แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 38


นี่ก็เป็นเรื่องขัดเกลาทั้งนั้น บางท่านก็อาจจะสงสัยว่า จะเกี่ยวข้องกับการเจริญสติปัฏฐานอย่างไร ให้ทราบว่าชีวิตปกติเป็นอย่างไร ทุกๆ ขณะนั้นเป็นที่ตั้งของการระลึกรู้ เพื่อให้ปัญญาพิจารณารู้สภาพธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง ถึงแม้ในขณะที่ระลึกถึงพระพุทธคุณ ระลึกถึงพระธรรม ระลึกถึงพระสงฆ์ หรือระลึกถึงศีลก็ตาม ในขณะที่จิตกำลังน้อมไป ระลึกไป ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ ย่อมจะทราบว่า ขณะนั้นเป็นนาม หรือเป็นรูป

สำหรับอริยอุโบสถประการที่ ๖ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร วิสาขา พระอริยสาวก ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า พระอรหันต์ทั้งหลายละการฆ่าสัตว์ มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงจนตลอดชีวิต แม้เราก็ได้ละการฆ่าสัตว์ มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ตลอดคืนหนึ่ง กับวันหนึ่งในวันนี้

แม้ด้วยองค์อันนี้ เราก็ชื่อว่า ได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย ทั้งอุโบสถก็จักเป็นอันเราเข้าจำแล้ว

เพราะเหตุว่าพระอรหันต์เป็นผู้ที่เว้นแล้วจากกิเลสทั้งปวง จากการฆ่าสัตว์ จากการเบียดเบียนผู้อื่น จากอกุศลจิต จากอกุศลธรรม เพราะฉะนั้น ถ้าผู้ใดระลึกถึงพระอริยะ และเห็นว่าพระอรหันต์ทั้งหลายละเว้นทุจริตกรรม ตัวท่านเองที่เข้าจำอุโบสถตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งนั้น ก็ได้ชื่อว่า ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย

แม้ไม่สามารถทำตามพระอรหันต์ได้ตลอดชีวิตก็จริง แต่ถ้ามีโอกาส จะ กระทำตามพระอรหันต์ได้สักคืนหนึ่งวันหนึ่ง ก็เป็นประโยชน์ในการสะสมบารมี ต่อไปข้างหน้า เพราะจะเห็นได้ว่า ผู้ที่ยังมีกิเลสนั้นจะต้องอาศัยการขัดเกลามากมาย ถ้าเป็นวัตถุ พระองค์ก็อุปมาว่า จะต้องใช้ขี้ตะกรัน ดินเหนียว หรืออาศัยเกลือ น้ำด่าง โคมัย น้ำ อาศัยน้ำมัน อาศัยเถ้า นั่นเป็นวัตถุ แต่กิเลสนี้ต้องอาศัยการเจริญกุศลทีละเล็กละน้อย ท่านยังไม่ได้เจริญสติปัฏฐานมากพอที่จะเป็นพระอริยบุคคลในเร็ววันถึงจะไม่เป็นอย่างนั้น แต่ขณะใดมีโอกาสเจริญกุศล ขัดเกลากิเลส ก็ไม่ควรละเว้นโอกาสนั้น

เพราะฉะนั้น พระธรรมของพระผู้มีพระภาคนั้นไม่ใช่ให้หมดจดจากความเห็นผิด บรรลุคุณธรรมเพียงขั้นพระโสดาบัน แต่วันใดในเดือนหนึ่ง อาทิตย์หนึ่ง มีโอกาสเพียรพยายามเจริญกุศลให้มากขึ้นด้วยการรักษาศีลอุโบสถ สะสมอุปนิสัยของพระอรหันต์ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า เป็นสิ่งที่ควรเจริญ และต่อจากนั้น สำหรับผู้ที่เข้าจำศีลอุโบสถ ก็ตามระลึกต่อไปว่า

อุโบสถมีองค์ ๘ คือ ละการฆ่าสัตว์ ละการลักทรัพย์ ละการประพฤติ อพรหมจรรย์ ละการพูดเท็จ ละการดื่มน้ำเมา ละการบริโภคในเวลาวิกาล เว้นจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี ดูการเล่นอันเป็นข้าศึกแก่กุศล เว้นจากทัดทรงประดับตกแต่งกายด้วยดอกไม้ของหอม เว้นการนั่งนอนบนที่นอนสูงใหญ่ นอนบนที่นอนอันต่ำ คือ บนเตียงหรือบนเครื่องปูลาดที่ทำด้วยหญ้า

พระอรหันต์ท่านละแล้ว แม้ผู้รักษาอุโบสถก็ได้ชื่อว่า ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย อริยอุโบสถเป็นเช่นนี้ มีผลมาก มีอานิสงส์มาก

จะเห็นได้ว่า การรักษาอุโบสถ ตั้งแต่เช้าจนกระทั่งถึงนอน เป็นเรื่องละ ขัดเกลากิเลสทั้งสิ้น เพราะเหตุว่าถึงแม้จะนอน ก็เว้นการนั่งนอนบนที่นอนสูงใหญ่ ท่านคงสงสัยว่า ทำไมเวลานอนก็ต้องเว้นที่นอนสูงใหญ่ เพราะเหตุว่าในเวลากลางวันก็เว้นการประดับตกแต่งร่างกาย การทัดทรงดอกไม้ ซึ่งเป็นเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์ ที่ทำให้จิตใจเป็นไปในอกุศลทั้งสิ้น แม้แต่นอนก็ยังต้องเว้นการนั่งนอนบนที่นอนสูงใหญ่ นอนบนที่นอนอันต่ำ คือ บนเตียง หรือบนเครื่องปูลาดที่ทำด้วยหญ้า ที่นอนสูงใหญ่รวมความหมายว่า ที่นอนที่สวยๆ งามๆ ประดับประดาตกแต่งอย่างวิจิตร เพราะเหตุว่าสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่เป็นไปในเรื่องของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ไม่ได้ขัดเกลากิเลสเพราะเมื่อนอนบนที่นอนสูงใหญ่ วิจิตร ประดับประดา ย่อมพอใจในที่นอนเช่นนั้น อย่างน้อยที่สุดบางท่านยังคงสำคัญตน ถือตนในความเป็นเจ้าของ หรือการได้นอนบนที่นั่ง ที่นอนที่สวยงาม ที่สูงใหญ่ ที่วิจิตรต่างๆ

เพราะฉะนั้น ในการรักษาอุโบสถ เวลานอนก็ยังเว้นจากที่นอนที่นั่งอันสูงใหญ่ ที่สวยงามต่างๆ เพื่อให้หมดความคิดที่สำคัญตน พอใจแม้ในที่นอนวิจิตรสวยงามนั้น

นี่เป็นการขัดเกลากิเลส สำหรับความดีนั้นไม่จำกัด ยิ่งเจริญมากเท่าไร ก็ยิ่งดี ยิ่งเจริญบ่อยเท่าไร ก็ยิ่งดี ฉันใด อุโบสถก็เช่นเดียวกัน เวลาที่ท่านเจริญกุศล ไม่ควรจำกัดเวลาว่าเฉพาะวันอุโบสถเท่านั้นที่จะวิรัติทุจริตต่างๆ แต่ว่าควรเจริญกุศลทุกประการโดยไม่จำกัดเวลา

เพราะฉะนั้น ก็น่าสงสัยว่า อุบาสก อุบาสิกาควรรักษาศีลอุโบสถเฉพาะในวันอุโบสถเท่านั้นหรือ หรือถ้ามีโอกาสรักษาได้มากยิ่งกว่านั้นก็ควรที่จะรักษา ซึ่งอันนี้ก็คงจะเป็นต้นเหตุของอุบาสิกาที่ละการครองเรือน และก็รักษาศีล ๘ เป็นประจำ เป็นอีกประเภทหนึ่งของอุบาสิกา เพราะอุบาสิกานั้นไม่ใช่ภิกษุณี แต่อุบาสิกาที่มีศรัทธา มีความเลื่อมใสที่จะขัดเกลากิเลสนั้น ไม่ได้จำกัดว่าให้รักษาอุโบสถ หรือว่ารักษาศีล ๘ เพียงเฉพาะในวันอุโบสถ กุศลทุกประเภทเจริญได้มากเท่าไร ก็ยิ่งดีเท่านั้น

เพราะฉะนั้น เมื่อภิกษุณีหมดสิ้นไปแล้ว อุบาสิกาทั้งหลายที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนานั้น ปรารถนาจะเจริญกุศลยิ่งขึ้น ด้วยการที่รักษาศีล ๘ เป็นประจำ ในพระไตรปิฎกก็มีข้อความกล่าวถึงการรักษาศีลนั้นไม่จำกัดกาลเวลา

อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต สักกสูตร

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับที่พระวิหารนิโครธาราม ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ สักกชนบท อุบาสกชาวสักกชนบทเป็นอันมากได้ไปเฝ้าในวันอุโบสถ พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า

ดูกร อุบาสกชาวสักกชนบททั้งหลาย ท่านทั้งหลายย่อมรักษาอุโบสถ อันประกอบด้วยองค์ ๘ แลหรือ

อุบาสกชาวสักกชนบทเหล่านั้นกราบทูลว่า บางคราวย่อมรักษา บางคราว ไม่ได้รักษา

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ไม่เป็นลาภของท่านทั้งหลายเสียแล้ว เพราะเมื่อชีวิตมีภัยเพราะความโศก เพราะความตายอยู่อย่างนี้ บางคราวก็รักษาอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ บางคราวก็ไม่ได้รักษา

ดูกร อุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษในโลกนี้พึงยังทรัพย์กึ่งกหาปณะให้เกิดขึ้นทุกๆ วันด้วยการงานอันชอบ โดยไม่แตะต้องอกุศลเลย สมควรจะกล่าวได้หรือไม่ว่า เป็นบุรุษฉลาดสมบูรณ์ด้วยความหมั่น

อุบาสกชาวสักกะกราบทูลว่า สมควรกล่าวได้อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

พึงยังทรัพย์ ๑ กหาปณะ ๒ กหาปณะ ๓ กหาปณะ ๔ กหาปณะ ๕ กหาปณะ ๖ กหาปณะ ๗ - ๘ - ๙ - ๑๐ - ๒๐ - ๓๐ - ๔๐ - ๕๐ - ๑๐๐ กหาปณะ ให้เกิดขึ้นทุกๆ วัน เก็บทรัพย์ที่ตนได้แล้วๆ ไว้ เป็นผู้มีชีวิต ๑๐๐ ปี จะพึงประสบกองโภคสมบัติเป็นอันมากบ้างหรือหนอ

อุบาสกชาวสักกะกราบทูลว่า พึงเป็นอย่างนั้นได้ พระพุทธเจ้าข้า

แทนที่จะเพียงกึ่งกหาปณะทุกๆ วัน ก็พึงยังกหาปณะ ๒ กหาปณะ ๓ กหาปณะ ให้มากขึ้นไปจนกระทั่งถึง ๑๐๐ กหาปณะ ให้เกิดขึ้นทุกวันๆ แล้วเก็บทรัพย์ที่ตนได้แล้วๆ ไว้ เป็นผู้มีชีวิตร้อยปี จะพึงประสบกองโภคสมบัติเป็นอันมาก บ้างหรือหนอ

ซึ่งทุกท่านก็คงจะตอบเหมือนอุบาสกชาวสักกะคือว่า สมควรกล่าวได้อย่าง นั้น พึงเป็นอย่างนั้นได้

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ดูกร อุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจะพึงเสวยความสุขโดยส่วนเดียวอยู่ ๑ คืน ๑ วัน หรือกึ่งวัน อันมีโภคสมบัติเป็นเหตุ มีโภคสมบัติเป็นแดนเกิด มีโภคสมบัติเป็นที่ตั้งบ้างหรือหนอ

ท่านผู้ฟังจะตอบว่าอย่างไร ลองคิดดูว่าจะเหมือนกับอุบาสกชาวสักกะตอบไหม ขอให้ฟังพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคอีกครั้งหนึ่ง

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกร อุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจะพึงเสวยความสุขโดยส่วนเดียวอยู่ ๑ คืน ๑ วัน หรือกึ่งวัน อันมีโภคสมบัติเป็นเหตุ มีโภคสมบัติเป็นแดนเกิด มีโภคสมบัติเป็นที่ตั้ง บ้างหรือหนอ

เป็นผู้มีโภคสมบัติที่ได้เก็บไว้แล้ว โดยการสะสมกหาปณะ กึ่งกหาปณะถึง ๑๐๐ กหาปณะ แล้วก็มีชีวิตอยู่ถึง ๑๐๐ ปี เป็นผู้ที่ประสบกองโภคสมบัติ แต่ว่าบุรุษนั้นจะพึงเสวยความสุขโดยส่วนเดียว มีแต่ความสุขเท่านั้นตลอด ๑ คืน ๑ วัน หรือกึ่งวัน อันมีโภคสมบัติเป็นเหตุ มีโภคสมบัติเป็นแดนเกิด มีโภคสมบัติเป็นที่ตั้ง ได้ไหม

อุบาสกชาวสักกะกราบทูลว่า มิได้เป็นอย่างนั้นเลย พระพุทธเจ้าข้า

ใครจะมีความสุข ถึงแม้จะมีโภคสมบัติมากมาย แต่ว่าจะมีความสุขโดยส่วนเดียว หมายความว่าไม่มีความทุกข์เลย ๑ คืน ๑ วัน หรือกึ่งวัน หิวไหม มีทุกข์เวทนาบ้างไหม เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะมีโภคสมบัติมาก แต่ที่จะให้ผู้นั้นเสวยความสุขโดยส่วนเดียวอยู่ ๑ คืน ๑ วัน หรือกึ่งวัน เป็นไปไม่ได้ ซึ่งอุบาสกชาวสักกะก็ได้กราบทูลว่า มิได้เป็นอย่างนั้นเลย พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร

ซึ่งอุบาสกชาวสักกะก็ได้กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะกามทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง เป็นของว่างเปล่า เป็นของหลอกลวง เป็นของมีความทำลายไปเป็นธรรมดา

เมื่อยังพอใจในกาม โภคสมบัติทั้งหลายก็ต้องเป็นทุกข์ เพราะกามซึ่งไม่เที่ยง เป็นของว่างเปล่า เป็นของหลอกลวง เป็นของที่มีความทำลายไปเป็นธรรมดา

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร อุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ส่วนสาวกของเราในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ปฏิบัติตามที่เราพร่ำสอนอยู่ ๑๐ ปี พึงเป็นผู้เสวยสุขโดยส่วนเดียวตลอด ๑๐๐ ปี ก็มี ๑๐,๐๐๐ ปี ก็มี ๑๐๐,๐๐๐ ปี ก็มี และสาวกของเรานั้นแล พึงเป็นสกทาคามี ก็มี เป็นอนาคามี ก็มี เป็นโสดาบันปฏิบัติไม่ผิด ก็มี

ดูกร อุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ๑๐ ปีจงยกไว้ สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ปฏิบัติตามที่เราพร่ำสอนตลอด ๙ ปี ๘ ปี ๗ ปี ๖ ปี ๕ ปี ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี พึงเป็นผู้เสวยสุขโดยส่วนเดียว ตลอด ๑๐๐ ปี ก็มี ๑๐,๐๐๐ ปี ก็มี ๑๐๐,๐๐๐ ปี ก็มี และสาวกของเรานั้นแล พึงเป็นสกทาคามี ก็มี พึงเป็นอนาคามี ก็มี เป็นโสดาบันปฏิบัติไม่ผิด ก็มี

ดูกร อุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ๑ ปีจงยกไว้ สาวกของเราในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ปฏิบัติตามที่เราพร่ำสอนตลอด ๑๐ เดือน ๙ เดือน ๘ เดือน ๗ เดือน ๖ เดือน ๕ เดือน ๔ เดือน ๓ เดือน ๒ เดือน ๑ เดือน กึ่งเดือน พึงเป็นสกทาคามี ก็มี พึงเป็นอนาคามี ก็มี เป็นโสดาบัน ปฏิบัติไม่ผิด ก็มี

ดูกร อุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย กึ่งเดือนจงยกไว้ สาวกของเราในธรรม วินัยนี้ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว ปฏิบัติตามที่เราพร่ำสอน ตลอด ๑๐ คืน ๑๐ วัน ๙ คืน ๙ วัน ๘ คืน ๘ วัน ๗ คืน ๗ วัน ๖ คืน ๖ วัน ๕ คืน ๕ วัน ๔ คืน ๔ วัน ๓ คืน ๓ วัน ๒ คืน ๒ วัน ๑ คืน ๑ วัน พึงเป็นสกทาคามี ก็มี พึงเป็นอนาคามี ก็มี เป็นโสดาบัน ปฏิบัติไม่ผิด ก็มี

ดูกร อุบาสกชาวสักกะทั้งหลาย ไม่เป็นลาภของท่านทั้งหลายเสียแล้ว ท่านทั้งหลายไม่ได้ดีแล้ว ที่ท่านทั้งหลายเมื่อชีวิตมีภัย เพราะความโศก มีภัยเพราะความตายอย่างนี้ บางคราวก็รักษาอุโบสถอันมีองค์ ๘ บางครั้งก็ไม่รักษา

ซึ่งอุบาสกชาวสักกะก็ได้กราบทูลว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เหล่านี้ จักรักษาอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ถ. พระสูตรนี้หมายความว่าอย่างไร

สุ. หมายความว่า การปฏิบัติตามที่พระผู้มีพระภาคพร่ำสอน และผู้เป็นสาวกปฏิบัติตาม ๑๐ ปี ๙ ปี ๘ ปี ไปจนกระทั่งถึง ๑ คืน ๑ วัน ก็สามารถจะเป็นพระสกทาคามี ก็มี พระอนาคามี ก็มี พระโสดาบันผู้ปฏิบัติไม่ผิด ก็มี เมื่อเป็นแล้วไม่มีทางตกไปสู่อบายภูมิ เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้ที่เสวยสุข ๑๐๐ ปี ๑๐,๐๐๐ ปี ๑๐๐,๐๐๐ ปี แล้วแต่ภพภูมิที่จะไปสู่

. แต่ก็ยังเป็นทุกข์

สุ. ทุกข์โดยลักษณะไหน ไม่ใช่อย่างของปุถุชนเป็นแน่นอน คือ ปุถุชนทุกข์หลายอย่าง กายก็ทุกข์ ใจก็ทุกข์ กายก็หิว ยังจะทำใจให้เดือดร้อน เพิ่มทุกข์เข้าไปอีก โดยไม่จำเป็นเลย จะเจ็บไข้ได้ป่วย หรือจะเป็นอะไรก็ตามแต่ ก็ทุกข์อยู่แล้ว และใจก็ยังเป็นทุกข์เพิ่มเติมทับถมไปอีก เป็นผู้ที่มีความทุกข์มากมายหลายประการ แต่ว่าผู้ที่เป็นอริยบุคคลนั้น ท่านก็ละทุกข์ได้เป็นลำดับยิ่งขึ้นๆ เพราะฉะนั้น ความทุกข์ของท่านก็ลดน้อยลง ส่วนที่ท่านจะเสวยสุขโดยส่วนเดียว

. (ไม่ได้ยิน)

สุ. แล้วแต่พยัญชนะ คือ ถ้าพยัญชนะที่จะชี้ให้เห็นโทษของกามว่า ถึงแม้จะมีกาม บริบูรณ์พรั่งพร้อมสักเท่าไรก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ให้ความสุข ถ้ายังมีกิเลส

. (ไม่ได้ยิน)

สุ. ถ้าประพฤติปฏิบัติตามธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงโดยไม่ประมาท จุดมุ่งหมายของพระสูตรนี้ก็คือ ให้เป็นผู้ไม่ประมาท ให้มีสติเจริญกุศลเนืองๆ และให้เป็นกิจวัตรเนืองนิจด้วย ตลอด ๑๐ ปี ๙ ปี ๘ ปี ๗ ปี ๖ ปี ใช้จำนวนสูงไว้ก่อน ให้เห็นว่าเป็นเรื่องที่จะต้องใช้ความเพียรมาก ไม่เริ่มต้นด้วย ๑ วัน ๑ คืน ๒ วัน ๒ คืน แต่ว่า ๑๐ ปี แม้พระผู้มีพระภาคเอง ก็ทรงแสดงไว้ ลดลงมาจาก ๑๐ ปี เป็น ๙ ปี ๘ ปี ๗ ปี ๖ ปี ๕ ปี เรื่อยไป ตามกำลังของอินทรีย์ ของปัญญาที่ผู้นั้นได้อบรมมา

. การเจริญวิปัสสนาทำให้เสียเวลาและเสียสุขภาพ จริงหรือไม่

สุ. ใครกล่าว ในพระไตรปิฎกไม่มีแน่ ปัญญาจะทำให้เสียเวลาเสียสุขภาพได้อย่างไร วิปัสสนาแปลว่าปัญญา การเจริญปัญญาที่ทำให้ประจักษ์ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏตามความเป็นจริง ปัญญาไม่ทำให้เสียสุขภาพ เจริญอย่างไรจึงจะให้เสียสุขภาพ ไม่ใช่เจริญปัญญาแน่ แต่เจริญอกุศล

. การเจริญวิปัสสนา ท่าอื่นได้ไหม หรือว่าท่านั่งท่าเดียว

สุ. สติปัฏฐานหมายความถึง ที่ตั้งของสติ ที่ทำให้สติระลึกรู้ลักษณะของสิ่งนั้นตามความเป็นจริงเพื่อละความเห็นผิด การยึดถือสิ่งนั้นว่าเป็นตัวตน ก็ไม่ต้องเป็นห่วงเลยว่า จะนั่งหรือจะนอน หรือจะยืนหรือจะเดิน แต่ต้องเข้าใจ เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานให้ถูกต้อง ถ้าไม่เข้าใจแล้ว ไม่มีโอกาสเลยที่ปัญญาจะเจริญขึ้น ก็เป็นการจำกัดปัญญาอยู่เรื่อยๆ แล้วไม่มีโอกาสละความไม่รู้ ถ้าคิดเว้นแล้ว ไม่ใช่การเจริญปัญญาแน่นอน


หมายเลข  5422
ปรับปรุง  20 มิ.ย. 2565