แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 45


มีอีกสูตรหนึ่งซึ่งทำให้ได้พิจารณาเพิ่มเติมในการเจริญสมาธิ ในการอยู่ป่า และการเจริญสติปัฏฐาน

มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ โคลิสสานิสูตร มีข้อความว่า

พระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเวฬุวัน เขตพระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นภิกษุชื่อ โคลิสสานิ เป็นผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ คือ การอยู่ป่าเป็นวัตร มีมารยาทหยาบคาย มานั่งอยู่ท่ามกลางสงฆ์ด้วยกรณียกิจบางอย่าง

ณ ที่นั้นแล ท่านพระสารีบุตรปรารภโคลิสสานิภิกษุ จึงเรียกภิกษุทั้งหลายมา

มีข้อความที่ท่านพระสารีบุตรแสดงกับภิกษุทั้งหลายว่า

อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ควรเป็นผู้มีความเคารพยำเกรงในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ เป็นผู้ไม่เคารพยำเกรงในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า จะเป็นประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่าแก่ท่านผู้นี้ ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า ผู้มีปัญญาดี ผู้ไม่แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง ผู้ละสิ่งทั้งปวงเสียได้ ผู้หลุดพ้นในเพราะนิพพาน เป็นที่สิ้นตัณหา ว่าเป็นผู้มีปกติอยู่คนเดียว ดังนี้

ประการที่ ๒ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ควรเป็นผู้ฉลาดในที่นั่งด้วยดี ดังนี้ว่า

เราจะไม่นั่งเบียดภิกษุผู้เถระ และจะไม่ห้ามอาสนะภิกษุผู้นวกะ ถ้ามิฉะนั้น จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า ไม่รู้จักธรรมแม้เพียงอภิสมาจาริกวัตร จะมีประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่าแก่ท่านผู้นี้ ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์ อยู่แต่ผู้เดียวเล่า

ประการที่ ๓ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่ควรเข้าบ้านให้เช้านัก ไม่ควรกลับให้สายนัก ถ้ามิฉะนั้นก็จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นว่า จะมีประโยชน์อะไร ด้วยการอยู่เสรีในป่าแก่ท่านผู้นี้ ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า

ประการที่ ๔ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่ควรเที่ยวไปในตระกูลทั้งหลาย ในเวลาก่อนภัตร ในเวลาหลังภัตร ถ้ามิฉะนั้น ก็จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า การเที่ยวไปเวลาวิกาล อันผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์นี้ ผู้อยู่เสรีในป่าแต่ผู้เดียว ทำไว้มากแน่

คือถ้าจะตำหนิแล้ว ย่อมตำหนิได้หลายอย่าง เป็นต้นว่า ถ้าภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ การอยู่ป่าเป็นวัตร แล้วเที่ยวไปในตระกูลก่อนภัตร หลังภัตร คนอื่นก็ย่อมจะกล่าวได้ว่า เมื่อท่านอยู่ในป่า ก็คงจะเที่ยวไปในเวลาวิกาลเช่นนี้เป็นแน่

ประการที่ ๕ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่ควรเป็นผู้คะนองกาย คะนองวาจา มิฉะนั้นก็จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นว่า การคะนองกาย คะนองวาจา อันท่านผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์นี้ ผู้อยู่เสรีในป่าแต่ผู้เดียว ทำไว้มากแน่

แสดงให้เห็นได้ว่า การอยู่ในป่าผู้เดียว ไม่มีใครรู้ว่าทำอะไรบ้าง ไม่ใช่ว่าอยู่ในป่า แล้วจะต้องสมบูรณ์ด้วยสติสัมปชัญญะ ไม่หลงลืมสติ เจริญสมณธรรม เพราะเหตุว่าบางท่านอยู่ในป่าเป็นปกติวิสัยของท่าน แต่บางท่านก็อยู่ด้วยความเข้าใจผิด ด้วยความหลง ด้วยความไม่รู้ ด้วยความปรารถนาลามก คือต้องการให้ผู้อื่นสรรเสริญ เพราะฉะนั้น ถ้าท่านแสดงกิริยาอาการเป็นผู้คะนองกาย คะนองวาจา ก็ย่อมเป็นทางที่จะให้ผู้อื่นติเตียนว่า เวลาที่ท่านอยู่ในป่าผู้เดียว ก็คงคะนองกาย คะนองวาจาอย่างนี้มากเป็นแน่

ประการที่ ๖ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ไม่ควรเป็นผู้ปากกล้า เจรจาเกลื่อนกล่น ถ้ามิฉะนั้นจะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า จะเป็นประโยชน์อะไร ด้วยการอยู่เสรีในป่าแก่ท่านผู้นี้ ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์อยู่แต่ผู้เดียวเล่า

เพราะเหตุว่าการที่ท่านสมาทานธุดงค์ เพื่อการขัดเกลายิ่งขึ้น เพราะฉะนั้น ถ้าอยู่แล้วไม่ได้ขัดเกลาทั้งกาย ทั้งวาจา จะมีประโยชน์อะไรกับการที่ท่านอยู่เสรีผู้เดียวในป่า เพราะเหตุว่าจุดประสงค์ของการที่ท่านจะอยู่เสรีในป่าผู้เดียวนั้น ก็เพื่อการขัดเกลากิเลส แต่เมื่ออยู่แล้วไม่ขัดเกลา ยังเป็นผู้ปากกล้า เจรจาเกลื่อนกล่น ก็จะเป็นทางที่จะทำให้มีผู้ว่าท่านได้

ประการที่ ๗ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ เมื่อไปสู่สงฆ์ อยู่ในสงฆ์ ควรเป็นผู้ว่าง่าย มีกัลยาณมิตร ถ้าเป็นผู้ว่ายาก มีปาปมิตร ก็จะมีผู้ว่า จะเป็นประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่าแก่ท่านผู้นี้ ซึ่งสมาทานอรัญญิกธุดงค์ อยู่แต่ผู้เดียวเล่า

ท่านชี้ให้เห็นประโยชน์ของการขัดเกลาว่า การที่จะอยู่ในป่า การรักษาธุดงค์นั้น เพื่อขัดเกลากิเลสทุกอย่าง แม้แต่การเป็นผู้ว่ายาก ก็จะต้องให้ลดน้อยลง เป็นผู้ว่าง่าย แม้แต่การที่เคยเป็นผู้มีมิตรชั่ว มีปาปมิตร ก็จะต้องละเว้น แล้วก็เปลี่ยนเป็นผู้ที่มีกัลยาณมิตร คือ มิตรดี มิฉะนั้นแล้ว การอยู่ในป่าจะมีประโยชน์อะไร ถ้าอยู่ในป่าแล้วก็เป็นผู้ที่ว่ายาก มีมิตรชั่ว ก็ยิ่งชั่วหรือว่าประพฤติผิดมากขึ้น ไม่มีประโยชน์เลยในการที่จะอยู่ป่า

ประการที่ ๘ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ถ้ามิฉะนั้นจะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า จะเป็นประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า

ประการที่ ๙ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ ถ้าท่านไม่รู้ประมาณในโภชนะ ก็จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า จะเป็นประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า

ประการที่ ๑๐ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้ประกอบความเพียร เป็นเครื่องตื่นเนืองๆ ถ้ามิฉะนั้นก็จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า จะเป็นประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า

ประการที่ ๑๑ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้ปรารภความเพียร เพราะเหตุว่าถ้าเป็นผู้เกียจคร้าน ก็จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า จะเป็นประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า

ประการที่ ๑๒ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้มีสติตั้งมั่น ถ้าเป็นผู้มีสติฟั่นเฟือน ก็จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า จะเป็นประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า

ประการที่ ๑๓ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้มีจิตตั้งมั่น ถ้าเป็นผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น ก็จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า จะเป็นประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า

ประการที่ ๑๔ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรเป็นผู้มีปัญญา ถ้าเป็นผู้มีปัญญาทราม จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่าจะเป็นประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า

ไม่ใช่มีแต่สติ ไม่ใช่มีแต่จิตที่ตั้งมั่น แต่ต้องมีปัญญาด้วย จึงจะไม่มีผู้ใดว่า

ประการที่ ๑๕ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรทำความเพียรในอภิธรรม ในอภิวินัย เพราะถ้ามีผู้ถามปัญหาในอภิธรรม ในอภิวินัยแล้ว จะให้ความประสงค์ของเขาสำเร็จไม่ได้ ก็จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นว่า จะเป็นประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า

ประการที่ ๑๖ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรทำความเพียรในวิโมกข์อันละเอียด คือสมาบัติที่ล่วงรูปสมาบัติ เพราะถ้าถูกถามปัญหาในวิโมกข์อันละเอียด คือสมาบัติที่ล่วงรูปสมาบัติแล้ว ให้ความประสงค์ของผู้ถามให้สำเร็จไม่ได้ ก็จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า จะเป็นประโยชน์อะไร ด้วยการอยู่เสรีในป่า

จะเห็นได้ว่า ถ้าเจริญสติปัฏฐาน ไม่ได้สมาทานอรัญญิกธุดงค์แล้ว ก็คงจะไม่มีผู้ว่า ถ้าไม่สามารถที่จะตอบปัญหาในเรื่องวิโมกข์อันละเอียด คือ สมาบัติที่ล่วงรูปสมาบัติ เพราะเหตุว่าการอยู่ในป่านั้น ก็เพื่อประโยชน์ของสมถะ การเจริญสมาธิจนกระทั่งสามารถที่จะบรรลุอรูปฌาน มีความเพียรในวิโมกข์อันละเอียด คือสมาบัติที่ล่วงรูปสมาบัติ เพราะฉะนั้น เมื่อถูกผู้ใดถามถึงเรื่องนั้น ก็ย่อมสามารถที่จะตอบได้

ประการที่ ๑๗ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ควรทำความเพียรในอุตตริมนุสสธรรม เพราะถ้าถูกถามปัญหาในอุตตริมนุสสธรรม แล้วไม่ให้ความประสงค์ของเขาสำเร็จได้ ก็จะมีผู้ว่าภิกษุนั้นได้ว่า จะเป็นประโยชน์อะไรด้วยการอยู่เสรีในป่า

เมื่อท่านพระสารีบุตรกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระมหาโมคคัลลานะได้ถามว่า

ดูกร ท่านพระสารีบุตรผู้มีอายุ อันภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์เท่านั้นหรือ ที่ควรสมาทานธรรมเหล่านี้ประพฤติ หรือแม้ภิกษุผู้อยู่ใกล้บ้าน ก็ควรสมาทานธรรมเหล่านี้ประพฤติ

ท่านพระสารีบุตรตอบว่า

ดูกร โมคคัลลานะ แม้ภิกษุผู้สมาทานอรัญญิกธุดงค์ ยังควรสมาทานธรรมเหล่านี้ประพฤติ จะกล่าวไปใยถึงภิกษุผู้อยู่ใกล้บ้านเล่า

ในครั้งก่อนได้พูดถึงธุดงค์ ซึ่งเป็นการขัดเกลายิ่งขึ้น เป็นธรรมเครื่องกำจัดธรรมที่เป็นข้าศึก เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้ทราบจุดประสงค์ของธรรมในพระพุทธศาสนาที่ควรเจริญ ว่าเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการขัดเกลาความคะนองกาย ความคะนองวาจา ซึ่งจะต้องขัดเกลาด้วย

เรื่องปลิโพธ ๑๐ คือ ความกังวล ๑๐ ซึ่งมี

อาวาสปลิโพธ คือ ความกังวลในที่อยู่

กุลปลิโพธ คือ ความกังวลในตระกูล

ลาภปลิโพธ คือ ความกังวลในปัจจัย

คณปลิโพธ คือ ความกังวลด้วยหมู่คณะ ในการศึกษา ในการสอน

กัมมปลิโพธ คือ ความกังวลในการงาน เป็นต้นว่า การก่อสร้าง

อัทธานปลิโพธ คือ ความกังวลในการเดินทางไกล

ญาติปลิโพธ คือ ความกังวลในญาติ

อาพาธปลิโพธ คือ ความกังวลในความป่วยไข้

คันถปลิโพธ คือ ความกังวลในการเรียน การท่องมนต์

อิทธิปลิโพธ คือ ความกังวลในการเจริญฤทธิ ในการรักษาฤทธิ

ในปลิโพธ ๑๐ ประการนั้น ได้กล่าวถึงอาวาสปลิโพธ ซึ่งมีมากบ้าง น้อยบ้าง ตราบใดที่ยังมีโลภะ ย่อมเป็นกังวลเรื่องนั้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง และไม่ใช่แต่เฉพาะ อุบาสก อุบาสิกาที่ยังกังวล แม้เป็นบรรพชิต ละอาคารบ้านเรือนแล้ว ก็ยังกังวลในที่อยู่ ที่เป็นอาวาสปลิโพธได้

และสำหรับเรื่องอาวาสปลิโพธ ความกังวลในที่อยู่ บางท่านที่ไม่เข้าใจก็อาจต้องการกระทำตามบุคคลอื่น โดยที่ไม่รู้จักความกังวลของท่านจริงๆ ว่า ความกังวลที่เป็นตัวท่านจริงๆ นั้น มีความกังวลในอะไรบ้าง เพราะฉะนั้น ก็คิดว่า เมื่อผู้อื่นกังวลในที่อยู่น้อย ท่านก็พยายามที่จะกระทำตาม โดยที่ไม่ทราบว่าการกระทำตามผู้อื่น โดยที่ไม่ใช่อัธยาศัยจริงๆ ของท่านนั้น จะไม่ทำให้ได้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง จนสามารถละคลายการยึดถือนามรูปที่เกิดกับท่านได้

ขุททกนิกาย เถรคาถา คังคาตีริยเถรคาถา ซึ่งมีข้อความว่า

เราทำกระท่อมด้วยใบตาล ๓ ใบ ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา บาตรของเราเหมือนดังหม้อสำหรับตักน้ำรดศพ และจีวรของเราเป็นดังผ้าคลุกฝุ่น ในระหว่าง ๒ พรรษา เราพูดเพียงคำเดียวเท่านั้น ในภายในพรรษาที่ ๓ เราทำลายกองความมืด คืออวิชชาได้แล้ว

นี่เป็นเรื่องของท่านพระเถระรูปหนึ่งในครั้งกระโน้น ซึ่งที่อยู่ของท่านก็เป็นเพียงกระท่อมที่ทำด้วยใบตาล ๓ ใบ ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา แล้วท่านก็มีบาตร ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น สำหรับการที่จะดำเนินชีวิตให้เป็นไป ในความรู้สึกของท่านนั้น บาตรของท่านเหมือนดังหม้อสำหรับตักน้ำรดศพ และจีวรของท่านเป็นดังผ้าคลุกฝุ่น และความมักน้อยสันโดษไม่คลุกคลี ซึ่งเป็นอัธยาศัยจริงๆ ของท่านนั้น ในระหว่าง ๒ พรรษา ท่านพูดเพียงคำเดียวเท่านั้น และในภายในพรรษาที่ ๓ ท่านก็ทำลายกองความมืด คืออวิชชาได้

ถ้าฟังพระสูตรนี้แล้วคิดว่า ท่านจะประพฤติปฏิบัติตามในที่อยู่ ในการพูด ท่านก็อาจจะเว้นไม่พูด แล้วก็อาจจะไปอยู่อย่างนั้น แต่ยังไม่ใช่อัธยาศัยจริงๆ ของท่าน เพราะฉะนั้น ถ้าสิ่งใดที่ไม่ใช่อัธยาศัยจริงๆ เป็นสิ่งที่ท่านเข้าใจผิด สร้างขึ้น ทำขึ้น คิดว่าทางนั้นเป็นทางที่จะทำให้สามารถบรรลุมรรคผล รู้แจ้งอริยสัจได้ อันนั้นก็เป็นความเข้าใจผิด เพราะเหตุว่าไม่ใช่ตัวของท่านจริงๆ

ประการต่อไปของปลิโพธคือ กุลปลิโพธ

กุลหมายความถึงตระกูล หรือสกุลของญาติ ถ้าเป็นฆราวาส ถ้าเป็นภิกษุอาจจะยังกังวลในตระกูลอุปัฏฐากได้ ถึงแม้ว่าจะละอาคารบ้านเรือนไปแล้วก็จริง แต่เมื่อยังมีกิเลสอยู่ ความกังวลความผูกพันจากที่หนึ่งก็ไปสู่อีกที่หนึ่ง จากวัตถุหนึ่งไปสู่อีกวัตถุหนึ่ง จากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่งก็ได้

สำหรับภิกษุบางรูป ที่ท่านคลุกคลีอยู่กับตระกูลอุปัฏฐากนั้น เวลาที่ตระกูลอุปัฏฐากมีความสุข ท่านก็พลอยสุขด้วย เวลาที่ตระกูลอุปัฏฐากมีความทุกข์ ท่านก็พลอยทุกข์ด้วย หรือว่าบางครั้ง ถ้าตระกูลอุปัฏฐากนั้นไม่ไปฟังธรรมในวิหารที่ใกล้ ท่านก็ไม่ไปด้วยเหมือนกัน

นี่ก็เป็นความกังวล เมื่อเกี่ยวข้องกันกับตระกูลอุปัฏฐาก ก็ย่อมมีความกังวลเป็นของธรรมดา แต่ก็ไม่ใช่สำหรับทุกท่าน บางท่านก็มีมาก บางท่านก็มีน้อย ถึงแม้อุบาสก อุบาสิกาก็เหมือนกัน ธรรมที่ท่านได้ฟัง ก็ควรที่จะน้อมนำมาพิจารณากับตัวเองว่า มีความผูกพันกับตระกูล หรือบุคคลในตระกูลมากน้อยเพียงไร การพิจารณาจิตใจของตนเองเป็นประโยชน์ เพื่อที่จะให้รู้แน่ว่า จิตใจของท่านนั้นเป็นไปในทางกุศล หรือว่าเป็นไปในทางอกุศล ถ้าเป็นไปในทางกุศล อุปการะบุคคลในตระกูล ด้วยเจตนาที่เป็นกุศลได้ เป็นการสงเคราะห์ แต่ไม่ใช่ความผูกพัน ไม่ว่าจะเป็นบิดามารดา คนในวงศ์ตระกูล มีหน้าที่ที่จะประพฤติปฎิบัติเกื้อกูลกัน แต่ต้องคอยตรวจจิตใจด้วยว่า อย่าให้เป็นความผูกพันที่เป็นอกุศล เพราะเหตุว่าอกุศลทุกประการ ไม่ว่าจะเกี่ยวเนื่องกับบุคคลใดนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรเจริญ เพราะฉะนั้น แม้อุบาสก อุบาสิกา ก็ควรที่จะพิจารณาด้วยว่า ตัวท่านกับบุคคลในตระกูลนั้น มีความผูกพันที่เป็นอกุศล หรือว่ามีความเมตตามากขึ้น และละคลายความผูกพันให้น้อยลง

สำหรับภิกษุบางท่านนั้นเมื่อท่านละอาคารบ้านเรือน ออกบวชเป็นบรรพชิตแล้ว แม้กับมารดาบิดาของท่าน ท่านก็ไม่กังวล อย่าคิดว่าท่านเป็นบุคคลที่ไม่ดี ไม่กตัญญูกตเวที จิตใจเป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องพิจารณาให้ชัดว่า กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล ความกตัญญูกตเวที การอุปการะในทางที่ดีเป็นกุศลทั้งหมด แต่ความผูกพัน ไม่ว่ากับบุคคลใดเป็นอกุศลทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ก็จะต้องสรรเสริญแม้ภิกษุที่ท่านไม่มีความกังวลแม้มารดาบิดาของท่าน มีตัวอย่างเรื่องภิกษุหนุ่ม หลานท่านพระติสสะ ซึ่งเรื่องมีว่า

ภิกษุ หลานท่านพระติสสะนั้น อยู่ที่โกรันทกวิหาร แต่ท่านได้ไปสู่โรหณวิหารเพื่อจะเรียนอุทเทส คือ เรียนหัวข้อของธรรม โยมมารดาของท่าน ซึ่งเป็นน้องสาวของท่านพระติสสะ ก็ได้ถามข่าวภิกษุผู้เป็นบุตรกับท่านพระติสสะเนืองๆ ทีเดียว

วันหนึ่ง ท่านพระติสสะคิดที่จะพาภิกษุผู้เป็นหลานกลับมา ท่านก็เดินมุ่งหน้าไปยังโรหณวิหาร ส่วนภิกษุซึ่งเป็นหลานของท่านพระติสสะนั้น ก็คิดว่าท่านอยู่ที่โรหณวิหารนานแล้ว ควรที่จะได้ไปเยี่ยมท่านพระติสสะซึ่งเป็นอุปัชฌายะ แล้วก็เป็นลุงของท่านด้วย เพื่อจะได้ทราบข่าวของโยมมารดา แล้วก็จะกลับไปที่โรหณวิหาร

เมื่อท่านคิดอย่างนั้น ท่านก็ได้ออกจากโรหณวิหาร แม้ทั้งอุปัชฌายะและศิษย์ ผู้เป็นลุงและหลาน ก็ได้พบกันที่ฝั่งแม่น้ำแห่งหนึ่ง ภิกษุหนุ่มก็ทำวัตรแก่พระเถระ ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง พระเถระก็ถามภิกษุหนุ่มรูปนั้นว่าจะไปไหน ซึ่งภิกษุหนุ่มได้กราบเรียนให้ทราบแล้ว ท่านก็กล่าวว่า ดีแล้ว แล้วท่านก็ให้ภิกษุนั้นไป ส่วนท่านก็จะได้จำพรรษาในวิหารในถิ่นนั้น

ภิกษุนั้นก็ได้ไปถึงที่โกรันทกวิหาร ในวันเข้าพรรษาพอดี แม้เสนาสนะที่ได้แก่ท่าน ก็คือเสนาสนะที่โยมบิดาสร้างไว้นั่นเอง หมายความว่า โยมบิดาของท่านสร้างเสนาสนะไว้ แล้วเวลาที่ท่านไปถึง ท่านก็ได้อยู่ที่เสนาสนะนั้น


หมายเลข  5436
ปรับปรุง  2 ก.ค. 2565