชดสักวันเดียว จะบังคับได้ไหม ไม่ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกชนิดใดก็ตาม

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เจริญสติบางเวลาหรือว่าบางโอกาส หรือว่าเวลาที่ไม่ประชดจึงจะเจริญได้ หมายความว่าผู้ที่จะเจริญสติปัฏฐานนั้น ไม่เว้นเลย จะต้องรู้จักตัวเอง นามและรูปที่เกิดกับตนเพราะเหตุปัจจัยตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกชนิดใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นมานะ ความถือตน ความสำคัญตน ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกน้อยใจ เสียใจ โทมนัส แล้วทำสิ่งซึ่งไม่อยากจะทำ ที่ใช้คำว่าประชดนี้ก็คงจะหมายความว่า ทำสิ่งซึ่งไม่คิดจะทำ หรือว่าไม่อยากจะทำ แต่เพราะไม่สบาย เพราะเป็นวิบากที่ได้รับ ก็เลยประชดเสียโดยการที่ไปดูละครชาตรี

ผู้ที่เจริญสติต้องรู้จักตัวเองมากขึ้น เพราะฉะนั้น สติขัดเกลาอกุศลใดๆ ก็ตาม ซึ่งมีตั้งแต่อย่างหยาบไปจนกระทั่งถึงอย่างกลาง และปัญญาที่เกิดกับสติปัฏฐานนั้นก็ละกิเลสละเอียดทุกขณะที่รู้สภาพลักษณะของสิ่งนั้นตามความเป็นจริงด้วย

เพราะฉะนั้น ท่านผู้ฟังท่านอื่นจะเคยประชดหรือว่าไม่เคยประชดก็ตาม ขอให้ทราบว่า ขณะนั้นเป็นนามชนิดหนึ่ง แล้วเป็นใจของท่านจริงๆ ที่ยังไม่หมดความต้องการความเพลิดเพลินทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจเป็นสมุจเฉท ท่านอาจจะสนใจในพระอภิธรรม ประพฤติปฏิบัติตามคร่ำเคร่ง แต่ถ้ากิเลสยังไม่หมดเป็นสมุจเฉท ยังมีเชื้ออยู่ ก็ย่อมมีโอกาสจะเกิดได้

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ในขณะนั้นประชดอะไร แต่ว่าเป็นเรื่องที่ท่านไม่เคยสำรวจจิตใจของตัวเองว่า ยังมีโลภะ ยังมีโทสะ ยังมีโมหะ ยังเพลิดเพลินพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามความเป็นจริงตามปกติ ไม่ว่าจะต่อหน้าลับหลังใครอยู่ที่ไหนก็เป็นจิตของท่านเอง ความล้ำลึกของจิตที่สะสมอกุศลมามากมายนั้น ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดจะรู้ดียิ่งกว่าตัวท่าน

เพราะฉะนั้น เมื่อยังเพลิดเพลินไปทางตาก็เป็นเหตุที่ทำให้ท่านรู้สึกเหมือนกับว่าท่านประชด แต่ว่าความจริงเป็นเพราะโลภะยังต้องการความเพลิดเพลินอยู่

เพราะฉะนั้น ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานไม่ใช่บังคับให้เป็นอีกบุคคลหนึ่ง คร่ำเคร่งเสียจนกระทั่งไม่รู้จักตัวเอง ท่านรู้จักนามรูปอะไรที่จะละความที่เคยยึดถือว่าเป็นตัวตน ไม่ใช่ว่าโลภะ โทสะ โมหะที่เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย เพราะเหตุว่าท่านพยายามบังคับ พยายามคร่ำเคร่ง ซึ่งไม่เป็นสัมมาสติ ไม่ได้เกิดขึ้นรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ใช่บังคับไม่ให้ไปดูอะไรเลย ดูหนังไม่ได้ ดูละครชาตรีไม่ได้

โลภะเกิดขึ้นแล้วดับไหม หรือว่ามีโลภะตลอดเวลา โทสะเกิดขึ้นแล้วดับไหม ไม่ใช่ว่ามีโลภะที่เป็นตัวตนที่ตั้งอยู่ แต่ไม่ว่าจะเป็นโลภะความต้องการ ความชอบหรือความพอใจ ทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป รู้สภาพความเป็นจริงของแม้โลภะความชอบใจที่เกิดขึ้น แล้วก็ประจักษ์ความไม่เที่ยง ที่โลภะนั้นเกิดขึ้นแล้วดับไป ไม่ใช่ตัวตน จึงจะละความที่เคยยึดถือสภาพธรรมทั้งหลายว่าเป็นตัวตนได้

คำว่า ไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าไม่ประจักษ์ความเป็นอนิจจัง ความไม่เที่ยงของโลภะ ของโทสะ ของนาม ของรูป ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจแล้ว จะชื่อว่ารู้ทุกข์ไหม อะไรเป็นทุกข์ ความไม่เที่ยง สภาพที่ไม่เที่ยงของนามและรูปเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่ทุกข์อย่างอื่นที่จะต้องไปทรมานตัวให้ลำบาก แต่จะต้องเจริญปัญญารู้ลักษณะของนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามปกติมากขึ้น ละคลายความไม่รู้ความสงสัยมากขึ้นจนกว่าจะประจักษ์การเกิดขึ้นและดับไป หมดความสงสัยในลักษณะที่ไม่เที่ยง จึงจะชื่อว่าท่านประจักษ์สภาพที่เป็นทุกข์

การเจริญสติปัฏฐานเป็นการเจริญปัญญา รู้ลักษณะของนามและรูปตามปกติที่สุด ถ้าท่านยิ่งมีปัญญา ปัญญานั้นจะต้องรู้ลักษณะที่เป็นปกติ ธรรมดา ธรรมชาติ ไม่มีความต้องการแอบแฝงให้ทำสิ่งผิดปกติขึ้น นั่นจึงจะเป็นปัญญาที่เรียกว่า รู้จริง รู้แจ้ง รอบรู้ รู้ทั่ว แล้วจึงจะละได้


หมายเลข  5413
ปรับปรุง  13 มิ.ย. 2565