แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ 53


ท่านพระอานนท์กับท่านพระสารีบุตรความเห็นไม่เหมือนกัน คือ ท่านพระอานนท์มีความเห็นว่า การมีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดีเป็นกึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์ แต่ท่านพระสารีบุตรกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า การเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดีนั้นเป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้น ซึ่งท่านพระสารีบุตรพระผู้มีพระภาคอนุโมทนาว่า ถูกละ ถูกละ สารีบุตร แต่ท่านพระอานนท์พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เธออย่าได้กล่าวอย่างนั้น เธออย่าได้กล่าวอย่างนั้น

พระสูตรทั้งหลายท่านพระอานนท์ก็ได้กล่าวข้อความตอนสังคายนาว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ให้เห็นความเป็นผู้ที่หมดจดจากกิเลส ท่านเคยสดับมาอย่างไร ท่านเคยกราบทูลว่าอย่างไร บุคคลอื่นกราบทูลว่าอย่างไร ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์ในครั้งอดีตแต่ละครั้งแต่ละบุคคลว่า มีความคิดความเห็นอย่างไรบ้าง ถึงแม้ท่านจะได้เป็นผู้ที่ได้กล่าวสังคายนาพระสูตรเอง ท่านก็ไม่ได้เข้าข้างตัวท่านเองว่าท่านจะต้องถูกทุกครั้ง แต่ว่าสิ่งใดที่เป็นพระธรรมที่ละเอียดที่สุขุม และพระผู้มีพระภาคตรัสกับท่านอย่างไร ท่านก็ได้กล่าวแสดงไว้โดยละเอียด

เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ไม่ทราบว่าท่านเห็นความสำคัญของการเป็นผู้มี มิตรดีมีสหายดีแล้วหรือยังว่า เป็นพรหมจรรย์จริงๆ เพราะเหตุว่าทำให้ผู้นั้นเริ่มเจริญ มรรคมีองค์ ๘ ถ้าขาดกัลยาณมิตร ขาดพระผู้มีพระภาคที่ได้ทรงแสดงพระธรรมไว้โดยละเอียดแล้ว ก็ย่อมจะไม่มีบุคคลใดสามารถเจริญมรรคมีองค์ ๘ รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้เลย เพราะฉะนั้น ประการแรกก็จะต้องอาศัยมิตรดีสหายดี

กัลยาณมิตตสูตรที่ ๒ สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค (ข้อ ๑๓๘) ข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่ขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง สิ่งที่เป็นเบื้องต้น เป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความบังเกิดแห่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ของภิกษุ คือ ความเป็นผู้มีมิตรดี ฉันนั้นเหมือนกัน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้มีมิตรดี พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘

นี่เป็นข้อความที่ให้เห็นความสำคัญซึ่งได้ทรงอุปมาไว้ ทรงแสดงไว้หลายครั้งหลายแห่งใน สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค โยนิโสมนสิการสัมปทาสูตรที่ ๑ ข้อ ๑๓๒ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เมื่อพระอาทิตย์จะขึ้น สิ่งที่ขึ้นก่อน สิ่งที่เป็นนิมิตมาก่อน คือ แสงเงินแสงทอง สิ่งที่เป็นเบื้องต้นเป็นนิมิตมาก่อน เพื่อความบังเกิดแห่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ของภิกษุ คือ ความถึงพร้อมแห่งการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ฉันนั้นเหมือนกัน

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘

ข้อนี้ต้องอาศัยโยนิโสมนสิการของผู้ที่ฟังธรรมด้วย เพราะเหตุว่าในครั้งพุทธกาล มีพวกพราหมณ์ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคบ่อยๆ และได้ฟังธรรมด้วย บางคนก็เลื่อมใสประพฤติปฏิบัติตามบรรลุมรรคผล บางคนก็ไม่เลื่อมใส ไม่ประพฤติปฏิบัติตาม จึงไม่บรรลุมรรคผล

ก็แล้วแต่โยนิโสมนสิการของแต่ละท่านว่า ได้พิจารณาเทียบเคียงเหตุผลด้วยความแยบคาย พิจารณาเหตุถูกต้องตรงกับผลไหม การประพฤติปฏิบัติเป็นไปตามเหตุผลที่ได้พิจารณาถูกต้องไหม แม้ในขณะที่สติกำลังเกิดจะขาดโยนิโสมนสิการไม่ได้ เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าอวิชชามีมาก คุ้นเคยไว้มาก มีอัตตา เคยยึดถือนามรูปเป็นตัวตนมาก เพราะฉะนั้น ก็ย่อมมีความจงใจตั้งใจที่จะบังคับสติบ้าง ที่จะเลือกจดจ้องเฉพาะนามนั้นบ้างรูปนี้บ้าง ซึ่งเป็นลักษณะของอัตตา เป็นลักษณะของอวิชชา เป็นลักษณะของตัวตน เป็นความไม่รู้ลักษณะของนามและรูปที่เกิดขึ้นปรากฏตามปกติว่า เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สิ่งที่จะบังคับ ถ้าไม่รู้อย่างนี้ ไม่มีโยนิโสมนสิการแล้ว การเจริญสติปัฏฐานก็จะเจริญไม่ได้ ก็จะเป็นไปในลักษณะอื่น

อลคัททูปมสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสถ์ มีข้อความว่า

เรียนแต่ไม่พิจารณา ก็เหมือนกับแสวงหางูพิษ

เพราะเหตุว่าไม่ได้ประโยชน์เลย แต่กลับเป็นโทษ เพราะเหตุว่าไม่ใช่ความเห็นถูก แต่เป็นความเห็นผิดเข้าใจผิด ซึ่งไม่ทำให้รู้แจ้งอริยสัจ แต่จะเป็นเครื่องกั้นมรรคผลนิพพาน เพราะเหตุว่าธรรมนั้นเป็นธรรมที่สุขุมและละเอียดมาก การพิจารณาธรรมก็ต้องให้ละเอียดสุขุมจริงๆ

สำหรับการแสดงธรรมหรือการฟังธรรม พระผู้มีพระภาคก็ได้ทรงพระมหากรุณาประทานโอวาทไว้มาก

อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปัจจยวัตตสูตร (ข้อ ๔๘๒) มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ ๓ ประการ ควรอย่างยิ่งที่จะแสดงธรรมแก่คนอื่นๆ อำนาจประโยชน์ ๓ ประการ เป็นไฉน คือ

ผู้แสดงธรรม รู้แจ้งอรรถด้วย รู้แจ้งธรรมด้วย ๑

ผู้ฟัง รู้แจ้งอรรถด้วย รู้แจ้งธรรมด้วย ๑

ผู้แสดงธรรมและผู้ฟังธรรมทั้ง ๒ ฝ่าย รู้แจ้งอรรถด้วย รู้แจ้งธรรมด้วย ๑

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ผู้ที่พิจารณาเห็นอำนาจประโยชน์ ๓ ประการนี้แล ควร อย่างยิ่งที่จะแสดงธรรมแก่คนอื่นๆ

การแสดงธรรมคงจะไม่ใช่ของที่ง่ายนัก การฟังก็ไม่ง่าย เพราะเหตุว่า ผู้แสดง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิจารณาใคร่ครวญ ตรวจสอบความถูกต้องกับพระไตรปิฎกทั้งพระวินัย ทั้งพระสูตร ทั้งพระอภิธรรม

ผู้แสดงธรรม รู้แจ้งอรรถด้วย รู้แจ้งธรรมด้วย

รู้แจ้งอรรถ คือ รู้ผลว่า ผลของการแสดงธรรมนั้นเพื่ออะไร บุคคลที่ฟัง ปัญญาของคนฟังจะรู้อะไร นี่เป็นผล

รู้การเห็นกับสี นามกับรูปทางตาใช่ไหม

รู้ได้ยินกับเสียง นามกับรูปทางหูใช่ไหม

รู้การรู้กลิ่นกับกลิ่น นามกับรูปทางจมูกใช่ไหม

รู้รสกับรสที่ปรากฏ นามกับรูปทางลิ้นใช่ไหม

รู้สภาพที่รู้เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่งตึงไหวที่ปรากฏทางกาย และรู้สภาพที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่งตึง ไหว นามกับรูปทางกายใช่ไหม

รู้นาม รู้รูป ทางใจใช่ไหม

นี่เป็นสิ่งที่ควรจะต้องพิจารณาว่า ผู้ที่รู้อรรถ คือรู้ผลนั้น คืออะไร

และรู้ธรรม คือรู้เหตุนั้น คืออะไร

ผล คือ การรู้แจ้งสภาพธรรมที่ปรากฏตามปกติ จึงจะละความเห็นผิดการที่เคยยึดถือ ยึดมั่นสภาพธรรมนั้นว่าเป็นตัวตนได้

แต่เจริญเหตุอย่างไร จึงจะให้ปัญญาเกิดขึ้นรู้ชัดในลักษณะของนามและรูปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจตามความเป็นจริง เพื่อละความเห็นผิด

เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เพียงแต่รู้ผล แต่ก็ต้องรู้เหตุด้วย นั่นเป็นเรื่องของผู้แสดงธรรม เป็นประการหนึ่ง

สำหรับผู้ฟัง ผู้ฟังเป็นผู้ที่รู้แจ้งอรรถด้วย รู้แจ้งธรรมด้วย คือ เมื่อฟังก็ต้องทราบว่า ปัญญาของตนเองที่จะเจริญขึ้นนั้นจะต้องรู้อะไร และจะต้องรู้ธรรม คือ เหตุ ว่าจะเจริญอย่างไร จึงจะเกิดปัญญาที่รู้แจ้งสภาพธรรมเหล่านั้นได้

หมายความว่า ผู้ฟังจะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจในอรรถในธรรมด้วย ซึ่งเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน นอกจากจะตรวจสอบทานกับพระไตรปิฎก ทั้งพระวินัย พระสูตร พระอภิธรรม ก็ยังตรวจสอบกับสภาพความจริงทุกๆ ขณะได้

รู้ลักษณะของนามและรูปที่กำลังเห็น กำลังได้ยินหรือยัง ถ้าไม่รู้ ควรจะรู้ไหม ถ้าควรจะรู้ จะเจริญอย่างไร เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ เทียบเคียงได้

ในเรื่องของอาจารย์กับศิษย์ พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้โดยอีกนัยหนึ่ง

สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรคอานันเตวาสิกานาจริยสูตร ข้อ ๒๓๖ มีข้อความว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้ อันไม่มีอันเตวาสิก ไม่มีอาจารย์

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุยังมีอันเตวาสิก ยังมีอาจารย์อยู่ เป็นทุกข์ ไม่สำราญ ส่วนภิกษุไม่มีอันเตวาสิก ไม่มีอาจารย์ อยู่เป็นสุขสำราญ

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุยังมีอันเตวาสิก ยังมีอาจารย์ ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่สำราญเป็นไฉน

ธรรมทั้งหลายอันเป็นบาป เป็นอกุศล คือ ความดำริอันฟุ้งซ่าน อันเป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ ย่อมบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุในศาสนานี้ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ อกุศลธรรมเหล่านั้นย่อมสิงอยู่ภายในของบุรุษนั้น เพราะอกุศลธรรมสิงอยู่ภายในของภิกษุนั้น เหตุนั้นเราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า มีอันเตวาสิก เพราะอกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้นย่อมครอบงำภิกษุนั้น เหตุนั้นเราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า มีอาจารย์

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุผู้ไม่มีอันเตวาสิก ไม่มีอาจารย์ ย่อมอยู่เป็นสุข สำราญอย่างไร

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อกุศลธรรมอันลามก คือ ความดำริที่ฟุ้งซ่าน เป็นเครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ อกุศลธรรมอันลามกเหล่านั้นไม่สิงอยู่ในภายในของภิกษุนั้น เพราะอกุศลธรรมอันลามกไม่สิงอยู่ในภายในของภิกษุนั้น เหตุนั้นเราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า ไม่มีอันเตวาสิก เพราะอกุศลธรรมอันลามกไม่ครอบงำภิกษุนั้น เหตุนั้นเราจึงเรียกภิกษุนั้นว่าไม่มีอาจารย์

สำหรับเวลาที่ได้ยินเสียงด้วยหู ได้กลิ่นด้วยจมูก รู้รสด้วยลิ้น สัมผัสด้วยกาย และธัมมารมณ์ด้วยใจนั้น ก็โดยนัยเดียวกัน พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ อันไม่มีอันเตวาสิก ไม่มีอาจารย์ดังนี้

ภิกษุผู้มีอันเตวาสิก มีอาจารย์ ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่สำราญ ผู้ไม่มีอันเตวาสิก ไม่มีอาจารย์ ย่อมอยู่เป็นสุขสำราญ ดังนี้แล

ผู้ที่ยังมีอันเตวาสิกนั้น คือ ผู้ที่เมื่อเห็นรูปด้วยจักษุ ได้ยินเสียงด้วยหู หรือได้กลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย รู้ธัมมารมณ์ด้วยใจแล้ว อกุศลธรรมเกิดขึ้น อกุศลธรรมนั้นย่อมสิงอยู่ภายในบุคคลนั้น เพราะฉะนั้น เมื่อไปด้วยกัน อยู่ที่ไหน จะเป็นในป่า ที่บ้าน อกุศลธรรมนั้นไม่ได้อยู่นอกตัว ไม่ได้อยู่ไกล ไปด้วยกันทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ตาม เพราะฉะนั้นอกุศลธรรมที่อยู่ภายในจิตของบุคคลนั้น พระผู้มีพระภาคเรียกว่า ภิกษุนั้นมีอันเตวาสิก

และอกุศลธรรมอันลามกที่ครอบงำภิกษุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงเรียกภิกษุผู้มี อกุศลธรรมอันลามก ที่ครอบงำภิกษุนั้นว่า มีอาจารย์ เป็นผู้ที่ให้ทำอย่างนั้น ให้ทำอย่างนี้ เชื่ออกุศลทุกอย่างที่มีอยู่ในใจ ถ้ามีโลภะๆ ให้ทำอะไรๆ ก็ทำ มีอกุศลของตัวเอง มีโลภะที่มีอยู่ในใจเป็นอาจารย์ ให้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ครอบงำบังคับบัญชาให้แสวงหา ให้ทำสิ่งต่างๆ

เพราะฉะนั้น ให้ทราบจริงๆ ว่า ผู้ที่ยังมีกิเลสนั้นเป็นผู้ที่มีลูกศิษย์ มีอันเตวาสิก และมีอาจารย์ เพราะเหตุว่ากิเลสนั้นมีกำลัง ทำให้ครอบงำจิตใจให้ประพฤติเป็นไปตามที่อาจารย์คือกิเลสสั่ง

. การฟังกับการบรรยายสำคัญตรงไหนหรือ

สุ. ผู้ฟัง ฟังเพื่อให้ได้รับความเข้าใจ ผู้บรรยายเมื่อได้ศึกษาปฏิบัติธรรม มีความเข้าใจ ก็ไม่ได้ต้องการจะเก็บความรู้ความเข้าใจนั้นไว้เฉพาะตน เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ และผู้ที่จะบรรยายได้นั้น ก็ไม่ใช่ว่านึกขึ้นมาได้เองรู้ได้เอง แต่ต้องอาศัยการฟัง หรือว่าการศึกษาจากท่านที่รู้แล้วและท่านที่แสดงแล้ว เมื่อได้เห็นคุณว่า ความรู้ที่ได้รับนั้นมาจากท่านที่รู้แล้วและจากท่านที่แสดงแล้ว ก็ย่อมเห็นว่า เป็นความจำเป็นที่จะต้องเผยแพร่หรือว่าจะต้องแบ่งปันความรู้ที่ได้รับนั้นกับบุคคลอื่นต่อๆ ไปด้วย เป็นการอุปการะกันไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าไม่มีประโยชน์

ปลิโพธที่ ๕ คือ กัมมปลิโพธ ได้แก่ การที่ต้องขวนขวายดูแล รู้งานที่เป็นการก่อสร้างหรือการงานของท่าน แล้วแต่ว่าใครจะต้องกระทำอะไร ท่านที่มีบ้านมีเรือน มีการก่อสร้าง มีการงานที่จะต้องกระทำนั้น ก็มีกิจในการก่อสร้าง ในกระทำต่างๆ ซึ่งถ้ามีการงานที่ค้างอยู่ ถ้าเป็นภิกษุที่ต้องการจะเจริญสมาธิแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องทำการงานนั้นให้เสร็จ ถ้างานนั้นเหลือน้อย หรือถ้างานนั้นเหลือมาก ก็จะต้องมอบหมายให้ภิกษุอื่น หรือว่ามอบให้สงฆ์

สำหรับกัมมปลิโพธ ไม่ใช่มีแต่การประกอบการอาชีพ ในวันหนึ่งๆ ยังต้องทำอะไรกันอีกไหม มีการรับประทานอาหาร กิจการงานในการประกอบอาหารก็ต้องมี การเป็นอยู่หลับนอนมี กิจการงานในเรื่องเครื่องหลับเครื่องนอนต่างๆ ในเรื่องที่อยู่ที่อาศัยก็ต้องมี แต่ถ้ามีความรู้มีความเข้าใจในการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ไม่เป็นเครื่องกั้นการเจริญสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าแม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ยังมีกิจที่จะต้องกระทำ

ชีวิตของพระผู้มีพระภาคเป็นชีวิตที่ดำเนินไปเป็นปกติ ต้องมีการกระทำกิจการ งานต่างๆ และตัวอย่างที่จะแสดงให้เห็นว่า แม้พระผู้มีพระภาคเองนั้นก็ยังทรงกระ ทำกิจตามปกติในชีวิตประจำวัน จะขอกล่าวถึงพระวินัยปิฎก มหาวรรคภาค ๑ ขอกล่าวถึงตอนที่ทรงโปรดชฎิลให้เลื่อมใส (เรื่องชฎิล ๓ พี่น้อง ข้อ ๓๗) เพื่อประกอบความรู้ความเข้าใจ จะขอกล่าวตั้งแต่ต้น

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงจำพรรษาประทับอยู่ที่พระนครพาราณสี ตามพระ พุทธาภิรมย์แล้ว พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปโดยมรรคาอันจะไปสู่ตำบลอุรุเวลา เมื่อเสด็จจาริกตามลำดับถึงตำบลอุรุเวลาแล้ว

สมัยนั้น ชฎิล ๓ คน คือ อุรุเวลกัสสปะ ๑ ซึ่งเป็นหัวหน้าชฎิล ๕๐๐ คน นทีกัสสปะ เป็นหัวหน้าชฎิล ๓๐๐ คยากัสสปะ เป็นหัวหน้าชฎิล ๒๐๐

พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปสู่อาศรมของชฎิลชื่อ อุรุเวลกัสสปะ ทรงขออาศัยอยู่ในโรงบูชาเพลิงสักคืนหนึ่ง (พวกชฏิลพวกนี้เป็นพวกที่บูชาไฟ)

ซึ่งอุรุเวลกัสสปะก็ไม่ขัดข้อง แต่เกรงว่าพญานาคพิษร้ายจะทำให้พระผู้มีพระภาคลำบาก พระผู้มีพระภาคก็ทรงปราบพญานาคซึ่งอยู่ในโรงบูชาไฟนั้น โดยบันดาล ไฟต้านทานไฟของพญานาค ในคืนนั้นโรงบูชาเพลิงรุ่งโรจน์เป็นเปลวเพลิงดุจไฟไหม้

พระผู้มีพระภาคทรงขดพระยานาคไว้ในบาตร ครั้นผ่านราตรีนั้น ทรงแสดงพญานาคนั้นแก่อุรุเวลกัสสปะ ซึ่งอุรุเวลกัสสปะเมื่อเห็นอย่างนั้นก็คิดว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่

อุรุเวลกัสสปะเลื่อมใสในปาฏิหาริย์ของพระผู้มีพระภาค ทูลนิมนต์ให้ประทับอยู่ แล้วกราบทูลว่า จะบำรุงพระผู้มีพระภาคด้วยภัตตาหารเป็นประจำ

ขอให้คิดถึงความคิดของอุรุเวลกัสสปที่แม้จะได้เห็นปาฏิหาริย์ แต่ก็คิดว่า พระมหาสมณะมีฤทธิ์มาก แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่

ข้อนี้เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า การที่จะเป็นพระอรหันต์นั้นไม่ใช่เป็นได้ด้วยการที่มีอิทธิปาฏิหาริย์มากๆ แล้วก็เป็นพระอรหันต์ เพราะฉะนั้น อุรุเวลกัสสปะที่ไม่เชื่อง่ายๆ ก็ดี คือ ไม่ได้เห็นว่าผู้ที่มีอิทธิปาฏิหาริย์สามารถจะละกิเลสเป็นพระอรหันต์ได้ แต่เพราะเหตุว่าธรรมเป็นของที่ลึกซึ้งมาก ทั้งๆ ที่อุรุเวลกัสสปะไม่ได้เป็นพระอรหันต์เลย แต่ก็เข้าใจว่าตนเองที่ได้บำเพ็ญเพียร ได้เป็นพระอรหันต์แล้ว เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะได้เห็นปาฏิหาริย์ของพระผู้มีพระภาค ก็คิดว่าพระผู้มีพระภาคมีฤทธิ์มาก แต่ก็ไม่เป็นพระอรหันต์เหมือนเราแน่

คนที่ไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ก็เข้าใจว่าตนเองเป็นพระอรหันต์ และก็ไม่รู้ว่าผู้ที่เป็นพระอรหันต์นั้นเป็นพระอรหันต์แล้ว เพราะเหตุว่ายังไม่ทราบข้อประพฤติปฏิบัติที่จะให้หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์


หมายเลข  5460
ปรับปรุง  10 ก.ค. 2565